๑,๓๘๑ ผ้าป่า...ครั้งสุดท้าย


โรงเรียนเล็กๆไม่ว่าอยู่นอกเมืองหรือในเมือง ที่มีครูไม่มากนัก หรือครู ๑ คน ต้องสอน ๒ ชั้น จึงเล็กลงเรื่อยๆ เพราะผู้ปกครองเขารู้และเข้าใจศักยภาพของครูเป็นอย่างดี

          การจัดการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก ต้องแก้ปัญหาไปพร้อมๆกับการพัฒนา บางโรงเรียนแทบจะไม่มีโอกาสได้พัฒนา เพราะต้องแก้ปัญหาทุกวัน จนกว่าจะหมดปีการศึกษา

          โรงเรียนขนาดใหญ่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา แต่ด้วยภาพลักษณ์และหลักเกณฑ์ตลอดจนเงื่อนไขบางประการ ทำให้ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือได้ทันท่วงที แบบที่ไม่ต้องรอนาน

          โดยเฉพาะในด้านอัตรากำลัง (จำนวนครู) ในโรงเรียนใหญ่ๆนอกจากจะครบทุกชั้น ยังมีครูวิชาเอกที่หลากหลาย จึงไม่มีปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนแต่อย่างใด

          ทุกวันนี้ นโยบายการศึกษายังกล่าวอ้างโอกาสและความเท่าเทียม เพื่อโฆษณาชวนเชื่อ แต่ในสถานการณ์จริงนั้น โรงเรียนที่เล็กมากๆก็แทบจะไม่มีทั้งครูและผู้บริหาร

          ในกรณีโรงเรียนบ้านหนองผือที่ผมดำรงตำแหน่ง ผอ.รร. มีนักเรียน ๑๐๑ คน ได้รับการจัดสรรจำนวนครูให้ตามเกณฑ์ แต่ไม่เคยสมบูรณ์แบบมากว่า ๑๐ ปีแล้ว

          เมื่อไม่มีครูก็ต้องหา คือแก้ปัญหานั่นเอง ซึ่งต้องอาศัย “เงิน” ที่เรียกว่าเงินนอกงบประมาณ นำเข้าสู่เงินรายได้ของสถานศึกษา เพื่อจัดจ้างครูพิเศษให้ครบทุกชั้น

          หากครูมีไม่ครบ ย่อมไม่มีผู้ปกครองที่ไหนอยากส่งลูกหลานมาเรียน…

          จึงเป็นสาเหตุว่าทำไม? โรงเรียนเล็กๆไม่ว่าอยู่นอกเมืองหรือในเมือง ที่มีครูไม่มากนัก หรือครู ๑ คน ต้องสอน ๒ ชั้น จึงเล็กลงเรื่อยๆ เพราะผู้ปกครองเขารู้และเข้าใจศักยภาพของครูเป็นอย่างดี

          ทั้งโรงเรียนมีครู ๓ - ๔ คนเท่านั้นหรือ? ที่จะทำให้ลูกเขาอ่านคล่องเขียนคล่อง....เป็นไปไม่ได้.

          เพราะครูครบชั้น...บ้านหนองผือ...จึงมีแนวโน้มว่านักเรียนจะไม่ลดลง และนักเรียนเกินร้อยได้อย่างที่หลายคนไม่เชื่อสายตา โดยใช้เวลาไม่นานนัก

          เพราะได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือด้านงบประมาณจากภาคเอกชนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้โรงเรียนมีหน้ามีตาในสังคม ผู้ปกครองชื่นชมและเชื่อมั่นได้ ในการประกัน”คุณภาพ”

          อีก ๒ เดือนผมก็จะเกษียณอายุราชการแล้ว ต้องยุติบทบาทและไม่อาจจะขอรับการช่วยเหลือจากภาคเอกชนอีกต่อไป เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของบุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้ต่อเนื่อง

          คณะครูจึงประชุมหารือ แล้วนำเสนอผมใน ๒ ประเด็น กล่าวคือ เมื่อผอ.เกษียณจะเหลือครู ๗ คน แต่มี ๘ ห้องเรียน โรงเรียนควรหาเงินจ้างครูพี่เลี้ยงสำหรับสอนชั้นอนุบาล ๒ อย่างน้อยจ้างได้สัก ๑ ปีก็ยังดี ดีกว่ามีครูอนุบาลคนเดียวแล้วต้องดูแล ๒ ชั้น

          ประเด็นต่อมาก็คือ ต้องการจัดงานเลี้ยงส่งผอ.ที่ช่วยพัฒนาโรงเรียนมายาวนานถึง ๑๗ ปี ผมจึงรีบตัดบทในประเด็นนี้ โดยบอกว่าให้มันเรียบง่ายเถอะ ผมเป็นคนพอเพียง ขอเกษียณแบบพอเพียง

          ไม่ต้องมีงานเลี้ยง ไม่ต้องมามอบของขวัญให้ผม ที่ผ่านมาผมปฏิบัติตามหน้าที่ที่พึงกระทำ และไม่ได้ทำดีอะไรมากมาย และก็ไม่ได้ทำฟรีด้วย มีเงินเดือนเป็นค่าตอบแทน และผมเองจะจากโรงเรียนนี้ไปอย่างสบายๆ มีเงินบำนาญดูแลผมอยู่แล้ว อย่าให้ผมต้องเป็นภาระแก่พวกคุณเลย

          ในส่วนของปัญหาที่จะขาดครูในเร็ววันนี้ เราต้องช่วยกัน”จัดงานผ้าป่าการศึกษา”น่าจะเป็นทางออกที่ดี ผมจะยอมเหนื่อยอีกสักครั้ง การจัดจ้างครูได้ ๑ คน ด้วยเงินผ้าป่า ผมจะถือว่าเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดินนี้

          ที่สำคัญอย่างยิ่งงานทำบุญผ้าป่าครั้งสุดท้าย ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม  ก็เท่ากับเป็นงานมงคล เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และทำบุญให้กับโรงเรียนที่สร้างความสุขให้แก่ผมตลอดมา

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๓  สิงหาคม  ๒๕๖๖

          

หมายเลขบันทึก: 713847เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2023 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2023 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมศรัทธาในความตั้งใจของอาจารย์ชยันต์ จึงได้ขอให้ลูกชาย (ดนย์ ถิรคุณโกวิท) โอนเงินไปช่วยผ้าป่าเพื่อการศึกษา เมื่อเย็นวันนี้ หวังว่าคงเป็นประโยชน์สมเจตนารมย์นะครับ…วิโรจน์ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท