๑,๓๘๓. ซ่อม..สร้าง..สุข


ผมถือว่าได้ทำดีที่สุดแล้ว ใกล้จะหมดเวลาที่จะสานต่องานทั้งหลาย ทิ้งท้ายวันนี้ด้วยภาพกิจกรรมสุดประทับใจ ที่มีส่วนทำให้โรงเรียนก้าวไกลด้วยเทคโนโลยี่ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในโรงเรียน

          หลายคนที่แวะเวียนเข้ามาในโรงเรียน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือโรงเรียน “จิ๋วแต่แจ๋ว”(Small is Beautiful) ผมได้ยินจนชิน แต่ไม่เคยหลงใหลได้ปลื้มกับคำชมเชยเหล่านั้นเลย

          ก็แค่รู้สึกขอบคุณ ที่เขาเหล่านั้นมองในมุมบวกและให้กำลังใจกัน สิ่งสำคัญอยู่ที่การทำให้คงสภาพต่างหาก ผมจึงไม่เคยมีวันหยุด ไม่เคยหยุดพัฒนา มิใช่เพื่อให้แจ๋วแต่ทำเพื่อให้เป็นโรงเรียนจริงๆ

          กาลเวลาเปลี่ยนแปลง คนก็ต้องเปลี่ยนไป ด้วยการพัฒนาจิตใจ โรงเรียนก็เช่นเดียวกัน ต้องรู้สึกว่าเคลื่อนไหวแบบมีชีวิต ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับบริบทของโรงเรียนนั้นๆ

          ๑๗ ปี ที่แม้จะยาวนาน แต่ก็สามารถจดจำภาพการทำงาน แต่ละช่วงแต่ละฉากได้อย่างชัดเจน ๑๐ ปีแรก ที่ระคนปะปนกันระหว่างงานซ่อมและงานสร้าง ซึ่งผมให้ความสำคัญพอๆกัน

          ซ่อม คือ ซ่อมแซมแหล่งเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม ที่ชำรุดทรุดโทรม สร้าง คือจัดหาอาคารเรียนอาคารประกอบ ทั้งห้องสมุด โรงอาหาร ห้องธุรการ และบ้านพักครู 

          ๗ ปีสุดท้าย ทุกสิ่งกลับกลายสภาพเป็นความพร้อม เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผมทุกประการ ความสุขสนุกสนานในการทำงานก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ควบคู่กับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นด้วย

          จึงเป็นความเหมือนที่แตกต่างกันกับโรงเรียนเล็กๆโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม มิใช่โรงเรียนของเราดีเลิศประเสริฐศรี และมิใช่โรงเรียนที่เขตพื้นที่อุปถัมป์ค้ำชูแต่อย่างใด

          แต่เรามีความสุขกับโอกาสที่เราไขว่คว้าอยู่เสมอ เพื่อสะกดคำว่า “คุณภาพ”ได้อย่างสง่างาม อย่างน้อยเราก็เป็นโรงเรียนขนาดเล็กเจ้าของรางวัล Best Practices ที่มีวิธีการปฏิบัติที่ดี ด้านบริหารจัดการ

          เป็นโรงเรียนที่ได้ชื่อว่า บริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ระดับเหรียญทอง ชนะเลิศยอดเยี่ยม ของเขตพื้นที่ฯ และเป็นโรงเรียนที่มีเอกลักษณ์ชี้ชัดด้านเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง

          บทพิสูจน์ได้อย่างหนึ่ง ในช่วง ๗ ปีที่ผ่านมา โรงเรียนไม่เคยมีปัญหาด้านการเรียนการสอน โดยเฉพาะการอ่านออกเขียนได้ จึงมิใช่โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายที่เขตพื้นที่ฯต้องนิเทศติดตามและเฝ้าระวัง

          ถึงแม้อัตรากำลังหรือจำนวนครูที่สพฐ.มอบให้ ไม่เคยครบชั้นมาตลอด ๑๗ ปี ปัญหาอุปสรรคและความขาดแคลนเหล่านี้ ไม่เคยทำอะไรผมได้เลย ผมไม่เคยบ่นแต่แก้ปัญหาให้มันลดน้อยลงเท่านั้น

          โชคเข้าข้างผมตลอด จากที่ผมต้องวิ่งสอนหลายห้อง ก็เหลือเพียงห้องเดียว เมื่อเด็กเพิ่มก็ได้ครูเพิ่มตามเกณฑ์ จึงเคยได้ครูบรรจุใหม่มาทดแทนเป็นระยะๆ  เป็นอัตราที่เกลี่ยมาจากโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนเด็กลดลง ถ้าโรงเรียนหนองผือมีนักเรียนลดลง ก็คงไม่ได้อานิสงส์อันนี้

          จึงเกิดปรากฎการณ์ใหม่ล่าสุด ที่ครูของโรงเรียนเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ สพฐ.ก็คืนอัตรามาให้เพราะเห็นว่าจำนวนนักเรียนไม่ได้อยู่ในฐานะที่วิกฤตแต่อย่างใด

          แล้วทำไมต้องจัดงานผ้าป่าการศึกษา ก็เพราะว่าขาดครู ๑ คนนั่นเอง จึงต้องหาเงินเพื่อจัดจ้างพิเศษ ปัญหาครูไม่เพียงพอจะหมดไป ถ้าจำนวนเด็กได้ถึง ๑๒๐ คน ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก

          ผมถือว่าได้ทำดีที่สุดแล้ว ใกล้จะหมดเวลาที่จะสานต่องานทั้งหลาย ทิ้งท้ายวันนี้ด้วยภาพกิจกรรมสุดประทับใจ ที่มีส่วนทำให้โรงเรียนก้าวไกลด้วยเทคโนโลยี่ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในโรงเรียน

          ผมขึ้นรับมอบศูนย์ดิจิทัลชุมชนบนเวทีใหญ่ ด้วยใจระทึกและหวั่นไหว เราเป็นโรงเรียนเล็กๆ ที่ได้รับโอกาสที่ยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้เชียวหรือ?

          ในท้ายที่สุด ผมบอกตัวเองว่า จะไม่ยึดติดกับจุดที่ผมเคยยืน จบก็คือจบ เชื่อเถอะว่าต่อไปจะไม่มีใครสนใจว่าผมเคยทุ่มเท เคยเหนื่อย เคยล้มเจ็บแค่ไหน? แต่วันข้างหน้าผมนี่แหละจะภูมิใจในตนเอง

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๙  สิงหาคม  ๒๕๖๖

          

 

          

 

 

          

หมายเลขบันทึก: 713930เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2023 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2023 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท