ไปเรียนรู้ที่อุบลฯ : สะท้อนคิดเรื่องการพัฒนาระบบงานวิชาการจากการปฏิบัติ แบบเน้นใช้พลังหุ้นส่วนสังคม


 

ดร. รุ้งรังษี วิบูลชัย แห่ง สบช. จองตัวผมไปร่วมการประชุมวิชาการเรื่อง “สุขภาพหนึ่งเดียวเพื่อสุขภาวะชุมชนเข้มแข็ง : โอกาส ความท้าทาย การเรียนรู้ร่วมกับชุมชน” ระหว่างวันที่ 24 – 25 สิงหาคม 2566 ณ ห้องทับทิมสยาม ๑ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานี   จัดโดยวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สรรพสิทธิประสงค์  สถาบันพระบรมราชชนก  และภาคีเครือข่าย   โดยจองตัวล่วงหน้าหลายเดือน    กำหนดให้ผมพูดเรื่อง “ชานชาลาปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ”   ที่เข้าไปฟังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=N_4c4FjzSJ0     และชมข่าวประชาสัมพันธ์การประชุมในวันที่ ๒๔ ได้ที่ (๑)    ฟังกิจกรรมในวันที่ ๒๕ ได้ที่ (๒)  

โปรดสังเกตว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดของชาลาปฏิบัติการในการนำเสนอของผมคือ ช่วยเอื้อให้มิติด้านดีของความเป็นมนุษย์ ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบสุขภาพชุมชน ออกมากระทำการให้เกิดสภาพ “สนธิพลัง” (synergy) กัน    เพื่อทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์    

ในบันทึกนี้ จะเสนอข้อสะท้อนคิด จากการทำตัวเป็นผู้สังเกตการณ์การจัดการประชุมวิชาการ    สะท้อนคิดสู่การสร้างวัฒนธรรมวิชาการขึ้นบนแผ่นดินไทย    เน้นวัฒนธรรมวิชาการบนฐานการปฏิบัติ และเน้นใช้หุ้นส่วนสังคม/ชุมชน (social / community engagement) เป็นพลังขับเคลื่อน   

ฝ่ายบริหารหนุนการพัฒนาชาลาปฏิบัติการพัฒนาวิชาการบนฐานปฏิบัติ

ผมมองว่า การประชุมวิชาการต้องได้รับความเอาใจใส่จากฝ่ายบริหารสถาบัน    ซึ่งในกรณีนี้คือ สบช.   ผมจึงไปตั้งข้อสังเกตว่า ผู้บริหาร สบช. ระดับส่วนกลางแสดงบทบาทอะไรบ้าง   และพบว่า ท่านอธิการบดีไปร่วมงานตั้งแต่เย็นวันที่ ๒๓   เป็นประธานเปิดงาน  บรรยายเรื่อง “การพัฒนาสุขภาวะชุมชนที่ดี โดยชุมชนเพื่อชุมชน”    และอยู่ร่วมงานตลอดช่วง plenary   ซึ่งผมตีความว่าไปร่วมพิธีกรรม และให้นโยบาย    ท่านรองอธิการบดี ๓ ท่าน คณบดีคณะพยาบาลฯ และคณบดีคณะสาธารณสุขฯ   ผอ. สำนักวิชาการ   และรองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ก็ไปร่วมด้วย    โดยรองอธิการบดี ๒ ท่านอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับท่านอธิการบดี    รองอธิการบดีท่านหนึ่ง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ และ ผอ. สำนักวิชาการอยู่จนจบการประชุม   แต่รองอธิการบดีที่เป็นฝ่ายวิชาการ ๒ ท่าน ไม่ได้ไป   

ผมตีความว่า ฝ่ายบริหารระดับสถาบันไม่ได้มองว่าตนต้องบริหารโดยจัดหรือหนุนให้มีการพัฒนา “ชาลาปฏิบัติการ” (operating platform) ด้านวิชาการแนวใหม่นี้   ที่เป็นวิชาการแนวปฏิบัติ ที่ฐานปฏิบัติอย่างน้อยกึ่งหนึ่งอยู่ในชุมชน    และต้องทำงานในลักษณะ “พันธกิจสังคม” (social engagement)  ไม่ใช่บริการวิชาการ    ที่จริงตอนที่ผมเป็นนายกสภา สบช. ผมได้พยายามสื่อสารแนวคิดนี้ต่อฝ่ายบริหาร   และในการบรรยายตอนบ่ายวันที่ ๒๔ ทีมบริหาร สบช. ที่ไปร่วมงานก็นั่งฟังกันทั่วหน้า   แต่ผมคงจะไม่มีความสามารถสื่อสารให้ชัดเจน   จึงไม่เกิดผลในทางปฏิบัติด้านการบริหารจัดการให้เกิดการพัฒนา “ชาลาปฏิบัติการ” วิชาการแนวใหม่นี้ในปัจจุบัน   

สมรรถนะที่จำเป็น

สิ่งหนึ่งที่ต้องพัฒนาขึ้น เพื่อให้สถาบันมีขีดความสามารถในการสร้างผลงานวิชาการจากการปฏิบัติ คือสมรรถนะในการตั้งคำถาม ของสมาชิกในสถาบัน    จากการไปนั่งซุ่มฟังการเสนอผลงานในห้องย่อย    ผมมีความรู้สึกว่า ผลงานที่เสนอส่วนใหญ่มีโจทย์วิจัยไม่ชัด  ไม่มีการทบทวนวรรณกรรมหรือความรู้ที่มีอยู่แล้ว   ทำให้ไม่มีประเด็นว่าแต่ละผลงานที่เสนอเป็นการต่อยอดความรู้จากที่มีอยู่เดิมอย่างไร    และเรื่องนั้นๆ เชื่อมโยงกับประเด็นหลัก (theme) ของการประชุมในภาพใหญ่อย่างไร    นี่คือ “ชาลาวิชาการ” (academic platform) ในระดับปฏิบัติการ ที่ถูกละเลยมาช้านาน   แต่ผมมีประสบการณ์ส่วนตนตั้งแต่เริ่มชีวิตวิชาการเมื่อ ๕๐ ปีก่อน   และได้ริเริ่มชาลานี้ในหลากหลายบริบท ในทุกจุดที่ชีวิตผมโคจรเข้าไปเกี่ยวข้อง

ผมเชื่อว่า ชีวิตคนเราต้องสร้าง “ชาลาเรียนรู้” (learning platform) ให้แก่ตนเอง และแก่เพื่อนร่วมงาน บูรณาการอยู่ในชีวิตการทำงาน   และตอนนี้ผมค้นพบหลักการ เรียนรู้จากประสบการณ์ ที่มีมิติที่หลากหลายซับซ้อนมาก     

พลังชุมชน

การประชุมนี้ ชุมชนมีส่วนร่วมมาก    เห็นได้ชัดเจนว่า วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สรรพสิทธิประสงค์ ได้ดำเนินการพันธกิจเพื่อสังคมกับชุมชน โดยเฉพาะตำบลปทุม  และตำบลกระโสบ  อ. เมือง อุบลราชธานี อย่างได้ผล  การประชุมสองวันนี้ เทศบาล และ อบต. จำนวนหนึ่งเข้าร่วมจัด ทั้งออกเงิน และเข้าร่วมกิจกรรม    ผมได้เข้าไปสังเกตซุ้มนิทรรศการของ รพ.สต. ปทุม อำเภอเมือง,  รพ.สต. ดงห่องแห่ ต. ปทุม อำเภอเมือง,  รพ.สต. ทุ่งบอน อ. วารินชำราบ,  รพ.สต. ปลาขาว อ. น้ำยืน,  อสม.,  อบต. กระโสบ,  เทศบาลตำบลปทุม,  สถานีสุขภาพชุมชน หมู่ ๒ บ้านทุ่งบอน ต. บุ่งหวาย อ. วารินชำราบ  เป็นต้น 

จากการเข้าไปพลิกๆ สมุดบันทึกของ อสม.  และการถ่ายรูปนิทรรศการมาดูรายละเอียดที่บ้าน   รวมทั้งจากการพูดคุยกับผู้มาเสนอนิทรรศการ    ทำให้ผมมองว่ากิจกรรมด้านสุขภาพในชุมชนมีข้อมูลมาก   ที่นักวิชาการของวิทยาลัยสามารถนำมาวิเคราะห์หาความหมาย   โดยการตั้งคำถาม และพยายามหาคำตอบจากข้อมูลที่มี และข้อมูลที่เก็บเพิ่มเติม    นอกจากจะได้ผลงานวิชาการแล้ว ยังจะได้ feedback สู่การพัฒนากิจกรรมสุขภาพชุมชน   

จริยาวัตรของนักวิชาการ 

นอกจากไปเป็นวิทยากรบรรยาย ๑ ชั่วโมงแล้ว   การที่ผมอยู่ร่วมการประชุมตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ น่าจะทำประโยชน์แก่ทีมผู้จัดการประชุมและผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อย    เริ่มตั้งแต่การให้ความสนใจนิทรรศการของ รพสต.,  อสม.,  และเทศบาลตำบล    เข้าไปซักถาม เพื่อหาความรู้เข้าตนเอง และกระตุ้นความคิดของผู้มาจัดนิทรรศการ   รวมทั้งเป็นการแสดงตัวอย่างวิธีตั้งคำถามให้แก่อาจารย์ของวิทยาลัยพยาบาลที่มาร่วมเรียนรู้    ผมได้รับ feedback ว่าอาจารย์พยาบาลได้เรียนรู้มากในเรื่องการฝึกตั้งคำถาม   

ผมได้แสดงตัวอย่างของการเป็นผู้เข้าร่วมประชุมที่ไปที่ห้องประชุมก่อนเวลาเป็นเวลานาน และใช้เป็นโอกาสหาความรู้    เช้าวันที่ ๒๕ กำหนดการประชุมเริ่ม ๘.๓๐ น.  ผมเข้าไปที่ห้องเวลา ๘ น.   ยังไม่มีคนมานั่งอยู่ในห้องประชุมเลย    มีแต่นักศึกษาพยาบาลกลุ่มหนึ่ง ราวๆ ๒๐ - ๓๐ คน  นั่งอยู่ประมาณแถวที่ ๑๐    ผมเดินไปคุยและซักถาม เพื่อเรียนรู้จากคนวัยหลาน   สักครู่ก็มีอาจารย์พยาบาลเข้ามาแจม   และบอกว่าอยากถามผมพอดี   เรื่องการที่นักเรียนมุ่งเรียนแบบที่อาจารย์สอนแบบบรรยาย    เมื่ออาจารย์ถามก็หลบตา     ผมจึงแนะนำว่าในทุกปีการศึกษา ควรใช้เวลา ๓ - ๕ วันแรก จัดการประชุมปฏิบัติการเพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจวิธีการเรียนรู้ที่ดีสำหรับตนเอง    คือการเรียนรู้เชิงรุก   ที่นักศึกษาเรียนรู้จากการทำกิจกรรม เพื่อสร้างความรู้และสมรรถนะใส่ตน    การเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นเจ้าของกระบวนการ    การประชุมปฏิบัติการ ๓ - ๕ วันนี้    นอกจากเพื่อให้นักศึกษามีทักษะการเรียนรู้ที่ถูกต้องแล้ว ยังมีเป้าหมายทำให้นักศึกษาเข้ามาเป็นเจ้าของกระบวนการเรียนรู้ของตน 

ผมได้โอกาสสะท้อนคิดว่า ในวัฒนธรรมไทย ผู้ใหญ่ที่ไปร่วมประชุมวิชาการมักเป็นผู้ไปให้นโยบาย  หรือให้ความรู้แก่ที่ประชุม   รวมทั้งไปให้ความศักดิ์สิทธิ์เชิงพิธีกรรมแก่การประชุม    น้อยคนที่จะไปสังเกตและเก็บข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ของตนเอง   แต่ผมชอบไปร่วมประชุมตอนที่คนระดับปฏิบัติการนำเสนอ    เพื่อเก็บข้อมูลสดจากประสบการณ์ตรง ให้ได้ข้อมูลเชิงลึก ทั้งจากการนำเสนอ และจากพฤติกรรมในที่ประชุม   

จากการเข้าร่วมและสังเกตข้อมูลเชิงลึกดังกล่าวในครั้งก่อนๆ  ผมมีข้อสรุป (ไม่ทราบว่าสรุปถูกหรือผิด) ว่าในการประชุมวิชาการของส่วนราชการ ผู้นำเสนอที่เป็นบุคลากรระดับปฏิบัติมักมุ่งเสนอเพื่อให้ถูกใจนายเป็นวัตถุประสงค์หลัก   ไม่ใช่เสนอเพื่อความเจริญงอกงามด้านการเรียนรู้เป็นหลัก    ตรงกับที่อาจารย์พยาบาลท่านหนึ่งบอกผมว่า เมื่อตนพยายามถามนักศึกษา   มีนักศึกษาตอบว่าอาจารย์อยากให้ตอบว่าอย่างไรจึงจะถูกใจอาจารย์         

การได้ออกไปเปิดหูเปิดตาและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ไปร่วมงานที่หลากหลาย   ช่วยให้ผมได้ความรู้เชิงบริบทของหน่วยงานในสังกัด สบช. เพิ่มขึ้น    รวมทั้งได้ข้อยืนยันว่า ความพยายามผลักดันให้ผู้บริหารส่วนกลางทำงานบริหารเชิงเอื้ออำนาจ (empowerment) แก่หน่วยปฏิบัตินั้น    เป็นความฝันลมๆ แล้งๆ ของผม        

กระบวนการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน

ข้อสังเกตของผมในภาพรวม   การประชุมครั้งนี้สื่อเรื่องการทำงานพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนแบบใช้พลังหุ้นส่วนสังคม (social engagement) ได้ชัดเจน    แต่มิติด้านการทำความเข้าใจชาลาวิชาการบนฐานการปฏิบัติ น่าจะยังไม่ชัด    สบช. น่าจะหาทางดำเนินการพัฒนาวิชาการบนฐานปฏิบัติ แบบทำไปเรียนรู้ไป   ยกระดับความเข้าใจของสมาชิกของ สบช. จากการปฏิบัติ อย่างต่อเนื่อง     

คุณค่าที่ได้จากการประชุมนี้ ส่วนที่สำคัญที่สุดในมุมมองของผมคือ แรงบันดาลใจ ความมั่นใจ และการเรียนรู้ของทีมงานที่ดำเนินการจัดการประชุม   ที่จะร่วมกันดำเนินการสู่สุขภาวะหนึ่งเดียว ด้วยพลังหุ้นส่วนชุมชนกับภาควิชาการ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน  ผมเชื่อว่าทีมงานมองเห็นลู่ทางดำเนินการต่อในอนาคตได้แล้วในระดับหนึ่ง    น่าชื่นชมที่ท่าน ผอ. สำนักวิชาการ นพ. จิโรจ ได้ทำหน้าที่ empower ทีมงานอยู่เบื้องหลัง    ท่านบอกผมว่า หลังงานจบ จะมีการ AAR กัน    ผมได้ให้ข้อเสนอแนะคำถามสำหรับ AAR ไว้ด้วย   

ผมขอเอกสาร จดหมายข่าว รพ.สต. ปทุม ฉบับประจำปี ๒๕๖๕ มาหนึ่งฉบับ    เอามาพิเคราะห์ที่บ้าน    ได้ข้อสะท้อนคิดสำคัญอย่างหนึ่งว่า    รพ.สต. (และหน่วยราชการอื่นๆ) เน้นให้ “บริการ” (service) แก่ประชาชน    ในฐานะผู้มีความรู้ให้บริการและให้คำแนะนำแก่ผู้ไม่มีความรู้    ยังขาดแนวความคิดเชิง “หุ้นส่วน” (engagement) กับประชาชน    ที่หากมีแนวคิดนี้ จะต้องหาทางส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง   

โจทย์วิจัย

จากการไปร่วมงาน หนึ่งวันครึ่งนี้ ผมเห็นโจทย์วิจัย  และโจทย์การบริหารงานวิจัยมากมาย   ขอยกมาเป็นตัวอย่าง   ตามด้วยโจทย์ที่นึกออกเช้าวันที่ ๒๗ ส.ค. ๖๖ จากการอ่านข่าวสาระในเว็บไซต์ The 101 

  • อสม. มีโอกาสทำงานยกระดับสุขภาพชุมชนเพิ่มขึ้นได้อย่างไร โดยไม่เรียกร้องให้ อสม. ทำงานเพิ่มขึ้น   เก็บข้อมูลจากบันทึกการปฏิบัติงานของ อสม. จำนวนหนึ่ง    รวมทั้งการสัมภาษณ์ อสม. โดยตรงอีกจำนวนหนึ่ง   และทำโฟกัสกรุ๊ป อสม. อีกจำนวนหนึ่ง   และเก็บข้อมูลทำนองเดียวกันในผู้อำนวยการ รพ.สต. จำนวนหนึ่ง   
  • จะพัฒนารอยต่อระหว่างบริการสุขภาพของ รพ.สต. กับ รพช. อย่างไร เพื่อยกระดับคุณภาพของบริการผู้ป่วย    และเพื่อให้ รพ.สต. มีคุณค่าต่อบริการสุขภาพปฐมภูมิยิ่งขึ้น   
  • รวบรวมข้อมูลสุขภาพเด็กวัยต่างๆ ที่มีการเก็บข้อมูลอยู่แล้ว  ในจังหวัด   หาพื้นที่ที่เด็กมีสุขภาพดี ๑๐% บน  กับพื้นที่ทีเด็กมีสุขภาพด้อยที่สุด ๑๐% ล่าง    แล้วเข้าไปศึกษาปัจจัยที่แตกต่างของบริการสุขภาพในสองพื้นที่นั้น    
  • ฝ่ายบริหารงานวิจัยของ สบช.  และของวิทยาลัยในสังกัด จะจัดกิจกรรมอะไร เพื่อช่วยสร้างพื้นฐานความรู้ความเข้าใจช่องว่างความรู้ด้านการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิของโลก   เพื่อให้สมาชิกของ สบช. สามารถทำงานวิจัยออกเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับโลกได้เพิ่มขึ้น พร้อมๆ กันกับทำงานด้านการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ        
  • เมืองยุติธรรมในพื้นที่ที่ วิทยาลัยในสังกัด สบช. เข้าไปเป็นหุ้นส่วนพัฒนา เป็นอย่างไร หากพิจารณาจากสาระใน (๑)   

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ย. ๖๖

 

หมายเลขบันทึก: 714595เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2023 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2023 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทุกส่วนราชการ เมื่อขึ้นบริหารมักจะเป็นที่ปรึกษาในการบริหารโครงการฯ ไม่ใช่ผู้นำในการทำ ก็แปลกเหมือนกันนะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท