๑,๓๙๕. ห้องพอเพียง..


  ความรู้สึกของผม อยากจะบอกครูเหลือเกินว่า ยังมีวิธีการอีกมากมาย ที่โรงเรียนโดยคณะครูและนักเรียนสามารถแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพ่อหลวง รัชกาลที่ ๙

ห้องพอเพียง..

          เพื่อนครูเดินมาถาม เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามอาคารสถานที่ของโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ ๑ - ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๖

          การที่ครูมาถามผมก็เพราะว่า ผอ.คนใหม่ยังไม่มา ผมก็เลยถามไปว่า เรื่องนี้ถ้าดำเนินการแล้ว ต้องรายงานเขตฯหรือไม่ ครูตอบว่าไม่ต้องรายงาน “ดีเลย งั้นก็ไม่ต้องทำ” ผมพูด ครูมีสีหน้างุนงงเล็กน้อย

          “จริงๆไม่ได้เกี่ยวกับว่า เมื่อไม่มีการรายงานจึงไม่ต้องทำ อันนี้ไม่ใช่นะครับ หลายเรื่องที่ไม่ต้องรายงานแต่ประการใด แต่โรงเรียนต้องดำเนินการอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ” ผมพูดให้ครูเข้าใจ

          ความรู้สึกของผม อยากจะบอกครูเหลือเกินว่า ยังมีวิธีการอีกมากมาย ที่โรงเรียนโดยคณะครูและนักเรียนสามารถแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพ่อหลวง รัชกาลที่ ๙

          การจัดโต๊ะหมู่บูชาก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่การปฏิบัติบูชาสำคัญยิ่งกว่า เราผู้เป็นครูต้องคิดเสมอว่าทำอย่างไร ที่จะทำให้เรื่องราวของพ่อ ทั้งพระราชกรณียกิจและคำสอน...อยู่ในจิตสำนึกเคียงคู่กับครูและนักเรียนตลอดไป

          ผมพาครูไปเยี่ยมชม “ห้องพอเพียง” ที่ผมริเริ่มและพัฒนามาตลอด ๖ - ๗ ปีที่ผ่านมา

          “ครูครับ ห้องนี้มีพระบรมฉายาลักษณ์มากมาย มีพระบรมราโชวาทและคำสอนที่เป็นศาสตร์พระราชา ก็อยู่ในนี้ หากครูพานักเรียนเข้ามา จะเข้าใจและเข้าถึงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ไม่ยากเลย” 

          “อันนี้ก็ถือว่า เราได้เทิดทูนพระองค์ท่านแล้วจริงๆ” 

          “ถูกต้องแล้วครับครู ห้องนี้จึงดูสะอาดสดใส พร้อมที่จะให้เรียนรู้ได้ตลอดเวลา การจะเดินตามรอยพ่อ พวกเราต้องทำด้วยใจ ทำให้มั่นคงยั่งยืนและต่อเนื่องครับ”

          “หนูเคยเห็นในโรงเรียนขนาดใหญ่ เขาจะมีมุมแบบนี้ในห้องสมุด ในห้องประชุม บอกเล่าพระราชประวัติและคำสอนของพ่ออย่างสร้างสรรค์และสวยงามมาก”

          “อันนั้นถูกต้องและสมควรอย่างยิ่ง ของเราเป็นบริบทของโรงเรียนเล็กๆ ทำได้แค่นี้ก็ดีแล้วครับ”

          “ถ้าหนูพานักเรียนเข้ามา สิ่งที่จะบอกนักเรียนได้ว่าโรงเรียนของเราพอเพียงตามคำสอนของรัชกาลที่ ๙ คืออะไรคะ”   “การประหยัดอดออม การทำงานที่ยึดประโยชน์ส่วนรวม และการไม่ยึดติดตำรามากเกินไป”

          ผมตอบคำถามและอธิบายจนครูเข้าใจ และครูก็คงสบายใจมากขึ้นที่เห็นงานเชิงประจักษ์ซึ่งอยู่ตรงหน้า

          “แล้วการจัดทำกล่าวเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ต้องทำไหมคะ”

          “ก็คงไม่ต้องทำอีกเช่นเดียวกัน เพราะโรงเรียนของเรามีเว๊บไซต์ ได้ปรากฎข้อความวันพ่อแห่งขาติเพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่เรียบร้อยทุกประการ”   “ดีจังเลยค่ะ” 

          “ครับ นี่คือความแตกต่างของเรากับโรงเรียนขนาดเล็กด้วยกัน ครูไม่แปลกใจเลยหรือว่าทำไมแนวโน้มครูและเด็กของเราจึงเพิ่มขึ้น ทำไมโรงเรียนของเรามีเงินบริจาคมากมาย และทำไมโรงเรียนของเราที่ถูกตัดอัตราผอ.ไปแล้วแต่กลับได้คืนมาอย่างรวดเร็ว”  ผมพูดให้ครูคิด แล้วเดินเข้าห้องเพื่อสอนหนังสือตามปกติ ปล่อยให้ครูคิดคำนึงเพื่อหาคำตอบเอาเอง

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๘  ธันวาคม  ๒๕๖๖

 

          

          

          

          

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 716715เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2023 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2023 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท