๑,๓๙๙. มองให้ขาด...


  ผมคิดว่าการเรียนการสอนที่แท้จริงนั้น ไม่ต้องเยอะหรอก ก็แค่ครูมีเวลาสอนและสอนกันเต็มที่เต็มเวลา แก้ปัญหากันไปตามบริบทของโรงเรียน เกาให้ถูกที่คัน โอกาสไม่เท่ากัน ไม่ต้องทำอะไรเหมือนๆกันก็ได้

 มองให้ขาด...

          แบบทะลุปรุโปร่งกันเลยทีเดียว เสร็จแล้วก็มานั่งขำกลิ้ง สมเพชเวทนาการศึกษาไทย ดีนะที่ไม่ได้เต้นตามในทุกเรื่องราว ขอบคุณพระเจ้าที่ช่วยให้ข้าพเจ้ารอดปากเหยี่ยวปากกามาได้

          กว่า ๑๐ ปีที่อยู่บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก เจอนโยบายแปลกๆที่ส่งตรงมาจากข้างบน เพื่อการเรียนการสอนที่แหวกแนว แต่ผมกลับเฉยๆ ซะงั้น ทำตัวเหมือนน้ำล้นแก้ว ไม่รู้ไม่ชี้ไม่ตื่นตัวไม่เต้นตาม

          แต่ก็คิดและวิเคราะห์สถานการณ์ ขณะเดียวกันก็สอนหนังสือไปด้วย สอนหนังสือทุกวัน (ยกเว้นวันที่ติดประชุม) พอดีจบด้านการสอนประถมฯ ทั้ง ป.ตรี และป.โท. เรื่องการสอนจึงเป็นเรื่องหมูๆ

          มานั่งนึกดู สมัยที่เรียนวิทยาลัยครูและมศว. มันไม่มีวิธีการสอนหรือนวัตกรรมแบบนี้นี่นา ครูบาอาจารย์เราก็เก่ง ทำไมท่านไม่บอกหรือถ่ายทอดวิชาให้เราบ้าง?

          หรือเป็นเพราะเราเรียนไม่ถึงซึ่ง ป.เอก หรือเราชอบปฏิเสธอะไรใหม่ๆ เขาชวนไปดูงานที่ไหนก็ไม่ยอมไป ไม่เคยไปโอดีที่ไหนเลย เหตุผลก็คืองานที่โรงเรียนมันเยอะอยู่แล้ว จะไปดูที่อื่นเพื่อ...

          ได้แต่อ่านหนังสือและวารสารทางวิชาการ อ่านงานวิจัย จึงรู้ว่าหัวใจของการศึกษาอยู่ที่ โรงเรียน อยู่ที่การเรียนการสอน จับแก่นตรงนี้ได้ จึงหายใจคล่องและมีชัยไปกว่าครึ่ง

          มีอยู่กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ปีนั้นทั้งปีก็ว่าได้ โรงเรียนทั้วประเทศขานรับกันสนั่นหวั่นไหว รูปแบบอะไรผมก็จำไม่ได้แล้ว ตัวย่อเป็นภาษาอังกฤษ ๓ ตัว รู้แต่ว่าตื่นเต้นกันทั้งประเทศ

          เราก็คิดแล้วว่าไม่น่าจะเกิน ๒ ปีนะเนี่ย เรื่องนี้ต้องหายไปแบบนิ่งสนิท จริงดังคาด ตอนหลังๆ เงียบยิ่งกว่าป่าช้า ไม่มีใครอยากพูดถึง เพราะมีเรื่องใหม่ๆเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน 

          รูปแบบ กระบวนหรือวิธีการที่ว่าเนี่ย ผมเห็นเขาทำกันจ้าละหวั่นแบบว่า ทาสีโต๊ะนักเรียน ทาสีถนนหนทาง สร้างสื่อสีสันจี๊ดจ๊าดแสบหูแสบตา มองไปไหนจ้าแจ่มไปหมด ทั้งในและนอกห้องเรียน

          ตามทฤษฎีที่เขาว่า จะช่วยกระตุ้นให้เด็กตื่นตัว ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ สมองได้ทำงานทั้งสองซีก ฯลฯ พอได้ยินได้ฟังแล้ว ผมก็รู้สึกว่างุนงงเสียเหลือเกิน ทำไมต้องไปเชื่อตามฝรั่งด้วย

          ไม่รู้สิ ตอนนั้นคิดแต่เพียงว่า ไม่มีเงินจะซื้อสี จะทาสีทำไมให้แสบตา เหม็นก็เหม็น โต๊ะนักเรียนก็สะอาดดีอยู่ และที่สำคัญ เด็กจะตื่นตัวอะไรกันหนักหนา ครูก็น้อย ที่สอนอยู่ครูก็เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว

          คือผมมองอย่างนี้นะ พอเปลี่ยนผู้นำสพฐ. นักวิชาการก็จะเสนอสื่อและนวัตกรรม จัดทำโครงการฯ ตั้งงบประมาณ แล้วก็อบรมสัมมนา ประชาสัมพันธ์ แล้วก็พาครูออกจากห้องเรียน วุ่นวายเบลอๆกันไปพักใหญ่ๆ

          พอหมดวาระก็มาว่ากันใหม่ เล่นเรื่องใหม่ ไม่มีการนิเทศติดตาม ว่าที่ทำกันไปนั้นมันคุ้มค่าหรือไม่ มันส่งผลต่อการอ่านออกเขียนได้อย่างไร ที่สุดแล้วการศึกษาก็ยังตกต่ำเหมือนเดิม เด็กอ่านไม่ออกเต็มบ้านเต็มเมือง

          ผมคิดว่าการเรียนการสอนที่แท้จริงนั้น ไม่ต้องเยอะหรอก ก็แค่ครูมีเวลาสอนและสอนกันเต็มที่เต็มเวลา แก้ปัญหากันไปตามบริบทของโรงเรียน เกาให้ถูกที่คัน โอกาสไม่เท่ากัน ไม่ต้องทำอะไรเหมือนๆกันก็ได้

          เป้าหมายก็คือคุณภาพ แต่ระหว่างทางเรื่องสัพเพเหระ จิปาถะมากมาย ถาโถมเข้ามาสู่ห้องเรียน หากมองไม่ออกและอ่านไม่ขาด การศึกษาของชาติก็จะวนไปวนมาเช่นนี้แหละ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๓๑  มกราคม  ๒๕๖๗

          

          

          

          

 

หมายเลขบันทึก: 717222เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2024 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2024 07:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท