สุขใจที่ได้เห็นวงการมหาวิทยาลัยไทยเอาใจใส่คุณภาพการเรียนการสอน


 

วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการคัดเลือกอาจารย์ต้นแบบด้านการสอน ของ ควอท. ที่ผมทำหน้าที่ประธานมาหลายปี    ปีนี้มี ๓๖ มหาวิทยาลัยส่งอาจารย์ผลงานเด่นด้านการสอน ที่ไม่ใช่แค่ตัวเองสอนเด่น    ยังมีการวิจัยด้านการเรียนการสอน เพื่อใช้เป็นข้อมูลพัฒนาการสอนของตนเองอย่างต่อเนื่อง    และทำหน้าที่เผยแพร่วิธีสอนที่ดีภายในคณะ สถาบัน  และนอกสถาบันด้วย   วันนี้คณะกรรมการไปร่วมกันคัดเลือกคนที่ผลงานเด่นเข้าเกณฑ์ที่กำหนดและประกาศไว้ 

เราคัดออกมาได้ ๑๒ คน    สำหรับเชิญมาสนทนา เพื่อให้รางวัลยกย่องเป็นอาจารย์ต้นแบบด้านการสอนของ ควอท. ปี ๒๕๖๗  ที่จะประกาศและมอบรางวัลในการประชุมวิชาการประจำปี ของ ควอท. วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๗  ซึ่งกว่าบันทึกนี้จะออกเผยแพร่ท่านที่สนใจก็จะได้ทราบแล้วว่ามีใครได้รับรางวัลบ้าง   

บันทึกนี้ มีเป้าหมายเพื่อบอกแก่สังคมไทยว่า สมาคม ควอท. ได้ทำหน้าที่ เอ็นจีโอ ด้านพัฒนาอุดมศึกษา ในด้านพัฒนาวิชาชีพอาจารย์ และพัฒนาการเรียนการสอน อย่างน่าชื่นชม   การมีรางวัลอาจารย์ต้นแบบด้านการสอน และกิจกรรมอื่นๆ ได้ช่วยกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยไทยเอาใจใส่ด้านการพัฒนาการสอนให้เป็นการเรียนรู้เชิงรุก นักศึกษาเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพสูง 

ในแบบเสนอตัวอาจารย์เพื่อรับการพิจารณาเป็นอาจารย์ตัวอย่างด้านการสอน มีส่วนที่ให้มหาวิทยาลัยกรอก ว่าได้ส่งเสริมการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง    มีมหาวิทยาลัยที่เขียนมาอย่างดี อ่านแล้วผมชื่นชมมาก   ตัวอย่างเช่น 

มหาวิทยาลัยพะเยา  เขียนอธิบายความเอาใจใส่เรื่องการพัฒนาคุณภาพการสอนอย่างน่าสนใจมาก ผมคัดส่วนต้นมาให้อ่านดังนี้ “นโยบายส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาอาจารย์ด้านการสอน    มหาวิทยาลัยพะเยามีวิสัยทัศน์คือ มหาวิทยาลัยสร้างปัญญา เพื่อนนวัตกรรมชุมชนสู่สากลอย่างยั่งยืน   ซึ่งมียุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่ง คือ การเตรียมคนและเสริมสร้างศักยภาพคน โดยมีเป้าหมายเพื่อ ผลิดกำลังคนมีสมรรถนะมาตรฐานวิชาชีพ สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต มีทักษะความเป็นผู้ประกอบการหรือนักนวัตกรรม และมีความสามารถด้าน community change agent    จึงกำหนดให้อาจารย์เป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จ ของการดำเนินการดังกล่าว โดยมหาวิทยาลัยมุ่ง พัฒนาอาจารย์ให้มีสมรรถนะและความเชี่ยวชาญ ทั้งด้านวิจัยชีพในศาสตร์สาขาของตน และสมรรถนะด้านการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยยึดหลัก จรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์   มหาวิทยาลัยจึงมีการกำหนด มาตรฐานสมรรถนะอาจารย์ มหาวิทยาลัยพะเยาขึ้น ภายใต้ประกาศมหาวิทยาลัยพะเยา เรื่องมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพ พ ศ 2562 (UP-PSF)   และกำหนดให้ การพัฒนาอาการมืออาชีพตามมาตรฐาน UP-PSF เป็นกลยุทธ์สำคัญของยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยด้านการเตรียมคน และเสริมสร้างศักยภาพของคน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 จนถึงปัจจุบัน”  

ไม่เพียงระบุหลักการเท่านั้น   มหาวิทยาลัยพะเยาระบุวิธีดำเนินการ ที่ผมสรุปมา ดังนี้   ประกาศ มหาวิทยาลัยพะเยา เรื่องมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพมหาวิทยาลัยพะเยา พ ศ 2562 มีองค์ประกอบ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1 ความรู้  2 สมรรถนะจัดการเรียนรู้ และ 3 คุณค่าของอาจารย์ ตามแนวทางการส่งเสริมคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ใน สถาบันอุดมศึกษา (PU-PSF), UK Professional Standard Framework (UK-PSF)  และเพิ่มคุณลักษณะของอาจารย์ตามบริบทของมหาวิทยาลัยพะเยา อันได้แก่ สมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีความสามารถในการนำความรู้และทักษะ ไปพัฒนาชุมชน สังคม และกำหนดระดับมาตรฐานอาจารย์เป็น ๔ ระดับ 

 การขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ

  1. สื่อสารเจตนารมณ์ เพื่อสร้างความเข้าใจและเป้าประสงค์ให้แก่บุคลากรสายวิชาการทุกระดับ ตั้งแต่คณบดี เพื่อนำไปสู่การผลักดันและขับเคลื่อนเชิงการบริหารระดับคณะ  รองคณบดีฝ่ายวิชาการ เพื่อนำไปสู่ การสร้างความเข้าใจในกระบวนการเข้ารับพัฒนา และการประเมินสมรรถนะอาจารย์ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย 
  2. กำหนดจำนวนอาจารย์ผู้ผ่านการประเมิน UP-PSF ระดับที่ 2 ขึ้นไปเป็นตัวชี้วัด (KPI) ของแผนยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัย และถ่ายทอดสู่ KPI ของแผนยุทธศาสตร์หลักคณะ 
  3. จัดทำแผนพัฒนาอาจารย์ด้านการจัดการเรียนการสอน ตามองค์ประกอบ UP-PSF จำนวน 2 โมดูล ประกอบด้วยโมดูลด้านศาสตร์การสอนและพัฒนาการเรียนรู้   และโมดูลด้านการเสริมสร้างคุณค่าการเป็นอาจารย์  ซึ่งแต่ละโมดูลจะมีกิจกรรม ในการพัฒนาที่ปรับเปลี่ยนในแต่ละปีการศึกษาตามความจำเป็น 
  4. จัดทำประกาศมหาวิทยาลัยพะเยา เรื่องการพัฒนาสมรรถนะอาจารย์มหาวิทยาลัยพะเยา ที่กำหนดให้คณะพัฒนาอาจารย์ ให้สอดคล้องกับ ระดับคุณภาพมาตรฐานอาจารย์มืออาชีพระระดับที่ 1 ตามประกาศมหาวิทยาลัยพะเยา เรื่องมาตรฐาน อาจารย์มืออาชีพมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. ๒๕๖๒ 
  5. ยกย่องและเชิดชูเกียรติ ด้วยการมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้ผ่านการประเมินระดับที่ 2 และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ให้แก่ ผู้ผ่านการประเมินระดับที่ 3 และ 4   และกำหนดให้มีการคัดเลือกอาจารย์ดีเด่นด้านการสอนของมหาวิทยาลัยพะเยาจำนวน 1 คนทุกปีการศึกษา 
  6. กำหนด Challenged KPIด้านการผลิตบัณฑิตในแต่ละปีงบประมาณ ซึ่งสอดคล้องกับสมรรถนะตาม UK-PSF และจัดสรร งบประมาณสนับสนุนอาจารย์ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้มีการพัฒนาตนเอง 
  7. จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ show and share ของอาจารย์ผู้ผ่านการประเมินระดับที่ 3 ขึ้นไป และผลงานวิจัยและ นวัตกรรมด้านการจัดการเรียนรู้ดีเด่น สู่อาจารย์และประชาคมเป็นประจำทุกปีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง 
  8. จัดมอบรางวัลสนับสนุนแก่คณะที่มีการพัฒนาอาจารย์ด้านการเรียนรู้สูงสุด 3 คณะ 
  9. พัฒนาระบบสนับสนุนและสิ่งอำนวยความสะดวกในการยื่นรับการประเมินสมรรถนะ มาตรฐานอาจารย์มืออาชีพ อย่างต่อเนื่อง เช่น จัดคลินิกให้คำปรึกษา พัฒนาวิธีการและระบบในการยื่นเอกสารให้ครบถ้วนคล่องตัวและรวดเร็ว 
  10. ส่งเสริมและพัฒนาอาจารย์ที่ผ่านการประเมิน UP-PSF 3  สู่การรับรองการประเมิน Thailand PSF 3  ด้วยการจัดคลินิคใกล้คำปรึกษาเพื่อพัฒนา 

  ที่จริงเอกสารที่มหาวิทยาลัยพะเยาส่งมายาวกว่านี้   แต่คิดว่าเอาเพียวแค่นัชี้ก็พอจะเป็นตัวอย่างแก่มหาวิทยาลัยอื่นได้เป็นอย่างดี   

เดิมผมคิดจะยกตัวอย่างหลายมหาวิทยาลัย    แต่เกรงว่าบันทึกนี้จะยาวเกินไป   จึงขอเพียงเอ่ยชื่อมหาวิทยาลัยที่เอาจริงเอาจังเรื่องพัฒนาการสอน ได้แก่ มจธ., มทส., มศว., มสธ., มอ. เป็นต้น   

 วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.พ. ๖๗

     

หมายเลขบันทึก: 717756เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2024 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2024 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท