วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙)  ๑๕๙. โอกาสต่อยอด SECSI    


 

โครงการ SECSI จัดการประชุมวิชาการ เหลียวหลัง-แลหน้า งานวิจัยมุ่งเป้า “การพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร จากล่างสู่บน ปีที่ 3 (ปีสุดท้าย)”  ระหว่างวันที่ 4 - 5 มีนาคม 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอสรุปผลการดำเนินการของโครงการวิจัยภายใต้แผนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย การบริหารจัดการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานระบบบริการสุขภาพ : การพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจรปีที่ 3   ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว 

ผมได้รับเชิญให้บรรยายพิเศษเรื่อง “โครงการวิจัย SECSI : งานวิจัยจาก ล่าง สู่ บน ➔ สร้างงาน สร้างคน สร้างระบบได้จริงหรือ ?”  เป็นเวลา ๓๐ นาที   ขอนำวิดีทัศน์การบรรยายมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ (๑)    ผมเคยลงบันทึกเรื่องโครงการ SECSI ที่ (๒)   และผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆ มาข้อคิดเห็นต่อโครงการนี้ที่ (๓) 

เป็นการประชุมที่สะท้อนผลงานที่งดงามของโครงการ SECSI ที่มี ศ. นพ. สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ เป็นประธานแผนงาน    และเป็นความสำเร็จของ วช. ที่ริเริ่มแผนงาน Spearhead Research ในปี ๒๕๖๑ สมัย ศ. นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เป็นเลขาธิการ วช.   โดยผมได้กล่าวชมไว้แล้วในการบรรยายพิเศษ (๑) 

ตลอด ๒ วันของการประชุม มีผลงานที่นำไปต่อยอดได้อีกมากมาย   ทั้งที่เป็นโจทย์พัฒนานวัตกรรม (ด้านระบบสุขภาพ)   ด้านพัฒนาระบบ ววน.   เชื่อมโยงกับการพัฒนาระบบอื่นๆ ของประเทศ เช่น ระบบการศึกษา  ระบบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น    โดยที่ท่าน ผอ. สวช. ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง บอกว่า เป้าหมายสุดท้ายของโครงการนี้คือ เพื่อคุณภาพชีวิต  และการพัฒนาที่ยั่งยืน    และเมื่อฟังจาก ศ. นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ก็นับได้ว่างาน ๒ วันนี้ เป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จของโครงการ เพื่ออวตารสู่ภพภูมิใหม่ต่อไป   ซึ่งจะเป็นอย่างไรทาง สวช. ไม่ได้บอก     

โอกาสต่อยอดผลงานของ SECSI ที่ผมมองเห็นได้แก่

การพัฒนา เครื่องวัดสัญญาณชีพพื้นฐานพร้อมการสื่อสารแบบไร้สาย  (CMUgency  และเครื่องระบุพิกัด CM-GPS ที่พัฒนาโดย ศ. ดร. นิพนธ์ ธีรอำพน   ที่สามารถผลิตจำนวนมากในราคาเครื่องละ ๓ หมื่นบาท สำหรับใช้ทดแทนการนำเข้าราคาเครื่องละ ๓ แสนบาท    และที่สำคัญหากซื้อจากต่างประเทศข้อมูลทั้งหมดอยู่ต่างประเทศ    เราไม่สามารถเก็บไว้เป็นข้อมูลของเราได้    และมีปัญหาการบำรุงรักษาเครื่องแพงมาก    คุณภาพของเครื่องที่ทีม ศ. ดร. นิพนธ์ ผลิตนั้น นพ. รุซลี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานีซื้อ CMUgency ไปใช้ ๑๕ เครื่อง และบอกว่าใช้ได้ดี   และข้อมูลเป็นของเรา   

                   โอกาสต่อยอดคือ น่าจะเชิญหน่วยงาน TCELS ช่วยทำหน้าที่พิจารณาสนับสนุนให้มีการศึกษาโอกาสด้านการตลาดของ เครื่องวัดสัญญาณชีพพื้นฐานพร้อมการสื่อสารแบบไร้สาย  (CMUgency)  และเครื่องระบุพิกัด CM-GPS    และชวนภาคเอกชนร่วมตั้งบริษัท Start-up ทำธุรกิจขายเครื่องและให้บริการด้านการบำรุงรักษา รวมทั้งพัฒนาเครื่องอย่างต่อเนื่อง   หากการต่อยอดนี้เกิดขึ้นได้จริง ก็เท่ากับโครงการ SECSI ก่อผลกระทบนอกเป้าหมายเดิมที่มุ่งพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน    ไปสู่การพัฒนาระบบ ววน. ด้วย   

การพัฒนาหลักสูตรการแพทย์ฉุกเฉินในโรงเรียน    จะแยกไปไว้ในบันทึกต่อไป

ระบบการพัฒนาต้นแบบหลักสูตร และจัดการภาวะฉุกเฉินทางทะเล    ผมได้เสนอต่อ รศ. นพ. ประสิทธิ์ วุฒิสุทธิเมธาวี หัวหน้าโครงการว่า น่าจะทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เสนอความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการมาตรการความปลอดภัยของการท่องเที่ยวทางทะเล    เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว     

วิจารณ์ พานิช

๒๙ มี.ค. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 717798เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2024 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2024 17:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท