เรียนรู้จากการทำหน้าที่ประธานกรรมการตัดสินอาจารย์ต้นแบบด้านการสอนของ ควอท.


 

ดังเล่าที่นี่ ว่าผมทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลอาจารย์ต้นแบบให้แก่ ควอท.   ซึ่งวันประชุมตัดสินคือวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๗   การเตรียมดูวิดีทัศน์นำเสนอผลงาน (๕ นาที) ของ finalist รวม ๑๒ คน   และอ่านไฟล์นำเสนอที่ส่งให้กรรมการก่อนล่วงหน้าหลายวัน    นำสู่บันทึกนี้ 

ที่จริงผมจัดว่าเป็นกรรมการที่ล้าหลังที่สุดในคณะกรรมการ ๑๓ คน    เพราะไม่ได้ทำงานอยู่ในวงการมหาวิทยาลัยมานานมาก   การได้ทำงานนี้จึงเป็นโอกาสเรียนรู้ที่ดีมากสำหรับผม     

เพราะ finalist ท่านหนึ่งบอกว่า ได้รับการยอมรับเป็น Fellow ของ HEA ของสหราชอาณาจักร    ผมจึงถามคุณ เจมินี ณ กูเกิ้ล เกี่ยวกับเรื่อง UK-PSF    จึงได้รู้ว่า HEA ได้เปลี่ยนเป็น AdvancedHE   และยกเลิกระดับชั้นของ PSF (ที่เดิมมี ๔ ระดับ) ไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๗   อ่านและดาวน์โหลด Essential Frameworks for Advancing Student Success ได้ ที่นี่    

สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ผมได้ตระหนักว่า หัวใจสำคัญที่สุดสำหรับคนที่อยู่ในวิชาชีพด้านการสอนคือ การเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่องไม่สิ้นสุด   โดยมุ่งผลลัพธ์สุดท้ายที่การหนุนการพัฒนาผู้เรียน    หลักฐานความสำเร็จอยู่ที่ความเจริญก้าวหน้าของศิษย์ มากกว่าอยู่ที่ความเจริญก้าวหน้าของตนเอง   

ผมจึงได้คำถามสำหรับเอาไปถาม finalist สำหรับใช้คำตอบประกอบการตัดสิน    และประกอบการเรียนรู้ของผม    คำถามหลักคือ แต่ละสถาบัน แต่ละวิชาชีพมีระบบพัฒนาระบบการสอนและระบบการเรียนรู้อย่างไรบ้าง   

ในผู้ได้รับรางวัล ๘ ท่าน   เป็นอาจารย์แพทย์ ๒ ท่าน    อาจารย์ด้านศึกษาศาสตร์ ๒ ท่าน   วิศวกรรมศาสตร์ ๑   อนามัยสิ่งแวดล้อม ๑   บัญชี ๑  และ โลจิสติกส์ ๑   โดยมีรายชื่อใน ประกาศนี้   ทุกท่านมีบทบาทพัฒนาตนเอง เพื่อนร่วมงานในส่วนงานของตนเอง และในมหาวิทยาลัยของตน  รวมทั้งออกไปเป็นวิทยากรภายนอกมหาวิทยาลัย ในด้านการพัฒนาการเรียนการสอน  บางท่านได้รับเชิญไปพูดนอกภาคการศึกษา

เราได้เห็นแรงบันดาลใจของอาจารย์ต้นแบบ   จากการได้รับฟังการพัฒนาในมหาวิทยาลัยอื่น    นำเอาแรงบันดาลใจของตนไปแจ้งผู้บริหาร เสนอให้พัฒนามหาวิทยาลัยของตนบ้าง    และตนเองทำตัวเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง    เมื่อตนสำเร็จในการได้รับ Senior Fellow ของ UK-PSF ก็หาทางหนุนให้เพื่อนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้รับถึง ๒๑ คน   นี่คือ ดร. วิทยา ศิริพันธ์วัฒนา  แห่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิต           

ยิ่งได้ฟังผู้ได้รับรางวัลอาจารย์ต้นแบบด้านการสอน ๔ ท่าน เล่าความคิด การปฏิบัติ และอุดมการณ์ของแต่ละท่านในการประชุมวิชาการ ควอท. ในบ่ายวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๗ แล้ว    ยิ่งได้เรียนรู้และเห็นความก้าวหน้าในมิติของการจัดการเรียนรู้แบบ เรียนรู้เชิงรุก (active learning) อย่างชัดเจน    

วิจารณ์ พานิช

๘ มี.ค. ๖๗  และ ๒๑ มี.ค. ๖๗ 

 

หมายเลขบันทึก: 717816เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2024 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2024 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท