ตัดสินรางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์


 

วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๗ ผมไปเป็นประธานประชุมคณะกรรมการตัดสินรางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ห้องประชุม ๑ ชั้น ๔ มูลนิธิ พอ. สว. กรุงเทพ    ที่เมื่ออ่าน PowerPoint นำเสนอจำนวน ๔๖๐ หน้าแล้ว   ผมเกิดความปลื้มปิติ ว่ามีครูดีๆ เช่นนี้ในวงการศึกษาไทย   

ยิ่งได้ฟังจากการนำเสนอโดยคุณสี่ วัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์ ยิ่งปิติมากขึ้น    ได้เห็นครูดีในพื้นที่ห่างไกล ที่ดิ้นรนคิดหาหนทางช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพสูง    มีอนาคตดี  และตนเองก็ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง   เป็นครูตัวอย่างระดับประเทศได้   

เกณฑ์ของรางวัลนี้มี ๓ ประการคือ 

  1. ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ทุรกันดาร เสี่ยงภัยอัตราย
  2. เป็นครูที่เป็นมากกว่าครู
  3. มีผลงานโดดเด่น  เป็นต้นแบบแก่ครูทั้งประเทศได้ 

ผมเกิดความคิดว่า ที่ครูเหล่านี้มุ่งพัฒนางานของตนก็เพราะมีปัจจัยให้ไม่คิดย้ายไปไหน    คือไม่ได้ทำงานเพื่อย้าย  แต่ทำพื่ออยู่ คืออยู่ที่โรงเรียนนั้น ชุมชนนั้นอย่างมีความสุขความภาคภูมิใจในผลงานของตน   ผมตีความว่าเงื่อนไขเช่นนี้ เป็นตัวช่วยปลุกวิญญาณความเป็นครูให้ลุกโชน  และเป็นแรงบันดาลใจให้มุ่งทำงานเพื่อศิษย์    ในขณะที่ครูที่ทำงานเพื่อย้าย มุ่งทำงานเพื่อกู   วิญญาณครูย่อมถูกกลบด้วยเป้าหมายเพื่อกู 

ในที่ประชุมมีการเสนอว่า น่าจะมีการถอดบทเรียนว่า จากตัวอย่างครูเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ ๙ คนของปี ๒๕๖๗ นี้  มีปัจจัยใดที่เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาวิญยาณความเป็นครู    ผมจึงนำมาใคร่ครวญสะท้อนคิดดังข้างต้น   

ในการประชุมคณะกรรมการปีที่แล้ว    มีกรรมการตั้งข้อสังเกตว่า ครูที่เสนอตัวเข้ามาขอรับรางวัลมี ๒ ประเภท คือ แบบแรกเพื่อใช้รางวัลเป็นบันไดสู่การย้ายหรือได้ตำ เจ้าของ แหน่งที่สูงขึ้น   กับแบบที่สอง เพื่อเสนอผลงานของตน จะได้หรือไม่ได้รับรางวัลก็ไม่เป็นไร      

ครูกลุ่มแรกมักไม่ได้รับการคัดเลือก   แต่กลุ่มหลังมักได้รับการคัดเลือก   

สิ่งที่ทำให้ผมมีความสุขจากการประชุมนี้ คือได้เข้าไปอยู่ในสมาคมของคนที่มุ่งทำเพื่อสังคม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว    ซึ่งในที่นี้เป็นการทำเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งก็คือยกระดับคุณภาพของคนไทย    

คนที่ผมประทับใจมากที่สุดคือคุณสี่ วัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์  เจ้าของบริษัท บาธรูมดีไซน์ ไอ-สปา จำกัด  ที่เมื่อธุรกิจอยู่ตัว ก็หันไปใช้ชีวิตรับใช้สังคม   โดยทำงานนี้แบบทุ่มเทขับรถไปเยี่ยมครูในพื้นที่ทุรกันดาร (เพื่อเก็บข้อมูลมาประกอบการคัดเลือก) ปีละหลายพันกิโลเมตร โดยใช้รถของตนเอง ออกค่าน้ำมันเอง   

ผมดีใจมากที่คณะกรรมการเสนอให้ถอดบทเรียนครูเหล่านี้   เพื่อตอบคำถามว่าจิตวิญญาณความเป็นครูของครูเหล่านี้มาจากไหน  ปัจจัยอะไรเป็นเหตุให้ครูเหล่านี้ทุ่มเททำหน้าที่ครูเพื่อศิษย์   

วิจารณ์ พานิช

๑๒ มี.ค. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 717856เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2024 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2024 17:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท