นั่งฟังปราชญ์แนะนำ การบริหารมหาวิทยาลัยแนวนวัตกรรม


 

เช้าวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๗ ที่ห้องอาหารโรงแรมไดม่อนพลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี   ผมนั่งฟังท่านนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศ. กิตติคุณ นพ. จรัส สุวรรณเวลา คุยกับคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ อธิการบดี  และรศ. ดร. บุญสม ศิริบำรุงสุข กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ และอดีตอธิการบดี    อย่างที่กล่าวได้ว่า “เปิดโลก” แก่ผม

สะท้อนคิดได้ว่า มหาวิทยาลัยไทย ไม่ว่าชั้นนำแค่ไหน   ต้องการวงเสวนาอย่างไม่เป็นทางการ   เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์วิธีทำงาน จากแนวตั้งรับ สู่เชิงรุก    จากมองนักศึกษาเป็นผู้มารับถ่ายทอดความรู้ มาเป็นผู้ร่วมสร้างความรู้และนวัตกรรม   

ทำอย่างไร คณาจารย์ทั้งหลายของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะได้มีโอกาสพูดคุยและรับรู้แนวความคิดของการเป็นมหาวิทยาลัยสมัยใหม่จากท่านนายกสภา    เพื่อโน้มน้าวอาจารย์ส่วนใหญ่ ให้ออกจากพื้นที่สบายใจ   ออกมาสู่พื้นที่ท้าทาย ที่ร่วมกันสร้างมหาวิทยาลัยยุคใหม่   

พอดีผมกำลังอ่านหนังสือ Becoming Great Universities : Small Steps for Sustained Excellence  เขียนโดยศาสตราจารย์ Richard J. Light & Allison Jegla ที่แนะนำในทำนองเดียวกัน   คือต้องเปลี่ยนมุมมองต่อนักศึกษา ว่าเป็นผู้เข้ามาร่วมสร้างบรรยากาศความเป็นมหาวิทยาลัย  ที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษาที่มาจากต่างพื้นเพ    และระหว่างนักศึกษากับอาจารย์     

มหาวิทยาลัยแนวนวัตกรรมต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในทุกกิจกรรมของตน    โดยทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย (รวมทั้งนักศึกษา) เป็นนวัตกร   และมุ่งพัฒนาความเป็นนวัตกรของตนอย่างขมักเขม้น   ในลักษณะของการร่วมมือส่งเสริมซึ่งกันและกัน    ช่วยกันหนุนให้สมาชิกได้ออกจากพื้นที่สบาย (comfort zone) หรือพื้นที่แห่งความเคยชิน   สู่พื้นที่สร้างสรรค์ (creative zone) เพื่อการเรียนรู้      

วิจารณ์ พานิช

๓๑ มีนาคม ๒๕๖๗

ห้อง ๑๕๑๐  โรงแรมจอมเทียนบีชรีสอร์ท 

 

หมายเลขบันทึก: 717899เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2024 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2024 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท