อนาคตที่เปราะบางของอุดมศึกษา (๒)


 

       ผมเขียนข้อสะท้อนคิดจากการอ่านปาฐกถาเรื่อง The Three Dilemmas of Higher Education ไว้ที่ www.gotoknow.org/posts/717663  วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๗ ได้เห็นข้อสะท้อนคิดของ ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ ที่เห็นชัดว่า มีความลุ่มลึกกว่าข้อสะท้อนคิดของผมมาก   จึงขออนุญาตท่าน นำมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้    

 

ข้อสังเกตว่าด้วยปาฐกถาเรื่อง “The Three Dilemmas of Higher Education” ของศาสตราจารย์ Simon Marginson, Centre for Global Higher Education, Oxford University, วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2024

โดย ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ

 

 

          ผู้เขียนขอขอบคุณ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช อดีตผู้อำนวยการ สกว. และอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้กรุณาส่งตัวบทปาฐกถาอันมีค่านี้มาให้

          ศาสตราจารย์ Simon Marginson เป็นชาวออสเตรเลีย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ Centre for Global Higher Education  มหาวิทยาลัย Oxford ซึ่งเป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัยทั้งในสหราชอาณาจักรและในต่างประเทศ  ทำหน้าที่วิจัยอุดมศึกษาในด้านต่างๆ  ปาฐกถาเรื่องนี้ใช้ข้อมูลจากงานวิจัยของสถาบันฯ ดังกล่าว  การดำเนินงานวิจัยจัดเป็นโครงการ  แยกออกเป็น 2 กลุ่ม  กลุ่มหนึ่งมีลักษณะ extrinsic (คือว่าด้วยปัจจัยภายนอก)  และอีกกลุ่มหนึ่งมีลักษณะ intrinsic (คือว่าด้วยปัจจุบันภายใน)  เช่นเดียวกันกับงานวิจัยด้านอุดมศึกษาที่ดำเนินการอยู่ในประเทศต่างๆ  ปัจจัยภายในมักจะถูกละเลย  และศาสตราจารย์ Simon และผู้ร่วมงานก็สำนึกดีในข้อบกพร่องนี้  และพยายามที่จะปรับดุล แต่ก็ยอมรับว่าโจทย์ที่ว่าด้วยปัจจัยภายในเป็นเรื่องยากมาก  ดังเช่นกรณีที่ท่านพยายามชี้ให้เห็นว่า เรายังจะต้องวิจัยกันอีกมากในเรื่องที่ว่าด้วย formative effects of knowledge (ผลกระทบของวิชาความรู้ต่อการสร้างคน)  ถึงอย่างไรก็ตาม ปาฐกถาครั้งนี้ใช้ข้อมูลจากการวิจัยที่กว้างขวางและหนักแน่น  และองค์ปาฐกเองก็มีความกล้าพอที่จะให้ข้อสรุปอย่างตรงไปตรงมาว่า  อุดมศึกษาในระดับโลกในปัจจุบันกำลังจะเดินลงเหว

          วิกฤต 3 ประการที่อุดมศึกษาในปัจจุบันต้องเผชิญก็คือ

  1.   ความล้มเหลวของการขยายอุดมศึกษาด้วยปริมาณ  ซึ่งมิได้ก่อให้เกิดความเสมอภาคทางสังคมดังที่คาดเอาไว้
  2.   นโยบายทางเศรษฐกิจเข้ามาครอบงำอุดมศึกษา ทำให้เกิดความคาดหวังที่ผิดๆ เช่นที่ว่า  อุดมศึกษาจะทำหน้าที่เป็นการศึกษาที่เตรียมผู้เรียนเข้าสู่ระบบงาน (job-ready education) แนวคิดดังกล่าวทำลายการแสวงหาความรู้อย่างเสรีที่เป็นจุดแข็งของอุดมศึกษาต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ
  3.   โลกาภิวัตน์กำลังล่มสลายด้วยการถอยร่นกลับไปสู่ชาตินิยมในหลายประเทศ  ทำให้การแลกเปลี่ยนและสร้างความรู้ร่วมกันแบบข้ามพรมแดนต้องประสบอุปสรรคนานัปการ  องค์ปาฐกไม่ลังเลที่เอ่ยชื่อ Brexit  และ Trump ขึ้นมาอย่างตรงไปตรงมา

องค์ปาฐกให้การยอมรับว่า ผู้บุกเบิกการวิจัยอุดมศึกษาของยุคใหม่คือกลุ่มมหาวิทยาลัย California โดยอ้างผู้นำทางความคิด 3 คน คือ Clark Kerr, Bob Clark และ Martin Trow  (ผู้เขียนเองได้เคยประชุมทางวิชาการร่วมกับ Clark Kerr ที่เบอร์ลิน) งานบุกเบิกของนักวิชาการอเมริกัน  ทำให้เกิดความสำนึกว่า อุดมศึกษาอาจเป็นปรากฏการณ์ที่อธิบายได้ยาก  มีความเร้นลับ (mystery) บางประการ แต่ก็มีพลวัตที่เราท่านมิอาจปฏิเสธได้ องค์ปาฐกไม่ลังเลที่จะให้ข้อสรุปตามประสบการณ์ของกลุ่มนักคิดจาก UC ว่า พลวัตของอุดมศึกษา (ซึ่งเราจำเป็นจะต้องติดตามแสวงหาต่อไปอย่างไม่รู้จบนั้น) เกิดขึ้นได้ในบริบทและระบบที่ขาดความสมบูรณ์ นั่นคือเป็น“อุดมศึกษาของกัลยาณมิตรเคลื่อนจากล่างสู่บน กอปรด้วยความสัมพันธ์แนวนอน ความกำกวม รวมทั้งความหละหลวม และความไร้ระเบียบในการจัดการและการบริหาร” (ผู้เขียนเคยได้รับเชิญไปเป็น Fulbright Visiting Professor ที่ U.C. Berkely เป็นเวลา 1 ปีการศึกษา และใคร่ขอยืนยันว่าที่นั่นเป็นประชาคมที่มีพลวัตทางวัฒนธรรมทางปัญญาและทางการเมืองสูงมาก) ในที่สุดองค์ปาฐกก็ให้ข้อสรุปอย่างสั้นๆ ว่า “วิทยาการระดับโลกก้าวมาได้ในรูปของเครือข่ายที่เคลื่อนจากล่างไปสู่บน  นอกกรอบของกลไกในการควบคุมในระดับชาติ”  อย่างน้อยท่านก็คงมองไม่พลาดว่า  การต่อสู้ระหว่างอุดมศึกษากับรัฐยังเป็นการต่อสู้ที่ไม่จบสิ้น  และก็จะดูคล้ายๆ กับปัญหาดั้งเดิมที่มหาวิทยาลัยเรียกร้องความเป็นอิสระจากการก้าวก่ายของศาสนจักรและสันตะปาปาเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา

อาจสังเกตได้ว่า  ในปาฐกถานี้มีการพูดถึงพลังของเทคโนโลยีดิจิทัลน้อยมาก โดยมิได้ปฏิเสธศักยภาพอันมหาศาลของเทคโนโลยีใหม่นี้ แต่อุดมศึกษาในทัศนะขององค์ปาฐกก็ยังเป็นเรื่องของมนุษย์  ของบุคคล กลุ่มบุคคล  ประชาคม  สถาบัน องค์กร และรัฐ ความไม่ลงตัวกลับกลายเป็นพลวัตที่หนุนเนื่องให้อุดมศึกษายังคงมีความมีชีวิตชีวาได้  มีการพูดถึงคุณภาพ  โดยเฉพาะคุณภาพของผู้สอนและผู้เรียนน้อยมาก เพราะคงจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้เชี่ยวชาญตะวันตก เช่นเดียวกันก็ไม่มีการพูดถึงประเด็นจริยธรรม  เพราะคงเป็นที่เข้าใจว่า  นั่นเป็นองค์ประกอบอันสำคัญของอุดมศึกษาที่ละเลยไม่ได้อยู่แล้ว สรุปว่าปาฐกถานี้กระตุ้นให้เกิดความคิดมากกว่าจะชี้ทางออกจากวิกฤตทั้งหลาย  แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ มหาวิทยาลัยมิใช่ชุมชนปิดแบบมหาวิทยาลัยตะวันตกนับแต่มัธยสมัยเป็นต้นมา  แต่เป็นกลุ่มคนที่ต้องตื่นตัวขึ้นแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับโลก  โจทย์ที่ท้าทายที่องค์ปาฐกตั้งไว้คือจะใช้ความรู้อย่างไรเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ  เช่นในกรณีของภาวะโลกร้อน

นัยสำหรับอุดมศึกษาไทยมีอยู่หลายประการ  ใคร่ขอเสนอเป็นประเด็นๆ ไว้ดังนี้

  1.   อุดมศึกษามีพลวัตสูงมากในตัวเอง  ซึ่งได้รับการเกื้อหนุนมาในอดีตจากเสรีภาพทางวิชาการ การสร้างกฎระเบียบที่อยู่หยุมหยิมและรัดรึงเช่นในบ้านเราในปัจจุบัน  ไม่ใช่ทางออกที่พึงปรารถนาอย่างแน่นอน  องค์ปาฐกชี้ให้เห็นว่าระบบการประเมิน รวมถึงการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเป็นกลไกที่ภาครัฐและภาคธุรกิจใช้ครอบงำอุดมศึกษา
  2.   สัมพันธภาพข้ามพรมแดนของอุดมศึกษานั้น  ควรจะได้รับการตีความในวงกว้างมาก คือ เป็นการที่ความรู้อันหลากหลายส่องทางให้แก่กันโดยไม่มีข้อจำกัด แต่ความคิดว่าด้วยการข้ามพรมแดนของบ้านเราถูกครอบงำด้วยการผลิตและจำหน่ายสินค้า  ล่าสุดคือการขาย “soft power” ของเราเอง ระบบการแลกเปลี่ยนนักศึกษาก็ถูกบิดเบือนไปเป็นการหาลูกค้าแบบมักง่าย เช่น ลูกค้าจากประเทศจีนเพื่อมาทดแทนจำนวนนักศึกษาของเราเองที่ลดลง
  3. เราคงจะต้องไม่เลี่ยงที่จะพูดถึงคุณภาพทั้งของผู้สอนและผู้เรียน  ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับการขยายตัวอันรวดเร็วของอุดมศึกษาไทยเสมอไป  แต่อาจเป็นเรื่องของความตกต่ำเชิงจริยธรรม โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับบัณฑิตศึกษาซึ่งผู้เรียนถูกทอดทิ้ง  กดขี่ และเอารัดเอาเปรียบ
  4. ความหมกมุ่นอยู่กับวัตถุ อยู่กับผลประโยชน์ ทั้งในระดับสถาบันและในระดับบุคคล  ไม่ทำให้เกิดสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า “สุนทรียภาพแห่งการเรียนรู้”  ในปาฐกถาดังกล่าวไม่มีการพูดถึงธรรมาภิบาล (good governance) เลย เพราะองค์ปาฐกมองว่า อุดมศึกษาเป็นวัฒนธรรมที่มีรากลึกและพัฒนาการอันยาวนาน และก็ไม่มีการพูดถึงปัญหาความขัดแย้งภายในและการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งในบ้านเรามีการพึ่งศาลปกครองอย่างพร่ำเพรื่อ   
  5. เรามุ่งปรับและพัฒนารูปแบบ ระบบ วิธีการ เครื่องมือ กลไก และในระยะต่อไปก็กำลังจะหวังพึ่งว่า ดิจิทัลเทคโนโลยีจะทำให้กิจการของอุดมศึกษาดีขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่สิ่งที่องค์ปาฐกพูดถึงจึงดูอาจจะเป็นเรื่องของคนโบราณ (ทั้งๆ ที่ท่านมีข้อมูลล่าสุดจากงานวิจัยที่ยังคิดว่าการพัฒนามนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์  คือหลักประกันคุณภาพและคุณค่าของอุดมศึกษา)
  6. ไม่ว่าสถาบันอุดมศึกษาที่องค์ปาฐกกล่าวถึงจะถูกรุมเร้าด้วยปัญหาต่างๆ มากเพียงใด แต่เราไม่เกิดความรู้สึกเลยว่า เขามีความทุกข์  ต่างจากมหาวิทยาลัยไทยที่เป็นชุมชนของคนอมทุกข์  ซึ่งในท้ายที่สุดก็ทำได้แต่เพียงบ่นว่าหรือด่าทอ แต่ไม่สามารถจี้ไปที่ตัวปัญหาและเสนอทางแก้ไขได้ อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งไม่รู้แม้แต่ว่าตัวเองต้องการอะไร กลุ่มคนที่เคยเป็นพลังทางปัญญาของอุดมศึกษากำลังจะหมดแรงไปและหมดลม  การวิจัยอย่างที่สถาบัน Centre for Global Higher Education  ทำมา ให้ความหวังได้ว่า การวิจัยคือการช่วยให้รู้จักตนเองในกรอบของโลกภายนอกอันไพศาล และน่าจะชี้ทางให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้

 

 

เจตนา  นาควัชระ

7 มีนาคม 2567

 

 

หมายเลขบันทึก: 717935เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2024 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2024 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท