เรียนรู้จากงานประชุมวิชาการของ ควอท.


 

ผมไปร่วมการประชุมวิชาการประจำปี ๒๕๖๗ ของ ควอท.  ในหัวข้อ “ภูมิทัศน์อุดมศึกษาไทยในบริบทโลก แนวโน้มและโอกาส”    ที่การบรรยายพิเศษในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๗ เรื่อง แนวโน้มและโอกาสในการพัฒนาอุดมศึกษาไทย โดย ท่านรองปลัดกระทรว อว. ศ. ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล,   และ เรื่อง Skill-First Approach : การอุดมศึกษาที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคง  โดย รศ.  ดร. บัณฑิต ทิพากร    และปาฐกถาพิเศษในบ่ายวันที่ ๒๒ เรื่อง Education Reforms in Disruptive Era : การปฏิรูปการศึกษาในยุคพลิกผัน  โดย Seamus O. Tuama, Chair of ASEM Education and Research Hub for Lifelong Learning, Director of Adult Continuing Education University College Cork Ireland   ให้ความรู้แก่ผมมากจริงๆ

ศาสตราจารย์ ทูอามา บอกว่าอุดมศึกษาต้องรับใช้สังคมใน ๓ แนวทาง (mode) คือ  (๑) แนวทางสร้างวิทยาการให้แก่สังคม  (๒) แนวทางสร้างความเชื่อมโยงในสังคม และสร้างกระบวนทัศน์ยืดหยุ่น (cognitive flexibility)  และ (๓) แนวจัดการศึกษาแบบใหม่ที่ยืดหยุ่นแก่ประชาชนที่มีความต้องการแตกต่างหลากหลาย    โดยในการทำหน้าที่ทั้ง ๓ แนวทางนั้น  มหาวิทยาลัยทำตัวเป็นหุ้นส่วนสังคม   และภาคส่วนต่างๆ ของสังคมก็เป็นหุ้นส่วนกับมหาวิทยาลัย   

ท่านรองปลัดฯ ศุภชัยมองเป้าหมายหลักของอุดมศึกษา ๔ กลุ่ม คือ (๑) พัฒนากำลังคนในทุกช่วงวัย (lifelong learning)  (๒) รองรับสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต (disruption)  (๓) เพิ่มขีดความสามารถของประเทศในระดับสากล  (๔) พัฒนากำลังคนต้องทำร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและชุมชน   โดยท่านเสนอ ๑๐ แนวทางดำเนินการคือ (๑) พัฒนาหลักสูตรในสาขาวิชาชีพสำคัญให้ได้รับการรับรองระดับสากล (international accreditation) (๒) จัดทำ national credit bank / university credit bank  (๓) จัดทำวิชา General Education for ALL  (๔) จัดทำ skills mapping ในทักษะที่สำคัญ  (๕) จัดทำ skills transcript เพื่อระบุทักษะสำคัญของผู้เรียน (๖) พัฒนาหลักสูตรในทักษะสมัยใหม่ (degree/non-degree) ร่วมกับภาคเอกชน  (๗) ส่งเสริม experiential learning education ในทุกหลักสูตร  (๘) พัฒนาหลักสูตร (sandbox) ในสาขาที่ต้องการกำลังคนอย่างเร่งด่วน  (๙) ส่งเสริมการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต  (๑๐) ยกระดับทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของบัณฑิต    โดยขอตั้งข้อสังเกตว่า ท่านให้ความหมายของ experiential learning ต่างจากความหมายในหนังสือชุด การเรียนรู้ ‘ขั้นสูง’ จากประสบการณ์  

รศ. ดร. บัณฑิต อธิบายอุดมศึกษาแบบเน้นทักษะเป็นหลัก (skills-first approach) ที่ผมจะแยกไปเขียนอีกบันทึกหนึ่ง

สามการบรรยายพิเศษนี้สื่อว่าอุดมศึกษาทั่วโลกต้องเปลี่ยนขาด (transform)    และผมสะท้อนคิดต่อว่า ต้องมีการจัดการการเปลี่ยนขาดระบบอุดมศึกษาโดยร่วมมือกับความพลิกผันไม่ชัดเจนไม่แน่นอนทั้งหลาย

ผมขอเสนอว่า หัวใจสำคัญที่สุดคือ ควอท. ต้องเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนอุดมศึกษาให้เป็นกลไกพัฒนาคุณภาพของพลเมืองไทยให้จงได้    โดยติดอาวุธนักศึกษาและคนไทยทั้งมวลด้วย ทักษะการเรียนรู้จากประสบการณ์   ที่จะทำให้คนไทยทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้และยกระดับปัญญาของตนเองได้จากประสบการณ์    ตามแนวของ Kolb’s Experiential Learning Cycle   และ Double-Loop Learning     

วิจารณ์ พานิช

๒๒ มี.ค. ๖๗ 

 

หมายเลขบันทึก: 717944เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2024 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2024 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท