BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สรุปแนวคิดการกระทำเหนือหน้าที่ ๑.


การกระทำเหนือหน้าที่

สรุปแนวคิดการกระทำเหนือหน้าที่                บันทึกต่อไปนี้ จะเป็นการสรุปแนวคิดเรื่องการกระทำเหนือหน้าที่ ซึ่งเป็นบทสรุปในวิทยานิพนธ์เรื่อง การกระทำเหนือหน้าที่ในทฤษฎีจริยศาสตร์ร่วมสมัยของผู้เขียน เนื้อหาทั้งหมดไม่มีการแก้ไข ยกเว้นหัวข้อเท่านั้น 

1. มโนทัศน์ของการกระทำเหนือหน้าที่               

. การจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรม               

การกระทำเหนือหน้าที่ในจริยศาสตร์ร่วมสมัยเริ่มต้นในปี ค.. 1958 โดยบทความ “Saint and Heroes” ของเอิร์มสัน โดยเขาโจมตีว่าการจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมตามประเพณีไม่สามารถครอบคลุมการกระทำทางศีลธรรมได้ทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถรองรับการกระทำแบบนักบุญและแบบวีรบุรุษไว้ได้ เอิร์มสันได้นำคำว่า การกระทำเหนือหน้าที่ หรือ อธิกรรมซึ่งเป็นมโนทัศน์ทางเทววิทยามาใช้เพื่อรองรับการกระทำแบบนักบุญและแบบวีรบุรุษ               

ไฟน์เบอร์กไม่เห็นด้วยกับเอิร์มสัน โดยเขาให้ความเห็นว่าการเพิ่มอธิกรรมไว้ในการจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมก็ไม่สามารถเข้าใจข้อเท็จจริงทางศีลธรรมได้ ถ้าไม่เข้าใจกฎหมายและกฎสถาบัน และความผิดพลาดของจัดประเภทเช่นนั้นเกิดขึ้นเพราะนักปรัชญาศีลธรรมใช้ตรรกศาสตร์เป็นเครื่องมือในการจัดประเภทโดยละเลยข้อเท็จจริงทางศีลธรรม               

ชิสโฮลม์ใช้จัตุรัสแห่งการตรงกันข้ามทางตรรกะมาแสดงเพื่อให้เห็นว่าสามารถจัดประเภทเป็นการกระทำทางศีลธรรมได้ครบถ้วนตามความเห็นของเอิร์มสัน และชิสโฮลม์ได้ให้ความเห็นว่าความผิดพลาดของการจัดประเภทการกระทำที่เกิดขึ้นเพราะนักปรัชญาบางกลุ่มได้รวม ข้อยินยอมได้ กับ ข้อไม่ผูกพัน (ข้อไม่กำหนดไว้) เป็นการกระทำเดียวกันแล้วเรียกว่า ข้อไม่มีค่าทางศีลธรรม ดังนั้น จึงกลายเป็นการจัดประเภทการกระทำตามประเพณีสามอย่าง                 

ชิสโฮลม์ได้เสนอแนวคิดว่าการจัดประเภทตามประเพณีสามอย่างนี้สามารถกระจายออกเป็นเก้าอย่างเพื่อจะได้ครอบคลุมข้อเท็จจริงทางศีลธรรมทั้งหมดได้ แต่ให้ความเห็นว่าระบบศีลธรรมทั้งหลายอาจยอมรับประเภทของการกระทำเหล่านี้ไม่ควบถ้วน ซึ่งขึ้นอยู่กับแนวคิดของระบบศีลธรรมนั้นๆ               

ผู้วิจัยได้นำเสนอการจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมของฟิสคินเพื่อแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าเขาได้จัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมไว้เป็นสามอย่าง แต่ก็อยู่นอกกรอบการจัดประเภทตามประเพณีได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอจริยปรัชญาของเขาเอง และได้นำเสนอการจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมโดยใช้คำประเมินค่าทางศีลธรรมของโพจแมนเพื่อแสดงให้เห็นแนวคิดที่แตกต่างออกไปของการจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรม               

ผู้วิจัยมีความเห็นว่า การจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมทั้งหลายขึ้นอยู่กับแนวคิดทางศีลธรรมของนักจริยปรัชญานั้นๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับระบบศีลธรรมนั้นๆ ดังนั้น การจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมจึงมิอาจกล่าวได้ว่าถูกหรือผิด แต่อาจกล่าวได้ว่าเหมาะสมหรือไม่เท่านั้น                

. ความหมายและขอบเขตของการกระทำเหนือหน้าที่               

ตามทัศนะของเอิร์มสัน จำแนกการกระทำแบบนักบุญหรือแบบวีรบุรุษไว้สองนัย คือ การกระทำแบบนักบุญหรือแบบวีรบุรุษที่ยังอยู่ภายในขอบเขตของหน้าที่ และการกระทำแบบนักบุญหรือแบบวีรบุรุษที่อยู่เกินเลยขอบเขตของหน้าที่ โดยเขาได้นำคำว่า การกระทำเหนือหน้าที่หรือ อธิกรรม มาใช้เรียกการกระทำชนิดหลัง

แนวคิดของเอิร์มสันก่อให้เกิดปัญหาในการกำหนดขอบเขตของการกระทำไว้สองประการด้วยกัน โดยประการแรกเป็นการกำหนดขอบเขตระหว่างหน้าที่ทั่วไปกับหน้าที่แบบนักบุญหรือแบบวีรบุรุษ และประการที่สองเป็นการกำหนดขอบเขตระหว่างการกระทำแบบนักบุญหรือแบบวีรบุรุษซึ่งอยู่ภายในกรอบของหน้าที่กับการกระทำแบบนักบุญหรือแบบวีรบุรุษที่เป็นอธิกรรม

ส่วนความหมายของอธิกรรมตามทัศนะของเอิร์มสัน ผู้วิจัยสรุปได้ว่า

 อธิกรรมคือการกระทำที่ล่วงพ้นขอบเขตของหน้าที่เพราะผู้กระทำจะต้องต่อสู้กับอำนาจขัดขวางอย่างแรงกล้าเกินกว่าใครๆ จะกำหนดให้เป็นหน้าที่ได้

ซึ่งผู้วิจัยมีความเห็นว่ายังมีข้อบกพร่องอยู่สองประเด็น โดยประเด็นแรกเอิร์มสันไม่ได้ให้ความหมายของหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน และประเด็นที่สองเอิร์มสันไม่ได้คำนึงถึงศักยภาพของผู้กระทำว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ในสถานการณ์เดียวกัน ฉะนั้น ความหมายของอธิกรรมตามทัศนะของเอิร์มสันจึงยังคงมีความหมายที่คลุมเครือไม่ชัดเจน                

ตามทัศนะของไฟน์เบอร์ก เขาได้จำแนกอธิกรรมเป็นสองชนิด คือการกระทำที่เกินข้อตกลงหรือเกินหน้าที่ และการกระทำที่มิใช่หน้าที่แต่มีคุณความดี ดังนั้น ความหมายของอธิกรรมจึงมีสองนัย โดยนัยแรก ถ้าให้ความหมายของอธิกรรมว่าเกินหน้าที่ อธิกรรมก็คือการกระทำที่เกินขอบเขตของหน้าที่ซึ่งเป็นข้อตกลงของสถาบัน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณความดีทางศีลธรรม และนัยที่สอง ถ้าให้ความหมายอธิกรรมว่าเป็นการกระทำที่มีคุณความดีสูงทางศีลธรรม อธิกรรมก็คือการกระทำที่มิใช่หน้าที่ เพราะคุณความดีทางศีลธรรมเป็นการวิเคราะห์ครั้งสุดท้ายหลังจากพิจารณาทุกอย่างแล้ว                 

ตามทัศนะของชิสโฮลม์ เขาให้ความเห็นว่า อธิกรรมไม่จำเป็นว่าจะต้องมีคุณความดีมากกว่าหน้าที่เสมอไป โดยเขาได้ยกตัวอย่างว่าการช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตของหน้าที่ก็อาจจัดเป็นอธิกรรมได้ และการยอมเสียสละชีวิตของตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งมีคุณความดีสูงก็อาจจัดเป็นหน้าที่หรืออธิกรรมได้โดยอาศัยเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง               

ผู้วิจัยมีความเห็นว่าชิสโฮลม์ต้องการแสดงให้เห็นว่าขอบเขตและความหมายของอธิกรรมเป็นสิ่งไม่ชัดเจน แต่อธิกรรมบ่งชี้ว่าเป็นการกระทำที่เลือกได้ตามความสมัครใจ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงสรุปความหมายของอธิกรรมตามทัศนะของชิสโฮลม์ว่า อธิกรรมคือการกระทำดีที่มิใช่ข้อผูกพันหรือมิใช่หน้าที่ทั่วไปซึ่งบังคับให้เรากระทำ เป็นการกระทำที่เลือกได้ตามความชอบใจโดยมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ประโยชน์ คุณธรรม หรือเจตนาในการดำเนินการ                

นักจริยศาสตร์ทั้งสามคนมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับขอบเขตและความหมายของอธิกรรม ทำให้อธิกรรมยังคงมีขอบเขตและความหมายคลุมเครืออยู่  และยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันในปัจจุบัน ประเด็นปัญหาของเรื่องนี้ชูแมกเกอร์ให้ความเห็นว่าเป็นเหตุผลทางตรรกศาสตร์ที่อธิกรรมไม่สามารถเป็นหน้าที่ได้ เนื่องจากหน้าที่สามารถใช้เหตุผลอธิบายได้ชัดเจนตามแนวคิดของ จริยศาสตร์สำนักนั้นๆ ส่วนอธิกรรมเป็นเรื่องยากที่จะประมวลให้เป็นแบบอย่างเดียวกันได้ เพราะอธิกรรมผูกโยงอยู่กับคำว่าหน้าที่นั่นเอง ส่วนสาเหตุที่ทำให้แนวคิดทางจริยศาสตร์แตกต่างกันก็เพราะความเห็นเรื่องการให้คุณค่าหรือการประเมินค่าทางศีลธรรมแตกต่างกันนั่นเอง                

การศึกษามโนทัศน์ของการกระทำเหนือหน้าที่ทำให้ผู้วิจัยพบปัญหาพื้นฐานของมโนทัศน์ทางจริยศาสตร์ กล่าวคือ การจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมเกิดขึ้นจากความพยายามในการอธิบายการให้คุณค่าหรือการประเมินค่าการกระทำทางศีลธรรม และจะต้องให้ความหมายคำศัพท์ทางจริยะตามแนวคิดของนักจริยปรัชญานั้นๆ  ซึ่งต่างก็ใช้เกณฑ์ในการประเมินค่าตามความพอใจ เช่น อาจใช้เจตนาหรือใช้ผลลัพธ์ในการประเมินค่าการกระทำทางศีลธรรม แต่คำศัพท์ทางจริยะที่นำมาใช้ในการจัดประเภทและประเมินค่าการกระทำทางศีลธรรมมีความซ้ำซ้อนกัน เช่น การกระทำ ดี อาจหมายถึงการกระทำที่เกิดจากเจตนาดีหรือมีผลลัพธ์ที่ดีก็ได้ ซึ่งผู้วิจัยมีความเห็นว่า ปัญหาเรื่องความคลุมเครือของคำศัพท์ทางจริยะทำให้เกิดการศึกษาเฉพาะความหมายของคำศัพท์ทางจริยะ ซึ่งเรียกกันว่า อภิจริยศาสตร์ ในจริยศาสตร์ปัจจุบัน               

ส่วนคำว่า การกระทำเหนือหน้าที่ หรือ อธิกรรม ซึ่งเป็นคำศัพท์ทางจริยะเช่นเดียวกัน ยิ่งมีความหมายคลุมเครือยิ่งขึ้น เพราะอธิกรรมผูกโยงอยู่กับหน้าที่ ดังนั้น การทำความเข้าใจอธิกรรมจึงต้องศึกษาแนวคิดจริยศาสตร์สำนักนั้นๆ เพื่อนำมาตรวจสอบว่าอธิกรรมตามความเห็นของนักจริยปรัชญาหรือทฤษฎีจริยศาสตร์สำนักนั้นๆ ว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร                

. การประเมินค่าทางศีลธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่               

จริยศาสตร์เป็นวิชาว่าด้วยคุณค่าซึ่งแตกต่างจากข้อเท็จจริง ดังนั้น ทฤษฎีจริยศาสตร์ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับการประเมินค่า ความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนี้ทำให้จริยศาสตร์มีแนวคิดแตกต่างกันออกไป การกระทำเหนือหน้าที่ก็เกิดขึ้นจากประเด็นของการประเมินค่า เพราะเอิร์มสันให้ความเห็นว่า คำว่า นักบุญ  และ วีรบุรุษ สามารถใช้ประเมินค่าการกระทำทางศีลธรรมได้ เมื่อมโนทัศน์แห่งคำว่าการกระทำเหนือหน้าที่นำมาใช้ในจริยปรัชญาก็ทำให้เกิดปัญหาในการประเมินค่าเช่นเดียวกัน ซึ่งการวิจัยทราบว่า แนวคิดตามทฤษฎีหลักการไม่สามารถประเมินค่าการกระทำเหนือหน้าที่ได้ แต่เข้ากันได้กับทฤษฎีคุณธรรม 

2. ทฤษฎีจริยศาสตร์กับการกระทำเหนือหน้าที่               

. ประโยชน์นิยมกับการกระทำเหนือหน้าที่

ประโยชน์นิยมยึดถือผลลัพธ์ทั่วไปของการกระทำเป็นเกณฑ์ในการประเมินค่าการกระทำทางศีลธรรม ปัจจุบันมีความเห็นแตกต่างกันสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่ยึดถือผลลัพธ์เป็นเครื่องตรวจสอบการกระทำโดยตรงเรียกว่าประโยชน์นิยมเชิงกรรม และฝ่ายที่ใช้ผลลัพธ์ตรวจสอบกฎของการกระทำซึ่งเรียกว่าประโยชน์นิยมเชิงกฎ                

เอิร์มสันมีความเห็นเบื้องต้นว่า ประโยชน์นิยมเชิงกรรมไม่มีที่ว่างให้อธิกรรม ซึ่งฟิลด์แมนอธิบายไว้ว่า ตามแนวคิดประโยชน์นิยมเชิงกรรม การกระทำที่มีประโยชน์มากที่สุดต่อคนจำนวนมากที่สุดถือว่าเป็นการกระทำที่ดีหรือถูกต้อง การไม่กระทำตามหลักการนี้จึงถือว่าเลวหรือผิด กล่าวคือเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมที่ผู้ยึดถือหลักประโยชน์สูงสุดต้องดำเนินการ ส่วนอธิกรรมซึ่งเป็นกระทำที่มีประโยชน์มากที่สุดเช่นเดียวกัน แต่การละทิ้งหรือเพิกเฉยอธิกรรม มิใช่ความผิดเพราะอยู่นอกกรอบการบังคับของหน้าที่ ฉะนั้น ประโยชน์นิยมเชิงกรรมจึงไม่สามารถอธิบายได้ว่า ระหว่างประโยชน์สูงสุดที่เป็นหน้าที่กับอธิกรรม (เหนือหน้าที่) มีความแตกต่างกันอย่างไร หรือการละทิ้งการกระทำตามหลักประโยชน์สูงสุดที่เป็นความผิดและไม่มีความผิดนั้นแตกต่างกันอย่างไร               

 เอิร์มสันมีความเห็นเบื้องต้นว่า ประโยชน์นิยมเชิงกฎ สามารถนำมาประยุกต์ใช้อธิบายอธิกรรมได้ แต่โดนาแกนก็ให้ความเห็นว่า แม้ประโยชน์นิยมเชิงกฎ ก็มีข้อบกพร่องเรื่องอธิกรรมเช่นเดียวกัน โดยโดนาแกนชี้แจงว่า ข้อตกลงร่วมกันของสังคมหนึ่งสังคมใดที่ตั้งไว้เป็นกฎทางศีลธรรม ซึ่งมีสภาพบังคับให้สมาชิกปฏิบัติตามหรือเป็นหน้าที่  แต่ถ้าสมาชิกในสังคมบางคนไม่ยอมรับข้อตกลงร่วมกันว่าเป็นหน้าที่ โดยมีความเห็นว่าเป็นเพียงสิ่งที่เลือกกระทำได้ตามความสมัครใจหรือเป็นอธิกรรมแล้ว จะก่อให้เกิดปัญหาว่ากฎทางศีลธรรมที่วางไว้นั้นเป็นหน้าที่หรืออธิกรรม นั่นคือ ประโยชน์นิยมเชิงกฎมีปัญหาในการกำหนดขอบเขตและความหมายของหน้าที่กับอธิกรรมเช่นเดียวกัน               

 ผู้วิจัยมีความเห็นว่าประโยชน์นิยมเชิงกรรมไม่มีที่ว่างให้อธิกรรม ส่วนประโยชน์นิยมเชิงกฎอาจนำมาประยุกต์ใช้ได้ในสังคมเดียวที่มีลักษณะเป็นสังคมปิด แต่อาจมีปัญหาเรื่องการกำหนดขอบเขตและความหมายของหน้าที่กับอธิกรรมในสังคมเชิงซ้อนที่มีลักษณะเป็นสังคมเปิดว่าข้อตกลงร่วมกันนั้นเป็นหน้าที่หรืออธิกรรม                

. ลัทธิคานต์กับการกระทำเหนือหน้าที่               

นักจริยปรัชญาคานต์ปัจจุบันยึดถือรูปแบบของคำสั่งเด็ดขาด คือ กฎสากล จุดหมายในตัวเอง และภาวะอิสระเป็นเกณฑ์ในการตัดสินการกระทำ เนื่องจากแนวคิดจริยศาสตร์ของคานต์มีลักษณะซับซ้อนและผูกโยงอยู่กับแนวคิดอื่นๆ ของเขาอย่างเป็นระบบ ดังนั้น จึงมีการแปลความหมายและตีความไปตามความเห็นของผู้ศึกษา เฉพาะมโนทัศน์เรื่องอธิกรรมในลัทธิคานต์ ก็มีความเห็นแตกต่างกันไป ผู้วิจัยอาศัยบทความของวัชระ งามจิตรเจริญ ได้จำแนกความเห็นเรื่องอธิกรรมในลัทธิคานต์ 5 ประการด้วยกัน               

1) อธิกรรมในฐานะหน้าที่ไม่สมบูรณ์  ฮิลล์บอกว่า หน้าที่ไม่สมบูรณ์อาศัยหลักการอื่นจากคำสั่งเด็ดขาด เช่น หลักความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งเราทุกคนมีขอบเขตเฉพาะอยู่ว่าจะช่วยใครเพียงใด และถ้ามีการขยายขอบเขตออกไปก็จัดเป็นอธิกรรม

ผู้วิจัยมีความเห็นว่าเป็นไปไม่ได้เชิงตรรกะ เพราะในลัทธิคานต์มีเพียงหน้าที่สมบูรณ์และหน้าที่ไม่สมบูรณ์ การเพิ่มอธิกรรมเข้ามาจึงอยู่นอกกรอบความคิดจริยศาสตร์ของคานต์ 

2) หน้าที่ในฐานะอธิกรรมตามสามัญสำนึก ไอเซนเบิร์กบอกว่าการกระทำบางอย่างซึ่งคนทั่วไปถือว่าเป็นอธิกรรม แต่คานต์บอกว่าเป็นหน้าที่ ฉะนั้น อธิกรรมตามสามัญสำนึกของคนทั่วไปก็คือหน้าที่ตามลัทธิคานต์นั่นเอง

ผู้วิจัยมีความเห็นว่า หน้าที่ตามลัทธิคานต์เป็นปรวิสัย แต่สามัญสำนึกของคนทั่วไปถือได้ว่าเป็นอัตวิสัย ดังนั้น จึงมีความขัดแย้งกัน เรื่องนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของไอเซนเบิร์ก 

3) อธิกรรมมีค่าทางศีลธรรมในฐานะภาวะอิสระ ฮีดถือว่าอธิกรรมเป็นการกระทำที่เลือกได้อย่างสมัครใจแบบเบ็ดเสร็จ ฉะนั้น จึงมีค่าทางศีลธรรมในฐานะภาวะอิสระตามลัทธิคานต์ได้                  

ผู้วิจัยมีความเห็นว่าอธิกรรมอาจมีค่าทางศีลธรรมในฐานะภาวะอิสระได้ แต่ก็อาจขาดความเป็นสากลและจุดหมายในตัวเอง ดังนั้น จึงยังขาดความสมบูรณ์ตามนัยแห่งคำสั่งเด็ดขาด                

4) อธิกรรมในฐานะคุณลักษณะทางคุณธรรม บารอนมีความเห็นว่าเราสามารถให้คุณลักษณะทางคุณธรรมแก่อธิกรรมได้จากแนวคิดเรื่องหลักการแห่งคุณธรรม โดยคานต์มองคุณธรรมว่าเป็นคติบทของคนที่จะทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์                

ผู้วิจัยมีความเห็นว่า คุณธรรมผูกโยงอยู่กับหน้าที่ตามลักษณะคำสั่งเด็ดขาด การเพิ่มลักษณะทางคุณธรรมเข้ามาในลัทธิคานต์ของบารอนลักษณะนี้ สะท้อนให้เห็นแนวคิดของลัทธิคานต์ ซึ่งผู้ยึดถือพยายามค้นคว้าและปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับประเด็นร่วมสมัย 

5) อธิกรรมในฐานะกึ่งศีลธรรม แมคคาร์ทีได้นำสุนทรียศาสตร์กับจริยศาสตร์ของคานต์มาผสมผสานกันและนำไปผูกโยงกับความเป็นสิ่งสูงส่งแล้วก็สรุปว่าอธิกรรมมีฐานะเป็นกึ่งศีลธรรมได้ แต่วัชระ ก็วิจารณ์ว่าแนวคิดของแมคคาร์ทีขาดความชัดเจน 3 ประการ คือความหมายของคำว่ากึ่งศีลธรรม เรื่องความรู้สึกทางศีลธรรม และสถานภาพกึ่งศีลธรรม                

ประเด็นนี้ ผู้วิจัยเห็นด้วยกับวัชระ และมีความเห็นเพิ่มเติมว่า แนวคิดของแมคคาร์ทีก็สะท้อนให้เห็นแนวคิดอีกนัยหนึ่งของลัทธิคานต์ร่วมสมัย ซึ่งพยายามปรับปรุงแนวคิดของคานต์เช่นเดียวกับบารอน                               

 อนึ่ง วัชระได้เสนอความเห็นในการปรับแก้ลัทธิคานต์เพื่อรองรับอธิกรรมไว้ 2 ประการ คือ ลัทธิคานต์ต้องยอมรับว่ามีอธิกรรมซึ่งมีค่าทางศีลธรรมอยู่ด้วย และแก้ลักษณะความหมายของอธิกรรมว่าเป็นการกระทำหน้าที่ชนิดพิเศษ โดยขยายขอบเขตของหน้าที่ออกไปแล้วก็จัดให้อธิกรรมมีค่าสูงส่งเหนือหน้าที่ธรรมดา แต่ผู้วิจัยมีความเห็นว่า แนวคิดนี้เป็นการเวียนกลับไปสู่วิธีการและปัญหาแบบเดิมในลัทธิคานต์ตามที่ผู้วิจัยนำเสนอไว้ในเบื้องต้น                  

. จริยศาสตร์คุณธรรมกับการกระทำเหนือหน้าที่               

ผู้วิจัยได้นำเสนอกระบวนทัศน์ของจริยศาสตร์คุณธรรมและให้ความเห็นเบื้องต้นว่าอธิกรรมเข้าได้กับจริยศาสตร์คุณธรรม และมีข้อสรุปอธิกรรมในจริยศาสตร์คุณธรรมดังต่อไปนี้               

1) คนดีในอุดมคติ คือ การพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นคนมีคุณธรรมสูงสุดหรือคนดีในอุดมคติ ซึ่งแนวคิดนี้จะเปิดโอกาสให้อธิกรรมสอดแทรกเข้าไปได้ เนื่องจากอธิกรรมเป็นการกระทำดีตามความสมัครใจของผู้กระทำ                 

 2) แนวคิดเรื่องคุณธรรมทางศีลธรรมและสนับสนุนทางศีลธรรมของแฟรงเกนา ผู้วิจัยมีความเห็นว่าเข้ากันได้กับอธิกรรม เพราะแฟรงเกนาเชื่อว่าการเลือกกระทำสิ่งที่ถูกต้องเป็นคุณธรรมทางศีลธรรม โดยมีคุณธรรมอีกประเภทเช่นความเมตตากรุณาของแม่เป็นตัวสนับสนุนทางศีลธรรม                

3) คุณธรรมในฐานะคุณค่าภายในตามความเห็นของซัลเลอร์ ผู้วิจัยมีความเห็นว่าสนับสนุนอธิกรรม เพราะเชื่อว่าคุณธรรมเป็นแรงจูงใจภายในที่มีอยู่เป็นลักษณะนิสัยของผู้กระทำเพื่อจะกำหนดการกระทำ มิใช่การใช้ขอบเขตของหน้าที่เป็นตัวกำหนดการกระทำ                

4) ปัญหาญาณวิทยาในจริยศาสตร์คุณธรรม ผู้วิจัยมีความเห็นว่าเป็นปัญหาที่สอดคล้องกับปัญหาของอธิกรรม กล่าวคือ จริยศาสตร์คุณธรรมใช้อัตวิสัยในการเลือกตัวแทนทางศีลธรรม ส่วนอธิกรรม เมื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำเลือกได้ก็จัดเป็นอัตวิสัย                  

5) คุณธรรมเชิงปฏิบัติตามแนวคิดของแมกอินไทร์ ผู้วิจัยมีความเห็นว่าสนับสนุนอธิกรรม เพราะบริบททางสังคมที่กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อสนับสนุนความดีภายในจะเปิดโอกาสให้อธิกรรมสอดแทรกเข้ามาได้ 

3. วิเคราะห์มาตรฐานศีลธรรม 2 ระดับ               

จริยปรัชญาร่วมสมัยมีลักษณะคู่ขนาน โดยได้รวมเอาประโยชน์นิยมกับลัทธิคานต์เป็นทฤษฎีหลักการ ซึ่งทฤษฎีหลักการนี้อยู่ตรงข้ามกับทฤษฎีคุณธรรม นักจริยปรัชญาร่วมสมัยพยายามแก้ปัญหานี้ ซึ่งโบฌองพ์ ก็ได้นำเสนอแนวคิดมาตรฐานศีลธรรม 2 ระดับ เพื่อประนีประนอมแนวคิดทั้งสองฝ่าย เพื่อความชัดเจนในเรื่องนี้ ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาประเด็นโต้เถียงของทั้งสองฝ่ายก่อนนำไปสู่แนวคิดเรื่องมาตรฐานศีลธรรม 2 ระดับ ของโบฌองพ์ ดังต่อไปนี้                

 . ความขัดแย้งระหว่างคุณธรรมกับหลักการ 

ทฤษฎีคุณธรรมวิจารณ์ทฤษฎีหลักการ 4 ประเด็น คือ แรงจูงใจ รูปแบบของกฎทางเทววิทยา มิติทางใจของหลักศีลธรรม และภาวะอิสระ               

ระเด็นแรงจูงใจ ฝ่ายคุณธรรมวิจารณ์ว่า หลักการเป็นเพียงรูปแบบการตรวจสอบการกระทำ จึงขาดแรงจูงใจตามความมุ่งหมายของหลักศีลธรรม ส่วนฝ่ายหลักการโต้แย้งว่า เราสามารถสอนให้คนยึดถือหลักการเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้ โดยอาศัยจิตวิทยาทางศีลธรรมเป็นเครื่องมือฝึกหัด               

ประเด็นรูปแบบของกฎทางเทววิทยา ฝ่ายคุณธรรมวิจารณ์ว่า หลักการเป็นรูปแบบของกฎทางเทววิทยาซึ่งมีสภาพบังคับให้กระทำตาม จึงไม่เหมาะสมในการนำไปประยุกต์ใช้ ส่วนฝ่ายหลักการโต้แย้งว่า อย่างน้อยที่สุดเราก็ควรมีหลักการเป็นเครื่องมือนำทางในการดำเนินชีวิต และค่อยปรับปรุงให้เหมาะสมต่อไป ถ้ามีแต่เพียงลักษณะนิสัยก็ไม่สามารถกระทำอะไรได้               

ประเด็นมิติทางใจ ฝ่ายคุณธรรมวิจารณ์ว่า หลักการเป็นเพียงการใช้เหตุผลอธิบายสิ่งภายนอกเท่านั้น จึงขาดคุณค่าภายในส่วนลึกของจิตใจ ส่วนฝ่ายหลักการโต้แย้งว่า อารมณ์ส่วนลึกของจิตใจเป็นเพียงคุณค่าทางสุนทรียะ มิใช่คุณค่าทางจริยะ จึงเป็นเพียงอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการกระทำที่ถูกต้องเท่านั้น               

ประเด็นภาวะอิสระ ฝ่ายคุณธรรมวิจารณ์ว่า หลักการให้ความสำคัญแก่ปัจเจกชนและใช้เหตุผลในการตัดสินการกระทำเกินกว่าข้อเท็จจริงทางศีลธรรม ส่วนฝ่ายหลักการโต้แย้งว่า คุณธรรมเป็นเพียงสัมพัทธนิยมทางจริยะและไม่มีสภาพทางปรวิสัย                

ผู้วิจัยมีความเห็นว่าความขัดแย้งเหล่านี้ สามารถลดทอนเหลือเพียงความเห็นว่าอะไรเป็นสภาพเบื้องต้นระหว่างคุณธรรมกับหลักการ ซึ่งนักจริยปรัชญาร่วมสมัยมีความเห็นแตกต่างกัน โดยจำแนกได้เป็นสามฝ่าย คือ ฝ่ายที่ยึดถือคุณธรรม ฝ่ายยึดถือหลักการ และฝ่ายผสมผสานที่มีความเห็นว่าคุณธรรมกับหลักการจะต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ส่วนโบฌองพ์จัดอยู่ในฝ่ายที่สาม                

. ความสอดคล้องระหว่างหลักการกับคุณธรรม

ตามความเห็นของโบฌองพ์ การตัดสินคนดีทางศีลธรรมจะต้องอาศัยการประเมินค่าการกระทำและอุปนิสัยประกอบกัน กล่าวคือ ทฤษฎีหลักการที่ยึดถือหน้าที่สามารถสนับสนุนทฤษฎีคุณธรรมที่ยึดถือลักษณะนิสัยในการกระทำที่สอดคล้องกับหน้าที่ของคนได้ และในทำนองเดียวกัน ทฤษฎีคุณธรรมสามารถสนับสนุนลักษณะนิสัยในการกระทำในแนวทางที่ชัดเจนได้ กล่าวคือ คุณธรรมทางศีลธรรมดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกับหลักการทางศีลธรรม และในทำนองเดียวกัน การกระทำที่ถูกห้ามไว้โดยหลักการทางศีลธรรมเป็นสิ่งที่ถูกตำหนิว่าเป็นความชั่วร้ายทางศีลธรรม

ดังนั้น โบฌองพ์จึงสรุปว่า วิธีการเข้าถึงหลักศีลธรรมทั้งสองนี้อาจเป็นสิ่งที่สนับสนุนซึ่งกันและกันให้เกิดความสมบูรณ์ได้ โดยมีข้อสรุปความสอดคล้องระหว่างหลักการกับคุณธรรมว่า คนที่ถูกต้องย่อมกระทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง

ความสอดคล้องระหว่างหลักการกับคุณธรรมนี้ ไม่อาจสรุปได้ว่ามีความสอดคล้องกันอย่างตรงตัว

หมายเลขบันทึก: 84308เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2007 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท