การสื่อสารกับผู้ป่วยมะเร็งในระหว่างการรักษา


ระหว่างการรักษาผู้ป่วยยังต้องปรับตัวกับทั้งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยโดยตรง และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปัญหาด้านการเงิน ภาพลักษณ์ตนเองที่เปลี่ยนไป ทำงานได้ไม่เท่าเดิม เป็นต้น
ในแง่ของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยและการรักษา ผู้ป่วยต้องเผชิญกับความเจ็บปวดและความไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในหลายๆ ด้าน เช่น หายใจลำบาก อ่อนเพลีย ช่วยเหลือตนเองไม่ได้เหมือนเดิม  เป็นต้น 

และนอกจากตัวโรคแล้ว ผลข้างเคียงจากการรักษาเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ป่วยเช่นกัน เช่น อาการผมร่วง อาเจียน มีผื่น มีไข้ อ่อนเพลีย จากการรับเคมีบำบัด หรือการฉายแสง เป็นต้น ปัญหาอีกประการหนึ่งที่สำคัญแม้ในผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นแล้วคือความกังวลกลัวว่าตนเองอาจกลับมาเป็นซ้ำอีก

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังต้องเผชิญกับการส่งตรวจพิเศษ การรักษาด้วยเทคนิควิธีการต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องสลับซับซ้อน ยุ่งยากต่อการเข้าใจของผู้ป่วย หรืออาจจะก่อให้เกิดความเจ็บปวด ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่ตามมา ยิ่งความเจริญทางการแพทย์มีมากขึ้นเพียงใด ความยุ่งยากสลับซับซ้อนของเทคโนโลยีในการตรวจรักษาก็มีมากขึ้นเพียงนั้น แม้วิธีตรวจรักษาที่ไม่สลับซับซ้อนบางอย่าง เช่น การเจาะน้ำไขสันหลัง การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ วิธีการเหล่านี้ สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่แล้ว ล้วนทำให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวลได้ทั้งสิ้น

การสื่อสารที่สำคัญในระยะนี้ ได้แก่การให้ข้อมูลผู้ป่วยด้านอาการ ตลอดจนผลข้างเคียงที่อาจพบได้ในการรักษาแต่ละระยะ  ปัญหาที่พบบ่อยคือเราไม่แน่ใจว่าควรจะบอกผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด เพราะผู้ป่วยบางราย ยิ่งทราบถึงปัญหาต่างๆ มากเพียงใด ก็จะยิ่งกังวลมากขึ้นเท่านั้น

แนวการให้คำแนะนำในกรณีเช่นนี้จะเป็นเช่นเดียวกับการบอกการวินิจฉัยแก่ผู้ป่วย กล่าวคือ ก่อนจะสื่อสารอะไรออกไป ควรสอบถามว่าผู้ป่วยคาดหวังต่อการรักษาไว้อย่างไรบ้าง เขากังวลใจเรื่องอะไร เคยทราบเกี่ยวกับการรักษาหรือผลข้างเคียงจากใครมาก่อนหรือไม่  การทราบความเชื่อความคิดเห็นตลอดจนสิ่งที่ผู้ป่วยวิตกกังวล จะทำให้การสื่อสารของเราตรงจุดและเหมาะสมกับผู้ป่วยมากขึ้น 

ผู้ป่วยที่เราเห็นว่าเป็นคนวิตกกังวลง่าย มักมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบ ก็อาจบอกข้อมูลเฉพาะที่สำคัญและจำเป็น
ส่วนผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือกับแพทย์ในการรักษาตัว ยอมปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางร่างกายต่างๆ ให้เหมาะสม พยายามทำความเข้าใจ และหาข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บของเขา เราควรบอกข้อมูลตลอดต่างๆ เท่าที่จะทำได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยในการปรับตัวปรับใจเป็นอย่างยิ่ง

การให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยนั้นไม่ควรพูดในเชิงทฤษฎีหรือกล่าวกว้างๆ  หากเป็นไปได้ควรให้ข้อมูลที่ปรับให้ตรงกับภาวะของโรคของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งแม้จะป่วยอยู่ในระยะเดียวกัน แต่แต่ละคนย่อมมีปัจจัยด้านบวกและลบอื่นๆ ที่ทำให้ผลการรักษาแตกต่างกันออกไป ภาษาที่ใช้ควรปรับให้เข้ากับระดับการศึกษาของผู้ป่วย บอกข้อมูลให้ชัดเจน เข้าใจง่าย  หลังการสื่อสารแต่ละครั้งควรสรุปประเด็นสำคัญที่ผู้ป่วยควรทราบหรือปฏิบัติตนประมาณ 3-4 ข้อ เนื่องจากพบบ่อยๆ ว่าเมื่อเราพูดประเด็นกว้างและหลายเรื่อง ผู้ป่วยก็มักจะเลือกรับประเด็นที่ตนเองเห็นว่าสำคัญหรือที่กำลังกังวลอยู่ จึงทำให้มีการเข้าใจผิดหรือไปสนใจเรื่องเล็กน้อยแทนเรื่องที่แพทย์เห็นว่าสำคัญไป

การนัดพบผู้ป่วยไม่ควรยึดเฉพาะเงื่อนไขทางโรคหรือการรักษาเท่านั้น  ผู้ป่วยที่เราเห็นว่ากังวลค่อนข้างมาก ควรนัดบ่อยขึ้น แม้ว่าภาวะทางกายของเขาไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยชี้แจงผู้ป่วยว่าต้องการติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่าได้ช่วยดูแลเขาอย่างเต็มที่  ท่าทีที่เอาใจใส่ สนใจซักถามอาการของเรา แม้อาจใช้เวลาไม่มากและไม่ได้เจาะประเด็นลงไปในเรื่องของจิตใจนักก็ตาม จะมีส่งในทางบวกต่อจิตใจผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง

ผู้ป่วยที่การรักษาได้ผลไม่ดีนัก โรคลุกลามมาก หรือมีอาการกลับเป็นซ้ำ มักจะรู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจ ไม่อยากรักษาต่อ  ความรู้สึกเช่นนี้จะก่อความกดดันแก่ผู้รักษา อาจทำให้มีท่าทีต่อผู้ป่วยที่เบี่ยงเบนไป เช่น หงุดหงิด หลีกเลี่ยงการตอบคำถามผู้ป่วย นัดผู้ป่วยห่างขึ้นเพราะรู้สึกว่าช่วยอะไรเขาไม่ได้ เป็นต้น 

ดังนั้น หลักการสำคัญของการสื่อสารในสถานการณ์เช่นนี้คือ ก่อนจะพบผู้ป่วยให้พักชั่วขณะ ทำใจให้สงบ สำรวจความรู้สึกของตนเอง โดยใช้เวลาเพียง 1-2 นาที การสื่อสารกับผู้ป่วยเป็นไปโดยมีเจตคติว่าเพื่อช่วยเหลือเขาในขณะนั้นๆ ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่มุ่งเน้นที่ตัวโรค หรือมีแนวคิดว่าจะต่อสู้กับโรคหรืออาการของเขา  การที่เรามีท่าทีที่สงบ ผ่อนคลาย จะทำให้ผู้ป่วยคลายความกังวลลง

การสื่อข้อมูลในกรณีนี้จะเลือกพูดความจริงในด้านที่ยังให้ผู้ป่วยคงมีความหวังอยู่ เลือกพูดประเด็นด้านบวกเท่าที่ทำได้ แต่ต้องไม่เป็นการให้ความหวังที่ไม่เป็นจริง  ข้อคิดคือไม่ว่าเขาจะมีอาการแย่แค่ไหน แต่เขายังประคองชีวิตอยู่ได้ และเราพร้อมที่จะช่วยเหลือเขาอย่างเต็มที่

หมายเลขบันทึก: 88576เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2007 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

"การสื่อสารกับผู้ป่วยเป็นไปโดยมีเจตคติว่าเพื่อช่วยเหลือเขาในขณะนั้นๆ ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่มุ่งเน้นที่ตัวโรค หรือมีแนวคิดว่าจะต่อสู้กับโรคหรืออาการของเขา "

สุดยอดครับอันนี้

ขอต่อยอดนิดหน่อย

ปกติผมจะพยายามี เป้าหมายระยะสั้น และหลายๆอย่างให้คนไข้ได้คิด ระหว่างการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้ด็กๆที่เวลาเป็นเดือนเป็นปีนั้น เขายังไม่มี concept ทีชัดเจน และพบว่าเป้าหมายสั้นๆแบบนี้ลดความฟุ้งซ่านจากจินตนาการลงได้บ้าง อาจจะดีในคนไข้ที่มีแนวโน้มมองโลกในแง่ร้าย ถ้าเมื่อไหร่ที่ปล่อยให้ว่างๆ คิดโน่นคิดนี่ จิตแพทย์ที่ราวน์ด้วยกัน (หมอลิลลี่ จารุรินทร์) เรียกว่าให้เขาอยู่ได้กับ Here and Now หรือถ้าฉบับพุทธ ของท่านติช นัท ฮัน ก็คือ ล้างจานเพื่อล้างจาน นั่นเอง

ตำรา palliative care ยังคงอ้างอิงถึงการเปรียบเทียบ โรคมะเร็ง ว่าเสมือนกับการวินิจฉัยว่า คุณกำลังจะตาย ซึ่งเป็นการรับรู้ของสังคม แม้กระทั่งในปัจจุบันที่มีมะเร็งหลายชนิดที่สามารถรักษาหายขาดได้แล้ว นั่นเป้นสิ่งที่ช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะ Number-One Killer ของทั่วโลก ณ ขณะนี้คือ โรคมะเร็ง นี่เอง

ดังนั้นความทุกข์ของคนไข้หลังจากรับทราบว่าเป้นมะเร็งนั้น ไม่ได้เฉพาะตอนมา รพ. ตอนนอน รพ. แต่เป็น ตั้งแต่รับการวินิจฉัย เป็นต้นไปเลยทีเดียว ที่เขสจะต้องปรับมุมมองชีวิตเพื่อให้ อยู่ได้ และหมอน่าจะเป็นผู้ช่วยที่ดี หมอจิตเวชจะช่วยได้มาก แต่ก็มีไม่พอ ฉะนั้นหมอทั่วๆไปก็ควรจะมีความรู้ ความสามารถในเรื่องการดูแลจิตใจ หรือหาตัวช่วยจากสังคม เช่น พระ อาสาสมัคร หรือแม้กระทั้งการ empower ญาติของคนไข้เอง ก็จะมีประโยชน์มาก เพราะจะเป้นอะไรที่ใกล้ชิดผู้ป่วยมากที่สุด ทีจะช่วย "สื่อสาร" ขณะที่ไมได้อยู่ รพ. มิฉะนั้นถ้าคนไข้รู้สึก หรือรับรู้ว่า best care คือที่ รพ. ก็จะเป้นการตัด option ที่เขาจะอยู่ในที่ที่อบอุ่น และอาจจะมีความหมายต่อจิตใจมากๆอย่างที่บ้านไปอย่างน่าเสียดาย เพราะคนไข้คิดว่า พยาบาลหรือหมอเท่านั้นที่จะช่วยเขาได้

Phoenix ครับ เพื่อนผมบอกทำนองแซวว่าหมอมะเร็งที่เขากลัวที่สุด คือหมอที่ใจสู้  ที่แรกฟังก็แปลก แต่พอมาคิดๆ อืมม ก็จริงนะ  เหมือนกับที่เขาแซวหมอผ่าตัดว่า The Operation was a Success, But the Patient Died  เจอเรื่องเล่ามาเยอะประเภทคนไข้ทุกข์เพราะการรักษา   เรื่องที่ต่อยอด เห็นด้วยหมดครับ ที่ผมสังเกตนะ คนไข้ต้องการคำพูดของหมอมะเร็งที่รักษาเขามากกว่าหมอจิตเวชครับ

เรื่องคนไข้คิดยังไงกับหมอนี่ ต้องให้พี่เต็มเล่าให้ฟังครับ เพราะแกอยู่รังสีรักษา เต็มไปด้วยคนไข้ที่มี advanced disease จนกระทั่งคนไม่กล้ามา เพราะบอกว่า "ฉายรังสีเมื่อไหร่ ก็ตายหมดเมื่อนั้น"

วันก่อนมีพยาบาลจาก ward โทรมาปรึกษา บอกมีคนไข้เก่าแก่คนหนึ่ง รักษากันมาเป้นสิบปีแล้ว บุคลิกเป็นแบบ borderline personality ครับ (พี่มาโนชช่วยอธิบายขยายต่อด้วย ผมเกรงว่าจะอธิบายได้ไมดีเท่า) และคราวนี้พยาบาล หมอ ก็โดน "ทดสอบ" กันสุดๆไปเลย ไม่ยอมกลับบ้าน ผมก็ถามจะให้ช่วยอย่างไร ถ้าจะให้ไป counseling พยาบาลและหมอที่ดูแลจะไปทำให้ได้ ถ้าเครียดนัก แต่สำหรับคนไข้รายนี้ ผมไม่คิดว่าการเพิ่ม หรือ ตั้งต้น relationship กับหมอคนใหญ๘จะเป็นการลดปัญหาแต่อย่างใด

ก่อนอื่นขอขอบคุณอ.สกลและอ.เต็มศักดิ์ที่เขียนข้อคิดเห็นใน กรณีศึกษา การแจ้งข่าว 'มะเร็ง' ให้กับผู้ป่วย.. ไว้เป็นอย่างดีครับ (I can add no more)  มีประโยชน์มากครับ

อืม สำหรับคนไข้ที่มีปัญหาบุลิกภาพแบบ borderline เนี่ย จิตแพทย์ยังปวดหัวครับ สัมพันธภาพคงเป็นแบบ professional และเลี่ยงการ deal แบบต่อรองที่เขามักจะให้เราเล่นด้วย และระวังอคติในตัวเอง ใช่ครับ กรณีแบบนี้ support หมอและพยาบาลจะดีกว่าครับ ^__^

อิ อิ น้องลิลลี่เธอบอกว่า ถ้าจิตแพทย์ "รักใคร" ปานจะกลืน (เคี้ยว)กิน เขาจะส่ง borderline ไปให้เป็นของขวัญครับ (เฉียดๆจรรยาบรรณนะเนี่ย... ลบได้นะครับ)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท