My reaction on Straussian Method


งานเขียนส่งอาจารย์ชิ้นสั้นๆเกี่ยวกับการอ่านปรัชญาการเมืองแบบสเตราส์
 เมื่อรู้จักระเบียบวิธีนี้ในครั้งแรก

ก่อนอื่นผมขอจัดระเบียบความคิดจากวิธีอ่านแบบสเตราส์เสียก่อน ก่อนที่ผมจะเขียนต่อไปว่าเมื่อผมได้ลองใช้จริงแล้วรู้สึกอย่างไร ระเบียบวิธีการอ่านแบบนี้(เท่าที่อาจารย์บอก)มี ๕ ข้อ และผมก็จะแสดงข้อคิดเห็นเป็นข้อๆดังนี้

 

๑.      the author is superior to readers.

แน่นอนว่าผู้เขียนย่อมอยู่ในสภาวะที่เหนือกว่าผม ไม่ว่าจะด้วยสติปัญญา, ประสปการณ์ ฯลฯ ข้อนี้ผมเถียงอะไรไม่ได้ และแน่นอนข้อนี้เป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งที่นักศึกษาปรัชญาควรตระหนัก เอาเข้าจริงแล้ว การเรียนการสอนปัจจุบัน(เท่าที่ผมประสป และเป็น)ดูจะทิ้งสิ่งนี้ไปมากพอควร แน่นอนว่าการอ่านงานปรัชญาเป็นความสนุกสนานอย่างหนึ่ง เพราะมันทำให้ผมสนุกที่ได้คิดมากขึ้น และสนุกยิ่งกว่าถ้าผมเถียงได้ แต่เอาเข้าจริงแล้วผมก็ลืมไปสนิทว่าผมเป็นใคร

 

๒.    the author doesn’t make mistake.

สืบจากข้อแรกการที่ผมไม่รู้ตัวว่าผมเป็นใครมันทำให้ผมสูญเสียโอกาสที่จะเชื่อ ความสำคัญของสิ่งที่ผมทำหายไปนี้นั้น มันทำให้ผมไม่มีสติที่จะจำ เพราะผมจะเหลือเพียงสติที่จะเถียง และบ่อนทำลาย เสียมากกว่าที่จะเปิดใจรับรู้ข้อคิดที่ผู้เขียนต้องการเสนอ(หรือไม่เสนอ) ความยโสโอหังแบบนี้นั้นเป็นสิ่งที่จริงๆแล้วนักศึกษาปรัชญาเช่นผมไม่ควรปล่อยให้มีเกิดขึ้น

 

๓.    the author write with different meaning.

สืบเนื่องกัน การที่ผมอยากรู้และอยากเถียงในเวลาเดียวกันมันย่อมส่งผมต่อความเร็วในการอ่านของผม ผมมักไม่สนใจว่าคำศัพท์มีความหมายโดยนัยเช่นไร คิดเพียงมีความหมายเชิงบวกหรือลบ และสิ่งที่ผมตั้งใจที่จะเถียงจึงเป็นเพียงความหมายที่ถูกฉาบเคลือบ และตกหล่นในการรับรู้ความหมายอื่นที่ปรากฏหรือไม่ปรากฏไป ซึ่งทำให้ผมที่อยากจะเป็นนักศึกษาปรัชญาที่ดี อยากเรียนรู้ให้มากที่สุด กลับต้องพลาดหลายสิ่งหลายอย่างไป

 

๔.    Philosophical texts are not for everyone.

เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องที่ไม่ได้กระทบกับการอ่านของผมโดยตรง แต่กระทบกับจารีตทางความคิดในระบบที่เป็นที่นิยม(ซึ่งผมก็นิยมตามไป) หรือก็คือความคิดเรื่องความเสมอภาค แน่นอนในโลกแบบเสรีนิยม(ที่โฆษณากันว่าเป็นนี้) มนุษย์ควรจะเท่าเทียมกัน แต่ก็รู้ๆกันอยู่ว่ามันไม่มีทางเป็นจริง และมนุษย์ในปัจจุบันพยายามปฏิเสธความจริงข้อนี้ แน่นอนความเท่าเทียม(และไม่เท่าเทียม)กันนั้นผมเองก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นธรรมชาติหรือไม่ แต่ที่ผมรู้คือมนุษย์(กลุ่มที่ผมคลุกคลีด้วย)พยายามที่จะปฏิเสธมัน และด้วยการนี้การอ่านแบบนี้อาจทำให้ผม(และ/หรือมนุษย์คนอื่นๆ)ตระหนักบางอย่างได้ว่า ไม่ว่ามนุษย์สมควรจะเท่าเทียมกันหรือไม่ หรือธรรมชาติสร้างให้มนุษย์เป็นอย่างไร ไม่ว่าความจริงเป็นอย่างไรมนุษย์ต้องดำรงอยู่กับความไม่เท่าเทียมกัน

 

๕.    the reader’s target is to understand the text as the author’s understand.

แน่นอนผมต้องถามตัวเองเสียแล้วว่าทุกวันนี้ผมได้อะไรจากงานเขียนอย่างที่ผมควรจะได้หรือไม่ หากพูดให้สุดขั้วมันคุ้มกับการที่ต้องลงทุนกับมันหรือไม่ การที่ผมยโสจองหองเกินไปมันตอบแทนมันสมองของผมมาเท่าใดนั้นมันไม่สำคัญไปกว่า สิ่งที่ผมได้รับตอบแทนมามันสมควรจะเป็นเพียงใด และผมคงต้องกลับมารู้สึกตัวอีกครั้งว่าผมอยากรู้อะไร ไม่ใช่คิดแต่อยากเป็นอะไร               

สิ่งที่ผมสาธยายออกมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงเบื้องแรกที่ผมได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของระเบียบวิธีการอ่านแบบสเตราส์เท่านั้น และแน่นอนเมื่อผมได้สัมผัสกับมันโดยตรงย่อมต้องทำให้ความรู้สึกของผมเปลี่ยนไป และก็เป็นไปใน ๒ ทาง

 ทางแรก

                ผมไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าผมรู้จักระเบียบวิธีอ่านแบบสเตราส์มากเพียงพอที่จะวิจารณ์ ผมขอยกเอาข้อความของ อ.สมบัติ จันทรวงศ์ มาสักส่วนหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นการสรุปเอาวิธีศึกษาแบบสเตราส์เอาไว้ ดังนี้

...นั่นคือ ปรัชญา เมื่อนำมาอยู่กับ การเมือง ในคำว่า ปรัชญาการเมือง นั้น บ่งบอกถึงการศึกษาซึ่งมีทั้งด้านความลึกล้ำ คือการเจาะลึกให้ถึงรากถึงโคน และความกว้างขวางของขอบเขตการศึกษา...เพราะปรัชญาการเมืองเกี่ยวข้องด้วยเรื่องการเมืองในลักษณะที่มุ่งหวังจะให้มีความหมายต่อชีวิตทางการเมือง เนื้อหาของปรัชญาการเมืองคือเป้าหมายอันสูงสุดของกิจกรรมทางการเมือง...[1]

สิ่งที่ อ. สมบัติกล่าวถึงนี้ ผมพอจะแยกออกมาได้ว่าระเบียบวิธีแบบสเตราส์นั้น

๑.      ศึกษาอย่างลึกล้ำ ถึงรากถึงโคน

๒.    ศึกษาอย่างกว้างขวาง พยายามให้ได้อย่างผู้รอบรู้

๓.    ศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายต่อความเข้าใจในกิจกรรมทางการเมือง

 

ผมคิดว่าข้อคิดนี้น่าสนใจมาก และเป็นสิ่งที่ผมคิดว่านักศึกษาปรัชญาการเมืองสมควรต้องทำ แต่ผมเองก็มีข้อสงสัยอยู่บางประการดังนี้

๑.     การศึกษาอย่างถึงรากถึงโคนนั้น ผมไม่สามารถแน่ใจว่า ราก และ โคน นั้นคือ ราก และ โคน ที่แท้จริงที่ผู้เขียนตั้งใจไว้หรือไม่ เอาเข้าจริง มันไม่มีหลักประกันว่าเมื่อเราดื่มด่ำกับการขุดค้นที่ลึกซึ้งเช่นนี้ เราจะไม่ได้หลงทางไปสู่ รากฝอย แทนที่เราจะไปสู่ รากแก้ว กระนั้นหากแม้นเราเข้าสู่รากแก้วได้แล้วอย่างที่เราเข้าใจ แต่ผมก็คิดว่าเราแน่ใจได้อย่างไรว่าไม่ลืม ดิน, น้ำ, แร่ธาตุ, ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆที่ทำให้ต้นไม้ต้นนี้ตั้งตรงอยู่ได้ ฉันใดฉันนั้นผมเชื่อว่ามนุษย์มีความ ประทับแรก(first impression)” ที่ทำให้สภาวะการรับรู้ของเราถูกบิดเบือนไปได้จากความจริงแท้ และมนุษย์ไม่สามารถแน่ใจได้อย่างสัมบูรณ์เลยว่าความประทับแรกนั้นจะนำพาสมรรถนะทางความคิดไปในทางที่สมบูรณ์

๒.   การศึกษาที่กว้างขวาง เพื่อเข้าใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างลึกซึ้งนั้นแน่นอนเป็นสิ่งที่สมควรมี และสมควรเป็นสำหรับนักศึกษาปรัชญาการเมือง แต่ลักษณะอย่างนี้ผมกลับรู้สึกลักลั่นในตัวเอง ผมมองว่าเราทำตัว ๒ แบบที่แตกต่างกันอย่างแปลกๆในเวลาเดียวกัน ทางแรกเราเหมือนเซลล์ชิ้นหนึ่งของต้นไม้ที่บังเกิดมีความคิดในตัวเองว่าอยากเข้าใจการดำรงอยู่ของตนเองและเซลล์อื่นๆรายรอบ เราจึงมองออกจากต้นไม้เพื่อสำรวจสภาวะรอบตัวเพื่อหาคำตอบให้ตนเองแต่อีกทาง เราก็ทำตัวเหมือนตัวบีเวอร์ขี้สงสัยที่วันดีคืนดีอยากรู้ว่าต้นไม้ที่ตนกัดไปทำรังนั้นมีรากลึกเพียงใด เราจึงไปที่โคนต้นไม้ที่ฝังอยู่ได้ดิน แล้วพิจารณาว่าต้นไม้ที่พึ่งกัดไปยืนต้นอยู่ได้ด้วยรากชุดใดกันแน่

๓.    เป้าหมายคือความเข้าใจในกิจกรรมทางการเมือง หรือก็คือการเข้าใจปรัชญาการเมือง นั่นคือสิ่งที่เราต้องแสวงหา แต่ปัญหาคือกิจกรรมทางการเมืองมีรากฐานทางปรัชญาจริงหรือ? มีสักกิจกรรมทางการเมืองใดไหมที่ไม่มีฐานทางปรัชญาการเมือง? การตึค่าแบบนี้ผมเข้าใจว่าเป็นการตีค่าว่ากิจกรรมทางการเมืองคือความจริงที่ปรากฏขึ้นของความคิดทางการเมืองที่มีแฝงอยู่จริงในสังคม กิจกรรมทางการเมืองจึงเป็นภาพสะท้อนของกระบวนความคิดของสังคม ในทางหนึ่งผมคิดว่ามันถูก แต่ในอีกทางผมก็สงสัยว่าทุกคนมี เหตุผล (λογός-logos)” ซึ่งเป็นฐานของปรัชญาการเมืองกันทุกคนหรือเปล่า ผมไม่สามารถแน่ใจได้ว่าทุกกิจกรรมทางการเมืองถูกตัดสินให้กระทำหรือไม่กระทำด้วยเหตุผล กิจกรรมทางการเมืองมากมายที่เกิดขึ้นจาก ความเชื่อ(μηθο-mytho)” เป้าหมายที่ระเบียบวิธีนี้ต้องการสำหรับผมจึงดูขมุกขมัวอยู่พอสมควร

 

อีกทาง

                ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่างานทางปรัชญาทุกชิ้นก็ไม่ต่างไปจากงานทางศิลปะอื่นๆที่มีขึ้นได้ก็ต้วยอิทธิพลจากสภาวะแวดล้อม ผมเชื่อว่าต้นไม้ใหญ่ขึ้นในป่าดงดิบได้เพราะมันขึ้นอยู่ในสภาวะแห่งป่า ไม่ใช่ว่าป่าเป็นป่าได้ด้วยต้นไม้เพียงต้นหนึ่ง หรือก็คือผมเชื่อว่ามันมีสิ่งที่เป็น รูปแบบหลัก(theme)” ที่ซึ่งหนังสือทางปรัชญาเล่มหนึ่งดำรงอยู่ ไม่ใช่หนังสือปรัชญาเล่มหนึ่งดำรงอยู่จึงมีรูปแบบหลัก

                ผมไม่แน่ใจว่าความคิดแบบนี้ของผมมันไปในทางเดียวกับระเบียบวิธีแบบสเตราส์หรือไม่ แต่ผมรู้ว่าด้วยพื้นฐานทางความคิดแบบนี้ของผมมันทำให้ผมอ่านหนังสือเร็ว และโดยก่อนที่ผมจะอ่านหนังสือสักเล่มผมจำเป็นต้องรู้ว่า ใคร, อะไร, ที่ไหน, อย่างไร, แบบใด, เพราะอะไร หรือเพื่ออะไร ที่ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจให้สร้างสรรค์งานทางปรัชญาสักชิ้นขึ้นมา ผมอ่านหนังสือภายใต้รูปแบบหลักบางอย่างที่ผมเองก็ยอมรับว่าไม่แน่ใจว่ามันคือความจริงที่ผู้เขียนต้องการสื่อหรือไม่ และสิ่งที่ผมได้ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันคือความจริงอะไรกันแน่ ผมมีสิ่งที่หายไปแต่ผมก็มีสิ่งที่ได้มา แต่ที่สำคัญกว่าผมคิดว่าผมได้ข้อสรุปเพิ่มเติมบางอย่างที่อาจจะไม่ได้เกิดจากความจริงของผู้เขียนแต่ผมก็ได้ความจริงบางอย่างที่ผู้เขียนเองก็อาจไม่ได้คิดถึง ซึ่งผมเองก็ไม่ได้เก่งไปกว่าผู้เขียน แต่ในความไม่เก่งกว่าผู้เขียนของผม ผมก็คิดว่ามันก็มีอะไรน่าสนใจอยู่(เพราะถ้าไม่น่าสนใจผมคงไม่สนใจ)

                เอาให้ง่ายที่สุดผมสนใจในการศึกษา ซึ่งระเบียบวิธีในการศึกษาเป็นระบบหนึ่งที่ผมก็ควรจะศึกษา และเพื่อการศึกษาจะสำเร็จอย่างที่ผมต้องการ ผมเองก็มีวิธีการศึกษาที่เป็นระบบบางอย่าง ซึ่งแน่นอนว่าระบบทั้ง ๒ อาจไปด้วยกัน หรือไม่ไปด้วยกันกับระเบียบวิธีศึกษาแบบสเตราส์ ผมอาจจะชอบการศึกษาแบบฉาบฉวยมากกว่าความลึกล้ำในทางหนึ่งมันก็เป็นการศึกษาที่อยากรู้ให้มากๆ แต่ในอีกทางสิ่งที่ผมศึกษาอาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่การศึกษาที่ดีควรจะเป็นเลยก็ได้ และนี่เป็นความลักลั่นของการศึกษาซึ่งอาจเกิดกับผมเพียงคนเดียวหรือกับคนอื่นด้วยก็ได้

                อาร์. แอล. เนทเทิลชิฟ ทิ้งท้ายไว้ในชั้นเรียงเรื่อง การศึกษาในรีพับบลิคของพลาโต้ ในทศวรรษ 1880 ว่า

...ปรัชญาคือศิลปะทางภาษาของความจริงที่ช่วงชีวิตสั้นๆของมนุษย์คนหนึ่งจะได้ศึกษา มีเพียงนิรันดร์กาลที่สามารถแปลความความจริงนั้นได้ทั้งหมด แต่กระนั้นการที่จะเข้าใจมันคือทางที่เข้าใกล้ความจริงได้ดีที่สุด และการเรียนรู้(study)คือการศึกษา(education)ที่สมควรและดีที่สุด[2]               
               นี่เป็นประโยคที่ผมชื่นชอบ และการที่ผมชอบมันก็คงบอกความเป็นผมได้บางอย่าง ที่ผมเองก็ยังต้องศึกษาว่าสิ่งที่มันบอกถึงความเป็นตัวตนที่แท้จริงของผมออกมาได้นั้น เพราะอะไร และทำไม สิ่งที่เหลือดำรงอยู่อาจมีเพียงความไม่แน่ใจ ก็เหมือนกับงานชิ้นนี้ที่เขียนขึ้นอย่างไม่แน่ใจว่าผมจะเข้าใจระเบียบวิธีแบบสเตราส์ได้ ถ่องแท้ และ/หรือ อย่างถ่องแท้ หรือไม่ แต่สุดท้ายมันก็ต้องถูกเขียนออกมา ด้วยความไม่รู้ และไม่แน่ใจของผมอยู่ดีนั่นเอง   
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


[1] Leo Strauss, What is Political Philosophy, p. 10 อ้างในสมบัติ จันทรวงศ์, ปรัชญาการเมืองบทวิเคราะห์โสเครตีส. น. ๕
[2] Richard Lewis Nettleship, The Theory of Education in Plato’s Republic, Spencer Leeson(ed.), p. 155.
คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญาการเมือง
หมายเลขบันทึก: 90191เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2007 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 00:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

mean.....

เข้ามาเยี่ยม...

ก่อนอื่นก็ขอชื่นชมบันทึกนี้ และบันทึกก่อนด้วย ... ว่าน่าสนใจ สำหรับอาตมา (ส่วนผู้อื่นไม่ยืนยัน)....

ในฐานะที่เรียนและอ่านหนังสือปรัชญามาบ้าง ก็ขอเริ่มต้นด้วยควมเห็นแย้งในประเด็น ผู้อ่านกับผู้เขียน ทั้ง ๕ ข้อ....

  • the author is superior to readers.

ประเด็นนี้  ผู้เขียนและสิ่งที่ถูกเขียนเพื่อสื่อความหมายออกมา ไม่เคยยิ่งใหญ่กว่าผู้อ่าน (คือตัวเรา) ...นั่นคือ ถ้าข้อเขียนนั้นยาก เราก็ไม่ต้องไปสนใจอ่าน หรือถ้าเห็นว่าไร้คุณค่าสำหรับเรา เราก็ไม่ต้องไปอ่าน...

งานเขียนต่างๆ ที่ถูกส่งคืนกลับสำนักพิมพ์ หรือถูกชั่งกิโลขาย.. เพราะผู้อ่านไม่ผู้ตอบสนองนั่นเอง... ส่วนงานเขียนในอดีตที่ยังดำรงอยู่ เพราะผู้อ่านให้ความสำคัญเท่านั้น ....

ดังนั้น ผู้อ่านย่อมยิ่งใหญ่กว่าผู้เขียน หรือสิ่งที่ถูกเขียนขึ้นเสมอมา...

  •  the author doesn’t make mistake.

ประเด็นนี้ ก็เช่นกัน ผู้เขียนหรือสิ่งที่ถูกเขียนเท่านั้นมีแต่ข้อผิดพลาด ยิ่งงานเขียนใดที่ได้รับความสนใจ ก็ย่อมมีผู้เห็นความผิดพลาดมากยิ่งขึ้น...

อาตมาเคยอ่านและศึกษางานของ อิมมานูเอล คานต์ มาบ้าง... ยิ่งอ่านไปก็ยิ่งมีผู้บอกว่า คานต์เขียนมั่วเยอะ ใช้ศัพท์ผิดเยอะ ระหว่าง กฎสากล กฎธรรมชาติ กฎศีลธรรม ... บางครั้ง คานต์ก็บอกว่าเหมือนกัน บางครั้งคานต์ก็บอกว่าต่างกัน...ซึ่งในงานเขียนของคานต์ใช้กฎเหล่านี้สับสนมาก...

นั่นคือ ผู้เขียนเท่านั้นที่แสดงออกซึ่งความผิดพลาดของตัวเอง... โดยผู้อ่านเป็นผู้กำหนดว่า ประเด็นนั้นๆ ถูกหรือผิด หรือสับสน...

  •  the author write with different meaning.

ประเด็นนี้ สะท้อนถึง ความเห็นของผู้เขียนว่า ไม่แน่นอน เชื่อถือได้ยาก เช่นเดียวกัน..นั่นคือ ผู้อ่านต่างหาก ที่จะมากำหนดกรอบความหมายที่เขียนนำเสนอมา...

ดังตัวอย่าง วิตเกนสไตท์ เขียนเล่มแรกด้วยอหังการ มมังการ แห่งตน ...แต่พอเขียนเล่มที่สองก็มาบอกว่าเล่มแรกไม่ถูกต้อง บางอย่างก็สามารถใช้ได้และมีความหมายอย่างอื่นได้... นั่นคือ เล่มที่สองแย้งเล่มที่หนึ่ง...

แต่ ผู้อ่านสามารถนำมาใช้ในบางกรณีได้ว่า วิดเกนสไตท์(คนที่หนึ่ง)ว่า อย่างนี้ ๆ ๆ.... แต่คนที่สองว่า อย่างนั้นๆ ๆ ...

นั่นคือ แม้ผู้เขียนให้ความหมายแตกต่างกัน แต่ผู้อ่านสามารถนำเฉพาะความหมายที่เห็นว่ามีคุณค่ามาประยุกต์ใช้ได้...

 

  • Philosophical texts are not for everyone.

ประเด็นนี้ เห็นด้วย ขอผ่าน (อีกอย่าง ค่อนข้างเหนื่อย ....)

  • the reader’s target is to understand the text as the author’s understand.

ประเด็นนี้เห็นด้วยครึ่งหนึ่ง... อีกครึ่งหนึ่ง...

ไม่สำคัญว่าผู้เขียนเข้าใจว่าอย่างไร แต่สำคัญว่าเราเข้าใจว่าอย่างไร นำไปประยุกต์ใช้ หรือสามารถนไปต่อยอดกระบวนการคิดของเราต่อไปได้หรือไม่...

ตัวอย่างหนังสือแนวปรัชญาการเมืองมากมายที่ อาตมาคิดว่า ผู้ที่นำมาขยายความต่อแตกต่างไปจากบริบทที่ผู้เขียนต้นเดิมเข้าใจ ...แต่เค้าก็ยังมาประยุกต์ใช้และต่อยอดได้ เช่น..

อุดมรัฐ ของพลาโต้ กำหนดจำนวนประชากรไม่กิ่พันเอง ซึ่งเทศบาลปัจจุบันก็มีจำนวนประชากรมากกว่าแนวคิดเดิมของพลาโต้มากมาย....

เจตนารมณ์แห่งกฎหมาย ของมองเตสกิเออ ก็มีนัยแตกต่างกันมากมายในประเด็นที่ยกมา แต่ก็ยังมีคนพยายามนำความเห็นของเค้ามาอ้างถึง...

เจ้า ของมาเคียวเวลลี่ ใช้สถานการณ์ในยุโรปยุคใหม่เป็นตัวอย่างอ้างอิง ซึ่งแตกต่างจากสังคมปัจจุบันเช่นกัน แต่สำนวนว่า นักปกครองต้องมีเลือดราชสีห์ผสมกับสุนัขจิ้งจอก... ก็ยังรู้สึกว่าทันสมัย..

.....

จะติดตามอ่านบันทึกตอนต่อๆ ไป และขอโอกาสรับสู่แพนเน็ต น่าสนใจส่วนตัว ...

เจริญพร

    

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท