ประชาธิปไตย : เผด็จการทางความคิดในโลกปัจจุบัน บทที่ ๓


ประชาธิปไตยถูกวางรากฐานโดยตัดสินได้ว่ามีความเป็นไปได้ที่พิเศษในประชาชนทั่วไป
แฮร์รี  เอเมอร์สัน  ฟอสดิค
 III. การให้การศึกษาว่าด้วยประชาธิปไตยระดับพื้นฐานของสังคมไทย

                การที่ในโลกปัจจุบันเป็นโลกของชนชั้นกลาง และในสังคมไทยก็ไม่ได้แตกต่างออกไปจากสังคมโลก ชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่เกิดมาพร้อมๆกับโลกสมัยใหม่ ในตะวันตกนั้นชนชั้นกลางคือกลุ่มชนในทุกสาขาอาชีพที่ไม่ได้ใช้แรงงานกายในการผลิต แต่ผลิตผลของชนชั้นกลางเกิดขึ้นโดยการใช้ความคิด มีหน้าที่หลักคือเป็นคนกลางที่ช่วยให้เกิดความชอบธรรม และธำรงรักษาระบบทางการเมือง และอุดมการณ์ การสรุปลักษณะที่ร่วมกันของชนชั้นกลางนี้ผมได้อิทธิพลจากความคิดของ Nicos Poulantzas[1] ซึ่งก็ยอมรับว่ามีกลิ่นอายของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปอย่างยิ่ง

 III.i. ชนชั้นกลาง, การศึกษา, ความรู้, การเมือง และประชาธิปไตย

                สำหรับด้านชนชั้นกลางไทยนั้นเริ่มก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ แต่ไม่ได้มีพลวัตรมากนักเพราะสภาพทางการเมืองที่ไม่ได้เอื้อให้มีพลวัตรใดๆ ชนชั้นกลางเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นก็ด้วยนโยบายสร้างชาติของจอมพล ป. แต่ชนชั้นกลางยุคนี้ที่จอมพล ป. ต้องการนั้นต่างจากชนชั้นกลางกลุ่มเดิมคือชาวจีนที่มีฐานทางเศรษฐกิจ แต่ชนชั้นกลางใหม่ที่ รัฐนิยมต้องเป็นคนไทย และกระบวนการสร้างชนชั้นกลางไทยก็ถูกนิยามโดยหลวงวิจิตรวาทการ สิ่งที่จอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการวาดร่างของชนชั้นกลางไว้ก็ถูกสานต่อโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนรัตน์โดยการเน้นนโยบายให้การศึกษาแก่คนไทย โดยให้คนกลุ่มนี้ใช้ความรู้ความสามารถ ไต่เต้าทางชนชั้น และทางเศรษฐกิจ และในที่สุดชนชั้นกลางก็เริ่มมีพลวัตรทางการเมือง ชนชั้นกลางที่มั่นใจในศักยภาพทางการเมืองมีเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความรู้สึกรับผิดชอบทางสังคม ประกอบกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ(ที่ชนชั้นกลางมีกำลังซื้อหามาบริโภคเพิ่มขึ้น) ทำให้ชนชั้นกลางเกิดความใฝ่ฝันในประชาธิปไตยที่เป็นทฤษฎี แต่รังเกียจภาคปฏิบัติที่มีแต่การแย่งชิงผลประโยชน์ เป็นการเบี่ยงเบนไปจากประชาธิปไตยที่ชนชั้นการเรียนรู้[2]สำหรับชนชั้นกลางไทยนั้น นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้เพิ่มข้ออธิบายนิยามเพิ่มไว้ว่า ชนชั้นกลางไทยนั้นไม่ได้สังกัดแวดวงปกครอง และแวดวงชาวนา เพราะชนชั้นนี้เกิดขึ้นมาอย่างชัดเจนพร้อมๆกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติของไทย ความสัมพันธ์ และปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองของชนชั้นกลางจึงไม่ใช่ระบบเครือญาติหรือระบบอุปถัมภ์ แต่เป็นระบบพันธสัญญา ชนชั้นกลางจึงมีลักษณะที่ต้องการกฎหมายเป็นเครื่องปกป้องและฐานรับรองสิทธิทางสังคม นอกนั้นชนชั้นกลางยังอิงกับระบบตลาด ชนชั้นกลางจึงเป็นเอกเทศการสืบทอดอำนาจของชนชั้นกลางจึงเป็นเอกเทศไปด้วย พลวัตรทางสังคมของชนชั้นกลางไทยจึงมีสูง[3] ในสังเขปประวัติศาสตร์การเมืองไทยดูราวกับว่าชนชั้นกลางไทยเป็นผู้มีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างมากในสังคมไทย ซึ่งก็จริงเพราะนับแต่หลักหมายใหญ่อย่างเหตุการณ์เดือนตุลา ปี ๑๖ เป็นต้นมา หัวเรื่องใหญ่ทางการเมืองไทยก็คือชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางไทยมีนิยามในเชิงลึกอย่างไรก็น่าสนใจ แต่สำหรับผมที่น่าสนใจกว่าคือ การเมือง ของชนชั้นกลางไทยถูกเข้าใจอย่างไร

                การเมือง ในพจนานุกรมของเปลื้อง ณ นคร ให้ความหมายว่า การเมือง (น.) เรื่องราวเกี่ยวกับรัฐและการเกี่ยวข้องระหว่างรัฐ ส่วน การ(มค. การ) น. กิจการ, งาน, ธุระ, หน้าที่, สิ่งที่ทำ, คำนี้เมื่ออยู่ท้ายสมาส แปลว่า ผู้ทำ หรือช่าง เช่น กุมภการ = ผู้ทำหม้อ, ช่างหม้อ, เมื่ออยู่ต้นสมาส หมายความว่าหน้าที่ หรือ สิ่งที่ทำ เช่น การประปา การไฟฟ้า เป็นคำนำกริยาให้เป็นนาม เช่น การกิน การนอน ส่วน เมือง(น.) จังหวัด; เขตแขวงที่มีที่ว่าการและหมู่บ้านราษฎรรวมกันหลายๆ อำเภอ; ประเทศ; เขต ภายในกำแพงเมือง; โลก เช่น เมืองผี พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลอิงภาษาอังกฤษ ว่า การเมือง (n. adj.) politics, especially party politics; politicalส่วน การ (n.) activity, action, act, work, occupation, business, affair, matter; operation, performance; board” ส่วน เมือง (n.) a city state, a free city, a principality; a country”[4] จะเห็นว่าความคิดของผู้นิยามการเมืองกระแสหลักของสังคมไทยนั้นดูจะยึดติดกับ กิจการของเมือง แต่ในความจริงการเมืองเป็นเรื่องทางสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นการกำหนดมุมมองของผู้เข้าใจใน สิ่ง ที่เป็นการเมืองให้ต่างกัน ดังนั้นการเมืองจึงเป็นเรื่องที่มากกว่า สิ่งที่เข้าใจกันทั่วไป และผมเองก็นิยามการเมืองต่างออกไป การเมืองของผมเป็นเรื่องของ การใช้อำนาจระหว่างซับเจคท์ต่อกัน หรือก็คือวางฐานนิยามในเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจ แต่ชนชั้นกลางทั่วไปนั้นคงเข้าใจไม่ได้แบบผม(และนักสังคมศาสตร์) ข้อสังเกตที่ชัดเจนที่สุดคือ การนำเสนอข่าวการเมืองในสื่อต่างๆของเมืองไทยที่การเมือง คือ เรื่องของคณะผู้บริหารรัฐซึ่งผมเองมองว่าการรับรู้ข่าวสารที่นำเสนอออกมาในรูปแบบนี้ทำให้แง่มุมในการมองการเมืองของประชาชนนั้นสนใจเพียงการทำงานของรัฐ และผู้มีอำนาจ ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นพวกอภิสิทธิ์ชนในระดับหนึ่ง(nearly aristocrats) ซึ่งหากการเมืองการปกครองของรัฐไทยเป็นประชาธิปไตย เรื่องการเมืองที่ชนชั้นกลาง(หรือรวมทั้งชนชั้นอื่น)บริโภคก็เป็นเพียง เรื่องของคณะผู้บริหารรัฐ มากกว่าที่จะมองถึงการเมืองการปกครองของรัฐไทยเป็นประชาธิปไตยโดยเห็นถึง arete ของประชาธิปไตย

                ดังกล่าวมาแล้วว่าชนชั้นกลางไทยคือชนชั้นที่เปรียบเสมือนแรงผลักดันทางการเมือง การสร้างชนชั้นกลางให้เข้าใจถึง แก่นแท้ ของประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องใหญ่ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมที่จะให้ความรู้ในเรื่องเดียวกันกับประชาชนในระดับชั้นอื่นๆด้วย แต่ ณ ที่นี้ที่ผมให้ความสำคัญกับชนชั้นกลางมากเป็นพิเศษเนื่องด้วยข้อสรุปจากทฤษฎี ๒ นคราประชาธิปไตยของ อ. อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ข้อหนึ่ง และด้วยศักยภาพของชนชั้นกลางเองที่ถ้าหากได้รับการศึกษาที่ดีเพียงพอเกี่ยวกับประชาธิปไตยแล้ว(ผมคาดหวังว่า)จะสามารถแพร่กระจายความรู้สู่ประชาชนอื่นๆได้มากอีกข้อหนึ่ง และที่สำคัญคือหากสามารถทำให้ชนชั้นกลางรักในความรู้ในเรื่องประชาธิปไตยได้แล้วนั้น การค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมย่อมเป็นผลดีต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยต่อไป

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐไทยนั้นหากพิจารณาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน[5]ในปัจจุบันของรัฐไทย ที่เสนอวัตถุประสงค์ว่า มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข และมีความเป็นไทย มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ  ได้มีการกำหนดจุดหมายซึ่งถือเป็นมาตรฐานการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์(ตามกระทรวงศึกษาธิการ) ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานชิ้นนี้มีดังนี้ :

ข้อ ๗.  เข้าใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ภูมิใจในความเป็นไทย เป็นพลเมืองดี ยึดมั่นในวิถีชีวิต และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

                ข้อ ๙.  รักประเทศชาติและท้องถิ่น มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามให้สังคม

 

ซึ่งสาระการเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยนั้นถูกบรรจุเข้าในสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมโดยคาดหวังว่าจะเป็น สาระการเรียนรู้ที่เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ และศักยภาพพื้นฐานในการคิด และการทำงาน โดย ทั้งนี้ สถานศึกษาอาจจัดเวลาเรียนและกลุ่มสาระต่าง ๆ ได้ตามสภาพกลุ่มเป้าหมาย สำหรับการศึกษานอกระบบ สามารถจัดเวลาเรียนและช่วงชั้นได้ตามระดับการศึกษากระทรวงได้อนุญาตให้สถานศึกษาจัดเวลาเรียนให้ยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมในแต่ละชั้นปี โดยต้องจัดให้มีเวลาสำหรับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทุกภาคเรียนตามความเหมาะสม โดยได้จัดสาระไว้ดังนี้ ปฏิบัติตนตามหน้าที่ของการเป็นพลเมืองที่ดี ตามกฎหมาย ประเพณีและวัฒนธรรมไทย ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมไทยและสังคมโลกอย่างสันติสุข และ เข้าใจระบบการเมืองการปกครองในสังคมปัจจุบัน ยึดมั่น ศรัทธา และธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข [6] สิ่งที่ผมมองเห็นคือภาพที่กว้างมาก(อาจจะ)เกินไปของประชาธิปไตยยิ่งถ้าเข้าไปศึกษาในแบบเรียนที่เขียนตามบังคับของกระทรวงฯด้วยแล้วนั้น ผมสงสัยว่าด้วยความคิดที่กว้างเช่นนี้ในภาคปฏิบัติแล้วนั้นจะทำอย่างไร ดังเห็นได้จากสิ่งที่ปรากฏในตำราแม่บทมาตรฐาน สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

III.ii. การให้ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยของไทย มีอะไรหายไปหรือไม่?

หากพิจารณาความคิดรวบยอดที่ปรากฏในตำราแม่บทมาตรฐาน สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมใน ๒ ช่วงชั้นดังนี้ [7] :

๑.   การเป็นพลเมืองดีตามวิธีประชาธิปไตย ต้องเป็นผู้มีคารวะธรรม สามัคคีธรรมและปัญญาธรรม ซึ่งจะทำให้อยู่ร่วมในสังคมอย่างสมดุล(เอกรินทร์, ป. ๔ : น. ๕๘) สถานภาพ บทบาท สิทธิ และหน้าที่ของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน(เอกรินทร์, ป. ๔ : น. ๖๗)

๒. วิถีประชาธิปไตยมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของคนในสังคม สังคมจะสงบสุขได้ถ้าคนมีความเคารพซึ่งกันและกัน ยอมรับในความสามารถของตนและผู้อื่น(เอกรินทร์, ป. ๕ : น. ๗๘) การทำงานและอยู่ร่วมกันโดยยึดหลักการปฏิบัติตนตามสถานภาพของตนเองและผู้อื่น ย่อมทำให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข(เอกรินทร์, ป. ๕ : น. ๘๗)

๓.  การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดีตามวิธีประชาธิปไตย จะช่วยให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข(เอกรินทร์, ป. ๖ : น. ๕๒) การศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองและการปฏิบัติตนตามกฎหมายจะทำให้ปฏิบัติตนตามสิทธิและหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง

๔.  การปกครองแบบประชาธิปไตยคือการปกครองที่สนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ที่โดยธรรมชาติต้องการสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การดำเนินชีวิตในสังคมประชาธิปไตยต้องปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับหลักการ และอุดมคติของประชาธิปไตย โดยยอมรับว่าทุกคนเสมอภาคกัน ต้องเคารพสิทธิของกันละกันและต้องปฏิบัติตนตามความรับผิดชอบของตนในสังคม(กระมล, ม. ๑ : น. ๑๙๖)

๕.  การที่สมาชิกในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขนั้น สมาชิกต้องปฏิบัติตามกฎ กติกาของกลุ่มตั้งแต่กลุ่มเล็กไปจนกลุ่มใหญ่ จะต้องรับผิดชอบหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัด รู้จักบทบาทหน้าที่ของตน เพื่อปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสมตามกฎระเบียบ ไม่ไปละเมิดล่วงล้ำสิทธิของผู้อื่น ต้องมีคุณธรรมของสมาชิกที่ดี ของพลเมืองที่ดีเป็นแนวทางปฏิบัติ(กระมล, ม. ๒ : น. ๑๘๕)

๖.  การเมืองการปกครองในแต่ละรัฐจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้เป็นผลมาจากการพัฒนาทางการเมืองที่แตกต่างกันของแต่ละรัฐ ระบอบการเมืองการปกครองที่สำคัญในปัจจุบันได้แก่ระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการ ซึ่งมีข้อดีข้อเสียต่างกันออกไป การเลือกระบอบการปกครองใดนั้นขึ้นอยู่กับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ความเชื่อ และอุดมการณ์ทางการเมืองของประชาชนในรัฐนั้น นอกจากนี้ระบบการเมืองยังแยกออกจากระบบเศรษฐกิจไม่ได้(กระมล, ม. ๓ : น. ๑๗๔)

จะเห็นลำดับขั้นที่การศึกษาของรัฐไทยปลูกฝังความคิดเกี่ยวกับการเมืองการปกครองไว้ โดยผมเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นในช่วงชั้นที่ ๒ การให้การศึกษา(ที่ผมยกมา)จะเน้นที่ตัว พลเมือง หรือก็คือการศึกษาพยายามสร้างพลเมืองเพื่อให้เข้าสู่ระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยเน้นที่ตัวปัจเจกชนเป็นหลัก กล่าวคือพยายามสร้างให้ปัจเจกชนกลายเป็นพลเมืองด้วยสิ่งที่เรียกว่าสิทธิ หน้าที่ และเรื่องนามธรรมอื่นๆโดยวาดหวังว่าหากพลเมืองที่ดีตามแบบประชาธิปไตย(democratic citizen)เกิดขึ้นได้(โดยอิสระต่อกัน) จะส่งผลให้พื้นที่สาธารณะที่พลเมืองที่ดีมาอยู่ด้วยกันจะเป็นสังคมการเมืองที่ดีเอง เมื่อมาถึงในช่วงชั้นที่ ๓ ก็จะเคลื่อนไปกล่าวถึงแนวคิดประชาธิปไตยว่าเป็นสิ่งที่ดี(ที่สุด) และบอกว่าสังคมการเมืองแบบนี้คือธรรมชาติ และด้วยเหตุนี้แล้วความเป็นพลเมือง(ที่มี democratic citizenship)จึงถูกสร้างเพื่อนำมนุษย์เข้าสู่สังคมแบบเดียวเท่านั้นโดยเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้รูปแบบของการเมืองการปกครองอื่นแบบผ่านๆ และหยาบๆเท่านั้น โดยสุดท้ายโดยที่ไม่บอกว่าเหตุใดประชาธิปไตยจึงถูกถือว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด และทำไม่รูปแบบอื่นๆจึงไม่ได้ถูกถือให้เป็นการปกครองที่ดีบ้าง[8] ผมไม่สามารถตอบได้ว่าสิ่งที่ผมสรุปมาทั้งหมดที่ว่าประชาธิปไตยอาจไม่ใช่สังคมการเมืองที่ดีสมบูรณ์แบบนั้นเป็นข้อสรุปที่ถูกและจริงแท้แล้วหรือไม่ แต่สิ่งที่ผมตอบได้คือ ณ ปัจจุบันนั้น ผมและอีกหลายร้อยล้านคนในโลกนี้ยังต้องดำรงชีวิตทางการเมืองในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และด้วยเหตุนี้กระมังที่การศึกษาไทยโดยรัฐนั้นจึงเน้นหนักไปที่ประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียวเสียเหลือเกิน ผมตั้งคำถามตรงนี้เลยว่า ณ ปัจจุบันนี้หากเชื่ออย่างผมว่าประชาธิปไตยคือการเผด็จการทางความคิดอย่างหนึ่งแล้ว ระบบการศึกษาไทยว่าด้วยประชาธิปไตยก็คือตัวจักรสำคัญที่ผลิตทรัพยากรบุคคลให้มีทัศนะคับแคบ และถูกเผด็จการทางความคิดไปโดยไม่รู้ตัว ใช่หรือไม่?

                แต่ก่อนที่ผมจะตอบคำถาม ผมจะกล่าวถึงประชาธิปไตยต่อไปก่อนเพราะในทางหนึ่งการหาคำตอบว่าระบอบสังคมการเมืองที่ดีพร้อมสมบูรณ์แบบนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับนักศึกษาปรัชญาการเมือง ผมคิดว่าใช่แน่ แต่ในอีกทางหนึ่งคำถามที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ณ ตอนนี้คือ แม้ประชาธิปไตยอาจจะยังไม่ใช่ telos (ตามความคิดที่ผมพยายามยืนยันมาตั้งแต่ต้น)แต่มนุษย์เองที่ต้องดำรงอยู่กับประชาธิปไตยนั้นต้องทำอย่างไรกับชีวิตทางการเมืองของตนต่อไป การวาดภาพสังคมประชาธิปไตยในอนาคตนั้นไม่ใช่กระทำไปเพื่อพิสูจน์ว่าประชาธิปไตยคือ telos แต่สำหรับผมมันคือการยืนยันการดำรงอยู่ของสังคมของมนุษย์ที่แสดงเจตนารมณ์บางอย่าง และเจตนารมณ์นั้นก็คือความมั่นคง และพึงพอใจในระดับหนึ่งที่มนุษย์ต้องการดำรงอยู่อย่างมีความสุขตามอัตภาพและระดับของความรู้ที่พวกตนกำหนดขึ้นได้กันเอง

                หากจะลองเชื่อข้อสรุปที่ว่า ประชาธิปไตยนั้นคือรูปแบบของการปกครองที่ซึ่งต้องการคนในสังคมทั้งหมด และในทางหนึ่งแล้วปัจจุบันนี้เมื่อมนุษย์ยังไม่สามารถมีการศึกษาที่คิดไตร่ตรองมากไปกว่านี้ ประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีอยู่[9] ข้อสรุปแบบนี้มองที่รูปแบบการดำเนินการของรัฐบาลตัวแทนที่เป็นผลิตผลทางความคิดในสังคมยุโรป ที่ว่าแม้ประชาธิปไตยต้องใช้อำนาจที่มาจากประชาชนทั้งมวลแต่เอาเข้าจริงพัฒนาการทางการเมืองที่มีขนาดของสังคมการเมืองที่ขยายตัวขึ้น การจะให้ประชาชนทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมได้ทั้งหมดอาจะเป็นไปได้ยาก การเลือกตัวแทนจึงเข้ามีความสำคัญ ซึ่งนั่นก็คือการคิดว่า ตัวแทน นั้นมีประสิทธิภาพที่จะสนองตอบความต้องการของประชาชนได้ แต่ในอีกทางหนึ่งนั้นการคาดหวังแบบนี้ก็ไม่ได้มีหลักประกันใดๆได้ว่าตัวแทนจะทำหน้าที่แทนได้สมบูรณ์พร้อม ในความคิดของผมการสร้างประชาธิปไตยที่เป็นแนวคิดสืบเนื่องมาจาก ศงต. ที่ ๒๐ คือ ประชาสังคมที่มีการให้ความหมายกันว่าคือ ประชาธิปไตยของพลเมืองที่แท้จริง ทั้งที่พลเมืองที่ไม่เอารัฐ คำกล่าวนี้แม้ดูขัดกันเองในเมื่อพลเมืองคือส่วนหนึ่งในนิยามของรัฐ แต่การไม่เอารัฐนั้นไม่ใช่การปฏิเสธรัฐกล่าวคือ กลุ่มของพลเมืองควรเข้าไปมีส่วนในอำนาจ และบทบาทของการทำงานส่วนรวมโดยหน้าที่ แทนรัฐหรือ ร่วมกับรัฐโดยรัฐทำอะไรให้น้อยลง และประชาสังคมทำอะไรได้มากขึ้น ไม่ใช่การยื้อแย่งอำนาจ, ผลประโยชน์จากกันและกันด้วยวิธีการใดๆก็ตาม แต่ควรรณรงค์ผลักดันให้รัฐลดอำนาจ ขนาด และบทบาทลงไป ซึ่งผมมองว่าประชาสังคมคือการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในรัฐ เนื่องด้วยดังกล่าวมาจากจุดเริ่มต้นนั้นรัฐบาลแบบตัวแทนอาจไม่สามารถตอบสนองต่อประชาชนทั้งหมดได้ จึงจำเป็นที่ว่าต้องให้ประชาชนผู้มีความต้องการเหมือนกันมารวมกลุ่มกัน และกลุ่มที่เกิดมากขึ้นด้วยความแตกต่างหลากหลายย่อมเป็นการเสนอทางเลือกต่อรัฐบาลตัวแทนให้ตอบสนองความต้องการได้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น ประชาธิปไตยที่มี arete ที่ประชาชนที่ได้รับการศึกษาเพียงพอนั้น ในประชาสังคมเองก็เป็นเสมือนแรงผลักดันในการให้ความรู้ให้กับประชาชน การเมืองภาคประชาชนในสังคมการเมืองประชาธิปไตย แต่กระนั้นเองสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ ความรู้ของประชาสังคมนั้นกับความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยนั้นไปในทางที่ควรจะเป็น หรือก็คือประชาธิปไตยนั้นถูกสอนจาก arete หรือไม่ หรือนั่นคือประชาชนมีพื้นฐานทางความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยอย่างไรนั่นเอง และผมคิดว่าสิ่งนี้เองที่ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยไทยสมควรจะปลูกฝังให้กับพลเมืองในอนาคต ถ้าสังคมไทยยังคงพยายามเชื่อว่าสังคมการเมืองประชาธิปไตยนั้นคือ telos ที่ไม่มีสิ่งใดมาเทียบเคียงได้อีกแล้ว
(มีต่อ)
http://gotoknow.org/blog/iammean/90196
คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญาการเมือง
หมายเลขบันทึก: 90194เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2007 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 01:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

 mean......

ความเชื่อของคนทั่วๆ ไป บอกว่าประชาธิปไตยดีที่สุด...

แต่พัฒนการประชาธิปไตยของไทยยังคงต้องเดินหน้าไปเรื่อยๆ...

ดังนั้น ประชาธิปใตยของไทยยังมิใช่ดีที่สุด...

เจริญพร

มีเรื่องจะถามท่านผู้รู้ครับ

ท่านใดทราบโปรดชี้แจ้งด้วยนะครับ

ถามว่า...องค์ความรู้ทางด้านสังคมวิทยาและมนุษย์ในระดับพื้นฐาน มีความสำคัญอย่างไรในการดำเนินช๊วิตในสังคมปัจจุบันครับ

อยากทราบ

ขอบคุณท่านที่ที่ชี้แจ้งนะครับ

ผมเคยสอนเด็ก วิชา สหวิทยาการสังคมศาสตร์ มรา ธรรมศาสตร์

เมื่อประมาณปีที่แล้วว่า

แม้คุณจะไม่ได้ใช้องค์ความรู้ในทางสังคมศาสตร์กับวิชาชีพของคุณโดยตรง (ผมรับผิดชอบสอนเด็กคณะวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์)

แต่อย่างน้อยองค์ความรู้เหล่านี้จะช่วยให้คุณ

๑. ใช้เหตุผลเป็น (มี rationality)

๒. มองปรากฏการณ์ใดๆด้วยแง่มุมที่หลากหลาย

๓. แก้ปัญหาด้วยมุมองที่หลากหลาย

๔. ครุ่นคิดว่าตนไม่ใช่อะไรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่เป็นาวนหนึ่งของสังคม

วันหลังจะเอาเอกสารประกอบการสอนตอนนั้นมาลงไว้ก็แล้วกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท