ประชาธิปไตย : เผด็จการทางความคิดในโลกปัจจุบัน บทที่ ๔-๕


เมื่อเราเข้าถึงความรู้แล้วเราก็จะไม่รักความรู้ของเรา  อย่างมากมายอีกต่อไป
ฟรีดิช  วิลเฮล์ม  นิชเช

IV. ประชาธิปไตย : เผด็จการในโลกทางความคิดของปัจจุบัน

                ทฤษฏีแบบของพลาโต้ให้ข้อคิดเห็นบางอย่างแก่ผม นั่นคือในโลกมนุษย์ที่ดำรงอยู่กับวัตถุสภาพแห่งการรับรู้นี้ มนุษย์ไม่อาจสามารถทราบได้เลยว่าสิ่งที่ตนหรือพวกตนเห็นว่า ดีแล้ว, สมบูรณ์แล้ว, ถึงที่สุดแล้ว นั้นเป็นสิ่งที่ ดีแล้วจริงแท้, สมบูรณ์แล้วจริงแท้, ถึงที่สุดแล้วจริงแท้ ในสถานะแบบนี้ผมคิดว่าพลาโต้อาจกำลังสอนให้มนุษย์เจียมตัว อย่าด่วนตัดสินใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่แม้มนุษย์ผู้อื่นในสังคมมากมายเชื่อมั่น ถือมั่นว่าคือสิ่งที่สมบูรณ์แบบ มีหลักประกันใดกันเล่าที่จะมายืนยันความเชื่อในสิ่งที่มนุษย์เห็นว่าสมบูรณ์แบบนอกจากประสาทสัมผัส แน่นอนการศึกษาและความรู้ที่ดี และสมบูรณ์ในสถานะที่เป็นการให้ความรู้เพื่อสร้าง พลเมืองที่ดี หรือไม่ก็ ราชาปราชญ์ คือคำตอบที่พลาโต้กล่าวถึง

                แม้นี่คือความคิดของพลาโต้ที่เขามองเห็นว่ามีอยู่ได้ในสังคมมนุษย์ แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่สามารถปฏิเสธได้เลยโดยนักปรัชญาการเมืองคนใดเลย คือ มนุษย์เกิดมาไม่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีข้อแย้งต่อผมว่าข้อสรุปของผมนี้เป็นความคิดแบบวัวลืมตีน หรือฝักใฝ่ชนชั้นสูง(หรือก็คือจารีตแบบสามัญชนชั้นกลาง) ผมเองก็ไม่สามารถตอบได้ว่าผมเป็นอย่างที่กล่าวหาหรือไม่ แต่ผมมีความสามารถเพียงแค่หาข้อพิสูจน์ข้อสรุปของผม และสิ่งที่ผมใช้มาเป็นข้อพิสูจน์นั้นก็คือความคิดต่างที่ถูกเรียกรวมกันเป็นกองใหญ่ว่า ความคิดแบบประชาธิปไตย

                ก่อนอื่นผมขอตั้งคำถามทำไมคนจนจึงเล่นหวย? และทำไมคนรวยจึงเล่นหุ้น? คำตอบที่ผมคิดว่าจะได้รับคือ อยากรวย, อยากมีมากกว่าเดิม, อยากตื่นเต้น, อยากเป็นผู้ชนะ, อยาก ฯลฯ สิ่งที่น่าสนใจคือคำว่าอยากนี่เอง หากถามว่าทำไมมนุษย์จึงอยาก ผมคิดว่าคำตอบที่ชัดเจนที่สุดคือเพราะมนุษย์ยังไม่มี เช่นนั้นความไม่มีจึงเป็นตัวขับให้มนุษย์เกิดความอยาก และมนุษย์จึงออกแสวงหา ดังที่ นายพิสิษฐิกุลอยากมีความรู้จึงต้องเรียน, Michael Owen อยากแสวงหาความท้าทายใหม่ๆจึงย้ายออกจาก Liverpool สู่ Real Madrid หรือแม้กระทั่งสมณะโคดมที่อ้างว่าตนอยากหลุดพ้นจึงออกแสวงหาธรรม ทุกคนที่ผมยกมานี้มีสิ่งที่เหมือนกันคือ ความไม่มี-ความรู้ของนายพิสิษฐิกุล, ความไม่มี-ความท้าทายใหม่อีกแล้วของ Michael Owen และความไม่มี-ความรู้สึกว่าได้หลุดพ้นของสิททัตถะ

                เช่นนี้แล้วหากผมจะสรุปว่าการที่มนุษย์แสวงหาสังคมการเมืองที่ดีที่สุดนั่นเพราะความไม่มี-สังคมการเมืองที่ดีที่สุดของมนุษย์คงไม่ผิด ประชาธิปไตยและแนวคิดแวดล้อมที่ผมใช้คำว่าความคิดแบบประชาธิปไตย นั้นไม่ว่า สิทธิ, เสรีภาพ, ความเสมอภาค, อิสรภาพ, การประสานประโยชน์ ฯลฯ สำหรับมนุษย์แล้วจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่มี แต่แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองปัจจุบันอาจผิดแผกออกไปจากข้อสรุปนี้ ดังนี้ ข้อแรกประชาธิปไตยถูกมองว่า เป็นสังคมการเมืองที่ดีที่พึงปรารถนา เป็น telos ของประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ แต่ข้อสองทุกวันนี้มีการถกเถียงอย่างน้อยอีกสองข้อคือ หนึ่งประชาธิปไตยคือ telos จริงหรือ และสองหรือมนุษย์ยังไม่ค้นพบ arete ของประชาธิปไตย

                ไม่ว่าจะด้วยข้อโต้แย้งใด ผมเห็นชัดเจนตามตรรกะว่าข้อสรุปแรกผิด ประชาธิปไตยยังไม่ใช่สังคมการเมืองที่ดีที่พึงปรารถนา และยังไม่เป็น telos ของประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ เหตุผลคือการดำรงอยู่ของข้อสรุปที่สองที่ว่าดังมีการถกเถียงกันอยู่ไม่ว่าจะเป็นสองข้อที่ผมเห็นหรืออีกกี่ข้อมากกว่านี้ก็ตาม ความดีพร้อม สมบูรณ์แบบต้องไม่มีความด่างพร้อยหรือถูกตั้งคำถาม หากเพียงมีการตั้งคำถามไม่ว่าเพื่อสร้างสรรค์หรือทำลายสิ่งใด ย่อมคือข้อพิสูจน์ว่าสิ่งนั้นมิใช่ความดีพร้อมสมบูรณ์แบบ ด้วยเหตุนี้ผมจึงยืนยันอีกครั้งว่าประชาธิปไตยยังไม่ใช่สังคมการเมืองที่ดีที่พึงปรารถนา และยังไม่เป็น telos ของประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วสังคมการเมืองในระดับโลกไม่ว่าจะมีความเชื่อลัทธิการเมืองใดก็ตาม ก็มักนำเอาประชาธิปไตยตั้งเป็นหลักหมายสูงสุด แน่นอนข้อสรุปนี้อาจใช้ไม่ได้กับรัฐศาสนาต่างๆที่ยังดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่นและหนักแน่นกับระบบศีลธรรมนำการเมือง แต่แน่นอนว่าผมสามารถยืนยันข้อเสนอนี้จากภาพในเวทีการเมืองโลกของประเทศแถบละตินอเมริกา, บางส่วนของแอฟริกา และเอเชียตะวันออก, รัสเซีย, ยูเครน และประเทศอื่นในอดีตเครือสหภาพโซเวียต[1] ประชาธิปไตยคือภาพที่ถูกสร้างให้กลายสภาพรัฐใดๆ ไม่ว่าจะปกครองรูปแบบใด เชื่อมั่นลัทธิการปกครองแบบไหน หรือเข้าใจประชาธิปไตยว่าอย่างไร(ไม่ต้องพูดถีงว่ารู้จัก arete ของประชาธิปไตยหรือไม่ด้วยซ้ำ)ให้เป็นรัฐที่ชอบธรรมและน่าคบค้าสมาคม น่าเชื่อถือ น่าค้าขายด้วย น่าคบหา หรือเหคุผลต่างๆ นา นา ที่หาขึ้นมาได้จากเพียงนำเอาคำว่าประชาธิปไตยมาทำเป็นป้ายแขวนคอในเวทีสังคมการเมืองระดับโลก แม้กระทั่งในบางประเทศที่กล่าวอ้างอย่างหน้าตาเฉยว่าทำการปฏิรูปประชาธิปไตยด้วยกระบอกปืนและทำการปฏิรูปประชาธิปไตยด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญที่เคยอ้างกันว่าดีที่สุด(?)เพราะร่างจากประชาชน(?)

ดังนี้แล้วนอกจากประชาธิปไตยยังไม่ใช่สังคมการเมืองที่ดีที่พึงปรารถนา และยังไม่เป็น telos ของประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์แล้วในทางที่เลวร้ายยิ่งกว่า ประชาธิปไตยถูกใช้เป็นข้ออ้างของความดี, ข้ออ้างของความสมบูรณ์, ความอิ่มเอิบ, ความสุข ฯลฯ ด้วยเหตุผลสนับสนุนนานัปประการที่ถูกสร้าง ถูกผลิต ถูกตีความให้ใหม่สดไปกับสภาพที่แปรเปลี่ยนไปของสังคมในแต่ละวัน และสิ่งที่รัฐใดๆต้องการเพื่อสนับสนุนหน้ากากที่สวยงามเหล่านี้ก็คือ มนุษย์ที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ถูกพยายามสร้างให้เป็นพลเมืองประชาธิปไตยไปเสียหมดด้วยกลไกการสร้างอุดมการณ์ของรัฐ อย่างยิ่งคือการให้ความรู้หรือที่เรียกกันว่าการให้การศึกษาโดยรัฐ ที่ทำการปลูกฝังกันตั้งแต่นักเรียนในระดับเล็ก จนอาจจะถึงนักศึกษาในระดับที่โตกว่า จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดประชาธิปไตยจึงเป็นสังคมการเมืองที่ดีที่พึงปรารถนาคำตอบก็คือเพราะว่าพลเมืองประชาธิปไตยไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อระบบสังคมการเมืองในระบอบการปกครองอื่นๆเลยนั่นเอง...กระมัง พวกเขาจึงไม่สามารถมองระบบสังคมการเมืองในระบอบการปกครองอื่นๆว่าคือสังคมการเมืองที่ดีที่พึงปรารถนาโดยไม่ใช้ความคิดแบบประชาธิปไตยมาเป็นฐาน 

__________________________________________

  มนุษย์เกิดโดยปราศจากรูปแบบ และสามารถฝึกฝนให้แปรเปลี่ยน อันที่จริง, ถูกสร้างได้ตามอำเภอใจของเขาเอง
โจวานนี  พิโค  เดลลา  มีร์รันโดลา 
V. ส่งท้าย

                ผมคิด และตรึกตรองเท่าที่ความสามารถจะอำนวย ผมเห็นว่าการที่ประชาธิปไตยและความคิดประกอบสร้างที่ตามมาโดยแบบของประชาธิปไตยจะกลายเป็นความคิดเด่นที่ครอบงำอุดมการณ์, ความคิด, จินตนาการ และความคาดหวังเพียงหนึ่งเดียวของมนุษย์ที่ถูกสร้างให้เห็นเช่นนั้น มิใช่เรื่องที่จะสามารถตัดสินำได้ว่าผิดหรือถูก เพราะผมเองไม่สามารถมั่นใจในมาตรฐานใดๆที่นำเอามาวัดความเป็นมาตรฐานในเร่องนี้ได้เลย คงมีสิ่งเดียวที่ผมจะมองเห็นได้ก็คือ ด้วยอิทธิพลจากทฤษฎีของพลาโต้ ที่ว่ามีโลกอันสมบูรณ์ที่อยู่เหนือการรับรู้โดยประสาทสัมผัสแบบธรรมดาทั่วไป และโลกนั้นคือความสมบูรณ์, คือความปรารถนา, คือจุดสิ้นสุดของการแสวงหาที่ต้องถูกแสวงหา, และคือหนึ่งเดียวที่จริงแท้ จะเป็นด้วยความคิดรากเหง้าเช่นนี้หรือไม่ ที่เป็นแรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้เกิดความคิดแสวงหาความสมบูรณ์แบบเพียงหนึ่งเดียว ในเรื่องต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็น พระเจ้า, ศีลธรรม, จริยธรรม, สังคม, การเมือง, ชีวิต ฯลฯ จึงไม่เป็นการแปลกนักที่รัฐอื่นๆที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดเช่นนี้ อันเป็นมรดกตกทอดมาแต่ยุคอาณานิคมจะเห็นคล้อยตาม

                ประชาธิปไตยก็เป็นหนึ่งในการครอบงำทางความคิด โดยไม่ว่าประชาธิปไตยจะมี arete แบบใดกันแน่ หรือเป็น telos หรือไม่ แต่ประชาธิปไตยในปัจจุบันได้ถูกสร้างให้เป็นจุดมุ่งหมายไปเสียแล้ว และเหตุนั้นเองผมจึงเห็นว่านี่คือการเผด็จการทางความคิดแบบหนึ่งที่มาพร้อมกับความคิดพ่วง(campaign) มากมาย ผมคงไม่ตัดสินว่านี่ดีหรือเลวในทางศีลธรรมอย่างที่ผมย้ำมาตลอด แต่ผมบอกได้เพียงแต่ว่า หากมนุษย์ยังสามารถเชื่อมั่นในศักยภาพของกันและกันได้แล้วนั้น มันถึงเวลาหรือยังที่มนุษย์จะยอมรับสิ่งอื่นใดที่ เปิดรับสิ่งใดอื่น ที่เคยถูกมองว่าด้อยค่า เสื่อมราคา ไร้ประโยชน์ เก็บสิ่งต่างๆเหล่านั้นกลับมาครุ่นคิด เปรียบเทียบ รับฟัง ถกเถียง ตีความ และแสวงหา เพราะผมยอมถูกพันธนาการในความเชื่อที่ว่าชีวิตที่ดีนั้นมาพร้อมกับอิสรภาพทางปัญญา หาใช่เกิดพันธนาการที่ต้องเชื่อว่ามาแล้วต้องคิดอย่างที่คนอื่นเห็นว่าเป็นสิ่งที่สมควรคิด เพราะผมเชื่อในการรักในการแสวงหาความรู้ และผมไม่เชื่อในการรักเพียงแต่สิ่งที่ต้องรู้เท่านั้น

(มีต่อ)
http://gotoknow.org/blog/iammean/90197
คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญาการเมือง
หมายเลขบันทึก: 90196เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2007 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

mean .....

สรุปว่า

  • ไม่เห็นด้วยกับความเห็นว่า ประชาธิปไตยดีที่สุด...
  • การถูกกำหนดให้เชื่อ เป็นการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด...

น่าจะประมาณนี้

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท