เช เกวารา กับ ความตาย


เรื่องราวกับความตายของนักปฏิวัติ ผู้ฟื้นคืนชีพขี้นมา ในสมรภูมิทุนนิยม ในท่ามกลางโลกแห่งการบริโภคภาพลักษณ์

 

แนะนำหนังสือ  

เช เกวารา กับ ความตาย

Che Guevara & Death 

ธเนศ  วงศ์ยานนาวา

ผู้เขียน 

กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ CREAMBOOKS

ตุลาคม 2547 

คติ มุธุขันธ์ : แนะนำหนังสือ 

หนึ่งในงานชิ้นเยี่ยม

ซึ่งอธิบายปรากฏการณ์และภาพสะท้อนของวีรบุรุษ

นักปฏิวัติคนสำคัญของโลก

ว่ากลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้งได้อย่างไร  

ที่มาของหนังสือ 

เรื่องราวจากภาพยนตร์เรื่อง The Motorcycle Diaries ของ Walter Salles ในปี 2004 คือหนึ่งในภาพสะท้อนของสัญลักษณ์ที่นำพา เช เกวารา ให้กลับฟื้นคืนชีพมาอีกครั้ง นอกเหนือจากความยิ่งใหญ่ของภาพอมตะ ในผลงานการถ่ายของ Alberto Korda ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานของภาพถ่ายแห่งยุคสมัย งานเขียนชิ้นนี้ เกิดขึ้นจากการเรียบเรียงเอกสาร หนังสือ ภาพยนตร์ บทเพลง บทสัมภาษณ์ รูปภาพ และการเดินทางสู่คิวบา ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา  

การปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งหลังความตาย ของ เช เกวารา ตามร้านอาหาร เสื้อยืด ของที่ระลึก และท้ายรถบรรทุก จนราวกับว่าเขาเป็นพระเจ้า คือปริศนาซึ่งซ่อนอยู่ในความหมายของ ทุนวัฒนธรรม ด้วยความหมายที่ ธเนศ อธิบายให้แคบ ว่าเป็นเพียงสินค้าและสถานะที่เป็นวัตถุ มากกว่าพิจารณาถึงทุนวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในสมองและร่างกาย เป็นความหมายแคบที่อธิบายสิ่งซึ่งสอดคล้องกับระบบเสรีนิยมใหม่ ที่ขยายตัวมาได้กว่า 2 ทศวรรษ ธเนศ อธิบายความหมายในการปรากฏกายขึ้นอีกครั้ง ว่าไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  

จุดเริ่มต้นปลายเดือนสิงหาคม 2540 ภายหลังคำชักชวนของ สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการสำนักเสริมศึกษาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อบรรยายในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของ ธเนศ คือสาระสำคัญซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นจากหนังสือที่กำลังอ่าน และการรับรู้หลังเดินทางกลับจากคิวบา จนนำไปสู่การจัดทำเอกสารบรรยาย เช เกวารา กับความตาย  

การบรรยายและสนทนาเรื่องเชและความตาย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2540 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ถูกเชื่อมโยงและเพิ่มเติมเนื้อหาสาระจากการนำเสนอ จากข้อถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทและอิทธิพลของเชในสังคมไทยของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ 

จุดเชื่อมโยงสำคัญ คือการเพิ่มเติมบทบาทตำนานของเชในสังคมไทย ซึ่ง ธเนศ ได้ใช้บางส่วนของวิทยานิพนธ์ เรื่องพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เข้ามาประกอบ รวมกับการอธิบายภาพลักษณ์ของเช ในส่วนประกอบต่างๆ ของหมวก หน้าตา การแต่งกาย ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา 

ทั้งนี้เพื่อการนำเสนอภาพความเป็นมนุษย์ของวีรบุรุษ ซึ่งธเนศ อธิบายในบทคำนำว่า สิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็น ก็คือความเป็นมนุษย์ที่มีความรัก ความสำนึกผิด ความไม่แน่ใจ ความกลัวตาย ความผิดพลาด อุบัติเหตุในชีวิต ที่ทุกสิ่งเหล่านี้ สามารถจะดำเนินไปพร้อมกันกับวินัยอันเข้มงวดเด็ดขาดของเช จนทำให้เกิดความไม่พอใจและน้อยใจกับคนที่อยู่รอบข้าง ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นภรรยา ลูก หรือเพื่อน ก็ตาม ด้วยชีวิตของคนต่างๆเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์ หรือกฎวัตถุนิยมวิภาษ ไม่ใช่เรื่องของประวัติศาสตร์วัตถุนิยม หรืออุดมการณ์เรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ฯลฯ แต่เพียงอย่างเดียว ความหลากหลายและซับซ้อนของชีวิต ซึ่งเกี่ยวพันกับตัวแปรที่เป็นอนันต์ และมากมายเกินกว่าที่จะนับได้นั้น ทำให้อุดมการณ์ทางการเมือง เป็นแต่เพียงเป้าหมายที่จะทำให้ชีวิตดูมีความหมายมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน 

จนไปสู่บทตอกย้ำที่ว่า แน่นอนการกล่าวถึงอุดมการณ์เป็นสิ่งที่สวยงาม แต่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เมื่อทุกคนต่างมีอุดมการณ์และยึดมั่นในสิ่งนั้นอย่างเหนียวแน่น ผลที่สุดแล้ว มนุษย์อาจจะต้องการสิ่งที่ตัวเองไม่มี แต่เมื่อครั้งได้มันมาจริงๆแล้ว ก็อาจจะไม่ต้องการมันอีกเลยก็ได้ ดังนั้น ชีวิตจึงไม่ใช่เรื่องง่ายดายอย่างที่คิดหรือตามที่อุดมการณ์วาดเอาไว้ 

ความน่าสนใจ ในการจัดลำดับงานเขียนชิ้นนี้ ของ ธเนศ คือการเชื่อมบทเนื้อหาการนำเสนอ ให้เป็นเหมือนบทละคร ที่เริ่มเรื่องการเดินทางของเช ภายหลังการปฏิวัติคิวบาสำเร็จ  

·       โหมโรง

·       ความตายกับการปฏิวัติ

·       สัญญาณแห่งความตายในกาฬทวีป

·       สัญญาณแห่งความตายจากการปฏิวัติที่แตกต่าง

·       การดั้นด้นไปสู่ความตายของเช

·       เมื่อเชถูกประหาร

·       ภาพของเชและสิ่งศักดิ์สิทธิ์

·       วินัยแห่งความตายของเช

·       ภาพลักษณ์เชในสังคม(ไทย)

·       เช เกวารา : ลิขสิทธิ์ส่วนบุคคล: ทุนทางวัฒนธรรม

·       จาก บัวนาวิสตา โซเชียล คลับ ถึง อัลแบร์โต กอร์ดา

·       ภาคผนวก ลำดับเหตุการณ์ชีวิต เช เกวารา โดยสังเขป 

การเดินทางของเนื้อหา 

ภาพอันปรากฏ จากการลำดับเหตุการณ์ชีวิต และการบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของนักปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ ภายหลังการปฏิวัติในคิวบาสำเร็จ ความหมายจากจุดเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ เช เกวารา เริ่มต้นเดินทางเข้าสู่สมรภูมิการปฏิวัติอีกครั้งหนึ่ง จากคิวบาสู่อัฟริกา และจากความพ่ายแพ้ในอัฟริกาสู่อเมริกาใต้ จนกระทั่งพบกับจุดจบของชีวิต  

ความตายของเช เริ่มต้นขึ้นจากภาพสะท้อนอันยิ่งใหญ่ รูปถ่ายใบหน้าของเขาที่โด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งเกิดขึ้นจากการถ่ายภาพของ Alberto Korda เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 1960 เมื่อผู้นำการปฏิวัติคิวบา เข้าร่วมพิธีศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดเรือฝรั่งเศส ชื่อ La Courbre ที่ขนอาวุธจากเบลเยียมเข้าเทียบท่ากรุงฮาบานา จนเกิดระเบิดขึ้น ภาพจากการถ่ายของเขา กลายเป็นตำนานหน้าหนึ่งของโลก 

หัวใจแห่งนักปฏิวัติของ เช เกวารา ถูกเรียบเรียงขึ้นจากเหตุการณ์แวดล้อมมากมาย ที่เกิดขึ้นภายหลังปฏิวัติคิวบาสำเร็จ หลังจากเขาเป็นรัฐมนตรี เป็นทูตของคิวบา ที่พยายามเดินทางสู่สมรภูมิรบในอัฟริกา จดหมายที่ปิดทางถอยสู่คิวบาจากลายมือของเขา สะท้อนมุมมองและเหตุผลสำคัญ ในการเดินหน้าสู่การปฏิวัติอเมริกาใต้ของเขา สมรภูมิสุดท้ายในชีวิตของเขา ท่ามกลางนโยบายส่งออกสงครามจรยุทธ์ เพื่อต่อสู้กับจักรวรรดินิยมของคิวบา ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นในนโยบายถือไพ่จีน และไพ่รัสเซีย คือปัญหาสำคัญ  

นโยบายและความร่วมมือสู่สงครามจรยุทธ์ในโบลิเวีย ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือ ของคิวบา จีน และโซเวียต คือจุดเริ่มต้นสำคัญ ความขัดแย้งของการรบ และการก่อสงครามจรยุทธ์ในโบลิเวียรวมทั้งภาพสะท้อนจากการเข้าร่วมรบ ของนักทฤษฏีมาร์กซิสต์ชาวฝรั่งเศส เรจิส เดอเบรย์ ที่ต่อมา เช เกวารา คาดหวังให้ประสานด้านทุนสนับสนุนเพื่อการปฏิวัติในอเมริกาใต้ จากเบอร์ทรัล รัสเซล นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ชาวอังกฤษ ซึ่ง ธเนศ ได้อธิบายอย่างน่าสนใจ ถึงภาพของเกมแห่งอำนาจ ในสงครามแห่งอุดมการณ์ 

การเดินทางสู่ความตาย 

ความตายและการถูกจับกุม ความอ่อนระโหยโรยแรงและการล้มป่วยของกองโจรปฏิวัติ เกิดขึ้นจากข้อเขียนของ เช เกวารา จนนำไปสู่จุดสะท้อนสำคัญ ในความตายของทาเนีย หรือ ไฮดี ทามารา บันเก สาวลูกครึ่งเยอรมันตะวันออกกับอาร์เจนตินา หญิงสาวคนเดียวที่เข้าร่วมกองโจรปฏิวัติ ผู้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยอุตสาหกรรมในคิวบา ขณะที่เชดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ คือจุดเปลี่ยนสำคัญ ในมุมมองแห่งการปฏิวัติ นักรบคนเดียวที่ได้รับการประกอบพิธีศพทางศาสนา เนื่องด้วยเหตุผลเพราะเป็นผู้หญิง ที่รัฐบาลโบลิเวียยอมอนุญาต แต่หลังจากนั้นก็ยังคงนำฝังไปฝังอย่างลับๆ 

การถูกปิดล้อมและจับกุม การตัดสินใจประหารเช ระหว่างรัฐบาลโบลิเวีย กับซีไอเอ คือหนึ่งเหตุการณ์สำคัญ เมื่อความตายมาเยือน เช ในเวลาบ่ายโมงสิบนาที ของวันที่ 9 ตุลาคม 1967 สะท้อนให้เห็นมุมมองบางอย่าง ไม่นับกับภาพการล้างศพของ เช เกวารา ที่มีผู้มองเปรียบเทียบกับภาพ Lamentation over the Christ ของ Andrea Mantegna ที่วาดภาพพระเยซูนอนตายจากหน้าตรง มองเห็นลำตัวและขา ราวกับผู้ดูยืนอยู่ปลายเท้า และภาพที่แพทย์ชันสูตรศพของเช ที่เหมือนกับภาพ The Anatomy Lesson of Dr.Tulps ของ Rambrandt 

มุมมองของ ธเนศ อธิบายปรากฏการณ์ ที่มีการสร้างความสัมพันธ์ของภาพๆหนึ่ง กับภาพอื่น ว่า ในระบบการรับรู้ของผู้คนที่มีต่อวีรบุรุษ ในโลกของคริสต์ศาสนา คงจะหลีกไม่พ้นที่จะอ้างอิงถึงพระเยซู ซึ่งเทียบเคียงได้กับการมาเพื่อปลดปล่อยมนุษยชาติออกจากบาป หรือทุกข์ยาก ความหลงใหลในสิ่งที่เช เกวารา กระทำ ไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์หรือความสามารถที่เด็ดเดี่ยว เพียงอย่างเดียว แต่เพราะรูปร่างหน้าตาของเช ที่กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการขบถ ของวัฒนธรรมป็อบ ที่มีรูปลักษณ์หน้าตาเข้ามาเป็นส่วนประกอบ 

คำกล่าวขวัญถึงวินัยและความเข้มงวด ในชีวิตนักปฏิวัติของ เช เกวารา ที่มีต่อตัวเองและครอบครัว เป็นหนึ่งที่สามารถอธิบายและเชื่อมโยงกับภาพสะท้อนในวัยเด็กของเขา ที่เกิดขึ้นมาท่ามกลางความอ่อนแอของร่างกายจากโรคหืดหอบ จนกลายเป็นนิสัยในการพนันกับความตายของตัวเขาเอง เพราะหลายครั้งของการกระทำที่สุ่มเสี่ยง เช เกวารา ไม่แตกต่างจากนักพนันที่สามารถใช้ความตายเป็นเครื่องเดิมพันได้ 

ความตายซึ่งถูกใช้ประโยชน์ 

ความตายที่เช ได้กระทำนั้น ถือเป็นมุมมองที่ไม่มีฝ่ายใดต้องการ ระหว่างทุนนิยมหรือสังคมนิยม ระหว่างความสุ่มเสี่ยงที่ท้าทายแนวคิดของ คริสตศาสนาและมาร์กซิสต์ในเวลาเดียวกัน การเล่นกับความตายเป็นสิ่งที่นอกเหนือการควบคุม ตามระเบียบวิธีคิดแบบเหตุผล แต่เมื่อเชตายแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการให้ผู้อื่นเล่นกับความตายของเขาแทน 

 

แต่ต้นแบบในความตายของเช วินัยและความเข้มงวดของเขา กลับเป็นเนื้อหาสำคัญ เมื่อภาพถ่ายของ Alberto Korda ถูกนำไปมอบให้ สำนักพิมพ์ฝ่ายซ้ายในอิตาลี 7 ปีหลังการถ่ายภาพ เพื่อจัดทำหนังสือ The Bolivian Diary ที่ต่อมานำไปพิมพ์เป็นภาพโปสเตอร์ และแพร่หลายต่อมา อย่างมาก เมื่อถูกนำมาใช้ในการประกอบพิธี ที่ฟิเดล คาสโตร สดุดี เช เกวารา ณ จัตุรัสแห่งการปฏิวัติในวันที่ 13 ตุลาคม 1967 แม้เช เกวารา จะระมัดระวังกับการถูกถ่ายภาพ ในชีวิตปฏิวัติของเขา หรือกระทั่งชื่นชอบการถ่ายภาพมากกว่า แต่รูปภาพของเขา กลับเป็นสิ่งที่ขายได้ 

ความสำคัญและยิ่งใหญ่ในภาพของ เช เกวารา ภายใต้รูปลักษณ์ของ Pop Art คือสิ่งที่ ธเนศ อธิบายให้เห็นว่า ถึงความยิ่งใหญ่ของภาพนี้ ซึ่งข้ามที่ทางของสังคมวัฒนธรรม มาสู่ประเทศไทย เมื่อการผลิตภาพลักษณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับสังคมไทย ที่ไม่อาจหลีกหนีอิทธิพลในตำนานของเช ไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อขบวนการประชาธิปไตยเบ่งบานพร้อมกับความคิดสังคมนิยมเฟื่องฟู หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 

ตำนานแห่งความเป็นวีรบุรุษของเช มีผลต่อการสร้างตำนานวีรบุรุษของ จิตร ภูมิศักดิ์ งานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งเสนอต่อมหาวิทยาลัยโมนาช ออสเตรเลีย ได้ค้นคว้าถึงอิทธิพลของเช ที่มีต่อการสร้างภาพและตำนานของ จิตร ภูมิศักดิ์ 

เชยังไม่ตาย 

มุมมองจากการฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ของเช เกวารา จากโลกปฏิวัติสู่โลกทุนนิยม ของการบริโภคภาพลักษณ์ ได้รับการอธิบายถึงที่ทาง ความเหมาะสมในทางประวัติศาสตร์ และการไปให้ถึงซึ่งเป้าหมาย เมื่อ ธเนศ มองเห็นถึงการตั้งคำถามในเชิงลบ ต่อการขายภาพลักษณ์ของเชว่า การเลือกบริโภคภาพลักษณ์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ตนเอง ก็สามารถเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของผู้บริโภคได้เช่นกัน เท่ากับที่เราจะได้เห็นบทสรุปแห่งความตายก่อนเวลาของเช ว่าได้สร้างให้เกิดความจริงในคำขวัญยิ่งใหญ่ที่ว่า  เชยังไม่ตาย 

โดยการพิจารณาความตายก่อนเวลาอันควรของเช ได้สร้างความเป็นอมตะ และสร้างชีวิตให้แก่ผู้คนจำนวนมาก ได้บริโภคตัวตน จนนำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ ท่ามกลางคำถามถึงสิ่งที่ควรเลือกได้และเลือกไม่ได้ ถ้าเช จะเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ในวันนั้น 

นอกเหนือจากเชิงอรรถอันละเอียดอ่อนยิ่งใหญ่ และการจัดรวบรวมในกลิ่นอายของการให้เกียรติ และงานเขียนทางวิชาการ ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่อ้างอิงแหล่งที่มา และจุดเริ่มต้นแนวคิดจากงานเขียนอื่นๆ การนำเสนอภาพของการถกเถียงในโลกภาพยนตร์ ศิลปะ ดนตรี คือสิ่งที่เชื่อมโยงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์พิเศษ ซึ่ง เช เกวารา สามารถขายได้ ว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้เขายังคงมีชีวิตอยู่ และมีชีวิตอมตะ ท่ามกลางโลกแห่งความปฏิวัติที่เขาใฝ่ฝันได้อย่างไร ในโลกยุคปัจจุบันที่เราดำรงอยู่  

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือ

ปีที่พิมพ์             :           ตุลาคม 2547

ชื่อหนังสือ          :           เช เกวารา กับความตาย Che Guevara & Death  

ประเภท             :           ความเรียง บทเรียบเรียงประวัติบุคคล

ชื่อผู้เขียน           :           ธเนศ วงศ์ยานนาวา

บรรณาธิการ       :           บุญทวี สิริเวสมาศ  

ข้อมูลทางบรรณานุกรม 

เช เกวารา กับความตาย Che Guevara & Death- 

- กรุงเทพฯ: CREAMBOOKS, 2547

185 หน้า      

 I.ชื่อเรื่อง

ISBN 974-92519-1-1 

ข้อมูลเกี่ยวกับผู้แต่งหนังสือ 

ประวัติ 

ธเนศ วงศ์ยานนาวา           

เกิดที่กรุงเทพมหานคร ในเดือนมิถุนายน 2500 เรียนชั้นประถม จนจบมัธยมปลาย จากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้นก็ได้ M.Sc จาก University of Wisconsin Madison สหรัฐอเมริกา เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาก็ได้ M.Phil ทางด้านทฤษฏีการเมืองและสังคม จาก Cambridge University ประเทศอังกฤษ มีผลงานบทความมากมาย ทั้งด้านทฤษฏีเชิงปรัชญา สังคมวิทยา งานวิจารณ์ ดนตรี ฯลฯ ปัจจุบันยังคงสอนหนังสืออยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และยังคงผลิตงานเขียนชิ้นเยี่ยมเป็นระยะ ตามอัธยาศัยและอารมณ์ของผู้เขียน

หมายเลขบันทึก: 92614เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2007 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

แบบนี้ชอบ จะหาหนังเรื่องที่ว่ามาดูได้จากที่ไหนครับ

 

  • ขอบคุณครับ คุณ
    P
  • สำหรับการเยี่ยมชม และคำชื่นชอบ
  • หนังเรื่องที่ว่า
  • คิดว่าเป็นเรื่อง The Motorcycle Diaries -2004 ใช่ไหมครับ
  • ถ้าเป็นเรื่องนี้ ตอนนี้ สามารถหาซื้อได้ทั้ง CD - DVD ตามร้านโดยทั่วไปครับ หลังจากที่ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาษาต่างประเทศ ทำให้ตอนนี้ในบ้านเรา ไม่น่าจะมีปัญหาในการติดตามหาชมนะครับ
  • โดยส่วนตัว ผมก็หยิบยืมจากเพื่อนมาอีกทีหนึ่งครับ
  • ถ้าไม่สามารถหาได้ ลองติดต่อกลับมาอีกทีนะครับ คิดว่าจะช่วยหาให้ได้ครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • ยินดีมากครับ สำหรับการร่วมอ่านเรื่องราวในความงดงามของหนังสือครับ
  • ขอบคุณครับ
  • มีหนังสือมาแล้วเหรอครับ ดีจังเลย จะได้ติดตามอ่านภาษาไทย
  • หลังจากอ่านเรื่องราย ของ Che Guavara ผ่านภาษาอังกฤษ (search หาจาก Google)
  • ผมว่านะครับ เขาเป็นคนที่หน้าตาดีทีเดียวเลย แต่ภาพที่เอามาทำรูปที่เราเห็นจนเป็นสัญลักษณ์ดูว่าเขา น่ากลัว ไม่น่าพิศมัยสำหรับสาวๆ เท่าใด

  • สวัสดีครับ คุณ
    P
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับภาพของ Che Guavara ที่นำมาฝาก
  • หนังสือเล่มที่แนะนำเล่มนี้ ค่อนข้างจะวิพากษ์ตัวตนของ เช เกวารา ที่ละเอียดมากครับ อ้างอิงและสนับสนุนข้อมูลของบทวิพากษ์ได้สะท้อนใจมากครับ
  • งานเขียนที่อธิบาย ถึงตัวตน และการใช้ประโยชน์ในตัวตน ในภาพลักษณ์ของ นักรบ นักปฏิวัติ ที่หน้าตาดี จนถูกนำเสนอ ใช้ประโยชน์และเพิ่มเติมมากมายเข้าไปอีกในสังคมทุนนิยม
  • ซึ่งหากนับความชอบกล ก็คือ สังคมทุนนิยม คือสิ่งที่ เช เกวารา ต่อสู้และปฏิวัติมาโดยตลอด แต่กระบวนการที่ทำให้เขาโด่งดังจนคับโลกใบนี้ เป็นวีรบุรุษ บุรุษในดวงใจ ของผู้คนมากมายทั่วโลก กลับมาจากผลผลิตของสังคมทุนนิยม ที่บริโภคภาพลักษณ์นักปฏิวัติของเขาอย่างมากมาย
  • ภาพที่คุณ
    P
  • บอกว่าน่ากลัว และไม่น่าพิศมัย นั้น คือภาพที่มีเรื่องราว ที่สะท้อนจากแววตาของเขาจริงๆ ครับ
  • เป็นภาพถ่าย ฝีมือ Alberto Korda เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 1960 เมื่อผู้นำการปฏิวัติคิวบา เข้าร่วมพิธีศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดเรือฝรั่งเศส ชื่อ La Courbre ที่ขนอาวุธจากเบลเยียมเข้าเทียบท่ากรุงฮาบานา จนเกิดระเบิดขึ้น ภาพจากการถ่ายของเขา กลายเป็นตำนานหน้าหนึ่งของโลก 
  • ภาพถ่ายชิ้นนี้ สะท้อนมุมมอง และสายตาของเขา ในท่ามกลางคำถามบางอย่าง ถึงความดุเดือด ดุดันในใจ
  • ยังไม่นับว่า ว่ายิ่งใหญ่ จากการที่ Alberto Korda ถ่ายภาพนี้ จนนำไปสู่การอนุญาตให้ฝ่ายซ้ายในอิตาลี นำรูปนี้ตีพิมพ์ในหนังสือ ชื่อ Bolivian Diary กระทั่งโด่งดัง นำไปดัดแปลงเพิ่มเติม ในรูป Pop Art ยิ่งเสริมให้งานชิ้นนี้ มีรายละเอียดมากมายเพิ่มเติม
  • เบื้องหลังภาพนี้ มีรายละเอียดจริงๆ ครับ
  • และในหนังสือเล่มนี้ ก็อธิบายรายละเอียดบางอย่าง ที่ทำให้เรารู้สึกว่า เป็นงานเขียนที่มากกว่า บอกว่าชีวประวัติ การต่อสู้ การเดินทาง หรือภาพลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของ เช เกวารา
  • แต่คือ งานหนังสือ ที่วิพากษ์ความเป็นไป ในแต่ละก้าวย่าง แต่ละภาพลักษณ์ของนักปฏิวัติ ซึ่ง Popular ในโลกทุนนิยม ได้อย่างแสบสันต์มากครับ
  • แนะนำให้อ่าน และร่วมแลกเปลี่ยนกันครับ
  • เป็นงานที่มีรายละเอียดน่าสนใจมากครับ
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับคำแนะนำ
  • ลืมบอกไปครับ คุณ
    P
    ว่าหนังสือเล่มนี้ อาจจะหายากนิดหน่อย เพราะว่าพิมพ์จำหน่ายมาประมาณ 3 ปี แล้วครับ
  • ยังไงลองติดต่อ สำนักพิมพ์ก็ได้นะครับ
  • ขอบคุณมากครับ คุณ kati ข้อมูลทีให้มาทำให้น่าสนใจมาก สงสัย ถ้าหาไม่ได้คงต้อง serch หาจากร้านหนังสือมือสองเหมือนเดิม
  • ตอนแรกผมดูผ่านๆ ไม่ได้ดูสำนักพิมพ์ ปกหนังสือออกมาคล้ายๆ สำนักพิมพ์มติชน คิดว่าคงหาได้ง่าย พอคุณ kati บอกมาว่ามีน้อยเลยกลับไปดูรายละเอียดอีกทีไม่ใช่สำนักพิมพ์มติชนนี่หว่า คงจะหายากแน่นอน
  • ผมเห็นภาพการตายของ el che แล้วทำให้นึกถึงจิตร์ ภูมิศักดิ์ ไม่แตกต่างกันเลย ในสภาพการตาย ในยุคสมัยหนึ่ง นักต่อสู้ ไม่เคยได้ตายดีซักเท่าไหร่
  • หรือยุคสมัยนี้นักต่อสู้ก็ยังตายเหมือนสมัยนั้น จริงไหมคุณ Kati

  • ต้องขอโทษด้วยครับ คุณ
    P
  • ที่เข้ามาตอบช้า
  • สำหรับความตายของนักต่อสู้ เป็นหัวข้อวิจัยเชิงวิชาการ ในหลายสาขาวิชาเหมือนกันนะครับ
  • ไม่ว่าจะเป็น จิตวิทยามวลชน ที่ยังต้องสัมพันธ์กับความหมายของผู้นำ และวีรบุรุษที่ต้องตาย
  • หรือ มุมมองรัฐศาสตร์ ทั้งในสำนักโครงสร้าง และสำนักหลังสมัยใหม่ ที่ต่างมองภาพลักษณ์ ตัวตน และกระบวนการทำงาน ของวีรบุรุษ
  • ทั้งวีรบุรุษ มหาบุรุษ หรือกระทั่งวีรสตรี สิ่งที่เราเห็นด้วยความจริง ก็คือ เขาเหล่านั้นต้องมี Story ของความตาย เป็นเครื่องยืนยัน
  • ไม่แน่ใจเหมือนกัน ว่าเป็นความเจ็บปวด หรือเป็นกระบวนการไปสู่วาทกรรม ว่าด้วย "วีรบุรุษ" หรือกระทั่งว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่สังคมมนุษย์ สร้างขึ้นมา เป็นเครื่องมือหนึ่งในการคัดกรอง คนที่มุ่งมั่นจะกระทำสิ่งใดเพื่อสังคม
  • ประเด็นเยอะมากครับ รายละเอียดแตกแยกย่อย ที่ทั้งสนุกสนาน ทั้งน่าสนใจ ทั้งประชดประชัน หดหู่ หรือกระทั่งว่า ทำให้เราเห็นว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ หรือประวัติศาสตร์ของสังคมใด ที่จะก้าวผ่านไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ล้วนต้องมีบทเรียน และความตาย เป็นแบบทดสอบ หรือบทปฏิบัติ ที่สร้างความเจ็บปวดในการรับรู้ ให้แก่คนรุ่นต่อไปมิใช่น้อย
  • ยุคสมัย และความตายของนักต่อสู้ น่าจะยังดำรงต่อไปนะครับ ถ้าเราเชื่อว่าจะยังมีวันพรุ่งนี้
  • และนักต่อสู้ ยังเป็นมนุษย์ประเภทพิเศษ ที่มีหัวใจและจินตนาการต่อโลกอนาคต ในสังคมมนุษย์ ที่สดใสยิ่งใหญ่ มีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงโลก
  • ตราบนั้น ผมก็ยังเชื่อว่า ความตายของนักต่อสู้ ในท่ามกลางตำนาน น่าจะยังดำรงอยู่ครับ
  • ดูเหมือนไร้ความหวัง
  • แต่ผมก็เชื่อมั่นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นความหวังของสังคมมนุษย์ครับ
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับประเด็นแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ
  • ขอบคุณครับ

 

หนังสือเล่มนี้กำลังจะพิมพ์ออกมาอีกครั้งในวาระ 40 ปีการเสียชีวิตของเช ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะมีการปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหามากกว่าฉบับที่ผ่านมาครับ...บก.
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท