เดินที่สูง


เมื่อก้าวย่างของชีวิต และการเดินที่สูง ซึ่งนำพาคำตอบมาสู่ชีวิตและจิตวิญญาณ มาสู่ความรู้สึกและจิตใจ

 

แนะนำหนังสือ 

เดินที่สูง

The Mountains of Mind 

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

เพชร  มโนปวิตร

ภัทรพงศ์   คงวิจิตร

สมิทธิ  ธนานิธิโชติ

สุดแดน  วิสุทธิลักษณ์

นัท  สุมนเตมีย์

อำนาจ  รัตนมณี

ผู้เขียน - ผู้ถ่ายภาพ 

กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ หนังสือเดินทาง

สิงหาคม 2547 

คติ มุธุขันธ์ : แนะนำหนังสือ 

งานเขียนที่บอกเล่าความหมายในแต่ละเส้นทางซึ่งสัมพันธ์ขุนเขา กับ ผู้คนในแต่ละการเดินทางจากที่ราบสู่ที่สูงจากภายนอกสู่ภายในจิตใจ 

ที่มาของหนังสือ 

ความหมายจากหนังสืองดงามในผลงานเล่มแรก ของสำนักพิมพ์หนังสือเดินทาง ที่พยายามสร้างเวทีสำหรับผู้หลงรักการเดินทาง ด้วยความหมายในการอธิบาย ที่แม้ไม่ใช่การตั้งใจไปเพื่อค้นหาตัวตน แต่ก็ยากจะปฏิเสธที่การเดินทางได้ทำให้เราค้นพบ กับบางด้านบางมุมของตัวเอง ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนในภาวะปกติ 

หนังสือ เดินที่สูง คือก้าวเริ่มต้นของสำนักพิมพ์หนังสือเดินทาง ที่ต้องการสร้างพื้นที่ในงานเขียน งานถ่ายภาพ หรืองานศิลปะอื่นๆ ของคนที่ชอบเที่ยวชอบเดินทาง และอยากใช้ชีวิตอยู่บนโลกตามแนวทางที่ตนเองเชื่อมั่น เนื้อหาภายในเล่มที่รวบรวมเรื่องราว ความคิด ความรู้สึก จากการถ่ายทอดภาพถ่ายและงานเขียนของ 7 นักเขียนนักถ่ายภาพ ด้วยการเชื่อมร้อยเรื่องราวผ่านมุมมองของขุนเขา ที่สูง และหนทางที่แต่ละคนได้ก้าวผ่านไป เพื่อถ่ายทอดความหมายในสิ่งที่คิดที่เห็น ให้ออกมาสู่การสื่อสารและรับรู้ 

เขาแอบปีนภูเขาในใจอยู่เงียบๆ

อำนาจ  รัตนมณี

ชายหนุ่มพาเรื่องราวเดินทาง สู่ภูเขาหินปูนเทือกไวโตโม Waitomo แห่งนิวซีแลนด์ สู่กิจกรรม Black Water Rafting ในเถื่อนถ้ำที่มีลำธารใต้ดินไหลผ่าน หรืออีกชื่อหนึ่งของกิจกรรมที่เรียกว่า Cave Rafting การเดินทางสู่ขุนเขา ด้วยขาที่ก้าวลงไปใต้เขา ถ้ำ ความมืด และสายน้ำในหลายถ้ำ เหมือนการค้นหาบางอย่างในใจตัวเอง ท่ามกลางโอกาสที่ได้เห็นดวงดาวจากตัวอ่อนแมลงเรืองแสง มีเรื่องราวในการเดินทาง และคำตอบของใจ ที่นำพาเขาไปสู่การรับรู้ 

ในอ้อมกอดเธอ รินจานี

เพชร  มโนปวิตร

เรื่องราวจากความประทับใจ ในตำนานการเดินทางของ อัลเฟร็ด รัสเซล วอลเลซ นักชีววิทยาชาวอังกฤษ ผู้เป็นตำนานแห่งวอลเลซไลน์ ความหมายในการค้นหาโลกเบื้องหน้า นำพาเขาให้ย้อนเส้นการเดินทาง จากบาหลีสู่ลอมบ๊อคของอินโดนีเซีย จากท่าเรือปาดังบาย สู่ท่าเรือเมืองเลมพาร์ เขากำลังเดินทางสู่กานุงรินจานี ยอดเขารินจานี ยอดเขาที่สูงที่สุดเป็นอันดับสองของอินโดนีเซีย ด้วยความสูง 3,726 เมตร สถานที่ซึ่งชาวซาซัค เชื่อว่ามีวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ สิงสถิตอยู่บนนั้น ความตั้งใจที่จะไต่สู่ยอดเขา กลับมีคำตอบบางอย่างปรากฎขึ้นในใจ 

ใกล้ตา ไกลตีน

สุดแดน  วิสุทธิลักษณ์           

ขุนเขาและการเหยียบย่าง จากเขาหลวง ดอยหลวงเชียงดาว เชิงเขาเอเวอเรสต์ ตีนเทือกเขาอัลไต มีเรื่องราวจากการค้นพบมากมาย ที่บรรจบลงด้วยความหมายของชีวิต จากการเติบโต การเดินทาง ไปสู่ความหมายของก้าวย่าง ภาพวาด นักเดินทางผู้มองดูทะเลหมอก ของคาสเปอร์ เดวิด ฟรีดิช จิตรกรยุคโรมแมนติก ชาวเยอรมัน ซึ่งวาดขึ้นในปี พ.ศ.2361 กลายเป็นความหมายในเรื่องราว จากห้วงความคิด ถึงระยะในตัวตน มาตรวัดในตัวตนมนุษย์ ที่ต่างจากเกณฑ์ของโลก ทั้งขุนเขาและชีวิตล้วนมีสิ่งสัมพันธ์กัน 

ม่อนจอง กวางผา และความทรงจำ

นัท  สุมนเตมีย์

งานบันทึกภาพธรรมชาติ นำพาให้เขาเดินทางสู่ยอดดอยม่อนจอง แห่งเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอมก๋อย เชียงใหม่ ด้วยการอธิบายแต่ละความรู้สึกของการทำงานและการเดินทาง จากความเข้าใจที่ขยับตัวสู่ยอดหัวสิงห์ ยอดสูงสุดแห่งดอยม่อนจอง เพื่อเฝ้าดูชีวิตและธรรมชาติ เขาเก็บภาพกวางผา ด้วยการสังเกตและรอคอย ด้วยเพราะมีชีวิตและเรื่องราวของชีวิตอยู่บนนั้น เขาบันทึกภาพทุกอย่างทั้งในภาพถ่าย และความทรงจำ 

ไจก์ทิโย จารึกสู่พระธาตุ ทางเดินสู่หัวใจ

ภัทรพงศ์   คงวิจิตร

เส้นทางจาริกแสวงบุญ ของไจท์ทิโย พระธาตุอินทร์แขวน แห่งแผ่นดินพม่า คือเรื่องราวในการเดินทาง การโดยสารและก้าวย่างสู่ขุนเขาอันศักดิ์สิทธิ์ ล้วนขัดเกลาทุกย่างก้าวของการรับรู้ ด้วยผลบุญและการรับรู้ ทีเกิดขึ้นจากการทบทวนขัดเกลาชีวิต คำตอบเกิดขึ้นในทุกระยะของการเดินทาง จากทั้งตัวเอง ผู้แสวงบุญ และสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ มีความงามของชีวิตปรากฎขึ้นเป็นภาพสะท้อนแห่งศรัทธา เขาปีติขึ้นโดยไร้สาเหตุเมื่อได้เฝ้ามองพระธาตุ 

ภูเขา

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

บทรำพันและคำขับขาน ถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของขุนเขา เมื่อขุนเขาเด่นตระหง่าน หาใช่เพียงแท่นประกาศชัยชนะของคนเดินทาง หากแต่เนิ่นนานมา ยังเป็นโบสถ์วิหารของผู้ประสงค์เชื่อมตัวตนกับความสูง เรื่องราวแห่งขุนเขา นำพาความหมายของชีวิตอันยิ่งใหญ่ ความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา และการเคารพสักการะ ในดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ จนมาสู่การสรุปความ ในเนื้อหาอันหมายถึงสิ่งอันซ่อนอยู่ของคำรำพันเหล่านั้น 

ที่ทาง ของบางคน

สมิทธิ  ธนานิธิโชติ

เส้นทางย้อนรอยชีวิต ย้อนรอยการเดินทางนับครั้งไม่ถ้วนสู่เขาใหญ่ มีเรื่องราวอันซ่อนเร้นอยู่ภายในใจ มีความโดดเดี่ยวให้เห็นในระหว่างคำถามของชีวิต มีผู้คนและการเรียนรู้ ในท่ามกลางการขับรถขึ้นสู่ขุนเขาเพียงลำพัง ครั้งแล้วครั้งเล่าของการทบทวนตนเอง ที่เขาเฝ้าค้นหา ถามไถ่ถึงที่ทางอันเหมาะสมของชีวิตตนเอง จนไปสู่ความหมายบางในทางเดินของขุนเขาซึ่งเขารับรู้ เสน่ห์ในความจริงของชีวิต ที่เขาบอกเพียงว่า เข้าใจแต่ทำใจลำบาก เท่าทันแต่ไม่ข้ามพ้น   

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือ

ปีที่พิมพ์             :           สิงหาคม 2547

ชื่อหนังสือ          :           เดินที่สูง The Mountains of mind

ประเภท             :           วรรณกรรม ความเรียง บทบันทึกการเดินทาง

ชื่อผู้เขียน           :           เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, เพชร มโนปวิตร, ภัทรพงศ์ คงวิจิตร, สมิทธิ ธนานิธิโชติ, สุดแดน วิสุทธิลักษณ์, นัท สุมนเตมีย์,อำนาจ รัตนมณี

บรรณาธิการ       :           สมิทธิ ธนานิธิโชติ   

ข้อมูลเกี่ยวกับผู้แต่งหนังสือ 

อ้างอิง ข้อเขียนปกหลังหนังสือ : เดินที่สูง  

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

คงไม่ต้องกล่าวอะไรมากสำหรับผู้ชายคนนี้ ด้วยภาษาอันงดงาม สละสลวย บวกกับเนื้อหาอันคมชัด บาดลึกกินใจ ยังทำให้เขาเป็นผู้ชายแถวหน้าเสมอในทางงานเขียน ไม่ต้องพูดถึงเรื่องบ้านเมืองและความห่วงใยในเพื่อนมนุษย์ 

นัท  สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำฝีมือดีมีอันดับ บางเดือนอยู่กลางทะเลมากกว่าบนฝั่ง ครั้งนี้เขาแบกน้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม ขึ้นไปถ่ายรูปกวางผาบนดอยม่อนจอง ลีลาการปีนเขาของผู้ชายคนนี้จะพริ้วเหมือนอยู่ใต้น้ำหรือไม่ลองมาติดตามกัน 

เพชร  มโนปวิตร

เอาจริงเอาจังกับงานด้านสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ก่อนไปจบปริญญาโท สาขานิเวศวิทยาเขตร้อน จากมหาวิทยาลัยเจมส์คุ๊ก ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันเป็น NGO ด้านสิ่งแวดล้อม แต่ชอบเดินทาง และเขียนหนังสือ การเดินทางคนเดียวของเขา สู่ปากปล่องภูเขาไฟรินจานี เรื่องนี้สวยงามทั้งภาพและภาษา 

ภัทรพงศ์   คงวิจิตร

เจ้าของหนังสือใจคนและหนทาง เดินทางมาแล้วเกือบทั่วโลก แต่หลงรักเมืองเล็กๆ อย่างหลวงพระบาง ถึงกับหอบผ้าหอบผ่อนไปลงหลักปักฐานอยู่ที่นั่น มุมมองต่อเพื่อนมนุษย์ของเขาน่าสนใจเสมอ 

สุดแดน  วิสุทธิลักษณ์

ทำงานด้านสารคดีมาอย่างเข้มข้น ก่อนมาลงเอยกับการเป็นอาจารย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ แม้กำลังคร่ำเคร่งกับการเรียนปริญญาเอกอยู่ที่ฝรั่งเศส ก็ยังกระตือรือร้นเขียนเรื่องส่งมา ด้วยมุมมองคมชัดเช่นเคย 

สมิทธิ  ธนานิธิโชติ

เป็นคนชวนคนอื่นๆ มาเขียนในหนังสือเล่มนี้ โดยคาดหวังจะสร้างสาระและความเพลิดเพลินให้กับคนอ่าน ถ้าขายดีก็จะทำต่อไป ถ้าขายไม่ได้คงต้องไปหาอะไรอย่างอื่นทำ 

อำนาจ  รัตนมณี

สร้างร้านหนังสือเดินทางบนถนนพระอาทิตย์จนโด่งดังไปทั่ว กลายเป็นร้านในฝันของหลายคน ขณะเดียวกันก็อาศัยเวลาปลอดลูกค้าเขียนหนังสือไปด้วย โดยใช้นามปากกา หนุ่ม หนังสือเดินทาง ชั้นเชิงการเขียนหนังสือของบุรุษผู้นี้ ไม่ธรรมดา  

หมายเลขบันทึก: 93531เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2007 23:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท