“1 พฤษภาคม แรงงานไทย ประเทศไทย” กับแรงงานข้ามชาติ


แม้เราจะผ่านวันแรงงานแห่งชาติมาแล้ว แต่คำขวัญ “1 พฤษภาคม แรงงานไทย ประเทศไทย” ก็อาจจะยังย้ำเตือนความรู้สึกของความแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติให้แก่สังคมไทยต่อไปเรื่อยๆ

“1 พฤษภาคม แรงงานไทย ประเทศไทย กับแรงงานข้ามชาติและความเป็นคน 

อดิศร เกิดมงคล                

วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีถือว่าเป็นวันแรงงานแห่งชาติ (ของประเทศไทย) เป็นวันหยุดประจำปีผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย ปีนี้ก็เช่นเดียวกันกับทุกปีที่ผ่านมา ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายมาในยามเช้า กลุ่มองค์กรแรงงานต่าง ๆ ก็ออกมาทำกิจกรรมแสดงพลังของผู้ใช้แรงงานดังเช่นทุกปี แต่สิ่งที่น่าสนใจและชวนให้ครุ่นคิดเพิ่มขึ้นสำหรับปีนี้คือคำขวัญวันแรงงาน (ปกติผู้เขียนก็ไม่ค่อยใส่ใจว่าวันแรงงานจะมีคำขวัญด้วย รู้แต่ว่ามีคำขวัญเฉพาะวันเด็ก) ว่า “1 พฤษภาคม แรงงานไทย ประเทศไทย         

จากคำขวัญนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนเริ่มนั่งคิดทบทวนถึงวันแรงงานอย่างจริงจังอีกครั้ง เริ่มจากมานั่งทบทวนดูว่าการกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมนั้นมีรากฐานอะไรจากสังคมไทยบ้าง ก็พบว่าที่มาที่ไปของวันแรงงานแห่งชาตินั้นเกิดจากหลักปฏิบัติสากลที่ขบวนการของผู้ใช้แรงงานทั่วโลกได้เรียกร้องให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันกรรมกรสากล ทั้งนี้เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในอดีตที่พยายามต่อสู้เรียกร้องความเป็นคน (ที่มิใช่เครื่องจักร) โดยเรียกร้องให้เกิดระบบสาม 8 คือ ในหนึ่งวันผู้ใช้แรงงานควรจะทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้อีก 8 ชั่วโมง ทั้งนี้เนื่องจากสมัยก่อนผู้ใช้แรงงานทั่วโลกต้องทำงานอย่างหนักวันหนึ่งหลายชั่วโมง แทบไม่ได้พักผ่อน ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้วแนวคิดนี้ก็ถูกบรรจุไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานที่กำหนดชั่วโมงการทำงานของแรงงานต่อวันไว้วันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง เห็นได้ชัดว่า กำเนิดวันกรรมกรสากล (และมาแปรเปลี่ยนไปเป็นวันแรงงานแห่งชาติสำหรับประเทศไทย) นั้นเกิดจากการต่อสู้เรียกร้องสิทธิแรงงาน และความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้แรงงาน               

 กลับมาดูคำขวัญอีกครั้งก็ดูช่างสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองในยุคปัจจุบัน เพราะดูมีกลิ่นไอของความเป็นทหาร (ชาตินิยม) อยู่อย่างเต็มเปี่ยม ดังนั้นก็ยิ่งไม่แปลกใจว่าสถานการณ์ความเป็นจริงของผู้ใช้แรงงานอีกกลุ่มหนึ่งที่มิใช่คนไทยจึงดูห่างไกลจากเจตนารมณ์ที่แท้จริงของวันกรรมกรสากลไปเสียลิบลับขนาดนั้น  

                ทั้งนี้เนื่องจากท่ามกลางบรรยากาศแห่งวันของการเรียกร้องสิทธิความเป็นคนของผู้ใช้แรงงาน รวมถึงสิทธิพื้นฐานที่แรงงานทั่วไปพึงมีพึงได้ ในจังหวัดภูเก็ต ระนอง กลับมีประกาศจังหวัดให้มีการในลักษณะที่เป็นการละเมิดสิทธิความเป็นคนของแรงงานข้ามชาติอย่างชอบธรรม เช่น ห้ามไม่ให้แรงงานข้ามชาติใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ห้ามไม่ให้ชุมนุมกันเกิน 5 คน ห้ามออกจากที่พักหลัง 20.00 น. อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่ามีกลิ่นไอของภาวะฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ลอยอบอวลอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

                 การพยายามอ้างเรื่องการรักษาความมั่นคงในพื้นที่โดยไม่คำนึงว่าการปฏิบัติดังกล่าวนี้กลับเป็นเครื่องมือในการลดทอนความเป็นคนของผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นนัยยะสำคัญของคำขวัญนี้เพียงมุมเดียวอย่างยิ่ง เพราะเอาเข้าจริง ๆ แล้วการประกาศเช่นนี้ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงในการดำรงชีวิตของผู้ใช้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เลย การห้ามไม่ให้แรงงานใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ (ท่ามกลางยุคสมัยที่เราแทบจะยอมรับว่าโทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการดำเนินชีวิต) คือการตัดขาดการติดต่อหรือมีปฏิสัมพันธ์ของแรงงานเหล่านี้กับผู้คนภายนอก กับสังคม กับชุมชนของตัวเองและสังคมไทยโดยสิ้นเชิง นอกจากนั้นแล้วยังตัดขาดพวกเขาเข้าสู่การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงฮอตไลน์สายด่วนต่าง ๆ ที่รัฐพยายามจะสร้างขึ้นมาเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้แรงงาน หรือเข้าสู่ระบบการดูแลควบคุมเฝ้าระวังทางด้านสุขภาพที่หน่วยงานทางสาธารณสุข และองค์กรพัฒนาเอกชนได้ใช้เวลาในการพยายามลงไปสร้างการเฝ้าระวังจากตัวชุมชนของแรงงานเอง ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่อาจจะเกิดขึ้นได้ท่ามกลางสภาพความเป็นอยู่และสภาพการทำงานที่ไม่ดีนักอยู่แล้วของแรงงานข้ามชาติ ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ประกาศนี้ช่างดูแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน เมื่อเปรียบเทียบกับ มติคณะรัฐมนตรีที่รับรอง พระราชบัญญัติ ระบบบริการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉินเมื่อเร็วๆนี้  ที่ระบุว่า ให้บริการคนทุกคนที่ประสบเหตุฉุกเฉินและต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งหมายความถึงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ โดยโทรไปที่ 1667  ดังนั้น การห้ามมิให้แรงงานใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงเสมือนหนึ่งการตัดขาดแรงงานจากการร้องขอความช่วยเหลือเมื่อยามจำเป็นนั่นเอง ทั้งๆที่ความช่วยเหลือเหล่านั้นครอบคลุมถึงพวกเขาอยู่แล้ว

                การห้ามชุมนุมเกินห้าคนก็ตัดช่องทางการมีกิจกรรมทางสังคม ศาสนา ประเพณีต่าง ๆ ออกไปโดยสิ้นเชิง  อันเกิดจากความหวาดกลัวที่จะรวมกลุ่มของแรงงานข้ามชาติซึ่งถือเป็นความผิดตามประกาศฉบับนี้ (โดยปกติการไปทำบุญที่วัดของแรงงานข้ามชาติในบางพื้นที่ก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐมาตั้งด่านตรวจจับอยู่หน้าวัด ราวกับว่าการทำบุญของพวกเขาเหล่านั้นเป็นการก่ออาชญากรรม จนพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมทำบุญต่างอิดหนาระอาใจกับพฤติกรรมอันไม่ถูกกาละเทศะของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น) ที่สำคัญสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานใช้เป็นเครื่องมือทำให้เกิดการปกป้องรักษาสิทธิของตัวเองเสมอมาก็คือการรวมกลุ่มกันของผู้ใช้แรงงานนั่นเอง ประกาศดังกล่าวกำลังจะทำให้เราค่อยๆ ยอมรับการละเมิดสิทธิของผู้ใช้แรงงานว่าเป็นเรื่องปกติได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจเสียอย่างนั้น  สิ่งที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงานและระดับจังหวัดต้องยอมรับก็คือว่าที่ผ่านมามีสถานการการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมาก ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้การละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้นก็เนื่องมาจากพวกเขาเหล่านี้เข้าไม่ถึงกลไกการคุ้มครองสิทธิที่มีอยู่ และประกาศในครั้งนี้ก็มาตัดการเข้าถึงเหล่านี้ออกอย่างสิ้นเชิงอีกครั้งอีกด้านหนึ่งเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นวิธีคิดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งขัดแย้งกับที่มาที่ไปของวันกรรมกรสากล ก็คือ ท้ายที่สุดเราต้องการให้พวกเขาเป็นแค่แรงงาน ที่ทำหน้าที่เพียงเพื่อใช้แรงงาน มาสร้างเศรษฐกิจที่ดีให้แก่ประเทศไทย มาสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่คนไทย เป็นเสมือนดังเครื่องจักรเครื่องหนึ่ง ที่ควรมีหน้าที่เพียงทำงานแต่อย่างเดียว ไม่ได้ใส่ใจต่อด้านของความเป็นมนุษย์ของพวกเขาเหล่านั้น ที่จำเป็นต้องมีการติดต่อสื่อสาร จำเป็นต้องมีการสมาคม พบปะสังสรรค์ มีความรู้สึกที่อยากจะแสวงหาความบันเทิงเพื่อผ่อนคลายหลังจากเลิกจากการทำงานหนักมาทั้งวันไม่ต่างจากผู้ใช้แรงงาน หรือคนทำงานในเมืองเช่นกัน

                 สิ่งที่น่าจะเป็นวิวาทะสำคัญต่อไปของสังคมไทยคือ การทำให้ได้มาซึ่งความมั่นคงที่เราพูดถึงกันอยู่ตลอดนั้นควรจะวางบนฐานแนวคิดใด ระหว่างแนวคิดที่ว่าการกดคนกลุ่มหนึ่งที่ด้อยกว่าให้อยู่ภายใต้การควบคุมของเราเพื่อไม่ให้พวกเขาทำอะไรได้แล้วเราจะปลอดภัย หรือการทำให้ทุกคนในสังคมรู้สึกว่าเราทุกคนสามารถใช้ชีวิตอยู่และร่วมสร้างสังคมที่น่าอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข หากได้รับการปฏิบัติ ได้รับการคุ้มครอง ได้รับศักดิ์ศรีความเป็นคนอย่างเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง อะไรกันคือความมั่นคงที่สังคมไทยทั้งหมดพึงปรารถนา เราคงต้องย้อนกลับมามองและคิดอย่างลึกซึ้งร่วมกันอีกครั้ง

                แม้เราจะผ่านวันแรงงานแห่งชาติมาแล้ว แต่คำขวัญ  “1 พฤษภาคม แรงงานไทย ประเทศไทยก็อาจจะยังย้ำเตือนความรู้สึกของความแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติให้แก่สังคมไทยต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งนี้กลับสวนทางกับความพยายามสร้างความรู้สึกสมานฉันท์และความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศไทยของรัฐบาลเช่นกัน  

หมายเลขบันทึก: 96936เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2007 00:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท