ยาแก้สมองผูก ตราควายบิน


หนังสือรวบรวมบทความ ความเรียง นำเสนอกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ ในนามคู่มือการเขียนหนังสือแบบสังเคราะห์เรื่อง ผลงานของ วินทร์ เลียววาริณ

แนะนำหนังสือ 

ยาแก้สมองผูก ตราควายบิน 

 

วินทร์ เลียววาริณ

ผู้เขียน 

กรุงเทพฯ : บริษัท 113 จำกัด

มีนาคม 2550  

คติ มุธุขันธ์ : แนะนำ  

หนังสือที่บอกเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

ในแต่ละกระบวนการสร้างสรรค์

ผ่านการเรียบเรียงวิธีคิดสู่วิธีลำดับเนื้อหา

สังเคราะห์เรื่องราวของงานเขียนหนังสือเป็นตัวตน  

ยาแก้สมองผูก ตราควายบิน

คู่มือการเขียนหนังสือแบบสังเคราะห์เรื่อง  

ทำไมต้องเป็นตราควายบิน 

ผู้อ่าน นักศึกษา และนัก(อยาก)เขียนจำนวนมากมีปัญหาเรื่องท่อความคิดสร้างสรรค์อุดตัน อาการของบางคนแย่พอๆกับท้องผูก น่าอึดอัด บางครั้งพิษจากของเสียที่อุดตันก็ทำให้พาลเลิกเขียนไปเลย 

อาการสมองผูกนี้ช่างทรมานนักสำหรับคนที่คิดว่าจวนจะได้ผลงานประเภท คิดได้ไง อยู่รอมร่อ แต่ขับเท่าไร มันก็ไม่ยอมออก และเมื่อขับออก ก็เป็นไอเดียที่ไม่ค่อยน่าดูนัก 

บ่อยครั้งนักเขียนมีความคิดในหัวมากเกินไป คิดแต่เรื่องเดิมๆ มุมมองเดิมๆ เหมือนกินอาหารชนิดเดียวมากเกินไป กินแต่เนื้อไม่กินผัก ทำให้เกิดอาการ ท้องผูก ทางสมอง 

บางทีทางหนึ่งที่ควรทำคือล้างสมอง ลบความคิดที่วกวนเวียนในหัวออกให้หมด แล้วเริ่มต้นใหม่ 

หัวใจของการเขียนอยู่ที่รู้ว่าเมื่อไรควรทิ้งบางความคิดและรู้จักตัดใจทิ้ง รู้ว่าเมื่อไรต้องล้างสมอง ลบความคิดและรู้จักตัดใจทิ้ง รู้ว่าเมื่อไรต้องล้างสมอง ลบความคิดเดิมออกไปก่อน แล้วเริ่มต้นใหม่ แทนที่จะวนเวียนกับความคิดเก่าด้วยความเสียดายพล็อต เหมือนหลุดเข้าไปในเขาวงกตที่หาทางออกไม่พบ 

ผมได้รับคำถามจากผู้อ่านและนักศึกษาเสมอว่า มีวิธีสร้างพล็อต คิดเรื่องแปลกๆ (อย่างที่ผมชอบใช้คำว่า สังเคราะห์เรื่อง) อย่างไร 

ในฐานะนักเขียนที่ถือว่าเรื่องการเขียนนั้นเรียนไม่มีวันจบ ผมไม่เคยคิดว่าตนเองสามารถที่จะสอนวิธีการเขียนให้ใครได้ สิ่งที่ผมทำได้คือเพียงการแชร์ประสบการณ์การทำงานในสายนี้เท่านั้น ซึ่งก็ได้สร้างงานมาแล้วหนึ่งชิ้น คือ ปั้นน้ำเป็นตัว (2546) 

การมีโอกาสทำงานศิลปะหลายสาย เช่น สถาปัตยกรรม การออกแบบ กราฟิก โฆษณา ซึ่งล้วนแต่มีเส้นตายค้ำคออยู่ ไปจนถึงการเขียนนิยายภาพและวรรณกรรม ทำให้จำต้องเรียนรู้วิธีการทำงานให้ลงตัวระหว่างศาสตร์กับศิลป์ คุณค่าทางศิลปะกับเส้นตาย ในที่สุดก็ลองนำมาประยุกต์ใช้กับงานเขียน  คิดพล็อตอย่างเป็นกระบวนการ เป็นที่มาของการคิดแบบ คิดพล็อตทางเลือก วิธีคิดแบบนี้ใช้กันมากในวงการสร้างสรรค์โฆษณา เป็นการคิดอย่างเป็นขั้นตอน 

บางคนอาจแย้งว่า การคิดแบบเป็นขั้นตอนลดเสน่ห์ของการเขียน งานเขียนเป็นศิลปะ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ 

ความจริงคือ กระบวนการนี้เป็นเพียงการ หาเรื่อง หรือสร้างพล็อต มิใช่การสร้างอารมณ์เรื่องหรือการเชื่อมประสบการณ์ชีวิตเข้ากับงานเขียนแต่อย่างใด เปรียบเสมือนการต่อเรือให้แข็งแรงพอรับมือกับลมพายุและท้องทะเลที่แปรปรวนได้ ส่วนจะตกแต่งลำเรือให้งดงามเพียงใด หรือจะเดินเรือไปทิศทางใดนั้น ขึ้นกับศิลปะและประสบการณ์ของกัปตันเรือ เพราะไม่ว่ากัปตันเรือจะเชี่ยวชาญเพียงใด หากต้องคุมเรือผุ ก็มีโอกาสที่เรือจะอับปาง เช่นเดียวกัน กัปตันที่ไม่มีประสบการณ์เดินเรือเลย ก็อาจพาเรือที่ต่อมาอย่างแข็งแรงไปชนหินโสโครกจนพังได้ 

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2547 พี่นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ บรรณาธิการ จุดประกายวรรณกรรม แห่งกรุงเทพธุรกิจ ถามผมว่าพอจะถ่ายทอดประสบการณ์การเขียนเรื่องแบบสร้างสรรค์สไตล์ที่ผมถนัดได้ไหม สำหรับผู้ที่อยากฝึกเป็นนักเขียน ผมเผลอรับปากตกลง 

ด้วยเหตุนี้ ปั้นน้ำเป็นตัว หมายเลข 2 จึงได้ถือกำเนิดเป็นคอลัมน์วรรณกรรมชื่อ คุ้ยขยะหาฝัน เน้นวิธีใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างพล็อต และกลายมาเป็นยาขมในมือของคุณเวลานี้ 

ยาแก้สมองผูก ตราควายบิน สูตรนี้เป็นการรวบรวมวิธีการคิดพล็อตอย่างเป็นกระบวนการ เป็น ยาทางเลือก ที่อาจเหมาะกับบางคนเท่านั้น นี้ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล ไม่ใช่ยาวิเศษที่ช่วยให้ใครเป็นนักเขียนทันใจ เพราะหลักการคิดแบบเป็นกระบวนการสามารถเรียนรู้ภายในห้านาที แต่อาจกินเวลาชั่วชีวิตในการทำงาน การเป็นนักเขียนนอกจากประกอบด้วยความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการเช่นนกที่บินอย่างเสรีแล้ว ยังต้องอึดอย่างควาย มิใช่วางปากกาเพราะทนเห็นภาพบาดตาของต้นฉบับลงตะกร้าบ่อยๆ ไม่ได้ 

แม้ยาแก้สมองผูกสูตรนี้มิใช่ยาสามัญประจำบ้านแต่ก็คงเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจเขียนหนังสือบ้างตามสมควร ของให้เดินทางไปถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพและเริงใจ  

วินทร์ เลียววาริณ

ตุลาคม 2547 / มกราคม 2550  

แด่คลื่นวรรณกรรมลูกใหม่ทุกลูก  

สารบัญเรื่องราว 

ขวด 1 การสังเคราะห์พล็อต

สูตร 1 แตกหน่อแตกพล็อต สูตร 2 พล็อตแบบ การทาบกิ่ง สูตร 3 พล็อตทาบกิ่ง ตอนกิ่ง สูตร 4 แค่เปลี่ยนมุมมอง ก็เปลี่ยนพล็อต สูตร 5 ร้อยพล็อตพันแม่ สูตร 6 ผสมพล็อตข้ามสายพันธุ์ สูตร 7 พล็อตขายเซ็กส์ (ที่ไม่ใช่วรรณกรรมเฉาะแฉะ) สูตร 8 พล็อตขัดแย้งแบบ ขำแต่หัวเราะไม่ออก สูตร 9 พล็อต (ประเด็น) ร้อนๆ มาแล้วจ้า สูตร 10 แตกพล็อตจากการ์ตูน สูตร 11 จับแพะพล็อตชนแกะ สูตร 12 จับประเด็นจับพล็อต สูตร 13 พล็อตพันธุ์ผสม สูตร 14 โยงเรื่องยุ่งๆ ให้ไม่ยุ่ง สูตร 15 พล็อตจากความขัดแย้งแบบขันขื่น สูตร 16 พ่อพันธุ์พล็อต เดียวกัน ได้ลูกพล็อตออกมาไม่เหมือนกัน สูตร 17 ขุดพล็อตคมๆ จากคำคม สูตร 18 หากินจาก (พล็อต) ชีวิตของคนอื่น สูตร 19 จับพล็อตจับฉ่าย สูตร 20 ไขพล็อตจากขำขัน สูตร 21 ไซเบอร์ พล็อต สูตร 22 สร้างพล็อตจากภาพจริง สูตร 23 เดินพล็อตจากเส้นทางเดินรถ สูตร 24 สร้างพล็อตจากคู่มือภูมิปัญญาชาวบ้าน สูตร 25 อ่านตำราหาพล็อต สูตร 26 เที่ยว หาพล็อต สูตร 27 พล็อตก้นครัว สูตร 28 พล็อตจากคนร้องเพลง สูตร 29 หาพล็อตจากฉลากสินค้า สูตร 30 หางานหาพล็อต สูตร 31 ค้าบ้านขายพล็อต สูตร 32 เย็บผ้าเย็บพล็อต สูตร 33 สร้างพล็อตจากคำทำนายของหมอดู สูตร 34 ยำพล็อต 

ขวด 2 พล็อตนานานิยาย

จารกรรมจาระไน จารกรรมลังภายใน ไซ - ไฟจริงกับไซ - ไฟเก๊  

ขวด 3 การเดินทางของดินสอแท่งหนึ่ง

ถอดความจากการบรรยายและสัมมนา หัวข้อ อยู่อย่างสร้างสรรค์ โดย วินทร์ เลียววาริณ ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 21 กันยายน 2549   

 

สมองสร้างสูตร 

วินทร์ เลียววาริณ เริ่มต้นอธิบายสิ่งที่เป็นความคิดผ่านหนังสือเล่มนี้ โดยการอธิบายถึงมองเห็นเชื่อมโยง มองจากความว่างเปล่า และปล่อยให้สมองว่างเปล่า เพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวสู่การสร้าง โดยอธิบายว่าความคิดสร้างสรรค์อยู่ในทุกองค์ประกอบของชีวิต และคนทำงานสร้างสรรค์ต้องกล้าทดลอง ต้องลองก้าวไปในพื้นที่ใหม่ๆ เตรียมพร้อมรับความล้มเหลว 

นอกเหนือจากการลำดับขั้นตอน องค์ประกอบสำคัญของชีวิตและโลก คือสิ่งหนึ่งที่เขาพยายามย้ำถึง กฎเกณฑ์และความเปลี่ยนแปลงว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มุมมองแห่งความเป็นไปได้ของชีวิต ความคิด และการสร้างสรรค์ล้วนต้องสัมพันธ์สิ่งเหล่านี้ พร้อมกับย้ำในหัวใจที่ว่า ทัศนคติในการคิดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ทัศนคติที่ดีที่มีต่อชีวิต ต่อการใช้ชีวิต เอื้อให้ความคิดสร้างสรรค์หลั่งไหลออกมา ด้วยพื้นฐานที่ต้องคิดว่ามันเป็นไปได้ คือหัวใจสำคัญ 

แม้ภายใต้เงื่อนไข และข้อจำกัด จะเป็นสิ่งที่เรากล่าวอ้าง ถึงอุปสรรคที่เป็นไม่ได้และไปไม่ถึง แต่เนื้อหาสำคัญนั้น วินทร์ กลับไล่ลำดับประสบการณ์ ภายใต้การทำงานในข้อจำกัด ว่าเป็นสิ่งที่เป็นอุปสรรค์เท่ากับที่เป็นแรงกระตุ้นในการสร้างสรรค์ ข้อจำกัดไม่มีผลต่อความคิดสร้างสรรค์ หากปรับจังหวะ บริหารเวลา และแปลงวิธีคิดอย่างเป็นระบบ การสร้างแนวคิดทางเลือกอย่างมากมาย ที่พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลง  

ความสำคัญในการมองเห็นความงาม มองความงดงาม เพื่อต่อเติมและเชื่อมโยงมาสู่การสร้างสรรค์ คือประกายชัดเจนในการย้ำเนื้อหาของการลำดับความคิด  

เงื่อนไขและประกายความคิด คือสิ่งที่วินทร์อธิบายถึง ว่าแรงบันดาลใจเกิดขึ้นได้จากทุกที่ที่คุณประสบ การเปิดโอกาสที่จะทำให้เราได้เจอสิ่งใหม่ๆ เป็นเหตุสำคัญในการต่อเติมความรู้ในสิ่งใหม่ๆ ที่ล้วนมาจากการอ่านหนังสือทุกประเภท สัมผัสโลกภายนอก เรียนรู้ทุกเรื่องราวของโลก 

กระบวนการในการลำดับสูตรคิดสร้างสรรค์ กลับได้รับการสรุปจาก วินทร์ ด้วยข้อคิดจากการเรียนรู้กฎเกณฑ์ทุกอย่าง แต่หลังจากนั้นก็ลืมให้หมด เพื่อที่จะสามารถก้าวไปสู่อิสรภาพของการทำงาน  ความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ล้วนเกิดขึ้นได้เสมอ การเป็นคนใฝ่รู้ อ่านมาก เดินทางมาก คือเงื่อนสำคัญที่นำเราไปสู่การสร้างสรรค์ได้อย่างหลากหลาย มากมายหนทางเลือก ในแต่ละแนวคิด แต่ละแนวทดลองเชื่อมโยง 

พลังของเนื้อกำลังใจในงานเขียนชิ้นนี้ของ วินทร์ เลียววาริณ คือคำกล่าวในข้อเขียนที่ว่า ข้อสรุปของความคิดสร้างสรรค์ ที่จะทำให้คนจดจำสิ่งที่คุณคิด สิ่งที่คุณสร้าง เท่ากับกำลังใจที่ยืนยันให้กับผู้ต้องการเขียน อยากเขียนทั้งหลายว่า เมื่อพบตัวเองแล้ว ก็ทำงานให้ดีที่สุด ชีวิตมนุษย์เราสั้นนัก ทำงานในสิ่งที่เรารัก และใช้ชีวิตให้ดีที่สุด ใช้อย่างมีความงดงาม เท่านี้ก็พอแล้ว   

เผยแพร่ครั้งแรกในชื่อคอลัมน์ คุ้ยขยะหาฝัน

จุดประกายวรรณกรรม กรุงเทพธุรกิจ พ.ศ.2547

พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก มีนาคม 2550  

 

 

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือ 

ปีที่พิมพ์             :           มีนาคม 2550 - พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก

ชื่อหนังสือ          :           ยาแก้สมองผูก ตราควายบิน

ประเภท             :           ความเรียง

ชื่อผู้เขียน           :           วินทร์ เลียววาริณ

บรรณาธิการ       :           ปริสนา บุญสินสุข    

 

 

ข้อมูลทางบรรณานุกรม

ISBN 974 88226 9 9     

หมายเลขบันทึก: 99857เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2007 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
P
อ่านแล้ว ก็คงทำอย่างเขาไม่ได้ค่ะ
  • สวัสดีครับ คุณ
    P
  • ทดลองอ่านเถอะครับ หนังสือเล่มนี้ น่าสนใจมากครับ
  • ถึงไม่สามารถเขียน เรียบเรียง และลำดับเรื่องได้เช่นงานเขียนของ วินทร์ เลียววาริณ
  • แต่พออ่านไป ก็พบว่า วิธีอธิบาย ลำดับความ และลำดับความคิดของเขา นำไปใช้ประโยชน์ได้อีกมากในชีวิตครับ
  • เช่น การมองโลกในแง่ดี การมองความเป็นไป ความน่าจะเป็น การมองเห็น และฝึกสายตาของเราเพื่อมองเห็น ความงดงามของโลกนี้ มองชีวิต มองผู้คน และมองโลก
  • เพื่อที่จะลำดับความ ถึงสิ่งที่เราควรจะมอง
  • หนังสือเล่มนี้ นอกจากลำดับกระบวนการ และวิธีการเขียน และมีสิ่งสำคัญที่ซ่อนอยู่ครับ
  • คือการลำดับการมองเห็นโลกในแง่ดีของชีวิตครับ
  • ยังยืนยัน สำหรับความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ครับ
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับความคิดเห็น
  • ขอบคุณครับ
  • ลำดับได้สวยงามมากครับ
  • สวัสดีครับ
  • ซื้อมาแล้วครับแต่ยังไม่ได้อ่าน
  • เพราะว่าวันนี้ไปนอนเล่นที่ร้านหนังสือมาและได้หนังสือติดมือมาหนึ่งกระสอบ
  • ผมคิดว่ามีคนเชียร์อย่างนี้ต้องอ่านเป็นเล่มแรกแล้วล่ะครับ
  • โดยส่วนตัวผมเป็นคนชอบอ่านงานของคุณ วินทร์ เลียววาริณ เป็นทุนเดิมอยู่แล้วครับ
  • เพราะอ่านแล้วรู้สึกว่า รอยหยักของก้อนไขมันที่อยู่บนหัวของผมจะขยันทำงานมากขึ้น
  • 5555555555555

ผมเห็นในร้านหนังสือ หยิบแต่ไม่ได้ซื้อ สงสัยว่าจะกลับไปซื้อแล้วครับ

ขอบคุณมากครับพี่

P
  • สวัสดีครับ
    P
  • งานเขียนชิ้นนี้น่าสนใจมากครับ แม้จะลำดับเรื่องราว และวางจังหวะเนื้อหา เหมือนคู่มือในการสร้างสรรค์แนวคิด แต่ว่า โดยภาพรวมและเนื้อหาของการอธิบาย ผมถือว่าเป็นหนังสือที่ทำให้เราใช้ประโยชน์ในการมองชีวิต ในการทำงานได้ดีมากครับ
  • ประเด็นสำคัญ คือผมคิดว่า นำไปใช้ในการเขียนงาน การทำงาน หรือกระทั่งการปฏิบัติต่อผู้คนรอบข้าง โดยการใช้ความคิด ประเด็นนี้น่าสนใจมากครับ
  • ขอบคุณมากครับ ที่เข้ามาติดตามอ่าน
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับ คุณเอก
    P
  • นำเสนออย่างยิ่งครับ หนังสือเล่มนี้ เหมาะสำหรับการทำงานอย่างยิ่งครับ โดยเฉพาะการเขียนรายงานสรุป รายงานวิจัย
  • ผมอ่านแล้ว พบว่า มุมมองในการลำดับวิธีคิดอย่างสร้างสรรค์ น่าจะเป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงกิจกรรมต่อเนื่อง จากข้อสรุปของเนื้อหาในงานวิจัย หรือการจัดทำประเด็นต่อเนื่องของรายงานวิจัย
  • มองไปมองมา ก็คล้ายกับกระบวนการ คิดแบบเชื่อมโยง มองแบบฉับพลันปรีชาญาณ รวมกับการจัดทำ Mind Map เหมือนกัน ประมาณนั้นครับ
  • เพียงแต่วิธีลำดับความของ คุณวินทร์ ค่อนข้างจะมีเสน่ห์สีสันในแบบการทำงานโฆษณา ซึ่งก็ไม่หนักเกินไปครับ เพราะเทคนิควิธีการ ก็ปรับเชื่อมโยงกับงานสร้างสรรค์ หรือวิธีคิดแบบสร้างสรรค์ วิถีชีวิตของนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ทั้งหลายได้ไม่ยากครับ
  • มุมมองของหนังสือเล่มนี้ น่าสนใจมากครับ
  • นำเสนออย่างยิ่งครับ
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับการติดตามอ่านงานเขียนครับ
  • ขอบคุณครับ



 

วินทร์ เลียววาริณ: “ธุรกิจหนังสือขยายตัวมากขึ้น แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคุณภาพของนักอ่านดีขึ้น ไม่ได้แปลว่าเรามีวัฒนธรรมการอ่านที่น่าพอใจ”

- ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา สัมภาษณ์และถ่ายภาพ -

 

ในช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ผ่านมา คุณวินทร์ เลียววาริณ คุณโตมร ศุขปรีชา คุณปราบดา หยุ่น และผม มีโอกาสนั่งสนทนาและรับประทานอาหารกันในบ่ายวันหนึ่ง ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าที่หัวข้อสนทนาเราพัวพันอยู่กับเรื่องในแวดวงหนังสือ ทั้งเกี่ยวกับคนอ่าน หนังสือ งานเขียน และการบริหารกิจการสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าบทสนทนาเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านในวงกว้าง ทอดเวลาผ่านไปหลายเดือน ผมจึงถือโอกาสชวนคุณวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์สองสมัย เจ้าของสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่พิมพ์เฉพาะหนังสือของตนเองเป็นหลัก กลับมาจิบกาแฟและสนทนาอย่างเป็นการเป็นงานอีกครั้ง

และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่คุณวินทร์ ซึ่งใช้ชีวิตส่วนหนึ่งในสิงคโปร์ ยอมเดินทางเข้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน หลังจากที่ก่อนหน้าพยายามทำตัวให้อยู่ห่างมาโดยตลอด เราเลือกร้านกาแฟในร้านคิโนะคูนิยะเป็นสถานที่พูดคุย คุณวินทร์สั่งช็อกโกแลตร้อนกับแซนด์วิช ผมสั่งคาปูชิโน เมื่อเครื่องดื่มเริ่มทำหน้าที่และการถ่ายรูปง่ายๆ ด้วยกล้องดิจิตอลเล็กๆ จบลง บทสนทนาหลังถ้วยกาแฟก็เริ่มต้นขึ้น

....................

ถึงวันนี้คุณลาออกจากการทำงานประจำมาเป็นนักเขียนอิสระนานเท่าไรแล้ว (ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2549)

3 ปี 7 เดือน กับ 4 วัน

ทำไมจึงจำได้

เพราะว่าผมเริ่มวันที่ 1 มกราคม เมื่อ 3 ปีเศษที่แล้ว

ทำไมวันนั้นจึงตัดสินใจที่จะไม่ทำงานประจำต่อ

ผมทำงานโฆษณามาประมาณ 16-17 ปี และก็มีส่วนในบริษัทด้วย พอถึงจุดหนึ่ง เราคิดว่าจะเลิกกิจการโฆษณา พอถึงจุดที่ตัดสินใจว่าจะเลิกกิจการโฆษณา เราก็มานั่งดูว่าจะทำอะไรต่อ ก็มีคนชวนไปเปิดบริษัทโฆษณาใหม่ เราก็คิดว่านี่อาจจะเป็นอีกทางหนึ่งที่เราน่าจะลองดูก็ได้ สมมติว่าถ้าไปเป็นนักเขียนอาชีพอย่างที่เราเคยอยากจะเป็นมาแต่ไหนแต่ไร ดูซิมันจะทำได้หรือเปล่า ขอลองดูซักตั้งก่อน ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะต้องกลับไปวงการโฆษณาอีกครั้งหนึ่ง นั่นก็คือจุดตัดสิน เลยปิดบริษัทเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม วันที่ 1 ผมก็เลยเป็นนักเขียนอาชีพ

การที่จะมาเป็นนักเขียนอาชีพ เราต้องเตรียมการอะไรบ้างนอกเหนือจากงานเขียนที่มีอยู่แล้ว

ผมคิดว่าสำหรับประเทศไทยเรา เราต้องเตรียมการนานทีเดียว คือเราอยู่ดีๆ จะเป็นนักเขียนอาชีพนี่ค่อนข้างจะยากในทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าคุณต้องการเป็นนักเขียนอาชีพเพราะว่าพ่อคุณรวยมาก ก็โอเค มันก็เป็นได้ทุกวัน

แต่ถ้าต้องการเป็นนักเขียนอาชีพที่อยู่ได้ด้วยการเขียนหนังสือจริงๆ มันน่าจะใช้ระยะเวลาปูพื้นฐานมานาน คือหนึ่ง เราต้องสร้างงานที่มีคนอ่านในระดับหนึ่ง อย่างน้อยกลุ่มหนึ่ง และจะต้องสร้างชื่อของนักเขียนขึ้นมาในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งมันต้องใช้ระยะเวลา มันไม่สามารถที่จะเขียนหนังสือมาหนึ่งปี แล้วก็เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง ทุกคนรู้จัก ทิศทางของการเขียนวรรณกรรมบ้านเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันต้องเขียน... ผมคิดว่าน่าจะสิบปีขึ้นไป

คือถ้าคิดจะเขียนหนังสือในแนวแบบนี้เพื่อจะเป็นอาชีพ ผมคิดว่าน่าจะสิบปีขึ้นไป ให้ชื่อของนักเขียนเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนอ่าน และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีงานเขียนออกมาอย่างสม่ำเสมอ ให้เขารู้ว่าเรายังไม่ตาย

ถ้าทำอย่างนี้ได้ ผมคิดว่ามันก็อยู่ได้ เพราะกลุ่มนักอ่านวรรณกรรมบ้านเรามีประมาณซัก 10,000 คน คิดว่าตัวเลขนี้คงประมาณซัก 20 ปีได้แล้ว แต่ตัวเลขที่ active จริงๆ อาจจะไม่ถึงหมื่น มันแล้วแต่หนังสือ เพราะคนที่อ่านหนังสือวรรณกรรม ที่ยินดีจะควักเงินซื้อถ้าหนังสือดี ผมคิดว่า 10,000 คนน่าจะได้ แต่คนที่เป็นขาประจำจริงๆ อาจจะไม่ถึง

10,000 คนต้องซื้อเท่าไหร่เราถึงจะอยู่ได้ สามพันหรือห้าพัน ต้องระดับไหนจึงจะทำให้นักเขียนคนหนึ่งยืนระยะอยู่ได้

สามพันก็อยู่ยากอยู่แล้ว มันควรจะมากกว่านั้น วิธีการที่ผมทำก็คือ ในเมื่อเราอาศัยหนังสือต่อเล่มไม่ได้ เราก็ต้องอาศัยปริมาณเข้าว่า เพราะถ้าหากนักเขียนมีหนังสืออยู่ในมือมากกว่า 10 เล่มขึ้นไป โอกาสที่จะอยู่ได้มันก็สูงกว่าคนที่มีหนังสืออยู่ในมือประมาณ 1-2 เล่ม อย่างที่พี่ชาติ กอบจิตติ ปูทางมา ถ้าเรามีหนังสืออยู่ซัก 12 เล่ม เราพิมพ์ใหม่ปีละครั้ง เราก็อยู่ได้ในลักษณะที่ว่าเดือนละเล่ม เราก็เก็บตรงนั้นไป แต่ถ้าประเภทเขียนปีละเล่ม แล้วก็จะอยู่ได้ ผมว่ายากมากๆ ทุกวันนี้ผมทำงานปีละประมาณ 2-4 เล่ม เพื่อให้อยู่ได้

ซึ่งมันอาจบังคับให้เราต้องผลิตงานที่เน้นปริมาณด้วยหรือเปล่า

ไม่ ผมถือเป็นกฎของตัวเองว่าจะไม่ทำงานในเชิงปริมาณถ้าหากว่าคุณภาพไม่ได้ คือถ้าผมทำงานปริมาณได้ คุณภาพต้องไปด้วยกันกับปริมาณ ผมจะไม่ยอมเลย เพราะว่าการที่คุณทำงานห่วยออกมาชิ้นเดียวเท่านั้นเอง คุณฆ่างานของคุณที่เหลือหมดเลยทันที มันเร็วมาก นี่คือหลักตลาดธรรมดา คุณทำงานอย่างนั้นไม่ได้

เมื่อมาลองเป็นนักเขียนอาชีพช่วงเวลาหนึ่ง ผมก็มองเห็นว่ามันก็เป็นไปได้ที่จะทำได้ในปริมาณงานประมาณปีละ 3-4 เล่ม เพราะถ้าคุณทำงานอย่างที่ผมทำ คือผมทำงานเหมือนกับไปทำงานในบริษัทเลย ผมทำงานตั้งแต่เช้าถึงเย็น มี over time ด้วย ผมทำงาน 7 วัน ไม่มีวันหยุด

เพราะฉะนั้นด้วยปริมาณเวลาแบบนี้ ผมคิดว่าคุณทำงาน 3-5 เล่มได้อยู่แล้ว ถ้าหากคุณไม่ขี้เกียจ คุณสามารถทำได้ ถ้าเราดูตัวอย่างนักเขียนอื่นๆ ที่ทำงานแบบมืออาชีพ อย่างเช่นคุณกฤษณา อโศกสิน คุณทมยันตี เขาก็มีงานมากกว่านี้อยู่แล้ว แล้วเขาทำอย่างนี้มาตั้ง 20-30 ปี ไปดูเมืองนอก อย่างเช่น ไอแซก อาซิมอฟ เขาเขียนปีละ 10 เล่ม และเป็นหนังสือที่หนากว่าที่เราเขียนอีก

ถ้าเขาทำได้ ผมคิดว่าเราก็ทำได้ ถ้าหากเรามีวินัยในการทำงานและมีการจัดระเบียบตัวเองให้ดีพอ มันทำได้ เพราะผมไม่เชื่อในเรื่องที่ว่าจะต้องมีอารมณ์ก่อนจะเขียน

ปัญหาของนักเขียนอาชีพอยู่ตรงไหน

ปัญหาของนักเขียนอาชีพน่าจะอยู่ที่การตลาดมากกว่า คือการผลิตหนังสือนี่เป็นปัญหาของนักเขียน ว่าคุณจะผลิตหนังสือได้ดีและต่อเนื่องตลอดไปหรือเปล่า นั่นเป็นปัญหาของนักเขียน ไม่มีใครช่วยคุณได้ แต่ปัญหาของการอยู่รอดนี่เป็นปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ คือทำอย่างไรจึงจะทำให้หนังสือที่เขียนไปแล้วมันขายได้ จุดนี้เป็นจุดที่ยาก เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าคนอ่านในบ้านเรามีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากร และยอดพิมพ์ของเราก็น้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากร เราไม่มีวัฒนธรรมการอ่านวรรณกรรม

เพราะฉะนั้นนี่เป็นโจทย์ที่ยากมากที่จะทำให้นักเขียนอยู่รอดได้ในเชิงเศรษฐกิจ มันจะต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ มาช่วย ทั้งในเชิงการตลาดและในเชิงอื่นๆ ถ้าพูดถึงเรื่องการตลาด นักเขียนส่วนใหญ่ก็จะเบ้หน้าอยู่แล้ว คือไม่สนใจ มันไม่ใช่หน้าที่ที่นักเขียนจำเป็นจะต้องทำเรื่องแบบนี้ แต่ว่าถ้าต้องการอยู่รอดในเมืองไทย ก็อาจจะต้องทำบ้าง

สามารถอ่านเพิ่มเติม ได้จาก

http://www.onopen.com/2007/editor-spaces/1805

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท