ริ เริ่ม ปีนเกลียวความรู้....


การทำลายกำแพงแห่งภาพพจน์นี้เองจึงกลายเป็นการ "ปีนเกลียวความรู้"

การเขียนบันทึกจากการคิดแล้วตั้งใจว่าจะมาเขียนนั้นได้ผลลัพธ์อย่างหนึ่ง
การเขียนบันทึกจาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อ่านปุ๊บ ตอบปั๊บ คิดปุ๊บ เขียนปั๊บ ก็จะได้ผลลัพธ์อีกอย่างหนึ่ง

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้เราจะได้ "ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge)" ที่อยู่ลึกและลึกมาก
เพราะเราแทบเปอร์เซ็นต์ของสมองในการนึกในการตอบน้อยมาก...

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะสามารถตัด "ความกลัว" ออกไปได้มาก เจ้าความกลัวนี้เองเป็น "ศัตรู" ตัวสำคัญของความเจริญทาง "วิชาการ..."

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้จะพึ่งพา "อารมณ์" และ "จริต" สูงกว่า "หัวสมอง..."
อารมณ์และจริตถ้าดึงออกมาใช้ให้เป็นนั้นคือ "ความรู้แห่งจิต" หรืออาจจะเรียกสั้น ๆ ได้ก็คือ "ปัญญา..."

ปัญญาที่ตั้งอยู่บนรากฐานของ "สมาธิ" ซึ่งคิดแล้วตอบ
ความนิ่ง ความมีสติ ณ ขณะนั้น อารมณ์นั้น เวลานั้น
ความรู้ต่าง ๆ จะผุดและแวกว่ายผ่าน "ความคิด" ออกมา

ถ้าสังเกตุให้ดีเราจะรู้ว่า ตอนที่เราพิมพ์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เราจะมีส่วนผสมของ "ตัวตน" อยู่
ตัวตนในที่นี้ไม่ได้นิยามถึง "อัตตา" ที่ถือตัว ถือตนนะ
ตัวตนในที่นี้ก็คือ ตัวจริง เสียงจริง ไม่มีเสแสร้ง ไม่มี "ภาพพจน์"

หลาย ๆ ครั้งเวลาที่เขียนบันทึก "หัวสมอง" ของเราก็จะถูกดึงไปใช้ในการรักษา "ภาพพจน์"
บันทึกที่ผ่าน ๆ มาจึง "คิดได้" แต่ "เขียนไม่ได้"
บางครั้งเขียนไป เขียนไปก็ต้อง "ลบไป" เพราะเขียนแล้วก็กลัว "เสียภาพพจน์"

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบนี้จะทำลายกำแพงแห่ง "ภาพพจน์"
การทำลายกำแพงแห่งภาพพจน์นี้เองจึงกลายเป็นการ "ปีนเกลียวความรู้"
 
เกลียวความรู้เดิมเราใช้หัวสมองบวกด้วยประสบการณ์
ตอนนี้เราเริ่มปีนเกลียวความรู้กันแล้ว เราตัดส่วนของหัวสมองออกไปได้ส่วนหนึ่งหรือแทบจะหมด
แต่เกลียวความรู้ใหม่ที่เรากำลังปีนอยู่ใน เราต้องใช้การดึง "ศักยภาพภายใน" ที่อยู่ลึก ณ ก้นบึ้งแห่ง "จิตใจ" ออกมาถ่ายทอดให้ได้ยิน ให้ได้ฟัง

การดึง "ความรู้แห่งจิต" นี้ก็เหมือนกับการ "ตักแกง" ที่มักมีอะไรดี ๆ ซ่อนอยู่ก้นหม้อ
การใช้หัวสมองทำงานนั้น เรามักจะได้กินแต่ผัก กินแต่น้ำแกงแบบจืด ๆ จาง ๆ ที่อยู่ด้านบนของหม้อ
การปีนเกลียวดครั้งนี้ เราจะได้ควานลงไปตัก "ชิ้นปลา" และ "เครื่องแกง" ที่อยู่ก้นหม้อ
ความเข้มข้นของแกงจะได้ถูกลิ้มรส
ที่จริงความเข้มข้นของแกงนั้นมีอยู่ แต่เราไม่ได้ควาน ไม่ได้ตักลงไป
ไม่ใช่ก้นหม้อมันลึกนะ แต่ทว่า "ทัพพี" ของเรามันสั้น

ทัพพีมันสั้นก็เพราะว่าถูกตัดรอนด้วย "ภาพพจน์"
ทัพพีมันสั้นก็เพราะว่าถูกตัดรอนด้วย "เกียรติยศ" และ "ชื่อเสียง"
ทัพพีมันสั้นก็เพราะว่าถูกตัดรอนด้วย "หัวสมอง" และ "ความคิด"

ใช้จิตนิ่ง ๆ อ่านแล้วเขียน ถ่ายทอดออกไป คิดอย่างไรก็เขียนออกมา
ความรู้ฝังลึกที่ถูกฝังอยู่จะถูกตักถูกดึงให้บรรเจิดและไฉไล
ความรู้นี้ไซร้คือความรู้คู่ชีวี...


 

ที่มาจากบันทึก  เปิดชมรม "นักปั่น..."

 

หมายเลขบันทึก: 299706เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2009 07:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2021 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ต่อยอดอย่างบรรเจิดจากท่านสุญญาตา "เปิดชมรมนักปั่น"...

ก็บรรเจิด เฝ้าดูใน G2K นี่ก็มานาน ตั้งแต่เริ่มแรก ที่มีการเริ่มต้น ผ่านไปเกือบไม่ถึงปีจนกระโดดลงมาร่วมวงในการเขียนด้วย เขียนมา เขียนมา ก็มีบ้างหรอกไม่กี่คนที่ฟัง พูด อ่าน เขียนกันมาเจอจริตเดียวกัน ต่อยอดต่อกรความคิดกันได้...ไม่โกรธไม่เคือง เพราะนั่นน่ะเป็นอาการของการเปิดประตูใจ

เมื่อไรที่ "เราเรียนรู้เรื่องการเปิดประตูใจ" เมื่อนั้นน่ะปัญญาเราจะเปิดกว้างออก

ยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างไร้เงื่อนไข

การต่อกรต่อความคิด...ดั่งกัลยาณมิตรนี่ มันทำให้ความรู้เรามันหมุนวน หมุนวนไป

มีแต่จิตปรารถนาดีที่มุ่งบอก มุ่งหารือ มุ่ง...เสริมสร้างนำพากันก้าวเดินไปในทางที่เจริญขึ้น...

จริงๆ แล้วใน G2K นี้มีกลุ่มที่จริตคล้ายกันน่ะเยอะ

หากว่าการรวมกลุ่ม เจ๊าะแจ๊ะเชิงปัญญานี่...

จะเกิดผลต่อทั้งใจและปัญญาอย่างยิ่งนัก เพราะไร้ภาพพจน์ ที่เรามุ่งแต่งไปทางสวยทางงามเพราะเมื่อไร ที่ดำเนินไปภายใต้ดั่งความเป็นกัลยาณมิตรนั้นแล้ว ก็ไม่ต้องห่งภาพอะไรกันนัก เพราะกัลยาณมิตรน่ะไม่มีหวังร้ายต่อกันอยู่แล้ว

มีแต่ช่วยตบ ต๊าบ และให้กำลังใจเพื่อให้ก้าวเดินแบบไม่หลง ไม่ออกจาก...ทางอยู่แล้ว

โชคดีแล้ว... G2K นี่เป็นพื้นที่เราสามารถมาฝึกซ้อนสิ่งต่างๆ นี้ให้ทั้งจิตและกายเจริญได้ผ่านการฝึกฝนหมุนเกลียวกันความรู้กันอย่างละไม ละมุนละม่อม...

เรียนรู้การถอดบทเรียนแห่งภายในผ่านเรื่องราวภายนอก

เขียนไปเขียนมาก็นึกถึงกัลยาณมิตรอีกท่าน Mr.Direct และหมอสุพัฒน์จากปายนี่ก็เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ทั้งตบ ต๊าบ ให้กำลังใจกันมา คุยกันนำพาไปสู่จิตเจริญ กล้าพูดกล้าบอก กล้าแชร์ กล้านำพากันก้าวเดินไป ... ถอดสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้มาบอกกล่าวกัน ผ่านสิ่งที่ตนเองตกผลึกในเรื่องนั้น ... ทีแรกไอเดียบบรรเจิดกับท่านสุญญาตา ว่า...อืม G2K นี่ความรู้มันไม่หมุนเกลียวความรู้เท่าไรนัก มาช่วยมาร่วมกันดีกว่า คนแรกที่นึกได้ก็คุณ Mr.Direct จะส่งเมล์ไปบอกกล่าวชวนกัน...มาร่วมกันขับเคลื่อนหมุนเกลียว...คิดไปคิดมาเขียนบอกกล่าวผ่านบันทึกดีกว่า

...

อยากบอกอยากชวน

มาร่วมกันหมุนเกลียว...ความรู้ที่นำพาไปสู่การเจริญจิตเจริญใจผ่านเรื่องราววิถีชีวิต วิถีการงาน ข้าพเจ้าน่ะชอบใช้คำว่า Engaged Buddhism ... เนียนดี เพราะทุกอย่าง ทุกเรื่องราว ทุกการงานต่างมานั่งล้อมวงคุยกันได้ แต่เป้าหมายที่สุดจากการที่คุยกันน่ะ "จิตเราเจริญอย่างไรบ้าง"...

อีกท่านที่นึกถึง ... คุณพี่ศศินันท์ และซูซานนี่...

การหมุนเกลียวเช่นนี้ต้องอาศัยความกล้าหาญสักหน่อย

กล้าเปิด กล้ายอมรับกับตนเอง... ไม่ต้องกลัวไม่ต้องกังวลต่อการสร้างภาพพจน์ให้ดูดีไปเสียหมด เอาสิ่งที่ผิดพลาดมาพิจารณา ใคร่ครวญ มาบอกมากล่าวเล่าสู่กันฟังได้ ที่สุดแล้วมันจะได้เรื่องได้ราวว่า "เออ...เราผ่านเรื่องราวนั้นมาได้อย่างไร" อันนี้ก็จะเป็น success story sharing ไปแล้ว

คุยกันไป...คุยกัน ก็เริ่มได้ฝึกฝนชื่นชมกัน... ให้กำลังใจ บอกทางกันผ่านประสบการณ์ของตนเอง ไม่ใช่ไปสอนน่ะ แต่พอฟังกัลยาณมิตรบอกกล่าวแล้ว ใจแห่งความนึกคิดมันก็อยากจะแลกเปลี่ยนบ้างล่ะ... นี่และ AI เราดีดีนี่เอง

เอามาทำ..เอามาปฏิบัติ

ก็น่าจะดีกว่า การจดการจำเอาเพียงแนวคิด ทฤษฎีมาพูดมาบอก

เอาของจริงผ่านการปฏิบัติ โดยอาศัยเรื่องราวการงาน ชีวิตของตนเองนี่แหละ มาเป็นเครื่องมือในการถอดบทเรียนตนเองก็น่าจะดีนะ

 

  • ที่นี่ มิค่อยปีนเกลียว ไม่กล้า หรือ มรรยาท หรือ เฉยไว้ดีกว่า แส่หาเรื่องทำไม(ตามแบบทั่วๆไป)..
  • แรกเข้ามาอ่าน มาศึกษา ผมคิดเช่นนี้ พออ่านจากหลายคนเข้า อ๋อ!(เองคนเดียว..อาจผิด) จัดการความรู้(km) เขาพูดเรื่องความสำเร็จ พูดเรื่องดี ยิ่งมารู้จักสุนทรียสนทนาจากหลายๆบันทึก เราเข้าใจถูกแล้วกระมัง(อาจผิด อีกนั่นแหละ)
  • เพราะคิดอย่างนั้นเช่นกัน ถ้าเออออห่อหมกเสียหมด ปัญญาจะเกิดหรือ ที่สำคัญผิดธรรมชาติยิ่ง เห็นด้วยว่าภาพพจน์เป็นอุปสรรคหนึ่ง แต่หลายคนคงไม่ใช่ ความควร-ไม่ควร ในที่นี้สาธารณะเช่นนี้ ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อน แต่ที่อ่านแล้วสะดุด แม้จะเห็นด้วย..ไตร่ตรองให้ถ่องแท้ รอบคอบ ก่อนนำเสนอ น่าจะดีกว่าอยู่ดีครับ
  • ขอบคุณและเห็นด้วยมากว่า ถ้าต้องการงอกงาม ปีนเกลียวความรู้กันบ้างเถอะ

อ่านบันทึกนี้ของท่านกะปุ๋มแล้วก็งงนิด ๆ ไม่ได้งงที่ท่านเขียนนะ แต่งง "ตัวย่อ" และ ทับศัพท์ทางการจัดการความรู้

ไอ้ที่งงก็คือ พวกภาษาอังกฤษ และทฤษฎีพวกนี้ "เราโง่" ไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่

เมื่อก่อนเคยพยายามอ่านแล้วตีความก็ไม่ค่อยเข้าใจ "งง ๆ" ไม่รู้จะตีความอย่างไร แล้วก็ไม่รู้จะเขียนบันทึกอย่างไรให้เข้ากับหัวข้ออย่างนั้น

ผลสรุปก็คือ "ไม่เขียน" หรือเขียนก็เขียนแบบงง ๆ ก็คือ เขียนไปแบบไม่มี "เอกภาพ"

เขียนไป ห่วงไป เมื่อใช่ ว่าถูกหลักการ ทฤษฎีหรือเปล่าน๊า...

กลัวผิดน่ะ เรื่องของเรื่อง...

เมื่อก่อนนี้ก็เลยงง ๆ แต่เดี๋ยวนี้ว่าจะหายงง ๆ แล้วก็คือ พยายามเขียนก่อน แล้วค่อยมาอ่านทฤษฎีทีหลัง

ตอนนี้ก็วางเอกสาร ตำราไว้ข้าง ๆ ดู "หน้าปก" อย่างเดียวก็พอ

ดูหน้าปกแล้วตีความเฉพาะหน้าปกเท่านี้ก็สามารถทำงานได้อย่าง "สบาย..."

ยิ่งอ่านมากคนโง่ ๆ อย่างเราก็ "ปวดหมอง..."

ภาพพจน์ ภาพพจน์ ภาพพจน์ที่ดี ภาพพจน์แย่ แล้วภาพพจน์ที่ไม่ดีไม่แย่นั้นเป็นอย่างไรหนอ...?

คือ ไม่ต้องดี ไม่ต้องแย่ ก็อยู่เฉย ๆ แบบนี้แหละ

ทำหน้าที่ก็ทำไป ทำไปเรื่อย ๆ

ใครจะว่าก็เฉย ใครจะชมก็เฉย มีหน้าที่ทำความดีก็ทำไป การปล่อยวางคำชมและคำว่าก็เป็นหน้าที่หนึ่งที่ "จำเป็น" ต้องทำ

ชีวิตเราอยู่ติดกับ "โลกธรรม" มามากแล้ว

ใครชมก็สุข ใครด่าก็ทุกข์ แล้วจะไม่ทุกข์ไม่สุขบ้างได้หรือไม่...

อยู่มันไปเฉย ๆ อย่างนี้แหละ ไม่ต้องกลัวความทุกข์ ไม่ต้องไปเสียดายความสุข

คนเรามักสนใจแต่ความสุขทางเนื้อหนัง ความสุขที่เหนือกว่านั้นยังกลัว ยังไม่กล้าที่จะปีนฝ่าขึ้นไป

บางครั้งปีนขึ้นไปแล้วยังเหลียวหลังกลับมาดูแล้วก็ "เสียดาย" อาลัย อาวรณ์ แล้วก็เดินย้อนกลับลงเขามา ณ จุดเดิม

ปีนเขาให้ถึงยอด เมื่อถึงยอดแล้วจากทางก็มีแต่ "ทางราบและทางลง"

ตอนขึ้นมันลำบาก พอถึงยอดเขาก็หายเหนื่อย

พอถึงยอดเขาแล้วก็ต้องรู้จักลงมาทำงาน รู้จักลงมา "เสียสละ..."

จะไปติดสุข ติดสบายอยู่ยอดเขานั้นก็เห็นแก่ตัวเกิน ต้องรู้จักลงมาช่วยเหลือ บอกทาง เทคนิคในการขึ้นเขากับคนที่กำลังปีนเข้าบ้าง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำ "ความดี"

ตอนนี้เรากำลังปีนเขา ก็ขอให้ตั้งใจปีนไป ปีนไปก็มองทางสองข้างให้มาก ๆ เก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ จากภายนอก

สิ่งที่สำคัญคือ ต้องหัดเก็บเกี่ยวความรู้สึก ความรู้ฝังลึกที่เกิดขึ้นกับ "อารมณ์" ระหว่างการขึ้นเขานี้

อารมณ์ของจิตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้แลจะทำให้เราบอก "วิธีการ" ขึ้นเขากับคนอื่นได้

ถ้าหากเรามัวแต่จดจำทาง เราก็จะรู้แต่ทางเดียว

คนบางคนเขาขาสั้น คนบางคนก็อ้วน บางคนก็ผอม บางคนแรงเยอะ บางคนแรงน้อย บางคนมีสัมภาระเยอะ บางคนเตรียมน้ำมาน้อย เขาจะถึงเขามาทางเดียวกับเราก็ "ลำบาก" อยู่

สกัดความรู้ของตนเพื่อบอกวิธีการ "วิธีการตั้งจิต"

คนเราจะไปได้หรือไม่ได้อยู่ที่จิต จิตท้อก็ถอย จิตสู้ก็ลุย

ชาตินี้ยังไม่ถึงก็สู้ต่อเพื่อชาติหน้า

เรื่องเวรกรรมนี้ไม่ใช่ม่าม่าจะได้ "กึ่งสำเร็จรูป..."

สู้ สู้ สู้ต่อไป สู้ไป สู้ไป สู้เพื่อใจและจิตที่ "เจริญ..."

555...

มันติดมือน่ะนะ...เอ๊ะ  ติดมือหรือติดปากนี่...?

ไทยคำ อังกฤษคำ คำย่อคำ ... เอ้า...หากล่ะได้จะพยายามดัดตนเองเรื่องนี้

ขออภัย...ขออภัย

แต่ก็ชอบอยู่น๊า...ที่ท่านเปรียบเปรยเรื่องขึ้นเขาลงเขานี่

ไม่ว่าอ้วน ผอม ดำ ขาว ...นั่นน่ะก็เป็นเพียงเงื่อนไขของการฝึกก้าวเดินเท่านั้น มันก็เป็นดั่งเช่นภาพลวงตานะ ลวงตาว่าเราอ้วนเราจึงต้องปีนเขาอย่างนั้นอย่างนี้ หรือว่าเราผอมนา...เราจึงปีนอย่างนั้นอย่างนี้ ...

แต่...แท้จริงแล้วไม่มีอ้วนมีผอมนะ... ทุกอย่างต่างเป็นเส้นทางเดิน แต่เราถูกให้สมมติว่าอ้วนว่าผอมเท่านั้น เท่านั้นเอง ตัดอ้วนตัดผอมออกก็เบาขึ้นนะ แต่ก็ยังหนักอยู่หนักเพราะไอ้เป็นที่ว่าภายในที่ต้องรู้ ต้องเรียน ต้องฝ่าฟันมันยังหนักอยู่ ก็ฝึกเดินขึ้นเขาเขาให้ฝึกตัดเจ้าอาการหนักนี้ออก

...เช่น เดินขึ้นเขาไม่แบกอ้วนแบกผอม แค่แบกความเหนื่อย ความท้อ ความคิดนี่ก็หนักอยู่นา...แต่เมื่อยิ่งได้มาแบกอ้วนแบกผอมก็ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่...

อันไหนละได้ก็ละไปก่อน ... เพราะเราต้องเก็บกำลังไปจัดการไอ้เจ้าอาการที่แบกหนักกว่าอ้วนผอม...

อ้าว...ไง มาพูดแต่เรื่องอ้วนเรื่องผอมเนี๊ย...

เพิ่งปุจฉา กับตนเองเมื่อสักครูว่า

เรื่องการรดน้ำพรวนดินและกำจัดวัชพืชอยู่...และแวะมาเรื่องนี้ก่อน

เดี๋ยวตกผลึกใหม่จะมาใหม่...

 

 

อยากจะเขียน อยากจะตอบ แต่ทำไม หัวมันเป็นตื้อ ๆ ตัน ๆ แบบนี้หนอ

เห็นหลาย ๆ ท่านเขียนดี อ่านเเล้วเข้าใจ

อยากมีส่วนร่วม แต่เอ.....เราจะทำยังไงง..แหนะ สมองมันปรุงแต่ง

เอาหล่ะค่ะ...หัวมันจะตื้อ มันจะตัน

แต่ว่าใจมัน ก็ยังเปิดรับความรู้

อืม เดินขึ้นเขานี่ เขาใช้การลงมือก้าวเดินใช่ไหมค่ะ?

ต้องลงมือปฏิบัติใช่ไหมค่ะ

ที่ถามเพราะ หนูไม่รู้

ยังเป็นผู้โง่อยู่

หนูขอลงมือทำ แม้จะไม่มีปัญญา

มีเพียงศรัทธา ในการทำธรรม

ตอนนี้ขอทำแบบโง่ ๆ ไม่มีปัญญาไปก่อน

ผิดถูกอย่างไร ก็ว่าไปกันไปตามเหตุผล

ไม่รู้ดอกว่า ตอนนี้ อยู่ที่ตรงไหนของภูเขา

ไม่รู้ดอกว่า เมื่อไหร่จะไปถึงยอดเขา

รู้เพียงว่า ทางนี้แหละ

แบบนี้แหละ ที่พระพุทธองค์ชี้ทาง

พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ชี้แนะ

สาธุเจ้าค่ะ

อื้ม... ไม่อ้วนบ้างก็แล้วไป

ความอ้วนนี้เป็นทุกข์นะ "ทุกข์แห่งขันธ์"

เคยอ้วนหรือเปล่า...? 555

พูดถึงเรื่องอ้วนกับเรื่องขึ้นเขา ก็นึกถึงตอนที่เดินขึ้น "ภูสอยดาว"

ตอนนั้นไปกัน ๕ คน ๔ คนผอมและ ๑ คนอ้วน คนอ้วนนั้นก็ไม่ใช่ใคร เรานี่เอง

คนอื่นเขาเดินทางสบายทั้งขึ้นทั้งลง แต่เรานั่นน่ะสิ โอ้โห "ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นของหนักเด้อ..."

หนักจริง ๆ หนักจริง ๆ ขาแข้งรับน้ำหนักกันไม่ไหว

แต่ตอนนี้สบายขึ้นหน่อย น้ำหนักลดลงพอสมควร

ก่อนบวช 86 เดี๋ยวนี้ทรงตัวอยู่ที่ 60 อื่ม... คล่องตัวขึ้นเยอะ

ตอนบวชปีแรกไปธุดงค์ ตอนนั้นน้ำหนักอยู่ที่ 74 แค่นั้นก็ "แทบตาย" เพราะร่างกายของเรา "ไม่แข็งแรง"

ไปธุดงค์ละกิเลส เกือบได้ละชีวิตไปเสียแล้ว...

แต่ทั้งหมดทั้งปวง ก็เป็นดั่งเช่นท่านกะปุ๋มว่า มันอยู่ที่เรารู้ตัวเราและเตรียมตัวเราอย่างไร

คนอ้วนที่ปีนเขาเก่ง ๆ ก็มีเยอะ เขาปีนได้เพราะเขาแข็งแรง

เขารู้จักออกกำลังกาย รู้จักฟิตกล้ามเนื้อ

คนผอม ๆ ที่นั่งทำงานอยู่ในสำนักงานอย่างเดียวก็สู้คนอ้วนที่แข็งแรงไม่ได้เน๊อะ

การปฏิบัติธรรมนี้ก็เหมือนกัน

คนอยู่วัดมาก ๆ แต่ไม่รู้จักปล่อยจักวาง ก็สู้กับคนที่เขาสู้อยู่ "หน้างาน" ไม่ได้

พระนี่ก็ใช่เบา เพราะพระนี่เป็นเจ้า "ทิฏฐิ มานะ" เลยทีเดียว

คนกราบไหว้มาก ๆ ถ้าไม่คุมใจดี ๆ ก็ "หลง" ไปเหมือนกัน

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอยู่ที่การฝึก การซ้อม

ซ้อมบ่อย ๆ ชกบ่อย ๆ แค่คู่ต่อสู้เห็นกล้ามก็หนีไปแล้ว

สมองของเราต้องลับให้แวววาว มีดที่คม ที่แวววาว โจรเห็นก็วิ่งหนีเหมือนกัน...

เมื่อเจอปัญหาต้องฝึกสู้กับปัญหา ใช้ธรรมในการแก้ปัญหาแล้วเราจะมีปัญญาที่ "แข็งแรง..."

555

ก็คงเคยหอ้วนอยู่หรอกค่ะท่าน..น่าขันธ์ทั้งห้าน่ะมันเป็นทุกข์ พอได้มาแบกเจ้าทุกข์นี้เราก็ก้มหน้าก้มตาแบกมันไป หากว่าใจเรานั้นน่ะไม่รังเกียจในทุกข์ที่ได้แบกมานั้น มันก็ปลดอะไรออกเยอะเหมือนกันนา...

ฟังน้ำเสียงท่านแล้ว...ขันธ์เหล่านี้ไม่ได้มีผลอะไรต่อท่านเลย...ไม่มีเลย

มันก็เป็นเพียงเท่านั้นเอง...มันเป็นเพียงโจทย์ที่เข้ามาให้เราได้เรียนได้รู้ได้ศึกษาเพื่อผ่านมันไป

จากที่อ่านของท่านสุญญตา...ก็ทำให้ปัญญานี่มันกระจูดได้เหมือนกัน

เมื่อวานมีประชุมที่ สวรส. เกี่ยวกับ R2R ในเรื่องการขับเคลื่อน Node ทั่วภูมิภาค ประชุมเสร็จกันมืดค่ำทีเดียว ได้นั่งพิจารณานักปั่นเกลียวความรู้ที่มีลีลาเฉียบอย่างท่านพงษ์พิสุทธิ์ ผอ.สวรส. ได้เห็นความรู้กระเซ็นกระจายทั่วบรรยากาศ ต่างท่านมาแนวร่วมอันงดงามต่อชาติ ต่อสังคม ...

อะไรก็แล้วแต่หากว่า...เราเข้าไปทำความรู้กับสิ่งที่เราอยากพัฒนานี่

เราต้องทำความเข้าใจในสิ่งนั้นก่อน...

จะสร้าง Node ขยาย Node ต้องดูก่อนล่ะว่า ธรรมชาติของ Node ที่พึงเกิดในแต่ละพื้นที่น่ะ มีคุณลักษณะในเชิงธรรมชาติอย่างไรบ้าง เราจะได้ไม่พลาดที่จะนำสิ่งที่เราคิดไปครอบงำ เพราะนั่นน่ะเรากำลังไปเสริมศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่พึงควรได้รับการส่งเสริม

ก็เป็นบรรยากาศที่ดีเหมือนกันนะนา...กับการช่วยกันสละเวลาส่วนตัวมานั่งหารือ มานั่งโสเร่เพื่อให้เกิดเกลียวความรู้หมุนวน

แต่เราก็มองว่า...คิดมากไปก็ปวดหัว...

จริตตนเองน่ะชอบที่จะลงไปดูพื้นที่จริงก่อน แล้วก็ค่อยพิจารณาไปว่าน่าจะทำอย่างไรบ้าง ช่วบกันคิดช่วยกันพัฒนาในหน้างานพื้นที่นั้นเลย ... จริตคนเราน่ะมันก็ต่างกันนะ ไม่เหมือนกัน ขออย่างเดียวว่าหากแต่ละจริตน่ะ มีเป้าหมายร่วมกันแล้ว อันเป็นเป้าหมายที่ดีงาม ความรู้ที่ผ่องถ่ายออกมาก็งดงามเสมอ

ลีลาของนักปั่นอย่างท่านหมอพงษ์นี่...เฉียบ

ด้วยคำถามที่ท้าทาย ยั่วยวนยั่วยุ ให้คนอยากจะพูดอยากจะตอบ ...

ปัญญาก็บรรเจิดดีนัก

มีหลายประเด็นเหมือนกันที่พึงจะนำมาบอกเล่าในทัศนะของตนเอง

แต่ตอนนี้ จะเตรียมตัวขึ้นเครื่องร่อนไปอุบลก่อน..

อ้วนก่อนแล้วจะรู้สึก...

มันอ้วนได้มันก็ผอมได้ ผอมได้มันก็อ้วนได้

อ้วนก็ให้อ้วนที่จิตที่ใจ คนอ้วน ๆ แต่จิตใจผอมมันก็ไม่ไหว

คนที่จิตใจผอมนั้นคือ คนที่จิตใจแห้งแล้ง เหี่ยวเฉา เป็นคนที่จิตใจมีแต่จะเอา เอา เอา แล้วก็เอา

จิตใจของสมาชิกชมรมนักปั่นนี้จะต้อง "อ้วน" คนที่จิตใจอ้วนจะ "อารมณ์ดี"

อารมณ์ดี ยิ้มแย้ม แจ่มใส และเป็น "ผู้ให้" ตลอดเวลา...

คนที่รู้จักให้เป็นคนที่รู้จัก "ความสุข"

คนที่รู้แต่จะเอาก็จะรู้จักแต่ "ความทุกข์..."

เดินทางไป เดินทางมาก็รู้จัก "ตาย ตาย ตาย" ทุกวัน ทุกเวลา ทุกวินาที ทุกลมหายใจ

นำความตายมาเป็น "อารมณ์ภาวนา" ตลอดการเดินทาง...

ตั้งแต่เมื่อวานเย็น จนถึงเช้านี้ก็ยัง "มึน ๆ ตื้อ ๆ" อยู่เช่นเดียวกัน

เมื่อวานนี้เราโง่ถูก "โทสะ" เข้าครอบงำ มึน ๆ อยู่กับช่างที่ทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ

ไอ้ใจเรามันก็เร็ว คิดอยากได้โน่น อยากได้นี่ พอเขาทำอะไรไม่ได้ตามใจหน่อยก็โกรธ ก็โมโห

อารมณ์แบบนี้เป็นการสุมไฟในใจของตัวเอง

ความคิดที่ดี ๆ จะไม่สามารถเกิด สามารถมีกับคนที่กำลังจุดไฟเผาตัวเองได้เลย

ถึงแม้นว่าจะหายโกรธ เลิกโมโหแล้ว แต่เศษซากของเพลิงที่ได้เผาไหม้ ได้ทำลายล้างนั้นยังคงอยู่

จิตใจนี้ก็เปรียบได้ดั่งป่าไม้ที่สวยงาม ชุ่มชื้น เขียวขจี แต่เมื่อถูก "ไฟป่า" เผาไหม้แล้วก็ย่อมดำเป็น "ตอตะโก..."

จากใบไม้ ต้นไม้ แก่นไม้ ที่มีประโยชน์ก็กลายเป็น "ขี้เถ้า"

จากสมอง ความคิด ที่เคยดี เคยมีอยู่ก็จะเหลือแต่เพียงเงา ก็เพราะเรายังหมกหมุ่นอยู่ใน "อารมณ์"

อารมณ์ต่าง ๆ นี้สำคัญนัก ต้องรู้จักปล่อย รู้จักวาง ซึ่ง "อารมณ์"

อารมณ์เสียก็เหมือนดั่ง "ไฟเผา"

อารมณ์ดี ๆ ก็เปรียบเสมือน "น้ำท่วม"

ดีใจมาก ตื่นเต้นมากก็เปรียบได้ดั่ง "สึนามิ" เลยดีเดียว

ต้องรู้จักทำใจให้ "เฉย ๆ" ต่อสิ่งที่มากระทบ มีสิ่งใดมากระทบแล้วต้องไม่ "กระเทือน"

"ลมหายใจ" ที่เองจะเป็นเพื่อนคอยย้ำเตือนไม่ให้เรา "กระเทือน" ได้

อารมณ์เสียปุ๊บ ต้องหายใจเข้าสบายปั๊บ

อารมณ์ดีใจปุ๊บ ต้องหายใจออกสบายปั๊บ

ปล่อยวางอารมณ์ทั้งดีและเสีย จะต้องไม่อ่อนเพลียกับจิตใจที่ถูก "ทำลาย..."

มันดูคล้ายกันนะคะท่าน "ความโง่" อันเนื่องมาจากความเหนื่อย

ความเหนื่อยที่เรารู้สึกว่ามันน่ะครอบงำจิตใจเรา เตลิดเปิดเปิงไปกับความเหนื่อย ... เหนื่อยแล้วยังหลงว่าตนนั่นน่ะหายใจอยู่ รู้ตัวอีกที...อ้าว...ลืมหายใจนี่นา โง่ไป โง่ไปตั้งนาน

บางครานะ...น้ำตาแทบล่วงกับความโง่ ที่เป็นอาการนี้ "เหนื่อย"

แต่พอได้รู้สึกตัว...เฮ้ย เหนื่อยน่ะ ไอ้เจ้าอาการที่เหนื่อยนะมันอยู่ตรงไหน กายเหนื่อยหรือใจเหนื่อยกันแน่... พอเจอคำถามนี้ต่อตนเองเท่านั้นแหละ พิจารณาต่อเลยว่า ... ที่นึกที่คิดที่รู้สึกว่าเหนื่อยน่ะ แท้ที่จริงแล้ว อยู่ในห้วงแห่งความรู้สึกเรานี่เอง...

กายนะมันก็ไปอย่างนั้นของมันนั่นเอง...

แต่ใจนี่สิที่มันเหนื่อย มันไปแบกรับอารมณ์ไม่เฉพาะของตนเองเท่านั้น ไปแบกไปเสพอารมณ์อื่นที่มากระทบด้วย เท่านั้นเอง... โดดผึงเลย... ตกไปอยู่ใต้อารมณ์นี่เอง

ทีนี้ก็กลับมาล่ะ...กลับอยู่กับการภาวนา "ลมหายใจ"

หายใจเข้าสบาย อย่างที่ท่านว่านั่นแหละ หายใจออกสบาย ... มีแรงก็ทำงานต่อ ทำการงานทั้งภายในและภายนอก ไม่มีงานอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่างานไปในอีกแล้ว งานที่ต้องประหัตประหารและโค่นเจ้ากิเลสทั้งหลายแห่งตนนี้ ตอนนี้กำลังก็ยังไม่กลับมา ก็ยิ่งตั้งใจและแน่วแน่ภาวนาผ่านลมหายใจ เมื่อถึงที่ถึงพร้อมแล้ว...ความพอดีก็จะเคลื่อนเข้ามา ....ปัญญาที่ว่าตื้อ ก็เบาลง ลมหายใจก็คืนสู่สภาวะปกติที่พึงเป็นไป...

ทีนี้ล่ะ ... อาการเหนื่อยที่ว่า ก็หายไป

กลับมาทำงานต่อ ภาวนาผ่านการงาน ยิ่งงานมากก็ยิ่งได้ภาวนามาก

งานน้อยก็ได้แต่สบาย แต่งานมากนี่สิเราได้ปัญญาไปอย่างเต็มๆ...

ทำไป ทำไป ใจก็มีกำลังขึ้นมา ปรากฏขึ้นแทน "ความเหนื่อย"...

เมื่อคืนกว่าจะได้เข้านอน ทำการงานแห่งภายในถึงหกทุ่ม ตื่นอีกทีตีสาม...

ต้องเตรียมตัวเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี...และนั่งรถต่อไปที่ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร...วันนี้มีกิจกรรมมินิ R2R

มันเป็นความสุขนะ...ความสุขที่เบิกบาน ใจผ่องแผ้ว

ไม่มีนาย ที่เป็นลาภ ยศ สรรเสริญ...มาบางการมาครอบงำ

มีแต่ความดีงามผ่านเรื่องเล่า ... ที่เล่าด้วยใจที่อิสระไม่ต้องกลัวถูกหรือผิด เพราะบางคราอาจวาดแผนอย่างระวังรอบคอบนี่ ก็พลาดได้เหมือนกัน ดั่งนั้นเราเนียนนำไปอย่างธรรมชาติน่ะไม่ดีกว่าหรือ การเดินทางเรียนรู้จะได้ซึมซับอะไรที่งดงามได้อย่างเบิกบานใจ ...

ขณะนั่งฟังการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะ... นึกถึงแผนการขับเคลื่อน Node R2R แล้วก็เหนื่อยใจเพราะเรานั่นน่ะไม่ชอบอะไรที่คล้ายกับไปคิดแทนคนอื่น แต่เราน่ะชอบไปมองไปค้นไปหาความงดงามและเสริมความงดงามนั้นให้ยิ่งขึ้น ตอนนี้กำลังนำพาตนไปสู่การตกผลึกเรื่องการขับเคลื่อน R2R ... เราอาจจะเหมาะหรือไม่เหมาะก็ไม่รู้ เพราะจริตตนนั้นชอบนำพาการเคลื่อนไปสู่ความอิสระมากกว่าการครอบงำอันมาจากกรอบ จากแผน ก็ไม่รู้ได้เหมือนกันนะว่า...จะเป็นเช่นไร

อืม...ขอพิจารณาเรื่องนี้ก่อน...เดี๋ยวมาต่อยอดกันใหม่...

ความโง่อันเนื่องมาจาก "ความเหนื่อย..."

ถ้าทำงานแล้วเหนื่อยแสดงว่าโง่

ถ้าทำงานแล้วเหนื่อยแสดงว่า "หายโง่"

ถ้างานใดทำแล้วเหนื่อยแสดงว่าโง่ตั้งแต่ตัดสินใจที่จะทำ

แล้วยิ่งทำไป ทำไป ก็ยิ่งเหนื่อย เขาเรียกว่า "โง่" ตั้งแต่ต้นจนจบ

แต่งานใดแค่คิดก็สุขแล้ว ใครคิดถึงงานแบบนี้ได้ก็แสดงว่าเข้าสู่วงจรที่จะ "หายโง่"

เพราะขนาดแค่คิดก็สุข ได้พูด ได้ทำก็ยิ่งสุข

งานในสังคมนี้นะ งานใดที่มีผลประโยชน์ มีผลตอบแทนเป็นตัวเงินนั้นจะ "เหนื่อย" ตั้งแต่คิด

แค่คิดจะไปเอาของเขา จะไปเอาเงินเขา จะไป "บริโภค" ปัจจัยของเขา แค่นี้ก็ "เปรต" แล้ว...

เกิดเป็นเปรตนี้ไม่สนุกนะ หรือบางคนยังไม่ตายก็ต้อง "ตายทั้งเป็น"

คนที่มีทรัพย์มาก มีเงินมาก แต่ไม่รู้จักพอนั้นเรียกว่าเป็นคนที่มีลักษณะอาการของ "เปรต"

เปรตคือผู้หิว ผู้กระหาย ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ

จิตใจของเขากระทุรน ทุราย ความโลภจะเฟอะฟุ้ง ส่งกลิ่นกระจาย ตั้งแต่เกิดจนถึงวันตาย ก็ไม่วาย "รู้จักพอ..."

หากถ้างานใดคิดแล้วสุข ก็ขอจงทำงานนั้น

ถึงแม้นว่างานนั้นจะต้องแลกต้องหยาดเหงื่อ และแรงงาน แต่สิ่งทั้งหลายที่ทุ่มและเทลงไปนั้นจักไม่เสียเปล่า

ความสุข จากความ "ปีติ" จะเกิดขึ้น และสามารถคิดถึงได้ทุกวันคืน

งานที่ทำแล้วสุขนี้จะไร้ซึ่งคำว่า "เหนื่อย"

แต่ทว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นอยู่ที่ใจของเรา อยู่ที่การตั้งจิต ตั้งใจของเรา

ถ้าหากเราคิดว่าสิ่งนี้เป็นหน้าที่ เรามี "โอกาส" ได้ทำความดี เราก็ "เสียสละ" ทำไป

ถ้าตั้งใจดีก็จะมีสุข

ถ้าตั้งใจดีจิตนี้ก็จะ "ไม่เหนื่อย..."

ตั้งใจให้ดีนะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท