กฤษณพงศ์ กีรติกร : การปฏิรูปการศึกษา (๓)


 

ตอนที่ ๑
ตอนที่ ๒ 
          ผมขอบทความที่มองระบบการศึกษาไทยอย่างครอบคลุมรอบด้าน   และเห็นภาพเชิงประวัติศาสตร์ ของ ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร นักวิทยาศาสตร์และนักการศึกษาที่ดีและเก่งที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย   เอามาเผยแพร่ต่อดังต่อไปนี้   โดยที่บทความนี้ยาวกว่า ๕๐ หน้า    จึงทยอยลงหลายตอน
          ขอชักชวนให้ค่อยๆ อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ จะได้ประโยชน์มาก
    

 

วิกฤติ    กระบวนทัศน์  มโนทัศน์  เพื่อการปฎิรูปการศึกษา


กฤษณพงศ์ กีรติกร

ต่อจากตอนที่ ๒ 

 

          ในการวิเคราะห์พัฒนาการศึกษาก่อนที่เรามาถึงจุดนี้    เราจะเห็นมรดกทางการศึกษาหลายอย่างที่ได้ใช้ประโยชน์และเห็นสิ่งที่ต้องแก้ไข     ซึ่งเป็นผลจากระบบการศึกษาเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีที่แล้ว    ตามสาระ พ.ร.บ. ประถมศึกษา 2464    เราออกแบบการศึกษาเพื่อออกไปประกอบอาชีพได้   ดังที่แสดงในไดอะแกรมแผนการศึกษาชาติ 2447 หรือเรียกว่า ศึกษาพฤกษ์    กรอบแนวคิดระบบการศึกษาดั้งเดิม   นักเรียนสามารถออกไปประกอบอาชีพได้หลายระดับตั้งแต่ประถม  มัธยมต้น  มัธยมปลาย และอุดมศึกษา   ต่างจากปัจจุบันที่ต้องขึ้นบันได 12 ปีการศึกษาขั้นพื้นฐานและขึ้นบันไดอุดมศึกษา อีก 4 ปี ถึงไปประกอบอาชีพได้   การศึกษาปัจจุบันไม่ได้เป็นสะพานข้ามสู่อาชีพได้หลายระดับเช่นในอดีต    ที่เรียน 4, 7, 10, 12 ปีก็ออกไปประกอบอาชีพได้  ปัจจุบันคนคิดว่าต้องจบอุดมศึกษา   ต้องเรียนหนังสือ 16 ปี  จึงทำงานได้

 

          หลังสงครามโลกครั้งที่สองมีการเปลี่ยนแปลงทางสาธารณสุขและสุขภาพอนามัยที่ส่งผลต่อการศึกษา  ระบบสาธารณสุขดีขึ้น  คนเกิดมากขึ้น  เด็กตายน้อยลง  เด็กเพิ่มขึ้นมากต้องขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน  มีการผลิตครูจำนวนมากเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้วเพื่อรับการขยายตัวของนักเรียนประถมศึกษา   เพิ่มทั้งจำนวนวิทยาลัยครู   เพิ่มหลักสูตรภาคค่ำ    ขยายการผลิตครูมากเกินขอบเขตและหยุดยั้งไม่ได้    รวมทั้งเมื่อประมาณ 40 ปี   รัฐบาลสนองความต้องการความอยากได้ปริญญาของคนไทย  แต่ไม่สามารถขยายมหาวิทยาลัยได้   แต่ให้เรียนครูระดับอุดมศึกษาเพื่อได้ปริญญา     การเรียนอุดมศึกษาจึงเป็นเรื่องของฐานานุภาพ   มากกว่าสาระและการมีงานทำ   สร้างปัญหาครูตกงานสองทศวรรษหลังจากนั้นหรือประมาณเกือบ 20 กว่าปีที่ผ่านมา    ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจเมื่อประมาณ 50 ปี ผ่านกลไกส่งเสริมการลงทุนก็ส่งผลต่อการศึกษาเช่นกัน   ประเทศของเราต้องการพัฒนาโดยการส่งเสริมการลงทุนในเบื้องต้นเพื่อผลิตทดแทนการนำเข้า และในช่วงต่อมาเพื่อการส่งออก   การส่งเสริมการลงทุนเน้นการสร้างงาน (employment) ให้กำลังแรงงานที่เพิ่มจำนวนขึ้น   รวมทั้งส่งให้การอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาขยายตัว   แต่ประเทศไทยไม่ได้ผูกเงื่อนไขการลงทุนกับสร้างความเข้มแข็งของการศึกษาเทคนิค  การศึกษาวิชาการและวิชาชีพ  ที่สร้างคนสู่อาชีพ   การถ่ายทอดเทคโนโลยี  และการวิจัยพัฒนาในภาครัฐและเอกชน  ควบคู่กันไป    ทั้งนี้การศึกษาที่สร้างคนสู่อาชีพคืออุดมศึกษาและอาชีวศึกษาของไทย   จึงแยกจากภาคการผลิต (Real Sector) อย่างสิ้นเชิง   และมีความอ่อนแอ    การพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีและการวิจัยจึงไม่เกิด      ต่างจากประเทศเอเชียตะวันออก เช่น  จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี สิงค์โปร์  เมื่อประเทศเหล่านี้เปิดประเทศ   การลงทุนทางเศรษฐกิจและการส่งเสริมการลงทุนได้ผูกกับระบบศึกษารวมถึงอุดมศึกษาด้วย    ประเทศเหล่านี้การอาชีวศึกษาและการอุดมศึกษาจึงแข็งแรงควบคู่กับระบบการผลิต    กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี   การวิจัยพัฒนา   การสร้างทรัพย์สินทางปัญญา  ประเทศเอเซียตะวันออกจึงเติบโตไปเป็นประเทศที่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจกลุ่มใหม่ในทศวรรษ 2540

              
  
 
          บทความชุดนี้เป็น master piece ด้านให้ความลุ่มลึกในการทำความเข้าใจระบบการศึกษาไทย    ต้องอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์จึงจะได้รับประโยชน์เต็มที่

 

วิจารณ์ พานิช
๒๖ พ.ค. ๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 263904เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2009 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท