กกอ. เดินหน้าสร้างสมดุล autonomy – accountability ของระบบอุดมศึกษา



          ก่อนกลับบ้านตอน ๑๘ น. ของวันที่ ๔ มิ.ย. ๕๒   หลังประชุม กกอ. ครั้งที่ ๖/๒๕๕๒ จบ   ผมบอกคุณโสมรวี นักรบ (นักวิชาการของ สกอ.) ว่า คืนนี้ผมจะนอนหลับสบาย   เพราะการประชุมสามารถดำเนินการจนจบวาระการประชุมทั้งหมดที่บรรจุไว้    ต่างจากการประชุมครั้งที่แล้ว    ซึ่งผมบันทึกไว้ที่นี่


          ที่จริงผมโล่งใจ และชื่นใจ มากกว่านั้น   คือผมได้เห็นแสงสว่างในการทำหน้าที่กำกับดูแลระบบอุดมศึกษา    ที่คณะกรรมการช่วยกันมองผลประโยชน์ส่วนรวม หรือผลประโยชน์เชิงระบบ มากกว่าผลประโยชน์ของแต่ละสถาบัน    กกอ. จึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการกลไกสำคัญที่จะทำให้การกำกับดูแล มีสมดุลระหว่าง autonomy กับ accountability ของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา


          เราพูดกันว่า เวลานี้สถาบันอุดมศึกษาไทย (ในภาพรวม) มี autonomy สูงมาก   แต่หย่อนด้าน accountability ต่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ    กกอ. จึงให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการใช้ TQF (Thai Qualification Framework for Higher Education) เป็นเครื่องมือสร้างความรับผิดชอบต่อคุณภาพผลผลิต (Learning Outcome) ของแต่ละสถาบัน   เน้นให้สภามหาวิทยาลัย (ของแต่ละสถาบัน) ดูแลให้มีระบบการจัดการคุณภาพภายใน (IQA – Internal Quality Assurance) อย่างเอาจริงเอาจัง  


          คือให้ autonomy แก่สภาฯ  และในขณะเดียวกัน ก็จัดระบบให้สภาฯ รับผิดชอบกำกับดูแลคุณภาพการศึกษาของสถาบันด้วย    โดย สกอ. จะมีกระบวนการที่หลากหลายในการสนับสนุนให้สภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่เหล่านั้นได้ดี    เมื่อมหาวิทยาลัยใดดำเนินการะบบนี้ได้อย่างดี มั่นใจว่ากระบวนการคุณภาพภายในทำงานดีจริง  สกอ. ก็จะยกย่องให้สาธารณชนรับรู้  

 
          เรื่องเกณฑ์คุณภาพ กระบวนการกำกับดูแล และบริหารคุณภาพ มีรายละเอียดซับซ้อน    แต่ทาง สกอ. ก็ได้ร่วมกับอาจารย์ใน ๘ สาขาวิชาดำเนินการโครงการนำร่อง เพื่อจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕    และได้ยกร่างกรอบมาตรฐานนี้ไว้แล้ว    พร้อมใช้ได้ทันที   และมีอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนหลายสิบคนที่มีประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือคุณภาพชุดนี้   

  
          คำว่า “กรอบมาตรฐานฯ” และ “การขึ้นทะเบียน” ที่ทาง สกอ. เขียนไว้ในยกร่างโครงการนี้มันแสลงหูแสลงใจมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่อึดอัดกับ “กรอบ” ที่ สกอ. ใช้ควบคุมมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน มาเป็นเวลานาน    ดังนั้น เมื่อ สกอ. เรื่องนี้เข้า กกอ. และอนุกรรมการมาตรฐานฯ ก็ไม่ค่อยได้รับการยอมรับ    เรื่องจึงล่าช้าเรื่อยมา    ดังนั้น เมื่อบรรจุเรื่องนี้เข้าที่ประชุม กกอ. เราจึงไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการจะมีปฏิกิริยาอย่างไร   เมื่อมีกรรมการเสนอให้ยกวาระอื่นๆ มาพิจารณาก่อนเพราะวาระนี้จะยาวผมจึงใจหายวาบ   และปลงว่าสงสัยวาระนี้จะไม่ผ่าน (อีกแล้ว)    แต่เอาข้าจริงเมื่อวาระนี้เข้าสู่การพิจารณา    กรรมการช่วยกันบอกว่า รอไม่ได้แล้ว    ถึงคราวแล้วที่สถาบันอุดมศึกษาไทยจะต้องมีทั้ง autonomy และ accountability   มิฉนั้นความด้อยคุณภาพที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบันจะทำร้ายสังคมไทย ก่อผลร้ายยืดเยื้อยาวนาน


          จะเห็นว่ามุมมองของ กกอ. ต่อ TQF ไม่เหมือนมุมมองของ สกอ. เสียทีเดียว    กกอ. เน้นใช้ TQF เป็นเครื่องมือสร้างสมดุลระหว่าง autonomy กับ accountability ด้านคุณภาพ    ในขณะที่ทาง สกอ. เน้นใช้เป็นเครื่องมือสร้าง internationalization


          ขั้นตอนต่อไป จะมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ลงนามโดย รมต.) เรื่อง กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....   เพื่อประกาศนโยบายเรื่องการดูแลคุณภาพอุดมศึกษา และให้อำนาจ กกอ. ในการกำกับดูแลระบบ    และ กกอ. ก็จะออก “ประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....” กำหนดแนวทางปฏิบัติตามมา


          แล้วงานใหญ่ของ สกอ. ก็จะตามมา    ในการร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในการสร้าง competency ของสถาบันอุดมศึกษาในการใช้เครื่องมือคุณภาพชิ้นนี้    โดยผมขอตั้งความหวังว่า จะได้เห็น สกอ. ทำหน้าที่ facilitator ให้สถาบันอุดมศึกษาใช้เครื่องมือนี้เป็นทาส   เป็นทาสที่รับใช้สถาบันไปสู่การจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ 


          กกอ. มีมติให้ใช้เวลา ๓ ปี เพื่อบรรลุเป้าหมายการใช้ TQF อย่างเกิดผลดี ทั่วทั้งระบบอุดมศึกษา

 
          ผมมองว่า การจัดการสมดุล autonomy – accountability ของสถาบันอุดมศึกษา ต้องไม่มุ่งใช้เครื่องมือ TQF อย่างเดียวโดดๆ    ต้องมีเครื่องมืออื่นๆ อีกหลายชิ้น   เป็นชุดเครื่องมือ    โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ประโยชน์สูงสุดของสังคมไทย
 

วิจารณ์ พานิช
๕ มิ.ย. ๕๒


       

หมายเลขบันทึก: 267075เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2009 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

       Tonkaew 

    ขอบคุณค่ะ หวังว่าจะเกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ตั้งใจนะคะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท