วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : ๔. จินตนาการสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นสร้างสรรค์ผลงานวิชาการเพื่อรับใช้สังคมไทย


 
ตอนที่ ๑
ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๓


          สถาบันอุดมศึกษาที่เน้นการสร้างสรรค์ผลงานวิชาการสายรับใช้สังคมไทยจะต้องสร้าง infrastructure ทางวิชาการที่ไม่เคยมีมาก่อน   อาทิเช่น

   รองอธิการบดีฝ่ายเครือข่ายสังคม  และรองคณบดีฝ่ายเครือข่ายสังคม   ทำหน้าที่จัดระบบและพัฒนาระบบการทำงานร่วมกับภาคชีวิตจริงในสังคม   ในลักษณะที่ไม่ใช่งานอาสา หรืองานที่จะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้   แต่เป็นงานภาคบังคับ และเกี่ยวข้องโดยตรงกับค่าตอบแทน และการเลื่อนตำแหน่งเลื่อนเงินเดือน

   สำนักหรือกองเครือข่ายสังคม ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล/สารสนเทศ เกี่ยวกับภาคชีวิตจริงที่มหาวิทยาลัยมองว่าเป็นโอกาสในการเข้าไปร่วมงานเป็นภาคีหรือเครือข่ายกัน   รวมทั้งเก็บข้อมูล/สารสนเทศของผลงานของมหาวิทยาลัย  และผลกระทบต่อท้องถิ่นหรือประเทศจากผลงานแต่ละชิ้น/ด้าน ของมหาวิทยาลัย    สำนัก/กอง นี้ต้องทำงานเชิงรุก ออกไปทำความใกล้ชิดสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ขององค์กร/ท้องถิ่น/ประเทศ   และเข้าใจวัฒนธรรม/ความคิด/ความต้องการ ของภาคีเหล่านั้น 


   เงินทุนสำหรับริเริ่มกิจกรรมรับใช้สังคม   ในลักษณะ “ใช้ปลาหมึกตกปลากะพง” เพื่อสร้างผลงานและความน่าเชื่อถือจากภาคีหรือแหล่งทุน   เงินนี้ควรมีประมาณร้อยละ ๑๐ ของขนาดของกิจกรรมรับใช้สังคมในภาพรวมของแต่สถาบันอุดมศึกษา    มองอีกมุมหนึ่ง กิจกรรมรับใช้สังคม คือแหล่งหารายได้ของสถาบันอุดมศึกษา


   ข้อความกำหนดนโยบาย (policy statement) ด้านการรับใช้สังคม   ที่กำหนดหรือได้รับความเห็นชอบโดยสภามหาวิทยาลัย   และมีแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานระยะยาว (๕ – ๑๐ ปี)  และแผนดำเนินการรายปี ที่ฝ่ายบริหารนำเสนอขอความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย 

 
   ปฏิรูปหลักสูตรและรายวิชาต่างๆ ให้มีการออกไปทำงานในลักษณะเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ กับภาคชีวิตจริง   ให้บูรณาการเป็นภาคบังคับ และภาคที่มีการประเมินความรู้และทักษะ   เรื่องนี้ สกอ. ต้องจัดระบบประสานงาน/ประสานการเรียนรู้และพัฒนาระบบ ต่อเนื่องยกระดับไปจากสหกิจศึกษา

   ปรับระบบการทำงานของอาจารย์   ให้ต้องมีภาระงานด้านการทำงานรับใช้สังคม   และมีการประเมินผลงานด้านนี้ประกอบการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งวิชาการ   รวมทั้งมีระบบกำหนดเกณฑ์คุณภาพของผลงานวิชาการสายรับใช้สังคมไทย   โดย สกอ. ต้องเข้ามาประสานการพัฒนาระบบเช่นเดียวกัน    สกอ. ควรยกย่องให้รางวัล “รางวัลผลงานรับใช้สังคมดีเด่น” ทั้งประเภททีม และประเภทบุคคล   อย่างละ ๑๐ รางวัล   โดยมีเป้าหมายเพื่ออธิบายผลงานที่ควรยกย่อง และเปิดเวทีให้ผู้ได้รับรางวัลได้เล่าเรื่องราว (storytelling) การทำงาน และผลต่อประเทศ จากงานของตน   สำหรับเป็น “การจัดการความรู้” เรื่องการทำหน้าที่อุดมศึกษารับใช้สังคมไทย

   
   เราสามารถใช้ความสร้างสรรค์ ในการสร้างระบบวิชาการสายรับใช้สังคมไทย   จากมุมของการสร้าง infrastructure ทางวิชาการสายใหม่นี้ขึ้น   และเมื่อดำเนินการไป ก็จะพบลู่ทางกระตุ้น หรือสร้างความคึกคักสนุกสนานภาคภูมิใจ   โดยมีหลักการว่า    ต้องสร้าง infrastructure ที่สนองแรงจูงใจ สร้างแรงบันดาลใจ ชื่นชมยกย่องผลงาน เป็นหลัก   ไม่ใช่เน้นการบังคับฝืนใจ 

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๒ ก.ค. ๕๓
          

หมายเลขบันทึก: 382199เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2010 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จะมีมหาวิทยาลัยไหนไหมคะที่รับแนวคิดนี้ไปปฏิบัติ ??? อยากเห็นคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท