กรรม...ในความหมายตามหลักพุทธศาสนา


กรรมในความหมายตามหลักพุทธศาสนา



คำว่า  “กรรม”  แปลว่า  การกระทำ   มีความหมายเป็นกลาง ๆ   คือ  การกระทำ   ยังไม่ถือว่าดีหรือชั่ว   กรรมเป็นกฎแห่งสาเหตุเกี่ยวกับศีลธรรม  คำว่า  “การกระทำ”   (กรรม)  หมายถึงการกระทำทุกอย่างที่แสดงออกจากตัวเรา   เช่น  การแสดงออกทางกาย (กายกรรม)  ทางวาจา (วจีกรรม)   และทางใจ (มโนกรรม)



โดยหลักมูลฐานแล้ว  กรรมก็คือ เจตนา  ดังคำนิยามศัพท์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ตอนหนึ่งว่า  “เจตนาหํ  ภิกฺขเว  วทามิ  เจตยิตวา  กโรติ   กาเยน  วาจาย   มนสา”   ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เราขอบอกว่า  เจตนาคือกรรม  (เป็นตัวกรรม)   เมื่อมีเจตนาแล้ว  คนเราก็ลงมือกระทำการด้วยกาย  วาจา   และด้วยใจ   หมายความว่า  การกระทำที่จะเป็นกรรมได้นั้น   จะต้องมีเจตนา   คือ  ความตั้งใจ  จงใจ   แล้วกระทำการลงไปโดยใช้เครื่องมือ  คือ  กาย  วาจา และใจ  



หลักคำสอนเรื่องกรรม  นับว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงลักษณะพิเศษของพุทธศาสนา  ซึ่งทำให้พุทธศาสนาแตกต่างไปจากลัทธิศาสนาอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิศาสนาประเภทเทวนิยมซึ่งคำสอนเรื่องกรรมของลัทธิศาสนาประเภทเทวนิยม  สอนให้คนเรามอบกายถวายชีวิตของตนไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก  เช่น  ความเป็นไปของชีวิตจะต้องขึ้นอยู่กับพระเจ้า   พระองค์จะเป็นผู้ลิขิตชีวิตของสรรพสัตว์ให้เป็นไป   ที่เรียกกันว่า  “พรหมลิขิต”   เป็นต้น   แต่พุทธศาสนากลับปฏิเสธอำนาจของสิ่งภายนอกทั้งหมด   แต่สอนให้เชื่ออำนาจของผลกรรมของตนเองว่าเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ   และเป็นสิ่งจำแนกสรรพสัตว์ให้แตกต่างกัน  หรือเรียกกันว่า  “กรรมลิขิต”

 

องค์ประกอบของกรรม



กรรมหรือการกระทำที่จะถือว่าสมบูรณ์  หรือการที่จะเรียกว่าเป็นกรรมสมบูรณ์นั้นจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ  4  อย่างคือ



1.  มีกิเลสเป็นแรงกระตุ้นหรือเป็นแรงผลักดัน
 กิเลส  แปลว่า  ความเศร้าหมองในจิตใจ  หรือเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต  กิเลสอันเป็นต้นเค้าแห่งความชั่ว  เรียกว่า  “อกุศลมูล”  ได้แก่ความโลก  (โลภะ)   ความโกรธ (โทสะ)   และความหลง (โมหะ)    และกิเลสที่เป็นต้นเค้าแห่งความดีเรียกว่า  “กุศลมูล”   ได้แก่  ความไม่โลภ (อโลภะ)   ความไม่โกรธ   ไม่ประทุจร้าย  (อโทสะ)   และความไม่หลงผิด (อโมหะ)   กิเลสเหล่านี้มีอยู่ในขันธสันดานของสัตว์โลกที่ยังเป็นปุถุชน  และเหยื่อล่อให้เกิดกิเลส  ก็คือ   เบญจกามคุณ  (กามคุณ 5)  คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส   สัมผัส  กรรมหรือการกระทำก็อาศัยกิเลสเหล่านี้เป็นแรงกระตุ้นหรือผลักดัน



2.  มีเจตนาหรือความตั้งใจ
 เจตนา  ก็คือ การตั้งใจหรือจงใจ   เป็นปัจจัยอันหนึ่งของจิต  กรรมคือ การกระทำหรือเมล็ดพันธุ์  ผลของการกระทำหรือผลที่เกิดขึ้น   เรียกว่า “กรรมวิบาก”   (ผลของกรรม)   เจตนาต่างๆ  นั้นอาจเป็นไปได้ทั้งในด้านดีและในด้านเลว  ดังนั้นการกระทำอาจเป็นได้ทั้งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์  ทั้งนี้  ขึ้นอยู่กับว่าผลของการกระทำนั้น  ๆ  มีเหตุปัจจัยเป็นอย่างไร  การเกี่ยวโยงต่อเนื่องอันไม่จบสิ้นของการกระทำและผลของการกระทำ  เหตุปัจจัยกับผล  หรือเมล็ดพันธุ์กับผลไม้เหล่านั้นได้เกิดต่อเนื่องกันไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาแห่งปรากฏการณ์ของร่างกาย  และจิตใจของสภาพที่เป็นอยู่  มีอยู่



3.  การกระทำหรือการเคลื่อนไหว
 เมื่อมีเจตนาเกิดขึ้นแล้วคนเราก็จะมีการกระทำไปตามเจตนา   หรือความมุ่งหมายนั้นโดยอาศัยเครื่องมือ  คือ  กาย  วาจา  และใจ  และเมื่อเกิดการกระทำแล้วมันก็จะผลิตผลออกมา   เรียกว่า  ผลกรรม  ผลของการกระทำทั้งหลายย่อมจะทำให้เกิดความต้องการ  และความทะยานอยากขึ้นอีก    จึงกลายเป็นเวียนหรือวงจรชีวิต   เรียกว่า  “วัฏฏะ  3”  ได้แก่  กิเลส  กรรม   และวิบาก



4.  ผลสำเร็จ
 หมายถึง  การกระทำนั้นเกิดผลสำเร็จตามเจตนา  (ความตั้งใจหรือความมุ่งหมาย)   ที่ตั้งไว้ทุกประการเช่น  ตั้งใจจะฆ่าเขาให้ตายและก็สามารถฆ่าเขาตายได้สำเร็จเป็นต้น
จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า  การกระทำที่สมบูรณ์หรือการกระทำที่จะเรียกว่าเป็นกรรมที่สมบูรณ์นั้น  ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ  4  อย่าง  ดังกล่าวข้างต้นนั้น  พระพุทธเจ้า จึงทรงเน้นว่า  การกระทำที่มีเจตนาจึงจะเรียกว่าเป็น  “กรรม”

 

หมายเลขบันทึก: 216000เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 12:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

เครื่องมือทำกรรม

กรรมหรือการกระทำใด ๆ ก็ตาม จะต้องอาศัยเครื่องมือการกระทำทั้งสิ้น เครื่องมือการกระทำแบ่งออกได้ 3 ชนิด คือ

1. กายกรรม - การกระทำทางกาย

2. วจีกรรม - การกระทำทางวาจา

3. มโนกรรม - การกระทำทางใจ

ชนิดของกรรม

กรรมในพุทธศาสนาจำแนกได้หลายแบบ ซึ่งจะยกมากล่าวในที่นี้คือกรรม แบ่งออกเป็น 2 ชนิด และกรรม 4 ชนิด คือ

1. กรรม 2 ชนิด

1.1 กุศลกรรม - กรรมฝ่ายดี

1.2 อกุศลกรรม - กรรมฝ่ายชั่ว

1.1 กุศลกรรม คือ กรรมฝ่ายดี เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กุศลกรรมบถ 10” หมายถึง วิถีแห่งการกระทำความดี 10 หรือเรียกว่า “สุจริต” แยกสุจริตได้ 3 หมวด จาก 10 ประการมี รายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ปาณาติปาตา เวรมณี - เว้นจากการฆ่าสัตว์

2. อทินนาทานา เวรมณี - เว้นจากการถือเอาสิ่ง ของที่เจ้าของไม่ได้ให้

3. กาเมสุ มิจฉาจาราเวรมณี - เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

-->> เรียกว่า กายสุจริต 3

4. มุสาวาทา เวรมณี - เว้นจากการพูดเท็จ

5. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี - เว้นจากการพูดส่อเสียด

6. ผรุสาย วาจาย เวรมณี - เว้นจากการพูดคำหยาบ

7. สัมผัปปลาปา เวรมณี - เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

-->> เรียกว่า วจีสุจริต 4

8. อนภิชฌม - ไม่คิดโลภอยากได้ของผู้อื่น

9. อพาบาท - ไม่คิดพยาบาทปองร้ายเขา

10. สัมมาทิฏฐิ - เห็นชอบตามคลองธรรม

-->> เรียกว่า มโนสุจริต 3

1.2 อกุศลกรรม คือ กรรมฝ่ายชั่ว เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “อกุศลกรรมบถ 10” หมายถึง วิถีแห่งการกระทำความชั่ว 10 หรือเรียกว่า “ทุจริต” โดยแยกทุจริตออกได้ 3 หมวดจาก 10 ประการนั้น มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ปาณาติบาต - การฆ่าสัตว์

2. อทินนาทาน - การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้

3. กาเมสุมิจฉาจาร - การประพฤติผิดในกาม

-->> เรียกว่า กายทุจริต 3

4. มุสาวาท - การพูดเท็จ

5. ปิสุณวาจา - การพูดส่อเสียด

6. ผรุสวาจา - การพูดคำหยาบ

7. สัมผัปปลาปะ - การพูดเพ้อเจ้อ

-->> เรียกว่า วจีทุจริต 3

8. อภิชฌา - คิดโลภอยากได้ของเขา

9. พยาบาท - คิดปองร้ายคนอื่น

10.มิจฉาทิฏฐิ - เห็นผิดจากคลองธรรม

-->> เรียกว่า มโนทุจริต 3

2. กรรม 4 ชนิด ในกุกกุโรวาทสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ และในกรรมวรรคอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต พระพุทธองค์ทรงจำแนกกรรมไว้ 4 ชนิดคือ

2.1 กรรมที่เป็นฝ่ายดำ (กรรมชั่ว)

2.2 กรรมที่เป็นฝ่ายขาว (กรรมดี)

2.3 กรรมที่เป็นทั้งฝ่ายดำและฝ่ายขาว

2.4 กรรมที่ไม่ดำไม่ขาว

2.1 กรรมที่เป็นฝ่ายดำ (กรรมชั่ว) มีวิบากเป็นฝ่ายดำ (ฝ่ายชั่ว) คือ อกุศลกรรมอันเกิดจากอกุศลเจตนา 3 ประเภท ได้แก่

2.1.1 กายทุจริต - การประพฤติชั่วทางกาย

2.1.2 วจีทุจริต - การประพฤติชั่วทางวาจา

2.1.3 มโนทุจริต - การประพฤติชั่วทางใจ

2.2 กรรมที่เป็นฝ่ายขาว (กรรมดี) มีวิบากเป็นฝ่ายขาว (ฝ่ายดี) คือ กุศลกรรมอันเกิดจากกุศลเจตนา 3 ประเภท ได้แก่

2.2.1 กายสุจริต - การประพฤติดีทางกาย

2.2.2 วจีสุจริต - การประพฤติดีทางวาจา

2.2.3 มโนสุจริต - การประพฤติดีทางใจ

2.3 กรรมที่เป็นทั้งฝ่ายดำและฝ่ายขาว มีวิบากเป็นฝ่ายดำและฝ่ายขาว (ฝ่ายชั่วผสมกับฝ่ายดี) คือ การกระทำทั้งดีและชั่ว อันเกิดจากกุศลเจตนาและอกุศลเจตนาในคราวเดียวกัน (ปะปนกันหรือติดต่อกัน) เช่น ชายหนุ่มคนหนึ่งเดินเลียบฝั่งคลองมา ขณะนั้นตาเหลือบมองเห็นหญิงสาวกำลังจะจมน้ำตาย จึงกระโดดลงไปช่วยขึ้นมาจากน้ำ ขณะที่ชายหนุ่มได้สัมผัสกับร่างของหญิงสาวคนนั้น จิตก็เกิดพิศวาส จึงถือโอกาสจับโน่นคลำนี่ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าชายหนุ่มผู้นี้มีเจตนาทั้ง 2 อย่างคือ กุศลเจตนาและอกุศลเจตนาที่เกิดขึ้นปะปนหรือติดต่อกัน

2.4 กรรมที่ไม่ดำไม่ขาว ไม่มีวิบากทั้งฝ่ายดำและฝ่ายขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม คือ การกระทำที่เกิดจากเจตนาที่จะละทั้งกรรมดำและกรรมขาว ซึ่งเป็นเจตนาก่อให้เกิดกรรมที่นำไปสู่การหลุดพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง กรรมชนิดนี้ ได้แก่ มรรคมีองค์ 8

3. กฎแห่งกรรม

คำว่า “กฎแห่งกรรม” หมายถึง กฎแห่งเหตุผล เช่น คำกล่าวที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เป็นต้น เป็นกฎแห่งกรรมหรือกฎแห่งเหตุผล แต่กฎแห่งเหตุผลนี้มีอยู่หลายระดับหากจะแบ่งกว้าง ๆ ก็จะมีอยู่ 2 ระดับ คือ

1. ระดับศีลธรรม กฎแห่งกรรม (กฎแห่งเหตุผล) นี้ เป็นกฎที่มนุษย์บัญญัติ หรือสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของคนในสังคม อันจะทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยซึ่งจะนำไปสู่ความสุขแก่คนในสังคมนั่นเอง กฎแห่งเหตุผลในระดับศีลธรรมนี้มีปรากฏอยู่ทั่วไปในสังคมมนุษย์ เช่น การบัญญัติข้อปฏิบัติโดยห้ามมิให้ฆ่าไม่ประทุษร้ายกันทางร่างกาย และวาจาเป็นต้น คำว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ก็เป็นกฎแห่งกรรมในระดับศีลธรรมเท่านั้น คือ การสอนมุ่งให้ผู้ที่ยังยึดอัตตา (ตัวตน) ที่ยังหลงติดข้องอยู่ในโลกอันเป็นเพียงสิ่งสมมุติจึงเรียกว่า “สมมุติสัจจะ”

บรรดาลัทธิและศาสนาต่าง ๆ ก็ได้บัญญัติกฎระเบียบต่าง ๆ ขึ้นมา และกฎระเบียบเหล่านั้นก็มีทั้งคล้ายคลึงทั้งแตกต่างกันออกไป เช่น ลัทธิและศาสนา ฝ่ายเทวนิยมก็สอนให้เกรงกลัวต่อพระเจ้า ให้มีศรัทธาเชื่อมั่นในพระเจ้า การกระทำที่เรียกว่า “ดี” ก็ต้องกระทำตามที่พระเจ้าต้องการ หลังจากสิ้นชีวิตแล้ว วิญญาณก็จะกลับคืนไปอยู่กับพระเจ้า ดังนั้น ลัทธิและศาสนาประเภทเทวนิยม จึงใช้วิญญาณ Soul หรือ Spirit อันเป็นส่วนแบ่งภาคจากพระเจ้าผู้สร้างสรรพสิ่ง เช่น สร้างมนุษย์ เมื่อพระเจ้าปั้นรูปร่างเรียบร้อยแล้วก็ยังไม่มีชีวิต (ไม่มีลมหายใจ) ต่อเมื่อพระเจ้าแบ่งวิญญาณของพระองค์มาสิงสถิตอยู่ในรูปร่างนั้น จึงมีชีวิตมีความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา ถ้าพระเจ้าเรียกวิญญาณ (Soul) กลับคืน รูปกายของมนุษย์หรือสัตว์นั้นก็จะตาย จากทฤษฎีดังกล่าวนี้เอง จึงเกิดคำสอนต่อไปอีกหลังจากสิ้นชีวิตไปแล้ว นั่น คือคำสอนเกี่ยวกับสวรรค์และนรก เพื่อสอนให้คนกระทำดี เพื่อจะได้ไปเกิดในสวรรค์หลังจากสิ้นชีพไปแล้วและสอนให้คนเกรงกลัวต่อความชั่ว (บาป) เพราะหลังจากตายแล้วจะต้องไปตกนรก

ส่วนลัทธิและศาสนาในฝ่ายอเทวนิยม (ปฏิเสธพระเจ้า) ไม่ได้สอนให้เชื่อ และไม่สอนให้ฝากกายถวายชีวิตไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก เช่น พระเจ้า ฯลฯ เพราะเชื่อว่า ความดี ความชั่ว ต้องทำด้วยตนเอง และเป็นกฎของกรรม (การกระทำ) ที่จะต้องผลิตออกมาเอง ไม่ต้องให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรืออิทธิพลภายนอกที่จะช่วยดลบันดาลให้ได้ความสุข หรือความทุกข์ แต่ประการใด ด้วยเหตุนี้ กฎแห่งกรรมในระดับศีลธรรมนี้ จึงเป็นเรื่องที่มนุษย์เป็นผู้บัญญัติขึ้นมา เป็นระดับความจริงขั้นสมมุติเท่านั้น ดังนั้น กฎเกณฑ์ที่ปรากฏอยู่ในลัทธิและศาสนาต่าง ๆ จึงแตกต่างกัน

2. ระดับสัจธรรม กฎแห่งกรรม (กฎแห่งเหตุผล) ระดับสัจธรรมนี้ มนุษย์ไม่สามารถกำหนดหรือบัญญัติขึ้นมาเองตามที่ต้องการได้ เพราะเป็นเรื่องของธรรมชาติล้วน ๆ แต่กฎดังกล่าวนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีใครนำมากล่าว และยังไม่มีใครค้นพบมาก่อน จนกระทั่งพระพุทธเจ้าตรัสรู้โดยการค้นพบ “กฎของธรรมชาติ” (Law of Nature) จึงทรงนำมาสอนโลกว่า สิ่งทั้งปวงเป็นเพียงสิ่งประชุมปรุงแต่งเกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุอาศัยปัจจัย เมื่อเกิดขึ้น โดยอาศัยปัจจัย เมื่อเกิดขึ้น (รวมกันแล้ว) ก็แปรปรวน ครั้นสิ้นเหตุสิ้นปัจจัย สิ่งที่ปรุงแต่งนั้นก็ดับสลายไป สิ่งทั้งหลายจึงล้วนตกอยู่ในหลัก “อนิจจัง” คือ เป็นสิ่งที่หาความเที่ยงแท้แน่นอนตลอดไปไม่ได้ ผู้ใดหลงผิดคิดว่าเป็นสิ่งเที่ยงแท้แน่นอน เมื่อสิ่งนี้มันไม่เที่ยง ไม่แน่นอนตามที่คิดมันแปรเปลี่ยนไปเขาจึงเกิดความทุกข์ (ทุกขัง) เกิดความเดือดร้อน เพราะมันไม่อยู่ในสภาพเดิม แม้ร่างกายและจิตใจที่เรายึดว่าเป็นตัวของเรา เป็นสิ่งที่เรารัก เราหวงแหนมากที่สุด มักก็เป็นเพียงตัวตนที่สมมุติเท่านั้น มิใช่เป็นตัวตนที่คงทนถาวรแท้จริง เพราะมันจะต้องเป็นไปตามกฎของมัน คือต้องแก่ (ชรา) ต้องตาย (มรณะ) หาความเป็นตัวเป็นตน (ถาวร) มิได้ (อนัตตา) หรือหลักไตรลักษณ์อันเป็นความจริงสูงสุด จึงเรียกว่า “สัจธรรม”

กฎแห่งกรรมในระดับสัจธรรมนี้ เป็นกฎที่ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ไม่มีใครบัญญัติ ไม่มีใครเป็นผู้กำหนดว่าให้เป็น หรือไม่ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นเองของมัน จึงเรียกว่า “กฎธรรมชาติ” มันย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ส่วนที่มันเป็นไปที่เราเรียกว่าเจริญ เสื่อม ดี ไม่ดี ฯลฯ นั้น มันอยู่กับเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยอย่างหนึ่งมันก็เป็นไปอย่างหนึ่งไม่ได้เป็นไปเพื่อให้ถูกใจ พอใจ หรือไม่ถูกใจ ไม่พอใจของใคร ๆ เช่น การรวมกันของดินกับน้ำผลก็คือเป็น “โคลนตม” หากมีคนเอาดินกับน้ำมาผสมกันแล้วให้เกิดเป็นทองคำ หรือเป็นหยกย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุปัจจัยเป็นอีกประเภทหนึ่ง

คำสอนในพุทธศาสนานั้นนำมาสอนคนหลายระดับ จึงมีการใช้คำเพื่ออธิบายธรรมในหลายระดับ เช่น

“อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ซึ่งแปลว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน” นี่เป็นคำสอนในระดับศีลธรรม ซึ่งใช้สอนคนที่ยังยึดอัตตา (ตัวตน) อยู่ จำต้องอาศัย ตนของตนเป็นที่พึ่ง ต้องแสวงหา “ตน” ที่ดี ละ “ตน” ที่ชั่ว เพราะคนยังยึดตน ยังติดอยู่กับความดีความชั่วอยู่

ส่วนคำสอนที่ว่า “ผู้มีปัญญามองเห็นความจริงว่า แม้แต่ตัวตนของตนก็ยังไม่มี (สิ้นอหังการ มมังการ) ดังนั้น บุตรและภริยาจะมีมาแต่ที่ไหน” คำสอนเช่นนี้ใช้สอนคนที่เข้าใจในหลักอนัตตาแล้ว อันถือว่าเป็นระดับ “สัจธรรม” คำสอนในโอวาทปาติโมกข์ที่ถือว่าเป็นแก่นหรือหัวใจของพุทธศาสนามี 3 ประการนั้น สองขั้นแรก คือ “ไม่ทำบาป (ความชั่ว) ทั้งปวง” และ “การทำแต่ความดี” เป็นคำสอนระดับศีลธรรม ส่วนข้อที่ 3 คือ “การทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส” นี่เป็นคำสอนระดับสัจธรรม

4.การให้ผลของกรรม

กรรม คือ การกระทำ และที่เป็นกรรมที่สมบูรณ์นั้นจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 อย่าง ดังกล่าวแล้ว ครั้นมีการกระทำตามองค์ประกอบเหล่านั้น กรรมย่อมให้ผล (วิบากกรรม)อย่างแน่นอน การให้ผลของกรรมตามหลักพุทธศาสนานั้น มีปรากฏอยู่ในที่หลายแห่งด้วยกัน ในที่นี้จะของยกมากล่าวตามนัยที่แสดงไว้ในที่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

4.1 การให้ผลของกรรมตามนัยแห่งกุกกุโรวาทสูตร กรรมทั้ง 4 ชนิด มีการให้ผลแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของกรรมแต่ละชนิดนั้น ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

4.1.1 กรรมที่เป็นฝ่ายดำ คือ กรรมชั่ว (อกุศลกรรม) อันเกิดจากแรงกระตุ้นหรือแรงผลักดันจากเจตนาชั่ว ย่อมส่งผลให้ผู้กระทำได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน ประสบกับภัยวิบัติ อุปัทวเหตุ เจ็บไข้ได้ป่วย หลังจากสิ้นชีวิตไปแล้ว จะเกิดในภพที่เสวยผลกรรมที่เป็นทุกข์ หรือเกิดในอบายภูมิ 4 ได้แก่ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เปรต สัตว์นรก และอสุรกาย

4.1.2 กรรมที่เป็นฝ่ายขาว คือ กรรมดี (กุศลกรรม) อันเกิดจากแรงกระตุ้นหรือแรงผลักดันจากเจตนาดี ย่อมส่งผลให้ผู้กระทำได้รับความสุข ความเจริญในชีวิตหลังจากสิ้นชีวิตไปแล้ว จะไปเกิดเสวยผลดีในสุคติโลกสวรรค์

4.1.3 กรรมที่เป็นทั้งฝ่ายดำและฝ่ายขาว คือ กรรมที่มีวิบาก (ผล) เป็น ฝ่ายดำและฝ่ายขาว มีผลทั้งดำ (ชั่ว) ทั้งขาว (ดี) คือ ผลของกรรมที่ให้ผลทั้งสุขทั้งทุกข์พร้อม ๆ กันไป บุคคลจะประสบกับสมบัติและวิบัติพร้อม ๆ กันไป เช่น บุคคลหนึ่งถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 แล้วซื้อรถเก๋ง ขณะที่ขับรถไปตามถนน ก็ถูกรถคันอื่นชนจนได้รับอุบัติเหตุถึงกับขาหัก รถก็เสียหายยับเยิน ตนเองก็กลายเป็นคนพิการ เป็นต้น

4.1.4 กรรมที่ไม่ดำไม่ขาว คือ กรรมที่มีผลไม่ดำไม่ขาว ย่อมส่งผลให้ผู้กระทำหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด (นิพพาน) ย่อมเป็นไปเพื่อการสิ้นกรรม เพราะเป็นการกระทำที่เกิดจากเจตนาที่จะละทั้งกรรมดำ (ชั่ว) และกรรมขาว (ดี) ผู้ที่ละได้เช่นนี้ ย่อมพ้นจากทุกข์ภัยวิบัติทั้งปวงโดยสิ้นเชิง

4.2 การให้ผลของกรรมตามนัยแห่งธรรมวิภาค ปริจเฉทที่ 2 การให้ผลของกรรมตามธรรมวิภาค ปริจเฉทที่ 2 นี้ เป็นการแสดงหรืออธิบายในสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งท่านได้จำแนกการให้ผลของกรรมไว้เป็น 3 โอกาส นั่นคือการที่กรรมจะให้ผลลงไปแต่ละคราวนั้น จะต้องประจวบกับโอกาสทั้ง 3 คือ ถูกเวลา ถูกตามหน้าที่ และถูกตรงกับอันดับของมัน ดังนั้น จึงแยกกรรมเป็น 12 อย่าง จัดเข้าหมวดได้ 3 หมวด (หมวดละ 4 อย่าง ) ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้ คือ

4.2.1 กรรมให้ผลตามเวลา แบ่งได้ 4 คือ

ก. ทิฏฐเวทนียกรรม - กรรมให้ผลในชาตินี้ กรรมชนิดนี้กำลังแรงมาก แต่ถ้าไม่มี

เวลา หรือไม่มีโอกาสที่จะให้ผลในชาตินี้ก็จะกลายเป็นอโหสิกรรมไปโดยปริยาย

ข. อุปัชชเวทนียกรรม - กรรมให้ผลในชาติหน้า เป็นกรรมมีกำลังอ่อนกว่าข้อที่ 1 ถ้า

ไม่มีโอกาสให้ผลในชาติหน้า ก็จะกลายเป็นอโหสิกรรมไป

ค. อปราปรเวทนียกรรม - กรรมที่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป อาจจะรอให้ผลในชาติต่อ ๆ

ไป กรรมชนิดนี้มีแรงเบาถ้าไม่มีโอกาสให้ผล ก็จะกลายเป็นอโหสิกรรม

ง. อโหสิกรรม - กรรมที่ไม่ให้ผล เพราะไม่มีช่องที่จะให้ผลในที่สุดก็สูญหายไป

4.2.2 กรรมให้ผลตามหน้าที่ แบ่งได้ 4 คือ

ก. ชนกกรรม - กรรมก่อให้เกิด กรรมแต่งให้เกิด คือ กรรมที่ส่งให้เกิดใน

กำเนิดต่าง ๆ

ข. อุปถัมภกกรรม - กรรมอุปถัมภ์ (สนับสนุน) ชนกกรรม (กรรมข้อที่ 1) คือ แต่ง

ให้เกิดที่ดีก็สนับสนุนให้ดียิ่งขึ้น ถ้าหากชนกกรรมแต่งให้เกิดที่เลว อุปถัมภกกรรมนี้ก็จะบีบคั้นให้เลวลง

ค. อุปปีฬกกรรม - กรรมบีบคั้น กรรมชนิดนี้จะทำหน้าที่กีดกันหรือเบียดเบียน

ชนกกรรม ถ้าชนกกรรมแต่งให้เกิดที่ดี ก็จะบีบคั้นให้เลวลงถ้าแต่งให้เกิดในที่ไม่ดีก็จะสนับสนุนให้ดีขึ้น

ง. อุปฆาตกกรรม - กรรมตัดรอน กรรมชนิดนี้จะทำหน้าที่คล้ายกับอุปปีฬกกรรม

แต่รุนแรงกว่า คือ มีกำลังแรง สามารถตัดกรรมเก่าให้ขาดไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล

4.2.3 กรรมให้ผลตามลำดับหนักเบา แบ่งได้ 4 คือ

ก. ครุกรรม - กรรมหนักเป็นกรรมที่ให้ผลก่อนกรรมอื่น ๆ เช่น กรรมในฝ่ายอกุศล คือ อนันตริยกรรม ได้แก่ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า แม้เพียงพระโลหิตห้อ

ทำสังฆเภท (ทำให้สงฆ์แตกกัน)

ข. พหุลกรรม หรืออาจิณณกรรม - กรรมที่ทำจนเคยชิน หรือเป็นปกติวิสัยกรรมชนิดนี้มีผลรุนแรง รองลงมาจากครุกรรม จะให้ผลยืนยาวมาก ถ้าไม่มีครุกรรม กรรมนี้จะให้ผลก่อน (เป็นอันดับแรก)

ค. อาสันนกรรม - กรรมที่กระทำเมื่อจวนจะสิ้นชีวิต ถ้าไม่มีกรรมทั้ง 2 ชนิด ข้างต้น กรรมชนิดนี้จะให้ผลทันที

ง. กตัตตากรรม - กรรมสักว่ากระทำคือกระทำโดยไม่มีเจตนาหรือทำผิดไปจากเจตนาเดิม เช่น แพทย์ฉีดยาเพื่อหวังให้หายจากโรค แต่คนไข้กลับตาย เป็นต้น เมื่อไม่มีกรรมชนิดอื่น ๆ ทั้ง 3 ข้างต้น กรรมชนิดนี้จึงจะให้ผล

4.3 กรรมให้ผลตามนัยแห่งพระพุทธพจน์ กรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาท ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อจำแนกส่วนในกระบวนการนั้นออกเป็นการ 3 วัฏฏะ คือ กิเลส กรรม และวิบาก หลักปฏิจจสมุปบาท แสดงถึงกระบวนการทำกรรม และการให้ผลของกรรมทั้งหมด เริ่มต้นแต่ตัวกิเลสอันเป็นตัวเหตุให้ทำกรรม จนถึงวิบากอันเป็นผลที่จะได้รับ เมื่อเข้าใจในหลักปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว ก็จะเข้าใจในหลักกรรมชัดเจนไปด้วยอย่างไรก็ตาม มีจุดหรือนัยสำคัญบางประการที่ควรศึกษา เพื่อเป็นการป้องกันการเข้าใจผิดในเรื่องกรรม ซึ่งจะขอกล่าวดังต่อไปนี้

1. ตามหลักพุทธพจน์ว่า

“เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย บุคคลจึงปรุงแต่งกายสังขาร ....วจีสังขาร ...มโนสังขารขึ้นเองบ้าง... เนื่องจากตัวการอื่นบ้าง....โดยรู้ตัวบ้าง ....ไม่รู้ตัวบ้าง”

และพุทธพจน์ที่ปฏิเสธทฤษฎีที่ว่า สุขทุกข์ตนทำเองของพวกอัตตการวาทและทฤษฎีที่ว่า สุขทุกข์ตัวการอื่นทำของพวกประการวาท เป็นการย้ำให้เห็นกรรมในฐานะกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ตนเองก็ดี ผู้อื่นก็ดี จะมีส่วนเกี่ยวข้องแค่ไหน เพียงใด ย่อมต้องพิจารณาให้ถูกต้องตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ตนเองก็ดี ผู้อื่นก็ดี จะมีส่วนเกี่ยวข้องแค่ไหน เพียงใด ย่อมต้องพิจารณาให้ถูกต้องตามกระบวนการมิใช่ตัดสินให้ขาดลอยลงไปได้ง่าย ๆ

ตามพุทธพจน์ที่แสดงไว้ข้างต้นนี้ เป็นการกล่าวเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดสุดโต่ง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในเรื่องกรรมว่า อะไร ๆ ก็เป็นเพราะตนเองทำทั้งสิ้น จนเป็นสาเหตุให้เกิดมิจฉาทิฐิ ดังนี้...

2. ลัทธิมิจฉาทิฏฐิ 3 ลัทธิ ที่ให้ทัศนะเกี่ยวกับสุข ทุกข์และความเป็นไปในชีวิตมนุษย์ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

ก. ปุพเพกตเหตุวาท - การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงเป็นเพราะกรรมเก่า

(Past-action Determinism) เรียกสั้น ๆ ว่า “ปุพเพกตวาท”

ข. อิสสรนิมมานเหตุวาท - การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวง เป็นเพราะการบันดาลของเทพผู้เป็น

ใหญ่ (Theistic Determinism ) เรียกสั้น ๆ ว่า “อิศวรกรณวาท”

ค. อเหตุอปัจจยวาท - การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวง เป็นไปสุดแต่โชคชะตาลอย ๆ ไม่มี

เหตุ ไม่มีปัจจัย (Indeterminism ) หรือ (Accidentalism) เรียกสั้น ๆ ว่า “อเหตุวาท”

การเห็นผิดตามทัศนะของ 3 ลัทธิข้างบนนี้ มีรายละเอียดตามพุทธพจน์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ลัทธิเดียรถีย์ทั้ง 3 ลัทธิเหล่านี้ ถูกบัณฑิตไต่ถาม ซักไซ้ไล่เลียงเข้า ย่อมอ้างการถือสืบ ๆ กันมา จัดเข้าในฝ่ายอกิริยทิฏฐิ คือ

1. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่คนเราได้เสวย (ได้รับ) ทั้งหมดนี้นั้นล้วนเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อน (ปุพเพกตเหตุ)

2. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่คนเราได้เสวย (ได้รับ) ทั้งหมดนี้นั้นล้วนเป็นเพราะการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าทั้งสิ้น (อิสสรนิมมานเหตุ)

3. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ที่คนเราได้เสวย (ได้รับ) ทั้งหมดนี้นั้นล้วนหาเหตุหาปัจจัยมิได้ (อเหตุอปัจจัย)

“ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ 3 พวกนั้น เรา (พระพุทธเจ้า) เข้าไปหา (พวกที่ 1) แล้วถามว่า “ทราบว่า ท่านทั้งหลายมีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้....จริงหรือ?” ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วรับว่าจริง เราก็กล่าวกะเขาว่า “ถ้าเช่นนั้นท่านก็จักต้องเป็นผู้ทำปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์) เพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นเหตุจักต้องเป็นผู้กระทำอทินนาทาน (การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ด้วยอาการลักขโมย)เพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นเหตุจักต้องเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์...... เป็นผู้กล่าวมุสาวาท...ฯลฯ เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ (เป็นผู้เห็นผิด) เพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นเหตุนะสิ”

“ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลมายึดเอากรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นสาระ (เช่นนี้) ฉันทะ (ความพอใจ) ก็ดี ความพยายามก็ดีที่ว่า “สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ” ก็ย่อมไม่มีเมื่อกำหนดถือเอาสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำโดยจริงจังมั่นคงดัง (ว่า) นี้ สมณพราหมณ์พวกนี้ ก็เท่ากับอยู่อย่างหลงสติ ไร้เครื่องรักษา จะมีสมณวาทะที่ชอบธรรมเฉพาะตนไม่ได้ นี้แลเป็นนิคหะอันชอบธรรมอย่างแรกของเราของเราต่อสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้”

“ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น เราเข้าไปหา (พวกที่ 2) ......กล่าวกะเขาว่า “ท่านจักเป็นผู้ทำปาณาติบาต ก็เพราะบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุจักเป็นผู้ทำอทินนาทาน.... ประพฤติพรหมจรรย์...... กล่าวมุสาวาท......ฯลฯ เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิก็เพราะการดลบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเหตุนะสิ”

“ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลมายึดเอาการดลบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าเป็นสาระ (เช่นนี้) ฉันทะ (ความพอใจ) ก็ดี ความพยายามก็ดีที่ว่า “สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ” ก็ย่อมไม่มี เมื่อไม่กำหนดถือเอาสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ไม่ควรทำ โดยจริงจังมั่นคงดัง (ว่า) นี้สมณพราหมณ์พวกนี้ ก็เท่ากับอยู่อย่างหลงสติ ไร้เครื่องรักษา จะมีสมณวาทะที่ชอบธรรมเฉพาะตนไม่ได้ นี้แล เป็นนิคหะอันชอบธรรมของเราต่อสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะ มีทิฏฐิอย่างนี้”

“ภิกษุทั้งหลาย บรรดาพราหมณ์เหล่านั้น เราเข้าไปหา (พวกที่ 3 ) .... กล่าวกะเขาว่า “ท่านจักเป็นผู้ทำปาณาติบาต โดยไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย จักเป็นผู้ทำอทินนาทาน.....ประพฤติพรหมจรรย์.....กล่าวมุสาวาท....ฯลฯ เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ โดยไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยนะสิ”

“ภิกษุทั้งหลายก็เมื่อ บุคคลมายึดเอาความไม่มีเหตุเป็นสาระ (เช่นนี้) ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี (ที่)ว่า “สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ” ก็ย่อมไม่มี ฯลฯ

หลักกรรม ความเชื่อเรื่องกรรมเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งตามหลักคำสอนเกี่ยวกับหลักจริยธรรม กรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการแห่งหลักปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเห็นได้ชัดเมื่อแยกกระบวนการออกเป็น 3 วัฏฏะ คือ กิเลส กรรม และวิบาก หากเราเข้าใจในหลักปฏิจจสมุปบาท ก็จะเข้าใจหลักกรรมชัดเจนไปด้วย

เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องกรรมได้แจ่มชัด อันเป็นการขจัดความสับสนจึงควรศึกษาทัศนะของลัทธิ 3 ลัทธิ ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ ดังนี้

-->> ปุพเพกตเหตุเป็นลัทธิของนิครนถ์ เห็นว่า สุขทุกข์หรืออย่างอื่นใดทั้งปวงที่บุคคลเสวยล้วนมาจากกรรมที่ทำไว้ในปางก่อน การที่บุคคลจะไม่ต้องเสวยสิ่งเหล่านั้นตลอดไปก็เพราะกรรมเก่าหมดสิ้นไปด้วยตบะ ไม่สร้างกรรมใหม่ ก็จะไม่ถูกบังคับต่อไป ได้ชื่อว่าสิ้นกรรมเพราะสิ้นกรรมก็สิ้นทุกข์ เพราะสิ้นทุกข์สิ้นเวทนา เพราะสิ้นเวทนาก็เป็นอันว่าได้สลัดทุกข์หมดสิ้นแล้ว

จากความเห็นของลัทธินิครนถ์ข้างต้นนั้น เป็นทัศนะที่มองไปไกลจนสุดโต่งจนมองเห็นความหมายของกรรมแต่ในแง่กรรมเก่า เป็นการสอนให้คนงอมืองอเท้ารอคอยกรรมเก่าว่าจะดลบันดาลให้เป็นไปอย่างไร ไม่คิดแก้ไขปรับปรุงตนเอง ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิตามมติของพุทธศาสนา แต่มิได้หมายความว่า หลักคำสอนของพุทธศาสนาจะปฏิเสธกรรมเก่าแต่ถือว่ากรรมเก่าก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย คือ มันเป็นผลต่อปัจจุบัน ซึ่งไม่พ้นไปจากทฤษฏีที่ว่าสรรพสิ่งเกิดขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัยที่อาศัยกันเกิด ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุ

-->> อิสสรนิมมานเหตุวาท เห็นว่า สุขทุกข์เป็นผลมาจากการดลบันดาลของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ สรรพสิ่งเป็นไปตามอำนาจการควบคุมของพระเจ้า ลัทธินี้เชื่อว่าการที่คนเราจะฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ประพฤติไม่ประเสริฐ กล่าวเท็จ ฯลฯ เป็นผู้มีความเห็นผิด ก็เพราะการดลบันดาลของพระผู้เป็นเจ้าทั้งสิ้น คำสอนทางพุทธศาสนาเห็นว่า การเห็นของกลุ่มที่ 2 นี้ จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิเช่นกัน เพราะพวกนี้ทำลายคุณค่าทางศีลธรรมและจริยธรรมที่เกี่ยวกับกรรม โดยไปยึดเอาอำนาจนอกเหนือธรรมชาติมาเป็นตัวกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิต จึงฝากชีวิตไว้กับโชคชะตา คอยแต่การดลบันดาลของพระเจ้า พระพุทธองค์ทรงคัดค้านลัทธิอิสสรนิมมานเหตุวาทโดยตรัสแก่ภิกษุว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมายึดเอาอาการบันดานของพระผู้เป็นเจ้าเป็นสาระ ฉันทะก็ดีความพยายามก็ดีว่า “สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ” ก็ย่อมไม่มี ฯลฯ

-->> ลัทธิอเหตุอปัจจยวาท เป็นลัทธิที่เห็นว่า สิ่งทั้งปวงล้วนหาเหตุหาปัจจัยมิได้การที่คนเราจะทำการฆ่า ทำการลักทรัพย์ ฯลฯ เป็นผู้มีความเห็นผิด ก็เป็นไปโดยหาเหตุปัจจัยมิได้ พุทธศาสนาเห็นว่า ลัทธิที่ 3 นี้ ก็มีความเห็นสุดโต่งไปอีกข้างหนึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ พระพุทธองค์ทรงคัดค้านลัทธินี้ด้วยการตรัสแก่ภิกษุว่า

“ภิกษุ ทั้งหลาย เมื่อบุคคลมายึดเอาความไม่มีเหตุเป็นสาระ ฉันทะก็ดีความพยายามก็ดีว่า “สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ” ก็ย่อมไม่มี ฯลฯ

การนำเอาทัศนะของลัทธิทั้ง 3 มากล่าว ก็เพื่อพิจารณาให้เห็นคำสอนเกี่ยวกับกรรมตามทัศนะของพุทธศาสนาได้เด่นชัดขึ้น กล่าวคือ พุทธศาสนาไม่เห็นด้วยที่จะนำเอากรรมเก่ามาเป็นสาระ จึงควรเข้าใจเรื่องกรรมเก่าเพียงเท่าที่มันจะเป็นตามกระบวนการของมันแล้วถือเอาประโยชน์จากกรรมเก่าในแง่เป็นบทเรียน เป็นความหนักแน่นในเหตุผลอันหนึ่ง

และไม่ให้เชื่ออย่างงมงายในเรื่องอำนาจภายนอกที่อยู่เหนือธรรมชาติที่จะดลบันดาลความสุข ความทุกข์ เพราะเป็นเรื่องที่ขาดเหตุผล ทำตนให้ไร้คุณค่า คอยแต่จะพึ่งพาสิ่งที่ได้มาจากความคิดและความเห็นที่เลื่อนลอย พุทธศาสนามิได้ปฏิเสธว่า อำนาจที่มาจากภายนอกไม่มี แต่มันมีจากเหตุปัจจัยที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของธรรมชาติ มิใช่เงื่อนไขที่เลื่อนลอยที่อยู่นอกเหนือไปจากธรรมชาติ คนจะชั่วหรือจะดีมิใช่การดลบันดาลของสิ่งที่เป็นปัจจัย หรือเงื่อนไขที่เลือนลอยนอกเหนือธรรมชาติ

และในทัศนะของลัทธิอเหตุอปัจจยวาท ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิสุดโต่งอีกพวกหนึ่งตามมติของพุทธศาสนา เพราะปฏิเสธเหตุปัจจัยอย่างสิ้นเชิง สรรพสิ่งเป็นไปโดยไม่มีเหตุปัจจัยนั้น ก็เป็นการปฏิเสธกฎแห่งเหตุผล เป็นการทำลายคุณค่าทางศีลธรรม และจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพราะการกระทำทั้งปวงจะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง ไม่มีบาป บุญ คุณ โทษใด ๆ

-->> การศึกษาทัศนะของลัทธิทั้ง 3 จึงเป็นการศึกษาในเรื่องการให้ผลของกรรมที่แตกต่างจากทัศนะของพุทธศาสนา จะเป็นทางป้องกันไม่ให้ลงความเห็นตัดสินความหมาย และเนื้อหาสาระของกรรมง่ายเกินไป ดังนั้น หลักกรรมในพุทธศาสนาจึงเป็นหลักคำสอนที่พุทธศาสนาแสดงให้เห็นถึงเหตุผล อันจะนำไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุผลดี ที่เรียกว่า “จริยธรรม” อันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันตลอดไป

ตามที่ยกเอาพุทธพจน์มากล่าวไว้ข้างต้นนี้ ก็เพื่อป้องกันความเห็นที่มุ่งไปทางใดทางหนึ่งจนสุดโต่ง เช่น การมองเห็นความหมายของกรรมเฉพาะในแง่ของกรรมเก่าอย่างเดียวจนกลายเป็นผู้ที่นั่งนอนรอคอยผลของกรรมเก่า ซึ่งจะบันดาลให้เป็นไป จะไม่เกิดแนวความคิดที่จะแก้ไขปรับปรุงตนเอง กลายเป็นความคิดเห็นที่ผิดอย่างร้ายแรง

การยึดเอาเรื่องของกรรมเก่านั้นตามพุทธพจน์ก็มิได้ปฏิเสธเรื่องกรรมเก่าแต่มีทัศนะว่ากรรมเก่าย่อมมีส่วนอยู่ในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยและย่อมมีผลต่อปัจจุบันสมกับที่ว่าเหตุปัจจัยด้วยเหมือนกัน แต่มันเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยนั่นเอง มิใช่อำนาจนอกเหนือธรรมชาติอะไรที่คนเราจะไปยึดมั่นถือมั่น จนต้องฝากโชคชะตาไว้

3. พุทธพจน์ที่มีต่อเรื่องกรรม มีว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า “บุรุษนี้ทำกรรมไว้อย่างไร ๆ เขาย่อมได้เสวยกรรมนั้นอย่างนั้น ๆ เมื่อเป็นอย่างที่กล่าวนี้การครองชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) ก็มีไม่ได้ (คือไม่มีประโยชน์อะไร) เป็นอันมองไม่เห็นช่องทางที่จะทำความสิ้นทุกข์ให้สำเร็จได้ แต่ทว่าผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า “บุรุษนี้ทำกรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งเวทนาอย่างไร ๆ เขาย่อมได้เสวยวิบากของกรรมนั้นอย่างนั้นๆ “ เมื่อเป็นอย่างที่กล่าวนี้การครองชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) จึงมีได้ (คือสำเร็จประโยชน์) เป็นอันเห็นช่องทางที่จะทำความสิ้นทุกข์ให้สำเร็จได้”

“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนทำกรรมชั่วเพียงเล็กน้อย กรรมนั้นก็สามารถนำไปสู่นรกได้ ส่วนบุคคลบางคนทำกรรมชั่วเพียงเล็กน้อยอย่างเดียวกันนั่นเอง กรรมนั้นเขาเสวยผลสำเร็จไปเสียแต่ในปัจจุบัน ทั้งส่วนที่เล็กน้อยก็ไม่ปรากฏด้วยปรากฏแต่ที่มาก ๆ เท่านั้น”

-->> (มีคำถามว่า) “คนประเภทไหน ทำกรรมชั่วเพียงเล็กน้อย กรรมนั้นก็นำไปสู่นรกได้?

-->> (ตอบว่า) คือ บุคคลบางคนเป็นผู้ไม่ได้อบรมกาย ไม่ได้อบรมศีล ไม่ได้อบรมจิต ไม่ได้อบรมปัญญา มีคุณน้อย มีอัตภาพเล็ก มีปกติอยู่เป็นทุกข์ เพราะวิบากเล็ก ๆ น้อย ๆ บุคคลประเภทนี้ (แหละ) ทำกรรมชั่วเพียงเล็กน้อย กรรมชั่วนั้นก็นำไปสู่นรกได้ (เหมือนกับการใส่ก้อนเกลือไว้ในขันที่มีน้ำน้อย)”

“คนประเภทไหน ทำกรรมชั่วเพียงเล็กน้อยอย่างเดียวกันนั่นเอง กรรมนั้นเขาเสวยผลเสร็จไปเสียแต่ในปัจจุบัน ทั้งส่วนที่เล็กน้อยก็ไม่ปรากฏด้วย ปรากฏแต่ที่มาก ๆ เท่านั้น? คือ บุคคลบางคนเป็นผู้ได้อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา มีคุณไม่น้อย เป็นมหาตมะมีธรรมเครื่องอยู่หาประมาณมิได้ บุคคลประเภทนี้ ทำกรรมชั่วเช่นเดียวกันนั่นเอง กรรมชั่วนั้นเขาเสวยผลเสร็จไปเสียแต่ในปัจจุบัน ทั้งส่วนที่เล็กน้อยก็ไม่ปรากฏด้วย ปรากฏแต่ที่มาก ๆ เท่านั้น (เหมือนกับการใส่ก้อนเกลือลงในแม่น้ำ)”

ในอภิณหปัจจเวกขณสูตร มีการพรรณนาเรื่องการให้ผลของกรรมไว้ว่า “หญิง ชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า

“เรามีกรรมเป็นของของตน เป็นผู้รับผลกรรมของตน มีกรรมเป็นผู้ให้กำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ และมีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น”

การให้ผลของกรรมตามที่ท่านพรรณนาไว้ในอภิณหปัจจเวกขณสูตรนั้นเป็นการอธิบายถึงหลักกรรมที่ว่า กรรมจะให้ผลแก่ใคร อย่างไร ก็จะกล่าวได้ว่ากรรมจะให้ผลแก่บุคคลผู้กระทำนั่นเอง เพราะผู้กระทำนั้นเป็นทายาทของกรรม ผู้กระทำจะมอบหรือโอนให้แก่คนอื่นไม่ได้กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ทรามและประณีต บุคคลทำกรรมใดแล้วย่อมเดือดร้อนในภายหลังกรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลมีหน้าชุ่มด้วยน้ำตาร้องไห้อยู่ ย่อมเสพผลของกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลทำกรรมใดแล้วย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นแล ทำแล้วเป็นดี

ในจูฬกัมมวิภังคสูตร มีการกล่าวถึงการให้ผลของกรรมไว้ ซึ่งอาจแยกเป็นผลของกรรมชั่วและกรรมดีได้ ดังนี้

ผลแห่งกรรมชั่ว

-คนมีอายุสั้น เพราะฆ่าสัตว์

-คนมีโรคภัยไข้เจ็บมาก เพราะเบียดเบียนสัตว์

-คนที่หน้าไม่สวย ผิวพรรณไม่ดี เพราะเป็นคนมักโกรธ

-คนที่มียศศักดิ์ต่ำ เพราะริษยาผู้อื่น

-คนที่เกิดมาเป็นคนยากจน เพราะไม่ เคยบริจาคทาน

-คนที่โง่เขลา เพราะไม่แสวงหาความรู้

-ผู้ที่เกิดในตระกูลต่ำ เพราะเป็นคนกระด้างถือตัว

ผลแห่งกรรมดี

-คนมีอายุยืน เพราะไม่ฆ่าสัตว์

-คนไม่มีโรค เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์

-คนที่หน้าตาสวย ผิวพรรณดี เพราะเป็นคนใจดี ไม่โกรธ ไม่พยาบาท

-คนที่มียศสูง เพราะไม่ริษยาผู้อื่น

-คนที่เกิดมาเป็นคนมั่งมี เพราะทำทานไว้มาก

-คนที่มีปัญญาเฉลียวฉลาด เพราะเป็นผู้สนใจใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ

-คนที่เกิดในตระกูลสูง เพราะเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่โอ้อวด

ในมหากัมมวิภังคสูตร มัชฌิมปัณณาสก์ ได้กล่าวถึงความสลับซับซ้อนในการให้ผลของกรรม ซึ่งอาจสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. คนบางคนทำชั่วไว้มาก ตายแล้วเกิดในทุคติภาพ

2. คนบางคนทำชั่วไว้มาก แต่ตายแล้วเกิดในสุคติภพก็มี

3. คนบางคนทำดีไว้มาก ตายแล้วเกิดในสุคติภพ

4. คนบางคนทำดีไว้มาก แต่ตายแล้งเกิดในสุคติภพก็มี

จากข้อความปรากฏอยู่ทั้ง 4 ข้อข้างต้นนั้น ข้อที่ 1 กับข้อที่ 3 นั้น มีข้อความที่ไม่ชวนให้เกิดความสงสัย เพราะเป็นไปตามกฎแห่งกรรมที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” แต่ข้อความในข้อที่ 2 และข้อที่ 4 นั้น ชวนให้เกิดความสงสัยว่า คนที่ทำชั่วแล้ว หลังจากที่ตายได้ไปเกิดในสุคติภพได้อย่างไร ในการแสดงถึงหลักกรรม ในข้อที่ 2 และ 4 นั้น นักปราชญ์ท่านอธิบายไว้ดังต่อไปนี้

ข้อที่ 2 การที่คนบางคนในโลกนี้ ทำชั่วไว้มากมาย ครั้งตายไปแล้วกลับได้ไปเกิดในสุคติภพนั้น เป็นเพราะขณะที่เขากำลังจะสิ้นใจนั้น เขาได้ระลึกถึงกรรมดีที่เขาเคยกระทำไว้หรือมีความคิดเห็นที่ถูกต้องตามคลองธรรม ตายแล้วจึงได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ มิได้หมายความว่า เขาทำกรรมชั่วไว้มากมาย ตายแล้วได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์เพราะผลของกรรมชั่วนั้นก็หาไม่ หรือมิใช่กรรมชั่วเป็นเหตุ หากแต่เป็นเพราะจิตที่ผ่องใสก่อนจะสิ้นใจเป็นเหตุ ดังพุทธภาษิตที่ปรากฏอยู่ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ตอนหนึ่งว่า “จิตฺเตอสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา” ซึ่งแปลว่า เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว ก็หวังได้ว่าจะไปสู่สุคติภพ

ข้อที่ 4 บางคนในโลกนี้ ทำดีไว้มากมาย แต่ครั้งตายลงกลับไปเกิดในทุคติหรือนรกนั้นเป็นเพราะขณะที่กำลังจะสิ้นใจ เขากลับไประลึกถึงกรรมชั่วที่ตนทำไว้แล้ว หรือมีความคิดเห็นที่ผิดไปจากคลองธรรม หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในทุคติหรือนรก มิใช่เพราะความดีเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาไปเกิดในทุคติ หรือนรกแต่อย่างใด แต่หากเป็นเพราะจิตของเขาเศร้าหมองขณะที่เขาเศร้าหมองขณะที่เขากำลังจะสิ้นใจนั่นเองเป็นเหตุ ดังพุทธภาษิตว่า “จิตฺเต สงฺกิลิฏฺฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา” ซึ่งแปลว่า เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว ก็หวังได้ว่าจะไปสู่สุคติภพ

การเปรียบเทียบการให้ผลของกรรม

การให้ผลของกรรมมีความละเอียดลึกซึ้ง ซึ้งมีองค์ประกอบปลีกย่อยที่ให้เป็นไปแตกต่างกัน เช่น ความแตกต่างของตัวของผู้กระทำ สิ่งที่ถูกกระทำ เวลา หน้าที่และความถูกต้องแตกต่างกัน เช่น ความแตกต่างของตัวผู้กระทำ สิ่งที่ถูกกระทำ เวลา หน้าที่และความถูกต้องตามลำดับ เป็นต้น ซึ่งจะขอยกตัวอย่างในประเด็นต่าง ๆ โดยสังเขปต่อไปนี้ คือ

1. การทำกรรมอย่างเดียวกัน แต่อาจให้ผลดี - ชั่วไม่เท่ากัน หากผู้กระทำมีเจตนาไม่

เท่ากัน เช่น คนสองคนได้ฆ่าคนตายเหมือนกัน เป็นบาปไม่เท่ากัน คนแรกฆ่าเขาตายด้วยความอาฆาต แต่คนที่สองฆ่าคนตาย เพราะความประมาทเลินเล่อ คนแรกจึงบาปมากกว่า (มีโทษมากกว่า) เพราะมีเจตนาแรงกล้า แต่คนหลังบาปน้อย เพราะไม่มีเจตนาจะให้ตาย

2. ทำกรรมอย่างเดียวกัน มีเจตนาเท่ากัน แต่อาจได้บุญ-บาปไม่เท่า ถ้าหากสิ่งที่ถูกฆ่ามี

คุณสมบัติไม่เท่ากัน เช่น คนสองคนมีเจตนาอาฆาตอย่างแรงกล้าเหมือนกัน และได้ฆ่าคนจนถึงแก่ความตายตามเจตนานั้นเหมือน ๆ กัน ถ้าคนแรกไปฆ่าคนที่เป็นโจรตายส่วนคนทีสองไปฆ่ามารดาของตนเองตาย คนแรกจึงบาปน้อยกว่า ส่วนคนที่สองถือว่าเป็นบาปหนัก เพราะถือว่าเป็นการกระทำอนันตริยกรรม เป็นผู้ที่ถูกห้ามมรรค ฯลฯ

3. การทำกรรมอย่างเดียวกัน มีเจตนาแรงเท่ากัน และผู้ที่ถูกฆ่ามีคุณสมบัติ และมีคุณธรรมเท่ากัน อาจได้บุญ-บาปไม่เท่ากัน เช่น นาย ก. กับนาย ข. ต่างก็มีจิตคิดอาฆาตศัตรูของตน และศัตรูสองคนที่จะถูกฆ่านั้นมีคุณสมบัติและคุณธรรมเท่า ๆ กัน แต่ผู้ที่จะฆ่า คือ นาย ก. กับนาย ข. มีคุณสมบัติ และคุณธรรมไม่เท่ากัน จะได้รับผลกรรมไม่เท่ากัน เช่น นาย ก. มีคุณงามความดีมาก ส่วนนาย ข. เป็นคนโหดร้ายทารุณ เห็นการฆ่าเป็นสิ่งที่สุขใจ มีความดีในตัวน้อยดังนั้น นาย ก. ได้รับผลกรรมน้อย นาย ข. เป็นคนโหดร้ายทารุณ เห็นการฆ่าเป็นสิ่งที่สุขใจ มีความดีในตัวน้อยดังนั้น นาย ก. ได้รับผลกรรมน้อย นาย ข. จะได้รับผลกรรมมากกว่า

-->> ในการให้ผลของกรรมดังกล่าวนี้ พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบไว้ว่า ถ้าเอาเกลือ 1 กำมือใส่ลงไปในแก้วน้ำกับใส่ลงไปในแม่น้ำคงคา ผลของเกลือในที่ทั้งสองย่อมแตกต่างกัน นั่น คือ น้ำในแก้วน้ำจะเค็ม (เข้มข้น) กว่าน้ำในแม่น้ำคงคา น้ำในแม่น้ำคงคาก็เปรียบเทียบเหมือนผู้ที่มีคุณงามความดีที่มีอยู่ในตัวมาก ส่วนน้ำในแก้วน้ำก็เปรียบเหมือนผู้ที่มีคุณงามความดีในตัวน้อยนั่นเอง

การแสดงออกมาในลักษณะต่าง ๆ ของผลกรรม

กรรมที่บุคคลกระทำลงไปแล้ว ย่อมแสดงผลออกมาในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งอาจสรุปได้ดังนี้

1. ผลทางจิตใจ การกระทำกรรมทุกชนิดย่อมเป็นการสร้างคุณภาพดี- ชั่วให้แก่จิตถ้าประกอบกรรมอันเป็นฝ่ายชั่วด้วยเจตนา กรรมก็จะให้ผลเป็นความทุกข์ หากประกอบกรรมดีด้วยเจตนา กรรมก็จะให้ผลเป็นความสุข ความสบาย

2. ผลทางกาย ร่างกายย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของจิต (ใจ) เช่น เมื่อใดเราไม่สบายใจ มีทุกข์ใจด้วยสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง กายก็จะพลอยไม่สบายไปด้วย เช่น มีสีหน้าคล้ำเศร้าหมองอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคภัยตามมาเช่น เกิดโรคกระเพาะ โรคหัวใจ โรคความดัน เป็นต้น

3. ผลทางสังคม ในแต่ละสังคมนั้น คนในสังคมย่อมจะกำหนดเกณฑ์ความประพฤติเรื่องความดี ความชั่วไว้ แล้วพากันรักษากฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้นั้น เพื่อให้สังคมดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เรียบร้อย ให้เกิดความสงบสุขแก่สมาชิกในสังคม หากสมาชิกคนใดประพฤตินอกรีตนอกรอยจากกฎเกณฑ์ดังกล่าว ก็จะถูกลงโทษตามความหนักเบาของกฎเกณฑ์นั้น ๆ ซึ่งจะอยู่ในเรื่องของความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และทุกข์ ส่วนสมาชิกของสังคมประพฤติไปตามเกณฑ์ที่สังคมกำหนดขึ้น ก็จะได้ ลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุข

หน้าที่ของกรรม

หน้าที่ของกรรม ตามหลักแห่งพุทธธรรมนั้นมีกล่าวไว้ในที่ต่าง ๆ พอจะยกมากล่าวเป็นตัวอย่างเป็นบางหัวข้อ ดังต่อไปนี้

1. กรรมทำหน้าที่แยกสัตว์ให้ดีหรือเลว หมายความว่า การกระทำเป็นตัวชี้แนะ ให้รู้ว่า การกระทำนั้นดี หรือไม่ดี ล้วนขึ้นอยู่กับการกระทำ ไม่ใช่เพราะสิ่งอื่นมาดลบันดาล(ให้ดีหรือเลว)

2. การทำกรรมเหมือนการหว่านพืชพันธุ์ มีพุทธศาสนาสุภาษิตบทหนึ่งว่า “ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ” ซึ่งแปลว่า คนหว่านพืชชนิดใด ย่อมได้ผลเป็นพืชชนิดนั้น หมายถึง กระทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี กระทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว

3. การเป็นคนชั่วหรือคนดีอยู่ที่การกระทำ หลักพุทธธรรมสอนเน้นในเรื่องกรรมเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการสอนที่ค้านต่อคำสอนของลัทธิพราหมณ์ (ฮินดู) ซึ่งมีอยู่ก่อนพระพุทธศาสนาที่สอนว่า คนจะชั่วจะดีอยู่ที่การเกิด หากคนเกิดมาในวรรณะกษัตริย์ก็ถือว่าเป็นคนดี แต่หากคนเกิดมาจากวรรณะศูทรก็ถือว่าเป็นคนเลว และยังกำหนดต่อไปว่า คนดีก็ต้องเป็นคนดีตลอดไป คนชั่วก็ชั่วตลอดไปในชาตินี้ หากคนชั่ว (คนที่เกิดในวรรณะศูทร) ต้องการเป็นคนดีก็ต้องตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่ที่พระผู้เป็นเจ้ากำหนดให้ หลังจากตายไปแล้วถึงจะได้เกิดเป็นคนดี หมายถึงไปเกิดในวรรณะที่สูง สำหรับชาตินี้จะต้องเป็นคนเลวตลอดไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือยกระดับฐานะของตนได้ ดังนั้น คำสอนทางพุทธศาสนาจึงกล่าวว่า “บุคคลไม่ได้เป็นคนถ่อย คนดีเพราะชาติ (การเกิด) หากเป็นเพราะการกระทำ (กรรม) บุคคลเป็นชาวนา เป็นนักศิลปะเป็นพ่อค้า เป็นคนรับใช้ เป็นโจร เป็นทหาร เป็นนักบูชายัญ เป็นพระราชา ก็เพราะการกระทำ โลกเป็นไปเพราะกรรม หมู่สัตว์เป็นไปเพราะกรรม หมู่สัตว์ผูกพันอยู่กับกรรมเหมือนลิ่มสลักเป็นเครื่องยึดรถที่แล่นอยู่ฉะนั้น”

4. กรรมชั่วกับกรรมดีให้ผลต่างกัน หมายถึง กรรมแต่ละชนิดจะทำหน้าที่ของตนกรรมชั่วก็จะทำหน้าที่ให้ผลในทางชั่ว กรรมดีก็จะทำหน้าที่ให้ผลในทางดี ดังคำสอนที่ว่า “ทำบาปเอง ย่อมเศร้าหมองเอง ไม่ทำบาป (ชั่ว) ด้วยตนเอง ก็บริสุทธิ์เอง คนอื่นจะทำให้ผู้อื่นบริสุทธิ์หรือมัวหมองหาได้ไม่ เพราะความบริสุทธิ์หรือความไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตัว” เป็นต้น

กรรมคืการกระทำ

ขอบคุณมากคับสำหรับความรู้ดีๆ ^^

ี ัเาระั่ทฃ







ความคิดโง่ๆๆๆๆ

สาธุ สาธุ สาธุ

กรรมมีจริงครับ ควรสะสมกรรมดีไว้ อย่างน้อยก็ยึดศีลห้าไว้นะครั

ขออนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งที่ได้ลงเรื่องเกี่ยวกับกรรมให้ท่านทั้งหลายได้เข้ามาค้นคว้าษึกษาหาความรู้ และได้ประสบการดีๆ ขอเจริญพร…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท