การผสมผสานและการบูรณาการการเรียนรู้ : แนวคิดและมิติชุมชน


แนวคิดเรื่องการจัดการเรียนรู้อย่างผสมผสานนั้น มีฐานคิดและแนวทฤษฎีที่สำคัญซึ่งควรนำมาพิจาณา ๓ เรื่อง โดยมีแนวคิดอื่นๆเป็นภาคขยายจากกรอบคิดเหล่านี้ คือ

(๑) การบูรณาการประสบการณ์ทางการเรียนรู้และการสร้างความเข้มข้นทางประสบการณ์

สำหรับคนทำงานทางการศึกษาและนักเทคโนโลยีการศึกษา ก็ขอให้นึกถึงกรวยประสบการณ์ของ เอดการ์ เดล (Edgar Dale's Cone of Experiences)นะครับ หรือเข้าไปดูในบทความซึ่งผมได้นำมากล่าวถึงอย่างละเอียดพอสมควรในโรงมโหรสพทางวิญญาณของสวนโมกข์ ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้กับการเกิดประสบการณ์ระดับต่างๆของปัจเจกนี้ ให้หลักการที่นำเอามาเป็นแนวพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาในแนวผสมผสานและบูรณาการ ก็เนื่องจากเขาพบว่าการเพิ่มช่องทางและเพิ่มโอกาสในการเกิดประสบการณ์ได้หลายๆทางให้กับผู้เรียนกลุ่มต่างๆนั้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้และให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ได้อย่างสูงสุด 

(๒) การคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาการศึกษาและกระบวนการจัดการเรียนการสอนในระบบโรงเรียน (Schooling and School-Based Education System )

ในความเป็นจริงแล้ว กระบวนการศึกษาและเรียนรู้ เป็นองค์ประกอบของชีวิตที่จะขาดไม่ได้ ดังนั้น จึงมีบทบาทต่อการพัฒนาปัจเจกและชุมชนระดับต่างๆอยู่ตลอดชีวิต เทคโนโลยีการศึกษาซึ่งก็เป็นมิติหนึ่งของการสร้างขีดความสามารถเพื่อการสร้างสรรค์ของมนุษย์ในทุกขอบเขตของชีวิตประจำวันเช่นกัน จึงมิได้มีอยู่แต่ในการศึกษาในระบบที่เราคุ้นเคยอย่างเดียวเท่านั้น ทว่า เป็นอีกมิติหนึ่งในทุกกระบวนการศึกษาเรียนรู้ที่อยู่ในทุกกิจกรรมของชีวิตไปด้วย

แต่ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อกล่าวถึงการศึกษาและเทคโนโลยีการศึกษา ทั้งนักการศึกษา นักเทคโน และคนทั่วไป ก็มักจะมุ่งพิจารณาไปยังการศึกษาในระบบโรงเรียนและการศึกษาของภาคที่เป็นทางการ ดังนั้น การเห็นบริบทของปัญหาภายใต้สภาวการณ์ของการศึกษาเรียนรู้ในภาคที่เป็นทางการนี้ไปด้วยก่อน จึงจะทำให้เห็นลักษณะจำเพาะที่นำมาสู่การออกแบบกระบวนการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาที่ทำให้แก้ปัญหาตามความต้องการดังกล่าวนั้นๆตามที่ต้องการได้อย่างดี

การศึกษาในภาคที่เป็นทางการนั้น มีปัญหาที่แก้ไม่ตกด้วยวิธีการที่ดีอย่างอื่นเกิดขึ้นหลายอย่างที่นำมาสู่การคิดค้นและก่อเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาและนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ เช่น การขาดกำลังคน ขาดครูทั้งในแง่จำนวนที่พอเพียงและความสามารถของครูที่ตรงกับวิชาที่ต้องสอน เด็กและคุณลักษณะผู้เรียนมีขอจำกัด ขาดทรัพยากรทางการศึกษา ขาดงบประมาณ และอีกจิปาถะ ซึ่งทำให้ดำเนินการเรียนการสอนและจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาทางการศึกษาหลายอย่าง เช่น เด็กเรียนไม่ทัน จำนวนครูไม่พอสอน การศึกษาเพิ่มเติมเพื่อแนะแนวและเตรียมอนาคตให้เด็กไม่พอ คุณภาพการเรียนการสอนไม่พอต้องสอนซ่อมเสริมแต่ก็ไม่มีกำลังทำ เหล่านี้เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อมก็ทำให้เกิดแรงกดดันต่อการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการศึกษาเรียนรู้ อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น

สภาวการณ์และความจำเป็นมากมายที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาที่มุ่งผสมผสานการเรียนรู้และการเรียนการสอน เป็นทางออกและให้คำตอบที่ดีอย่างหนึ่ง ซึ่งบริบทและเงื่อนไขแวดล้อมอย่างนี้ก็จะทำให้เราเข้าใจเหตุผลที่อยู่ภายในกิจกรรมและกระบวนการต่างๆที่ได้มีการออกแบบขึ้นมา

(๓) การเพิ่มศักยภาพและขยายขีดความสามารถของกระบวนการทางการศึกษา

การเพิ่มศักยภาพและขยายขีดความสามารถของกระบวนการทางการศึกษาให้บรรลุผลสำเร็จมากยิ่งขึ้นอย่างสูงสุดด้วยการพัฒนาด้านวิทยาการและเทคโนโลยีแล้วประยุกต์ใช้เพื่อการศึกษา (Educational Technology for Education Reform) ก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่จะต้องนำเอามาเป็นกรอบพิจารณาเพื่อเห็นรูปแบบการจัดกะบวนการเรียนรู้อย่างผสมผสานในเชิงพัฒนาการ ซึ่งการเรียนรู้อย่างผสมผสานในแง่การพัฒนาด้วยเทคโนโลยีนี้ จัดว่าเป็นแนวทางที่มีการพัฒนาอยู่มากพอสมควรแล้วของการทำงานด้วยปัจจัย IECT : Information, Education, Communication Technology ในยุคการพัฒนาการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วถึงเมื่อ ๕๐-๖๐ ปีก่อนของโลกการศึกษา ซึ่งก็เหมือนกับที่มีกลยุทธเรื่อง IEC Program : Information,Education, Communication Intervention Program ในด้านการพัฒนาประชากรศึกษาและการพัฒนาสาขาต่างๆซึ่งร่วมสมัยยุคเดียวกันเช่นกัน 

Blended e-Learning : อินเทอร์เน็ตกับการเรียนรู้ผสมผสาน

ความแตกต่างและลักษณะร่วมกันของวิธีการ ผสมผสาน และ บูรณาการ ในสาขาการพัฒนาต่างๆ

ในอดีตนั้น การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานและการจัดกระบวนการเรียนรู้จากสื่อประสม ก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากว่ามีนัยะต่อความแตกต่างในเชิงระเบียบวิธีกันอย่างไรหรือไม่ระหว่างการใช้คำว่า ผสมผสาน กับ การประสม เพราะบางครั้งก็เรียกและให้นิยามปฏิบัติการกันว่า Mixed-Method Learning, Mixed-Media for Learning Development, Multi-Methods Learning และในการออกแบบกิจกรรมตามแนวคิดกรวยประสบการณ์ของเอดการ์เดลที่นักการศึกษาและนักเทคโนโลยีการศึกษารู้จักแพร่หลายกันดีทั่วโลกนั้น เขาก็ใช้คำว่า Integration มากกว่า Mixed-Method และ Blended Learning อย่างเป็นที่รู้จักและใช้กันมากกว่าในวงการศึกษาปัจจุบัน

การผสมผสานและบูรณาการเชิงระบบวิศวกรรม

อย่างไรก็ตาม คำว่า Integration Development และ Integration Learning for Change ในวงการอื่นที่นำเอามิติการศึกษาเข้าไปขับเคลื่อนการทำงานนั้นๆ ก็มีเช่นกัน ทว่า เมื่อเทียบเคียงกับในวงการศึกษา ก็จะพบว่ามีความแตกต่างทั้งวิธีคิดและลักษณะของเนื้องานที่เกี่ยวข้องมากเลยทีเดียว เช่น ในสาขาวิศวกรรมนั้น คำว่าผสมผสานและบูรณาการ ก็จะหมายถึงการรวมเอาบทบาทหน้าที่เชิงระบบและกลไกให้มาทำงานผสมผสานกัน โดยหลักๆเลยก็เพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์สำคัญคือ การทำให้เกิดผลการทำงานด้วยระบบที่เชื่อมโยงกันแล้วก่อเกิดผลผลิตและผลลัพธ์อย่างใหม่เกิดขึ้น เช่น รถยนต์เกิดจากการเชื่อมโยงผสมผสานกันของหลายระบบย่อย แล้วก่อเกิดคุณสมบัติอย่างใหม่ขึ้นมาซึ่งไม่มีอยู่ในระบบย่อยส่วนใดอย่างเป็นการจำเพาะอีกด้วย

อีกวัตถุประสงค์หนึ่งของการผสมผสานก็คือ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์การใช้สอยปัจจัยร่วมกันแต่ระบบอันเกิดจากการผสมผสานและบูรณาการกันนั้น สามารถทำงานที่ต้องการได้หลายหน้าที่ (Multi-Functional delivered) และมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมหลายอย่าง เช่น Integrated Amplify และ Multi-Media ในยุคต่างๆ ก็มีที่มาจากการบูรณาการวงจรการทำงาน ซึ่งผสมผสานกันหลายระบบของสื่อ (เสียง ภาพ ข้อมูลตัวอักษร  ภาพเคลื่อนไหว โทรศัพท์ เครื่องเล่นเทป โทรทัศน์) ทำให้ได้ระบบที่ไม่ซับซ้อนแต่ทำหน้าที่ได้หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ทั้งทำงานร่วมกันเพื่อจุดหมายเดียว และทำงานแยกกันแต่ใช้วงจรและระบบพื้นฐานร่วมกัน

การผสมผสานและการบูรณาการในการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐาน

ในด้านการวิจัยและการพัฒนา ก็มีการใช้ว่าการพัฒนาแนวผสมผสานบ้าง การพัฒนาอย่างบูรณาการบ้าง การวิจัยแบบบูรณาการบ้าง อีกทั้งในปัจจุบัน ก็มีการพัฒนาระเบียบวิธีการวิจัยแบบผสมผสานและการวิจัยแบบบูรณาการขึ้นมา เป็นระเบียบวิธีวิจัยที่จัดว่าเป็นขั้นก้าวหน้าของวงวิชาการอีกด้วย ในด้านการพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานซึ่งทำในประเทศไทยและทั่วโลกมากว่า ๒๐-๓๐ ปีแล้ว บางครั้งก็จะเห็นนักพัฒนานิยามว่าการพัฒนาแนวผสมผสานและการพัฒนาสุขภาพอย่างบูรณาการ

ตัวอย่างดังที่กล่าวมาเหล่านี้ เมื่อเห็นแล้วก็อาจจะคิดว่าน่าจะคล้ายและเหมือนกับวงการเทคโนโลยีการศึกษานะครับ ทว่า หากเข้าไปศึกษาในรายละเอียดแล้วก็จะเป็นคนละเรื่องเลย ไม่เหมือนครับ ไม่เหมือน เหตุที่ไม่เหมือนก็เพราะฐานคิดในเชิงทฤษฎีไม่เหมือนกันและมองกันคนละระดับ หรือมีบริบทและหน่วยในการวิเคราะห์ไม่เท่ากันนั่นเองครับ

การผสมผสานและการบูรณาการในการพัฒนาแบบสหสาขา

อย่างการบูรณาการทางการศึกษาในสาขาประชากรศึกษาและการพัฒนาสุขภาพ รวมไปจนถึงการพัฒนาในสาขาต่างๆที่ไม่ใช่การพัฒนาการศึกษาในห้องเรียนนั้น การผสมผสานและการบูรณาการ ก็จะหมายถึงการขยายกรอบปฏิบัติจากที่เป็นการมุ่งบรรลุผลสูงสุดต่อจุดหมายเดี่ยว (Singularity Goal and Objective) ไปสู่การมุ่งบรรลุผลสูงสุดไปพร้อมกันหลายด้านหลายวัตถุประสงค์ (Multiples-Objectives and Complicated Goals) ในเวลาเดียวกัน เช่น ต้องบูรณาการเพื่อมุ่งสู่ทั้งเป้าหมายทางการศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองภาคทางการ การเมืองภาคประชาชน และอื่นๆ วัตถุประสงค์ของส่วนรวม วัตถุประสงค์ของปัจเจก วัตุประสงค์เชิงนโยบายของภาครัฐ วัตถุประสงค์ของเอกชนและประชาชน เหล่านี้เป็นต้น

มองในแง่นี้ก็จะเห็นว่ามิใช่เพียงการออกแบบและการแก้ปัญหาทางเทคนิคด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเท่านั้น ทว่า เป็นการทำงานออกแบบระดับวิถีคิด(Reconceptualization) เพื่อสร้างกระบวนทรรศน์ในการพัฒนาอย่างใหม่ในเรื่องนั้นๆเลยทีเดียว อีกทั้งมีความหมายต่อการทำงานอย่างเห็นความเป็นไปของสังคมมาก เพราะบางเรื่องในโลกความเป็นจริงนั้น หลายอย่างที่เป็นความจำเป็นของสังคมไม่สามารถแยกส่วนและลดทอนให้ง่ายเพื่อทำอย่างเอกเทศ ต้องทำในเวลาเดียวกันแต่ให้ครอบคลุมสิ่งที่ต้องการให้ทั่วถึงมากที่สุด การผสมผสานและการบูรณาการในสาขาการพัฒนาดังกล่าว จึงอาจจะมีความแตกต่างไปจากที่ใช้ในวงการศึกษา เพราะกรอบแนวคิดและทรรศนะต่อมิติการศึกษาเรียนรู้ที่นำเอามาเชื่อมโยงกับการพัฒนาในสาขานั้นๆ กินขอบเขตกว้างขวางกว่าการศึกษาในห้องเรียนและการศึกษาในระบบโรงเรียน

การผสมผสานการเรียนรู้ในนิยามและทรรศนะของนักการศึกษาและนักเทคโน ที่มักใช้ว่า Blended Learning นั้นก็จะมุ่งเน้นไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะมุ่งบูรณาการในเชิงประสบการณ์หลายๆอย่าง หลายๆช่องทางเพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการศึกษาเรียนรู้โดยมีวัตถุประสงค์เชิงเดี่ยวและไม่ซับซ้อนมากนักเป็นเกณฑ์ เมื่อพิจาณณาตามเงื่อนไขแวดล้อมอย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะเรียกว่า Blended Learning มากกว่าใช้ Integration Learning อย่างในวงการอื่นๆ

ผสมผสานและบูรณาการเชิงระเบียบวิธีการวิจัย

ส่วนในเรื่องการวิจัยและพัฒนานั้น ก็มีการใช้ปนกันทั้งการผสมผสาน การผสมระเบียบวิธี การวิจัยแย่างบูรณาการ แต่ถ้าหากเข้าใจหลักการแล้วก็จะไม่เกิดความสับสนแต่อย่างใด สามารถเข้าใจและมีแนวการพิจารณาได้ชัดเจนพอสมควร โดยตรวจสอบดูในเรื่องวัตถุประสงค์กับระเบียบวิธีที่ได้ออกแบบกับปฏิบัติการวิจัยในเรื่องต่างๆ

หากเด่นออกไปในเรื่องการขยายกรอบเกี่ยวกับจุดหมายและวัตถุประสงค์ ซึ่งโดยปรกติแล้วงานวิจัยโดยทั่วไปก็ต้องมีจุดหมายเพื่อมุ่งสร้างความรู้ แต่ปัจจุบัน งานวิจัยและพัฒนาอาจมุ่งบรรลุผลหลายอย่างไปด้วยกัน ไม่ใช่ต้องการสร้างแต่ความรู้อย่างเดียว แต่ต้องการแก้ปัญหาและพัฒนาด้านต่างๆให้เกิดขึ้นได้จริงๆด้วย เช่น การพัฒนาคน พัฒนาสังคมประชากรในพื้นที่ พัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาการศึกษาและการสื่อสารเรียนรู้ พัฒนาสุขภาพและสุขภาวะ ขณะเดียวกัน ก็มุ่งได้ความรู้และการสร้างสิ่งใหม่ทั้งในเชิงทฤษฎี วิชาการ และนวัตกรรมทางการศึกษา ไปด้วย การดำเนินการอย่างนี้ก็จะเห็นว่าเรียกการวิจัยและพัฒนาแนวผมผสานก็มี การวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการก็มี ซึ่งในทรรศนะผมแล้ว เห็นว่าควรเรียก Integration Research and Development เนื่องจากมีเงื่อนไขความจำเป็นและจุดเน้นที่แตกต่างกันหลายอย่างดังที่กล่าวถึงในข้างต้น

แต่ถ้าหากดำเนินการคล้ายกัน ทว่า เน้นการใช้ระเบียบวิธี(Methodology and Methods) หลายอย่าง เพื่อให้มุ่งแก้ปัญหาและบรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาหลายอย่างไปพร้อมกันเหมือนกัน แต่ให้ความสำคัญต่อการสร้างความรู้และบริหารจัดการด้วยระเบียบวิธีที่อิงการใช้ระเบียบวิธีทางความรู้ การใช้วิชาการ (Knowledge-Based and Problem-Based Learning Oriented : K-PBL) และวิธีวิทยาในการสร้างความรู้ที่เชื่อมโยงใกล้ชิดกับภาคปฏิบัติการมากกว่า ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นเหตุเป็นผลเพื่อการสร้างความเข้มแข็งหนักแน่นของการได้ความรู้ด้วยการผสมผสานทางระเบียบวิธี จึงควรเรียกว่า Mixed-Method ซึ่งใกล้เคียงกับ Blended Learning มาก 

คุณลักษณะเฉพาะของ Blended e-Learning และนัยสำคัญต่อการพัฒนาในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองภายใต้บริบทและกรอบทฤษฎีที่กล่าวถึงในข้างต้นแล้ว ก็จะพบว่า Blended e-Learning ซึ่งเป็นรูปแบบการผสมผสานการเรียนรู้และนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นองค์ประกอบดำเนินการนั้น มีวัตถุประสงค์จำเพาะเป็นตัวตั้ง แล้วมุ่งผสมผสานเชิงวิธีการและกระบวนการ เพื่อบูรณาการเชิงประสบการณ์ทางการเรียนรู้หลายๆช่องทาง แต่อิงอยู่กับจุดหมายหลักจุดหมายเดียวตามที่ต้องการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้นั้นๆ นั่นเอง

การเห็นแง่มุมเล็กน้อยที่เหมือนกัน ทว่า แตกต่างกันทั้งวิถีคิดและวิธีปฏิบัติเหล่านี้ อาจเป็นเรื่องที่สำคัญมากเหมือนกัน เพราะถ้าหากมองในแง่การทำงานเชิงขับเคลื่อนชุมชนและสร้างพลังสังคมไปด้วยแล้ว ก็จะทำให้คนต่างวงการ ต่างศาสตร์ ต่างสาขาความเชี่ยวชาญ สามารถเห็นทั้งความแตกต่างและแง่มุมที่มีความเชื่อมโยงกัน และอาจนำไปพัฒนาแนวคิดเพื่อพัฒนาเครือข่ายการทำงานแนวผสมผสานหรือบูรณาการ ให้ได้รูปแบบดำเนินการใหม่ๆที่ดีมากขึ้นเป็นลำดับได้ต่อไป.

..........................................................................................................................................................................

หมายเหตุ : ปรับปรุงจากการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครูอ้อยเล็ก : คุณครูวัชรี โชติรัตน์ ในหัวข้อ Process of Learning Design ซึ่งมีเนื้อหามากและเห็นว่าคงจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้เขียนเองและต่อผู้ที่สนใจจะได้ค้นหาได้สะดวกและเป็นหมวดหมู่จำเพาะมากกว่าเดิม ผู้เขียนจึงนำมาเรียบเรียงไว้เป็นอีกหัวข้อหนึ่งต่างหาก

หมายเลขบันทึก: 326350เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2010 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • มีคนถามเรื่องนี้ผมด้วย

Blended e-Learning 

ความแตกต่างและลักษณะร่วมกันของคำว่า ผสมผสาน และ บูรณาการ ในสาขาการพัฒนาต่างๆ

  • คนข้างบนครับ
  • ฮ่าๆๆ
  • ผมเรียนเรื่องนี้ตอนเรียนปริญญาเอกครับ

1.หัวข้อ Blended learning 
 
1.1 ความหมายและความสำคัญ
 
เบล็นเด็ดเลินนิ่ง หมายถึง กระบวนการเรียนรู้ ที่ผสมผสานรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ผสมผสานกับการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ผู้เรียนผู้สอนไม่เผชิญหน้ากัน หรือการใช้แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่หลากหลาย กระบวนการเรียนรู้และกิจกรรมเกิดขึ้นจากยุทธวิธี การเรียนการสอนที่หลากรูปแบบ เป้าหมายอยู่ที่การให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้เป็นสำคัญ
            การสอนด้วยวิธีการเรียนรู้แบบผสมผสานนั้น ผู้สอน สามารถใช้วิธีการสอน สองวิธีหรือมากกว่า ในการเรียนการสอน เช่น ผู้สอนนำเสนอเนื้อหาบทเรียนผ่านเทคโนโลยีผนวกกับการสอนแบบเผชิญหน้า แต่หลังจากนั้นผู้สอนนำเนื้อหาบทความแขวนไว้บนเว็บ จากนั้นติดตามการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้อีเลินนิ่ง ด้วยระบบแอลเอ็มเอส (Learning Management System ) ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ในห้องแล็บ หลังจากนั้นสรุปบทเรียน ด้วยการอภิปรายร่วมกับอาจารย์ผู้สอนในห้องเรียน
  
 
1.2 การใช้งานจริง ณ ขณะกรณีศึกษา
 
การใช้ Blended Learning ในองค์กร หรือบริษัท ช่วยในการประชุม การสั่งงาน โดยมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระบบเครือข่าย ส่วนมาก นิยมใช้ระบบ LMS เป็นระบบการบริหาร ผ่าน Sever เป็นระบบเครือข่ายผู้ใช้งานในระบบ
             1. กลุ่มผู้บริหาร Administrator ทำหน้าที่ดูแลระบบ
             2. กลุ่ม ครู อาจารย์ Instructor/ teacher ทำหน้าที่สอน
             3. กลุ่มผู้เรียน Student /Guest นักเรียน นักศึกษา
สำหรับขั้นตอนการออกแบบการเรียนรู้แบบผสมผสานของ Beijing Normal University (BNU) ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลักดังนี้
            1. ขั้นก่อนการวิเคราะห์ (Pre-Analysis)
                        1.1 การวิเคราะห์คุณสมบัติของผู้เรียน
                        1.2 การวิเคราะห์วัตถุประสงค์ในการเรียนรู้
                        1.3 การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของการเรียนรู้แบบผสมผสาน
            2. ขั้นตอนการออกแบบกิจกรรมและการออกแบบวัสดุการเรียนรู้ (Design of Activity and Resources)
                          2.1 การออกแบบภาพรวมของการเรียนรู้แบบผสมผสาน ประกอบด้วย
                                         - กิจกรรมการเรียนรู้แต่ละหน่วยเรียน
                                        - กลยุทธ์การนำส่งบทเรียนในการเรียนรู้แบบผสมผสาน
                                        - ส่วนสนับสนุนการเรียนรู้แบบผสมผสาน
                          2.2 การออกแบบกิจกรรมแต่ละหน่วยเรียนประกอบด้วย
                                         - นิยามผลการกระทำของผู้เรียน
                                         - กิจกรรมในแต่ละวัตถุประสงค์
                                         - การจัดกลุ่มของกิจกรรมทั้งหมด
                                         - การประเมินผลในแต่ละหน่วยเรียน
                          2.3 การออกแบบและพัฒนาวัสดุการเรียนรู้ประกอบด้วย
                                          - การเลือกสรรเนื้อหาสาระ
                                          - การพัฒนากรณีต่าง ๆ
                                          - การนำเสนอผลการออกแบบและการพัฒนา
            3. ขั้นตอนการประเมินผลการเรียนการสอน (Instructional Assessment)
                         3.1 การประเมินผลขั้นตอนการเรียนรู้
                         3.2 การจัดการสอบตามหลักสูตร
                         3.3 การประเมินผลกิจกรรมทั้งหมด
        ผลที่ได้จากขั้นตอนสุดท้าย จะนำไปพิจารณาตรวจปรับกระบวนการออกแบบในแต่ละขั้นที่ผ่านมาทั้งหมด เพื่อให้การเรียนรู้แบบผสมผสานมีประสิทธิภาพและเกดประสิทธิผลกับผู้เรียนอย่างแท้จริง

ขั้นตอนการออกแบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน

 
การเรียนรู้แบบผสมผสานมีสิ่งต่างๆจะต้องพิจารณา ดังนี้
     1. เพิ่มทางเลือกของวิธีการนำส่งการเรียนรู้ไปยังผู้เรียนให้มีความหลากหลายมากขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้ออกแบบ
     2. เกณฑ์การตัดสินความสำเร็จในการเรียนรู้แบบผสมผสานไม่ได้มีเพียงเกณฑ์เดียว เช่น รูปแบบการเรียนรู้และวิธีการเรียนรู้
ซึ่งสามารถนำมาพิจารณาร่วมกันได้
    3. การออกแบบการเรียนรู้แบบผสมผสานจะต้องพิจารณาประเด็นของความเร็วในการเรียนรู้ ขนาดของผู้เรียน และการสนับสนุนช่วยเหลือผู้เรียน
    4. สภาพแวดล้อมทางการเรียนของผู้เรียน จะมีความแตกต่างกันเป็นธรรมชาติซึ่งการจัดการเรียนรู้จะต้องสนับสนุนให้ผู้เรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์เป็นสำคัญ 
    5. หน้าที่ของผู้เรียน จะต้องศึกษาและค้นพบตัวเอง เพื่อสร้างสรรค์ความรู้ตามศักยภาพของตนเอง
    6. การออกแบบการเรียนรู้แบบผสมผสานต้องการทีมงานออกแบบที่มีความรู้เรื่องการปรับปรุงด้านธุรกิจด้วยเช่นกัน

กรณี - การเรียนการสอนทางไกลของ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ) ถือว่าเป็นการเรียนการสอน
แบบผสมผสานเช่นกัน
- คอร์สการเรียนภาษาอังกฤษทางไกล ของ แอนดรูส์ บิ๊ก ที่ใช้ระบบ(Bkended Learning for Distance Learning)
ซึ่งสามารถสอนนักเรียนพร้อมกันทีเดียวได้เป็นพันคน



1.3  ประโยชน์ ข้อดี ข้อเสีย
 
ประโยชน์ ข้อดี

1. แบ่งเวลาเรียนอย่างอิสระ
2. เลือกสถานที่เรียนอย่างอิสระ
3. เรียนด้วยระดับความเร็วของตนเอง
4. สื่อสารอย่างใกล้ชิดกับครูผู้สอน
5. การผสมผสานระหว่างการเรียนแบบดั้งเดิมและแบบอนาคต
6. เรียนกับสื่อมัลติมีเดีย
7. เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง Child center
8. ผู้เรียนสามารถมีเวลาในการค้นคว้าข้อมูลมาก สามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลได้อย่างดี
9. สามารถส่งเสริมความแม่นยำ ถ่ายโอนความรู้จากผู้หนึ่งไปยังผู้หนึ่งได้ สามารถทราบผลปฏิบัติย้อนกลับได้รวดเร็ว (กาเย่)
10. สร้างแรงจูงใจในบทเรียนได้(กาเย่)
11. ให้แนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้(กาเย่)
12. สามารถทบทวนความรู้เดิม และสืบค้นความรู้ใหม่ได้ตลอดเวลา (กาเย่)
13. สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่รบกวนภายในชั้นเรียนได้ ทำให้ผู้เรียนมีสมาธิในการเรียน
14. ผู้เรียนมีช่องทางในการเรียน สามารถเข้าถึงผู้สอนได้
15. เหมาะสำหรับผู้เรียนที่ค่อนข้างขาดความมั่นใจในตัวเอง
16. ใช้ในบริษัท หรือองค์กรต่างๆ สามารถลดต้นทุนในการอบรม สัมมนาได้

ข้อเสีย

1. ไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือถ่ายทอดความคิดเห็นอย่างรวดเร็ว
2. มีความล่าช้าในการปฏิสัมพันธ์
3. การมีส่วนร่วมน้อย โดยผู้เรียนไม่สามารถมีส่วนร่วมทุกคน
4. ความไม่พร้อมด้าน ซอฟแวร์ Software บางอย่างมีราคาแพง (ของจริง)
5. ใช้งานค่อนข้างยาก สำหรับผู้ไม่มีความรู้ด้าน ซอฟแวร์ Software
6. ผู้เรียนบางคนคิดว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะราคาอุปกรณ์ค่อนข้างสูง
7. ผู้เรียนต้องมีความรู้ ความเข้าใจด้านการใช้งานคอมพิวเตอร์ เพื่อเข้าถึงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
8. ผู้เรียนต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองอย่างสูง ในการเรียนการสอนแบบนี้
9. ความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคนเป็นอุปสรรคในการเรียนการสอนแบบผสมผสาน
10. สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมในการใช้เครือข่าย หรือระบบอินเทอร์เน็ต เกิดปัญหาด้านสัญญาณ
11. ขาดการปฏิสัมพันธ์แบบ face to faec (เรียลไทม์)


รายละเอียดเพิ่มเติม
http://en.wikipedia.org/wiki/Blended_learning

ครูอ้อยเล็กขอนำมารวบรวมไว้แลกเปลี่ยนกันนะคะ..

ท่านได้แลกเปลี่ยนไว้ในครีเอทีฟคอมเม้นท์ ดังนี้ค่ะ

เรียนอาจารย์พี่ดร.วิรัตน์ ลบความคิดเห็นที่1ด้วยค่ะผิดพลาดทางเทคนิคค่ะ...

อ้าว ลบความเห็นที่ ๑ ของคุณครูอ้อยเล็กไปแล้ว ความเห็นที่ ๒ ของอาจารย์ขจิตและการอ้างอิงว่ามีคนข้างบนขอถามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องนี้ด้วย ซึ่งหมายถึง Dialogue box ของคุณครูอ้อยเล็กนั้น ก็เลยไม่รู้ว่าหมายถึงอะไรไปเลย งั้นผมขอหมายเหตุไว้ให้ว่าอาจารย์ขจิตหมายถึงการเข้ามาสนทนาของคุณครูอ้อยเล็กนะครับ แต่เธอโพสต์ข้อมูลกระจายไปหมด เลยขอให้ผมลบออกไปแล้ว

สวัสดีค่ะ

มาก็อปไปเก้บ

ขอบคุณค่ะ ทั้งสองท่าน

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ มีความสุขในวันหยุดพักผ่อนนะครับ

สวัสดีค่ะพี่ชาย อ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

รับความรู้จากผู้ให้ความรู้ทุกๆท่าน แต่ขอทำความเข้าใจหลายๆรอบก่อนค่ะ

ปีใหม่ทราบว่าครอบครัว คำศรีจันทร์ รวมพี่รวมน้องกันที่หนองบัว

ส่ง sms ให้กับอ้วน พูดคุยกันทางโทร.เลยไม่ได้ไปทักทายกันค่ะ

ส่วนที่บ้าน วันที่ 1 มกราคมต้องไปส่งลูกชายที่พะเยา กลับมาถึงนคสวรรค์วันที่ 2

ระลึกถึงเสมอค่ะ

 

 

สวัสดีครับคุณครูจุฑารัตน์

ขอสวัสดีปีใหม่ไปด้วยเลย มีความสุขมากยิ่งๆขึ้นนะครับ
เมื่อตอนปีใหม่ เพื่อไม่ให้กลับบ้านเปล่าๆ แม่พี่ก็ทำบุญถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ ๗ รูป
อย่างที่มักชวนพวกเราทำเมื่อกลับบ้านพร้อมกันในช่วงเทศกาลต่างๆ 
ได้เจอกันกับพี่ๆน้องๆเกือบครบทุกคน  เป็นการกลับบ้านแบบแวะรายทางไปด้วย
โดยเริ่มจากไปเชียงใหม่ก่อนแล้วก็กลับบ้านนหนองบัว
เลยเป็นการจัดโอกาสให้ตัวเองได้บรรยากาศประทับใจแปลกใหม่ไปด้วยเหมือนกัน
เพราะไม่เคยเดินทางกลางวันเลย พอเดินทางกลางวันจากเชียงใหม่ล่องมาถึงบ้าน
ก็เลยได้เห็นชีวิตและทิวทัศน์สองข้างทางตลอดการเดินทาง
ที่บ้านหนองบัวร้อนและกลางคืนก็ยุงเยอะจนน่าแปลกใจ
ส่วนที่เชียงใหม่ตอนกลางคืนก็ยังหนาว หนาวขนาดที่ต้องซ้อนผ้าห่ม ๒-๓ ชั้นห่มเลยทีเดียว
พอออกเดินทางถึงบ้าน ก็เลยได้สัมผัสกับสภาพที่แตกต่างกันอย่างมากเพียงใน ๑ วันจากเช้าถึงเย็น

                       

                        

เลยขอเอารูปภาพสวยๆมาฝากนะครับ รูปแรกเป็นบรรยากาศยามเย็นและเริ่มหนาว เป็นคืนเดือนเพ็ญของปีใหม่ที่เชียงใหม่ อีกรูปหนึ่งเป็นสายหมอกยามเช้าเหนือท้องทุ่งด้านหลังบ้านของพี่ที่หนองบัว บรรยากาศไม่หนาวแล้วแต่ก็กลับมีน้ำค้างและสายหมอก ทำให้ดูนุ่มนวล เห็นความสงบและเป็นธรรมชาติของชีวิตชนบท

อีกรูปเป็น สคส ทำเองของพวกเรานะครับ ขอให้มีความสุขมากๆในปีใหม่ ๒๕๕๓ นี้นะครับ

                        

                        

                        

รูปวาดทั้งชุดนี้ เป็นผลพวงจากเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเดินบวกความสร้างสรรค์ให้กันในเวทีคนหนองบัว และตอนนี้กำลังจัดเป็นนิทรรศการอยู่ที่ร้านหนังสือเบิกม่าน หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม แสดงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ จนถึงกลางเดือนมกราคม ๒๕๕๓ ที่น้องคุณครูจุฑารัตน์และเพื่อนได้แวะไปดูแล้วก็นั่งคุยกันนั่นแหละครับ อาจารย์ณัฐพัชร์ท่านกรุณารวบรวมทำเป็นการ์ดเหมือนกับปฏิทินตามการเสนอความคิดของท่านพระอาจารย์มหาแล ซึ่งเป็นท่านหนึ่งที่ร่วมเสวนาและเป็นที่มาของการวาดรูปชุดดังกล่าวนี้ด้วย

ขอส่งความสุขมายังน้องจุฑารัตน์ ครอบครัว และเพื่อนๆ จากพวกเราทุกคนทีมวิจัยสร้างสุขภาวะชุมชน สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชมรมชีวเกษมและเครือข่ายชุมชน : ปรีชา ก้อนทอง | ศราวุธ ปรีชาเดช | สนั่น ไชยเสน | เริงวิชญ์ นิลโคตร | กานต์ จันทวงษ์ | อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ | ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่จำแนกตามวิธีการผสมผสาน (By Blending Apporach)

ชัยยงค์ พรหมวงศ์ วงศ์ (2552: 24) ได้ให้ความหมายของการเรียนแบบผสมผสาน(Blended Learning )ไว้ว่าเป็นการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ผสมผสานการเรียนออนไลน์กับการเรียนการสอนแบบเผชิญหน้าในห้องเรียน โดยกำหนดสัดส่วนการถ่ายทอดเนื้อหาสาระที่ต้องนำเสนอแบบออนไลน์และการอภิปรายออนไลน์และการสอนแบบเผชิญหน้าสำหรับการสอนเสริม การเสนอรายงาน หรือการอภิปราย

ตามที่นำเสนอใน “Blending in The Extent and Promise of  Biended Education in the United States” สมาคมสโลน(Sloan Consortium) ได้กำหนดการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้ 4 ประเภท คือ แบบดั้งเดิม แบบช่วยการสอนในห้องเรียน แบบผสมผสาน และแบบออนไลน์

1.แบบดั้งเดิม (Traditional Setting) ไม่มีการนำเสนอเนื้อหาออนไลน์เลย  the proportion of content delivered online is none (0%)

2.แบบช่วยการสอนในห้องเรียน (Web-Facilitated Setting) นำเสนอเนื้อหาออนไลน์ร้อยละ 1-29%

3.แบบผสมผสาน (Blended Learning ) นำเนื้อหาออนไลน์ร้อยละ 30-79%

4.แบบออนไลน์ (Online Learning) นำเนื้อหาออนไลน์ร้อยละ 80-100%

(http://ltc.umanitoba.ca/wiki/Blended_Learning)

                ทั้งนี้สมาคมสโลน ถือว่า การเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์จะต้องเป็นเนื้อหาสาระออนไลน์ร้อยละ 80 ขึ้นไป อย่างไรก็ตามนิยามที่ไม่เป็นทางการและยอมรับทั่วไป การเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ครอบคลุมการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นแกนกลางในการถ่ายทอดเนื้อหาสาระโดยไม่ต้องคำนึงถึงสัดส่วนของการใช้การนำเสนอเนื้อหาสาระออนไลน์ แต่ต้องมีการนำอินเตอร์เน็ตมาใช้..

***********************************************************************************

 *สมาคมสโลน(Sloan Consortium) เป็นสถาบันสมาคมและองค์กรการศึกษา ที่ส่งเสริมอีเลิร์นนิ่งอย่างมีคุณภาพ

บรรณานุกรม ชัยยงค์ พรหมวงศ์ 2552 หน่วยที่ 12 สื่ออิเล็กทรอนิกส์คมนาคม เพื่อการศึกษาแบบรูปนัย ชุดวิชาอิเล็กทรอนิกส์ นนทบุรี มสธ. บัณฑิตศึกษา สาขาศึกษาศาสตร์

เว็บลิ้งค์เพิ่มเติม..

บทบาทของอีเลิร์นนิ่ง 
ในภาคการศึกษา
 

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก หายแซ๊บไปเป็นครู่เลยนะครับ ผมเองก็เหมือนกัน

  • ได้ความรู้ของการนำเอา e-Learning มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนสำหรับ Class-Based Learning กับ School/Curriculum-Based Learning ดีมากเลยละครับ ขอบคุณอย่างยิ่งครับ
  • ผมมีข้อสังเกตเพื่อเพิ่มประเด็นสำหรับเป็นกรอบไว้พิจารณาให้กว้างจนไปเชื่อมกับคนทำงานชุมชนและคนทำงานเชิงสังคมนอกความเป็นโรงเรียนได้ รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยนะครับว่า นอกจากการมีรูปแบบเป็นตัวตั้งเพื่อจัด e-Learning ให้ได้ชื่อว่าทำ e-Learning ได้เข้าเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว หากไปให้เลยจากการทำ e-Learning ไปสู่การมีเป้าหมายเชิงสังคมและการแก้ปัญหาที่ต้องการ แล้วจึงค่อยกลับมาดูว่า e-Learning แบบไหนและในสัดส่วนอย่างสมเหตุสมผลเท่าใด ที่จะสนองตอบได้บ้าง ก็จะทำให้แนวคิดและการทำงานทางการศึกษาสาขาต่างๆ มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในวิถีชีวิตของทุกกลุ่มประชากร ตลอดจนของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ นะครับ
  • พอบวกกันและผสมผสานบทบาทที่สำคัญสองด้านเข้าด้วยกัน ก็จะทำให้บทบาทของ IT และเทคโนโนโลยีสื่อสารการศึกษา ต่อการศึกษาเพื่อพัฒนาด้านต่างๆ มีภารกิจจำเพาะและมีความสำคัญ ที่จะพัฒนาตนเองได้ มากยิ่งๆขึ้นนะครับ

 สรุปได้ว่าความรู้ของการนำเอา e-Learning มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนสำหรับ Class-Based Learning กับSchool/Curriculum-Based Learning มีข้อสังเกตจากการมีรูปแบบเป็นตัวตั้งเพื่อจัด e-Learning ให้ได้ชื่อว่าทำ e-Learning ได้เข้าเกณฑ์ที่กำหนดแล้วนำไปสู่เป้าหมายของการนำไปใช้เชิงสังคมและการแก้ปัญหาที่ต้องการบูรณาการ การใช้ e-Learning ตามสัดส่วนอย่างสมเหตุสมผลตามสภาพและปัญหาความต้องการของกลุ่มประชากร หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการผสานการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาด้านต่างๆได้มากยิ่งขึ้น

  • การสรุปให้ได้คำตอบที่เบ็ดเสร็จคงไม่เป็นประเด็นกระมังครับ
  • และเงื่อนไขกับความจำเป็นในการทำ e-Learning ในการศึกษาที่อิงอยู่กับหลักสูตรของโรงเรียน กับ e-Learning เพื่อใช้แก้ปัญหาการศึกษาเรียนรู้และการจัดการข้อมูลนอกระบบโรงเรียนนั้น ก็เป็นคนละส่วน ด้านแรกถือเอาจุดหมายของการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรเป็นตัวตั้ง ส่วนอย่างหลังถือเอาความจำเป็นในการแก้ปัญหาเป็นตัวตั้ง วิธีคิดและวิธีทำก็คงจะเป็นคนละแนว
  • แต่เรื่องพวกนี้ไม่น่าจะเป็นสาระสำคัญนะครับ มันน่าจะเป็นว่า ทำไปเพื่ออะไร แล้วมันมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไรบ้าง เช่น การทำ e-Learning ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ก็จะลดการปฏิสัมพันธ์กับแหล่งประสบการณ์ตรงน้อยลง จะยอมรับได้ในการเรียนรู้แบบใดได้บ้าง ทำไมถึงยอมรับได้และไม่ได้ และถ้าหากเป็นการบรรลุผลทางการเรียนรู้ที่ไม่เพียงพอ จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานได้อย่างไร เรื่องพวกนี้เป็นประเด็นและสาระสำคัญมากกว่าครับ
  • มีรายงายวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า การเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นทัศนคติ ค่านิยม การพัฒนาอัตลักษณ์เกี่ยวกับตนเอง การพัฒนาความเชื่อมั่นเกี่ยวกับตนเอง ทักษะความฉลาดทางสังคม และการปฏิบัติที่ต้องใช้วิจารณญาณ เหล่านี้นั้น เรียนรู้ด้วย e-Learning และแหล่งประสบการณ์ที่ถือเอาความรู้เป็นตัวตั้งอย่างเดียวไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องสร้างขึ้นจากการอยู่ร่วมกันกับผู้คนและต้องได้รับประสบการณ์หลากหลายจากผู้คนมาเป็นตัวเปรียบเทียบให้ได้บทสรุปจำเพาะตน หลายแห่งต้องแก้ปัญหานี้โดยสอนเสริม จัดพบปะกลุ่ม หรือจัดการศึกษาดูงาน ซึ่งก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำเป็นสูตรตายตัวเช่นกัน เพราะต่างก็ต้องออกแบบและคิดทำให้เหมาะสมไปกับหลายเงื่อนไขของตน
  • ในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย หลักสูตรการศึกษาที่เป็น Degree Program นั้น ไม่ว่าจะเรียนผ่าน e-Learning ระบบไปรษณีย์และระบบทางไกลอย่างไรก็ตามที่ขาดการมีประสบการณ์ตรงและขาดการได้ปฏิสัมพันธ์กับแหล่งวิทยาการที่เป็นตัวบุคคล ก็จะไม่เป็นที่รับรอง เรียกว่าใช้เป็นคุณวุฒิทำงานไม่ได้ เรื่องพวกนี้เป็นประเด็นมากกว่าครับ คือ จะทำอย่างไรในสัดส่วนอย่างไรก็แล้วแต่ ก็ควรจะต้องพิจารณาดูว่าทำไปเพื่อแก้ปัญหาและให้บรรลุจุดหมายเพื่ออะไร ในด้านการศึกษาเรียนรู้ ก็ต้องดูว่ามันขาดมันเกินอะไร มีนัยะต่ออะไร และจะแก้ปัญหาทดแทนให้ได้จากตรงไหนบ้าง
  • พูดตามภาษานิยมในปัจจุบันก็คือ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานไม่ให้เสียไปได้อย่างไร ในเรื่องนั้นๆทำให้ไม่ด้อยไปกว่าการศึกษาเรียนรู้แบบเดิมได้อย่างไร
  • พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท