การสนทนาแบบโบห์ม ๑ : เกริ่นนำ


ในฐานะของคนที่ศึกษามาทางนิเทศศาสตร์ รู้สึกว่านักวิทยาศาสตร์คนนี้ได้เสนอสิ่งที่ท้าทายต่อแนวคิดและวิธีปฏิบัติทางนิเทศศาสตร์ที่เราเรียนเราสอนกันอยู่มาก

หลังจากที่ผมได้อ่านหนังสือชื่อ สุนทรียสนทนา ของ วิศิษฐ์ วังวัญญู กับหนังสือ วิธีการสนทนาแบบมนุษย์สัมผัสมนุษย์และการเปลี่ยนวิธีคิดด้วยการฟังอย่างลึกซึ้ง ที่โสฬส ศิริไสย์ เรียบเรียงขึ้นมาจาก หนังสือ On Dialogue ของ David Bohm แล้วก็ได้มีโอกาสได้อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษที่เขียนโดยโบห์มจริงที่หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เมื่ออ่านจบแล้ว ในฐานะของคนที่ศึกษามาทางนิเทศศาสตร์ รู้สึกว่านักวิทยาศาสตร์คนนี้ได้เสนอสิ่งที่ท้าทายต่อแนวคิดและวิธีปฏิบัติทางนิเทศศาสตร์ที่เราเรียนเราสอนกันอยู่มาก เช่น การสนทนากันโดยไม่ต้องตั้งวัตถุประสงค์ ไม่ต้องมีผู้นำ ไม่ต้องมีข้อสรุป ฯลฯ ผมจึงสืบค้นในอินเทอร์เน็ตเพื่อหาว่าเดวิด โบห์ม ผู้นี้เป็นใคร มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร และอะไรทำให้เขาเสนอเช่นนั้น

 

สิ่งที่พบก็มีแต่เรื่องน่าทึ่ง!!! คำตอบที่ได้คือ สิ่งที่โบห์มเสนอทั้งหมดมีพื้นฐานอยู่บนวิธีคิด วิธีปฏิบัติ และวิธีให้คุณค่า ซึ่งตั้งอยู่บนฐานการมองโลกความเป็นจริงแบบองค์รวมของเขานั่นเอง

 

ผมต้องการนำสิ่งที่ผมได้พบจากการค้นคว้ามาบันทึกไว้ในบล็อกนี้ด้วยเป็นตอนๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดเรื่องที่อยากบันทึก

 

เกริ่นนำเข้าสู่เรื่อง

 

นับแต่กลางศตวรรษที่ 20 จนถึงต้นศตวรรษที่ 21 นี้ มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่สนใจปัญหาของมนุษยชาติ เสนอแนวคิดแนวปฏิบัติต่อการแก้ปัญหาสังคมแบบองค์รวม ที่ไม่ได้มองมนุษย์และสรรพสิ่งแบบแยกส่วน แยกจิตออกจากวัตถุ แยกสิ่งที่ศึกษาออกจากผู้ศึกษา อันเป็นที่มาของวิธีคิดแบบกลไกที่ติดขัดตรงไหนก็แก้เฉพาะตรงนั้น เช่นที่แพทย์รักษาไข้แต่ไม่ได้รักษาคน หนึ่งในบรรดานักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ที่บุกเบิกวิธีคิดแบบองค์รวม คือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผลงานในช่วงท้ายๆ ของชีวิตไอน์สไตน์เป็นเรื่องของการใคร่ครวญในเรื่องสันติภาพของโลกและความหมายของชีวิต เช่นที่ปรากฏในหนังสือ The World As I See It (1949), Out of My Later Years (1950) และ The Meaning of Reality (1965)

 

ในปี 1975 ฟริตจอฟ คาปรา (Fritjof Capra) นักฟิสิกส์ชาวออสเตรีย ได้เขียนหนังสือชื่อ เต๋าแห่งฟิสิกส์ (The Tao of Physics: An Exploration of the Parallels Between Modern Physics and Eastern Mysticism) หนังสือแนวปรัชญาที่ผสมผสานความรู้ของฟิสิกส์สมัยใหม่กับศาสนาตะวันออกเล่มนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในหนังสือขายดีที่สุดเล่มหนึ่งในอเมริกาและยุโรป หนังสือเล่มนี้ถูกสำนักพิมพ์ถึง 14 แห่งปฏิเสธที่จะพิมพ์ก่อนที่จะพิมพ์ออกมาครั้งแรก หลังจากที่พิมพ์ครั้งแรกออกมาแล้ว หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกถึง 43 ครั้งและได้รับแปลออกเป็นภาษาต่างๆ ถึง 23 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย หลังจากนั้นคาปราได้มีผลงานเสนอแนวคิดในทำนองเดียวกันตามมาอีกหลายเล่ม เช่น The Turning Point: Science, Society, and the Rising Culture (1982) เล่มนี้มีการแปลออกเป็นภาษาไทยในชื่อ จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ Uncommon Wisdom (1988) แปลเป็นไทยแล้วเช่นกันโดยวิศิษฐ์ วังวิญญู The Web of Life  (1997) และ The Hidden Connections: A Science for Sustainable Living (2004) สิ่งที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดของสิ่งที่คาปรานำเสนอทั้งหมดคือกระบวนทัศน์แบบองค์รวม ที่ตรงข้ามกับกระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ยุคเก่า ที่มองสรรพสิ่งแบบแยกส่วน  

 

David Bohm เป็นนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งที่เสนอผลงานทางสังคมศาสตร์ภายใต้กระบวนทัศน์แบบองค์รวมเช่นเดียวกับคาปรา แต่มีจุดเน้นที่การสื่อสารของมนุษย์ โบห์มเชื่อว่า การสื่อสารที่มีพื้นฐานอยู่บนกระบวนทัศน์แบบองค์รวมนี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ของมนุษยชาติตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร ไปจนถึงปัญหาในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

 

โบห์มเขียนหนังสือแนวนี้หลายเล่ม แต่เล่มที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ On Dialogue ผมวิเคราะห์ว่าหนังสือเล่มนี้ได้รับการต้อนรับดีมากเนื่องจากไม่ได้เป็นหนังสือที่เสนอแนวคิดในเชิงทฤษฎีเท่านั้น แต่ได้เสนอวิธีปฏิบัติเลย นั่นคือวิธีปฏิบัติการสื่อสารเพื่อความสมานฉันท์ของมนุษยชาติ ที่ต่อมาเรียกกันว่า Bohm’s Dialogue หรือเรียกสั้นๆ ว่า Dialogue

 

มีผู้นำแนวคิดและวิธีการสนทนาแบบที่โบห์มเสนอนี้ไปพัฒนาและประยุกต์ใช้กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในด้านการสื่อสารเพื่อพัฒนาองค์กร การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม การสื่อสารระหว่างบุคคล รวมทั้งการสื่อสารกับตัวเองของแต่ละบุคคล (intracommunication) ผมเชื่อว่าผลงานของโบห์มเล่มนี้จะมีส่วนทำให้วงการนิเทศศาสตร์ต้องหันมาพิจารณาทบทวนแนวคิดและแนวปฏิบัติด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการสื่อสารกลุ่ม (group communication) เช่น แนวคิดนิเทศศาสตร์กระแสหลักเชื่อว่า การสื่อสารกลุ่มที่มีประสิทธิผลเกิดจากการมีจุดประสงค์ มีวาระ มีผู้ดำเนินการที่ชัดเจน สุดท้ายต้องมีการตัดสินใจหรือมติที่ทุกคนจะนำไปปฏิบัติ โดยมีงานวิจัยจำนวนมากสนับสนุน (งานวิจัยที่มีพื้นฐานบนกระบวนทัศน์แบบใด?) ในขณะที่โบห์มเสนอให้ทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม

 

การพิจารณาทบทวนเรื่องนี้โดยมองแต่ประเด็นเฉพาะด้านวิธีการหรือเทคนิคเพียงอย่างเดียว อาจทำให้นักนิเทศศาสตร์ไม่เข้าใจสิ่งที่โบห์มเสนอได้ เพราะแนวคิดและแนวปฏิบัติทางการสื่อสารแบบที่โบห์มเสนอมีพื้นฐานอยู่บนกระบวนทัศน์แบบองค์รวม

 

คำว่ากระบวนทัศน์ในที่นี้ ดร.เสรี พงศ์พิศ ให้ความหมายไว้ในหนังสือ ร้อยคำที่ควรรู้ ว่าหมายถึง วิธีคิด วิธีปฏิบัติ และวิธีให้คุณค่า ซึ่งตั้งอยู่บนฐานการมองโลกความเป็นจริงแบบหนึ่ง บางคนเรียก ทัศนะแม่บท

 

ผมขอเรียกแนวคิดและวิธีการสื่อสารที่โบห์มเสนอในบันทึกนี้ว่า การสนทนาแบบโบห์ม แม้ว่าจะมีผู้เรียกแนวคิดและวิธีการนี้ในภาษาไทยหลายชื่อแล้วก็ตาม เช่น สุนทรียสนทนา, สานสนทนา, วาทพิจารณ์ ฯลฯ

 

ในตอนต่อไป ผมจะเล่าว่าโบห์มเป็นใคร? แล้วต่อด้วยหนังสือ On Dialogue สำคัญอย่างไร? แนวคิดและวิธีการสนทนาแบบโบห์มเป็นอย่างไร? และสุดท้ายเป็นการสำรวจการประยุกต์ใช้การสนทนาแบบโบห์ม

การสนทนาแบบโบห์ม ๑ : เกริ่นนำ

การสนทนาแบบโบห์ม ๒ : โบห์มคือใคร?

การสนทนาแบบโบห์ม ๓ : หนังสือ On Dialogue สำคัญอย่างไร?

การสนทนาแบบโบห์ม ๔ : แนวคิดและวิธีการสนทนาแบบโบห์มมีอะไรบ้าง?

การสนทนาแบบโบห์ม ๕ : ประยุกต์ใช้การสนทนาแบบโบห์มอย่างไร?

การสนทนาแบบโบห์ม ๖ : สรุป

หมายเลขบันทึก: 171776เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2008 23:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ขอบคุณมากครับ  สำหรับบทความดีๆ
  • "โบห์มเชื่อว่า การสื่อสารที่มีพื้นฐานอยู่บนกระบวนทัศน์แบบองค์รวมนี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ของมนุษยชาติตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร ไปจนถึงปัญหาในระดับประเทศและระหว่างประเทศ"
  • นี้แสดงว่า มีคนคิดและพยายามทำมานาน แต่โลกก็มีปัญหาเหมือนเดิม ฤๅทวีมากขึ้น

อาจารย์เสรี พงศ์พิศ เขียนบทความเรื่อง อุดมการณ์เปลี่ยนแปลงโลกลงในโฮมเพจของท่าน และลงใน นสพ.สยามรัฐ เนื้อหาน่าสนใจและน่าขบคิด อาจตอบคำถามคุณ ม.ชีวิต ได้บ้าง ดังนี้ครับ 

"หลายคนคิดว่า คนมีอุดมการณ์วันนี้เป็นคนประหลาด เหมือนคนหลงยุค เพราะคำคำนี้มักทำให้คิดถึงอะไรที่ถูกต้อง เป็นธรรม ดีงาม ส่วนรวม สังคม มนุษยชาติ ขณะที่โลกวันนี้ถูกครอบงำด้วยแนวคิดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็คือ "อุดมการณ์" หนึ่งนั่นเอง เพียงแต่มันมีลักษณะ "สามานย์" (evil) และครอบงำผู้คนเสียจนกระทั่งมองอะไรนอกกรอบเลวๆ ของมันไม่ได้

อุดมการณ์สามานย์ที่ว่านี้ คือ ลัทธิทุนนิยม ซึ่งปลุกระดมความอยาก ความโลภ เพราะ "โลภแหละดี" (Greed is good) ต้องการให้คนบริโภคให้มาก เศรษฐกิจจะได้โต ประเทศจะได้ "เจริญ-พัฒนา" คำสัญญาที่ให้กับผู้คนมาหลายสิบปี แต่คนส่วนใหญ่ยังยากจนข้นแค้น หนีไม่พ้นจากวงจรอุบาทว์ของหนี้สิน ทุนนิยม-บริโภคนิยมเข้าไปถึงกระดูก เลวร้ายถึงในสายเลือด..."

คลิกลิงก์ข้างล่างเพื่ออ่านต่อ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจ มากๆ

แต่ไม่โกหกว่าส่วนตัวคิดว่ายาก

ฟังเสียงคนอื่นด้วย ฟังเสียงตัวเองด้วย

ละวางตัวตนตัวเองด้วยบางส่วนเพื่อคุยร่วมกัน เพื่อฟังร่วมกัน

เหมือน การสนทนาในฝัน

อย่างไรเสีย คงไม่ยากเกินหากพยายาม

ต้องลองใช้กับเพื่อน และในครอบครัว ดูสักหน่อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท