การสนทนาแบบโบห์ม ๒ : โบห์มคือใคร?


ผมตั้งข้อสังเกตว่า การเติบโตในครอบครัวที่มีศรัทธาประสาทะในศาสนาเก่าแก่ของโลกนี้จะมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของโบห์มบ้างไม่มากก็น้อย

David Joseph Bohm (1917 - 1992) เป็นนักฟิสิกส์และนักปรัชญาชาวอเมริกันเชื้อสายยิว เกิดที่รัฐเพนซิลเวเนีย บิดาของโบห์มเปิดร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ช่วยพระในศาสนายิว (rabbi) ในโบสถ์ท้องถิ่นด้วย ซึ่งผมตั้งข้อสังเกตว่า การเติบโตในครอบครัวที่มีศรัทธาประสาทะในศาสนาเก่าแก่ของโลกนี้จะมีอิทธิพลต่อวิธีคิดของโบห์มบ้างไม่มากก็น้อย

 

โบห์มจบปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ทฤษฎีที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ และได้เป็นผู้ช่วยศาตราจารย์ทำงานร่วมกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (1879-1955) ที่มหาวิทยาลัยปรินส์ตัน รัฐนิวเจอร์ซี  โบห์มเป็นผู้อธิบายทฤษฎีควันตัม (Quantum Theory) ให้แก่ไอน์สไตน์และเป็นคนแรกที่แต่งตำราทฤษฎีควันตัม   คำอธิบายทางทฤษฎีเกี่ยวกับปรากฏการณ์อิเล็กตรอนของโบห์มชิ้นหนึ่งมีชื่อเรียกในวงการฟิสิกส์ว่า Bohm Diffusion

 

โบห์มเคยได้รับเชิญให้เข้าร่วมโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นโครงการสร้างระเบิดปรมาณูไปทิ้งที่ฮิโรชิมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ถูกขัดขวางจากเอฟบีไอเนื่องจากโบห์มเคยมีประวัติเป็นสมาชิกของแนวร่วมยุวชนคอมมิวนิสต์ (Young Communist League) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง  โบห์มถูกเอฟบีไอจับกุมเพราะเขาไม่ยอมไปให้ปากคำใดๆ ตามหมายเรียก แม้ไอน์สไตน์และเพื่อนที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตันพยายามช่วยเหลือโบห์มให้ได้กลับมาเป็นอาจารย์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในที่สุดโบห์มต้องออกจากอเมริกาไปเป็นอาจารย์สอนฟิสิกส์ที่บราซิล อิสราเอล และอังกฤษ โบห์มได้เป็นศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ที่อังกฤษ

 

โบห์มมีบทบาทสำคัญต่อการนำความรู้ด้านฟิสิกส์ไปพัฒนาความรู้ด้านจิตวิทยาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง (Neuropsychology) โดยเขาได้ร่วมกับ Karl Pribram นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสร้างทฤษฎีจิตวิทยาที่ต่อมาเรียกว่า Pribram’s theory ทฤษฎีนี้ใช้ Holonomic Model อธิบายการทำงานของสมองว่าคล้ายกับโฮโลแกรมที่อาศัยหลักการคณิตศาสตร์ควันตัมและรูปแบบของคลื่นสมองมนุษย์ที่สามารถรวมตัวกันคล้ายเลนส์รวมแสง

 

ในปี 1959 Saral Bohm ภรรยาของโบห์ม แนะนำให้โบห์มอ่านหนังสือเล่มหนึ่งของกฤษณมูรติ (Jiddu Krishanamurati) นักปรัชญาและศาสนาชาวอินเดีย ที่เธอยืมมาจากห้องสมุด โบห์มพบว่าทฤษฎีควันตัมฟิสิกส์เข้ากับแนวคิดทางปรัชญาของกฤษณมูรติมาก โดยเฉพาะในเรื่องความเป็น องค์รวม ของสรรพสิ่ง ซึ่งต่อมาโบห์มกับกฤษณมูรติได้รู้จัก พูดคุยแลกเปลี่ยน ร่วมเขียนหนังสือ และไปมาหาสู่กันเป็นระยะเวลาถึง 25 ปี โบห์มยังได้มีโอกาสสนทนากับดาไลลามะหลายครั้ง

 

โบห์มเขียนบทความและหนังสือที่มีเนื้อหาเชิงบูรณาการแนวคิดทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาหลายเล่ม เช่น Wholeness and the Implicate Order (1980), The Ending of Time (1985 แต่งร่วมกับกฤษณมูรติ), Science, Order and Creativity (1987), Unfolding Meaning (1987), Dialogue – A Proposal (1991 เขียนร่วมกับ Donald Factor และ Peter Garret), Thought as a System (พิมพ์ปี 1994 หลังโบห์มเสียชีวิต) และเล่มสุดท้ายที่บูรณาการแนวคิดจากเล่มก่อนและวิธีการสนทนาที่โบห์มเสนอ คือ On Dialogue (1996) หนังสือของโบห์มแทบทุกเล่มได้รับการแปลออกเป็นหลายภาษา

 

การสนทนาแบบโบห์ม ๑ : เกริ่นนำ

การสนทนาแบบโบห์ม ๒ : โบห์มคือใคร?

การสนทนาแบบโบห์ม ๓ : หนังสือ On Dialogue สำคัญอย่างไร?

การสนทนาแบบโบห์ม ๔ : แนวคิดและวิธีการสนทนาแบบโบห์มมีอะไรบ้าง?

การสนทนาแบบโบห์ม ๕ : ประยุกต์ใช้การสนทนาแบบโบห์มอย่างไร?

การสนทนาแบบโบห์ม ๖ : สรุป

 

หมายเลขบันทึก: 171777เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2008 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • David Joseph Bohm (1917 - 1992) เป็นนักฟิสิกส์และนักปรัชญาชาวอเมริกันเชื้อสายยิว
  • ซึ่งต่อมาโบห์มกับกฤษณมูรติได้รู้จัก พูดคุยแลกเปลี่ยน ร่วมเขียนหนังสือ และไปมาหาสู่กันเป็นระยะเวลาถึง 25 ปี โบห์มยังได้มีโอกาสสนทนากับดาไลลามะหลายครั้ง
  • ผมภูมิใจมาก กับแนวคิดชาวตะวันออก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท