ถอดบทเรียนเกี่ยวกับชุมชนออนไลน์ (ตอนที่ 0)


ชุมชนออนไลน์: ชอบเหมารวมเอาว่าเหมือนกันไปหมด

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงติดต่อ สื่อสาร แลกเปลี่ยน มีปฏิสัมพันธ์ และเลือกสรรค์หมู่คนที่ติดต่อด้วย เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไป ก็มีความพยายามที่จะใช้ระบบโทรคมนาคม มาเอาชนะข้อจำกัดเรื่องระยะทาง

ระบบ Bulletin Board (BBS)

ชุมชนออนไลน์ในเมืองไทยอันแรกเท่าที่มีหลักฐานบันทึกไว้ ตั้งขึ้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2529 เป็น Bulletin Board ชื่อ CP/M Bangkok User Group หรือ BUG Board ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ยี่ห้อ Morrow Design รุ่น MD-11 ใช้ระบบปฏิบัติการ CP/M ใช้โปรแกรมได้ทีละโปรแกรม มีฮาร์ดดิสก์ขนาด 10 MB กับโมเด็มความเร็ว 1200 bps หนึ่งตัว สมาชิกที่เข้ามาใช้ ผลัดกันเชื่อมต่อมาทีละคน 

มาตรฐานของโมเด็มยังสับสน มีทั้งแบบอเมริกัน (Bell) และแบบมาตรฐาน (CCITT) การสื่อสารผ่านโมเด็มยังวุ่นวายเรื่องความเข้ากันได้ (compatibility) เรื่องนี้เริ่มสงบเมื่อโมเด็มพัฒนามาจนมีความเร็ว 14400 bps (14.4 kbps)

การที่เข้ามาเขียน/อ่านได้ทีละคน เป็นการจำกัดปริมาณข้อความไปในตัว ทำให้ผู้ดูแลระบบ (System Operator หรือ SysOp) สามารถตรวจกรองข้อความต่างๆ ได้ทั้งหมด SysOp เป็นเจ้าของ bulletin board สมาชิกมาเขียนในพื้นที่ของเขา SysOp จึงมีสิทธิจัดการได้ทุกอย่าง ทั้งลบสมาชิก ลบข้อความ ลบความเห็น แล้วบางทีเขาก็เรียกตัวเองว่า SysGod

โดยทั่วไป แม้ BBS อาจจะมีลักษณะเผด็จการได้ SysOp มักไม่ค่อยแทรกแซงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพียงแต่ผู้ใช้รู้อยู่ว่า SysOp สามารถจะทำอะไรก็ได้ BBS มักจะสงบดีพอสมควร

SysOp เป็นเจ้าของหอพักครับ ถ้าเขาไม่ให้อยู่ หรือเราไม่ชอบที่จะอยู่ที่หอพักนี้ ก็ย้ายไปที่อื่น -- ในยุคที่ BBS รุ่้งเรือง มีเปิดบริการประมาณ 50 บอร์ด 

USENET 

USENET เป็นระบบที่คัดลอกข้อความแล้วส่งต่อๆ กันไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ทำให้ผู้ใช้เชื่อมเข้าสู่เครือข่ายที่เครื่องที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด แต่สามารถอ่านข้อความของผู้อื่นที่โพสมาจากไกลๆ ได้ สามารถตอบกลับได้ ข้อความต่างๆ ปรากฏต่อผู้ใช้ USENET ทั้งหมดบนทุกเครื่องในเครือข่าย 

เนื่องจากข้อความปรากฏต่อผู้ใช้ทุกคน USENET จึงมี collective brain power อยู่อย่างมหาศาล แต่ในขณะเดียวกัน ก็มี collective disputes มากอย่างมหาศาลเช่นกัน

เพราะ USENET กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ผู้ใช้ต่างเข้าใจเรื่องเดียวกันไม่เหมือนกัน อยู่กันคนละบริบท มาจากต่างวัฒนธรรม ต่างภาษา ต่างระบบการคิด ต่างประสบการณ์ จึงมองเรื่องเดียวกันแตกต่างกันได้มาก

ปรากฏการณ์ USENET เป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันอย่างสับสน (ซึ่งไม่ใช่ chaordic แต่เป็น chaos ภายใต้กฏเกณฑ์ง่ายๆ ระดับหนึ่ง) ใน USENET ไม่มีใครควบคุมใครได้เลย ทุกคนต่างมีอิสระที่จะแสดงความคิดเห็น ก้าวร้าว ด่าพ่อล่อแม่ ก้าวล่วงบุคคล ชนชาติ หรือศาสนาได้ (ยิ่งยั่วยิ่งโกรธ-เป็นการให้รางวัลคนยั่ว อธิบายแบบเดียวกับพฤติกรรมแกล้งเด็ก) โฆษณาสินค้าหรือโฆษณาตัวเอง ทั้งนี้เป็นเพราะ USENET node ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่ง fourth amendment ของรัฐธรรมนูญสหรัฐ รองรับอิสระในการแสดงความคิดเห็นไว้

USENET จัดแบ่งตัวเองเป็น newsgroups แต่ละ newsgroup เมื่อสร้างขึ้นมาแล้ว จะไม่มีการควบคุมอีก ผู้ใช้เขียนข้อความของตนแล้วโพส topic นั้นไป ผู้ใช้อ่านตอบข้อความด้วยการ reply ข้อความที่เกี่ยวเนื่องกันเรียกว่า thread -- ผู้ใช้เลือกอ่าน/เลือกตอบ แต่ละ topic เอาเอง ไม่มีใครบังคับใครได้ ข้อความเมื่อโพสออกไปแล้ว  เราเห็นแต่ชื่อผู้เขียนกับ topic ส่วนการอ่าน เราเลือกอ่านหรือไม่อ่านเอาเอง; topic อยู่เฉยๆ ดังนั้นถ้าเราไปอ่าน เราก็ต้องรับผิดชอบการตัดสินใจของเราเอง เหมือนเปิดไฟล์ที่มีไวรัสครับ บนเน็ตเราต้องรับผิดชอบต่อการเลือกสรรของเราเอง ส่วนผู้เขียนข้อความก็รับผิดชอบข้อความของเขาตามกฏหมาย หรือข้อตกลงของสังคมนั้นๆ

เครือข่ายคนไทยบนอินเทอร์เน็ตนั้น เริ่มต้นที่ USENET newsgroup ที่ชื่อ soc.culture.thai

เดิมทีนั้น มีการสร้าง USENET conference ชื่อ soc.culture.asean เพื่อให้ประชาคมอาเซียนได้ใช้แลกเปลี่ยนกัน ต่อมาก็เกิดความแตกแยกในลักษณะการปะทะคารมอย่างรุนแรงขึ้น มีทั้งการด่าทอ กล่าวร้าย กล่าวหา บิดเบือนข้อเท็จจริง ฯลฯ

ผู้กระทำการเหล่านี้ มักเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีซึ่งใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก้าวล่วงผู้อื่นและชนชาติอื่นโดยเจตนา เพียงเพื่อที่จะ offend คนอื่นเท่านั้น

อาจจะเป็นเพราะความเก็บกดที่ไม่มีเสรีภาพในประเทศของตน หรือต้องการพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าตนมีสิ่งที่ไม่มีใครยอมรับว่ามี (และในที่สุดก็ได้พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์โดยทั่วไปแล้ว คนเหล่านั้นว่าไม่มี maturity จริงๆ)

อาการทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น เป็นไปโดยความสะใจส่วนตัว (Flame war สงครามน้ำลาย) และไม่มีความต้องการที่จะยุติข้อขัดแย้ง จนในที่สุดแล้วประชาคมไทยได้แยกตัวออกจาก soc.culture.asean ตั้งเป็นกลุ่ม soc.culture.thai

กฏของ Godwin

ในปี 1990 Michael Godwin ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฏหมายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตระดับโลก และเป็นทนายที่ปรึกษาคนแรกของ Electronic Frontier Foundation ซึ่งเป็นองค์กรปกป้องเสรีภาพและสิทธิผู้บริโภคบนอินเทอร์เน็ต ได้ตั้งข้อสังเกตไว้-ต่อมาได้กลายเป็นกฏของ Godwin ว่า

"As an online discussion grows longer, the probability of a comparison involving Nazis or Hitler approaches one."

กฏนี้หากตีความตามตัวอักษรจะไม่รู้เรื่องเพราะเขียนออกมาในบริบทของตะวันตก แต่ความหมายที่แท้จริงก็คือ เมื่อคุยกันไปยาวๆแล้ว ความแตกต่างทางความคิดที่เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจะหลงประเด็นกันไปหมด (หลุดโลกไปได้ง่ายๆ) เพราะผู้ใช้เน็ตแต่ละคน เป็นปัจเจกชน มีความคิดเห็นเป็นอิสระ มีพื้นฐาน-มุมมองที่ไม่เหมือนกัน

โดยนัยนี้ สำหรับ public forum ที่ไม่มี moderator คอยควบคุมให้อยู่ในประเด็น การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอาจหลุดออกนอกประเด็นไปได้ง่าย เมื่อความแตกต่างมีมากขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นที่เป็นจุดเริ่ม ก็ไม่สำคัญไปกว่าหน้าตา (credibility) ของผู้ใช้เน็ตอีกแล้ว เป็นความพยายามจะเอาชนะกัน ไม่ใช่เรื่องของประเด็นอีกต่อไป

ข้อแนะนำในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

  1. ถ้าสังคมออนไลน์ที่ท่านใช้เป็นสังคมที่ท่านรัก เมื่อเห็นความขัดแย้ง อย่าร่วมในวาทกรรมที่ขยายขอบเขตของความขัดแย้ง ความขัดแย้งในสังคมออนไลน์ไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมือง อย่าทำให้เป็นอย่างนั้นเลย; เมื่อต้องการสนับสนุน ส่งอีเมล หรือส่งข้อความอื่นๆไป โทรไปคุยก็ได้; ถ้าจะคัดค้านก็ทำแบบเดียวกัน ถ้าส่งไปแล้วเขาไม่ตอบหลังจากระยะหนึ่ง ก็จบตรงนั้นครับ!
  2. เมื่อเห็นข้อความที่มั่นใจว่าก้าวล่วงต่อท่าน ส่งอีเมลไปขอให้ผู้เขียนชี้แจง; ตามที่ผมเห็น กว่าร้อยละ 90 ของกรณีทั้งหมด เค้าไม่ได้พูดถึงท่านเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันที่ไม่ได้ออกชื่อ บางทีอาจจะยกเว้นว่าท่านจะเป็นคนสำคัญมากที่ใครๆ ก็ชอบพูดถึง
    • ในความเข้าใจผิดนี้ ครึ่งหนึ่งเป็นที่การเขียนในสไตล์ generalization (เขียนแบบเหมารวม) ทำให้พาดพิงโดยไม่ตั้งใจ
    • อีกครึ่งหนึ่งเกิดจากการเขียนในสไตล์ assertion (แนะนำเชิงสั่งสอน มักใช้คำว่า "ต้อง") ซึ่งมักจะเจอข้อโต้แย้งจากคนละบริบท คนละเรื่องเดียวกัน
  3. ถ้าหากใครเจตนาจะเปิดศึกกับท่านแล้ว เขาสามารถระบุชื่อท่านได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องแอบครับ
  4. เน็ตมีขนาดใหญ่ ผู้ใช้แต่ละท่านมีเวลาว่างต่างกัน อย่าคาดเดาเอาเองว่าเมื่อเขียนถึงใคร เค้าจะรู้เห็นเอง; อาจจะเรียกได้ว่าเป็นมารยาท (online ethiquette หรือ netiquette) ที่จะส่งอีเมลหรือติดต่อผู้ที่เราพาดพิง ให้มาอ่านข้อความของเรา เผื่อว่ามีอะไรไม่ถูกต้อง เขาจะได้ชี้แจง
  5. เมื่อท่านเห็นอะไรบางอย่างที่ทำให้ "บ่จอย" เก็บไว้ก่อน แล้วค่อยมาอ่านอีกที; ถ้าท่านลืม ก็อาจจะแปลได้ว่าเรื่องที่ท่านคิดว่าสำคัญแล้วทำให้เกิดอารมณ์พลุ่งพล่านนั้น ไม่ได้สำคัญนักหนาต่อชีวิตของท่านหรอก; ถ้ากลับมาอีกทีแล้วท่านยังตัดสินใจ "ตอบโต้"
    • เขียนข้อความจากความรู้สึกแรก อย่า edit นานนัก จะทำให้พลาดสิ่งที่ท่าน concern/ไม่พอใจ ที่สุด (ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าเวลามีอารมณ์มาปน จะยิ่งแสดงประเด็นได้ไม่ชัด)
    • แยกเป็นความคิดเห็นหลายๆ อัน ความคิดเห็นละประเด็น ขยายความให้ชัด
  6. หากมีอะไรจะเสริมหรือโต้แย้ง ควรจะ quote ข้อความเดิมมาด้วย หรือชี้ให้ชัดว่าท่านหมายถึงข้อความใด (บน GotoKnow นี้ ความคิดเห็นสามารถลิงก์ได้เช่นกัน เป็นตัวเลขอยู่ข้างๆ รูป) หลีกเลี่ยงการพูดลอยๆ เพราะอาจจะลอยไปโดนหลายคนโดยไม่ได้ตั้งใจ
  7. แม้ผู้ใช้เน็ตส่วนใหญ่ จะไม่ชอบอ่านข้อความยาวๆ แต่ถ้าสั้นแล้วไม่รู้เรื่อง สู้เขียนยาวหน่อยแต่ให้เข้าใจประเด็นดีกว่าครับ
  8. เมื่อมีข้อความใหม่เกิดขึ้น โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งใหม่ก็เพิ่มขึ้น (entropy ของจักรวาลก็เพิ่มขึ้นด้วย) ดังนั้นกรุณาเขียนให้ชัดเจน ความคิดอยู่ในหัวของท่าน ถ้าท่านไม่เขียนออกมา แล้วใครจะเข้าใจครับ 
  9. ความเห็นทุกอย่างบนเน็ต ขอให้เข้าใจว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ ไม่มีใครสามารถจะมาริดรอนสิทธิ์นั้นได้; หากสังคมออนไลน์ที่ท่านใช้อยู่ มีบางอย่างที่ท่านรับไม่ได้จริงๆ ท่านก็ยังมีสิทธิ์ที่จะย้ายไปสู่ที่ใหม่ เช่นเดียวกับการย้ายบ้าน แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาวะแวดล้อมใหม่ หาเพื่อนใหม่ เรียนรู้สถานที่ใหม่ ก็ตาม และไม่ว่าท่านตัดสินใจอย่างไรก็ตาม ท่านรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้นเองครับ
  10. อย่าอ่านข้อความผิวเผินเหมือนอ่านหนังสือเพื่อเก็งข้อสอบ ให้มองลึกถึงเจตนา ถ้าไม่ชัดเจน ให้อ่านข้างบนใหม่อีกที; ระวังและหลีกเลี่ยง Flame bait (กระทู้ล่อเป้า) และ Troll (เจตนาหลอกล่อ ยั่วยุ ปลุกปั่น มักมาในรูปของผู้หวังดี)

{บันทึกนี้รับปากอาจารย์วสวัตดีมารไว้ว่าจะเขียน แต่ไม่มีเวลาเขียนให้จบ จึงตัดตอนส่วนพื้นฐานความเข้าใจออกมาก่อนครับ}

ถอดบทเรียนเกี่ยวกับชุมชนออนไลน์ (ตอนที่ 1) -- ตัวตนคนใช้เน็ต

หมายเลขบันทึก: 156457เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2007 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

สวัสดีค่ะ

จริงๆบันทึกนี้ น่าจะเขียนเสียตั้งนานแล้วนะคะ ในฐานะผู้ที่คร่ำหวอด ในวงการนี้มานานกว่าใครๆ

ตั้งแต่ ยังไม่มีใครที่โกทูโนนี้  จะรู้เรื่องสังคมออนไลน์สักเท่าใด

เพราะก็มีบางอย่างที่เราควรระวังไว้บ้าง เช่น เรื่องความขัดแย้งบางอย่างที่อาจมี

ตอนแรกๆ การโต้ตอบกันทางอีเมลล์ ก็ว่า รวดเร็ว น่าตื่นเต้นแล้ว

ต่อมา ยังสามารถพูดคุยกันทันที ทันควันแบบออนไลน์ใน Live Messenger หรือในบล็อกได้อีก ยิ่งน่าตื่นตา ตื่นใจเข้าไปใหญ่

บล็อกจึงกลายเป็นที่ๆ เราได้เรียนรู้หลายๆสิ่งหลายๆอย่าง จากบันทึกต่างๆ พร้อมทั้งมีความสนุกสนาน ผ่อนคลาย ไปในตัว

ก่อนหน้านี้ นานมาแล้ว  เคยได้ยินมีคนถามกันมาก ว่า 

แล้วชุมชนออนไลน์รูปแบบนี้ จะใช้อะไรเป็นเครื่องตัดสินระดับการเข้าถึงและประเมินว่าใครเป็นสมาชิกที่ไว้วางใจได้

ซึ่งปัญหานี้ หมดไปบ้าง เมื่อแต่ละweb site ให้สมาชิก ทุกคน ต้องเปิดเผย ที่มาที่ไปของตนเอง เช่น บอกเลขบัตรประจำตัว

แต่บางที่ (ที่อื่นๆ) ก็ยังไม่หมดเสียทีเดียวค่ะ เท่าที่เห็น ยังมีปัญหาอยู่บ้าง  แต่ไม่ใช่ที่นี่

ที่โกทูโน สมาชิกสุภาพสุดแล้ว เมื่อเทียบกับหลายๆสังคม internet   ของที่อื่นๆ

ตัวเองชอบที่นี่ค่ะ แม้จะมีเขียนที่อื่นอีกบ้าง ก็ชอบที่นี่ที่สุด

และก็ไม่นึกฝันว่า จะชอบเขียนบันทึกออนไลน์แบบนี้เลย

มีความรู้สึกว่า บล็อกเปรียบเสมือนหนังสือพิมพ์หรือวารสารส่วนตัว หรือรายการคุยข่าวยอดฮิตที่ผลิตด้วยตัวเราเอง ตามความสนใจของเรา

อาจมีคนเข้ามาเยี่ยมชมบ้าง   และแสดงความคิดเห็น ถ้ามีคนชอบเนื้อหา ที่เราบอกเล่า  บางทีก็จะลิงก์บล็อกของเรา  เข้าไปในบล็อกของเขาด้วย

อยากให้คุณConductor เขียนเล่าต่อในเชิงลึก อีกค่ะ

http://www.Technorati.com

บอกว่า.....ทั่วโลกมีการสร้างบล็อกใหม่ทุก 7 วินาที เว็บวารสารที่สามารถอัพเดตได้อย่างสะดวกง่ายดายเหล่านี้ ปัจจุบันมีมากกว่า 24 ล้านบล็อก และเพิ่มขึ้นประมาณ 7 หมื่นบล็อกต่อวัน จะเพิ่มเป็น 2 เท่าทุก 5 เดือน

โอ้โฮ!!!เยอะมากๆเลย

แต่บล็อก ที่โกทูโน นี้ เป็นแบบเรียบๆ ไม่แรง เหมือนบล็อกที่อเมริกา ซึ่งคิดว่า น่าจะเหมาะกับวัฒนธรรม ขี้เกรงใจ ของเรานะคะ ลองอ่านดู สงสัยคุณแว้บ อยากติเพื่อก่อ แต่ไม่พูดชัดๆ....

http://gotoknow.org/blog/vasablog/162689

การเกรงใจกันเป็นของดีมากๆ แต่ บางที...ถ้าจะออกความเห็น ในเชิงอื่นบ้าง จะได้ไหมคะ อิๆๆๆ.....พุดเล่นนะ อย่าถือค่ะ.....พุดเล่นน่ะ....

พี่ศศินันท์: ขอบคุณสำหรับความเห็นทั้งสองครับ ผมเขียนนานแล้วตั้งแต่ 28 ธันวาคมปีที่แล้ว แต่ว่าเพิ่งเปิดให้อ่าน ที่เขียนมานี้ ยังไม่ได้แย้มพล๊อต หรือเข้าใกล้ไคลแม็กซ์เลยนะครับ กำลังขี่ม้าเลียบค่ายอยู่

การใช้เน็ตมานาน(มาก) ไม่ได้หมายความว่าผมถูกต้องทั้งหมดครับ ถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี เป็นประโยชน์หรือไม่ ขึ้นกับมุมมองของแต่ละคนใช่ไหมครับ

ส่วนเรื่องข้อมูลส่วนตัวนั้นเป็นดาบสองคม (อันนี้ขอรับรองว่าคมจนบาดได้ทั้งสองด้านจริงๆครับ) บันทึกและความคิดเห็นใน GotoKnow เกี่ยวกับเรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวครับ

อย่าลืมว่าเราไม่ได้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวต่อเพื่อนๆ ใน GotoKnow เท่านั้นนะครับ ข้อมูลนี้อยู่บนอินเทอร์เน็ตและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอีกพันล้านคน ค้นหาได้ง่ายโดยอาศัย search engine ต่างๆ -- ถึงจะปิดไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกและ search engine crawler อ่านประวัติ แต่การสมัครสมาชิกเพื่อมาเอาข้อมูลก็ทำได้ง่ายมาก -- เผอิญสังคมออนไลน์ไม่ใช่ Utopia (สวรรค์บนดิน) เสียด้วยซิครับ 

ผมไม่เห็นว่าข้อมูลส่วนบุคคล เช่นที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล ควรจะเป็นข้อมูลสาธารณะ แม้เอามาเปิดเผย ก็ไม่เกี่ยวกับจริงใจหรือไม่จริงใจครับ [คือถ้าอยากรู้จริงๆ ก็ถามได้ไม่ยาก แล้วเจ้าของข้อมูลพิจารณาเอง ว่าจะให้หรือไม่ให้]

ผมเห็นด้วยกับพี่ว่าโดยรวมสังคม GotoKnow นี้สุภาพมากครับ 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ก็คือการคิดเอาง่ายๆ  ควรไตร่ตรองให้ดีก่อน เวลาจะช่วยพิสูจน์อะไรได้หลายอย่าง แม้ว่าจะไม่ได้รับประกันอะไรหรอกครับ

เรื่องที่พี่ศศินันท์พูดน่าจะเป็นเพราะวัฒนธรรมเกรงใจ อย่างที่เคยพูดไว้หลายบล็อกใน G2K ว่า ตัวเองชอบคอมเม้นท์ตรงๆ ถือหลัก "ไม่เกรงใจแต่ให้เกียรติ" คือแสดงความคิดเห็นที่ตรงกับความคิดของเราอย่างจริงใจ นับเป็นการให้เกียรติคนๆ นั้นมาก เพราะเราไม่อยากต้องเสแสร้งทำเป็นเออออห่อหมกตาม โพสต์อย่างแต่ในใจคิดอีกอย่าง แต่ละคนก็มีแนวความคิดไม่เหมือนกัน ซึ่งบางครั้งการนำเสนอความคิดที่แปลกออกไปอาจจะเป็นสิ่งดีที่ช่วยสะท้อนให้เห็นอีกมุม ไม่ได้อยากจะเท่ห์ หลายครั้งก็เห็นเหมือนคนอื่นแต่ก็มีไม่น้อยที่เห็นต่างออกไป ก็กล้านำเสนอ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับเหตุผลที่นำมาประกอบด้วย ไม่ใช่สักแต่จะค้านเพราะความรู้สึกเท่านั้น

การที่รู้จักกันหรือสนิทกันแล้วต้องคอมเม้นท์เอาใจคงไม่ใช่แนวของเรา บางคนอาจจะรู้สึกว่าแรงไปมั้ย อันนี้มันขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ถ้าไม่รู้จักนิสัยกันมาก็อาจจะรู้สึกว่าตรงไปหรือไม่เกรงใจกันเลยนะ แต่บางคนก็อาจจะบอกว่าเออนะ จริงใจดี นานาจิตตังค่ะ แรกๆ ก็คงดูทิศทางนิสัยเจ้าของบล็อกที่จะไปโพสต์ด้วยว่ารับฟังแนวคิดที่ต่างจากตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน

เห็นด้วยกับเรื่องที่ถ้าต้องการเขียนถึงใคร ก็เขียนระบุตรงๆ ไปเลย คนอื่นจะได้ไม่ต้องมานั่งเดา กล้าพูดก็ต้องกล้ารับผลที่จะตามมา ถ้าคิดว่าไม่กล้าเผยตัวก็จะอยู่เฉยๆ จะดีกว่า

แหม คุณซูซาน เดี๋ยวหลุดครับ เรื่องนั้นอยู่ในตอนอื่น ไม่อยากขยายความตอนนี้ เดี๋ยวจืดหมด

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นครับ 

สวัสดีครับ คุณ Conductor

  • ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงจริง ๆ ครับ ที่ "มาตามสัญญา"
  • อ่านแล้วได้ความรู้ขึ้นอีกหลายกอง
  • เข้าใจมุมมองในโลกเสมือนแบบนี้มากขึ้น
  • ขอนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อให้กับลูกศิษย์ด้วยนะครับ

บุญรักษา ครับ :)

มีแซวมาทางช่องทางอื่น (ตาม #3) ว่า ถ้าไม่ไกล้ไคลแม็กซ์เลย แล้วมีคำแนะนำออกมาได้ยังไง[คำสุภาพ]

ตอบว่าข้อแนะนำไม่ใช่ไคลแม็กซ์ครับ ข้อแนะนำอยู่ทางปลายเหตุ เมื่อเกิดเหตุแล้วจึงหาทางป้องกัน เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำซาก -- เป็นอาการ reactive (แต่ยังดีกว่าปล่อยผ่านไปเฉยๆ)

ถ้าไม่เข้าใจ "เหตุ" ก็จะไม่สามารถระงับเหตุได้หรอกครับ เพราะไม่รู้จะระงับอะไร คลำหาเป้ายังไม่เจอเลย ลองพิจารณาตามนี้ดีไหมครับ แล้วบางทีอาจจะเห็นว่าเราทุกข์กับเรื่องที่ไม่สมควรจริงๆ เราทุกข์เพราะหาเรื่องทุกข์มาใส่ในใจของเราเอง (489) KM คืออะไร 88. ยาแก้โรคฉาบฉวย

นั่นล่ะครับ....ใกล้ไคลแม็กซ์เข้ามาอีกนิดนึง

  • เห็นด้วยค่ะเรื่องการเปิดเผยตัวตนบนเน็ต
  • เพราะเจอร้อยเล่ห์ บรรดานักขายมามากต่อมาก และรำคาญพวกธุรกิจขายตรง
  • แต่ก็ไม่ได้ปิดบังตนเองนะคะ
  • อิอิ เพราะแอบแนะนำตัวนอกเน็ตไปแล้ว

 

ความเห็นนี้ไม่มีอะไรหรอกครับ เพียงแต่อยากจะเล่าว่าเมื่อวานนี้ ได้พบเพื่อนเก่าที่เคยใช้ soc.culture.thai ท่านหนึ่งครับ ตอนนั้นเรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon อยู่ห่างกันครึ่งโลก ตอนนี้กลับมาทำงานสอนและงานวิจัย เป็นศาสตราจารย์มาหลายปีแล้ว 

ท่านมาทำงานให้กับเมืองไทย ลงทุนกับเด็ก โดยปฏิเสธความมั่งคั่ง (ปีละหลายสิบล้านบาท) ที่บริษัทข้ามชาติเสนอให้ แม้เราทั้งสองจะเลิกใช้ soc.culture.thai มานานแล้ว แต่มิตรภาพยังคงอยู่ครับ

ไม่แน่ว่าอะไรต่อมิอะไรในโลกเสมือน จะไม่ใช่ของจริงเสมอไป ทั้งหมดอยู่ที่เราเลือกสรร และเรารับผลของการเลือกสรรนั้นเองครับ 

กมฺมุนา วตฺตตี โลโก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

สวัสดีค่ะ คุณ Conductor

  • มิตรภาพที่เกิดมิใช่ได้มาเพียงวัน  สองวัน....แม้เป็นมิตรภาพonline....สิ่งที่คุณเล่าให้ฟังเป็นผลที่ประจักษ์ชัดถึงมิตรภาพที่แม้นานวันก็ไม่เสื่อมคลาย....อยู่ที่เราเลือกสรรจริงๆค่ะ
  • ขอบคุณที่แวะมาบันทึกนี้....ให้ดิฉันได้วกกลับมาอ่านบันทึกนี้ซ้ำอีก   และก็พบคำตอบที่อยากรู้ซ่อนอยู่ในบันทึกนี้ค่ะ.....

ผมเขียน ผมบันทึก  ไม่ได้นึกถึงกฎกติกาอะไรเลย  นอกเหนือจากกฎของธรรมชาติ  รู้หน้าที่  รู้ตัว  รู้กาล  รู้เทศะ  ไม่ขัดแย้งไม่แข่งขันกับใคร  สุขสบายตลอดชีวิตครับ

ผมว่า...สังคมออนไลน์หรือสังคมจริง ๆ ก็มีความเหมือนกันอยู่หลายอย่างครับ...

การวางตัวของเราในสังคมออนไลน์ก็ไม่น่าจะต่างจากการวางตัวในสังคมข้างนอกครับ...

                     ....ใครดีกับเรา เราก็ดีตอบกับเขา...

...ใครไม่ประสงค์ดีกับเรา เราก็เฉย ๆ ไป เดี๋ยวเขาก็เบื่อไปเองครับ...

                 ...ถ้าเราไม่แน่ใจก็ดูอยู่ห่าง ๆ อาจจะดีกว่า...

         ...แต่ที่แน่ ๆ ตัวเราต้องเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมนั้นครับ...

ขอบคุณครับ...

  • แบบว่าชอบเปิดเผยตัวตน
  • อิอิๆๆๆ
  • มีข้อดีคือติดต่อง่าย
  • ข้อเสียคือโดนเหล่าคุณครูรบกวนบ่อยๆๆ แต่ดีใจที่ได้ช่วยคุณครู
  • {บันทึกนี้รับปากอาจารย์วสวัตดีมารไว้ว่าจะเขียน แต่ไม่มีเวลาเขียนให้จบ จึงตัดตอนส่วนพื้นฐานความเข้าใจออกมาก่อนครับ}

  • รบอ่านต่อเลยครับ

  • อย่าให้วัยรุ่นรอนาน อิอิๆๆ

ถึงตอนนี้ เขียนตอน 1 2 3 ไว้นานแล้วครับ ยังไม่มีแรงเขียนตอนต่อไป เตือนไว้ล่วงหน้า ว่าอาจจะมึนได้ ก่อนอ่านไปขยายหัวใจก่อน (ทำใจกว้างๆหน่อย)

  • ขยายหัวใจแล้ว อิอิๆๆ
  • รออ่านๆๆๆๆ

โห อ่านหมดแล้ว ฮ่าๆๆๆๆ อยากอ่านอีก

ระวังและหลีกเลี่ยง Flame bait (กระทู้ล่อเป้า) และ Troll (เจตนาหลอกล่อ ยั่วยุ ปลุกปั่น มักมาในรูปของผู้หวังดี)

  • สวัสดีคับอาจารย์
  • กระทู้ล่อเป้านี้มีข้อดี-ข้อเสีย เหมือน ขงเบ้ง ใช้กลยืมลูกธนูจากโจโฉ เสี่ยงแต่ก็อาจจะคุ้ม..(แต่ต้องคุมสตินั่งดื่มเหล้าในเรือแบบไม่หวั่นไหว ( ดูจากในภาพยนต์ )
  • มา ลปรร เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ
  • ปล. (กระทู้ มรรควิธีการบำบัดน้ำเสีย ยังไม่มีใครมายิงเป้าเลยนะครับ ยังไม่ได้ลูกธนูสักดอก รบกวนอาจารย์บริจาคลูกธนูสักดอกนะครับ) โปรโมตกระทู้
  • ระบบ BBS เคยเข้ารับการฝึกอบรมที่ KKU แต่ไม่ได้ใช้
  • มาถึงยุคปัจจุบัน เปิดกว้างมากๆจนเรียกว่าชุมชนเสมือน และเกิดการไหลถ่ายเทความคิด ความรู้ ประสบการณ์ รวมไปถึงอารมณ์ ความรู้สึกและสิ่งอันไม่พึงประสงค์ ไม่สมควรไปด้วย โดยเฉพาะ blog อื่นๆ
  • แต่ก็มีหลาย blog ที่มีมาตราฐานสูง รวมทั้ง G2K ด้วย
  • แต่อย่างไรก็ตาม ทุกชุมชนย่อมมีการปะทะสังสรรค์ที่เบาบ้างหนักบ้างเป็นธรรมดา ปกติของสังคม แล้วก็จะเรียนรู้กัน ปรับกันไป  ในแง่หนึ่งก็คิดว่าดีเสียอีกที่ชุมชนจะได้เกิดประเด็นสนทนาและหาข้อพึงปฏิบัติร่วมกันใหม่ หรือพัฒนากันไปอีกขึ้นหนึ่ง หรือหลายๆขั้น เพียงแต่ว่า ผู้ควบคุม หรือหลักของชุมชนนั้นๆต้องออกมาเชื่อมประเด็นให้เห็นว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่ใส่พริกรสจัดไปหน่อย เดี๋ยวความเผ็ดก็ลดลงไปเองนั่นแหละครับ
  • ผมยังใช้หลัก การที่ว่า สังคมมีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง ขัดแย้งและสัมพันธ์ เป็นปกติธรรมดา ครับ
  • เห็นด้วยกับข้อคิดข้อเสนอทั้งหมดของบันทึกนี้ครับ

มันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จำได้ว่าจับคอมพิวเตอร์เมื่อตอนเรียนปี 1 ตอนนี้ผ่านมาสิบกว่าปี จำแทบไม่ได้ว่าตัวเองเรียนอะไรมา

อาจารย์ขจิต: โห เขียนยังไงถึงจะทันใจครับเนี่ย ข้อมูลที่ค้นไว้ ก็หายไปกับโน็ตบุ๊คที่เสียชีวิตไป ครั้นจะรวบรวมเขียนใหม่ ก็ต้องให้นิ่งๆ สบายๆ ก่อนครับ ไม่อย่างนั้น เขียนแล้ว ใช้ได้แป๊บเดียว เหนื่อยเปล่า น่าเสียดาย

คุณกวิน: อย่าเรียกผมอาจารย์เลยครับ... ประเด็นดีนะครับ จะมีเรื่องใด ที่มีมุมเดียวบ้าง น้ำใสปิ๊ง บริสุทธิ์จริงหรือ สิ่งที่เห็น เป็นอย่างนั้นจริงหรือ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราคิด เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้ง Flame bait และ Troll มักใช้ตรรกะ และ/หรือความจริงเพียงส่วนหนึ่งครับ ที่ยากคือจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรเป็น Flame bait หรือ Troll หากเข้าใจ ตระหนักรู้ ก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ว่าจะร่วมหรือไม่อย่างไร ... คำแนะนำในบันทึก เขียนเป็นกลางๆ หลายเดือนแล้ว เตือนไว้ว่ามันมีอย่างนี้อยู่ครับ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้ระแวงไปทั่ว

พี่บางทราย: ขอบคุณครับพี่ "Nearly all men can stand the test of adversity, but if you really want to test a man's character, give him power." -- Abraham Lincoln และเราทดสอบวุฒิภาวะของสังคมได้ โดยดูว่าจัดการกับความขัดแย้งอย่างไร แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร สังคมนั้น จะต้องก้าวต่อไป (จีบัน) หรือติดแหงก รอความแตกสลาย ซึ่งเมื่อสังคมแตกสลาย ชนะหรือแพ้/ขาใหญ่ขาโจ๋/ถูกหรือผิด ก็ไม่มีความหมายอีกต่อไปครับ

คุณออต: สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดาครับ ฝนมาแล้ว รีบปลูกไผ่ จะได้โตเร็วๆ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท