สวรรค์ชั้นเจ็ด???


 Cover1


ภาพปกหนังสือ เทวกำเนิด โดยพระยาสัจจาภิรมย์ (สรวง ศรีเพ็ญ)
ที่มา http://www.thaispecial.com/bookimages/9749931363/cover1.jpg

ทำงานข้าพเจ้าอยู่ชั้นเจ็ด บางครั้งก็คิดเลยเถิดไปว่า นี่เราอยู่สวรรค์ชั้นเจ็ด หรือเปล่านะนี่ ฮา....มีความสุขสบายซะจริงๆ เจียว ทว่าต้องคอยลุ้นว่าจะได้ขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์บนสวรรค์ จริงๆ วันไหน  ก็ลิฟท์เจ้ากรรมน่ะสิ มักจะค้างอยู่เรื่อย แต่โชคดีไม่เคยติดอยู่ในลิฟ์หรอกนะ แต่ว่า คงต้องเจอเข้าสักวัน  พอพูดถึงเรื่องสวรรค์ชั้นเจ็ดคำนี้ จัดเป็น อติพจน์ (hyperbole) เป็นคำพูดที่พูดเกินจริง ทำใมนะหรือ ก็เพราะสวรรค์ในทางพุทธศาสนา อรรถกถาจารย์ท่านว่ามีแค่หกชั้น เท่านั้น ในนิราศนรินทร์ มีกล่าวถึงสวรรค์ทั้งหกชั้นฟ้า (ฉกามาวจร) ไว้ความว่า

                                เอียงอกเทออกอ้าง                อวดองค์  อรเอย
                        เมรุชุบสมุทรดินลง                        เลขแต้ม
                        อากาศจักจารผจง                        จารึก  พอฤา
                        โฉมแม่หยาดฟ้าแย้ม                     อยู่ร้อนฤาเห็น

-(เอาดาบตัดร่างกายให้เป็นสองซีก)แล้ว เอียงส่วน อก เพื่อเท เอาหัวใจออกมาให้ อรอนงค์ ได้ดู
-เอาเขาพระสุเมรุ เป็นปากกา เอาน้ำในมหาสมุทร เป็นหมึก ใช้เขียน อักขรเลขา
-เอาท้องฟ้าอากาศ เป็น กระดาษ ข้าจักจารจารึก ความรักที่ข้ามีต่อนาง
-แม่คุณ แม่โฉมงามของพี่ ยามนี้ถึงคราว (ทุกข์)ร้อน (เกิดสงคราม) ต้องไกลห่างและไม่เห็นกันแล้วนะเจ้า

                        ตราบขุนคิริข้น                             ขาดสลาย  แลแม่
                        รักบ่หายตราบหาย                       หกฟ้า
                        สุริยจันทรขจาย                           จากโลก  ไปฤา
                        ไฟแล่นล้างสี่หล้า                         ห่อนล้างอาลัย
                                                                   
-ถึงภูเขา ในโลกนี้  จะ มลายหายไป
-และถึงสวรรค์ทั้งหกชั้นฟ้า (จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์/ไตรตึงษ์  ยามา ดุสิตา นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี) จะมลายหายไป แต่ความรักของพี่บ่ได้เหือดหายไปจากเจ้าสักนิดเลย
-ถึงพระอาทิตย์ พระจันทร์ จะมลายหายไป จากโลกนี้
-ถึงไฟประลัยกัลป์มาเผาผลาญ ให้ทั้งสี่หล้า (จัตุราบาย/อบาย(ภูมิ)ทั้งสี่ คือ นรกภูมิ ติรัจฉานภูมิ เปรตภูมิ และอสูรกายภูมิ ) ต้องมลายหายไป ความรักความอาลัยที่พี่มีต่อเจ้าไม่มีวันที่จะเหือดหายเลย

 วิเคราะห์จากความเชื่อเรื่อง ไฟประลัยกัลป์ล้างโลก นายนรินทรธิเบศร์ น่าจะได้แนวความคิดนี้มาจากวรรณคดีเรื่อง ลิลิตโองการแช่งน้ำ สำหรับ ลิลิตโองการแช่งน้ำ มีหลายชื่อเรียก เช่น โองการแช่งน้ำ, ประกาศแช่งน้ำโคลงห้า หรือ โองการแช่งน้ำพระพิพัฒนสัตยา ในที่นี้ผู้เขียนจะขอเรียกว่า โองการแช่งน้ำ โองการแช่งน้ำ ป็นวรรณคดีที่เก่าแก่ของไทย นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นตรงกัน ว่าแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่นักวิชาการบางท่าน เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อว่าวรรณคดีเรื่องนี้น่าจะแต่งขึ้นอย่างน้อยก็ในสมัย พระเจ้าอู่ทอง ผู้ทรงสถาปนาเมืองอโยธยาโองการแช่งน้ำ กล่าวถึงเหตุการณ์ โลกประลัยด้วยไฟ (จากนั้นโลกจะ คุมรูป รวมตัวเกิดขึ้นมาใหม่)  ความว่า

นานา อเนกน้าว
เดิมกัลป์</span>      
:จะขอกล่าวถึงเรื่องต่างๆ นานา เมื่อครั้ง ปฐมกัป
(เดิมกัลป์)
จักร่ำ จักราพาฬ
เมื่อไหม้</span>       :
จะกล่าวร่ำร้อง บอกถึงคราวเมื่อ จักรวาล ถูกไฟไหม้
กล่าวถึง ตระวันเจ็ด อันพลุ่ง  
:จะกล่าวถึง ดวงตะวัน อันลุกพลุ่ง มีเจ็ดดวง
น้ำแล้งไข้ ขอดหาย
ฯ</span>            :
น้ำแห้งแล้ง แห้งขอด เหือดหายไปจากโลก 
เจ็ดปลา มันพุ่งหล้า
เป็นไฟ</span>     : ปลาใหญ่เจ็ดตัวต้องตาย
ไขมันของปลาลุกเป็นไฟ
วะวาบ จัตุราบาย แผ่นขว้ำ     :
ไฟไหม้ลุกวาบๆ ไปถึง จตุระ+อบาย
(อบายภูมิทั้งสี่)
</span>ชักไตรตรึงษ์ เป็นเผ้า            
ไฟทำลายสวรรค์ชั้น ไตรตรึงษ์/ดาวดึงส์ เป็นผงเผ้า
แลบ่ล้ำ สีลอง ฯ                    
แสงแห่งไฟนั้นเรืองลอง บ่มีแสงไฟใด สีสว่างล้ำกว่าแสงนี้</span>
สามรรถญาณ                      
ผู้มีญาณอันสามารถ (พระพรหม)
ครอบเกล้าครองพรหม          
ผู้คุ้ม(ครอบ-คลุม)เกล้า(ชาวเทวดา)ครองสวรรค์ชั้นพรหม 
ฝูงเทพนองบนปานเบียดแป้ง  : เทวดาจากสวรรค์ชั้นล่างๆ หนีตาย ขึ้นมาอาศัย บนพรหมโลก
สรลมเต็มพระสุธาวาสแห่งหั้น : เทวดาเบียดเสียดเหมือนผงแป้งสระหลมสลอนเต็มพรหมชั้นสุธาวาส
ฟ้าแจ้งจอดนิโรโธ ฯ            
ฟ้าเริ่มสว่างแจ้ง(ไม่มีควันไฟแล้วไฟที่เคยไหม้) ดับ (นิโรธ) ลง
</span></span>กล่าวถึงน้ำฟ้าฟาดฟองหาว  
กล่าวถึง ฝนตก  เป็นละอองฟาดฟอง  ไปทั่วฟากฟ้า
ดับเดโชฉ่ำหล้า                    :  ดับ ความร้อน (เดโช) ชื่นฉ่ำทั่วหล้า
ปลากินดาวเดือนแอ่น            :  ฝนตกทำให้น้ำท่วมปลาว่ายกินดาวและเดือน(จนพุง)แอ่น
ลมกล้าป่วนไปมา ฯ               :  ลมพัด (อย่างแกร่งกล้า) ไปมา
แลเป็นแผ่นเมืองอินทร์          :   แผ่นดินเริ่ม คุมรูป เกิดขึ้น (เมืองอินทร์=เมืองอันยิ่งใหญ่)
เมืองธาดาแรกตั้ง                 :  เมืองอัน พระพรหม (ธาดา) ก่อตั้งขึ้น
ขุนแผนแรกเอาดินดูที่           :  เทวดาวิศวกร(ขุนแผน)ตนแรกออกดูทำเลสร้างเมือง
ทุกยั้งฟ้าก่อคืน ฯ                 : ทั่วทุกผืนดินและพื้นฟ้าก็ก่อร่างสร้างรูปกลับคืนเหมือนเดิม 
 แลเป็นสี่ปวงดิน                  :  แลเกิดเป็นทวีปทั้งสี่
เป็นเขายืนทรง้ำหล้า            :  บังเกิดภูเขา สูงทระง้ำ ค้ำแผ่นดิน
เป็นเรือนอินทร์ถาเถือก        
บังเกิดเมืองสวรรค์ขึ้นมาใหม่(เมืองอินทร์)จนดารดาษ
เป็นสร้อยฟ้าคลี่จึ่งบาน ฯ      : วิมานคลี่คลายเรียงรายเหมือนสร้อยประดับฟากฟ้าชวนเบิกบาน
จึ่งเจ้าตั้งผาเผือกผาเยอ     
พระพรหมสร้าง เขาไกรลาส เขาพระสุเมรุ
ผาหอมหวานจึ่งขึ้น            
สร้างเขาคันธมาส ขึ้น
หอมอายดินเลอก่อน            : กลิ่นดินที่ถูกย่างไฟช่างมีกลิ่นอายอันเลอเลิศกว่ากลิ่นดินสมัยก่อน
สรดึ้นหมู่แมนมา ฯ             
เทวดาจากเมืองแมนก็สระดิ้นกันลงมา(จะกินดิน)
ตนเขาเรืองร่อนหล้าเลอหาว : เทวดา มีตัวตนเรืองรองบินร่อนลงมาจากฟากฟ้า
หาวันคืนไป่ได้                   
ไม่ตาย (อยู่เหนือเวลาหาวันคืนไป่ได้)
จ้าวชิมดินแสงหล่น           
พอเทวดา ชิม/กิน ดิน แสงสว่างที่มีในร่างก็หล่นหาย
เพียงดับไต้มืดมูล ฯ           
มืดเหมือนใครดับคบไฟ(คบไฟเรียกว่า ไต้ เช่น จุดไต้ตำตอ)
</span></span> ลิลิตโองการแช่งน้ำ กล่าวถึงเหตุการณ์ โลกประลัยด้วยไฟ เพราะมี ตระวันเจ็ด(ดวง) อัน (ลุกไหม้) พลุ่ง (พล่าน) ดังนั้น น้ำ จึง แล้ง ไข้ ขอดหาย (น้ำแล้งและเป็นไข้ เพราะน้ำมีความร้อนสูง น้ำจึงแห้งขอดหายไป) เจ็ดปลามันพุ่งหล้าเป็นไฟ (ทวีปทั้ง 7 เกิดโกลาหล เพราะ หินเหลวร้อนพุ่งปะทุสู่ท้องฟ้า คนโบราณเชื่อว่า ใต้เปลือกโลกมีปลา ตัวใหญ่ชื่อปลาอานนท์ หนุนเปลือกโลกอยู่ ที่จริงปลาอานนท์ นี้ก็คือเปลือกโลกของทวีปต่างๆนั่นเอง ) จาก ลิลิตโองการแช่งน้ำ ผู้เขียน จินตนาการว่า เทวาดาผู้มีกายเรืองแสง (โปร่งแสง) ก็คือ จุลชีพ ในฟากฟ้า ที่ลงมากินดิน (เจริญเติบโตบนพื้นดิน) นั่นเอง  โองการแช่งน้ำ นี้ น่าจะได้รับความเชื่อมาจากหนังสือ ไตรภูมิพระร่วง/เตภูมิกถา ซึ่งแต่งในสมัยสุโขทัยเมื่อประมาณปี พ.ศ. 1882 ผู้นิพนธ์ไตรภูมิพระร่วง คือ พระยาลิไท เนื้อหาสาระในไตรภูมิพระร่วง ถูกเรียบเรียงมาจากคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา มีเนื้อหาเกี่ยวกับโลกสันฐานที่แบ่งเป็น 3 ส่วน หรือ ไตรภูมิ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง มีการบรรยายถึง ยุคที่โลกจะถูกทำลายด้วยไฟประลัยกัลป์ อนึ่งไฟประลัยกัลป์จะทำลายภพภูมิ 14 ภพภูมิ คือ

1. ภพอบายทั้งสี่  (นรก ติรัจฉาน เปรต อสูรกาย)
2. ภพมนุษย์ 1
3. ภพสวรรค์ ทั้ง 6 (จาตุมหาราชิกา ไตรตึงษ์  ยามา ดุสิตา นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี)
4. ภพของพรหมที่ได้ปฐมฌาน 3 (พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา)

ฉะนั้นในโองการแช่งน้ำที่ว่า "ชักไตรตรึงษ์ เป็นเผ้า" จึงเป็นการกล่าวที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพราะไม่เพียงแต่สวรรค์ชั้น ดาวดึงส์/ไตรตรึงษ์  จะถูกเผาไหม้หากแต่สวรรค์ชั้น มหาพรหมา ซึ่งสูงกว่าชั้น ไตรตรึงษ์ ก็ยังต้องถูกเผาด้วย นี่จึงถือเป็นความบกพร่องผิดพลาดในข้อที่หนึ่ง ผู้เขียนอนุมานได้ว่า (พราหมณ์)ผู้แต่ง โองการแช่งน้ำ ถึงจะเป็นผู้ที่มีความรู้  แต่ก็ยังอรรถาธิบายบกพร่อง ผิดพลาด ในหลายที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้แสดงทรรศนะเรื่อง ความสับสนระหว่าง สายฟ้า ซึ่งเป็นอาวุธของพระอินทร์ แต่ใน โองการแช่งน้ำ กล่าวว่าเป็นอาวุธของพระอิศวร ไว้ในหนังชื่อบทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย ภาคผนวก ชีวิตและงานของ ปิกัสโซ โองการแช่งน้ำ ในวรรคที่กล่าวถึง พระอิศวร แต่กลับมีการนำคุณสมบัติของพระอินทร์เข้าไปปนอยู่ด้วย นั้นมีใจความดังนี้

" โอมพระ บรเมศวราย :โอมพระอิศวร
ผาย ผาหลวง อะคร้าว : ผู้ผึ่งผายอยู่ ณ เขา ไกรลาศ (ผาหลวง) อันงดงาม
ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก :ขี่วัวเผือกเป็นพาหนะ วัวเผือกนี้ชื่อ อศุภราช
เอาเงือกเกี้ยวข้าง :เอางู ทำเป็นสร้อยสังวาล เกี่ยวกระหวัดที่สีข้าง (คำว่าเงือก โบราณ ใช้แปลว่างู )
อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น :ใช้พระจันทร์เป็นปิ่นปักผม
ทรงอินทร ชฎา :ผู้ยิ่งใหญ่ผู้ทรงสวมชฎา
สามตาพระแพร่ง :ผู้มีสาม ตา แยกออกมา (ที่พระนลาฎ=หน้าผาก )
แกว่งเพชรกล้า :กวัดแกว่งเพชร (พชร/วชร/วัชระ/วชิระ/วิเชียร=สายฟ้า) เป็นอาวุธอย่างแกร่งกล้า
ฆ่าพิฆนจัญไรฯ"
:ทำลายร้างความจัญไร

พระยาสัจจาภิรมย์ กล่าวถึงประวัติของพระอิศวร และพระอินทร์ ไว้ในหนังสือเรื่อง เทวกำเนิด หน้า 2 ถึงหน้า 20  ความว่า พระอิศวร ใน   คัมภีร์ยัชุรเวท อ้างว่าพระอิศวรมี กายสีแดง ส่วนในคัมภีร์ อถรรพเวท ว่ามีกายสีดำ มีสามตา ตาที่สามนี้อยู่ตรงพระนลาฏ (หน้าผาก) มีรูปพระจันทร์ครึ่งซีกอยู่เหนือตาดวงที่สามนั้น เกศามุ่นเป็นชฎารุงรัง มีประคำ กะโหลกหัวคนคล้องที่ศอ (ศอ=คอ) มีสังวาลเป็นงู ศอศรีนิล นุ่งหนังเสือ หนังกวาง หรือหนังช้าง บางปางก็เปลือย จึงมีสมญานามว่า ทิคัมพร (นุ่งฟ้า) สถิตอยู่บนเขาไกรลาศ ในเทือกเขาหิมาลัยทางทิศตะวันตก บางคาบชอบอยู่ตามสุสานป่าช้า มีภูติเป็นบริวาร จึงมีอีกนามว่า ภูเตศวร (ภูต+อิศวร=นายของเหล่าภูตผี) มีอาวุธ คือ ตรีศูล ชื่อ ปินาก ทรง ธนูชื่อ อชคพ ทรงคทา ยอดหัวกะโหลกชื่อ ชัฏวางค์ บางคาบก็ทรงบ่วงบาศ พาหนะของเธอ คือโคอศุภราชเผือกผู้

ส่วน ประวัติของพระอินทร์ มีอยู่ว่า รูปร่างพระอินทร์ในยุคไตรเภทว่า ผิวกายเป็นสีแสด หรือสีทอง แต่ในชั้นหลังว่าสีนวล แต่ของเราว่าสีเขียว จะมีที่มาอย่างไรยังค้นไม่พบ รูปเขียนต่างๆแม้จะมาจากอินเดียก็เขียนเป็นสีเขียว คงไม่ใช่พวกเรามาเปลี่ยนสีพระอินทร์เอาเอง เธอมีแขนยาวมากและเปลี่ยนรูปร่างได้อย่างใจนึก โปรดถือ วัชระ (สายฟ้า) เป็นอาวุธ มีรถทองเทียมด้วยม้าสีแดง ชื่อวิมานหรือเวชยันต์ มีม้าสีขาวสำหรับทรงสีขาวชื่อ อุจไฉศรพ เมืองสถิตเรียกว่า อมราวดี ในเทวภูมิ ชื่อว่าเมืองตรัยตรึงษ์

 จะเห็นได้ว่า (พชร/วชร/วัชระ/วชิระ/วิเชียร=สายฟ้า) เป็นอาวุธของพระอินทร์ การที่ (พราหมณ์)ผู้แต่ง โองการแช่งน้ำ กล่าวอ้างว่า เพชร เป็น อาวุธของพระอิศวร  นี่จึงถือเป็นความบกพร่องผิดพลาดในข้อที่สอง สาเหตุใดที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ หลงผิดไปว่า พระอินทร์ และพระอิศวรเป็นเทพเจ้าองค์เดียวกัน จึงกระจ่างแจ้งขึ้นแล้วว่า พระอินทร์ และพระอิศวร มิใช่เทพเจ้าองค์ เดียวกัน และพระอิศวรมิได้ทรงใช้ สายฟ้าเป็นอาวุธ เรื่องนี้ถือเป็นคุณูปการของ พระยาสัจจาภิรมย์ (สรวง ศรีเพ็ญ) ผู้เขียนตำรา เทวกำเนิด วาทกรรมหลักที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดและสับสนระหว่างคุณสมบัติของพระอินทร์และพระอิศวรนั้น อาจเป็นเพราะสมัยก่อนไม่มีตำรับตำราไว้ค้นคว้า การถ่ายทอดจึงมีลักษณะเป็นการถ่ายทอด แบบ วรรณกรรมมุขปาฐะ (Mouth to mount) เอ้ยภาษาอังกฤษน่าใช้ว่า Oral Literature อีกทั้งคนไทยมีนิสัยเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และไสยศาสตร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพื่อใช้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงถือตามกันมาโดย ไม่ได้ดูถึงข้อ เท็จจริง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุวนีย์ พระแก้ว (อักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องพระอินทร์และพระอิศวรไว้ ว่าคำว่า อีศวร นั้นคนไทยมักพูดออกเสียง พยัญชนะนาสิก ว่า อินสวน อาจทำให้จำสับสนระหว่างพระอิศวร กับพระอินทร์ก็เป็นได้ อีกประเด็นหนึ่งก็คือ คนไทยในสมัยก่อนมีความผูกพันกับพระอินทร์มากกว่า พระอิศวร โดยดูได้จาก วรรณคดีในสมัยโบราณ จะมีพระอินทร์อยู่ในเรื่องเสมอๆ แต่ว่าพระอิศวรนั้นกลับไม่ค่อยปรากฏกายอยู่ในวรรณคดีโบราณเท่าใดนัก ซึ่งสอดคล้องกับ จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวไว้ใน หนังสือเรื่อง บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย ภาคผนวก ชีวิตและงานของ ปิกัสโซ หน้า 260 ความว่าชาวไทยแต่โบราณนับถือศาสนาพุทธ รู้จักเทวดาตามเรื่องในชาดกบ้าง ในพระสูตรบ้าง เทวดาใหญ่ที่สุดตามความสำนึกของหนังสือชาดกในพระสูตรคือพระอินทร์ เมื่อเอ่ยถึงสวรรค์คนไทยต้องนึกถึงพระอินทร์ ก่อนใครหมด สำนวนพูดของเราจึงมีว่า “ต่อให้พระอินทร์ลงมาเขียวๆ ก็ไม่เชื่อ” หรือปริศนาคำทายเรามีว่า “เขียวเหมือนพระอินทร์ บินเหมือนนก ศรปักอก นกก็ไม่ใช่” (ตอบว่าแมลงทับ) วรรณคดีเก่าๆ ของเรา เทวดาที่ลงมาเกี่ยวข้องมากที่สุดก็คือ พระอินทร์ เช่น เรื่องยอพระกลิ่นกินแมว เรื่องสังข์ทอง มีพระอินทร์มายุ่มย่าม เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ที่แพร่หลายมากก็มีพระอินทร์

สำหรับบทความเรื่อง สวรรคชั้นเจ็ด นี้ผู้เขียนโดยยึดขอสังเกตของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่เคยเขียนไว้ในหนังสือ บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย ภาคผนวก ชีวิตและงานของ ปิกัสโซ.กรุงเทพมหานคร : ศตวรรษ,2523.   ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ แสดงทรรศนะว่าด้วยเรื่อง ความสับสนระหว่าง สายฟ้า ซึ่งเป็นอาวุธของพระอินทร์ แต่ใน โองการแช่งน้ำ กล่าวว่าเป็นอาวุธของพระอิศวร และผู้เขียนได้แสดงทรรศนะเพิ่มไว้ ว่า ไม่เฉพาะเรื่องอาวุธ แต่ความเชื่อเรื่อง ไฟประลัยกัลป์ล้างโลกนั้น ก็มีการอ้างไว้อย่างคลาดเคลื่อน เพราะตามความเชื่อใน เตภูมิกถา/ไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่า ไฟประลัยกัลป์นั้นสามารถทำลายภพภูมิต่าง ๆ ได้ถึง 14 ภพภูมิ แต่โองการแช่งน้ำกลับอ้างแต่เพียงว่าไฟประลัยกัลป์นั้นทำลายแค่เพียงภพภูมิที่เจ็ด (ภพภูมิที่เจ็ดคือสวรรค์ชั้นที่สอง ซึ่งก็คือสวรรค์ชั้น ไตรตรึงษ์/ตรัยตรึงศ์/ดาวดึงส์  (ชักไตรตรึงษ์เป็น(ผง)เผ้า) ซึ่งสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ ปกครองโดยพระอินทร์ พอพูดถึงตรงนี้ทำให้เราสามารถ ตั้งสมมติฐาน ได้สามประเด็นคือ 

-สมมติฐานที่ 1 พราหมณ์ผู้แต่งโองการแช่งน้ำบกพร่องเข้าใจผิด
-สมมติฐานที่ 2 กลอนพาไป
-สมมติฐานที่ 3 ไตรตรึงษ์ในความหมายโดยรวมก็คือ สววรค์ทั้ง 14 ภพภูมิ


จิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อว่าโองการแช่งน้ำมีลักษณะเป็นโคลงห้า (โคลงมณฑกคติ) ซึ่งเป็นต้นแบบของโคลงดั้นบาทกุญชร หากวิเคราะห์ โดยยึดตามแผนผังโคลงห้า ตามที่จิตร ภูมิศักดิ์ เสนอไว้จะเขียนแสดงได้ดังนี้

นานา อเนกน้าว            เดิมกัลป์     
จักร่ำ จักราพาฬ            เมื่อไหม้    
กล่าวถึง ตระวันเจ็ด       อันพลุ่ง 
(อันพลุ่ง) น้ำแล้งไข้      ขอดหาย

เจ็ดปลา มันพุ่งหล้า       เป็นไฟ    
วะวาบ จัตุราบาย          แผ่นขว้ำ   
(แผ่นขว้ำ)ชักไตรตรึงษ์  เป็นเผ้า          
(เป็นเผ้า) แลบ่ ล้ำ        สีลอง ฯ         

ถ้ามองตามผังโคลงห้าของจิตร ภูมิศักดิ์ จะเห็นได้ว่า คำว่า ไตร นั้น ถูกใช้เพื่อให้รับสัมผัสสระกับคำว่า ไฟ นั่นเอง ถ้าพราหมณ์ผู้แต่งโองการแช่งน้ำทราบว่าไฟประลัยกัลป์นั้นสามารถทำลายภพภูมิสูงสุดถึง 14 ภพภูมิ (ภพภูมิที่ 14 คือสวรรค์ชั้น มหาพรหมา ซึ่งสูงกว่า ภพภูมิที่เจ็ด ซึ่งนั่นก็คือสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นที่สอง) ก็สรุปได้ ตามสมมติฐานที่ 2-3 เพราะ หากพรามหณ์ แต่งโคลงห้าว่า "(แผ่นขว้ำ)ชักมหาพรหมา  เป็นเผ้า" ก็จะไม่มีคำใด รับสัมผัสกับคำว่า ไฟ แต่ทว่า สมมติฐานที่ 1 ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เพราะ พราหมณ์ผู้แต่งโองการแช่งน้ำ ทำให้เราเห็นแล้วว่า ท่านอ้างว่า สายฟ้าเป็นอาวุธของพระอิศวร ทั้งที่ในความเป็นจริง สายฟ้าเป็นอาวุธของพระอินทร์ จึงทำให้เชื่อได้ว่า ท่านก็มั่วนิ่มเรื่อง ไฟประลัยกัลป์ ได้เช่นกัน สำหรับ สมมติฐาน ว่าด้วยเรื่อง โองการแช่งน้ำ นั้นแฝงนัยยะทางการเมืองหรือไม่นั้น ตอบว่า แฝงนัยยะทางการเมืองอย่างแน่นอน เพราะวัตถุประสงค์ในการแต่ง โองการแช่งน้ำก็เพื่อใช้ อ่านเพื่อสาปแช่ง ข้าราชการผู้คิดคดทรยศต่อเจ้า และสรรเสริญอำนวยพรแด่ข้าราชการผู้มีความจงรักษ์ภักดี ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒนสัตยา แต่พรามหณ์ผู้แต่งโองการแช่งน้ำ จะแฝงนัยยะทางการเมืองว่า ด้วยเรื่องอื่นด้วยหรือไม่  ยังเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป ใน โคลงกำสรวลสมุทร/กำสรวลศรีปราชญ์/นิราศนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็น โคลงนิราศสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นโคลงที่โด่งดัง และได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง นับแต่โบราณกาลมา ถือได้ว่าเป็นโคลงต้นแบบของนิราศคำโคลงเรื่องอื่นๆ แต่เดิมเชื่อกันว่าผู้แต่งคือ ศรีปราชญ์ (มีชีวิตอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ) แต่งคร่ำครวญถึงคนรัก เมื่อคราวถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราช แต่ทว่านักวิชาการในปัจจุบันเชื่อว่า ศรีปราชญ์ไม่มีตัวตนจริงและไม่ได้แต่ง(โคลง) กำสรวลศรีปราชญ์  เพราะได้วิเคราะห์เส้นทางการเดินเท้าและเส้นทางการเดินเรือที่เอ่ยไว้ในโคลงกำสรวลสมุทร พบว่าเป็น เส้นทางสายเก่าต้องเดินทางอ้อมและต้องเสียเวลามาก  ถ้าโคลงกำสรวลสมุทรแต่งในสมัยพระนารายณ์มหาราชจริง ก็ไม่ควรที่จะใช้เส้นทางสายเก่าให้เสียเวลาในการเดินทาง อีกทั้งคำศัพท์ที่ใช้ในโคลงกำสรวลเป็นภาษาที่เก่ากว่าสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นักวิชาการในปัจจุบันจึงสันนิษฐานว่า ผู้แต่งกำสรวลสมุทรน่าเป็น พระเยาวราช (ในสมัยอยุธยาตอนต้น) ผู้นิพนธ์โคลง ทวาทศมาส   สำหรับโคลงกำสรวลที่เอ่ยนามพระอินทร์ ไว้นั้น มีใจความว่า

โฉมแม่จักฝากฟ้า                     เกรงอินทร หยอกนา
อินทรท่าน เทอกโฉมเอา            สู่ฟ้า
โฉมแม่จักฝากดิน                     ดินท่าน แล้วแฮ
ดินฤขัดเจ้าหล้า                        สู่สม สองสมฯ

*เทอก=เทิก

จะเห็นได้ว่าพระอินทร์เป็นเทพเจ้าที่คนไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันมีความผูกพันธ์ใกล้ชิดมากกว่าพระอิศวร สาเหตุนี้เอง จึงทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างพระอินทร์และพระอิศวรใน โองการแช่งน้ำ

วกกลับมาพูดเกี่ยวกับเรื่องเรื่องสวรรค์ชั้นเจ็ดซึ่ง จัดเป็นอติพจน์ เพราะสวรรค์มีแค่หกชั้น (ฉกามาวจร) และความเชื่อที่ว่า โลกมนุษย์จะพินาศเพราะถูกไฟประลัยกัลป์เผาผลาญ ในทางพุทธศาสนา ไฟ น้ำ ลม ที่จะมาทำลายโลกนั้น ถือเป็น สัญลักษณ์ (SYMBOL) อย่างหนึ่งไฟ น้ำ ลม  ที่จะมาล้างผลาญโลก นี้ก็ก็คือ โทสะ ราคะ โมหะ นั่นเอง

สิ่งที่ทำลายโลก<-------------------------------->กิเลสในใจมนุษย์
ไฟ<--------------------------------------------->โทสะ
น้ำ<--------------------------------------------->ราคะ
ลม<--------------------------------------------->โมหะ

ไฟ (โทสะ) นั้นสามารถทำลายภพภูมิต่าง ๆ ได้ถึง 14 ภพภูมิ
น้ำ (ราคะ) นั้นสามารถทำลายภพภูมิต่าง ๆ ได้ถึง 17 ภพภูมิ
ลม (โมหะ) นั้นสามารถทำลายภพภูมิต่าง ๆ ได้ถึง 20 ภพภูมิ คือ

1. ภพอบายทั้งสี่  (นรก ติรัจฉาน เปรต  อสูรกาย)
2. ภพมนุษย์ 1
3. ภพสวรรค์ ทั้ง 6 (จาตุมหาราชิกา ไตรตึงษ์  ยามา ดุสิตา นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี)
4. ภพของพรหมที่ได้ปฐมฌาน 3 (พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา)
5. ภพของพรหมที่ได้ ทุติยฌาน 3 (พรหมปริตตาภา พรหมอัปปมาณา พรหมอาภัสราภูมิ )
6. ภพของพรหมที่ได้ตติยฌาน 3 (พรหมปริตตสุภา พรหมอัปปมาณสุภา พรหมสุภกิณหา)

โปรดดู พรหมภูมิ ย่อและรวบรวมจาก 'ภูมิวิลาสินี' โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.9) ที่มา http://www.geocities.com/easydharma/bhum_006.html

ภพภูมิต่างๆ ที่กล่าวถึงนี้ ก็ถือเป็น สัญลักษณ์ (SYMBOL) เช่นเดียวกัน ภพภูมิต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ก็คือจิตใจฝ่ายต่ำ ไปจนถึงจิตใจฝ่ายสูง จิตใจฝ่ายต่ำก็คือความคับข้องหมองใจ จิตใจฝ่ายสูงก็คือ ความสุข ความสดชื่นเบิกบาน นั่นเองเมื่อใดก็ตาม ที่จิตใจเราถูก อารมณ์แห่ง เปลวไฟโทสะ อารมณ์แห่ง สายน้ำราคะ และ อารมณ์แห่ง สายลมโมหะ เข้าครอบคลุมเสียแล้ว สวรรค์ในอก นรกในใจ ก็คงถูกทำลายและถูกแทนที่ด้วย โทสะ ราคะ โมหะ นั่นเองจะเห็นได้ว่า ลมโมหะ คือสิ่งที่สามารถทำลายภพภูมิแห่งจิต ให้กระเจิดกระเจิง พังพินาศย่อยยับได้มากที่สุดถึง 20 ภพภูมิ อรรถกถาจารย์กล่าวอรรถาธิบายไว้ว่า เป็นเพราะ

เปลวไฟแห่งโทสะ นั้น เกิดง่าย ดับง่าย ยกตัวอย่างเช่น ยามเมื่อเราโกรธเกลียด ใครสักคนหนึ่ง เราย่อมไม่สามารถที่จะโกรธเกลียด เขาผู้นั้นได้ข้ามวันข้ามคืน ถ้าเขาผู้นั้น เข้ามาขอโทษขอโพย ความโกรธเกลียดนั้นอาจจะทุเลาเบาบางไป

สายน้ำแห่งราคะ นั้น เกิดยาก และก็ดับยาก ยกตัวอย่างเช่น (ตัณหา)ราคะ อาศัยความรักความพึงพอใจและกามารมณ์เป็นที่ตั้ง เกิดขึ้นได้ยาก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะคงอยู่นาน คงอยู่ได้มากกว่า สิบปี ยี่สิบปี (เช่น ฉันมีความรักให้เธอและรอเธอมาตั้ง 10 ปีแล้วนะ) ก็เฝ้ารอ เฝ้าคอย กันต่อเถอะแม่คุณ.... ถ้า(ตัณหา)ราคะ นี้เกิดขึ้น ต้องใช้เวลาในการเยียวยารักษา และดับได้ยาก

สายลมแห่งโมหะ นั้น เกิดยากและดับยากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น เมื่อใดก็ตามที่ เราหลงใครสักคน จนหน้ามืดตามัว ต่อให้เอาช้างมาฉุดก็ฉุดไม่อยู่ และหลงกันข้ามภพข้ามชาติทีเดียว (เกิดชาติหน้าฉันใด ก็ขอเจอเธออีก) สายลมแห่งโมหะ พัดมา สรวงสวรรค์ ชั้นพรหมปริตตสุภา พรหมอัปปมาณสุภา และพรหมสุภกิณหา ก็ถูกทำลายให้ย่อยยับลง ยามสายลมแห่งโมหะ (ความลุ่มหลง) ก่อตัวขึ้นเมื่อใด ยากที่สุดที่จะทำให้สายลมแห่งความลุ่มหลงนี้สงบลงสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ สุขทุกข์ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย วันนี้ท่านจงถามใจตัวเองดูสักนิดเถิดว่า ใจของท่าน กำลังขึ้นสวรรค์หรือ ตกนรก

หมายเลขบันทึก: 169894เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2008 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

สวัสดีครับ

  • แวะมาขึ้นสวรรค์ชั้น 7 ครับ อิอิ
  • ขอบคุณที่แวะทักทายกันครับ
  • อ่านแล้วจะทำความดีเยอะ ๆ ครับ
  • จะได้ขึ้นสวรรค์ ฮ่าๆๆๆ
  • ขอบคุณครับ

(เอาดาบตัดร่างกายให้เป็นสองซีก)แล้ว เอียงส่วน อก เพื่อเท เอาหัวใจออกมาให้ อรอนงค์ ได้ดู

  • โชคดีจัง..ที่ไม่ได้ชื่อ อรอนงค์.. นึกถึงภาพใครมาเอียงส่วนอกเอาหัวใจออกมากองให้ดู....
  • หว๋ายยยย.. ต้องวิเวกวิเหวโหว..อย่างบรรยากาศหอพักน้องแน่
  • โชคดีจัง..ที่อยู่แค่สวรรค์ชั้นหนึ่ง..จะได้ไม่ต้องใช้ลิฟท์เป็นพาหนะไปเฝ้าพระอินทร์  แต่ชอบเข้าเฝ้าพระอินทร์ตอนอิ่มมากๆ ยามบ่าย
  • โชคดีจัง..ที่ได้อ่านบันทึกสนุกๆ แฝงด้วยความรู้ของน้องค่ะ
  • ขอบคุณนะคะ

สวัสดีค่ะคุณกวินทรากร

  • คุณมีพรสวรรค์ในการเล่าเรื่องจัง..
  • พูดถึงสวรรค์..ในที่ทำงานดูแล้วรู้สึกไกลตัว...มีความสุขพอประมาณ
  • แต่สวรรค์ที่มีอยู่ไม่ต้องใช้ลิฟท์..เดินทาง
  • แต่..อยู่ในใจนี่เอง.
  • มาสวัสดีอีกรอบ
  • มีเรื่องพระอินทร์มาฝากที่นี่ค่ะ

แวะมาทักทาย เพราะเริ่มชอบอ่านกลอน

พึ่งรู้นะครับ ว่าอยู่ชั้น7 จะได้ขึ้นไปหาถูก

 

มาเยี่ยม...

ส่วมทำงานอยู่ยอดเขา...(พระสุเมรุ )...คงได้เฝ้าพระศิวะแน่แท้..

สวัสดีค่ะ

-เข้ามาแซวจ้า

- ทำงานอยู่ใกล้นางฟ้านี่เอง

 

  • สวัสดีครับอาจารย์ ยงยุทธ ขอให้ร่ำรวยบุญกุศลนะครับ พรุ่งผมนี้ว่าจะไปทำบุญถวาย ขวาน ให้พระไม่รู้พระท่านจะรับรับไม่...เตรียมไว้เผื่อตายไปแล้วต้องตกนรกจะได้เอาขวานไว้ฟันหนามงิ้ว..เป็นความคิดส่วนบุคคลห้ามลอกเลียนแบบครับ
  • สวัสดีครับอาจารย์  dd_L  ไปเฝ้าพระอินทร์มา แล้วท่านให้เลขเด็ดมาด้วยหรือไม่ครับ ถ้าได้เลขเด็ดงวดนี้.. ขอผม มั่ง..นะครับเรื่องพระอินทร์ตามไปอ่านแล้วครับขอบคุณมากๆ ครับ
  • สวัสดีครับอาจารย์  ผึ้งงาน_SDU  งานกลุ่มพยาธิวิทยา น่าสนุกนะครับ ตัดๆ ย้อมๆ ส่องๆ ตรวจๆ คิดถึงใครบางคนที่ทำงานด้านนี้จัง...ขอบคุณสำหรับคำชมครับผม..
  • สวัสดีครับอาจารย์  มาหาอ้วน  จะ ขึ้น(ไป)หา กันเลยหรือครับ 555 พอดีนึกถึงสำนวนไทย ขึ้นหา ความหมายประมาณว่าผู้ชายย่องขึ้นไปหาสาวๆบนบ้าน ...ยินดีครับแต่ขึ้นมาแล้ว อีกฝั่งเป็น หอผู้ป่วยสงฆ์ นะครับ ที่ทำงานผมอยู่อีกฝั่งหนึ่ง
  • สวัสดีครับอาจารย์  umi  ขอบคุณที่แวะมาบ่อยๆ ครับ ถ้าอยู่บนเขาแล้วได้เฝ้าพระศิวะ ก็อยากไปเฝ้าพระศิวะ เพื่อขอพระสักสามข้อ ว่ามั้ยครับ
  • สวัสดีครับคุณพี่อาจารย์ พรรณา ขึ้นสวรรค์แป๊บเดี๋ญวครับ 4 โมงเย็นก็ต้องลงจากสวรรค์

สวัสดีค่ะ สวรรค์ชั้นเจ็ด วิวดีมั้ยคะ

คุณกวินทรากรช่างเป็นผู้มีความรู้วรรณคดีและคำประพันธ์ต่างอย่างลุ่มลึกนะคะ พี่มีความสามารถแบบแค่กลอนประตูยังไปไม่ถึงไหนเลยค่ะ

 

  • สวัสดีครับคุณพี่อาจารย์ คุณนายดอกเตอร์ 
  • วิวข้างบนก็ดีครับแต่มองไปก็เห็นแต่ตึกๆๆๆๆๆ เคยแว๊บๆ ไปตึกอำนวยการ มี 15 ชั้น มองไปจะเห็นภูเขา วิวสวยดีครับ

ตามมาดูสวรรค์ชั้นเจ็ดของคุณกวิน  ไม่เห็นมีนางฟ้าซักกะคน แล้วยังพาลงไปท่องนรกภูมิอีก ....เฮ้อ....

อ่านแล้วปลงนะ กลัวไม่ได้ขึ้นสวรรค์ค่ะ เพราะทำความชั่วไว้เยอะเลยอ่ะ..ทำไงดี

ว่าง ๆ จะแวะมาใหม่ เขียนเรื่องที่อ่านง่าย ๆ เหมาะกับพวกไม่ค่อยมีความรู้ด้านภาษาไทยหน่อยไม่ได้หรือคะ

สวัสดีครับ คุณจิ๊ก มาเยี่ยมสวรรค์ชั้นเจ็ดของผมแล้ว ก็ในเมื่อไม่มีนางฟ้าอยู่เลยงั้นเดี๋ยวผม สาป เอ้ย เสกให้คุณเป็นนางฟ้าประจำสวรรค์ชั้นเจ็ด นะครับ โอมเพี้ยง..

 คุณจิ๊ก ผมเคยยืมหนังสือ กรรมทีปนี ที่ห้องสมุดโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ มานั่งอ่านในหนังสือเล่าว่า มนุษย์ผู้หนึ่ง ทำบุญด้วยการนำผ้าไปห่มรอบองค์พระเจดีย์ พอดีช่วงนั้นมีลมพัดมา ผ้าเมื่อถูกแรงลมก็ ปลิวสะบัดกระทบองค์พระเจดีย์เสียงดัง พรึบๆๆ เมื่อมนุษย์ผู้ตายไปตกนรก  ยมบาลกำลังรากตาข่าย ตรงเข้าหมายจะลงทัณฑ์ทรมาน เสียงตาข่ายกระทบพื้นดินดัง พรึบๆ เขาระลึกได้ว่า เสียงนั้นช่างเหมือนกับเสียงของผ้าที่ถูกลมโบกสะบัด กระทบองค์พระเจดีย์ เมื่อระลึกได้ดังนั้น อปราปริยเวทนียกรรม ฝ่ายกุศล ก็ดลบันดาลให้เขา ชะแว้บ หายไปจากนรก และจุติเป็นเทวดาบนสวรรค์  สดใสปิ๊งๆ อืมถ้าคุณจิ๊กอ่านบทความที่ผมเขียนแล้วถึงกับปลงได้ถือว่า ผมประสบความสำเร็จในการเขียนระดับหนึ่งแล้ว  พรุ่งนี้ก็ไปตักบาตร ตอนเช้าทำจิตใจให้เบิกบาน แล้วจำเสียงฝาบาตร กระทบกับบาตร ที่ดังแกร๊ก เวลาฉุกเฉิน เสียงแกร๊กๆ นี้อาจช่วยเหลือให้คุณขึ้นสวรรค์ได้ก็ได้น้า..ฮาๆเอิ๊กๆ การเขียนอะไรที่อ่านง่ายๆ อย่างนั้นหรือ ผมว่ามันก็ไม่ยากสำหรับคนที่สนใจด้านภาษาและวรรณคดีนะครับ แต่สำหรับอาชีพหมอ ก็คงอ่านเข้าใจได้ยาก หน่อยล่ะนะครับ ขอบคุณที่แวะมาอ่านครับ 

พี่ขออยู่สวรรค์ชั้น 4 ค่ะ ถ้ามีบุญมากพอนะคะ ...มีเหตุผลค่ะ อิๆๆๆๆ..

อ่านคัมภีร์เทวปกีรณัมเพียงไม่กี่เล่มแล้วเอามาวิเคราะห์ฟันธงมันไม่ได้หรอก ประติมานวิทยาเรารู้ลึกซึ้งแค่ไหน คนที่ศึกษามากกว่าเชี่ยวชาญด้านนี้ยังไม่กล้าชี้ชัดในบางเรื่องเลย อย่าไปอ่านหนังสือเล่มไหนเล่มหนึ่งแล้วจำเอามาเขียนโดยมีอคติเชื่อตามมาตั้งแต่ต้น คนที่รู้เรื่องมีความรู้ด้านนี้อ่านแล้วก็จำแนกได้ว่าข้อมูลใดจริงไม่จริง วิเคราะห์มาผิดหรือถูก แต่คนที่ไม่รู้เรื่องอ่านและไม่มีความรู้เชิงลึก แค่พอรู้ ก็จะเชื่อตามที่กวินเขียน มันอันตราย เรื่องพวกนี้ถ้าเรากล้าฟันธงต้องยอมรับสิ่งที่จะตามมานะ ที่เตือนคือเจตนาดี จะบอกว่าที่วิเคราะห์มันมั่วบางส่วนก็เกรงใจ

กวินจับเอาประเด็นเพียงไม่กี่ประโยคมาตีความ เช่น ชักไตรตรึงษ์ เป็นเผ้า: ไฟทำลายสวรรค์ชั้น ไตรตรึงษ์/ดาวดึงส์ เป็นผงเผ้า ก็ตีความไปว่าลิลิตโองการแช่งน้ำเขียนโดยไม่เข้าใจสันฐานโลกในไตรภูมิ แล้วเคยคิดบ้างมั้ยว่า การเอ่ยถึงในที่นี้เป็นเพียงการเปรียบเปรยว่า แม้แต่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่เป็นที่สถิตย์ของเทวราชาก็ไม่พ้นการล่มสลาย ซึ่งอาจเป็นนัยทางการเมืองบางประการ คือต้องเข้าใจก่อนว่าโองการแช่งน้ำใช้ในการใด นัยยะแฝงอันนี้อาจสื่อได้ว่า แม้เป็นกษัตรยิ์ซึ่งเป็นสมมุติเทวราชก็หนีไม่พ้น ดังนั้น โองการแช่งน้ำ จึงไม่จำเป็นต้องแสดงโลกสันฐานทั้งหมดของไตรภูมิ เพราะมันนอกเหนือบริบทในพิธีการนั้น

ขอแลกเปลี่ยนแค่ข้อเดียว ส่วนอันอื่นให้ไปอ่านหนังสือเยอะๆ หลายๆ เล่ม แล้วค่อยมาวิเคราะห์ให้รอบด้านกว่านี้

  • พี่ Little Jazz
  • โองการแช่งน้ำ, ประกาศแช่งน้ำโคลงห้า หรือ โองการแช่งน้ำพระพิพัฒนสัตยา 
  • ผมเห็นว่าพราหมณ์ผู้แต่ง โองการแช่งน้ำพระพิพัฒนสัตยา เขาเขียนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไว้ใช้สาปแช่งคนที่คิดคดทรยศต่อระบบ สมบูรณาญาสิทธิราช ในพิธีดื่มน้ำสาบาน (ถือน้ำพระพิพัฒนสัตยา)ก็เลยคิดว่า พราหมณ์เขาคงไม่แฝงนัยยะ ว่า
  • แม้แต่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่เป็นที่สถิตย์ของเทวราชาก็ไม่พ้นการล่มสลาย เพื่อแช่งตัวเองหรอกน้าพี่ ฮาๆเอิ๊กๆ 

เอาลำดับของวรรณะทางฮินดูมาให้ ลองดูว่าพราหมณ์กับกษัตริย์ อันไหนมาก่อน

ขอบคุณพี่ Little Jazz แต่ผมก็ยังมี คติ ที่ว่า กษัตริย์ คือ นารายณ์ อวตาร (สมมติเทพ)

พราหมณ์ ไม่ได้นับถือ พระนารายณ์ หรอกหรือครับ? (ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช คือระบอบที่เชื่อว่า กษัตริย์ คือ พระนารายณ์ผู้ทรงอวตาร) การพูดแช่ง แฝงนัยยะทางการเมืองว่า  แม้แต่เทวดา ก็ยังสวรรค์ล่ม ก็เหมือนกับการไม่นับถือในสิ่งที่ตนเองเชื่อน่ะสิครับ  แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะพราหมณ์ ก็คือคน ฉะนั้นเมื่อยังเป็นคน มิได้เป็น พราหมณ์อย่างแท้จริง ก็ย่อมยังมี มิจฉาทิฐิ และ อคติ ได้ ก็ได้นะครับ ซึ่งก็เป็นทรรศนะที่ ก็มีความเป็นไปได้ครับ แฮ่ะ :P  

สวัสดีครับ

เคยอ่านนานแล้ว โองการแช่งน้ำ จิตร ภูมิศักดิ์เขียนไว้ ละเอียดหลายแง่มุมไม่แน่ใจว่าเล่มเดียวกับที่คุณกวินพูดถึงหรือเปล่า

การอ่านวรรณคดี ทำให้ได้แง่คิดหลายแง่มุม บางครั้งเราก็มองด้วยมุมปัจจุบัน คือมองแบบคณิตศาสตร์ ว่า คำนั้นๆ มีความหมายเพียงเท่านั้น ตามที่เรารู้จักในปัจจุบัน

โองการกล่าวถึงไฟเผาไตรตรึงษ์ แล้วเราก็อนุมานว่า ไฟไม่เผาสวรรค์ชั้นอื่น? อันนี้เรามองตามสายตาคนปัจจุบันมั้ง

ไตรตรึงษ์ เป็นคำที่คนไทยคุ้นที่สุดในบรรดาสวรรค์ทั้งหมด (ในบรรดาจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์/ไตรตึงษ์ ยามา ดุสิตา นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี, จากข้างบน)

สันนิษฐานว่า ไตรตรึงษ์ ก็คือ สวรรค์นั่นเอง แถวๆ ภาคกลาง ก็มีชื่อวัด ชื่อสถานที่ว่า ไตรตรึงษ์ ก็หลายที่ แต่ชื่อ ยามา หรือแม้ ดุสิต ก็ไม่ค่อยได้ยิน...

อาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า จารึกบางแผ่น อ่านบางคำ ก็แปลไม่ออก เวลาผ่านไปเนิ่นนาน เพราะในจารึกท่านเขียนว่า ตาบติง... นั่นก็คือ ตาวติงส์ นั่นเอง อิๆๆ

เข้าใจว่า แนวคิดต่างๆ ที่มีอยู่ในไทยนั้น ไม่ได้ถ่ายเอกสารตรงมาจากอินเดีย, เขมรอาจจะตรงเป๊ะกว่า เรื่องแต่งผิดนั้นฟังดูก็ทะแม่ง แต่เรื่องความเชื่อที่ไม่ตรงกับอินเดียดูจะเข้ากันกว่า

สวัสดีครับอาจารย์ ธ.วั ช ชั ย ขอคุณสำหรับทรรศนะ ครับผมแก้ไขบทความเพิ่มเติม ไว้ยังงัย ลองอ่าน ดูนะครับ

  • สวัสดีครับพี่โย่ง
  • ขอบคุณครับเพลงนี้ยังไม่เคยฟัง :)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท