เชิญระดมความคิดครับ : เวทีมหิดล-คนหนองบัว เดือนมีนาคม ๒๕๕๔ อยากให้เป็นอย่างไร


  ความเป็นมา    : หนองบัวมีศักยภาพและทุนทางสังคมหลายด้าน ขณะเดียวกันก็มีพัฒนาการเข้าสู่ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่มีความเชื่อมโยงกับเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆที่ซับซ้อนมากขึ้น วิกฤติปัญหา ตลอดจนโอกาสในการพัฒนาต่างๆของหนองบัว จึงมีความเชื่อมโยงกับปัจจัยเงื่อนไขทั้งจากความเป็นท้องถิ่นและจากแรงกดดันของสังคม ทั้งสังคมไทยและโลกาภิวัตน์ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบและผลสืบเนื่องทั้งเชิงบวกและลบ  หากสามารถแปรวิกฤติและความจำเป็นที่เกิดขึ้นต่างๆมาสู่การเคลื่อนไหวสังคมเพื่อสร้างพลังการตื่นตัวทางความริเริ่มสร้างสรรค์และเรียนรู้เพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้อย่างเหมาะสม ก็จะเป็นโอกาสสร้างสังคมเข้มแข็งและเอื้อต่อการก่อเกิดสุขภาวะชุมชนดังที่พึงประสงค์มากยิ่งๆขึ้นทั้งสำหรับชุมชนท้องถิ่นหนองบัวและสังคมไทย

นอกจากนี้ ในระยะปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ นี้ นับว่าเป็นวาระที่มีความหมายต่อคนหนองบัวหลายประการด้วยกัน ที่สำคัญคือ

  • เป็นวาระครบ ๖๐ ปีของการก่อตั้งอำเภอหนองบัวนับแต่การเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี ๒๔๙๒ โดยมีนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ เป็นนายอำเภอคนแรก
  • เป็นวาระครบรอบกึ่งศตวรรษหรือ ๕๐ ปีของการก่อตั้งโรงเรียนหนองบัว ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๐๓ โดยแยกออกไปจากโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม)และมีคุณครูเขจร เปรมจิตต์ เป็นผู้อำนวยการคนแรกในยุคของนายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ ศิษย์เก่าของโรงเรียนหนองบัวทุกรุ่นได้ออกไปเป็นพลเมืองของสังคมและมีส่วนร่วมในการพัฒนาทางด้านต่างๆทุกสาขาของหนองบัว รวมไปจนถึงชุมชนท้องถิ่นโดยรอบ ตลอดจนในหน่วยงานระดับประเทศและนานาชาติ
  • เป็นวาระครบรอบกึ่งศตวรรษหรือ ๕๐ ปีของโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ซึ่งก่อตั้งโดยเงินบริจาคของครูประชาบาลทั่วประเทศในวันครูเมื่อปี ๒๕๐๔ และสร้างขึ้นในประเทศไทยในปีดังกล่าวเพียง ๕ แห่ง จัดว่าเป็นเครื่องหมายของครูและการศึกษาเพื่อสังคมชนบทไทย ที่มอบให้แก่สังคมหนองบัว เวทีนี้จะรำลึกขอบคุณต่อสถาบันครูไทยและจุดประกายสร้างเสริมพลังจิตวิญญาณแห่งครู
  • เป็นปีที่คุณครูเก่าแก่ของคนหนองบัว อันได้แก่คุณครูอุดม ต๊ะปรีชา ได้ถึงแก่อนิจกรรมและท่านได้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิอำเภอหนองบัว ไว้ให้แก่ลูกศิษย์ ลูกหลาน และคนหนองบัวรุ่นหลังได้สืบทอดความสร้างสรรค์ต่างๆแก่สังคมสืบไป
  • ทุกปีในช่วงเทศกาลงานเจ้าพ่อเจ้าแม่ฤาษีหนองบัวประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม คนหนองบัวและลูกหลานหนองบัวก็จะถือโอกาสกลับบ้าน
  • หนองบัวมีทุนทางวิชาการและทุนทางสังคมกับมหาวิทยาลัยมหิดลในหลายแง่ด้วยกันทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น นครสวรรค์เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดลอีกวิทยาเขตหนึ่ง สถานศึกษาบางแห่ง เช่น โรงเรียนบ้านหนองไผ่ เป็นเครือข่ายครูวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนกับมหาวิทยาลัยมหิดลและมูลนิธิสยามกัมมาจล โรงพยาบาลหนองบัวเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลในสาขาพยาบาลศาสตร์และเทคนิคการแพทย์ อีกทั้งลูกศิษย์โรงเรียนหนองบัวและลูกหลานหนองบัวหลายคนเป็นศิษย์เก่าและคนทำงานในมหาวิทยาลัยมหิดล เหล่านี้เป็นต้น

นอกจากนี้ เวทีหนองบัวนี้ก็ได้เป็นสื่อและเป็นแหล่งสร้างข้อมูล ตลอดจนสะสมความรู้หลายด้านของท้องถิ่น ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์อยู่ในตนเองแล้ว กระบวนการดังกล่าวนี้ก็ก่อเกิดบทเรียนอันสำคัญในความเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่ผสมผสานทั้งความเป็นท้องถิ่น ความเป็นชุมชนชนบท และความเป็นปัจเจกของคนจากหลายกลุ่มสังคมที่มีจิตสาธารณะและสำนึกผูกพันต่อท้งถิ่นหนองบัวอันเป็นถิ่นเกิดและถิ่นอาศัย ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ได้พัฒนาการเรียนรู้ของตนเองในอันที่จะข้ามข้อจำกัดและริเริ่มพัฒนาเวทีคนหนองบัว ซึ่งทำให้เห็นเครือข่ายบูรณาการวิทยาการและเทคโนโลยีไอทีเข้ากับวิถีวัฒนธรรมชุมชน ที่ดำเนินการได้จริงโดยกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งมีภาพสะท้อนความผสมผสานของสังคมไทย ที่สามารถมุ่งสู่ความกลมกลืน สมานสามัคคี สร้างสรรค์ปัจจัยเอื้อต่อการก่อเกิดสุขภาวะสาธารณะร่วมกันได้แม้บนความแตกต่าง

ด้วยความเป็นมา ตลอดจนวาระอันเป็นเงื่อนไขที่มีความหมายและส่งเสริมกำลังหลอมรวมใจทั้งของคนหนองบัวและของสังคมไทยโดยรวม อีกทั้งการได้สั่งสมพื้นฐานที่เอื้อต่อการสื่อสารเรียนรู้สร้างสุขภาวะชุมชนบ้างแล้วดังที่กล่าวมาโดยลำดับนี้ จึงเชื่อว่าจะเป็นโอกาสทดลองจัด'เวทีมหิดล-คนหนองบัว'ขึ้น

  ชื่อเวที   : เวทีมหิดล-คนหนองบัว ......? (เชิญทุกท่านเสนอ Theme ครับ)

  ระยะเวลา ๓ วัน   พฤหัสบดี ๑๐-อาทิตย์ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๔..สามารถเลื่อนและยืดหยุ่นให้ตรงกับช่วงปิดเทอมและงานงิ้วหนองบัว

 กิจกรรม   เท่าที่นึกได้ ณ เวลานี้  ๕ กิจกรรม

  •  กิจกรรม  : ค่ายสร้างความรู้ชุมชน : กิจกรรมเสริมศักยภาพคนท้องถิ่นเพื่อการถอดบทเรียนสร้างองค์ความรู้ชุมชนและพัฒนาพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้วัดหนองกลับ....กิจกรรมนี้จะขอแรงนักวิจัยชุมชนสักกลุ่มหนึ่งจากกรุงเทพฯ ผสมกับเด็กๆและคนหนองบัวที่ชอบ อยากทำงานสร้างความรู้สนุกๆเหมือนอย่างในบล๊อกท่านพระมหาแลและคุณเสวก มาชวนคนเฒ่าคนแก่ของหนองบัว นั่งคุยรวบรวมข้อมูลและทำสื่อเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจ ตัวอย่างดังที่ผมเขียนในบล๊อก แล้วถ่ายรูป-วาดรูป ทำเป็นสื่อแผ่นภาพไปมอบให้พิพิธภัณฑ์วัดหนองกลับ หรือสอนให้ชาวบ้านโยนความรู้เข้าเว๊บบล๊อก เพื่อเป็นเครือข่ายนักวิจัยและสื่อสารเรียนรู้ชาวบ้านต่อไป  ...๓ วัน
  •  กิจกรรม  ๒  : เวทีสาธารณะชุมชน : นโยบายสาธารณะท้องถิ่นเพื่อหนองบัวและสังคมไทยยั่งยืน.....กิจกรรมนี้จะเป็นเวทีให้ศิษย์เก่าหนองคอกทุกรุ่นทุกสาขาที่จะเชิญชวนกันได้ รวมทั้งคนในหนองบัวที่สนใจ ควรจะร่วมมือกับมูลนิธิอำเภอหนองบัวของคุณครูอุดม และผลของเวทีควรจะนำไปสู่การก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว .... ๑ วันและ ๑ เย็น วันที่ ๓
  •  กิจกรรม  ๓  : กิจกรรมศิลปะชุมชนและนิทรรศการภาพเขียนหนองบัวอดีตสู่อนาคตด้วยสุขภาวะยั่งยืน’ ......ผมจะนำเอารูปเขียนทั้งหมดเกือบ ๑๐๐ รูปที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตคนหนองบัวไปจัดแสดง พร้อมกับเป็นเวทีนั่งคุยรำลึกความเป็นชุมชนกันให้มีความสุข เมื่อเสร็จแล้วก็ยินดีจะมอบให้แหล่งที่สามารถติดตั้งและเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนได้ ....๓ วัน
  •  กิจกรรม  ๔  : การเผยแพร่หนังสือและสื่อ องค์ความรู้หนองบัวและการจัดการความรู้เพื่อสร้างสุขภาวะยั่งยืนของท้องถิ่น.......จะรวบรวมเอาหนังสือและเรื่องราวเกี่ยวกับหนองบัว  ทั้งที่พิมพ์เองและหน่วยงานต่างๆสนับสนุนการจัดพิมพ์มาเผยแพร่แจกจ่าย ให้คนหนองบัวมีเรื่องของตนเองไว้อ่าน ... ๓ วันคู่กับนิทรรศการและกิจกรรมเวที
  •  กิจกรรม  ๕  : ดนตรี บทกวี และสีสันท้องถิ่นหนองบัว.......จะชวนศิลปินและกวีเท่าที่เชิญชวนกันได้ ไปร่วมเวทีอ่านบทกวีและเล่นเพลงเสริมกำลังความคิด จุดประกายความสร้างสรรค์กัน รวมทั้งจะเปิดให้เป็นเวทีแสดงออกของลูกหลาน กลุ่มดนตรีไทยจากโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) ซึ่งประสบความสำเร็จได้รางวัลมาอย่างต่อเนื่องทั้งระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ....เย็นวันที่ ๓

 หน่วยงานและเครือข่ายดำเนินการ  

โครงการหลักสูตรสหวิทยาการการวิจัยปฏิบัติการสังคม ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล | มหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ | โรงเรียนหนองบัว | โรงเรียนบ้านหนองไผ่ | สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา อำเภอหนองบัว | กองทุนมูลนิธิอำเภอหนองบัว | สสส : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ | สถาบันจัดการความรู้เพื่อสังคม | เว๊บล๊อก GotoKnow | และเครือข่ายบล๊อกเกอร์ GotoKnow | องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ | สภาการศึกษาแแห่งชาติ | เครือข่ายครู | อบต. | และเทศบาลตำบลหนองบัว | เครือข่ายศิษย์เก่าโรงเรียนหนองบัว | ....และ ? ....เชิญร่วมเสนอ เพิ่มหรือลดตามความเหมาะสม

(ทั้งหมดยังไม่ได้ติดต่อและยังไม่ได้ทาบทาม ยกเว้นโรงเรียนบ้านหนองไผ่ โรงเรียนหนองบัว และภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งเครือข่ายศิษย์ศึกษาศาสตร์มหิดล ได้แจ้งเพื่อทราบและลองทาบทามผ่านผู้บริหารบ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น)

 คนประสานงานเบื้องต้น  ....เชิญร่วมเสนอ ทั้งเสนอตนเองและเสนอคนที่จะช่วยกันไปเชิญหรือทาบทามได้ครับ

เชิญทุกท่านร่วมเสนอความคิดและออกแบบกระบวนการได้ตามสบายครับ ในเวทีแรกๆนี้จะเสนอแนะด้วยและมาร่วมด้วยหรือไม่สามารถมาร่วมด้วยก็ได้ครับ สบายๆนะครับ อยากให้มีหัวข้อกิจกรรมอะไรบ้าง หรืออยากจะนำสิ่งต่างๆไปเผยแพร่อย่างไรบ้าง ก็เชิญครับ.

หมายเลขบันทึก: 405821เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2010 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (74)
  •  3 วันนี้นะครับ
  • พฤหัสบดี ๑๐-อาทิตย์ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๓
  • ให้ผมจัดค่ายให้เด็กๆๆเลยดีไหม(อิอิๆ) ไหนๆก็ไปแล้ว
  • อยากได้เรื่องการแลกเปลี่ยนการศึกษากับครู เรื่องของชุมชนครับ
  • ผมได้ชวนพี่ครูต้อยและท่านรองฯ smallman ไว้ครับ
  • ชวน ผอ สมชายไปด้วยนะครับ
  • จะได้แนวคิดที่หลากหลาย
  • ขอบคุณครับ
  • เอาสิอาจารย์ เด็ก คุณครู และคนหนองบัวดีใจตายเลย
  • หากอาจารย์และอาจารย์ small man ไปได้เราจะลองรวมตัวกันและทำประสบการณ์บนกิจกรรมค่าย ผสมผสานกับเวิร์คช็อป เพื่อให้ประสบการณ์และปัญหาปฏิบัติจริงๆช่วย Set ประเด็นและลำดับความสำคัญหัวข้อให้ จากนั้น ก็ลงนั่งสนทนาเพื่อทำเป็นเนื้อหาหนังสือหรือสื่อเอาไว้เผยแพร่กันดีไหมครับ
  • ผมลองคุยกับผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามแล้ว ท่านสนใจมากที่จะลงไปประชุมปฏิบัติการด้วยที่เวทีนี้
  • จะลองหาประเด็นดีๆที่เป็นประเด็นสำคัญๆของประเทศและของโลกทางการศึกษา แล้วลงไปเอา Case ของหนองบัวเปิดเรื่องคุยกัน คนพื้นที่ก็ได้ เครือข่ายคนภายนอกที่ไปก็ได้ความเข้มข้น ดีไหมครับ คุยเพื่อทำสื่อและทำหนังสือเพื่อเคลื่อนไหวทางวิชาการต่อๆไปน่ะครับ
  • อาจารย์ ผอ.สมชาย รัตนอารีย์ขอล๊อคคอตีเข่าลากไปด้วยแล้วครับ จะให้เป็นตัวแทนของเครือข่ายสภาวิชาชีพครู เพื่อรำลึกจิตวิญญาณครูไทยกับการศึกษาไทยในระยะ ๕๐ ปีที่ผ่านมาด้วย
  • ถ้าประเด็นนี้
  • กิจกรรม ๑ : กิจกรรมเสริมศักยภาพคนท้องถิ่นเพื่อการถอดบทเรียนสร้างองค์ความรู้ชุมชนและพัฒนาพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้วัดหนองกลับ....กิจกรรมนี้จะขอแรงนักวิจัยชุมชนสักกลุ่มหนึ่งจากกรุงเทพฯ ผสมกับเด็กๆและคนหนองบัวที่ชอบ อยากทำงานสร้างความรู้สนุกๆเหมือนอย่างในบล๊อกท่านพระมหาแลและคุณเสวก มาชวนคนเฒ่าคนแก่ของหนองบัว นั่งคุยรวบรวมข้อมูลและทำสื่อเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจ ตัวอย่างดังที่ผมเขียนในบล๊อก แล้วถ่ายรูป-วาดรูป ทำเป็นสื่อแผ่นภาพไปมอบให้พิพิธภัณฑ์วัดหนองกลับ หรือสอนให้ชาวบ้านโยนความรู้เข้าเว๊บบล๊อก เพื่อเป็นเครือข่ายนักวิจัยและสื่อสารเรียนรู้ชาวบ้านต่อไป 
  • พี่หนานเกียรติ พี่ครูคิมชอบแน่
  • ขอไปล่อลวงมาก่อนนะครับ

ขอทาบทาม เสนอชื่อ และสะดวกแบบไหนก็เชิญตามเท่าที่ได้นะครับ จะไปร่วมจัดเอง ร่วมเวที ร่วมคิดผ่านบล๊อกนี้ หรือส่งหนังสือ สื่อ และเอกสารไปเผยแพร่ ก็เชิญตามอัธยาศัยนะครับ.....เบื้องต้นนี้ขอทาบทามท่านเหล่านี้ก่อนนะครับ

  • พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • คุณสมบัติ ฆ้อนทอง
  • คุณฉิก : ศักดิ์ศรี พิทักษ์อำนวย
  • คุณเสวก ใยอินทร์
  • กลุ่มพริกเกลือ
  • ผอ.พนม จันทร์ดิษฐ์ โรงเรียนบ้านหนองไผ่
  • ผช.ผอ.สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ โรงเรียนหนองบัว
  • คุณครูวิกานดา บุญเอก โรงเรียนหนองบัว
  • คุณครูพิมทิพย์ บัวสนิท โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)
  • พ.อ.พิเศษ โกศล ประทุมชาติ
  • รศ.ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

หากติดต่อได้อีก ก็จะมาบอกกล่าวกันต่อไปอีกครับ

  • อาจารย์ขจิตนี่รวดเร็วจริงนะครับ
  • เครือข่ายบล๊อกเกอร์ของ GotoKnow นั้น หากมีท่านใดไป ก็จะลองขอให้เป็นคนเขียนความรู้ ลองทำประสบการณ์ชุมชนของสังคมไทย ให้เป็นข้อมูลที่เริ่มเห็นได้จากระบบค้นหาความรู้และข้อมูลในโลกไซเบอร์ โดยเป็นนักวิจัยถอดบทเรียนชิ้นย่อยๆและพัฒนาวิธีนำเสนอโยนขึ้นบล๊อกเลย ทดสอบวิธีทำงานทางสังคมโดยการเยี่ยมเยือนแบบสร้างพลังผ่านการทำงานครั้งนี้ดูเลยน่ะครับ...เพื่อเห็นวิธีไปช่วยลงแรงกัน ว่าเป็นการทำให้เกิดความรู้และข้อมูลดีๆของสังคมไทยทุกแห่งที่ได้ผ่านไปและมีวิธีปฏิบัติการอย่างนี้เกิดขึ้น น่าจะได้ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้ที่ดีอีกแบบหนึ่งนะครับ 
  • ไปเยี่ยมชม ให้กำลังใจ แล้วก็สื่อสะท้อนเป็นบันทึกความรู้ด้วยสายตาของเรา จากทรรศนะ ความเชี่ยวชาญ และการอธิบายจากฐานประสบการณ์ของหลากหลายคน
  • ทดลองฟอร์มเครือข่ายถอดบทเรียนและสื่อสะท้อนประสบการณ์จากฐานชุมชนดูจากกิจกรรมนี้ อีกวิถีการทำงานหนึ่งของกลุ่มคนที่สามารถเชื่อมโลกได้ ๓-๔ มิติ ทั้งคลุกดินกับภาคปฏิบัติ ทำงานความรู้ และเข้าถึงโลกไซเบอร์ ก็ได้ครับ
  • ทำเพื่อหาบทเรียนและสร้างความรู้บางอย่างในเชิงระบบขึ้นจากกิจกรรมน่ะครับ
  • พี่เห็นอาจารย์ ตั้งใจชวน ผอ.พนม จันทร์ดิษฐ์  แห่ง รร.บ้านหนองไผ่เครือข่ายรร.เศรษฐกิจพอเพียง ของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ซึ่งได้มีผลงานถอดบทเรียน "ยุวชนเกษตรต้นกล้าความพอเพียงแห่งโรงเรียนบ้านหนองไผ่ จ.นครสวรรค์" ที่พี่เคยเล่าไว้ที่ :

    http://gotoknow.org/blog/nongnarts/245890

                              20090302134608_148 

     

         หากได้มีการต่อยอด และทำ R2R จะเป็นความยินดีอย่างยิ่งที่มีความก้าวหน้าร่วมกับชุมชนอีกระดับหนึ่ง..ขอให้กำลังใจและพี่จะคอยติดตามผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจาก เวทีมหิดล-คนหนองบัว นี้นะคะ..

    สวัสดีครับพี่นงนาทครับ

    • ผอ.พนม จันทร์ดิษฐ์ เป็นครูและผู้บริหารคนรุ่นใหม่ที่เก่งและมีอุดมคติชีวิตเพื่อเด็กๆกับชาวบ้านชนบทมากครับ เก่ง ดี ติดดิน และเป็นชาวบ้านๆครับ
    • อันที่จริงเวทีการลองทำเวทีเพื่อเป็น Node สานพลังความดีและสิ่งดีที่กระจัดกระจายให้เชื่อมโยงกันและเป็นกำลังให้กับชุมชนที่ไม่ค่อยมีโอกาสทางด้านอื่นดีนัก นอกจากมุ่งที่การศึกษาและการสร้างคนนี้ จะว่าไปแล้วก็มาจากคุยกับ ผอ.พนมนี่แหละครับ
    • เวทีที่เป็นเวิร์คช็อปและเวทีนโยบายสาธารณะของท้องถิ่น คิดกันว่าคงจะต้องมีบทเรียนของโรงเรียนบ้านหนองไผ่ ร่วมเป็นข้อมูลและตัวอย่างบทเรียนสำหรับเปิดความคิดให้ละครับ
    • เข้าไปดูลิ๊งก์ที่พี่ใหญ่กรุณาลิ๊งก์ไปให้แล้วก็ต้องยิ้มเลยละครับ นามสกุลหนองบัวทั้งน๊านนน

    สวัสดีค่ะ

    มาตามคำชวนของอาจารย์ขจิตค่ะ หากมีการจัดค่ายเด็ก  ยายคิมคนว่างงานยกมือ  สมัครใจมาร่วมด้วยคนหนึ่งนะคะ

    ขอเวลาไปชวนหนุ่ม ๆ แถวมหิดลอีก ๒ - ๓ คน แถวบางแคอีกคนหนึ่งก่อนนะคะ

                     เชิญร่วมวิ่งออกกำลังกาย สร้างสุขภาพ สานน้ำใจคนหนองบัว :
                     กิจกรรมประจำปีคนหนองบัว
                     หนองบัวมินิฮาล์ฟมาราธอน  Nong-Bua Mini-Half Marathon

                     วิ่งออกกำลังกายจากหนองบัว - บ้านเตาอิฐ ๑๑ กิโลเมตร
                     วันอาทิตย์ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

    สมัครและติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม :
    ผอ.บำรุง กรุดเพชร
    ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)
    นายกสมาคมเครือข่ายครูอำเภอหนองบัว
    โทรมือถือ : ๐๘๑-๙๗๓๔๒๒๐

    เรียนท่านอ.

    ได้ยินน้องอ.ขจิต ส่งเสียงเรียก

    รีบมารายงานตัวเลยค่ะ

    ติดใจมาอีกรอบค่ะ

    อ.คะ.....หนองบัว นครสวรรค์ เป็นที่เดียวกับเพลงที่นักร้องชื่อบุษยาขับขานไหมคะ

    สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

    • คนหนองบัวต้องดีใจอย่างยิ่งนะครับ อยากให้เพื่อนๆได้รู้จักครูคิมนะครับ
    • หนุ่มๆสาวๆแถวมหิดลนี่ต้องชวนไปให้ได้เชียว

    สวัสดีครับคุณครูต้อยติ่งครับ
    บ่จ้ายก่ะ ...หนองบัวฮั่น
    ตี้บุษยา รังษีเปิ้นฮ้องนั้น
    เป็นหนองบัวชัยภูมิเน่อ

    สวัสดีครับท่านอาจารย์ วิรัตน์ ได้ยินเสียงเรียกจากเกลอคิม คนชุมชนปากพะยูน มายกมือครับ

    คุณลุง... คร้าบ 

    ช้างน้อยมอมแมมยกมือด้วยยยยยย.... อยากวาดรูปคร้าบบ !!!!!

    สวัสดีคะ : ยังไม่รู้รายละเอียดแต่ขอชูจักกะแร้ ไปร่วมด้วยช่วยกันคะ =)

    สวัสดีครับลุงวอญ่าครับ
    คึกคักดีจังเลยละครับ ลุงวอญ่าสบายดีนะครับ

    หลานช้างน้อยนี่
    ไปคราวนี้ก็ต้องขอปาฐกถาบนศาลาให้ชาวบ้านฟังต่ออีกนะ
    แล้วก็อยากได้วิชา Oral History สำหรับชาวบ้านหนองบัวนะครับ

    สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ
    ขอวิชา Oral History กับ Powerful Presentation Media
    สำหรับสร้างความรู้ชุมชนกับจัดการความรู้สู่ Learning Center ชุมชนได้ไหมเนี่ย

    สวัสดีค่ะ

    ดีใจจังนะคะ  จะได้เจอกันมากหน้าหลายตาม ล้วนคุ้นและเคยมาแล้วทั้งนั้น  ยายคิมมีโอกาสได้รู้จักกับหนุ่มสาวชาวมิดลหลายท่านค่ะ  และกำลังรอกอดอีกท่านหนึ่ง  "เบอร์ ๑๗ " นี่ค่ะ

    • ป่านนี้เบอร์ ๑๗ ดีใจใหญ่แล้ว แต่ต้องนั่งทางในส่งไปให้แล้วกระมัง
    • เพราะตอนนี้สองพระหน่อเบอร์ ๑๖ กับเบอร์ ๑๗ ไปเจอฝนตกไม่หยุดอยู่ภาคใต้โน่นแล้วครับ เห็นว่าตอนนี้ทอรซง-ทอระสับไม่มีสัญญาณ เลยติดต่อกับโลกภายนอกไม่ได้อีกต่างหากละครับ
    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)
    • คึกคักดีจริงๆ ช่วงที่อาจารย์กำหนดไว้ อยู่ในบรรยากาศงานงิ้วพอดีเลย เดี่ยวจะชวนพ่อเพลง แม่เพลง ศิลปินท้องถิ่นหนองบัว มาร้องเพลงพวงมาลัย เพลงแห่นาค เพลงฉ่อย เพลงโคราช ต้อนรับอาคันตุกะ แถมด้วยคณะกลองยาวพร้อมด้วยนางรำย้อนยุคอีกวงใหญ่ๆสักวงน่าจะพอหาได้

    สวัสดีค่ะ

    เชียร์พระคุณเจ้า พระมหาแล อาสโย(ขำสุข) รำวงย้อนยุคอย่าให้พลาดนะเจ้าคะ ยายคิมชอบมาก

    กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

    • คึกคักเหมือนกับนั่งประชุมอยู่ด้วยกันเลยละครับ
    • แว่วเพลงฉ่อย เพลงโคราช แถมหมอลำ ขึ้นมาในหูไปด้วยเลยครับ
    • เลือกให้ตรงช่วงงานงิ้วพอดีก็เนื่องจากเป็นช่วงที่คนหนองบัวที่ไปร่ำเรียนและทำงานที่อื่นๆมักจะหาโอกาสกลับบ้านและนัดพบปะทำกิจกรรมต่างๆกันในช่วงนี้ ก็เลยหาจังหวะที่จะได้ไม่ต้องเสียเที่ยว และไม่ต้องนัดกันต่างหากอีกให้ลำบากกันน่ะครับ
    • เพื่อนๆพี่ๆและคนทำงานที่หนองบัวที่เคยคุยกัน ก็หารือกันว่าอยากทำให้ช่วงที่พวกเรากลับบ้านกลับถิ่นกัน แม้ประปราย ก็อยากถือเป็นโอกาสทำกิจกรรมดีๆด้วยกัน เหมือนอย่างเมื่อปี-สองปีก่อน กลุ่มพริกเกลือหรือกลุ่มไหนนี่แหละครับ ที่ทำงานโรงงานแถวนวนคร ก็กลับบ้านแล้วก็ถือโอกาสทอดกฐิน ถวายพระพุทธรูปแถววัดที่บ้านเกิดหนองบัว ทำนองนี้แหละครับ
    • หาเหตุให้ได้ทำสิ่งต่างๆด้วยกันไปเล็กๆน้อยๆ คนในท้องถิ่นก็ได้เพื่อน ได้ประสบการณ์และมีกำลังใจ คนหนองบัวและกลุ่มผู้มีวิถีการทำงานในแนวทางอย่างนี้ที่ได้มีโอกาสไปทำสิ่งต่างๆด้วยกัน ก็ได้เป็นสภาพแวดล้อมและเครือข่ายช่วยเสริมสร้างโอกาสการทำสิ่งต่างๆของชุมชน-ชนบทที่ดียิ่งๆขึ้น ด้วยตัวเราเอง เพียงนำประสบการณ์ที่แตก่างหลากหลายไปแบ่งปันกัน แล้วก็ช่วยสื่อสะท้อนเรื่องราวของท้องถิ่นเล็กๆ ให้มีแรงกระเพื่อมสังคมท้องถิ่น หรือสื่อสารเผยแพร่ออกไปสู่สังคม แค่นี้ก็ทำให้หนองบัวได้อะไรมากมายแล้วละครับ
    • แต่ค่อยๆต่อเติม เพิ่ม ลด ปรับเปลี่ยน ไปเรื่อยๆไปก่อนสบายๆนะครับ ถึงแม้ยังไม่ได้จัดอย่างน้อยก็ได้พูดคุยปรึกษาหารือกันแล้วละครับ คงได้ทำความคิดและได้กุศโลบายเอาไปริเริ่มในโอกาสอื่นๆไดอีกเยอะครับ
    • แต่อยากให้เป็นกิจกรรมเล็กๆ ให้แต่ละคนมีความอิสระในการดูแลจำเพาะตนเองแต่สามารถมีเวลาทำสิ่งอื่นๆดีด้วยกันเยอะๆ เช่น คนที่เขาสนใจและอยากไปรู้จักหนองบัว หากอยากเดินถ่ายรูป ไปคุยกับชาวบ้านและเด็กๆ เพื่อผ่อนพักชีวิตไปกับการได้เห็นโลกกว้างอีกมุมหนึ่ง หรือเอาเรื่องราวไปเขียนบทความบันทึกเผยแพร่ลงบล๊อก ให้ได้ประสบการณ์และความประทับใจในชีวิต พร้อมกับเป็นเพื่อนชุมชนหนองบัวยาวๆในอนาคต อย่างนี้ก็จะดีกว่าครับ จะได้ไม่เหนื่อยและทำทีเดียวเลิก แต่สบายๆและทำกันได้อยู่ตลอดไปเมื่ออยากชักชวนกันทำ

    สวัสดีครับคุณครูคิมครับ
    เมื่อก่อนนี้คนหนองบัวนี่รำวงเก่งครับ แจ้งจ่างป่างกันทุกงานเลยละ

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)
    • เห็นด้วยกับอาจารย์มากๆเลย ที่อยากให้เป็นกิจกรรมเล็กๆ สบายๆ พอเหมาะกับความสนใจ ดูจะคล่องตัวดีด้วย 
    • ขอเป็นตัวแทนคนหนองบัวเสนอทาบทามนิมต์และเชิญชวนเครือข่ายคนหนองบัวและคนให้พื้นที่เพิ่มเติมอีกสักสองสามท่านคือ พระอธิการโชคชัย ชยวุฑฺโฒ วัดพรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม จ.พิษณุโลก คุณครูจุฑารัตน์(NU11)คนพยุหะคีรี จาก สพท.กำแพงเพชร กัลยาณมิตรของคนหนองบัว คุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์ ครูโรงเรียนวัดเทพสุทธาวาส

     

    สวัสดีค่ะ

    ดิฉันเป็นคนมหิดลแถวพญาไท นครสวรรค์ก็เคยมาจัดสอบรับตรงระดับปริญญาตรี เร็วๆนี้ก็มาเป็นวิทยากรให้เพื่อนพยาบาล ที่สวรรค์ประชารักษ์ ล่าสุดดิฉันพบกับอาจารย์ในเวทีเสวนาเพื่อนครูมหิดลที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ปัจจุบันดิฉันมีกลุ่มเล็กๆในภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เรียกครูกล้าสอน ซึ่งอาจารย์ได้ให้ความเห็นและชวนแผ่ความรู้จากการปฏิบัติ แต่ดิฉันยังไม่ประสีประสานักกับการทำงานแบบชุมชนสไตล์ที่เห็นวงนี้คุยกัน ทำไงจึงจะมีความรู้เพิ่มขึ้นล่ะคะ

    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)

    เจริญพรคุณครูคิม

    • จริงๆแล้ว รำวงย้อนยุคนี่ ได้ยินชื่อมานานเหมือนกัน แต่ยังไม่เคยได้เห็นเลย จะคล้ายกับรำววงที่เคยเห็นผ่านตามาบ้างในมิวสิคไวพจน์ เพชรสุพรรณไหมหนอ
    • ขอแก้คำผิดใน(คห.๒๗) นิมต์ แก้เป็นนิมนต์

    นมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแล

    รำวงย้อนยุค  ที่ยายคิมจัดนะคะ  "นางรำต้องแต่งกายสุภาพ กระโปรงยาว เสื้อสตรีแบบมิดชิด" เจ้าค่ะ

    ผู้ที่จะขึ้นรำ ก็ต้องสุภาพ รำวงไปตามจังหวะอ่อนหวาน  สุภาพ แบบไทย ๆ ไม่มีการเต้น (มั่ว ๆ ) เจ้าค่ะ

    รำตามกันไปเป็นคู่ ๆ เป็นการรักษาวัฒนธรรมไทยนะคะ  เพราะรำวงเป็นของไทยเจ้าคะ

    สวัสดีครับอาจารย์รุจิเรศครับ

    • จำได้ครับอาจารย์ รวมทั้งต้องขอบพระคุณอาจารย์ด้วยนะครับที่คอยให้คำแนะนำและกระตุ้นการมีส่วนร่วม ทำให้รู้สึกคุ้นเคยกับกลุ่มดีครับ เวทีเสวนาที่อาจารย์และผมได้ไปร่วมที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์นั้น ผมเองก็เพิ่งเคยไปครับ จะว่าไปแล้วหากใช้ระดับการเข้าร่วมเป็นตัวอธิบายละก็ ผมก็คงยิ่งไม่ประสีประสากว่าอาจารย์เยอะเลยครับ เพราะผมไปเข้าเสียเกือบพักเที่ยงแล้ว คงตามไม่ทันหลายเรื่องครับ
    • แต่ดูแล้วก็เห็นความหมายและความสำคัญของความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ครั้งนั้น แล้วก็ชื่นชมน้องๆและเพื่อนชาวมหิดล รวมทั้งกลุ่มนักศึกษา ที่ริเริ่มกลุ่ม-ชุมชนนี้ขึ้นมาไปด้วยเลยทีเดียวครับ
    • ได้เห็นความกว้างขวางของความริเริ่มสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นรอบๆมหิดล และแต่ละคนต่างก็เป็นทั้งครูให้กัน เป็นเพื่อนที่ปรึกษา และเป็นเครื่องย่อยประสบการณ์ ช่วยตกผลึกให้ลึกซึ้งแล้วก็สะท้อนกลับให้กันไปมา มันเป็นทั้งเวทีประชุมปรึกษาหารือของเครือข่ายผู้นำเป็นกลุ่มที่มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนและการสร้างคน
    • อีกทั้งช่วยกันบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง และเป็นกระบวนการเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆทั้งวิธีคิดและวิถีปฏิบัติอย่างบูรณาการให้กันไปในตัว สร้างกลุ่มผู้นำในวิถีทางใหม่ๆอีกแนวหนึ่งได้ดีมากเลยนะครับ
    • เข้าไปสัมผสแวบเดียวก็รู้สึกได้ครับว่า Smart มีอุดมคติ เก่งและมากด้วยทักษะปฏิบัติรอบด้าน แต่เป็นไม้แกร่งที่นอบน้อมถ่อมตน สันถวะต่อผู้อื่นจนสามารถนั่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเด็กๆได้อย่างเป็นครูของกันและกัน
    • ดูเหมือนว่าเร็วๆนี้ กลางเดือน จะหมุนเวียนไปจัดเสวนาที่มหิดลพญาไทใช่ไหมครับ

    สวัสดีครับอาจารย์

    มายกมือไปด้วยคนครับ

    ไว้เจอกับพี่คิมจะลองคิดดูว่าจะไปร่วมทำกิจกรรมอะไรได้บ้างครับ

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ

    • ช่วยกันนึกๆแล้วนำมารวบรวมกันไว้ก่อนนะครับ อันที่จริงต้องปรึกษาคนที่อยู่หนองบัวเป็นหลัก แต่ตอนนี้ใช้สื่อสารกันทางนี้ไปพลางๆก่อนนะครับ
    • ท่านพระอธิการโชคชัยกับน้องคุณครูจุฑารัตน์นี่คงต้องบอกกล่าวนะครับ
    • คุณครูอนุกูล วิมูลศักดิ์นี่ก็คิดถึงนะครับ หายไปนานเลย แต่โน่นครับ เขาไปเสวนาอยู่ในหมู่คนอนุรักษ์หนังไทยหรืออย่างไรนี่แหละ เอาเรื่องโรงหนังและวิถีชีวิคคนหนองบัวไปเผยแพร่อย่างแข็งขันครับ

    สวัสดีครับหนานเกียรติ
    มีคนถามไถ่และกล่าวถึงหนานเกียรติอย่างกัลยามิตรที่เอื้ออาทรกันหลายคนเลยนะครับ

    กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลค่ะ

    สวัสดีค่ะพี่ชายอาจารย์ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

    • สัปดาห์นี้ไม่รู้เป็นไรค่ะ ตาเต้นทุกวันเลย อ๋อ!!!ทราบสาเหตุแล้วค่ะ อิอิ...
    • เรื่องเวทีและการจัดค่ายต่างๆไม่ค่อยมีความรู้และไม่เป็นเลยค่ะ  ความสามารถก็จะถนัดไปทางเย็บปักถักร้อยเหมือนกับน้องสาวพี่อาจารย์นั่นแหละค่ะ
    • รำวงย้อนยุคน่าสนใจ ระดมคนหนองบัวมาช่วยกันรำๆๆๆค่ะหนุ่มๆสาวๆ(เหลือน้อย)มาสนุกสนานกันในช่วงค่ำๆ
    • ปัดฝุ่นด้วยนำการละเล่นพื้นบ้านสมัยเก่าแก่ ที่เด็กๆสมัยนี้ไม่เคยเห็นสักสองสามชุดคั่นรายการบริหารเหงือกบ้างดีไหมคะ  
    • สงสัยงานนี้รวมพลคนเก่งๆแน่เลยค่ะ หนุ่มๆมหิดลเคยเห็นหน้าอยู่สองท่าน พี่อาจารย์กับคุณเอกและสาวเบอร์ 17  ส่วนหนุ่มกำแพงแสนก็ประทับใจในความสามารถ  คงได้พบกับอีกหลายๆท่านในงานนี้นะคะ
    • พระอาจารย์มหาแลเจ้าคะ ตอนนี้ตั้งรกรากอยู่ที่อ.เก้าเลี้ยวถาวรแล้ว  สาธุค่ะ
    • ขอบคุณพี่ชายค่ะ

     มองผ่านสายตาผู้ประสบภัย  เบอร์ ๑๖ เบอร์ ๑๗ ขอรายงานข่าวจาก โรงแรมวี แอล หาดใหญ่ ..

                                           

                                    

                                    

                                     

    ขนาดนี้เชียวหรือครับ จรดชายคาของบ้านชั้นเดียวเลย
    ตอนนี้คงมีวิธีรับข้อมูลข่าวสารจากข้างนอกกันบ้างหรอกนะครับ

    ตอนนี้ที่อาจารย์ณัฐพัชร์ เริงวิชญ์ น้องๆทีมอาเซียนและทีมถอดบทเรียน รพสต.กับทุกคน ๗๐-๘๐ คนที่กำลังติดอยู่ในโรงแรมเดียวกันมา ๒-๓ วันนั้น ถึงแม้จะน่ากลัว แต่ไม่ต้องตกใจและไม่ต้องกังวลนะครับ เหตุที่ติดต่อใครไม่ได้ และทำไมยังไม่มีคนเข้าไปถึง รวมทั้งอาหารไม่พอกินนั้น ก็เนื่องจากในความเป็นจริงที่ทุกท่านที่ติดอยู่ในโรงแรมมองไม่เห็นก็คือ น้ำมันท่วมเยอะมากและในบริเวณกว้างครับ ท่วมทั้งเมืองหาดใหญ่และท่วมมากในทุกบริเวณ ทั้งกำลังคนและระบบต่างๆที่จะเข้าเผชิญ-แก้ไข รวมทั้งช่วยเหลือผู้คนนั้น ยากที่จะระดมคนได้เพียงพอ ดูรายงานข่าวและความเคลื่อนไหวภายนอกแล้วผมเลยทำบันทึกให้เป็นสื่อแก่ทุกท่านไว้ที่นี่นะครับ http://gotoknow.org/blog/wiratkmsr-art/406195

    สวัสดีครับน้องคุณครูจุฑารัตน์

    • ตามสบายๆนะครับ
    • พี่เอง เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ และท่านอื่นๆนั้น พี่ก็จะพยายามทำให้พอได้มีประสบการณ์ในวิถีคิดใหม่ๆด้วยกัน
    • ไม่อยากให้ทำเป็นงานอย่างทั่วไป แต่ทำอย่างเป็นกิจกรรมชีวิต ทำเป็นบทเรียน พัฒนาวิธีคิด วิธีเข้าใจ วิธีได้ประสบการณ์และได้ข้อมูลจากอีกกรณีศึกษาหนึ่งกลับไปใช้ทำการงาน
    • ชาวบ้านก็กลับไปทำมาหากิน แต่ได้เพื่อน ได้ขยายโลกทัศน์ ได้พัฒนาตนเอง
    • ทำแต่จำเพาะกับคนที่ดำเนินชีวิตไปในแนวความสนใจอย่างนี้ด้วยกัน ไม่อย่างนั้นจะเป็นภาระทำเกินตัวน่ะครับ

    มาเยี่ยมชม รับข่าวสารด้วยคนครับ

    อยากไปร่วมด้วยแต่ไปไม่ได้ กิจกรรมน่าสนใจมากครับ

    รอรับรายงานใน G2K ต่อแล้วกันครับ

    ขอบคุณมาก

    ยังไม่รู้จะออกมาอย่างไรกันเหมือนกันครับ
    แต่ในพื้นที่ก็เริ่มมีความคึกคักบ้างแล้วครับ

  •  กิจกรรม  ๓  : กิจกรรมศิลปะชุมชนและนิทรรศการภาพเขียนหนองบัวอดีตสู่อนาคตด้วยสุขภาวะยั่งยืน’ ......ผมจะนำเอารูปเขียนทั้งหมดเกือบ ๑๐๐ รูปที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตคนหนองบัวไปจัดแสดง พร้อมกับเป็นเวทีนั่งคุยรำลึกความเป็นชุมชนกันให้มีความสุข เมื่อเสร็จแล้วก็ยินดีจะมอบให้แหล่งที่สามารถติดตั้งและเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนได้ ....๓ วัน......
  • สนใจกิจกรรมนี้มากๆค่ะพี่อาจารย์ รู้สึกได้ทำงาน ได้พักผ่อนไปในตัวค่ะ...
    • น้องคุณครูอ้อยเล็กนี่ หากได้ไปก็คงจะต้องจัดให้พี่ ท่านพระอาจารย์มหาแล และคนหนองบัว ได้แสดงความขอบคุณสักหน่อยนะครับ เพราะจำได้ว่าคุณครูอ้อยเล็กเป็นคนแรกๆที่เข้ามายุยงส่งเสริม เอ๊ย เป็นแม่ยกเชียร์ด้วยการตบแต่งหน้าแรกของเวทีคนหนองบัวให้กับพวกเรา
    • อีกทั้งมีเพื่อนเรียน ป.โทเป็นคนหนองบัวอยู่นี่เนาะ

    สวัสดีคะ อาจารย์วิรัตน์

    • นำภาพซูมให้เห็นชัดๆ คะ
    • เมื่อน้ำท่วม ๒-๓ เมตร ณ ใจกลางเมืองหาดใหญ่อย่างรวดเร็ว ต้องรีบอพยพทั้งคนและของเท่าที่จะนำพาไปได้เพื่อประทังชีวิตและดูแลคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กเล็กบนหลังคา(ชั้น ๒) อย่างไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีอาหาร ไม่มีนมผงให้กับเด็ก และอากาศหนาวเย็นในเวลากลางคืน ..

                           

                                           

    • การสื่อสารที่ต้องรอเมื่อมีการปั่นไฟสำรองในช่วงกลางคืนเท่านั้น ซึ่งสามารถใช้ได้คือปลั๊กทางเดินของแต่ละชั้นซึ่งมีเพียง ๓ จุด เพิ่งมาทราบเอาวันที่ ๒ แล้วคะ .. ในคืนแรก/วันแรก เงียบสนิท ไม่มีผู้คน การสื่อสารก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก ข่าวสารก็ไม่ทราบความเคลื่อนไหวใดใดเลย ..
    • เมื่อการปั่นไฟเริ่มขึ้น ทุกคนมุ่งตรงมาที่ปลั๊กไฟเพื่อชาร์ตแบตเตอร์รี่มือถือ โน๊ตบุ๊ค และต้องยกทีวีมาที่บริเวณทางเดินเพื่อดูข่าว

                                           

    • เช็คข่าวออนไลน์ ผ่านการต่ออินเตอร์เนทผ่านมือถือที่สัญญานก็มีน้อยมากถึงไม่มีเลย เปิดโกทูโนเพื่อสื่อสารผ่านบันทึกของอาจารย์ ก็ทำไปได้อย่างเชื่องช้า บางครั้งมี error จนเกือบท้อ ..
    • โพสรูปลงเฟสบุ๊คเพื่อสื่อสารไปถึงคนในครอบครัว และเพื่อนๆ เพราะบางครั้งพยายามกดโทรศัพท์หลายสิบครั้งถึงจะติดสักครั้ง sms ก็ส่งได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ในวันแรกเกือบจะเครียดเพราะยังไม่ทราบว่าสามารถชาร์ตแบตได้ถ้ามีการปั่นไฟ เพราะถ้ายิ่งใช้โทรศัพท์ที่ไม่สามารถเชื่อมต่อสัญญานได้ ยิ่งกดยิ่งเปลืองแบตเตอร์รี่ กลัวแบตหมดก็กลัว แต่ก็อยากจะติดต่อสื่อสารถึงบุคคลข้างนอกบ้าง ..
    • ทำรูปสถานการณ์สดและส่งเมล์ถึงช่างภาพมติชน ซึ่งตอนนั้นส่งไม่สำเร็จเพราะต้องส่งด้วยไฟล์ภาพที่ใหญ่เพื่อสามารถนำไปใช้ต่อได้ แต่น้องเปิ้ลน้องในทีมกลับมาส่งอีกครั้งเมื่อถึงกรุงเทพฯ แล้วคะ ..
    • ขอแสดงความยินดีกับการกลับบ้านด้วยสวัสดิภาพทุกท่านนะครับ
    • ดูจากภาพข้างบนแล้วมันท่วมเยอะอย่างไม่น่าเชื่อเลยนะครับ
    • บันทึกภาพได้ดีนะครับ เป็นทั้งประสบการณ์ครั้งหนึ่งของชีวิต และข้อมูลเหตุการณ์ประวัติศาสตร์
    • คารวะท่านพี่
    • พี่ทั้งสองสบายดีนะครับ
    • หลังจากเหิรฟ้าไปนั่งสมาธิที่ "ค่ายอัครเบญจพล" กาญจนบุรี ผมได้ไปเยี่ยมแม่-พี่-หลานที่บ้านตาลิน เมื่อวันที่ ๒๖ ตค.ที่ผ่านมา พ้นจากสภาพน้ำท่วมบ่า ก็ต้องฟันฝ่าด่านดินถล่มบนยอดดอยตอนฝนตกหนัก
    • ตอนนี้ผมเป็นสมาชิกเครือข่าย gotoknow แล้ว หากจัดระบบความคิด องค์ความรู้ ได้ลงตัวเมื่อไหร่จะทยอยนำมาลงไว้ในบันทึก
    • ขอเข้าร่วมเวทีมหิดล-คนหนองบัว ด้วยอีกหนึ่งแรง นะครับ

    อ้าวเจ้าพีระโผล่มายังไง

    • พี่นึกถึงอยู่ เข้าไปคุยในเวทีคนหนองบัวหน่อยสิ
    • ตอนนี้พี่จะลองหารือกับเพื่อนๆเพื่อชวนทำให้การกลับบ้านเป็นการจัดกิจรรม ๕๐ ปีของโรงเรียนวันครูกับโรงเรียนหนองบัวอย่างที่พี่เคยคุยให้ทราบบ้างแล้วน่ะ
    • ประสานงานให้กับพี่ๆน้องๆที่หนองบัวได้เท่านั้น ก็จะมีคนทำเรื่องต่างๆไปด้วยกันได้อย่างดี พีระน่าจะร่วมรุ่นกลุ่มคนที่เป็นปัจจุบันและมีเครือข่ายในพื้นที่เยอะแยะกว่าพี่นะครับ
    • งั้นเวทีมหิดล-คนหนองบัว พีระเป็นแม่งานอีกคนหนึ่งนะครับ

    ขอบคุณล่วงหน้าค่ะพี่อาจารย์..หวังว่าคงมีโอกาสได้ไปค่ะ...หายากนะคะ..ที่จะมีรุ่นพี่เป็นดร.แถมยังเป็นผู้นำน้องๆทำกิจกรรมดีๆอีกด้วยค่ะ..

    • ประเดี๋ยวจะลองหารูปแบบที่เหมาะๆ เพื่อลองนำเสนอให้ทุกท่านดูอีกทีนะครับ

    อรุณสวัสดิ์ยามเช้า กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์วิรัตน์

    การจัดกิจกรรมต่างๆตามกำหนดการที่ตั้งไว้เห็นแล้วน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งทุกรายการนอกจากจะเป็นการส่งเสริมสิ่งที่มีค่าทางสังคมแล้วยังทำให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ด้วย ผมเองอยากให้ถึงวันนี้เร็วครับและขอให้ทุกกิจกรรมดำเนินตามแบบแผนไปได้ดีครับ


    ดีใจกับชาวหนองบัวด้วยครับ

    เวทีเเห่งการเรียนรู้ที่หลากหลายเเละทรงพลังที่นี่ จะเป็นต้นแบบการเรียนรู้ให้กับอีกหลายที่

    ผมขอให้กำลังใจอาจารย์ ดร.วิรัตน์ เเละ ทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องครับ

    สวัสดีครับคุณเสวก ใยอินทร์ครับ

    • หากกลุ่มพริกเกลือ พอจะเป็นแกนทำเวทีย่อย นั่งสนทนาสร้างกระบวนการเรียนรู้สังคมและสุขภาวะองค์รวมของชุมชนที่อยู่ภายใต้ความเป็นพริกเกลือ พร้อมกับเป็นกิจกรรมทำให้กับตนเอง ทำให้เป็นเนื้อหาชีวิตเพื่อเก็บไว้รำลึกถึง หรือให้เป็นวิธีสานความรักความสามัคคีของกลุ่มคน ก็สามารถริเริ่มและทำให้เชื่อมโยงกันได้นะครับ
    • เพื่อไม่ให้เป็นภาระจนต้องทำทีเดียวเลิก ก็สามารถทำอย่างสบายๆ เพียงแต่ต้องฝืนความอาย และมีความกล้าที่จะแสดงออกสักหน่อย ซึ่งก็จะเป็นเรื่องดี เพราะเราเองก็จะได้พัฒนาความเป็นผู้นำของตนเองไปด้วย เช่น ทำเหมือนวงเล่นกลขายยาซึ่งเมื่อก่อนมักมีคนขายของเร่มาที่หนองบัวเสมอน่ะครับ ทำกิจกรรมเล็กๆข้างถนน หรือกลางตลาด ใครอยากหยุดดูหรืออยากมีส่วนร่วมก็ได้ หรือมีคน-สองคนก็เล่นและทำกิจกรรมด้วยกันได้
    • ทำเพื่อได้บทเรียน นำไปเคลื่อนไหวและเผยแพร่ต่อไปเรื่อยๆน่ะครับ ไม่ต้องเน้นขนาดกิจกรรมและขนาดกลุ่มคนเข้าร่วม แต่เน้นประเด็น การนำเสนอวิธีคิด การสร้างปัญญาและวิถีทรรศนะ การมีกิจกรรมที่นำเสนอจริงๆ ฯ
    • เรียกรวมๆว่าทำเพื่อรู้จริงด้วยการปฏิบัติและนำไปทำหนังสือ-สื่อ อย่างน้อยที่สุดก็เอามาเขียนบันทึกลงบล๊อกเพื่อเผยแพร่ให้กว้างขวางต่อไป แต่ในอนาคตก็รวมเล่มได้อีก ทำตามกำลัง ตามความพร้อม ให้ได้ความสร้างสรรค์และประโยชน์แก่สังคม โดยไม่เบียดเบียนตนเองจนเกินไป
    • หรืออย่างพื้นๆที่สุดก็เตรียมทำโปสเตอร์เวทีเว๊บบล๊อกของกลุ่มพริกเกลือ ทำรูปและเรียบเรียงเนื้อหาให้สวยๆแผ่น-สองแผ่น เอาไปจัดแสดงร่วมกัน ร่วมเป็นสีสันของงานงิ้ว หรือหากไม่ตรงกับงานงิ้วก็เป็นการแสดงความสร้างสรรค์เป็นแบบอย่างให้คนอื่นๆได้เห็นเพื่อคิดริเริ่มทำสิ่งดีๆแก่สังคมต่อๆไป อย่างนี้ก็ได้นะครับ
    • แต่ก็คุยเป็นไอเดียเฉยๆครับ คุยเพื่อซ้อมการทำงานความคิดไปเรื่อยๆให้น่ะครับ

    สวัสดีครับคุณเอก-จตุพร

    • เราแวะไปคุยกันเพื่อหาธีมดีๆสำหรับออกแบบกิจกรรมและกระบวนการต่างๆ เป็นระยะๆนะครับ ประเดี๋ยวผมจะลองนำเสนอขยับไปเรื่อยๆนะครับ
    • ที่อยากได้อีกอย่างหนึ่งคือ การเผยแพร่หนังสือและมหกรรมหนังสือทำมือของบล๊อกเกอร์และเครือข่ายคนทำงานในแนวทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ทั้งเกี่ยวกับการศึกษา การพัฒนาเด็ก การพัฒนาการเรียนการสอน งานทางความคิด ศิลปะ ประเด็นสังคม-สิ่งแวดล้อม ทั้งที่รวมเล่มตีพิมพ์แล้ว หรือจะรวมเล่มใหม่แล้วทำเป็นเล่มเดียว ทำเป็นหนังสือแบบทำเอง แล้วเอาไปวางอวดแสดงกัน
    • หากใครไม่สะดวกไปแต่อยากฝากให้ผมไปวางเผยแพร่ให้ก็ยิ่งยินดีอีกเช่นกันนะครับ ส่งไปให้ผมได้เลยครับ จะดูแลไว้อย่างดีและจะเผยแพร่ให้เรื่อยๆครับ
    • อันที่จริงใครที่พอดึงเรื่องราวต่างๆที่เขียนเผยแพร่ในบล๊อกของตนเอง ออกมาทำหนังสือทำเองสักเล่มหนึ่ง สร้างสรรค์อย่างที่ใจอยากให้เป็น แล้วก็ไปที่ร้านทำเอกสารสิ่งพิมพ์ให้เขาเข้าเล่มอย่างงดงามให้ หรือเข้าเล่มด้วยมือเราเอง ก็จะนำไปเผยแพร่ได้ทันทีนะครับ อย่างที่ท่านพระมหาแลท่านทำ คือ ถ่ายเอกสารแล้วก็เย็บเป็นปึกๆเอาไปเผยแพร่ อย่างนี้ก็ได้ครับ
    • แต่เอกนี่ หากได้ไปด้วยกัน นอกจากอยากขอให้เอาหนังสือไปวางเผยแพร่ด้วยแล้ว พวกงานศิลปะภาพถ่าย ในแง่นำเสนอ Social-Live Pictorial ที่ให้วิธีคิดวิธีมองสังคมในแง่มุมใหม่ๆ ก็อยากได้สัก ๔-๕ รูป ไปติดบอร์ดหรือแขวนจัดแสดงด้วยกันได้ไหมครับเนี่ย
    • ที่สำคัญคือ อยากให้ไปนั่งคุย สนทนา และอย่าทำอะไรมาก ไปสังเกต มีสัมผัสชีวิตสังคมท้องถิ่น แล้วก็เขียนถ่ายทอดออกมาด้วยสายตาและข้อวิพากษ์ของเอก บันทึกไว้ก่อนในบล๊อก เพื่อรวบรวมเป็นเนื้อหาของสื่อต่างๆที่มี Focus กรณีศึกษาและธีมเดียวกันน่ะครับ ท่านอื่นๆก็อยากให้ทำอย่างนี้นะครับ รวมทั้งท่านอื่นๆที่ไม่ได้ไปและไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของประเทศ ก็อยากชงข้อมูลให้ทุกท่านได้ทราบ หากเห็นแล้วเกิดความคิดและพอจะเป็นประเด็นให้เขียนเรื่องราวต่างๆออกมา อย่างนี้ก็ได้ครับ

    หวัดดีครับ...อาจารย์

    ในโอกาสที่เป็นการครบรอบวาระสำคัญหลายอย่าง Theme งาน อาจจะเป็น "เหลียวหน้า แลหลัง" เพื่อเป็นการทบทวนต้นทุนทางสังคมรวมถึงปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้นในชุมชนตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนต่อไปในอนาคตนะครับ...

    ส่วนกิจกรรม อาจจะมี ตลาดนัดของดีของชุมชน ซึ่งอาจเป็นนิทรรศการง่าย ๆ ที่ให้ทางชุมชนในแต่ละภาคส่วนได้ช่วยกันสะท้อนต้นทุนทางสังคมดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ วัฒนธรรม ความสามัคคี และความดี ของท้องถิ่น เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตัวเองนะครับ...

    กำหนดการลงตัวยังงัย ขอไปมีส่วนช่วยในเวทีด้วยคนนะครับอาจารย์...

            หัวข้อหลักและกรอบเนื้อหากิจกรรมของเวทีมหิดล-คนหนองบัว      

    เพื่อเป็นแนวคิดสำหรับออกแบบเนื้อหากิจกรรม รวมทั้งเลือกสรรค์หนังสือ สื่อ ออกแบบเวที ผมจึงลองทำกรอบเนื้อหามานำเสนอเป็นตัวตั้งต้นนะครับ กิจกรรมในครั้งนี้ จะถือเอากิจกรรมที่ทำขึ้นเป็นกรณีศึกษา เพื่อเรียนรู้และสร้างความรู้ความเข้าใจสำหรับการทำงานระดับต่างๆต่อไปของใครก็ได้ที่เข้ามามีส่วนร่วม ให้เท่าเทียมกับความซับซ้อนของโลกกว้างพร้อมกับเชื่อมโยงถึงความเป็นตัวของตัวเองในท้องถิ่นของสังคมไทย มุ่งให้การพัฒนาเด็กและคนในพื้นที่เป็นเป้าหมายของทุกเรื่อง ทว่า อยู่บนฐานของความเป็นทั้งหมดบนพื้นที่ชุมชนระดับอำเภอหรือเป็น Disctrict Community Area-Based Approach

       หัวข้อหลัก    อนาคตการศึกษาเพื่อท้องถิ่นไทยและความเป็นสากล  

      หัวข้อย่อย ๑    การศึกษาทบทวนสภาวการณ์และประสบการณ์ของสังคมไทย 

    • การสนทนาข้ามมหาวิทยาลัย : แนวโน้มสำคัญของสังคมไทยและสังคมโลกกับทางเลือกการศึกษาเรียนรู้ที่พึงประสงค์
      มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ วิทยาลัยอาชีวศึกษานครสวรรค์...พิจารณาไปตามที่มีคน
    • การเสวนาของคนหนองบัว : ๖๐ ปีของหนองบัวและ ๕๐ ปีของการศึกษาเพื่อลูกหลาน
    • การอภิปราย เรียนรู้จากคนหนองบัว : อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของการศึกษาและครูไทยเพื่อสังคมชนบท

      หัวข้อย่อย ๒     ประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ของการศึกษาเรียนรู้เพื่อสังคม 

    • การศึกษากับสุขภาวะชุมชนที่พอเพียงและยั่งยืน
    • หน่วยพัฒนาการเรียนรู้ในครอบครัว
    • โอกาสและทางเลือกของพลังการพัฒนาสถานศึกษาขนาดเล็ก
    • การพัฒนาการเรียนรู้เพื่อคุณภาพชีวิตและพลังศักยภาพผู้สูงวัย
    • ความเป็นท้องถิ่นกับสังคมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของโลก
    • ศิลปะ ดนตรี และมิติสุนทรียภาพของการสร้างคนบนฐานชุมชนในบริบทใหม่

      หัวข้อย่อย ๓    เครื่องมือ นวัตกรรม และวิธีทำงานความรู้เชิงปฏิบัติการสังคมในแนวใหม่ 

  • โครงการเชิงนวัตกรรมเรียนรู้ในโรงเรียนและชุมชนในบริบทใหม่
  • การพัฒนาการวิจัยถอดบทเรียนที่พอเพียงของโรงเรียนและชุมชน
  • การบริหารจัดการภาวะผู้นำรวมกลุ่มและพลังเครือข่ายการศึกษาของโลกอนาคต
  •   หัวข้อย่อย ๔     การพัฒนาเชิงระบบและโครงสร้าง 

    • ชุมชนและ IT กับการศึกษาเพื่อพลเมืองที่เหมาะสม : เรียนรู้จากคนหนองบัว
    • การพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและแหล่งสาธารณะในชุมชนเพื่อพลังการเรียนรู้ชุมชน
    • สื่อและเทคโนโลยีการศึกษาชุมชนเพื่อการศึกษาเรียนรู้ของพลเมือง

    หัวข้อและกรอบเนื้อหาเหล่านี้ จะสามารถใช้เป็นแนวสะท้อนไปสู่กิจกรรมทุกอย่าง ซึ่งก็จะทำให้ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะมีความเชื่อมโยงกันได้ แม้จะแยกเวที แยกกลุ่ม และแยกวันเวลาทำกิจกรรม .....สามารถเพิ่มเติม ดัดแปลง จะเพิ่มและตัดออกไปอย่างไร หรือจะไม่ใช้เลย เดินไปแล้วก็ทำสบายๆก็ได้ทั้งสิ้นครับ ทำงานความคิดเรื่อยเปื่อยอย่างนี้ไปก่อน จะทำให้คิดชัด มีแผนย่อยและมีตัวเลือกมากมาย ให้ยืดหยุ่นตนเองไปกับเงื่อนไข แล้วทำให้ดีที่สุดตามโอกาสและปัจจัยต่างๆจะเอื้อให้ทำกันได้นะครับ.

    สวัสดีท่าว่าที่ดอกเตอร์ดิเรก

    • เข้ามาในจังหวะที่กำลังเขียนอยู่พอดีนะครับ แล้วก็บังเอิญที่แนวคิดตรงกับที่คุณดิเรกระดมความคิดเสนออีกด้วย คงพอจะถูกใจนะครับ
    • เอาอีก-เอาอีก ขอไอเดียอีก ยิ่งไปพูดและเผยแพร่งานด้วยก็ยิ่งดี แต่แม้นไม่ได้ไปก็ยังสามารถพัฒนาการทำงานให้เชื่อมโยงกันได้ผ่านประเด็นและการสะท้อนคิด-สะท้อนข้อมูลให้กันและกันนะครับ

     

    เรียนทุกท่านนะครับ

    ผมได้ได้นำเอาข้อมูลและการนำเสนอกรอบเนื้อหากิจกรรม แยกไปทำบันทึกต่างหากให้อีกบันทึกหนึ่งที่นี่นะครับ THEME กิจกรรมเวทีมหิดล-คนหนองบัว : ttp://gotoknow.org/blog/nongbua-community/406906

    ต่อความคิดของคุณดิเรกอีกครับ

    • ตรงที่เสนอว่าน่าจะมีตลาดนัดของดีชุมชนนั้น ดูเหมือนจะสอดคล้องกับที่เคยมีคนหนองบัวในเวทีคนหนองบัวสนใจนะครับ
    • หากสามารถประสานงานและลงไปคุยกับคนในอำเภอดูก็เชื่อว่าจะมีคนเห็นด้วยและช่วยกันทำแน่นอนครับ เผลอๆอาจจะทำเป็นเทศกาลทั้งตลาดและอำเภอหนองบัว ผมจะลองหาทางคุยกับคนในพื้นที่ดูครับ
    • เอากิจกรรมของกลุ่มพริกเกลือ ดอกอ้มน้อง พืชผักและอาหารท้องถิ่น รวมทั้งผลิตภัณฑ์โครงการเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรีนและชุมชนมาออกร้านขายในเชิงรณรงค์ แค่นี้ก็น่าสนใจและชวนคนจากจังหวักและอำเภอรอบข้างไปเยือนหนองบัวได้แล้วละครับ หากบวกกับงานงิ้วได้ก็ยิ่งดีใหญ่ น่าสนใจครับ

    สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์

    • เวทีหนองบัวนี่คึกคักจังเลยคะ ดีใจไปกับอาจารย์และชาวหนองบัวด้วยเลยคะ
    • มีข้อสังเกตอยู่ ๒-๓ ประการคะ ซึ่งจะขอพูดถึงเวทีที่กำลังจะเกิดนี้นะคะ ไม่ได้หมายถึงตัวองค์ความรู้ที่ผุดขึ้นมามากมายบนบล๊อค เวทีหนองบัว ในหลายๆ หน้าบันทึกของอาจารย์ และการแสดงความคิดเห็นจากหลายๆ บทบาทหน้าที่ทางสังคมจากผู้รู้แท้ที่เป็นชาวหนองบัว
    • พัฒนาการของเวทีหนองบัวอยู่บนพื้นฐานของฟังชั่นที่เรียกว่าโซเชียลเนทเวิร์ค ซึ่งหลายๆ ท่านที่เข้ามาพูดคุยไม่เคยรู้จักหน้าค่าตากันมาก่อนแต่ยังให้ใจแสดงความจริงใจเพื่อที่/อยากจะเห็นพัฒนาการณ์ของเว็บหนองบัวจนมาถึงความเป็นไปได้ของการนำไปสู่การปฏิบัติ การพัฒนาจริงๆ ในพื้นที่
    • การก่อเกิดของเวทีหนองบัวที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจารย์กำหนดคร่าวๆ เอาไว้ที่เดือนมีนาคม คือ อีก ๕ เดือนนับจากนี้ไป แน่นอนว่าเป้าประสงค์หลักคือ การครบรอบ ๕๐ ปีของโรงเรียนวันครู โรงเรียนหนองบัว .. การคิดรูปแบบเวทีที่โดยเฉพาะเริ่มต้นมาจากอาจารย์เป็นหลัก ถ้าคิดให้ขำๆ คือ ฉีกรูปแบบของการเฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้ออกไปจากเดิมที่เป็นนอกเหนือไปจากเพียงการรวมรุ่น ศิษย์เก่า ให้มาพบปะกันหลังจากที่จบจากโรงเรียนนี้ไป และไม่ได้เจอกันมาหลายสิบปี ..
    • การประสานงานทุกอย่างใช้วิธีบอกผ่านบันทึกหนองบัว และผ่านโทรศัพท์จากบุคคลากรในพื้นที่ ซึ่งอาจจะไม่เกิน ๑๐ ท่าน ด้วยความเคารพ ตีมที่กำลังพอจะมองเห็นรูปร่างนั้นช่างสะท้อนความเป็นนักวิชาการ แต่ไม่ทิ้งวิถีวัฒนธรรมชุมชนที่หลากหลายและน่าสนใจ เป็นเสน่ห์จำเพาะอย่างนึงของอาจารย์คะ ..
    • ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา และอาจจะยังไม่ครอบคลุมไปทั้งหมดอย่างที่ใจคิด แต่อยากจะกระตุกนิดนึงสำหรับเวทีหนองบัวที่กำลังจะเกิดนี้คะ ว่าเข้าใจและรับรู้ได้ถึงความตั้งใจจริงของทุกๆ ท่าน แต่อยากให้เกิดความต่อเนื่องของกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่อยากให้มีเวทีนี้แค่วัน ๒ วัน แล้วก็หายไป การเตรียมเวทีที่จะให้พร้อมในเดือนมีนาคม ๕๔ อยากให้มี พรีเวทีหนองบัว แบบหลวมๆ เพื่อพบปะพื้นที่ก่อนสักครั้ง ลงไปเก็บข้อมูลต่างๆ เช่น ความคิดเห็นของชุมชน ทุกรุ่น ในแต่ละวิถีของความเป็นคนหนองบัว, ภาพถ่าย (ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว) ของชุมชน ภาพของโรงเรียนวันครู และโรงเรียนหนองบัว (ครู, นักเรียน ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน) ภาพของตลาดหนองบัว ภาพของพิพิธภัณฑ์วัดหนองกลับ ภาพของบุคคลสำคัญๆ ของหนองบัว ฯลฯ และอื่นๆ ที่ตอนนี้ยังนึกไม่ออกค่ะ ..
    • อย่าเพิ่งรีบร้อนคะ อย่างไรเสีย วาระครบรอบ ๕๐ ปีในปี ๒๕๕๔ ยังมีเวลาที่เราสามารถทำได้ตลอดทั้งปีคะ เข้าใจว่างานงิ้วของหนองบัวก็สำคัญและน่าสนใจ แต่ในใจกลับคิดถึง ทุ่งนาเขียวขจีในบรรยากาศการพูดคุยที่สบายๆ ไปกับความเขียว และพริ้วไหวไปกับต้นข้าวที่กำลังออกรวงเต็มที่พร้อมให้เราเก็บเกี่ยว นี่คือภาพในใจที่คิดถึงความเป็นอัตตลักษณ์ของหนองบัว หลังจากที่ได้ติดตามบันทึกของอาจารย์วิรัตน์ และชาวหนองบัวทุกท่านคะ ..
    • ฤดูเก็บเกี่ยว ดูจะมีความสุขกับผลผลิตที่ได้รับของชาวนาคะ ทุกครอบครัวชื่นมื่น มองเห็นรอยยิ้มกับสิ่งที่ได้ทำมากับมือแล้วมันคือสิ่งที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวหนองบัวไปตลอดทั้งปีค่ะ ..
    • แต่เวทีที่จะเกิดขึ้นมาก็คงต้องให้ชาวหนองบัวเป็นผู้ตัดสินใจหล่ะคะ สำหรับตัวเองประกาศชูจักกะแร้ช่วยอย่างเต็มที่อยู่แล้วค่ะ =)

    สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์

    • มุมมองที่อาจารย์บอกว่าถ้าคิดขำๆก็คือฉีกแนวการพบปะรวมรุ่นของศิษย์เก่าโรงเรียนที่เคยร่ำเรียนมาด้วยกันนั้น คงจะอธิบายความเป็นมาของกิจกรรมต่างๆได้ดีที่สุดเลยละครับ เพราะเป็นเรื่องที่ช่วยกันคิดและช่วยกันทำมากกว่า
    • นอกเหนือจากที่กิจกรรมแนวนี้ผมเองเป็นผู้เสนอแล้ว คนอื่นๆก็มีกิจกรรมที่ริเริ่มขึ้นมาแล้วก็บอกกล่าวชวนเชิญกันอยู่เสมอๆครับ และไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมแบบไหนก็มักจะไปร่วมด้วยช่วยกันไปตามอัธยาศัย มีอยู่เรื่อยๆครับ เช่น เดือนพฤศจิกายนของทุกปี ก็จะมีกิจกรรมหนองบัวมินิฮาร์ฟมาราธอน ใครบวชลูกบวชหลาน แต่งงานหรือทำบุญก็บอกกล่าวกัน บางคนก็รวมตัวกันไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ หรือบางทีก็นัดพบปะสังสันทน์กินข้าวและนั่งคุยกัน ทำนองนี้แหละครับ
    • ใครอยากทำอะไรที่คิดว่าดีก็บอกกล่าวและชวนกันทำสบายๆมากกว่า ทำตามกำลังน่ะครับ
    • อย่างแนวที่ผมเสนอนี้ ก็ไม่ได้ริเริ่มด้วยตนเองโดดๆหรอกครับ ก็คิดต่อเติมไปกับท่านอื่นๆ แล้วก็เสริมเข้าไปในส่วนที่พอจะเป็นโอกาสที่ผมมีส่วนร่วมเป็นคนริเริ่มให้ได้บ้าง ในเรื่องอื่นๆเมื่อคนอื่นริเริ่มผมก็จะเป็นคนช่วยเสริม ในส่วนที่ผมริเริ่มก็ทำนองเดียวกัน ก็เลยถือโอกาสสื่อสารบอกกล่าวกันไปให้ได้บรรยากาศคึกคักและได้ทำหลายๆอย่างไปในเวลาเดียวกัน อย่างนี้แหละครับ
    • แนวคิดการทำกิจกรรมย่อยๆก่อนนี่ตรงใจมากเลยละครับ พรรคพวกที่หนองบัวก็เสนอให้ทำอย่างนี้เหมือนกัน ผอ.พนม ผอ.โรงเรียนบ้านหนองไผ่เพื่อนผมก็เสนอทำนองนี้เหมือนกันครับ
    • ตอนนี้ผมชักจะเอียงๆไปทางเลื่อนออกจากงานงิ้วให้ไปอยู่ช่วงหมดหน้าฝนและเป็นหน้าหนาว ทุ่งนาเขียวขจีไปด้วยต้นข้าว และชาวบ้านกำลังหมดหน้างาน รอเกี่ยวข้าวอีกครั้ง ซึ่งก็จะเป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีงานวุ่นวายกันนักในวิถีชาวบ้าน เมื่อทำพอได้มีประสบการณ์ดีๆแล้วหากเชื่อมโยงกับเทศกาลของท้องถิ่นได้จึงค่อยทำให้เป็นงานเดียวกัน อย่างนี้ก็น่าสนใจมากเลยนะครับ งั้นขอรวบรวมเป็นแนวคิดไว้ก่อนนะครับ
    • ขอบคุณครับ
    • มาดูความเคลื่อนไหวกับกิจกรรมของคนหนองบัวและฝ่ายสนับสนุนอีกรอบหนึ่งค่ะ
    • มีศิษย์เก่าหนองบัวอีกท่านหนึ่ง  คือท่านทองสุข  อยู่ศรี  ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผอ.สพป.ตากเขต 2
    • เคยทำงานอยู่กับท่านมาระยะหนึ่ง ตอนที่ท่านเป็น หนปก. ในจ.กำแพงเพชร เป็นคนที่ทำงานเก่งและมีความสามารถในวงการศึกษาค่ะ
    • พี่ชายอาจจะรู้จักสมัยเรียนอยู่ที่โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคาร)
    • นานๆจะเป็นการรวมพลลูกหลานคนหนองบัว สร้างคุณประโยชน์ให้กับชาวบ้าน เขาคงดีใจและปลื้มใจนะคะ  โดยเฉพาะในยามวิกฤตเช่นนี้

    ขออภัยค่ะที่โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคาร คม)

    สวัสดีครับน้องคุณครูนก-จุฑารัตน์ 

    • ผอ.ทองสุข อยู่ศรี เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันและห้องเดียวกันของพี่ทั้งที่หนองบัวเทพฯและที่หนองคอก-โรงเรียนมัธยมน่ะครับ
    • แล้วเขาก็เป็นนักร้องของโรงเรียนด้วยครับ พี่เป็นนักดนตรี ทองสุขเขาเป็นนักร้องนำ แววเสียงสายัณห์ สัญญาเลยละครับ
    • กิจกรรมเวทีมหิดล-คนหนองบัวนี้ พี่ก็พยายามทำให้เป็นสื่อการพูดคุยปรึกษาหารือ เพื่อเป็นโอกาสทำสิ่งต่างๆด้วยกันในหมู่เพื่อนๆเวลากลับบ้านไปด้วยให้ดีที่สุดน่ะครับ ทำคุยเป็นเรื่องเป็นราว ดูใหญ่โต ไปอย่างนั้นแหละ แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน
    • แต่ก็เชื่อว่าอย่างน้อยก็ทำได้มากกว่าที่เคยทำกันอยู่เสมอไปเรื่อยๆน่ะครับ คือ..ปรกติพวกพี่และเพื่อนๆก็มักจะมีกิจกรรมทำโน่น-ทำนี่กันอยู่แล้วน่ะครับ ก็เลยคุยขึงขังเพื่อชี้นำความคิด รวมทั้งเป็นโยนหินถามทางไปพลางๆน่ะครับ แต่จะพากันทำเท่าที่มีกำลังและไม่เป็นภาระน่ะครับ  อยากทำให้เป็นความประทับใจ ครั้งต่อๆไปและโอกาสต่อๆไปก็จะได้อยากไปเจอกันอีก
    • รวมทั้งทำนำร่องเพิ่มความหลากหลายน่ะครับ เพื่อนๆน้องๆพี่ๆ ที่เป็นคนทำงานและคนที่อยู่หนองบัว อย่างน้อยก็จะได้มีกำลังใจ ไม่เหงา คิดอยากทำอะไรก็มีเพื่อนๆคอยช่วยกันทั้งความคิด แรงกาย แรงใจ
    • สวัสดีค่ะท่านอ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์
    • มาร่วมยินดีกับชาวหนองบัว ที่จะมีกิจกรรมดีดี ในชุมชน
    • อยากไปร่วม แต่มีข้อจำกัดเรื่องระยะทาง ขอเชียร์..เชียร์...นะคะ
    • ขอบคุณค่ะ

    สวัสดีครับคุณครูเอื้องแซะครับ ขอบพระคุณครับ
    หากจัดกิจกรรมดีๆกันแล้วก็จะนำมาเล่าถ่ายทอดให้ได้ติดตามนะครับ

    เด็ก ๆ ในสมัยนี้มีโอกาสมากกว่าเด็กวัยเดียวกันในเมื่อก่อน เช่น มีโอกาสได้เรียนหนังสือ มีโอกาสได้ไปทัศนศึกษา มีโอกาส

    ได้เรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ มากมายหลายทาง การเดินทางหรือการติดต่อสื่อสารกันสะดวกสบายมากกว่าหลายร้อยเท่า โอกาสเหล่านี้

    มีผลดีต่อเยาวชนที่มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากแต่ในโอกาสก็มีอันตรายแอบแฝงอยู่ถ้าเยาวชนใช้ไม่ถูกต้องตามโอกาสและเวลาที่ควรได้รับ ทำให้ขาดความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ความมีจิตสาธารณะสูญหายไปจากสังคมเป็นอย่างมาก การห่วงใย ความรักและความรู้สึกที่มีต่อบุพการีค่อนข้างน้อย สรุปแล้วคือในความทันสมัยก็ยังอยากให้เยาวชนรักและรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้บ้างนั่นแหละ

    สวัสดีจ้าเจ้าคุณครูน้อง

    • ต้องขอขยายความให้ท่านอื่นๆที่อาจจะนึกภาพหนองบัวในอดีตเมื่อสัก ๑๐-๒๐ ปีที่ผ่านมาและก่อนหน้านั้นไม่ออก
    • เมื่อก่อนนี้ เด็กๆที่หนองบัว ยากที่จะมีโอกาสอย่างที่เด็กๆและคนในเมือง - ในตัวจังหวัดได้รับ เช่น การได้ไปทัศนศึกษาและการทำกิจกรรมนอกหลักสูตรนั้น อย่างมากที่สุดก็ได้ไปนอนในป่าข้างโรงเรียนในกิจกรรมค่ายลูกเสือและเนตรนารี หรือนานทีปีหนก็อาจจะสามารถไปแข่งกีฬาในตัวจังหวัด ซึ่งถ้าหากปีไหนได้ไปกันละก็ เด็กๆก็แทบจะนอนไม่หลับ กินข้าวกินปลาไม่ได้กันเลยทีเดียว
    • แต่เดี๋ยวนี้เด็กๆมีโอกาสดีขึ้นมาก รวมทั้งเวทีคนหนองบัวนี้ ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ชุมชนชนบทอย่างหนองบัวจะได้ช่วยกันทำให้กับชาวบ้านและลูกหลาน ซึ่งนอกจากต้องให้ดีกว่าเมื่อก่อนในยุคของคนรุ่นเราๆ อีกทั้งเชื่อว่าจะเป็นตัวอย่างได้ให้กับชุมชนในท้องถิ่นต่างๆของประเทศอีกด้วย

    โอกาสมีเมื่อมีคนหยิบยื่น

    • ทำให้นึกถึงบันทึกนี้เมื่อปี ๒๕๔๙ ของตัวเองที่ได้ไปชมภาพยนต์สั้นของคุณนกและคุณป๊อบที่สถาบันวิจัยภาษาฯ มหิดล และได้แลกเปลี่ยนกับเธอเล็กน้อย ..

                                           

    • "เด็กโต๋ อย่าเพิ่งรีบโต มาโต๋กันก่อน" เด็กโต๋ของคุณนก คุณป๊อบ จะต้องเรียนหนังสือ (จบมัธยม ๓) และทำงาน (ปลูกกระเทียม) เพื่อให้ได้มาซึ่งทะเลแรกของเด็กๆ เหล่านี้ ..
    • "หนูจะอยู่ที่นี่ทั้งคืน ตะวันขึ้นเมื่อไหร่ หนูจะขึ้นตอนนั้น"  เป็นคำพูดของสาวน้อยที่ชื่ออำไพ เมื่อได้เห็นและได้เหยียบเม็ดทรายและน้ำทะเลเป็นครั้งแรก ..
    • ผ่านมา ๔ ปีแล้วไม่ทราบว่าเหล่าเด็กโต๋จะโตกันขนาดไหนแล้ว .. ไม่ทราบว่าทุกวันนี้ถ้าเด็กๆ เรียนจบมัธยมปีที่ ๓ แล้วทางโรงเรียนยังพาไปเที่ยวทะเลกันอยู่รึเปล่า .. ไม่ทราบว่าชุมชน/โรงเรียนนี้มีผู้คนขึ้นไปเยี่ยมกันคึกคักรึเปล่านะค่ะ ???!!?? คำถามในใจเยอะแยะไปหมดค่ะ ..
    • ขอเป็นกำลังใจให้เด็กๆ ที่หนองบัวด้วยนะค่ะ อ้อ! ผู้ใหญ่ใจดีที่กำลังริเริ่มเวทีหนองบัวด้วยค่ะ ..

    ผมเองนี่ ได้ไปเห็นทะเลครั้งแรกก็หลังจากจบ มศ.๓ ไป ๒-๓ ปีแล้วนะครับ เรียกว่าจนเกือบอายุ ๒๐ ปีแน่ะครับ ตอนไปถึงทะเลที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้นก็นั่งรถไฟไปและมืดค่ำพอดี แลเห็นทะเลสีครามกว้างใหญ่อยู่ลิบๆ แต่ก็ต้องเข้าที่พักเพื่อรอไปดูจริงๆในตอนเช้า ผลก็คือไม่เป็นอันหลับเลยละสิครับ ตอนเช้าก็ไปดูตั้งแต่ยังไม่สว่าง สิ่งแรกที่ทำเมื่อเจอทะเลเลยก็คือขอวิ่งลงไปวักขึ้นมาชิมว่ามันเค็มอย่างที่หนังสือเรียนและคุณครูเคยบอกหรือเปล่า ซัดไปเต็มอึกแล้วก็ต้องพ่นทิ้งอย่างทันทีทันควัน 

    ตอนนั้นอยากจะหาขวดใส่น้ำทะเลกลับไปอวดญาติๆที่บ้านหนองบัว นครสวรรค์เลยทีเดียวละครับ ยุคนั้นคนในหมู่บ้านแม้แก่เฒ่าแล้วหลายรุ่น ก็ไม่เคยได้เห็นทะเลหรอกครับ เคยเห็นอย่างมากก็แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ก็ว่ามันกว้างจนตาเหลือกแล้ว ผมอยากเอาน้ำทะเลกลับไปให้ญาติๆได้ชิมดูจริงๆว่า ไอ้ที่เคยได้ยินว่ามันเค็มอย่างกับเกลือน่ะ มันยิ่งกว่านั้นเสียอีก เค็มจนขม เค็มจนสุดจะเปรียบ กลับไปบ้านนี่โม้แหลกเลยละครับ

    สวัสดีค่ะ อาจารย์

    • ไม่แน่ใจว่าเวทีคนหนองบัวแห่งนี้ได้มีการกล่าวถึง เครือข่ายนครสวรรค์ฟอรั่ม บ้างรึเปล่านะค่ะ ตัวเองอาจติดตามไม่ทั่วถึง เผอิญว่าไปอ่านรายงาน KM ประจำปี ๒๕๔๘ ของ สคส. แล้วเห็นความเคลื่อนไหวของเครือข่ายนี้ค่ะ เป็นกลุ่มคนทำงานที่รวมตัวกันเพื่อความเข้มแข็งของท้องถิ่นและประชาสังคม ..
    • ที่สำคัญคือ ในช่วงนั้นมีเครือข่ายเชิงพื้นที่ที่เพิ่งก่อตัวขึ้นมาก็คือ เครือข่ายอำเภอหนองบัว ค่ะ อีกทั้งยังมี เครือข่ายโรงเรียนชาวนา ภายใต้ โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อแก้ปัญหาความยากจน จังหวัดนครสวรรค์ ที่มีท่านอาจารย์ ของอาจารย์ คือ รศ.ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย ร่วมกระบวนการพัฒนาศักยภาพผู้นำเพื่อความเข้มแข็งของท้องถิ่น ด้วยค่ะ ..
    • ประเด็นคือ เครือข่ายหนองบัว อาจารย์อาจดึงเข้ามามีส่วนร่วมหรือผลักดันให้เกิดเวทีสาธารณะ(หนองบัว)ครั้งนี้ด้วยก็ได้นะค่ะ .. หรือจะผิดวัตถุประสงค์ของ เวทีมหิดล-คนหนองบัว ไหมคะ?
    • เอ๊ะ .. หรือ เครือข่ายหนองบัว จะเป็นส่วนเดียวกันกับ มูลนิธิหนองบัว ที่อาจารย์เอ่ยถึงรึเปล่าคะ? ซักซ้อมความเข้าใจก่อน ^^"
    • หากดูกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องแล้วละก็ เครือข่ายเหล่านี้ก็เชื่อมโยงถึงกันครับ เครือข่ายอำเภอหนองบัว กับเครือข่ายโรงเรียนชาวนา ก็เป็นเครือข่ายของประชาสังคมนครสวรรค์ และบางประเด็น ก็เป็นประเด็นขับเคลื่อนบนเวทีนครสวรรค์ฟอรั่มอยู่ด้วยเหมือนกันครับ ผมไม่เคยได้เข้าไปร่วมโดยตรงเลยทีเดียว แต่เคยเป็นทีมวิชาการให้กับเครือข่ายประชาสังคมท้องถิ่นทั่วประเทศอยู่บ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นทีมจากนครสวรรค์ฟอรั่มน่ะครับ
    • เครือข่ายหนองบัวและคนหนองบัวที่เป็นเครือข่ายของนครสวรรค์ฟอรั่ม รวมทั้งเครือข่ายโรงเรียนชาวนานั้น ก็เป็นเครือข่ายที่มำงานด้วยกัน หลายท่านผมก็รู้จักและเข้าถึงกันได้หลายฐานะครับ เข้าใจว่า โดยการทำงานกันแล้วเขาก็ทำงานกันมาตลอดอย่างที่อาจารย์ณัฐพัชร์เห็นนั่นแหละครับ
    • ในส่วนของเวทีมหิดล-คนหนองบัวนี่ จะว่าไปแล้วก็เป็นเวทีเฉพาะของคนหนองบัวกับเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันได้ผ่านเว็บบล๊อกน่ะครับ หากจะเชื่อมโยงกันและสนับสนุนกันได้กับเครือข่ายนครสวรรค์ฟอรั่ม ก็คงจะผ่านการสนับสนุนเชิงวิชาการและผ่านการเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารในเวทีไซเบอร์นี้ให้กับคนทำงานเชื่อมโยงกับเครือข่ายโรงเรียนชาวนาและเครือข่ายประชาสังคมนครสวรรค์ ของคนหนองบัว
    • ขณะเดียวกันก็ทำให้มีเวทีเฉพาะของประเด็นส่วนรวมที่นำเสนอขึ้นจากเวทีของคนท้องถิ่น สำหรับทำงานความรู้สะสมกันไปในระยะยาวด้วยน่ะครับ จะว่าไปแล้ว ผมก็อาจจะเป็นตัวเชื่อมการสนับสนุนทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดลให้กับเครือข่ายในพื้นที่ได้บ้าง แต่ต้องผ่านการเรียนรู้กันไปก่อนสักระยะหนึ่งครับ ไม่อย่างนั้น คนในพื้นที่ โดยเฉพาะที่อยู่ในท้องถิ่นรอบนอกของนครสวรรค์อย่างหนองบัวก็จะมีข้อจำกัด ตามคนในจังหวัดและคนที่มีประสบการณ์ในระดับประเทศต่างๆมากแล้วไม่ทัน อีกทั้งประเด็นท้องถิ่นหลายอย่างของหนองบัว บางทีก็อาจจะต่างไปจากของชุมชนอื่นเขา หากเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกันได้ไม่ดีพอก็อาจจะหลุดออกไปจากความสนใจได้
    • เวทีคนหนองบัวในนี้จึงจะสามารถทำหน้าที่เข้าไปเสริมได้เป็นอย่างดีทั้งโดยตรงและโดยอ้อมน่ะครับ โดยตรงก็คือ เครือข่ายคนหนองบัวหลายคนก็เป็นเครือข่ายของประชาสังคมนครสวรรค์ โดยอ้อมก็คือ ผมเองนั้นเป็นคนหนองบัวและคนนครสวรรค์ก็จริง แต่ก็ไม่ควรมีบทบาทไปรู้ดีกว่าคนท้องถิ่นมาก ต้องผ่านทางการสนับสนุนความรู้และวิธีทางวิชาการ ซึ่งเวทีอย่างนี้ก็พอทำได้ครับ เหมือนกับเป็นเวทีสร้างความรู้ สร้างคน พัฒนาเครือข่าย สร้างประเด็น เคลื่อนไหวการรับรู้และเคลื่อนไหวข้อมูลข่าวสารให้อีกทางหนึ่งน่ะครับ
    • แต่เวทีคนหนองบัว ก็จะมีเครือข่ายนครสวรรค์ฟอรั่มไปร่วมด้วยครับ ผมได้บอกกล่าวและทาบทามเป็นตัวบุคคลบ้างแล้วครับ จะเป็นกิจกรรมวิชาการทางเลือกและเวทีที่ช่วยเชื่อมต่อผู้คนและพัฒนาเครือข่ายคนในพื้ที่ให้ด้วยน่ะครับ

    หายป่วยคราวนี้พี่ครูต้อยมีความสุขที่ได้อ่านบันทึกนี้อีกครั้งค่ะ  เพราะทำให้เกิดจิตนาการเรื่องราวของคนหนองบัวไม่ว่าจะเป็นใบหน้าที่ยิ้มแย้ม เสียงหัวเราะ หยอกล้ออย่างมีความสุของผู้คนในชุมชน ภาพเด็กเล็กพากันวิ่งเล่นกันตามประสา บ้างขุดดินป็นหลุมขนมครก แล้วช่วยกันหยอดทรายน้ำลงไปในหลุม ทรายน้ำค่อยๆไหลจากช้อนลงหลุมครก และค่อยๆแห้งจับตัวกันเป็นรูปทรงกลม หยิบช้อนในครัวของแม่มาตักขึ้นวางเรียงบนใบตอง  อยากเห็นเด็กๆออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการละเล่นพื้นบ้าน การทำของเล่นของเด็กๆ  ฟังเสียงเด็กน้อยร้องเพลง บอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา ไปนั่งฟังพ่อเฒ่า แม่เฒ่าเล่านิทานพื้นบ้าน เล่าเรื่องราวของหนองบัวแต่หนหลัง ฯลฯ เป็นสิ่งที่อยากเห็น อยากไปนั่งฟังและคิดว่านี่คือเพลงบอกเพลงเล่าที่มีชีวิตค่ะ

    สวัสดีครับคุณครูต้อยติ่งครับ

    • แนวคิดจัดกิจกรรมให้เป็นประสบการณ์และความทรงจำแก่เด็กๆอย่างคุณครูต้อยติ่งรำลึกถึงสิ่งที่พวกเราเมื่อตอนเด็กๆได้รับจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ก็ดีนะครับ
    • บางเรื่องเราต้องทำด้วยหน้าที่ของคนรุ่นที่มาก่อน ทำให้แก่ลูกหลานและคนรุ่นที่มาทีหลัง คงไม่ต้องมาเล็งผลเลิศว่าทำแล้วจะต้องได้อะไรอย่างเดียว เพราะหลายๆเรื่อง หากเรามองย้อนดูตัวเราเองที่ได้รับมาเป็นตัวเป็นตนนั้น สิ่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่และคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ทำให้เรานั้น บางทีผ่านไปตั้ง ๒๐-๓๐ ปี ถึงจะรู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าปลูกสำนึกและให้จิตวิญญาณทางสังคมนั้น ต้องทำให้กันแก่ผู้คนและคนรุ่นลูกหลานอย่างไม่ต้องหวังผลเลยทีเดียว  
    • น่าทำนะครับ เป็นการทำกิจกรรมสนุกๆ ให้ประสบการณ์ที่งดงามเพื่อการเติบโตในชีวิตเด็กๆ และทำความทรงจำดีๆสะสมไว้เป็นกำลังความคิดสำหรับผู้ใหญ่

    อาจารย์ครับ ผมสามารถช่วยอาจารย์และกิจกรรมนี้ได้ เรื่องใดบ้างครับ

    เป็นสื่อมวลชนด้วยและเป็นมือวิชาการที่กำลังสดอย่างคุณบีเวอร์นี่
    น่ามีเวทีย่อยเฉพาะประเด็นให้ได้เสวนากับคนท้องถิ่นก็คงจะดีมากเลยนะครับ
    จะขอรวบรวมสปิริตนี้ไว้บอกกล่าวแก่พรรคพวกในพื้นที่ครับ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท