APHN Diploma of Palliative Care ๒๑: รอยต่อระหว่าง curative กับ palliative


คนท่ีทำงานเกี่ยวกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย มักจะคุ้นเคยกับแผนภูมิที่แสดงว่า การรักษาเพื่อหวังผลหายขาด (curative) กับ การดูแลตามอาการ (palliative) เป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆผสมกลมกลืนกันอย่างเหมาะสม จากจุดเริ่มต้นเมื่อสงสัยหรือวินิจฉัยโรคได้ ที่เน้นการรักษาหวังผลหายขาดมาก แต่มีส่วนของการดูแลตามอาการบ้าง แล้วการดูแลตามอาการก็จะมากขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ ตามการดำเนินโรค โดยไม่มีรอยต่อ จนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิต

ทฤษฎีดังกล่าวพูดง่าย แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ง่ายนัก ลองวาดภาพวันที่ผู้ป่วยคนหนึ่งเพิ่งทราบว่าตนเองเป็นมะเร็งเต้านม แล้วศัลยแพทย์ที่จะทำผ่าตัดให้ กล่าวขึ้นตอนจบว่า หมออยากจะแนะนำคุณหมออีกคนในทีม ซึ่งเป็นหมอที่เชี่ยวชาญการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ลองคิดดูสิครับ ผู้ป่วยคนนั้นจะรู้สึกอย่างไร

ตัวอย่างข้างบนของผม ดูจะ over ไปสักหน่อย เพราะคงไม่มีใครทำแบบนั้น แต่มันบ่งบอกความจริงบางอย่างว่า วันที่การรักษาจะเน้นเรื่องการดูแลตามอาการเป็นหลัก หรือจะต้องแนะนำหมออีกกลุ่มหนึ่งที่ชำนาญเรื่องการดูแลตามอาการ เรียกแบบนี้ดูดีกว่าการแนะนำในตัวอย่างข้างต้นนะครับ ไม่ใช่เรื่องง่าย  จุดเปลี่ยนผ่านตรงนี้จะยากขึ้น ถ้าการดูแลตามอาการที่ว่าต้องอาศัยหมออีกกลุ่มหนึ่ง แต่จะง่ายถ้าศัลยแพทย์คนเดียวกันนั้นรู้และมีใจเกียวกับการดูแลตามอาการไปด้วย คือทำทั้งสองอย่างไปพร้อมๆกัน

แต่สักวันหนึ่งก็ต้องมาถึงจุดที่ต้องคุยกับผู้ป่วยอยู่ดีว่า ตอนนี้คงต้องให้น้ำหนักเรื่องการดูแลตามอาการเป็นหลัก ปัญหาคือ เมื่อไร จังหวะไหนดีท่ีสุด   

เราเรียนเรื่องนี้ด้วยการสนทนากลุ่ม นำโดยศาสตราจารย์ David Currow ซึ่งเริ่มต้นถามทุกคนในห้องเรียนว่า รู้มั๊ย ช่วงไหนที่ผู้ป่วยมะเร็งรู้สึกแย่ที่สุด ซึ่งคำเฉลยโดยหลักฐานเชิงประจักษ์คือ เมื่อโรคเป็นกลับซ้ำ และคำถามต่อมาคือ แล้วรู้มั๊ย ช่วงไหนที่บรรดาญาติพี่น้องของผู้ป่วยมะเร็งรู้สึกแย่ที่สุด ซึ่งคำเฉลยโดยหลักฐานเชิงประจักษ์คือ ช่วงที่ผู้ป่วยกำลังจะเสียชีวิต หรือตอนที่รู้ว่ากำลังจะเปลี่ยนเป็นการดูแลตามอาการเป็นหลัก ตามเรื่องที่ผมกล่าวถึงข้างบน

หลายคนอ่านถึงตรงนี้แล้วคงคิดแย้งในใจ แต่ไม่เป็นไรนะครับ มันเป็นความรู้สึกเดียวกันของนักเรียนโข่งทั้งหลายในห้องซึ่งชีวิตผ่านผู้ป่วยกลุ่มนี้มาอย่างโชกโชนทั้งนั้น และคำเฉลยจริงๆมันขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน เดายาก

คำถามที่เป็นวัตถุประสงค์หลักของชั่วโมงนี้ คือ เมื่อไรดี ที่เราควรพูดถึงหลักการของ palliative care ซึ่งมันไม่ได้แปลตรงตัวว่า การดูแลตามอาการเท่านั้น    

คำตอบหลากหลายมากครับ เพราะมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมายหลายอย่างที่ต้องคิดถึง แต่สิ่งที่เห็นตรงกัน คือ มีโอกาสเมื่อไรได้เร็วที่สุดก็ดี และที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยมะเร็งที่ผมคุ้นเคยเป็นกลุ่มที่มีการดำเนินโรคคาดเดาได้ง่ายที่สุด เพราะโดยสภาพจะค่อยๆแย่ลงตามลำดับ จึงน่าจะหาจังหวะพูดถึงเรื่องนี้ง่ายกว่าผู้ป่วยโรคอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือระบบหายใจล้มเหลว ที่การดำเนินโรคคาดเดายากกว่ามากๆ เพราะบางครั้งสภาพแย่สุดๆ หมอก็ยังรักษาให้กลับมาดีขึ้นได้อีกก็มี    

ผมเองในสภาพที่มีผู้ป่วยมาก ที่ผ่านมาจึงไม่ได้เอ่ยปากถึงเรื่องนี้ก่อน เพราะรู้ว่า ถ้าแตะเรื่องนี้ นั่นคือต้องมีเวลาพูดต่อ หยุดกลางคันไม่ได้ ผมจึงอาศัยว่า ผู้ป่วยมีวรรคทองหรือคำพูดบางคำที่เหมือนเป็นสัญญาณว่า เราน่าจะพูดถึงได้แล้ว เช่น พูดถึงเรื่องความตาย หรือถามผมว่า ถ้ารักษาแล้วไม่หายล่ะหมอ จะทำไงดี เมื่อไรที่ผู้ป่วยพูดทำนองนี้ ผมจะถือเป็นโอกาสทองพูดถึงการดูแลตามแนว palliative care ทันที  ซึ่งต้องยอมรับครับว่า บางครั้งมันก็ช้าไป หรือผู้ป่วยหลายคนก็ไม่เคยหลุดประโยคแบบนี้ออกมาสักที   

ลองสมมุติตัวเองเป็นผู้ป่วยกันหน่อยดีมั๊ยครับว่า ถ้าเราไม่สบาย แล้วไม่มีโอกาสหาย เราอยากให้หมอคุยกับเราเรื่องการดูแลตามอาการ แบบ palliative care ตอนไหน

๖ ตุลาคม ๒๕๕๐

<<   APHN Diploma of Palliative Care ๒๐: มนตราแห่ง palliative care

APHN Diploma of Palliative Care ๒๒: รู้มั๊ย เวลามาหาหมอ ผู้ป่วยมีโอกาสพูดตอนเริ่มต้นนานเท่าไร   >>

หมายเลขบันทึก: 140245เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2007 08:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ตอบไม่ได้จริงๆครับ ว่าจะให้หมอถามเราตอนไหน เพราะเราเองรู้มาก (รึเปล่า)

แต่ถ้าเป็นคนอื่น ผมว่าเขาอาจจะถามเมื่อเขายอมรับแล้วว่าเขาเป็นมะเร็ง หรือเป็นโรคที่รักษาไม่หาย

แล้วเมื่อไหร่เขายอมรับ

อาจจะช่วงสุดท้ายตามขั้นตอนการยอมรับทางจิต ตั้งแต่ ตกใจ โกรธ โทษหมอ และยอมรับ นั่นแหละครับ (ฮ่า ฮ่า)

ใครจะถึงขั้นตอนนี้ก่อนกัน อันนั้ก็สุดแต่ต้นทุนทางอารมณ์นะครับ

สวัสดีค่ะ อ.หมอเต็มศักดิ์

บังเอิญว่าช่วงนี้ดิฉันดูช่อง Animal Planet บ่อยค่ะ เห็นคุณหมอในต่างประเทศเขาจะให้ Volunteers ที่มีสัตว์เลี้ยง เช่น หมา หรือ แมว เป็นต้น นำสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการฝึกฝนแล้ว เข้ามาช่วยเหลือทางด้านจิตใจให้กับผู้ป่วย Palliative Care

ผลการศึกษาหลายครั้งเขาพบว่า ผู้ป่วยเมื่อมีสัตว์เลี้ยงมาคอยอยู่เป็นเพื่อนทำให้ความดันโลหิตลดลง ผ่อนคลายมากขึ้นค่ะ

ดิฉันเข้าใจว่า เมืองไทยเราคงยากนะค่ะ เพราะวัฒนธรรมการยอมรับในเรื่องสัตว์เลี้ยงนั้นแตกต่างกันกับต่างประเทศนะค่ะ

P

  • อาจารย์แป๊ะครับ ปัจจุบันเรามีการศึกษาชัดเจนแล้วว่า 5 stages ที่ว่า ไม่เป็นตามลำดับพรรค์นั้นแล้วนะ เพราะจริงๆมันปนไปปนมา อันสุดท้ายจึึงไม่ใช่ ยอมรับ เสมอไปครับ

P

  • สวัสดีครับ อาจารย์จัน
  • จริงครับ สัตว์เลี้ยงมีส่วนสำคัญไม่เฉพาะคนไขข้ แต่คนธรรมดาด้วย
  • ผมเขียนบันทึกถึงเจ้าเหมียวมหัศจรรย์ไว้ในบันทึกนี้ และมีความเห็นดีๆจากหลายท่านด้วยครับ
  • ช่วงนี้ผมกำลังรอเหตุการณ์สำคัญของคน ๒ คน หนึ่งคือ อาจารย์จัน อีกคนคือ คุณหมอรุ่นน้องที่หน่วยรังสีรักษา
  • เมื่อวานน้องหมอเขาคลอดแล้วครับโดยการผ่าตัด  เป็นเด็กผู้ชายน่ารักน่าชัง
  • ยังไงฝากอาจารย์ธวัชชัยลงประกาศใน G2K ด้วยนะครับ

ถ้าผมป่วยด้วยโรคที่ร้ายแรงและมีโอกาสที่จะไม่หายได้มาก ผมเองก็อยากจะทราบเนิ่นๆ ถึงรายละเอียดที่จำเป็น

1.ส่วนจะ palliative เมื่อไหร่?

 จริงๆแล้วเริ่มได้ทันที เพราะ เนื้อแท้ของ palliative คือช่วยให้ผมและครอบครัวผมทุกข์น้อยที่สุดและอยู่กับชีวิตในแต่ละวันได้ดีที่สุด

2.เริ่มโดยใคร?

เริ่มที่แพทย์เจ้าของไข้ที่รักษาผมและผมไว้ใจบอกกับผมด้วยตนเอง

3.เริ่มอย่างไร?

ผมอยากได้ความรู้สึกของการที่มีคนห่วงใยเอาใจใส่ผม อยากได้ทำในสิ่งที่ผมอยากทำ อยากพูดในสิ่งที่ผมอยากพูด "นั้นคืออยากให้เขาสนใจว่าผมคิดอะไร รู้สึกอย่างไรบ้างและเข้าผมอย่างที่ผมเป็น"

รักษาจน curative กับ palliative care เป็นเนื้อเดียวกัน ผลสุดท้ายก็เป็นตามเหตุปัจจัย ผมน่าจะตายตาหลับนะครับ

  • มาอวยพรปีใหม่ก่อนครับ
  • ขอให้คุณหมอมีความสุขกับการทำงานนะครับ

สวัสดีปีใหม่ครับ อาจารย์ขจิต

ผมเพิ่งได้กลับเข้ามา G2K วันนี้เอง ก็มาเจอข้อความของอาจารย์เลย

หลายเดือนที่ผ่านมา งาน(หัว)ยุ่งมากครับ  ทั้งที่ทำงานและที่บ้าน จนไม่ได้เข้า G2K เลย แล้วจะเล่าให้ฟังครับ

มกรานี้คงว่างขึ้นบ้าง

เอ.​ตอนนี้ อาจารย์อยู่เมืองไทยหรือเมืองนอกครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท