APHN Diploma of Palliative Care ๒๒: รู้มั๊ย เวลามาหาหมอ ผู้ป่วยมีโอกาสพูดตอนเริ่มต้นนานเท่าไร


   ในชั่วโมง assessment practice ซึ่งเป็นการนำเสนอตัวอย่างคนไข้แล้วให้นักเรียนแต่ละคนช่วยออกความเห็นว่าจะทำอย่างไรดีในสถานการณ์อย่างนั้น มี คุณหมอ Rosalie Shaw หมอชาวออสเตรเลียแต่มาทำงานที่สิงคโปร์เกือบยี่สิบปีแล้ว ปัจจุบันเป็นเลขาธิการของ Asia Pacific Hospice Palliative Care Network เป็นคนดำเนินรายการ
    ผู้ป่วยที่ Rosalie นำมาให้เราวิเคราะห์เป็นผู้หญิงอายุ ๔๓ ปี เพิ่งผ่าตัดมะเร็งเต้านมไปแต่ไม่ยอมรับเคมีบำบัด เพราะไม่อยากหยุดงาน ต่อมาผู้ป่วยกลับมาใหม่ด้วยอาการไอ คำถามที่ Rosalie โยนให้พวกเราคิดคือ จะประเมินอย่างไรต่อไป
   นักเรียนทุกคนซึ่งประสบการณ์โชกโชน ต่างช่วยกันตั้งคำถามเธอกันใหญ่ว่า เป็นเมื่อไร หนักมั๊ย ใช้ยาอะไรอยู่รึเปล่า มีอการอื่นร่วมด้วยมั๊ย .... เรียกได้ว่าระดมยิงคำถามกันจนตอบแทบไม่ทัน แล้วเราทุกคนก็หยุดกึกกับคำพูดของ Rosalie ที่ว่า คิดหรือเปล่าว่า ผู้ป่วยจะรู้สึกอย่างไร กับคำถามนำแบบนี้
    คำตอบของเธอทำเราอึ้งเลย ผู้ป่วยจะต้องพะวงกับการตอบคำถามนำของเรา จนลืมเรื่องสำคัญของตนเอง แล้วเธอก็ยกตัวเลขเด็ดจากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาว่า

   รู้มั๊ย เวลามาหาหมอ ผู้ป่วยมีโอกาสพูดตอนเริ่มต้นนานเท่าไร   

   คำตอบ ค่าเฉลี่ย ๒๒ วินาที เท่านั้น หลังจากนั้นผู้ป่วยจะถูกบรรดาคุณหมอแย่งพูดหมด ไม่มีโอกาสได้เล่าอะไรที่ทุกข์ใจจริงๆเลย มัวแต่พยายามนึกควานหาคำตอบสำหรับคำถามนำสารพัดที่ถล่มเข้าใส่ ที่หมอเราเรียกว่า การซักประวัติทางการแพทย์
    

   คำถามที่ Rosalie แนะนำ ๒ คำถามที่ควรใช้จริงๆ เวลาสอบถามเรื่องอาการสำคัญ คือ
    ๑. ไหน ลองบอกหมอหน่อยสิว่า ไอ้อาการ... นี้ มันเป็นอย่างไร
    ๒. มีอะไรอีกมั๊ยที่อยากบอกหมออีก
    จบ แค่ ๒ คำถาม

    เอาละสิครับ เธอเสนอให้เราเลิกซักประวัติ อาการสำคัญ แบบตั้งคำถามนำ ที่เราถูกสั่งสอนมาตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ และเสนอให้เราเก็บคำถามนำพวกนี้เอาไว้ตอนท้ายๆ ที่อยากจะสอบถามผู้ป่วยเพื่อความครบถ้วนทุกระบบ เท่านั้น

๖ ตุลาคม ๒๕๕๐

<<   APHN Diploma of Palliative Care ๒๑: รอยต่อระหว่าง curative กับ palliative

APHN Diploma of Palliative Care ๒๓: The silver line  >>

หมายเลขบันทึก: 157281เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2008 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2012 15:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (30)

สวัสดีปีใหม่ค่ะอาจารย์

และอยากเข้ามาบอกว่า

จริงอย่างที่อาจารย์บอกค่ะว่าคนไข้ ไม่ค่อยได้มีโอกาสบอกเล่าอะไรมากนัก ส่วนใหญ่คุณหมอจะซักหมด

แต่ส่วนตัวเอง ไปหาหมอทีไร แย่งกันพูดกับคุณหมอค่ะ เพราะช่างถาม รีบชิงถามก่อนอยู่เรื่อยค่ะ

สวัสดีปีใหม่ค่ะอาจารย์

ดิฉันจะบอกคนไข้ว่า ถ้าหมอมา ให้รีบถามหมอก่อน  ก่อนที่หมอจะคุยกันเอง

ถ้ากลัวว่าจะพูดไม่ทัน เขียนคำถามใส่กระดาษไว้  พอหมอมา  ให้ยื่นให้หมอก่อนที่หมอจะคุยกันเอง

เพราะถ้าให้หมอคุยกันเองเสร็จ บางทีหมอเดินกลับไปเลย โดยลืมถามคนไข้ค่ะ

สวัสดีปีใหม่ 2551 คะ อาจารย์หมอเต็มศักดิ์

อ่านบันทึกนี้แล้วนึกถึงตอนที่ตัวเองป่วย มันมีความถามมากมายด้วยความสงสัยคะ ก่อนเข้าตรวจนั่งคิดในใจและต้องถามคุณหมอให้ได้ ส่วนมากคุณหมอจะพูดน้อย แต่หนูพูดเยอะกว่าทุกครั้งคะ

เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อเรานึกถึงสิ่งที่อยากรู้ (ส่วนใหญ่จะเป็นอาการทางกาย ) แต่ผู้ป่วยทุกข์ขนาดไหนในช่วงที่หายไป เขาอยู่อย่างไรหลังผ่าตัด แล้วเขาอยากให้เราช่วยอะไรนั้น เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยได้คิดกันเท่าไร

บางครั้งวิธีการดูแลที่ดีและสมดุลที่สุดคือ ดูแลต่อเนื่อง ถึงแม้เวลาแต่ละครั้งจะมีจำกัด แต่ความรู้จักที่มีต่อกันจะเพิ่มพูน ลดปัญหาการสื่อสารไปได้มาก

การสื่อสารที่สุมดุล ต้องมีทั้ง ให้และรับสาร เราถูกฝึกให้ซักมากกว่าถูกฝึกให้ (ทน) ฟัง นี่เป้นการหลงทางอย่างใหญ่หลวงในระบบการแพทย์

P พี่ศศินันท์ ครับ

  • สวัสดีปีใหม่ครับ
  • หายากนะครับที่คนไข้จะแย่งพูดกับหมอทัน
  • ผมเองก็เริ่มสังเกตตัวเองเหมือนกันว่า ผูกขาดการพูด ถาม เป็นส่วนใหญ่ ที่แย่คือ บางครั้งคนไข้กำลังเล่าเรื่องหนึ่ง ผมก็จะตัดบทกลับมายังคำถามเดิมที่ผมถามอยู่ แถมเหน็บคนไข้อีกว่า อย่าออกนอกประเด็น  ฮา
  • ไม่ได้แก้ตัวให้ตัวเองและหมอทุกท่านนะครับ ผมว่าเรื่องเวลาที่จำกัด มีส่วนมากที่ทำให้พฤติกรรมของเราเป็นช่นนั้น
  • แต่ในที่สุด ประเด็นมันอยู่ที่ว่า เรื่องที่คนไข้สนใจและให้ความสำคัญ กับ เรื่องที่หมอสนใจอยากซํกถาม เรื่องไหนสำคัญกว่ากัน

P สวัสดีครับ พี่อุบล

  • ทีเด็ด เขียนคำถามใส่กระดาษ นี่เยี่ยมจริงๆครับ
  • ผมก็ใช้บ่อย  โดยผมจะบอกคนไข้ให้จดปัญหา อาการ คำถามที่อยากถามหมอไว้ในกระดาษ พอมาถึงห้องตรวจประจำสัปดาห์ ก็ยื่นให้หมอเลย
  • จะดีมากทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะบรรดาคนไข้ที่พอเจอหน้าหมอ แล้วกลายเป็นอ้ำอึ้ง ตะลึง ตึง ๆๆๆ ทำนองนั้น และกลุ่มคนไข้มะเร็งที่เจาะคอพูดไม่ได้ครับ และเป็นการใช้เวลาที่มีอยู่น้อยนิกให้เกิดประโยชน์สู.สุดครับ

P

  • เชื่อแล้วครับว่า น้องมะปรางแย่งหมอพูดทัน ๕๕๕ 

P น้องโรจน์ครับ

  • คงไม่ถึงกับ หลงทาง นะครับ  มันขึ้นอยู่กับกรณี
  • เดี๋ยวนี้คำถามแรกของผมที่พบคนไข้ในห้องตรวจอัตรา ๕ นาทีต่อคน คือ เป็นไงบ้างครับ วันนี้ 
  • ถ้าคนไข้มีเรื่องจะพูด หรือคิดออก ก็จะพูดออกมาได้ แต่ถ้าไม่มี ผมก็ต้องใช้คำถามนำเป็นชุดเหมือนกันครับ
  • วิธีที่ให้เขียนไว้ในกระดาษก็ดีมากครับ สำหรับคนที่เขียนได้

สวัสดีครับอาจารย์

สื่อสารสองทางนี้น่าสนใจครับ ตอนผมเรียนอาจารย์ชอบสอนว่าซักให้ครบ(เหมือนกับซักผ้าให้สะอาด) ไม่ตกหล่น แต่ไม่ค่อยมีอาจารย์คนไหน(ในเวลานั้น) สอนผมว่า ตั้งใจฟังคนไข้ว่าทุกข์อย่างไร ผมเองก้หลงทางเป็นพักๆถึงแม้ในปัจจุบัน บางครั้งขาดสติก็ตัดบท (เวลาคนไข้มากๆ) บางรคั้งสติดีก็ตั้งใจฟัง

การสื่อสารต้องฝึกฝนมากจริงๆนะครับ

สวัสดีคะ อาจารย์

ขอบพระคุณที่ให้พอลล่าได้เรียนรู้ค่ะ

P

  • ครับ จนถึงทุกวันนี้ ผมก็ยังเห็นข้อควรปรับปรุงของตนเองอยู่เรื่อย

สวัสดีค่ะ

  • เคยไปหาหมอ ก็บ่อย ๆ มีทั้งหมอใจดี หมอธรรมดา (มองไม่ออกว่าใจดีที่จะสนใจคนป่วยไหม) และสุดท้าย..พบคุณหมอผู้หญิงยังสาว ๆ
  • แม้ว่าหมอจะอายุเท่าไร..พี่คิมจะยกมือไหว้ทุกครั้ง  เพราะถือว่าไปเรียนมาสูง มีความรู้มากกว่า และเหมือนเราไปขอความช่วยเหลือ (คนอื่น ๆที่เจอกันพี่คิมไหว้ดะอยู่แล้วค่ะ)
  • คุณหมอท่านี้ไม่เคยมองหน้าและเหมือนไม่ได้ยินคำว่า "สวัสดีค่ะคุณหมอ" สนทนา สั่งยา เรียบร้อย พี่คิมลากลับยกมือไหว้ขอบคุณ ..คุณหมอก็ดูเหมือนไม่ได้ยิน 
  • เพราะคุณหมอ..ไม่เคยมองเลยว่า..หน้าตาคนไข้ที่มาหาคุณหมอนั้น..คือพี่คิมหน้าตาอย่างไร
  • พี่คิมขับรถออกมา..ทิ้งยกลงถังขยะและหันไปสนใจโรงพยาบาลอื่นดีกว่า
  • เหตุเกิดเมื่อ ๓ ปีที่แล้วค่ะ

สวัสดีครับคุณหมอเต็มศักดิ์

เกลอคิมไปพบหมอสูตรสำเร็จครับคือ

 "ให้คนไข้ แลบลิ้น ปลิ้นตา อ้าปาก สั่งยา ให้กลับบ้าน "(ให้ หรือไล่ ก็ทำนองเดียวกันครับ)

P

  • พี่คิมครับ ไม่อยากแก้ตัวเลย
  • เดี๋ยวนี้ยิ่งมีคอมพิวเตอร์มาบังคับให้หมอพิมพ์อีก สายตาของเราก็ต้องจับจ้องทั้งคีย์บอร์ดและจอมอนิเตอร์ จะเอาเวลาไหนมามองหน้าคนไข้ล่ะครับ
  • ๕๕๕

ผมก็เตือนตัวเองและเตือนน้องๆกันอยู่ครับ แต่เดี๋ยวนี้ความจำมันไม่ค่อยจะดี..ข้ออ้างอีกแล้ว.. พอคุยกับคนไข้ได้นิดนึง ก็ต้องรีบหันไปพิมพ์ลงคอมฯกันลืมก่อน หันไปหันมาจนเกิดอาการวิ่นแล้วครับ

 

 

สวัสดีค่ะ

  • ขอขอบคุณค่ะคุณหมอ
  • ตอนนั้น..คุณหมอท่านนั้นยังไม่มีคอมอยู่ที่โต๊ะค่ะ
  • แต่ไม่ทราบเดี๋ยวมีไหมนะคะ
  • พี่คิมไม่ไปโรงพยาบาลนั้นแล้วค่ะ..แต่ก็เพิ่งจะมาเล่าวันนี้นี่เอง

P

  • ได้ตรวจก็ยังดีนะครับพี่
  • มีคนเล่าให้ผมฟังว่า หมอบางคนนั่งฟังพยาบาลซักประวัติคนไข้หน้าห้อง พอคนไข้เดินเข้ามาในห้อง หมอก็ยื่นใบสั่งยาให้คนไข้เลย โดยที่ก้นคนไข้ยังไม่ทันแตะเก้าอี้
  • เด็ดกว่า โฆษณาธนาคารแห่งหนึ่ง เสียอีก
  • เราเรียกหมอแบบนี้ว่า หมอใบเซียมซี ครับ

สวัสดีค่ะ

  • มาอีกครั้งนะคะ
  • สำหรับคุณหมอท่านนั้นค่ะ...
  • ส่วนคุณหมอท่านอื่น..เดี่ยวนี้เลือกได้ค่ะว่าจะรักษากับใคร
  • แม้จะเสียเงินมากเกินไปบ้าง..แต่ก็ไม่ได้ป่วยทุกวัน  พี่คิมคิดแบบนี้ค่ะ
  • เพราะพี่คิมก็รักชีวิตนะคะ
  • ส่วนคุณหมอเติมศักดิ์..พี่คิมศรัทธาค่ะ

ท่าจะจริงคะอาจารย์

คนไข้ยังไม่ได้ถามเลยคะ

คุณหมอสั่งยาได้เลยคะ

P

  • พี่คิมครับ
  • หมอปากร้าย แต่ใจดี ก็มีเยอะนะครับ
  • ส่วนผม เต็มบาท แล้วครับ ไม่ต้องเติม

P

  • สวัสดีครับพี่ไก่
  • พาราเซ็ตยี่สิบ อะม๊อกซี่ยี่สิบ

สวัสดีค่ะ

  • ขออภัยค่ะ..คุณหมอเต็มศักดิ์
  • ยังจะว่า..ไม่แก่อีก..จิ้มผิดจิ้มถูกเลย
  • ต่อไปจะระวังค่ะ..ปิดเครื่องแล้วครับ
  • เพราะต้องตื่นแต่เช้า

P

  • ฝันดีนะครับพี่ อย่าฝันถึงหมอนะครับ

โชคดีที่ไม่ต้องไปแย่งพูดกับหมอค่ะ เพราะไปแต่โรงพยาบาลเอกชน หมออยากให้พูดเยอะๆ บอกเยอะๆ แล้วก็จะได้ส่งไปตรวจหลายๆ อย่างเพื่อความสบายใจของคนไข้ คือใส่ใจมาก หมอตรวจวินิจฉัยเรียบร้อย แต่ถ้าคนไข้ยังไม่สบายใจในสิ่งที่หมอบอก จะลองตรวจเพื่อให้เห็นผลอย่างอื่นก็จัดให้หมด แต่หมายถึงค่าใช้จ่ายตามมาเพียบ เห็นบิลแล้วหายป่วยค่ะ 555 เคยแค่แบบป่วยไร้สาเหตุ ปวดโน่นนี่ (ตอนหลังพบว่าเครียดจัด) หมอเลยเสนอว่าสแกนทั้งตัวเลยมั้ย แบบที่นอนมุดอุโมงค์ จะได้รู้ไปเลยว่าเป็นไรกันแน่ เห็นเราไม่สบายใจหนัก เหอๆๆๆ พอทราบค่าบริการแล้วบอกว่าขอยาแก้ปวดกับยาคลายกล้ามเนื้อ หรือเจลนวดพอ พรุ่งนี้ก็หายแล้วล่ะ ^ ^ หมอขำเลย บอกว่าดี หายง่ายแบบนี้ก็ดี หมอประจำเดี๋ยวนี้ก็คุยเล่นกันบ้างค่ะ สื่อที่หมอใช้ตั้งอยู่บนโต๊ะหรือแปะในห้องก็ฝีมือบริษัทเราเยอะทีเดียว เลยเหมือนคนกันเอง

P

  • ผมว่าน้องซานไปโรงพยาบาลไหน ก็แย่งหมอพูดทันอยู่แล้วแหละ ๕๕๕ เอิ๊ก
  • ไอ้สแกนทั้งตัวแบบที่ว่า มีชื่อเล่นเรียกว่า YUPPY scan เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ผู้ใส่ใจสุขภาพ แต่ไม่มีเวลาดูแลตนเอง เลยชอบจ่ายตังค์..ซื้อสุขภาพ 
  • ขอแสดงความดีใจด้วยครับ ที่คุณหมอพิจารณาว่า น้องซานเป็นไฮโซ
  • ที่อเมริกา มีโปรโมชั่น จ่ายหนึ่ง ทำสองคน ด้วย ไอ้สแกนแบบนี้ เราเอามาสอนหมอในประเด็น จริยธรรม

มาอ่านก่อนไปฟังเรื่องคุณป้าสงบค่ะอาจารย์หมอเต็ม กรณีที่อาจารย์ Rosalie ชี้ให้นักศึกษาเเพทย์เห็นกุ้งว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่กระตุกความคิดของคนที่จะเป้นหมอในอนาคตค่ะ

ว่าให้นึกถึงจิตใจคนไข้ให้มากๆ ในการทำอะไรก็ตาม

เวลาดิฉันเป็นหมอ(รักษาคนไข้)
มีทั้งพูดน้อยกว่าคนไข้(ช่วงแรกของเวรและช่วงจะออกเวร)
พูดมากกว่าและถามนำเพื่อทำเวลา (เวลาคุณพยาบาลมาสะกิดว่า ข้างนอกมีคนไข้อีกเพียบ)
และไม่พูดเลย (เวลามีรายฉุกเฉิน)

แต่เวลาที่ดิฉันไปเป็นคนไข้สิคะ....ไม่ได้พูดเลย โดนคุณหมอทั้งรุ่นน้อง รุ่นพี่แย่งพูดหมด 555

ที่จำได้และประทับใจ คืออาจารย์ประมวล วีรุตมเสน เจ้าพ่อ Infertile และเด็กหลอดแก้ว IVFค่ะ

ท่านอาจารย์ให้เวลาเราสองคน สามี-ภรรยามาก คุณสามีถามเยอะ ดิฉันไม่ค่อยได้ถามนัก เพราะอ่านตำรามาบ้างแล้ว

คำถามยอดฮิตของคนไข้กลุ่มนี้ "ทำไมเราถึงไม่มีลูก หรือมีลูกยาก"

อาจารย์ตอบจนสามี งง และเงียบไปนาน

"ไม่ทราบครับ คือคำตอบแท้จริงทางวิทยาศาสตร์"

แล้วยังแซวกลับเวลาเราสองคนจะกลับเพื่อนัดมา investigate อื่น ๆว่า

"อย่าลืมบนเจ้าพ่อด้วยล่ะ คนไข้ที่เขาได้ลูกกันเขาบนบานกันทั้งนั้น"
สามีดิฉันถามอีก(ถามจัง จนดิฉันเกรงใจอาจารย์)

พออาจารย์ตอบ "เจ้าพ่อชั้นแปดนี่ไง" (ตอนนั้นอาจารย์ท่านออกโอพีดีที่ชั้นแปด)

เราสองจึง ฮา กันลั่น

P

  • สมัยเรียนกับอาจารย์ ก็เจอมุขขำงง..งง เหมือนกันครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท