สนทนา Palliative Care: เมื่อผู้ให้บริการเป็นผู้รับบริการ


โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีกิจกรรมที่เรียกว่า สนทนา Palliative Care เพื่อให้บุคลากรมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมกันคิดและต่อยอด ในประเด็นที่เกี่ยวข้องการการดูแลคนไข้ประมาณทุก ๒ เดือน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มกราคมที่ผ่านมา หัวข้อที่เราคุยกัน คือ  เมื่อผู้ให้บริการเป็นผู้รับบริการ ซึ่งจะอยู่ในประเด็นหลักเกี่ยวกับการดูแลอย่างเป็นองค์รวม การดูแลด้านจิตสังคมและจิตวิญญาณ

ปกติกิจกรรมแบบนี้จะมีลักษณะเป็นโต๊ะกลม เพื่อจะได้พูดคุยแบบเห็นหน้าหลายๆคน แต่ครั้งนี้ มีคนสนใจฟังเกินร้อย จนต้องเปลี่ยนไปใช้ห้องบรรยายนั่งเรียงแถวเป็นนักเรียนแทน

ที่คนสนใจฟังมาก เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว และผู้ที่เราเชิญมาถ่ายทอดประสบการณ์ก็เป็นแม่เหล็กดึงดูดได้ดีจำนวน ๔ ท่าน มีทั้งอาจารย์แพทย์ น้องพยาบาลที่ตนเองต้องป่วยเป็นมะเร็ง รวมถึงพี่เภสัชกรที่มาพูดในฐานะผู้ดูแลหลักเมื่อบิดามารดาเจ็บป่วยเรื้อรัง ทุกคนเหมือนกันคือ ต้องมาใช้บริการในโรงพยาบาลที่ตนเองเป็นผู้ให้บริการ โดยมีพี่อานนท์..นพ. อานนท์ วิทยานนท์ จิตแพทย์เสาหลักของทีม Palliative Care เป็นผู้เชื่อมโยงประสบการณ์ของแต่ละคน

ผมนั่งฟังประสบการณ์ชีวิตที่หลายคนอาจมองว่าเป็นวิกฤต ผ่านเรื่องเล่าที่ดูเหมือนพูดคุยกันตามธรรมดาแบบพี่น้องคุยกัน แล้วขนลุกซู่หลายครั้งจากความรู้สึกหลากหลาย มีทั้งความกลัว กังวล อิ่มเอิบ ภูมิใจ ฮึกเหิม ประทับใจ เพราะนั่นคือครู พี่ น้องเรา และมันอดไม่ได้ ที่จะต้องมามองย้อนดูตัวเอง รวมทั้งคนที่เรารัก

บันทึกนี้อาจจะยาวกว่าบันทึกปกติของผม เพราะรู้สึกว่าอยากบันทึกประสบการณ์ครั้งนี้ไว้ให้ได้มากที่สุด รู้สึกเสียดาย..เสียดายมาก แทนหลายๆคนที่ไม่มีโอกาสมาฟัง สำหรับผมแล้ว การได้มาฟังเรื่องราวในกิจกรรมครั้งนี้ นับเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่งเลยทีเดียว

ต้องขอขอบพระคุณผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ทุกท่าน มาในบันทึกนี้ด้วยครับ


ช่วงเวลาที่ทุกข์ที่สุด

  • ไม่ใช่ตอนที่รู้ตัวว่าตนเองเป็นมะเร็ง แต่กลับเป็นช่วงเวลาที่รอคอยผลชิ้นเนื้อ ไม่แน่ใจว่าเป็นหรือไม่เป็น อยากฟังว่าไม่ใช่ ในขณะที่อีกใจหนึ่งก็รู้ๆอยู่
  • ระบบของโรงพยาบาลที่ทำให้ช่วงเวลารอคอยอันทุกข์ทรมานนี้ยาวนานโดยไม่จำเป็น ต้องปรับปรุง
  • The Day After ทุกอย่างเปลี่ยนไป

ในช่วงวิกฤติกลับห่วงคนอื่น

  • ทั้งอาจารย์และน้องพยาบาลซึ่งป่วยเป็นมะเร็งมีความคิดเหมือนกัน ตรงที่ ไม่อยากให้คุณแม่ของตนเองรับทราบ บางท่านเฉพาะในช่วงแรก แล้วหาจังหวะเวลาบอก ในขณะที่บางท่าน จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้บอก
  • ที่ไม่บอก เพราะไม่อยากให้ต้องมาทุกข์ใจ
  • สิ่งที่คิดเหมือนกัน คือ ห่วงความทุกข์ของแม่ ที่ลูกต้องมาตายก่อน
  • สำหรับคนที่บอกแล้ว แม่เข้มแข็งกว่าที่คิด บอกแล้วสบายใจขึ้น
  • สำหรับคนที่ยังไม่บอก.. เวลาจะปิดจะบังใคร มันลำบากมาก

เพราะคิดว่ารู้แล้ว

  • โดยเฉพาะอาจารย์แพทย์ เมื่อต้องถูกทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นการตรวจ การรักษา เหมือนจะได้รับข้อมูลจากผู้ตรวจรักษาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะคิดว่าน่าจะรู้แล้ว แต่ความจริงไม่รู้
  • คำถามดีๆของพยาบาล "อาจารย์ทราบเรื่องนี้มั้ยคะ" "หมอที่ผ่าตัดบอกอะไรอาจารย์บ้าง"
  • เรื่องข้อมูล บางคนค้นคว้าเองทุกอย่าง บางคนใช้ความไว้วางใจ
  • ถึงจะเป็นบุคลากรสุขภาพ แต่ไม่ได้รู้เรื่องไปทั้งหมด

คุณภาพการให้บริการ

  • คนไข้รู้ว่า คุณภาพการให้บริการที่ตนเองได้รับเป็นอย่างไร
  • คนไข้บางคนก็รู้ว่าเกิดความบกพร่อง เพียงแต่ยอมรับได้ เพราะเห็นใจบุคลากรเหมือนกัน
  • งานพยาบาล ใกล้ชิดคนไข้กว่าหมอมากนัก
  • อะไรที่เราคิดว่าดี สิ่งที่ดีว่ายังมีได้ ถ้าได้เรียนรู้และฝึกหัด
  • วิชาการต้องแม่น แม่นแต่ไม่กระด้าง

เปลี่ยนงานเมื่อป่วย

  • น้องพยาบาลต้องเปลี่ยนงาน จากไอซียูที่งานหนักเป็นงานในสำนักงาน ต้องเริ่มต้นทุกอย่างใหม่
  • "เขาไม่ได้ดูแลเหมือนเราเป็นคนป่วย แต่ดูแลเหมือนคนพิการ"
  • สำหรับคนที่ งานคือคุณค่าของชีวิต ถูกเปลี่ยน/ลดงาน จะหมายถึงอะไร
  • ยามป่วย ทำให้รักวิชาชีพมากขึ้น

คุณค่าของชีวิต

  • แต่ละคนให้คุณค่าต่อสิ่งต่างๆในชีวิตแตกต่างกัน
  • "วันที่เสีย self ที่สุด คือวันที่ต้องใส่วิก"
  • คำถามที่ต้องถามตัวเองเมื่อต้องตัดสินใจ "อะไรที่สำคัญที่สุดในชีวิต" คำตอบคือ การได้ดูแลพ่อแม่

กำลังใจ

  • คนเราต่างกัน "ไม่ชอบให้ใครมาแสดงความเห็นใจ ไม่ต้องมา empathy"
  • การสื่อสารอย่างเป็นธรรมชาติดีที่สุด
  • ข่าวร้ายมาโดยไม่รู้ตัวเสมอ

ทำไมไม่ไปรักษาที่อื่น

  • "เราทำงานที่นี่ แต่ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอื่น มันหมายความว่าอย่างไร"
  • "มีคนแนะนำว่าให้ไปรักษาที่กทม. หลายคน แต่ไม่อยากให้คน ม.อ. เป็นคนพูดอย่างนั้น"

ของแถม

  • ฉีด dexa แล้ว จะซู่ซ่ามากไปทั่วตัว

ความเจ็บป่วยไม่ได้เลวร้ายเสมอไป

มันทำให้เรามองเห็นความงดงามของชีวิตมากขึ้น

 

ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เมื่อต้องมาเป็น ผู้รับบริการ ด้วยนะครับ

หมายเลขบันทึก: 332586เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2010 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (27)

ขอบคุณมากค่ะ อาจารย์ ที่ได้รวบรวม ความรู้สึกของผู้ที่เจ็บป่วยผู้ที่ได้สัมผัสความงามและคุณค่าของชีวิตมากขึ้น... ขอนำไปเป็นบทเรียนรู้ ของตัวเองนะคะ

ชอบ ตรงนี้จังเลยค่ะ  คนยังไม่ป่วยได้เรียนรู้ด้วยคะ

ความเจ็บป่วยไม่ได้เลวร้ายเสมอไป

มันทำให้เรามองเห็นความงดงามของชีวิตมากขึ้น

P

  • สวัสดีครับ
  • เสียดาย บันทึกได้แค่นี้
  • ประโยคนั้น พี่เภสัชที่ต้องดูแลคุณพ่อคุณแม่เป็นสิบๆปีเป็นคนพูดครับ

สวัสดีครับคุณหมอ

ถ้าผมได้อ่านบันทึกนี้ก่อนไป ร.พ.พิจิตร และ ร.พ.เจ้าพระยายมราช

คงจะทำให้การเตรียมความพร้อมของผมดีกว่านี้มาก ๆ

มาอ่านตอนนี้ก็ยังไม่สายครับ

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีค่ะ

  • มาเยี่ยมและอ่านเรื่องของคุณหมอค่ะ
  • ขอเชิญไปเยี่ยมโรงเรียนดีบนดอยด้วยค่ะ
  • ช่วยประเมินให้คะแนนด้วยนะคะ
  • http://gotoknow.org/blog/krukimgtk/332122

ขอบคุณมากครับคุณหมอ

เป็นบันทึกที่มีคุณค่ามากจริงๆ ครับ

P

  • สวัสดีครับพี่เกียรติศักดิ์
  • ไปถอดบทเรียนให้ทั้งสองที่เลยหรือครับ ผมว่าเราได้เรียนรู้ชีวิตมากขึ้นไปด้วยนะครับ

สวัสดีคะอาจารย์

เมื่อพี่ต้องมาเป็นผู้รับบริการ เหตุการณ์ผ่านไปได้ไม่นาน

คุณพ่อพี่ป่วยเมื่อเดือนที่แล้ว ปัสสาวะเป็นเลือดและมีภาวะไตวายเฉียบพลัน ต้องเข้าตรวจแบบฉุกเฉิน

ความรู้สึกบอกได้ว่าทุกข์ทรมาน กว่าจะผ่านช่วงวิกฤตมาได้

ช่วงที่พ่อาการหนัก พ่อคิดว่าไม่รอดแน่ พี่มีความหวัง พ่อต้องหาย

บางอย่างพี่ก็ไม่รู้ รอคำตอบ รอคอย การตรวจต่าง ๆต้องใช้เวลา

น้องพยาบาลอาจจะเข้าใจว่าเรารู้ เรื่องทุกอย่าง บางครั้งพี่ต้องถามและขอคำตอบให้ชัดเจน

พี่ดูแลคุณพ่อเอง ทั้งเดือน เช้าไปทำงาน เย็นมานอนเฝ้าพ่อ พ่อไม่ยอมให้น้องพยาบาลเช็ดตัวให้ ไม่ยอมให้น้องพาลุกเดิน

พ่อต้องลุกขึ้นปัสสาวะทุกชั่วโมง พอใส่สายสวนคาไว้ สบายขึ้น แต่ก็กลัวติดเชื้อ

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • จากฐานะของผู้ให้บริการเปลี่ยนมาเป็นผู้รับบริการ คิดว่าคงจะทำให้เข้าใจผู้รับบริการท่านอื่นๆมากขึ้นค่ะ
  • ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกคาดหวัง การรอคอย ความกลัวต่อผลที่ออกทางห้องปฏิบัติการทั้งหลายที่จะออกมาทางลบ
  • ทุกอย่าง ทุกขั้นตอนเต็มไปด้วยความรู้สึกล้วนๆ...ที่ไม่แตกต่างกันกับคนทั่วๆไป
  • แต่ยิ่งมีความรู้ในสิ่งที่ทำงานอยู่อาจจะเข้าใจระบบการทำงาน.. ทำให้รอคอยได้ แต่บางคนสำหรับตัวโรคแล้วจะยิ่งจินตนาการไปไกลกว่าคนที่ไม่รู้เกียวกับโรคเลยก็ได้...ผลก็คืออาจจะเครียดได้มากกว่าค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

P

  • สวัสดีครับพี่คิม
  • ไปตรวจการบ้านมาให้แล้วครับ
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • ช่วงนี้ป้าแดงมีคนไข้ระยะสุดท้าย มาให้ดูแลมากมาย รู้บ้างไม่รู้บ้าง เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยเรียนรู้ หรือว่ารู้แต่ลืมไปแล้ว
  • เป็นลำบากใจเหมือนกันนะคะ เวลาที่มีคนสาสุขมารับบริการ บางครั้งก็กลัวว่าจะพูดมากไป แต่ความจริงแล้ว บางครั้งบางคนทิ้งความรู้ไปหมดแล้วเพราะไม่ได้ใช้มานาน
  • ขอบคุณความรู้สึที่เราต้องเก็บมาคิดเพื่อให้บริการคนไข้ค่ะ

สวัสดีค่ะ แวะมาทักทายและเยี่ยมคนบ้านเดียวกันค่ะ..สบายดีน่ะค่ะ  ขอให้มีความสุขกับงานที่รักค่ะ...บาย  บาย..

P

  • อ่านแล้วอยากให้ย้อนดูตัวเองมากๆนะครับ
  • ที่ผมขนลุกซู่เป็นช่วงๆ เพราะ มันเห็นภาพตัวเองว่าเคยคิดแบบนั้น หรือตรงข้ามชนิดยืนคนละมุมก็มี เราไม่สามารถทึกทักเหมาเอาว่า คนจะคิดเหมือนเราหรือต่างจากเราได้เลย ถ้าไม่เปิดใจพูดคุยกัน

P

  • อ่านความเห็นของพี่ไก่แล้ว อยากจะเชิญชวนให้ทุกคนช่วยเล่าประสบการณ์ เมื่อต้องเป็นผู้รับบริการ ด้วยนะครับ
  • คิดถึงบรรทัดสุดท้ายในหัวข้อ คุณค่าของชีวิต
  • คุณพ่อพี่อาการดีขึ้นแล้วนะครับ

P

  • เห็นด้วยกับน้องซิลเวียทุกประเด็นเลยครับ
  • ขอบคุณครับ

สังเกตมานาน ว่าอาจารย์เป็นตัวอย่างนักฟังที่ดีมากคะ ฟังอย่างตั้งใจและจับประเด็นมาถ่ายทอดได้

อบรมที่เชียงใหม่เมื่อศุกร์เสาร์ที่ผ่านมา มีความเห็น ประสบการณ์น่าสนใจ แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้บันทึกเอาไว้

อิ อิ เดี๋ยวจะเขียนมั่ง (แกะรอย)

P

  • สวัสดีครับ
  • เรื่องการต้องมาดูแลคนกันเองนั้น ผมได้บทเรียนแล้วว่า น่าจะถามว่า อยากจะเราบอกมากน้อยแค่ไหน 
  • หรือจะใช้ประโยคดีๆอย่างในหัวข้อ เพราะคิดว่ารู้แล้ว ข้างบนก็ได้นะครับ

P

  • แวะไปอ่านเรื่องขำไม่ออก ตับไก่กับหมา แล้วนะครับ

P

  • จริตเดิมผมไม่ใช่ ฟัง หรอกนะครับ แต่เป็น คิด 
  • แต่เรื่องการฟัง เราฝึกได้ แต่ต้องมีสมาธิพอสมควร
  • ตอนนี้ผมก็ยังฝึกอยู่เรื่อยๆ วันนี้ก็เพิ่งจะพูดมากกว่าฟัง ตอนคุยกับคนไข้  ครับ

แวะมาบอกข่าว พ่อพี่แผลแห้งติดดี สบายดีขึ้นมากแล้วคะ กลับมาอยู่บ้าน

P

  • ดีใจด้วยนะครับพี่ ตอนนี้ก็คงต้องเป็นช่วงป้องกัน กับรักษาสุขภาพต่อนะครับ

สวัสดีค่ะ

เคยปวดแผลผ่าตัดน่ะค่ะ ได้รับยา pethidine ฉีดiv ไม่หายปวด แถมยังใจสั่นมากๆเลยค่ะ

แต่ถ้าฉีด im จะบรรเทาปวดได้มาก แต่หมอไม่เชื่อค่ะ

อาจารย์ขา วันก่อนกุ้งไปเจอท่านอาจารย์สกลที่งาน HA Forum เลยฝากความระลึกถึงมาถึงอาจารย์ ไม่ทราบว่าต้องร้องเพลงนี้ด้วยหรือเปล่านะคะ ความคิดถึง กำลังเดินทาง อิอิ เเวะมาเรียนรู้เเละเก็บเกี่ยวบทเรียนที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดเวทีเช่นนี้ กุ้งว่าได้เห็นมุมมองของผู้รับบริการ เเละจะทำให้เข้าใจความรู้สึกของผู้รับบริการมากขึ้น ทุกคนคงไม่ต่างกัน

30Si

  • เพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรกว่า ฉีดเข้ากล้ามได้ผลดีกว่าเข้าเส้น
  • อธิบายไม่ได้ครับว่าทำไม เพราะถ้าเอาความสมเหตุสมผลทางชีวภาพ biologic plausibility มาจับแล้ว ไม่น่าเป็นไปได้เลย
  • ต้องปรึกษาท่านผู้รู้แล้ว

P

  • เผลอไปแผล็บเดียว ๒ เดือนกว่าแล้ว ที่ไม่ได้เขียนบันทึก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท