เผชิญมลพิษทางเสียง - 5 – บทสรุปในวันสงบ


ข้อสรุปจากประสบการณ์ในการเผชิญมลพิษทางเสียงและวิธีการร้องเรียน

(เผชิญมลพิษทางเสียง ตอนที่  1  2  3  4  )

  

   เมื่อวันที่ 15 เวทีลิเกประกาศรับสมัครประกวดร้องเพลง และบอกว่า จะตัดสินช่วงสิ้นเดือน ในห้วงเวลาที่รู้สึกสิ้นหวัง เลขาฯได้ไปโพสต์ร้องเรียนที่คอลัมน์เปิดซองส่องไทย ของลุงแจ่ม ที่หนังสือพิมพ์คมชัดลึก คิดว่าคงเป็นการร้องเรียนครั้งสุดท้าย หากไม่ได้ผลก็ต้องปิดหูปิดตาทนเสียงดังต่อไป (และอาจตลอดไป)

   หลังโทรศัพท์ไปที่เทศบาล ทั้งกองสาธารณสุขและกองวิชาการเมื่อวันที่ 17 อย่างที่เล่าไปแล้วในตอนก่อนหน้านี้ เย็นวันที่ 18 เวลาประมาณ 18:00 น. เสียงจากเวทีลิเกเงียบไปอย่างน่าแปลกใจ ไปยืนดูหลังบ้านก็เห็นผู้ชายหลายคนยืนอยู่ด้านหน้าเวทีลิเก หลังจากนั้นร้านค้าที่คุยกันบ่อยๆให้ข้อมูลว่า “เทศบาลมากันหลายคน มาถ่ายรูปกันใหญ่” เลขาฯเดาว่าที่มาถ่ายรูปอาจจะเป็นฝ่ายหนังสือพิมพ์ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็นับว่าทางคมชัดลึกทำงานกันเร็วมาก

   คืนวันที่ 19 และ 20 มีประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน ลิเกจึงรีบเล่นและรีบเลิกเวลา 20:00 น. และหลังจากนั้นก็ไม่มีการเปิดเสียงผ่านลำโพงอีกเลย (ขอ สา...ธุ .... ดังๆ)

   วันที่ 21 คอลัมน์ลุงแจ่มในคมชัดลึกลงเรื่อง “รำคาญเสียงลิเก”

   

   วันที่ 24 เจ้าหน้าที่เทศบาล (จำเสียงได้คลับคล้ายคลับคลาว่าเป็นเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุข) โทร.มาแจ้งว่าได้ติดตามทราบว่าลิเกเลิกเล่นแล้ว และถามไถ่สภาพปัจจุบันด้วยน้ำเสียงเรียบร้อยมาก

-----

   เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เลขาฯได้เรียนรู้เกี่ยวกับคณะลิเกขึ้นอีกมาก ถึงเทคนิควิธีการในการจับผู้ชมเพื่อให้สามารถอยู่แสดงในที่เดิมโดยมีรายได้ดี ข้อมูลเหล่านี้ได้จากเพื่อนผู้มีประสบการณ์มาก่อน แม่บ้านผู้เป็นสายสืบ รับฟังจากแม่ค้าในตลาดข้างบ้านอีกทอดหนึ่ง และจากประสบการณ์ในครั้งนี้ค่ะ

   ในยุคที่ลิเกกำลังถูกทดแทนด้วยความบันเทิงบนเวทีชนิดอื่น ที่ใหม่กว่าแรงกว่าอย่างหมอลำหรือหมอลำซิ่ง ลิเกก็ต้องพยายามหาแหล่งรายได้ที่ถาวรหน่อย จากที่แต่เดิมเล่นในงานวัดวันเดียวหรืออย่างมากก็หนึ่งสัปดาห์ ลิเกจึงต้องพยายามหาเวทีลง และจับผู้ชมให้อยู่หมัด หาแม่ยก ที่จะนำเสบียงทั้งอาหารน้ำ เครื่องอุปโภคบริโภค รวมไปถึงเงินทอง มาประเคนให้ แลกกับคำหวานเสนาะเพราะหูและตาหวานเชื่อมเป็นประกายที่ลิเกจะมอบตอบแทน

   ลิเกหลังบ้านคณะนี้ เข้ามาในตลาดโดยอาศัยเจ้าของตลาดที่นิยมชมชอบเสียงดัง สังเกตได้จากงานเทศกาลต่างๆที่ค่อยๆใช้เสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ครั้งล่าสุดถึงกับเช่าเวทีพร้อมวงดนตรีมาบันเทิงกัน 2-3 วัน ซึ่งคนอยู่ข้างตลาดก็ต้องยอมรับค่ะ เพราะเป็นช่วงเทศกาลรื่นเริง แม่ค้าพ่อค้าก็น่าจะมีโอกาสพักผ่อนหย่อนใจตามแบบฉบับของเขาบ้าง แม้ว่าเวทีจะเสียงดังเหลือรับ แต่ก็ทราบแน่ชัดว่าจะเล่นกันจนถึงวันไหน

   เมื่อเจ้าของตลาดชอบเสียงดังอยู่แล้ว ทีนี้ก็ไร้ปัญหา ลิเกเริ่มตั้งเวทีทันทีและเริ่มแสดงแทบจะทันทีเหมือนกัน ส่วนเจ้าของตลาดจะไปขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงที่เทศบาลเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ (ไม่มีใครยอมบอก) ซึ่งที่เทศบาลก็ทราบนะคะว่าเป็นเวทีลิเกมาเล่น แต่ก็อนุญาตให้ถึงสองสัปดาห์ เวทีลิเกใช้จิตวิทยาง่ายๆ เช่น พูดโฆษณาตลาดอย่างละเอียด ถึงกับระบุชื่อแม่ค้าพ่อค้าและประเภทของแผง เท่านี้ทั้งเจ้าของตลาดและแม่ค้าก็พากันพอใจ ยิ่งมีเสียงเพลงให้ฟังระหว่างขายของ หลายคนก็ยิ่งชอบ ยิ่งเปิดให้คนทั่วไปขึ้นไปร้องคาราโอเกะได้ แม่ค้าบางคนก็ขึ้นเวทีจับไมค์ ลูกสาวแม่ค้าก็ขึ้นไปเปิดตัว เป็นการผูกสัมพันธ์และสร้างกองเชียร์ที่จะสนับสนุนให้ลิเกอยู่นานๆแม้ว่าอาจจะมีคนอื่นอยากให้เลิก

   ลิเกคณะนี้จะสามารถหาแม่ยกได้หรือยังนั้นไม่ทราบ ทราบแต่ว่าเมื่อเลขาฯไปร้องเรียนกับเจ้าของตลาดหลังจากลิเกเล่นไปได้ประมาณ 10 วัน ลูกสาวเจ้าของตลาดอายุ 5-6 ขวบทำตัวเป็นแม่ยกตัวน้อย คอยเอาน้ำเอาขนมไปให้ที่เวทีเสมอ ช่วงที่มีการแสดง เจ้าตัวน้อยและเพื่อนๆวัยใกล้เคียงกันก็จะเป็นแฟนพันธุ์แท้นั่งติดเก้าอี้อยู่หน้าเวที เลขาฯเห็นแล้วเป็นห่วงเหลือเกินว่าเด็กจะหูตึงตั้งแต่ยังไม่ทันเข้าวัยรุ่น ช่วงวันเสาร์อาทิตย์หน้าเวทีจะมีผู้ชมประมาณ 10-15 คน ส่วนวันธรรมดาจะมีแต่เด็กลูกแม่ค้าเท่านั้น ทำให้เพื่อนบ้านหลายคนประมาท คิดว่าคนดูน้อยขนาดนี้ลิเกน่าจะอยู่ได้ไม่นาน

   เพื่อนของเลขาฯคนหนึ่งเคยเจอกับคณะลิเกแบบนี้มาแล้ว เลขาฯจึงได้ทราบว่าลิเกไม่ได้อยู่ด้วยจำนวนคนดู แต่อยู่ด้วยแม่ยก แม้จะไม่มีคนดูสักคนเดียว แต่ถ้ามีแม่ยกคอยอุ้มชูก็ไม่มีปัญหา สำหรับตลาดนี้ คณะลิเกยังมีรายได้ประจำอีกทางหนึ่งคือเดินถือตะกร้ารับเงินจากแม่ค้าพ่อค้า หลายคนที่ชอบก็เต็มใจให้ แต่ก็มีคนที่คำนวณแล้วว่า ให้วันละ 20 บาททุกวัน เดือนหนึ่งก็ปาเข้าไป 600 บาท เงินทองไม่ใช่ของหาง่าย จึงไม่ยอมให้ บางรายก็รำคาญเสียงดัง ถึงกับบอกลิเกว่าถ้าไม่ลดเสียงจะไม่ให้เงินอีกเลย (รายนี้เล่าว่าแม้ลิเกจะเลิกเล่นแล้วแต่ก็ยังได้ยินเสียงก้องอยู่ในหู)  บางรายบอกว่าลูกค้าต่อว่าว่าเสียงดังมากก็มี ในตลาดเริ่มมีความเห็นแตกแยกเป็นสองฝ่าย แต่เมื่อเจ้าของตลาดชอบ ฝ่ายที่ไม่ชอบจึงได้แต่เงียบ และคอยยุแม่บ้านของเลขาฯให้ไปร้องเรียนเทศบาล

   เพื่อนของเลขาฯเล่าว่า ในชุมชนที่เขาเคยไปเจอคณะลิเกก็เกิดความแตกแยกแบบนี้ เริ่มแรกคนในชุมชนที่ไม่ชอบก็อดทน คณะลิเกรีบหว่านเสน่ห์จับแม่ยก พอได้แม่ยกแล้วก็ถือโอกาสอยู่นานเพราะถือว่ามีคนสนับสนุน คนในชุมชนเริ่มแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย จนสุดท้ายทะเลาะกันรุนแรง คณะลิเกจึงต้องออกไป ได้ความรู้จากอีกแหล่งหนึ่งว่า โดยเฉลี่ยลิเกจะอยู่ที่หนึ่งประมาณ  3 เดือน กระบวนการที่ว่านี้ก็คงใช้เวลาประมาณนั้น แต่เดิมเลขาฯเองก็คิดในแง่ดีว่าเวลาเพียง 2 สัปดาห์ยังไม่น่าจะเกิดแม่ยกพันธุ์แท้ได้ แต่เมื่อลิเกตอบคำถามของเลขาฯว่า “อยู่ไม่นานหรอก เมื่อคนติดแล้วก็ไป” ก็เริ่มฉุกคิดได้ว่าเขาคงตั้งใจอยู่จนคนติด และเมื่อคนติดแล้วมีหรือจะไปง่ายๆ   

-----

   เลขาฯยังได้ข้อสรุปจากประสบการณ์ในการเผชิญมลพิษทางเสียงและวิธีการร้องเรียน จะเขียนไว้ที่นี่ เผื่อมีใครที่เดือดร้อนคล้ายๆกันและมาหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตจะได้ลองเอาไปคิดดูว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง

1. หากเสียงดังติดต่อกันเกิน 2 วันโดยไม่รู้ว่าจะเลิกเมื่อไหร่ รีบร้องเรียนไปทางสื่อที่ติดตามเป็นประจำ (จะได้ไม่ลำบากต้องคอยเช็คเพิ่มเติม) กรณีของเลขาฯรับคมชัดลึกอยู่แล้ว จึงร้องเรียนไปที่คอลัมน์ลุงแจ่ม หากเลขาฯเข้าใจไม่ผิด ใช้เวลาเพียง 3 วัน หนังสือพิมพ์ก็ติดตามมาจนถึงที่ และนำเรื่องลงให้ใน  1 สัปดาห์  ขณะที่เทศบาลใช้เวลาประมาณ 10 วันกว่าจะเริ่มขยับ (ปกติอาจเร็วกว่านี้เพราะเดือนนี้มีวันหยุดมากมาย) เลขาฯเพิ่งนึกเรื่องร้องผ่านสื่อได้ภายหลัง จึงต้องทนทรมานนานหน่อย

2. ร้องเรียนไปที่ท้องถิ่น (เทศบาล/ อบต.) ทันที อย่าอดทนอยู่นาน (อาจเป็นบ้าไปเสียก่อน) เพราะแจ้งไปแล้วก็ยังต้องรออีกหลายวันกว่าจะมีใครทำอะไรให้  ควรไปแจ้งที่สำนักงานด้วยตัวเอง  บอกเขาไปด้วยว่าร้องเรียนผ่านสื่อไปแล้ว พร้อมขอเบอร์โทร.ที่จะสามารถติดตามเรื่องได้ อย่าลืมพกสำเนาบัตรประชาชนไปด้วย และอย่าลืมถามว่ากระบวนการต่างๆจะใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ มีผู้แนะนำมาว่าหากเป็นไปได้ควรชักชวนลงชื่อร้องเรียนร่วมกันหลายๆคน แม้ทางทฤษฎีจะไม่มีผล แต่ทางจิตวิทยาและทางปฏิบัติจะมีผลมาก

3. หลายเทศบาลจะมีที่ให้เขียนร้องเรียนทางอินเตอร์เน็ต ต้องไปเขียนไว้เป็นหลักฐานว่าเราเดือดร้อนจริง และร้องเรียนกับเทศบาลจริง คนทั่วไปสามารถมาดูได้

4. อย่าลืมอัดเสียงดังที่รบกวนเราเอาไว้ เผื่อใช้เป็นหลักฐานในกรณีจำเป็น

5. หากพอจะพูดคุยเจรจากับผู้ทำให้เกิดเสียงดังได้ ก็เจรจาไปพลางๆ ให้เขาเบาเสียงลงได้สักนิดก็ยังดี แต่ถ้าดูแล้วท่าทางพูดยากก็อย่าเผชิญหน้าดีกว่า  การออกไปเจรจาเองมีทั้งผลดีผลเสีย ที่ดีคือถ้าเขายอมรับฟังเรา เสียงก็จะเบาลงบ้าง แต่ผลเสียคือเมื่อพูดกันไม่รู้เรื่อง หรือเมื่อเทศบาลมาจัดการให้แล้ว เขาก็มักจะโกรธเพราะถือว่าเราเรื่องมาก ไปขัดขวางการทำมาหากินของเขา ปัจจุบันแม่บ้านของเลขาฯยังไม่สามารถไปเดินตลาดนี้ได้ เพราะเจ้าของและแม่ค้าที่ชอบเสียงดังทำหน้าไม่ต้อนรับเต็มที่

6. ข้อนี้เลขาฯไม่ได้ทำ แต่พี่ผู้มีประสบการณ์บอกว่าควรไปแจ้งตำรวจด้วย ตำรวจจะมาหรือไม่มาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

7. คอยติดตามการทำงานของเทศบาล ด้วยการโทร.ไปถามทุก 3-4 วัน อย่าลืมถามชื่อคนให้คำตอบทุกครั้ง

8. แผ่เมตตาให้คนทำเสียงดังเท่าที่เราจะทำใจได้ (แม้ว่าในช่วงที่เสียงดังมากจะทำได้ยากก็ตาม)

9. อย่าอดทนอย่างเดียว บ่นให้คนอื่นฟังบ้าง หนีเสียงดังไปทำอย่างอื่น อยู่ที่อื่นบ้าง เป็นการผ่อนคลายความเครียด

10. อย่าลืม บันทึกประสบการณ์เอามาแบ่งปันกันบ้างนะคะ

ขอขอบคุณคอลัมน์ลุงแจ่มในหนังสือพิมพ์คมชัดลึกที่ช่วยติดตามตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่นอย่างรวดเร็ว  ขอบคุณเทศบาลปากเกร็ดที่ช่วยดูแลจนประชาชนที่เดือดร้อนให้ได้รับความสงบคืนมา ขอบคุณเพื่อนๆทุกคนที่ให้กำลังใจและให้ข้อมูล ขอบคุณทุกข่าวและข้อมูลการร้องเรียนเรื่องเสียงที่ทำให้รู้สึกว่ายังมีคนที่เดือดร้อนกว่าเราอีกมาก และพยายามลุกขึ้นต่อสู้กับเสียงดังเหมือนๆกัน แปะ link ข่าวและข้อมูลต่างๆที่ได้ตามไปอ่านในช่วงที่ผ่านมาไว้ด้านล่างค่ะ ท่านใดกำลังกลุ้มใจเรื่องเสียงดังติดต่อกันได้นะคะ อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยรับฟังได้ และอาจช่วยแนะนำอะไรได้บ้างค่ะ หวังว่าเลขาฯคงไม่ต้องมาเขียนบันทึกเรื่องเสียงดังอีกแล้ว ...

-----

    

กระทู้ใน prakard.com ใครมีปัญหาเรื่องคณะลิเกเสียงดังรบกวนมั่งคะ??

http://www.prakard.com/default.aspx?g=posts&t=242166

ร้องเรียนโรงลิเกเสียงดังรบกวน เทศบาล ต.แสนสุข จ.ชลบุรี

http://www.saensukcity.go.th/index.php?option=com_mamboboard&Itemid=218&func=view&id=548&catid=3&PHPSESSID=65ae9b412f9c10de5e904a4d20d56895

หน้าที่ของใคร ?

http://www.coconews.in.th/index.php?option=com_content&view=article&id=117:2009-09-21-15-38-09&catid=4:2009-08-22-19-11-42&Itemid=7

วิวัฒนาการลิเกในเมืองไทย

http://www.sema.go.th/files/Content/Social/k4/0028/arts_lithai/wiwattanakan.doc

หมายเลขบันทึก: 361060เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2010 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท