เผชิญมลพิษทางเสียง -3


สุดท้ายแล้วคนไทยก็เป็นเช่นนี้ ฝ่ายที่ลุกขึ้นกระทำจะมีอำนาจเหนือกว่าเสมอ เพราะผู้ถูกกระทำ ผู้เสียหาย เป็นผู้มีความอดทนมีความอะลุ่มอล่วยสูง และกฎหมายของเรายังไม่ครอบคลุม ที่มีอยู่ก็มีค่าเพียงแค่แผ่นกระดาษเท่านั้นเอง

   หลังจากวันที่ 4 พฤษภาคม เสียงจากเวทีลิเกเบาลงอย่างเห็นได้ชัด แม้จะยังมีช่วงเสียงดังมากอยู่บ้างเป็นบางครั้งในช่วงตั้งแต่ 18:30-21:30 และในช่วงหลังคณะลิเกได้ร่นเวลาเลิกมาเป็น 21:00 ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลใด ทุกคนในสำนักงาน (และบ้าน) จึงได้พักผ่อนหูกันบ้าง แต่เสียงที่ว่าเบาก็เริ่มดังขึ้นอีกในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ (8-9 พฤษภาคม)

   เลขาฯโทรศัพท์ไปติดตามเรื่องที่เทศบาลปากเกร็ดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติกรเป็นผู้หญิง ชื่อคุณแก้ว เป็นผู้รับสาย เธอบอกว่าเธอไม่ใช่เจ้าของเรื่อง แต่เป็นคนที่เพิ่งจะพิมพ์เรื่องนี้เสนอไปยังฝ่ายสิ่งแวดล้อม และขอโทษที่ดำเนินการช้าเนื่องจากวันที่ 5 เป็นวันหยุด และวันที่ 6-7 เจ้าหน้าที่เทศบาลไปงานสันนิบาตเทศบาลที่จังหวัดทางภาคเหนือกันหมด ไม่มีใครอยู่ (ตรงนี้เลขาฯก็สะกิดใจนิดหนึ่ง ว่าถูกต้องแล้วหรือที่เจ้าหน้าที่จะไปกันหมดโดยไม่เหลือใครไว้ทำงานบ้าง?) คุณแก้วเองคิดว่าเรื่องตั้งเวทีลิเกนี้ไม่ถูกต้อง ลิเกจะต้องเล่นในช่วงเทศกาล มีกำหนดเวลาแน่นอนว่าเล่นวันไหนถึงวันไหน ไม่ใช่เล่นตลอดทุกวันเช่นนี้ และช่วงหลัง 6 โมงเย็นเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน ควรมีการพูดจาให้คณะลิเกลดเสียงหลัง 18:00 น. โดยเจ้าหน้าที่เทศบาล  

   เลขาฯรู้สึกอุ่นใจขึ้นมากเมื่อทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ในเทศบาลที่ยังเห็นอกเห็นใจผู้อยู่อาศัยเช่นนี้ (แม้ว่าในทางปฏิบัติเทศบาลก็คงทำอย่างที่คุณแก้วพูดไม่ได้) จึงถามปัญหาคาใจอีกข้อหนึ่ง มีหลายคนแนะนำมาว่าเลขาฯควรไปกระตุ้นให้ผู้ได้รับความเดือนร้อนคนอื่นๆไปร้องเรียนที่เทศบาลกันมากๆ มิเช่นนั้นเทศบาลจะนิ่งเฉยไม่สนใจ คุณแก้วบอกว่าไม่ใช่แน่ ไม่ว่าจะมีคนร้องเรียนคนเดียวหรือหลายคน เทศบาลก็ต้องดูแลให้เหมือนกัน เรื่องที่ลำบากก็คือเรายังไม่มีเทศบัญญัติข้อกำหนดในเรื่องเสียงอย่างชัดเจน แต่ก็อยู่ในดุลพินิจของเทศบาลว่าจะอนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียงต่อหรือไม่ คุณแก้วตอบอย่างชัดเจนว่า เทศบาลสามารถพิจารณาไม่อนุญาตต่อให้ได้ในกรณีมีการร้องเรียนความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม เลขาฯต้องรอให้ฝ่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมมาดำเนินการ ซึ่งคงเป็นในอีก 2-3 วัน

   เมื่อวานนี้ (11 พฤษภาคม) ตลาดข้างบ้านทำความสะอาดกันครั้งใหญ่แต่เช้า เนื่องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเทศบาลจะมาตรวจ (ตามที่แม้ค้าในตลาดบอกกล่าวกัน) เลขาฯเองก็ไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวข้องกับการร้องเรียนเรื่องเสียงหรือไม่ เจ้าหน้าที่มากันประมาณ 5 โมงเย็น เท่าที่เลขาฯมองเห็นเป็นเจ้าหน้าที่หญิงที่น่าจะอยู่ในวัย 20 กว่า 1 ท่าน กับเจ้าหน้าที่ชายในวัยใกล้เคียงกันอีก 1 ท่านคอยจดบันทึก เห็นเจ้าหน้าที่หญิงเดินตรวจตามแผง แต่ไม่ได้เห็นว่าเข้ามาพูดคุยกับคณะลิเกหรือไม่ ทราบแต่ว่าในช่วงนั้นเสียงเพลงจากเวทีลิเกเบามาก นั่งทำงานอยู่ในสำนักงานโดยเปิดประตูหน้าต่างก็ยังไม่ได้ยิน แต่พอเจ้าหน้าที่ลับหลังไปไม่นาน เสียงก็ดังขึ้นอีก และดังจนแสบแก้วหูในช่วง 19:00 เป็นต้นไป มีคนขึ้นมาร้องเพลงคาราโอเกะ ตะโกนจนสุดเสียง ลิเกก็เล่นแล้วตะโกนจนสุดเสียงเช่นเดียวกัน แม่บ้านทนไม่ไหวต้องออกไปขี่จักรยานในหมู่บ้านให้พ้นจากเสียงดังจนหูแทบแตก เลขาฯเองก็ต้องหมกตัวอยู่ในห้องเปิดแอร์ เปิดทีวีพยายามกลบเสียง แต่เสียงในคืนนี้ดังมากๆจนทีวีกลบไม่อยู่ จนเมื่อเวลาประมาณ 20:00 เลขาฯก็เอาที่อัดเสียงมาเปิดอัด โดยตั้งไว้ที่เก้าอี้นั่งด้านนอกตัวบ้านที่ชอบนั่งพักผ่อนประจำ ห่างจากกำแพงหลังบ้าน 3-4 เมตร  การอัดเสียงนี้รุ่นพี่ท่านหนึ่งที่เคยพบปัญหาแบบนี้มาก่อนแนะนำว่าควรอัดเก็บไว้อย่างน้อยก็เป็นหลักฐาน ลองค้นหาในอินเตอร์เน็ต มีคนบอกว่าให้อัดทั้งในบริเวณบ้านและไปอัดใกล้ต้นกำเนิดเสียงด้วย แต่เลขาฯคงจะทนไปอัดหน้าเวทีลิเกไม่ไหวหรอกค่ะ หูจะบอดไปเสียก่อน ที่ได้ทำไปแล้วคืออัดเสียงทั้ง 5 ชั่วโมงที่ทางเวทีใช้เครื่องขยายเสียงเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม และเสียงดังมากในช่วงเวลา 20:00-21:00 ของวันที่ 11 พฤษภาคม

   เช้าวันนี้ (12 พฤษภาคม) เลขาฯจึงโทรศัพท์ไปที่เทศบาล ต่อตรงไปยังฝ่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม คราวนี้ได้พูดกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยตรง เธอบอกว่าได้ไปดำเนินการแจ้งให้ทางตลาดและเวทีลิเกทราบแล้วเมื่อวานนี้ เลขาฯจึงถึงบางอ้อว่าเจ้าหน้าที่หญิงสาวที่เห็นนั่นเองคือผู้มาดำเนินการ เธอบอกว่าไม่ได้พบเจ้าของตลาดเนื่องจากเจ้าของตลาดประสบอุบัติเหตุ จึงบอกไว้กับผู้ช่วยผู้ดูแลตลาด หรือ รปภ. เธอเองก็ไม่แน่ใจ เมื่อไปที่เวทีลิเกก็ไม่ได้พบหัวหน้าคณะลิเก เธอจึงบอกความไว้กับสมาชิกคณะลิเกคนหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ทราบว่าด้วยการดำเนินการนี้ของเธอหรือไม่ ทำให้ในช่วงกลางคืนเสียงจึงยิ่งดังขึ้นจากวันก่อนๆ และในช่วงท้ายก่อนลิเกจะเลิก พิธีกรยังพูดด้วยว่า “ต้องขอโทษบ้านใกล้เคียงด้วย ถ้าเสียงดังเกินไปพรุ่งนี้ขอให้ใช้เด็กหรือเดินมาบอกด้วยนะครับ”

   เลขาฯ รู้สึกเบื่อหน่ายเหลือเกินแล้ว คณะลิเกบอกว่าเสียงดังเมื่อไหร่ให้ไปบอก เลขาฯและแม่บ้านรวมทั้งบ้านอื่นๆก็บอกไปหลายต่อหลายครั้ง เมื่อมีคนไปพูดก็ลดเสียง เวลาผ่านไปก็เพิ่มเสียงอีก หมายความว่าผู้อยู่อาศัยรอบข้างต้องเดินไปบอกทุกวันหรืออย่างไร ทำไมเมืองไทยจึงไม่มีการป้องกันหรือมีมาตรการหยุดเสียงดังรบกวนให้ได้อย่างรวดเร็วบ้าง  หากมีกฎหมายกำหนดว่าห้ามทำเสียงรบกวนเกินกี่เดซิเบลลงไปให้แน่ชัด ก็จะสามารถทำการตรวจวัดให้ชัดเจนได้ว่าเสียงดังเกินหรือไม่ สามารถบังคับให้ลดเสียงลงในทันทีได้ ผู้เสียหายก็ไม่ต้องทนทรมานระหว่างรอการดำเนินการที่ไม่เห็นว่าจะเป็นผลแต่อย่างใด   

   เจ้าหน้าที่สาวท่านนั้นยังบอกอีกว่า คณะลิเกจะอยู่ถึงวันที่ 16 หรือ 17 พฤษภาคมนี้เท่านั้น คงมีในวงเล็บว่า ทนอีกหน่อยเดียวค่ะ วันนี้เธอจะเข้ามาที่สำนักงานเพื่อเอาเอกสารมาให้เลขาฯเซ็น ซึ่งก็คงเป็นเอกสารรับรองว่าเจ้าหน้าที่ได้มาดำเนินการแล้วจริงๆ คิดว่าจะชวนเธอเดินไปคุยกับคณะลิเกด้วยกันตามคำเชื้อเชิญเมื่อคืนนี้ หวังว่าจะมีผลอะไรดีๆเกิดขึ้นมาบ้าง

   คนใกล้ตัวหลายคนเตือนเลขาฯว่าอย่าเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้นัก อดทนปล่อยให้ผ่านไปดีกว่า อย่าไปสร้างศัตรู สุดท้ายแล้วคนไทยก็เป็นเช่นนี้ ฝ่ายที่ลุกขึ้นกระทำจะมีอำนาจเหนือกว่าเสมอ เพราะผู้ถูกกระทำ ผู้เสียหาย เป็นผู้มีความอดทนมีความอะลุ่มอล่วยสูง และกฎหมายของเรายังไม่ครอบคลุม ที่มีอยู่ก็มีค่าเพียงแค่แผ่นกระดาษเท่านั้นเอง

    

(เผชิญมลพิษทางเสียง ตอนที่  1  2  3  4  5 )

หมายเลขบันทึก: 357963เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2010 12:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท