เผชิญมลพิษทางเสียง


ทำไมเราซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยมาก่อน จึงต้อง หนี ไม่มีกฏหมายคุ้มครองการอยู่อาศัยอย่างสงบบ้างหรือ? และถ้ามี หน่วยงานใดจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ? เทศบาล ตำรวจ กรมควบคุมมลพิษ หรือหน่วยงานอื่น ? ควรร้องเรียนไปที่ไหนอย่างไร

 

   ช่วงนี้ที่มูลนิธิกำลังเผชิญมลพิษทางเสียงอย่างหนักหน่วง เลขาฯไปพักผ่อนมาหนึ่งสัปดาห์ กลับมาเมื่อเย็นวันที่ 27 เมษายน ก็พบกับเสียงดังสนั่นจากเวทีลิเกที่มาตั้งอยู่ในตลาดหลังบ้านที่ชื่อว่าตลาดธนทรัพย์ ต้องปิดประตูหน้าต่างหมดเสียงดังถึงจะอยู่ในระดับที่พอทนได้ แม่บ้านเล่าว่า ได้บอกเจ้าของตลาดแล้วว่าเสียงดังรบกวน เจ้าของตลาดบอกให้ไปคุยกับหัวหน้าคณะลิเกเอง พอไปคุย หัวหน้าคณะก็บอกว่าจะลดเสียงให้

   ทุกวันเวทีลิเกคณะ ระพิน ไพรวัลย์ จะเริ่มเปิดเสียงเวลา 16:30 น. เริ่มด้วยการเปิดสปอตโฆษณาคณะลิเกซ้ำ 2-3 รอบ เชิญชวนให้พ่อแม่พี่น้องมาติดต่อไปเล่นงานต่างๆ บอกเบอร์โทรศัพท์พร้อมเรียบร้อย ช่วงนี้เสียงจะดังแสบแก้วหูมาก หลังจากนั้นจะเป็นเสียงสดของพิธีกร กล่าวขอบคุณแม่ค้าในตลาดและเจ้าของตลาดที่ให้การสนับสนุน ความดังของเสียงพอจะทนได้ ต่อไปเป็นการเปิดเพลงสลับกับร้องเพลง เสียงจะค่อยๆดังขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงโหมโรงลิเก ก็เร่งเสียง (เป็นเสียงอัดเทป ไม่ใช่เสียงสด) เต็มที่จนปวดหัวต้องรีบปิดประตูด้านหลังบ้านจึงจะพอทนอยู่ได้  หลังจากนั้นเป็นการแสดงผลัดเปลี่ยนไปในแต่ละวัน บางวันเป็นคอนเสิร์ตร้องโดยนักร้องวงลิเก บางครั้งก็เปลี่ยนเป็นคาราโอเกะให้พ่อค้าแม่ค้าและคนเดินตลาดได้ขึ้นมาตะเบ็งเสียงร้องเล่นเต้นกันสุดเหวี่ยง บางวันเป็นตลกไม่ทราบว่าคณะอะไร ความดังของเสียงขึ้นอยู่กับความมันส์ของการแสดง แต่ไม่เคยอยู่ในระดับที่ฟังได้เพราะสักวัน เสียงมักจะดังเต็มที่ช่วงประมาณสองทุ่มครึ่ง เพื่อเรียกคนเข้ามาดูลิเกที่จะเริ่มประมาณสามทุ่มตรง ความดังของเสียงลิเกก็จะขึ้นอยู่กับบทบาทในตอนนั้น ซึ่งแทบทุกวันจะต้องมีบทตวาดสุดเสียง ถึงแม้จะปิดประตูหน้าต่างมิดชิดและเปิดแอร์ก็ยังได้ยิน ต้องเปิดเพลงในห้องให้เสียงดังกลบจึงจะหลบหนีจากเสียงลิเกได้

   เลขาฯเป็นคนไม่ชอบอยู่ในห้องแอร์นานๆ อดทนเปิดหน้าต่างอยู่ 2 วัน  พอถึงวันที่สามก็รู้สึกกระสับกระส่ายอยากทำอะไรสักอย่าง ในวันที่ 29 เมษายนจึงไปโพสต์ร้องเรียนที่เว็บไซต์ของเทศบาลปากเกร็ด แล้วก็ต้องมานั่งทนฟังต่อเพราะทราบว่ากว่าเทศบาลจะดำเนินการก็คงต้องรอไปอีกหลายวัน วันนั้นแม่บ้านได้คุยกับหัวหน้าคณะลิเกอีกครั้ง เสียงจากลำโพงเบาลงเล็กน้อยจากระดับที่แทบทนไม่ได้เป็นพอจะพยายามทนได้ แต่ดูเหมือนความเกรงใจกันจะมีอยู่เพียงแค่ไม่กี่วัน ในวันที่ 2 พฤษภาคม เสียงร้องเพลงก็ดังลั่นสนั่นเข้ามาในห้องปิดมิดชิดที่เปิดแอร์ เปิดทีวี พยายามกลบเสียงลิเก จนเลขาฯทนไม่ได้ ต้องออกไปคุยกับเจ้าของตลาด

   เจ้าของตลาดธนทรัพย์เป็นสามีภรรยาที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ภรรยามีทีท่าพยายามจะเจรจาอยู่บ้าง โดยให้บอกว่าเดือดร้อนอย่างไร เลขาฯซักถามได้ความว่า เจ้าของตลาดไปขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงที่เทศบาลไว้เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ แต่ถ้ากิจการไปได้ดีก็อาจจะไปขอต่อใบอนุญาตยืดเวลาออกไปอีก ที่ผ่านมามีอีกบ้านหนึ่งซึ่งอยู่ด้านหลังคงหนวกหูเหมือนกัน แต่เขาไม่ยอมอดทน ขว้างปาก้อนหินและไม้ท่อนใหญ่ๆออกมาใกล้เวที เจ้าของตลาดเล่าว่า คณะลิเกนี้เป็นนักศึกษาที่พยายามหาเงินไปเรียนหนังสือ ... แล้วก็มองหน้าเลขาฯ คนพูดคงวงเล็บต่อท้ายไว้ว่า ช่วยเขาหน่อยเถอะ อย่าไปขัดขวางเด็กๆเลย ... แต่เลขาฯคงเป็นคนโหดเหี้ยม เพราะไม่เห็นว่าความดีในการพยายามหาเงินเรียนหนังสือเอง จะมาหักล้างความผิดในการรบกวนความสงบของผู้อื่นได้อย่างไร

   ในวันนั้นเลขาฯพูดคุยกับเจ้าของตลาดอยู่นาน ช่วงแรกเจ้าของตลาดพยายามยืนยันว่า คณะลิเกหันลำโพงออกมาทางหน้าตลาด ไม่ได้หันไปด้านมูลนิธิ (เลขาฯเคยร้องเรียนเรื่องร้านซีดีเปิดเพลงเสียงดังมากและหันลำโพงไปด้านมูลนิธิมาก่อนแล้ว และการหันลำโพงไปทางอื่นช่วยแก้ไขปัญหาได้) แต่เลขาฯยืนยันว่าแม้จะหันลำโพงด้านนี้ แต่เสียงก็ยังดังมาก หากเจ้าของตลาดจะไปฟังด้วยกันก็ได้ หลังจากพยายามเจรจาอยู่นาน เจ้าของตลาดก็ยอมไปบอกให้คณะลิเกลดเสียง วันรุ่งขึ้นเวทีลิเกยอมตัดลำโพงออกไปหนึ่งตัว ทำให้เสียงเพลงในช่วงคอนเสิร์ตและคาราโอเกะเบาลงไปมาก แต่เสียงคนก็ยังตะโกนใส่ไมโครโฟนจนแตกพร่า และเสียงดนตรีลิเกก็ยังดังสนั่นอยู่เหมือนเดิม ที่ยังขอบคุณอยู่บ้างคือลิเกเลิกเวลา 21:30 น. ทุกวัน ไม่มีการลากยาวจนดึกกว่านั้น

แผนที่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากเวทีลิเก

แผนที่บ้านที่ถูกรบกวนด้วยเสียงดัง(สนั่น) จากโรงลิเก

   บ้านที่เดือดร้อนเรื่องเสียงมาก เท่าที่ทราบมี 6 หลัง แต่ที่ได้ยินเสียงดังมากคือบ้านที่ 1,2,3 และ 5 เดินสำรวจแล้วพบว่าที่มูลนิธิ (หลังที่ 3) และบ้านประธานมูลนิธิ (หลังที่ 2) เสียงดังมากที่สุด บ้านหลังที่ 1 เองก็จำต้องทน เจ้าของบ้านปลอบใจเลขาฯ (และคงปลอบใจตัวเองด้วย) ว่าคณะลิเกคงอยู่ได้ไม่นานนัก บ้านส่วนใหญ่ไม่อยากมีเรื่อง จึงแก้ปัญหาด้วยวิธีปิดประตูหน้าต่าง เปิดแอร์ หนีเสียงรบกวน  เลขาฯเองก็ไม่อยากมีเรื่อง แต่เสียงดังมากจริงๆ รู้สึกหงุดหงิด แม่บ้านมีอาการปวดหัว และจะตื่นขึ้นมาปวดหัวมากราวกับเส้นเลือดในสมองจะแตกในช่วงดึก เลขาฯเองพักหลังนี้ก็มีอาการปวดหูแบบอื้อๆ  เมื่อทนไม่ไหวก็ออกไปร้องเรียนกึ่งเจรจาบ้าง และในบางขณะก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการพยายาม หนี เสียง เช่นเดียวกัน แต่ก็รู้สึกข้องใจอยู่ดี ว่าทำไมเราซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยมาก่อน จึงต้อง หนี ไม่มีกฏหมายคุ้มครองการอยู่อาศัยอย่างสงบบ้างหรือ? และถ้ามี หน่วยงานใดจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ? เทศบาล  ตำรวจ กรมควบคุมมลพิษ หรือหน่วยงานอื่น ? ควรร้องเรียนไปที่ไหนอย่างไร ท่านใดทราบหรือเคยมีประสบการณ์ช่วยกรุณาเล่าให้ฟังด้วยนะคะ

   

(เผชิญมลพิษทางเสียง ตอนที่  1  2  3  4  5 )

หมายเลขบันทึก: 355948เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2010 08:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

คนหลีกหนี้มลพิษ ที่ตัวเองสร้างขึ้นมา แต่ไม่เลยที่จะหาวิธีนำพิษออกจากตัวเอง

ขอบคุณนะครับ

 

ครูป้อม คนล่าฝัน

http://knonlafhun.blogspot.com/

ต้องการความสงบมากก้อไปอยู่เรือนจำสิ่ค๊ะ ,,, แม่คนญี่ปุ่นนนน !!!~

สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ

อัพพะยาปัชฌา โหนตุ

อะนีฆา โหนตุ

สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ

สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น

จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย

จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย

จงมีความสุขกาย สุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ

สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ

อัพพะยาปัชฌา โหนตุ

อะนีฆา โหนตุ

สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ

มลพิษมันไม่ได้เกี่ยวกับเสียงหรอก มันอาจเป็นที่ตัวคุณเองมากกว่ามั่ง คุณคิดว่าเสียงอะมันเป็นมลพิษของคุณ แล้วคุณไม่คิดบ้างหราว่าคุณก็เป็นมลพิษของสังคมบ้างอะ

ขยะสังคม พวกไม่อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท