เผชิญมลพิษทางเสียง -2


สรุปว่าเรื่องเสียงรบกวนไม่มีหน่วยงานไหนช่วยอะไรได้อย่างรวดเร็วสักที่หนึ่ง ต้องอดทนรอ เสี่ยงกับการหูบอดหรือเป็นบ้า ทางเดียวที่จะช่วยได้ก็คือพยายามช่วยตัวเองด้วยการหนีเสียง

  

   วันที่ 3 พฤษภาคม  เวทีลิเกเริ่มเปิดเสียงผ่านลำโพงเวลาประมาณ 16:30 น. เหมือนเคย ฟังแล้วรู้สึกว่าเสียงเบาลง แต่ก็ดังขึ้นจนถึงขั้นแสบแก้วหูอีก โดยเฉพาะช่วงระนาดโหมโรง (เปิดเทป) กับช่วงที่ตัวลิเกมีอารมณ์โกรธ เลขาฯรู้สึกหมดอาลัยในการเจรจา คณะลิเกคงไม่เข้าใจคำว่า เสียงรบกวน

   4 พฤษภาคม ช่วงเช้ามองจากสำนักงานเห็นสมาชิกคณะลิเกที่นอนเฝ้าเวทีลุกขึ้นมานั่ง จึงชวนแม่บ้านออกไปพูดคุยโดยตรง แรกสุดได้พบกับสมาชิกชายที่มีอายุหน่อย ทราบภายหลังว่าเป็นตัวตลก เลขาฯจึงบอกกับเขาตรงๆว่าเสียงลิเกดังไปที่บ้านหนวกหูมาก ขอให้ลดเสียงหน่อยได้ไหม เขาบอกว่าที่จริงแล้วการแสดงก็เป็นช่วงสั้นๆถึงแค่สามทุ่มครึ่งเท่านั้นเอง เลขาฯแย้งว่าอาจจะสั้นสำหรับเขาแต่สำหรับที่บ้าน การมีเสียงรบกวนตั้งแต่สี่โมงครึ่งถึงสามทุ่มครึ่งเป็นเวลา 5 ชั่วโมงติดต่อกันนั้นไม่สั้นเลย และเสียงก็ดังมากในระดับที่แค่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ทนไม่ได้ ต้องปิดประตูหน้าต่างพยายามหนีเสียงให้ได้มากที่สุด  เขาก็บอกว่าจะลดเสียงให้ แต่ช่วงโหมโรงประมาณแค่ 1 ชั่วโมงนั้นต้องเสียงดัง เลขาฯพยายามบอกเขาว่าช่วงโหมโรงนั่นแหละที่เสียงดังรบกวนมากที่สุด และความดังใน 1 ชั่วโมงที่ว่านั้นก็แทบจะทำให้เป็นบ้า

   ตัวตลกทำท่าฮึดฮัดขึ้นมาทันที และต่อว่าว่าเลขาฯไม่พยายามเข้าใจ ในการเล่นลิเกการไหว้ครูนั้นต้องเสียงดัง ขอเพียงช่วงเวลาโหมโรงเท่านั้น ส่วนช่วงอื่นจะลดเสียงให้ ซึ่งเงื่อนไขนี้ยอมรับได้ยากมากจริงๆในระดับความดังที่เป็นอยู่ พยายามชี้แจงให้เขาเข้าใจเรื่องระดับเสียงที่เหมาะสม และครูลิเกในสมัยที่วิทยาการด้านเครื่องขยายเสียงยังไม่พัฒนา(ลง)ถึงขั้นนี้ก็ไม่ได้ฟังเสียงดังขนาดนี้ ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไรมิไช่หรือ

   การเจรจาทำท่าว่าจะไม่เป็นผล ก็พอดีมีตัวลิเกอีกตัวหนึ่งเดินออกมาสมทบ คนนี้เป็นคนหนุ่ม พูดจาสมเป็นชาวคณะลิเก มีการออดอ้อนขอความเห็นใจ แสดงความเห็นใจ เข้าใจ แถมชักชวนให้เลขาฯ “เปิดใจหน่อยสิครับ ลองมานั่งดูพวกผมบ้าง แล้วพี่อาจจะชอบก็ได้”  

   ที่จริงเลขาฯก็เคยดูลิเกมาก่อน เคยดูในหมู่บ้านที่พิษณุโลก แล้วก็พบว่าฟังลิเกได้เพราะในระยะห่างประมาณ 1 กิโลเมตร ได้ยินเสียงลอยมาตามลม นั่นแหละเพราะที่สุด  หน้าเวทีไม่ใช่ที่ของเลขาฯเลย เพราะเสียงดังมาก ยืนดูอยู่ต้องเอามืออุดหูตลอดเวลา ยืนอยู่ได้ไม่ถึงห้านาทีก็ต้องรีบหนีไปให้ไกลจากลำโพง

   ระหว่างการเจรจา เลขาฯก็ได้ซักถามเรื่องราวของคณะลิเกไว้พอประดับความรู้ คณะนี้จริงๆมาจากจังหวัดกาญจนบุรี เร่ร่อนมาตั้งตามตลาดนัด พอให้คนติด(ฟังสปอตฟังลิเกจนชื่อติดหู)ก็จะย้ายไปที่ใหม่ ส่วนจะอยู่ที่หนึ่งนานเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เขาขอร้องให้เห็นใจคณะลิเกเร่ร่อนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งมีเด็กวัยรุ่นยังเป็นนักศึกษาหารายได้ระหว่างเรียนอยู่หลายคน (แต่ก็เห็นหลังลิเกเลิกมีรถยนต์วิ่งเข้ามารับหลายคัน) ที่จริงก็อยากจะเห็นใจอยู่หรอกค่ะ ถ้าเสียงที่ใช้อยู่ในระดับปกติไม่ทำลายประสาทหู

   การเจรจาในช่วงเช้าจบลงที่ลิเกคนหนุ่มบอกว่าจะหรี่เสียงให้ แต่เลขาฯไม่ไว้ใจเสียแล้ว เพราะมีชาวลิเกที่เห็นต่าง และการเจรจาผ่านเจ้าของตลาดก็ไม่เห็นผล จึงไปที่เทศบาลนครปากเกร็ด แจ้งร้องเรียนไว้อย่างละเอียด โดยเขียนแถมท้ายไปว่า  “ทราบว่าทางตลาดขอใช้เครื่องเสียงไว้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หากจะมีการพิจารณาต่ออายุ ก็อยากขอให้มีการตกลงกันเรื่องระดับเสียงก่อน มิเช่นนั้นก็ไม่ควรอนุญาต เพราะมีผู้เดือดร้อนจากเสียงรบกวน”

   เจ้าหน้าที่รับเรื่องที่เขตบอกว่า “เขาขอไว้แค่สองอาทิตย์เองไม่ใช่หรือ? ได้ยินว่าเป็นลิเกเด็กกำพร้าด้วยนี่” ดูเหมือนว่าการมีเด็กกำพร้าอยู่ในคณะจะกลายเป็นเหตุผลที่ดีในการทำมาหากิน และคงทำให้หลายคนฟังเสียงดังหูแตกให้กลายเป็นเสียงเพราะเสนาะหูไปได้ อย่างไรก็ตาม เทศบาลก็ต้องใช้เวลาส่งเรื่องไปที่ฝ่ายวิชาการ หลังจากไปเทศบาลเลขาฯค้นหาช่องทางอื่นๆก็พบว่าสามารถโทร.ไปสายด่วนกรมควบคุมมลพิษ 1650 เพื่อร้องเรียนได้ เลขาฯลองโทร.ไปแม้จะทำใจแล้วว่ากรมนี้ที่จริงแล้วคือกรมตรวจวัดมลพิษเฉยๆไม่ค่อยจะมาควบคุม และคงไม่สนใจเรื่องร้องเรียนเล็กๆน้อยๆแบบนี้

   สายด่วนกรมควบคุมมลพิษ ถามทันทีที่บอกว่าร้องเรียนเรื่องเสียง "จะร้องเรียนโรงงานอะไร?" แสดงว่าคนส่วนใหญ่จะร้องเรียนเสียงจากโรงงาน พอเลขาฯบอกว่าร้องเรียนลิเกในตลาด เจ้าหน้าที่ก็ถามทันทีว่า "ไปร้องเรียนที่เทศบาลแล้วหรือยัง?" เมื่อเห็นว่าไปแล้วก็บอกว่าทำถูกต้องแล้ว หลังจากนี้ก็ให้รอ เลขาฯจึงถามข้อสงสัยที่มีคนบอกว่าให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าไม่ใช่เรื่องขัดแย้งรุนแรงตำรวจก็จะไม่ทำอะไร ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่อยากรู้ คือเรื่องการตรวจวัดเสียงรบกวน ว่าเทศบาลจะมีเครื่องมือหรือไม่ หรือว่าต้องมายืมที่กรมควบคุมมลพิษ เจ้าหน้าที่ค่อนข้างแน่ใจว่าเทศบาลจะมีและจะมาตรวจวัดให้ได้ สรุปว่าเรื่องเสียงรบกวนไม่มีหน่วยงานไหนช่วยอะไรได้อย่างรวดเร็วสักที่หนึ่ง ต้องอดทนรอ เสี่ยงกับการหูบอดหรือเป็นบ้า ทางเดียวที่จะช่วยได้ก็คือพยายามช่วยตัวเองด้วยการหนีเสียง 

   มีคนบอกว่าหากเป็นที่สหรัฐอเมริกา มีการใช้เสียงดังรบกวนแบบนี้ สามารถโทร.ไปที่ 911 จะมีเจ้าหน้าที่มาทันที ส่วนที่ญี่ปุ่นก็มีสายด่วน 110 ที่จะมีตำรวจมาทันทีเหมือนกัน แต่ที่นี่เป็นเมืองไทย อย่าหวังพึ่งทั้ง 191 และสถานีตำรวจ รับรองไม่มีใครมาแน่ ไปร้องเรียนเทศบาลก็คงไม่มีผล เพราะคนที่ขออนุญาตก็คงยัดใต้โต๊ะ กฎหมายไทยก็ไม่เข้มงวด ร้องเรียนไปก็คงไม่ได้อะไร เพื่อนผู้มีประสบการณ์บอกว่ากว่าเทศบาลจะมาดูแลก็ประมาณสองอาทิตย์ ลิเกก็เลิกพอดี หลายคนบอกว่า อดทนไปเถิด อย่าสร้างศัตรูดีกว่า

   แต่ก็ไม่น่าเชื่อนะคะ เย็นวันนั้นเสียงทั้งดนตรีและคนร้องของเวทีลิเกเบาลงไปมาก ได้ข่าวว่าเขาหันลำโพงไปอีกด้านหนึ่ง หากอยู่ในห้อง ปิดประตูหน้าต่าง เปิดแอร์ ก็แทบจะไม่ได้ยินเสียงเลย หากอยู่นอกบ้านก็จะได้ยินเสียงดังใกล้เคียงกับในโรงภาพยนตร์

   วันรุ่งขึ้น แม่บ้านนำข่าวมาบอกว่า แม่ค้าในตลาดบางคนก็หนวกหูมากเช่นเดียวกัน มีเจ้าหนึ่งถึงกับบอกว่า ถ้าไม่ลดเสียงลงจะไม่ให้เงินเวลาที่ลิเกถือตะกร้ามาขอบริจาค ผู้ช่วยผู้ดูแลตลาดที่ได้ทราบว่าเลขาฯไปร้องเรียนที่เทศบาล ก็ทำหน้าละห้อย บอกว่าไม่น่าจะต้องทำถึงขนาดนั้นเลย

   นับว่าเป็นโชคดีของเลขาฯ ที่การเจรจาและต่อสู้จากหลายๆฝ่ายได้ผลถึงขั้นหนึ่ง แม้ว่าความเงียบสงบที่ต้องการจะยังไม่กลับคืนมา (เฮ้อ ... จะมีโอกาสได้กลับคืนมาหรือเปล่าก็ไม่ทราบ) แต่ก็พอจะอดทนอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องเผชิญหน้าหรือเกิดความรุนแรงใดๆ ได้แต่หวังว่าระดับเสียงคงจะไม่ดังขึ้นกว่านี้อีก

   

(เผชิญมลพิษทางเสียง ตอนที่  1  2  3  4  5 )

หมายเลขบันทึก: 356753เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2010 18:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท