ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 7(หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง-ปัจจุบัน )(วัฒนธรรม การศึกษา กฎหมายและการศาล)


วัฒนธรรม การศึกษา กฎหมายและการศาล

ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 7(หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง)-ปัจจุบัน

…………………….

1. การพัฒนาปรับปรุงด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี

            ประเทศไทยเราในยุคใหม่นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้วนี้ ก็ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงด้านวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีอยู่เนืองๆ ทั้งนี้เพื่อความเหมาะสมแก่สภาวการณ์ในปัจจุบันและเพื่อให้ชาติไทยเรา สามารถดำรงอยู่ในสังคมนานาชาติด้วยดี วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสรุปได้ดังนี้

            1. การแต่งกาย

                        - พ.ศ.2475 รัฐบาลได้ประกาศให้ข้าราชการเลิกนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน โดยให้เปลี่ยนมานุ่งกางเกงขายาวตามแบบฝรั่ง แต่ยังไม่เป็นการบังคับ คงผ่อนผันให้ข้าราชการนุ่งผ้าม่วงได้บ้าง

                        - พ.ศ.2478 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการแต่งกายข้าราชการพลเรือนออกมาบังคับใช้ โดยให้ข้าราชการเลิกนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนอย่างเด็ดขาด และได้กำหนดเครื่องแบบการแต่งกายของข้าราชการพลเรือนขึ้นใหม่เป็นแบบสากล ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

            2. พ.ศ.2476 เลิกพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่เคยมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

            3. วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2482 รัฐบาลไทยได้ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "ประเทศสยาม" มาเป็น "ประเทศไทย"

            4. รัฐบาลได้ประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน มาเป็นวันที่ 1 มกราคม ตามแบบสากล เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม  พ.ศ.2484

            5. พ.ศ.2484 รัฐบาลประกาศห้ามราษฎรนุ่งโจงกระเบน

            6. พ.ศ.2484  รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศเลิกใช้บรรดาศักดิ์ของข้าราชการ เช่น ขุน หลวง พระ พระยา เจ้าพระยา โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าไม่เหมาะสมกับประเทศที่มีการปกครองแบบประฃชาธิปไตย แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่มาเป็นนายควง  อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการนำเอาบรรดาศักดิ์กลับมาใช้อีก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2487

            7. พ.ศ.2484 รัฐบาลมีคำสั่งห้ามราษฎรกินหมาก และบังคับให้ราษฎรทุกคนต้องสวมหมวกเวลาออกนอกบ้าน ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดต้องถูกปรับ

            8. พ.ศ.2483  รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตราพระราชบัญญัติบำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติ และได้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ใหม่เมื่อปี พ.ศ.2485 โดยมีการตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ปรับปรุง บำรุง และส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติไทย กิจกรรมต่างๆ ในการฟื้นฟูและปรับปรุงวัฒนธรรมไทยเท่าที่ได้ดำเนินไปในครั้งนั้นได้แก่

                        - วัฒนธรรมเกี่ยวกับการแต่งกาย เช่น การแต่งกายไว้ทุกข์ในงานศพ

                        - วัฒนธรรมเกี่ยวกับครอบครัว ได้แก่ กำหนดการพิธีสมรสของคนไทย

                        - วัฒนธรรมเกี่ยวกับการนบริโภค ได้แก่ การวางระเบียบการบริโภคอาหาร การใชช้อนส้อมเป็นเครื่องมือรับประธานอาหาร

                        - วัฒนธรรมเกี่ยวกับสังคม ได้มีการประกาศห้ามบ้วนน้ำลาบ น้ำหมากลงบนถนนหลวง หรือสาธารณสถาน มารยาทในการโดยสารรถประจำทาง

            9. การฟื้นฟูขนบธรรมเนียมไทยในปัจจุบัน

                        ในสมัยจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญของชาติหลายอย่าง เช่น

                        - ได้ฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในวันพืชมงคลทุกปี ซึ่งพิธีนี้ได้เลิกร้างไปเกือบ 30 ปี กลับมีขึ้นใหม่เป็นประจำทุกปี ณ ท้องสนามหลวง ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา

                        - ฟื้นฟูพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา จัดให้มีพิธีเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนามของนายทหารรักษาพระองค์ขึ้น ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ตามอาคารบ้านเรือนให้มีการตกแต่งโคมไฟและประดับธง ให้ถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันชาติไทย เลิกถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ เริ่มปฏิบัติตั้งแต่ พ.ศ.2503

                        - พ.ศ.2504 ได้รื้อฟื้นพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค อันเป็นกระบวนแห่ทางเรือตามโบราณราชประเพณี

                        - พ.ศ.2523 ได้มีการอนุมัติให้ใช้แบบเสื้อพระราชทาน (ชุดไทย) แทนชุดสากลได้ โดยมีแบบและโอกาสสวมใส่ดังนี้

                        ก. ชุดไทยแขนสั้น โดยใช้สีเรียบจาง ลวดลายสุภาพ ใช้ได้ในโอกาสธรรมดาทั่วไป หรือในการปฏิบัติงาน หรือใช้ในพิธีการกลางวันและอาจใช้สีเข้มในพิธีการตอนกลางคืน

                        ข. ชุดไทยแขนยาว ใช้สีเรียบจางมีลวดลายสุภาพ ใช้ในโอกาสพิธีกลางวัน และใช้สีเข้มในโอกาสพิธีกลางคืน

                        ค. ชุดไทยแขนยาวคาดเอว ใช้ในโอกาสพิธีการที่สำคัญมากๆ

                        ง. ในพิธีงานศพใช้เสื้อแขนสั้นหรือแขนยาว กางเกงสีดำหรือสีขาวทั้งชุด หรือสีดำทั้งชุด ไม่ติดแขนทุกข์

------------------------------------

 

จงตอบคำถามต่อไปนี้

            1. การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ประเพณีของไทยมีผลต่อการดำรงอยู่ในสังคมนานาชาติด้วยดีอย่างไร

            2. นักเรียนคิดว่า วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีใด ที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแล้ว

ทำให้คนไทยเกิดความภาคภูมิใจมากที่สุด เพราะอะไร

2. การพัฒนาด้านการศึกษา

            ภายหลังที่ได้มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยแต่ละคณะ ต่างก็ได้พยายามทำนุบำรุงและพัฒนาการศึกษาตลอดมา และได้มีการประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาด้านการศึกษาขึ้น นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา ได้มีการใช้แผนการศึกษาแห่งชาติมาแล้ว 6 ฉบับคือ

            1. แผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2475 ในแผนการศึกษาฉบับนี้เน้นให้การศึกษา 3 ส่วน คือ จริยศึกษา เป็นการอบรมศีลธรรมอันดีงาม พุทธิศึกษา ให้ปัญญาความรู้ และพลศึกษา เป็นการฝึกหัดให้เป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์

            2. แผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2479 แผนการศึกษาฉบับนี้ได้ปรับปรุงมาจากแผน ปี พ.ศ.2475 โดยปรับปรุงให้เหมาะสมกับกาลสมัยมากขึ้น แต่ยังคงเน้นให้การศึกษาทั้ง 3 ด้าน

            3. แผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2494 ในแผนนี้ได้เพิ่ม หัตถกรรม คือการฝึกหัดอาชีพและการประกอบอาชีพเข้ามาอีกรวมเป็น 4 ส่วน และได้มีการกล่าวถึงการศึกษาพิเศษและการศึกษาผู้ใหญ่ด้วย

            4. แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 แผนนี้ได้นำเอาแผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2494 มาปรับปรุงใหม่ เพื่อสนองความต้องการของสังคมและบุคคล โดยให้สอดคล้องกับการปกครองประเทศ จัดเน้นให้การศึกษา 4 ส่วน  และได้จัดระบบการศึกษา เป็น 7:3:2 (ประถม 7 ปี มัธยมต้น 3 ปี มัธยมปลาย 2 ปี)

            5. แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2520 ในแผนนี้ต้องการปรับปรุงแผนการศึกษาให้สนองความต้องการและการเปลี่ยนแปลงในสังคม เพื่อสามารถอบรมพลเมืองให้ตระหนักและเห็นคุณค่าของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จัดระบบการศึกษาเป็น 6:3:3 โดยได้ลดชั้นประถมลง 1 ปี และเพิ่มชั้นมัธยมปลาย 1 ปี แต่เวลาเรียนยังเป็น 12 ปี เท่ากับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503

            6. แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2535 แผนนี้ได้ปรับปรุงมาจากแผนการศึกษา พ.ศ.2520 เพื่อให้ระบบการศึกษาสนองตอบความต้องการและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว และสร้างความสมดุลในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดการศึกษาในระบบ 6:3:3

            ในปี 2542 รัฐสภาได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาฉบับหนึ่งมีชื่อเรียกว่า "พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542" นับได้ว่าเป็น กฎหมายฉบับแรกเกี่ยวกับการศึกษาไทย มีทั้งหมด 9 หมวด 1 บทเฉพาะกาล คือ หมวดที่ 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ  หมวดที่ 2 สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา  หมวดที่ 3 ระบบการศึกษา  หมวดที่ 4 แนวการจัดการศึกษา   หมวดที่ 5 การบริหารและการจัดการศึกษา  หมวดที่ 6 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา  หมวดที่ 7 ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา  หมวดที่ 8 ทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา  หมวดที่ 9 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และบทเฉพาะกาล      

            การจัดการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นี้ยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน การมีส่วนร่วมของสังคม และการพัฒนากระบวนการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

            ระบบการศึกษา การจัดการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นี้ มี 3 รูปแบบ คือ

            - การศึกษาในระบบ มีจุดมุ่งหมาย วิธีการ หลักสูตร ระยะเวลาการจัด และประเมินผลที่ชัดเจนแน่นอน

            - การศึกษานอกระบบ ยืดหยุ่นในจุดมุ่งหมาย วิธีการ และระยะเวลา ส่วนหลักสูตร การวัดและประเมินผลมีความชัดเจนแน่นอน

            - การศึกษาตามอัธยาศัย จัดให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพตามความพร้อมและโอกาส

            การศึกษาในระบบ มี 2 ระดับ คือ

            - การศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการที่รัฐจัดการศึกษาให้ประชาชนไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

            - การศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นการศึกษาที่จัดหลังการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งเป็นระดับต่ำกว่าปริญญา และระดับปริญญา

            การจัดการศึกษาภาคบังคับ กำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี โดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่ 7 เข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จนย่างเข้าปีที่ 16 เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่ 9 ของการศึกษาขั้นพื้นฐาน

            สถานศึกษาที่จัดการศึกษาจำแนกได้ดังนี้คือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งออกเป็น สถาน

พัฒนาเด็กเด็กปฐมวัย โรงเรียนและศูนย์การเรียน  การศึกษาระดับอุดมศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัย สถาบัน วิทยาลัย หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น การศึกษาเฉพาะทาง เช่น โรงเรียนทหาร ตำรวจ พยาบาล เป็นต้น

            ในการจัดการศึกษานั้นถือหลักผู้เรียนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด การจัดการศึกษาต้องเน้นความรู้ คุณธรรม   การประเมินผลให้สถานศึกษาจัดประเมินผู้เรียนโดยพิจารณาจาก พัฒนาการของผู้เรียน สังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรมและทดสอบควบคู่กัน

            การบริหารและการจัดการศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนของรัฐ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และของเอกชน

จงตอบคำถามต่อไปนี้

  1. การจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เน้นเรื่องใดเป็นสำคัญ เพราะอะไร
  2. ระบบการศึกษาของไทยปัจจุบันนักเรียนคิดว่าสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนได้เป็นอย่างดีหรือไม่ ให้เหตุผลประกอบด้วย 

3. กฎหมายและการศาล

            หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 กฎหมายและการศาลของไทยได้มีการพัฒนาและปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น ด้านกฎหมายเรามีประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ และวิธีพิจารณาคดีที่ใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนสืบพยานที่ให้ความเป็นธรรมแก่โจทย์และจำเลย ในสมัยรัชกาลที่ 8 ไทยเราสามารถยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ได้สำเร็จโดยสิ้นเชิง

            - พ.ศ.2475 ได้แบ่งศาลออกเป็น 2 แผนกคือ ศาลสถิตยุติธรรมกรุงเทพ ประกอบด้วยศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลพระราชอาญา ศาลแพ่ง ศาลคดีต่างประเทศ ศาลโปลิสสภา และศาลหัวเมือง ประกอบด้วย ศาลมณฑล ศาลจังหวัด และศาลแขวง

            - พ.ศ.2476 มีพระราชบัญญัติยุบเลิกมณฑล ได้กำหนดจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น จังหวัด อำเภอ จึงได้มีการเลิกศาลมณฑลด้วย ให้ศาลมณฑลเดิมเป็นศาลจังหวัด

            - พ.ศ.2478 ได้แบ่งศาลยุติธรรมเป็น 3 ชั้น คือ

               1. ศาลชั้นต้น

               2. ศาลอุทธรณ์                                                                                       

             3. ศาลฎีกา 

            - พ.ศ.2494 ได้จัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนขึ้นในกรุงเทพและต่างจังหวัด เช่นที่สงขลาและอุบลราชธานี ศาลคดีเด็กและเยาวชนจัดอยู่ในศาลชั้นต้น

            - พ.ศ.2520 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแพ่งธนบุรี และศาลอาญาธนบุรี เพื่อพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดธนบุรีเดิม จัดเป็นศาลชั้นต้นสำหรับกรุงเทพ

            - พ.ศ.2523 ได้จัดตั้งศาลแรงงานกลางขึ้นในกรุงเทพ

             เขตอำนาจและอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลต่างๆ มีดังนี้

            1. ศาลชั้นต้น เป็นศาลที่รับฟ้องชั้นเริ่มคดี ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีล้มละลาย เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ แบ่งเป็น

                        1.1 ศาลแขวง ปัจจุบันศาลแขวงมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 40,000 บาท และคดีอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท

                        1.2 ศาลจังหวัด ปัจจุบันศาลจังหวัดมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง คดีอาญา ทั้งปวงในเขตศาลมีอยู่ทุกจังหวัด

                        1.3 ศาลแพ่ง ปัจจุบันศาลแพ่งมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีแพ่งทั้งปวงในเขตศาล ประกอบด้วย ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี

                        1.4 ศาลอาญา ปัจจุบันศาลอาญามีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงในเขตศาล ประกอบด้วยศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี

                        1.5 ศาลเยาวชนและครอบครัว ปัจจุบันศาลเยาวชนและครอบครัวมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ผู้กระทำความผิดเป็นเด็กหรือเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี คดีแพ่งที่เกี่ยวกับผู้เยาว์และครอบครัว ประกอบด้วย ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด และศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

                        1.6 ศาลแรงงาน พิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับแรงงาน

                        1.7 ศาลภาษีอากร พิจารณาคดีแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีอากร

                        1.8 ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ พิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาอันเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

                        1.9 ศาลล้มละลาย พิจารณาพิพากษาคดีล้มละลาย

                        1.10 ศาลทหาร เป็นศาลอีกประเภทหนึ่ง สังกัดอยู่ในกระทรวงกลาโหม มี 3 ชั้นคือ ศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารกลาง และศาลทหารสูงสุด มีอำนาจชำระคดีอาญาที่ทหารและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับราชการทหารเป็นจำเลย แต่ไม่มีอำนาจชำระคดีแพ่ง

               2. ศาลอุทธรณ์  พิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้น มี 10 แห่ง ได้แก่ ศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 1-9

               3. ศาลฎีกา เป็นศาลสูงสุดมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีที่ฎีกาคำสั่งหรือคำพิพากาาของศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค หรือคดีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

            การอุทธรณ์หรือฎีกา                    

            1. เมื่อศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว ถ้าเป็นคดีที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือต้องห้ามฎีกาโจทก์จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาดปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา โดยยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้วแต่กรณีให้จำเลยฟัง

            2. กรณีจำเลยถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ จำเลยอาจนำอุทธรณ์หรือฎีกายื่นต่อพัศดีภายในกำหนด 1 เดือนดังกล่าวก็ได้

            3. กรณีที่โจทก์อุทธรณ์หรือฎีกา เมื่อจำเลยได้รับสำเนาอุทธรณ์หรือสำเนาฎีกาของโจทก์แล้วจำเลยจะแก้อุทธรณ์หรือฎีกาหรือไม่ก็ได้ หากจะแก้ต้องแก้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันรับสำเนาอุทธรณ์หรือฎีกา

            4. เมื่อศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก หรือกักขังจำเลย จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้

ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาชั้นศาล

            ผู้ต้องหา คือผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดแต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล

            จำเลย คือบุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วเมื่อตำรวจและพนักงานอัยการหมดอำนาจควบคุมผู้ต้องหาแล้วจะต้องยำผู้ต้องหามาขออำนาจควบคุมต่อศาลที่เรียกว่า "ผัดฟ้องหรือฝากขัง"        

การผัดฟ้องและฝากขังในศาลอาญาหรือศาลจังหวัด

            1. ถ้าผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่และพนักงานสอบสวนไม่อาจสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 3 วัน พนักงานสอบสวนต้องส่งผู้ต้องหามาศาล และพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการอาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ขังผู้ต้องหาไว้ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า "ฝากขัง"                                               

            ในกรณีความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูง ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลสั่งขังได้ครั้งเดียวมีกำหนดไม่เกิน 7 วัน แต่ถ้าอัตราโทษเกินกว่านี้ ศาลสั่งขังได้หลายครั้งติดๆ กัน ครั้งหนึ่งไม่เกิน 12 วัน รวมทั้งหมดไม่เกิน 48 วัน เว้นแต่ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ศาลสั่งขังได้รวมทั้งหมดไม่เกิน 84 วัน

            2. ในกรณีจังหวัดใดไม่มีศาลแขวง และศาลจังหวัดนำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้ยังคับ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะต้องขอผัดฟ้องและฝากขังผู้ต้องหาในคดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในศาลแขวงคือ ถ้าไม่อาจฟ้องผู้ต้องหาภายใน 48 ชั่วโมง พนักงานอัยการต้องนำตัวผู้ต้องหามาศาลและยื่นคำร้องของฝากขังและผลัดฟ้องต่อศาล ศาลอนุญาตได้ไม่เกิน 5 คราวๆ ละ ไม่เกิน 6 วัน

            การผัดฟ้องในศาลเยาวชนและครอบครัว

            เมื่อเด็กหรือเยาวชนที่มีอายุไม่ถึง 18 ปี กระทำความผิดอาญาและเป็นกรณีที่จะต้องขึ้นศาลเยาวชนและครอบครัว พนักงานสอบสวนจะต้องสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนมาถึงสถานที่ทำการของพนักงานสอบสวน แล้วส่งตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พนักงานอัยการจะต้องฟ้องศาลภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันจับกุม หากฟ้องไม่ทันจะต้องจะต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้อง ศาลจะอนุญาตได้ไม่เกิน 2 คราว คราวละไม่เกิน 15 วัน เว้นแต่คดีมีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานหนักกว่านั้น ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องได้อีก 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 15 วัน

จงตอบคำถามต่อไปนี้

            1. นักเรียนคิดว่ามีเหตุผลใดที่ต้องมีการแบ่งศาลยุติธรรมเป็น 3 ชั้น คือศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา จงอธิบายและยกเหตุผลประกอบให้ชัดเจน

            2. จงอธิบายคำจำกัดความของคำต่อไปนี้ "ผัดฟ้อง" และ "ฝากขัง"   

 

                     **ข้อมูลเพิ่มเติม**

        *เศรษฐกิจ สังคมศาสนาสมัย ร.1-ร.3* คลิกอ่านได้ครับ
        *ศิลปกรรมและความสัมพันต่างประเทศสมัย ร.1-ร.3* คลิกอ่านได้ครับ
        *การศึกษาและการเลิกทาส สมัย ร.4-ร.5* คลิกอ่านได้ครับ
        *กฎหมายเศรษฐกิจการศาลสมัย ร.4-ร.7* คลิกอ่านได้ครับ
        *ประวัติศาสตร์สมัยร.7-ปัจจุบัน(การปกครอง)* คลิกอ่านได้ครับ 
       

หมายเลขบันทึก: 305275เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
สุทธิพงศ์ นาคขวัญ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลมากเลยคับ มีปรโยชน์ต่อการทำรายงานของผมมากเลยครับ ถ้ามีข้อมูลใหม่ๆๆก็นำมาโพสถ์ด้วยนะคับ

ขอบตุณครับที่ให้ข้อคิดเห็น

ละเอียดดีอ่านเข้าใจง่ายครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท