เชิญเสนอความคิดเห็น - ทำไมต้องสอนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปฐมวัย?


 

วันเสาร์ที่ 10 มกราคม 2552 นี้

ผมจะไปร่วมเสวนาในประเด็น

"ทำไมต้องสอนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปฐมวัย"

การเสวนานี้จัดโดย สสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่

- ดร.วรนาท รักสกุลไทย : นักการศึกษาปฐมวัยและผู้บริหารการศึกษา

- อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข : ตัวแทนจากสมาคมอนุบาลศึกษา

- ดร.รัศมี แดงสุวรรณ : ผู้บริหารการศึกษา

- คุณชุมพล พรประภา : นักธุรกิจและผู้ปกครอง

- ผม : ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ และผู้ปกครอง

 

ดาวน์โหลดข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการเสวนา

ดูข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของ สสวท.

 


 

สำหรับผม ตอนนี้ผมคิดออกแค่ 3 ข้อ (แหะ..แหะ)

 

"ทำไมต้องสอนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปฐมวัย"

1) วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเราและธรรมชาติแวดล้อม - จึงควรสอนเด็กๆ ตั้งแต่เล็ก

2) ปรากฏการณ์หลายอย่างสามารถสร้างแรงบันดาลใจ (inspiration) ให้กับเด็กๆ ได้ดี :- ดูตัวอย่าง พระจันทร์ยิ้ม นั่นปะไร :-)

3) เรื่องความปลอดภัย (safety) มักจะเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ (และเทคโนโลยี) เสมอ ไม่ว่าจะฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ตลอดไปจนถึงอันตรายจากอุปกรณ์ทางกลและอุปกรณ์ไฟฟ้า

 

4) ...... ??? .......

5) .... ??? ......

 

เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ มีข้อคิดเห็น หรือคำถาม

ที่อยากจะฝากไปเสนอหรือถามในการเสวนา ก็เชิญได้เลยครับ

ขอบคุณมากครับ ^__^

 


หมายเลขบันทึก: 233944เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2009 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (29)
  • การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ก็เหมือนเรียนรู้ที่แวดล้อมรอบตัวเรา
  • เป็นพื้นฐานที่เด็กนำไปต่อยอด สร้างสรรค์รอยหยักในสมองต่อไปค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ และโชคดีปีวัวทองค่ะ
  • สวัสดีครับพี่ชิว
  • คิดออกสองประเด็นครับ
  • วิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องของ วิธีคิด ที่ควรหัดตั้งแต่เด็ก
  • วิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องของศิลปะการใช้หลักฐานในการตัดสินใจ

ขอขยายความนะครับ

วิทยาศาสตร์ในฐานะวิธีคิดคือ จากเหตุ นำไปสู่ผลเสมอ

  • รู้ว่า "เกิดอะไรขึ้นเพราะอะไร" เป็นสุนทรียภาพที่พึงเสพ
  • รู้ว่า "เท่าไหร่และอย่างไร" นำไปสร้างเทคโนโลยีได้ ไม่ใช่เป็นแต่เสพเป็นอย่างเดียว
  • ประเทศที่มีแต่เสพเทคโนโลยี ก็จะเสียเปรียบประเทศอื่นที่รู้จักสร้างเทคโนโลยี

 

วิทยาศาสตร์ ในฐานะศิลปะการใช้หลักฐานในการตัดสินใจ

  • ในหลายกรณี วิทยาศาสตร์ยกระดับคุณภาพชีวิต โดยการอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ และตีความอย่างเป็นระบบ สรุปเป็นองค์ความรู้ที่เชื่อถือได้มากที่สุดในเงื่อนไขแวดล้อมของปัจจุบัน โดยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย
  • ตัวอย่างคือ cochrane review ทางการแพทย์ มีการฟันธงองค์ความรู้ว่า ล่าสุด การรักษาทางการแพทย์อะไรที่ควรถือว่าดีใช้การได้ หรืออะไรที่ควรถือว่าเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยง
  • หรือตัวอย่างของการใช้ นิติวิทยาศาสตร์ มาช่วยคลี่คลายคดี

  • หัดให้เด็กรู้จักการคิดแบบตรรกะ มีเหตุมีผล ไม่ตื่นตูม คล้อยตามไปแบบพวกมากลากไป
  • ทำให้เด็กรู้จักตั้งคำถาม สร้างสรรค์จินตนาการ
  • ทำให้เด็กไม่หวาดกลัวกับเหตุกาณ์ธรรมชาติ (ที่มักจะสรุปลงด้วยเรื่องผีๆ เหอ เหอ)
เดี๋ยวลองไปนึกอย่างอื่นดูอีกค่ะ

สิ่งที่อยากนำเสนอ..

1. การจะสอนเด็ก.. น่าจะเข้าคอร์สผู้ปกครองก่อน.. 555+ เพราะผู้ปกครองเด็กที่ไม่รู้จักวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์นี่แหละตัวดี ฝังหัวเด็กดีนัก

2. การสอนเด็กปฐมวัย จะดีมากถ้ามีการจัดกิจกรรมร่วมระหว่างเด็กและผู้ปกครองในการทำการทดลอง (ผู้ปกครองจะได้แอบเรียนไปด้วย ไม่หน้าแตกเวลาลูกถามค่ะ)

3. เคยเห็นรายการทดลองวิทยาศาสตร์สนุกๆ สำหรับเด็กในรายการทีวีฝรั่ง ขนาดเราเป็นผู้ใหญ่ยังชอบดูเลย อยากให้มีการสนับสนุนผลิตรายการแบบนี้เยอะๆ

4. ครูวิทยาศาสตร์สมัยประถม มีอิทธิพลมากในการทำให้เด็กรัก หรือไม่รักวิทยาศาสตร์ในอนาคตค่ะ.. ถ้าครูสอนสนุก เด็กจะรักวิทยาศาสตร์ค่ะ (จากประสบการณ์ส่วนตัว)

สวัสดีครับ คุณ Bright Lily

        ใช่แล้วครับ ถ้าพื้นฐานดี การต่อยอดก็จะประสบผลสำเร็จได้ง่ายและดีตามไปด้วย

        ส่วนเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในทางวิทยาศาสตร์นั้น ก็มีมากเหมือนกับเรื่องอื่นๆ ของคนเรา เช่น ศิลปะ ดนตรี ฯลฯ ครับ

        ขอบคุณมากครับสำหรับข้อคิดเห็น จะนำไปเสนอในวงเสวนานะครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ wwibul

       โอ้! ขอบคุณมากครับ วิทยาศาสตร์ให้วิธีคิด และสอนกระบวนการที่สามารถนำไปใช้ในเรื่องต่างๆ ได้ - จุดนี้สำคัญมากๆ

       เรื่องเทคโนโลยีนี่คนไทยเราสับสนกับวิทยาศาสตร์มากทีเดียวนะครับ แต่ใคร (คน องค์กร ประเทศ ฯลฯ) ก็ตามที่จะเข้มแข็งทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์พื้นฐานต้องแม่นด้วย

       ประเด็นเรื่อง 'ศิลปะในการตัดสินใจ' นี่ก็สำคัญ ตั้งแต่เริ่มต้นเลยคือ จะเชื่อ ไม่เชื่อ หรือฟังไว้ก่อน ไปจนถึงการตัดสินใจทำเรื่องใหญ่ๆ (ระดับเมกาโพรเจคต์ของรัฐ) นั่นเลย

       ไว้จะนำประเด็นที่อาจารย์ช่วยคิด ช่วยเสนอมา เข้าสู่วงเสวนา ส่วนนักการศึกษาและท่านอื่นๆ จะว่าอย่างไร ไว้จะมารายงานอีกทีนะครับ (แต่ผมรู้สึกว่าเวลาค่อนข้างจำกัดทีเดียว...)

       ขอบคุณมากครับ ^__^

สวัสดีครับ คุณ แม่น้องธรรม์

         เรื่องผู้ปกครองนี่สำคัญมากจริงๆ ครับ เพราะเป็น 'ผู้มีอิทธิพล' ตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังเด็กทุกคน

         เรื่องสื่อวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะรายการ TV นี่เป็นเรื่องใหญ่ ที่ผ่านมา ในบ้านเราดูเหมือนสถานการณ์จะดีขึ้นบ้าง (ดูจากมีรายการดีๆ แนววิทยาศาสตร์มากขึ้น) แต่ก็ยังไม่ดีพอครับ (ดูจากรายการบันเทิงส่วนใหญ่ซึ่งแฝงแนวคิดแบบ Pseudo-Science มากทีเดียว - Pseudo-Science นี่อันตรายกว่า ไสยศาสตร์นะครับ เพราะเป็นของปลอมที่ทำเกือบเหมือน)

         ครูวิทย์ในระดับประถมก็มีส่วนมากจริงๆ ครับ ผมเคยได้ครูวิทย์ดีตอน ป.4 ชื่อ ครูสุวิทย์ โคตรธนู (เห็นไหม ยังจำชื่อครูได้เลย ^__^)

         จะนำประเด็นที่ช่วยคิดและเสนอมาเข้าสู่วงเสวนานะครับ ขอบคุณมากๆ เลยครับ

สวัสดีครับ อ.บัญชา

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ สำหรับประเด็นการสร้างแรงบันดาลใจ

จำได้ว่าตอนเด็กๆ ผมก็ชอบวิทยาศาสตร์

แต่ก็จำได้ว่า ไม่ได้มีแรงบันดาลใจที่มากพอจะทำให้ผมกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้

โตขึ้นมา พอได้อ่านเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์หลายคน

โดยเฉพาะนักควอนตัมฟิสิกส์ต่างๆ เช่นพวก นีล บอรห์ ไฮเซนเบิร์ก ริชาร์ด ฟายแมน

เดวิด โบห์ม เป็นต้น

ผมรู้สึกว่า ผมอยากเป็นนักควอนตัมฟิสิกส์บ้าง

แต่ตอนนี้มันคงสายเกินไปแล้ว

เพราะคณิตศาสตร์ก็ปานกลาง

ฟิสิกส์ตอนเรียน ก็งั้นๆ

แม้จะมีนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่เคยกล่าวว่า

ผลงานการประดิษฐ์คิดค้นระดับโลกนั้นมาจากแรงบันดาลใจเพียง 1 %

ที่เหลือเป็นผลแห่งความพยายาม

แต่หากไร้ซึ่ง 1 % นั้นแล้ว คงจะไม่มีซึ่งสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ

ผมย้อนคิดไปว่า หากสมัยเด็ก

ผมมีแรงบันดาลใจที่ดี และประทับใจมาตั้งแต่เด็ก

เฉกเช่นอาจารย์ และนักวิทยาศาสตร์ท่านอื่นๆ

มันคงอาจจะทำให้ฝันผมเป็นจริงได้บ้างไม่มากก็น้อย

สวัสดีครับ คุณ ณภัทร๙

        ขอบคุณมากครับ แต่ดูประว้ติการเรียน & การทำงานคุณ ณภัทร ซึ่งจบวิศวะคอมพิวเตอร์ และทำงานเกี่ยวกับการบิน ก็แสดงว่าสนใจและมีความถนัดทางเทคโนโลยีอยู่มากทีเดียว

        เรื่องแรงบันดาลใจนี่เป็นเบื้องต้นครับ เพราะต้องมีปัจจัยมาเอื้อให้เด็กๆ สร้างฝ้นให้เป็นจริงด้วย

        ยกตัวอย่างดีกว่าครับ เพื่อนผมหลายคนเก่งฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เก่งกว่าผมมากเลย (ตอนอยู่ รร.เตรียมอุดม) แต่เขาก็ไปเรียนแพทย์ มานึกๆ ดูก็พอเข้าใจได้อยู่ครับ เพราะคนหัวดีนี่ เรียนอะไรก็ได้

        แต่ถ้ามองภาพรวมก็น่าเสียดายโอกาสที่ประเทศและโลกของเราได้ขาดนักวิทยาศาสตร์ (หรือแม้แต่วิศวกร) ที่เก่งๆ ไปหนึ่งคนนะครับ

        ที่กล้าบอกอย่างนี้ เพราะผมเจอหลายคนเลย เขาบอกผมว่า นายกล้ามากที่ตัดสินใจเลือกเรียนวิทยาศาสตร์ตอนจบ ม.ปลาย (ผมเลือกคณะวิทยาฯ เป็นอันดับ 1 เลย) ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ก็ยังไม่รู้ชัดๆ เหมือนกันว่า จบแล้วจะไปทำอะไร

       รุ่นน้องบางคนที่เจอ จบแพทย์ศิริราช แต่ตอนนี้เป็นผู้ประกอบการด้าน RFID อยู่ที่ Software Park ครับ อีกคนจบวิศวะ แต่เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ที่ผลิตสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน

       มาคิดๆ ดู บางทีเด็กไทยเราควรจะได้เห็นโลกกว้างกว่าที่เป็นอยู่ และระบบแนะแนวอาจจะต้องปรับสักหน่อย หรือเปล่าเอ่ย?

ขอสวัสดีอีกครั้งครับ อาจารย์บัญชา

ได้อ่านสิ่งที่อาจารย์เขียนทำให้ผมนึกถึงอะไรบางอย่างได้

แต่จะเกี่ยวข้องกันไหมกับการสอนเด็กหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะครับ

อาจารย์ลองพิจารณาดู

ในส่วนตัวของของ มีแรงบันดาลใจที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ (นักประดิษฐ์) ในวัยเด็ก

แต่ขาดความรู้ และทักษะ ที่จำเป็นต่อการเป็นนักวิทยาศาสตร์

ในส่วนของเพื่อนอาจารย์ที่ว่า มึพร้อมทั้ง ความรู้ ทักษะ ความสามารถ

ที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดได้

แต่ผมว่าเขาอาจไม่มีแรงบันดาลใจพอที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์

ผลที่ออกมาจึงไม่แตกต่างกัน คือ ไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ทั้งคู่

ด้วยเหตุนี้ ประเด็นการเสวนาว่าทำไมจึงควรสอนตั้งแต่ปฐมวัยนั้นผมว่า

มันชัดเจน และเป็นคำตอบอยู่ในตัวแล้ว

แต่ประเด็นที่ว่าจะสอนอย่างไร ให้ถึงฝั่งฝันนั้นก็น่าค้นหาเช่นกัน

ผมมองในแง่ที่ว่า หากเราสามารถสอนเด็กให้มีทุกสิ่งทุกอย่าง

เพื่อให้เขาสามารถบรรลุตามความใฝ่ฝัน และแรงบันดาลใจของเขาได้

การศึกษาของเราก็จะมีพลังมาก

และมันก็น่าจะลดความสูญเสียทางวิชาการได้อีกเยอะ

เราคงได้ยินเรื่องทำนองนี้มามากที่ว่า

เรียนจบมาอย่างนึงแต่ไปทำงานอีกอย่างที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย

หวังว่า การเสวนาที่จะถึงนี้

น่าจะก่อให้เกิดประกายดีๆ อันเป็นจุดเริ่มต้นดีๆ

ของแวดวงการศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศเรานะครับ

ขอเอาใจช่วยครับ

ปล.

อยากเรียนถามอาจารย์เหมือนกันว่า

มีความประทับใจอะไรเป็นพิเศษ

หรือมีแรงบันดาลใจใด ที่ทำให้อาจารย์ถึงมุ่งมั่นที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ครับ

ไม่ทราบว่าพอจะเล่าสู่กันฟังบ้างได้ไหมครับ

ดูไปแล้ว เหมือนมี 2 เรื่องแยกกันอยู่

  • คือ ทำไมต้องเรียนตั้งแต่เด็ก
  • และ ทำอย่างไร ให้เด็กอยากเรียน

ทำไม เป็นเรื่องของเหตุและผล เป็นเรื่องของการเอา "ประโยชน์" เป็นตัวตั้ง

ทำอย่างไร ถ้าเกี่ยวกับเด็ก มักจะหมายความว่า ทำอย่างไรให้สนุก

ทำให้สนุก มีหลายแบบ

เรียนที่บ้านให้สนุก ด้วย สื่อสนุก

เรียนที่โรงเรียนให้สนุก นอกจากใช้ สื่อสนุก ต้องใช้ ครู ที่เข้าใจลึกซึ้ง และครูที่สอนสนุก

สอนสนุก อาจสำคัญกว่า สำหรับเด็กเล็ก

แต่เด็กโตขึ้น ต้องเป็นครูที่ผสานความเข้าใจลึกซึ้งและสอนสนุก

แต่แค่นั้นก็ไม่พอ ยังขึ้นกับ โครงสร้างของตำราเรียนด้วย ว่า มีความสามารถไปได้ไกลแค่ไหน

สนุกอีกประเภท คือ สนุกโดยกิจกรรม นี่อาจเหมาะกับเด็กโต ประเภทกิจกรรมทัศนศึกษาสถานที่พึงโคจร ประเภทกิจกรรมแข่งขันที่ตั้งหัวข้ออย่างเร้าใจสร้างสรรค์

สนุกอีกประเภท ที่ดูเผิน ๆ ไม่เกี่ยว คือ นิยายวิทยาศาสตร์ดี ๆ หรืองานเขียนกึ่งสารคดีกึ่งบันเทิงดี ๆ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์

จริง ๆ แล้ว นิยายวิทยาศาสตร์ดี ๆ มีเยอะ แต่บ้านเรา อ่านแบบกระจุกตัว คือรู้จักคนเขียนไม่กี่คน แปลกหน้ามาก็ไม่อ่านกันแล้ว เพราะไม่รู้จัก

งานเขียนกึ่งสารคดีเสียอีก ที่ดูเหมือนยังพอไปได้ดี แต่โดยภาพรวม ผมว่ามีน้อยไป

ปัญหาใหญ่ อาจเป็นเรื่องภาษาก็ได้

แต่แรงบันดาลใจที่ใหญ่จริง ๆ ให้บางคนสนใจวิทยาศาสตร์ อาจตั้งต้นมาจากนิยายวิทยาศาสตร์นี่เอง

ประเด็นที่คนมองข้ามคือ นิยายวิทยาศาสตร์ดี ๆ อาจฉายให้เห็นภาพวิทยาศาสตร์ยุคใหม่และทิศทางของเทคโนโลยีที่จะมีมา ได้ดีกว่าตำราเรียนเสียอีก

เพราะตำราเรียน มักบอกเพียงว่า อะไรที่เป็นไปได้และทำไปแล้ว

แต่นิยายวิทยาศาสตร์หรือกึ่งสารคดีที่เขียนดี จะบอกว่า อะไรที่อยู่ในวิสัยเป็นไปได้ที่ยังไม่ได้ทำ

แรงบันดาลใจ จะเกิดจากการเห็นว่า ยังมีสิ่งที่ไม่ได้ทำ มากกว่าการที่รู้ว่า มีสิ่งใดที่ทำไปแล้ว

หรือ แรงบันดาลใจ อาจเกิดจากการที่เราได้เห็นอดีตในมุมมองที่มีชีวิต เหมือนกับได้เข้าไปอยู่ร่วมกับคนในเหตุการณ์ คือ ผ่านเรื่องเล่า ที่ทำให้คนได้รู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์

ยกตัวอย่างของการเล่าเรื่องอดีตในมุมมองที่มีชีวิต เช่น วิธีคำนวณรากที่สองแบบประมาณที่เรารู้จักกัน จริง ๆ แล้ว ที่มาคือการที่เจ้าของที่ดีนยุคโบราณต้องการปกป้องกรรมสิทธิเหนือที่ดินของตัวเอง ด้วยการคำนวณพื้นที่ของที่ดิน โดยใช้เรขาคณิต เพราะยังไม่มีเทคโนโลยีพีชคณิตหรือเลขคณิตใช้ (ผมเขียนถึงใน Rectangle Quadrature กับ Babylonian algorithm เล่าในบล็อกใบไม้ผลิ)

ใช่เลย ชัดมาก และ โดนสุดๆ ครับ

ทุกวันนี้ ผมเองก็มีแรงบันดาลใจ ในวัยผู้ใหญ๋

ที่อยากจะเป็น "นักรบอินเดียนแดง"

ที่ผมได้อ่านเจอ และซาบซึ้งจากหนังสือ

ที่มีคนเขียนเรื่องราวการฝึกฝนในวิถีแห่งการเป็นนักรบอินเดียนแดง

เรื่องนี้ประทับใจผมมากครับ

และน่าจะประทับใจไปจนวันตาย

แม้จะมีหลายผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นไปได้ในหนังสือดังกล่าว

แม้ความเป็นจริงในชีวิตจะดูห่างไกลกันมากกับสิ่งที่อยู่ในหนังสือ

และหากดูตามหลักเหตุผลแล้วแทบไม่น่าจะเป็นไปได้เลยก็ตาม

แต่ผมก็ยังเลือกที่จะ "ยึดถือ" เป็นแรงบันดาลใจ

ในชีวิตผม ที่จะต้องค้นหาความจริงตามที่หนังสือเล่มนั้นได้เขียนไว้

มันนำมาซึ่ง "พลัง" ที่ทำให้เราต้องค้นหา

และพยายามทำทุกวิถีทางให้ถึงฝัน

สิ่งประดิษฐ์มากมายในโลกนี้ ส่วนใหญ่ก็มีจุดกำเนิดจาก

"นิยายวิทยาศาสตร์" ใช่ไหมครับ

สวัสดีครับ คุณ ณภัทร๙ & อาจารย์ wwibul

        แจ๋วจริงๆ ครับ เป็นการต่อยอดความคิดที่มีคุณภาพมาก ทั้งสองท่านเลย

        ให้ข้อมูลสั้นๆ ไว้นิดหนึ่งครับว่า ตอนที่ผมได้รับการทาบทามให้ไปร่วมเสวนานั้น ผมได้ถามไปว่า จะให้พูดเรื่อง สอนอย่างไร ด้วยไหม

        ก็ได้คำตอบว่า ไม่ต้องครับ เพราะทางนักการศึกษาปฐมวัยเชื่อว่าเขารู้ดีอยู่แล้ว

        และผมก็เชื่อว่าเขารู้จริงๆ ครับ เรื่องนี้เคยมีประสบการณ์ตรงหลายครั้ง ไว้จะหาโอกาสขยายความอีกที

สวัสดีอีกครั้งครับอาจารย์

ถ้ามีแง่มุมอะไรดีๆ
มีความประทับใจอะไรจากเวทีสัมมนา
หากมีเวลา อย่าลืมเล่าสู่กันฟังมั่งนะครับ

เผื่อจะเก็บไว้ใช้สอนลูกบ้าง

ขอบคุณครับ

  • สวัสดีค่ะ ดร.บัญชา
  • มารออ่าน ผลการสัมมนา เพื่อประโยชน์ในการทำงาน
  •  ขอบคุณค่ะ

พี่ชิวมีหนังสือวิทยาศาสตร์จะแนะนำให้เด็กประถมอ่านบ้างไหมครับ ภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษก็ได้ครับ

การดำเนินชีวิตของเด็กๆเป็นวิทยาศาสตร์อยู่แล้วนะครับ

เพียงแต่ผู้ปกครองคงเอาเรื่อง ค่านิยม สภาพสังคม ฯลฯ มาผูกเข้าเสียจนเด็กเสียโอกาสใน"การเรียนอย่างเป็นธรรมชาติ"ไป

น่า...เสียดาย

สวัสดีครับ ทุกท่าน

         ได้สอบถาม สสวท. ผู้จัดงานเสวนาแล้วครับ ตอนนี้กำลังสรุปผลการเสวนาอยู่ และน่าจะได้ผลสรุปมาราวๆ ต้นเดือนกุมภา (ผมกะเอง) ครับ

ข้อสอบเคมีโอลิมปิก ปี 2547 อ่ะค่ะ > <!!!

ช่วยหน่อยนะคะ ^^~

พรุ่งนิจาสอบแล้ววว O_o !!!

7.กำหนดสภาพการละลายน้ำได้ต่อน้ำ100gที่0Cและ100Cดังนี้

K2SO4 7.35 และ 24

Al2(SO4)3 31 และ 89

ต้องการเตรียมสารส้ม K2SO4.Al2(SO4)3.24H2O จากการผสมกันของK2SO4 20กรัมและAl2(SO4)3 40กรัมในน้ำ100กรัมที่100Cแล้วลดอุนนะภูมิลงเป็น0Cจะมีผลึกสารใดเกิดขึ้นเป็นจำนวนกี่กรัม สมมติว่าสารส้มไม่ละลายที่0C

11.เมื่อเผาแก๊สไฮโดรเจนจะได้อะตอมไฮโดรเจนที่พลังงานสูง ซึ่งคายพลังงานออกมาในรูปของแสงได้หลายความยาวคลื่น สเปกตรัมชุดหนึ่งมีแสงสีม่วงE1 แสงน้ำเงินE2 น้ำเงินอมเขียวE3 แดงE4

ก.) E1>E2>E3>E4

ข.) ถ้าเปรียบเหมือนขั้นบันได จะได้ว่า ขั้นที่อยู่ข้างล่างมีความสูงของขั้นบันไดเท่ากับE1 และขั้นถัดไปข้างบนจะมีความสูงของขั้นบันไดน้อยลงเป็นE2 E3 E4 ตามลำดับ

ค.)เส้นสีม่วงเทียบได้กับการก้าวขึ้นบันไดทีละหลายขั้น ส่วนสเปกตรัมสีแดงเทียบได้กับการก้าวขึ้นบันไดทีละขั้น

ข้อใดถูกต้อง

ก. กับ ข. ข. กับ ค. ก. กับค. ก. เท่านั้น

33.สารข้อใดมีมวลคลอรีนมากที่สุด

1กรัมHCl 24.5กรัมKClO 3 0.1mole NaCl 11.2g KCl

36.ข้อใดถูกต้อง

ก.ถ้าออสเมียม เตตระออกไซด์ เป็นผลึกที่ไม่แข็ง หลอมเหลวที่40C ของเหลวไม่นำไฟฟ้า แสดงว่า OsO4 เป็นผลึกประเภทผลึกโมเลกุล

ข.ถ้าโบรอนไนไตรด์(BN3)หลอมเหลวที่3000Cภายใต้ความดันสูง แสดงว่า BN3 เป็นผลึกประเภทผลึกโมเลกุล

ค.กำมะถันมอนอคลีนิก จัดเป็นผลึกประเภทอโลหะ

ง.ถูกทุกข้อ

43.ข้อใดถูกต้อง

ก.CO2 ที่อยู่ในรูปของไหล(ซูเปอร์คริติคอล ฟลูอิด)จะมีสมบัติเหมือนแก๊สเท่านั้น

ข.น้ำ ไม่สามารถทำให้อยู่ในรูปของไหลได้

ค.N2เหลว ทำโดยนำอากาศมาลดTและP

ง.ข้อดีของการใช้CO2ที่อยู่ในรูปของไหลในการสกัดสารคือสามารถเลือกความหนาแน่นของของไหลให้เหมาะสมกับชนิดของสารที่เราต้องการสกัดได้ รวมถึงสามารถผสมกับตัวสกัดชนิดอื่นได้

47.จากทฤษฎีการชน ถ้าจะอธิบายการชนของโมเลกุลที่มิได้เกิดปฏิกิริยา ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

ก.พลังงานทั้งหมดของ2โมเลกุลที่ชนกันน้อยกว่าพลังงานก่อกัมมันต์

ข.โมเลกุลไม่ทำปฏิกิริยากันเนื่องจากไม่มีตัวเร่ง

ค.โมเลกุลชนกันแบบไม่ถูกทิศทาง

ง.โมเลกุลของแข็งไม่เกิดปฏิกิริยากับโมเลกุลก๊าซ

ข้อใดถูกต้อง

54.สารประกอบใดต่อไปนี้ ที่มีรูปร่างสี่เหลี่ยมแบนราบ

S(C6F5)4 SiCl4 Ni(CO)4 PtCl4(2+)

55.ความยาวพันธะระหว่างคาร์บอนใดสารใดต่อไปนี้ยาวที่สุด

อะเซทิลีน พอลิเอทิลีน ฟลูเรอลีน เบนซีน

64.KspของPbI2ในน้ำ = 2*10^-8 จะต้องมี Pb2+ เข้มข้นอย่างน้อยเท่าใด เพื่อให้ได้ตะกอน PbI2เกิดขึ้นในสารละลายKI 0.002โมล/ลิตร

0.005 0.004 0.003 0.00125

67.ถ้านำสารต่อไปนี้ใส่ภาขนะปิด แล้วทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง ข้อใดจะเข้าสู่ภาวะสมดุลตามสมการCaCO3 <---> CaO + CO2

CaCO3บริสุทธิ์

CaO,CO2ที่ความเข้มข้นสูงกว่าค่าK

CaCO3,CO2ที่ความเข้มข้นสูงกว่าค่าK

CaCO3,CaO

สวัสดีครับ น้องตวง

        ถามผิดที่แล้วมั้งครับ โจทย์พวกนี้ถามครูเคมี หรือไม่ก็ค้นจากหนังสือที่มีเฉลยดีกว่าครับ

เฉลยอ่านแระกะงง

แต่...

ไปถามครูมาแล้วววค่า~~~ (มีครูอยุใกล้บ้าน ^^)

อิอิ

พรุ่งนิสอบแล้วววว ยังมะรุเรื่องเลยอ่า ><!!!

555+

สวัสดีครับ อาจารย์

ขออนุญาตกลับมาอีกครั้ง
กลับประเด็นใหม่ว่า

"ควรสอนวิทยาศาสตร์อะไรให้เด็กๆ"

ชีวิตที่ผ่านมาของผม
แม้จะชอบวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก
และเรียนสายวิทย์
จนสุดท้ายได้เรียนเกี่ยวกับ
คอมพิวเตอร์

ผมพบว่า "วิทยาศาสตร์เก่า"
อันหมายถึงแนวคิดของ
วิทยาศาสตร์เชิงกลไกแบบนิวตัน
ที่พยายามอธิบายทุกสิ่งทุกอย่าง
และวัดผลที่แน่นอนของทุกสิ่งทุกอย่าง
ได้ทำให้ผม
และคนในแวดวงเดียวกัน
มีทัศนคติในการมองโลกที่ "ผิดพลาด"
เหมือนโลกทัศน์ของวิทยาศาสตร์เก่า

มันมีแนวโน้มที่จะทำให้เราลดทอน
คุณค่าของความเป็นมนุษย์
เหลือเพียง "ฟันเฟือง"
ของเครื่องจักร

แต่หลังจากที่ผมมาเริ่มศึกษา
แนวคิด โลกทัศน์ของ
วิทยาศาสตร์ใหม่ (ควอนตัม)

ผมพบว่า การมองโลกที่แข็ง
แห้ง และตายตัวแบบเดิมๆ
ของผมเริ่มจะถูกสั่นคลอน

"ควอนตัม" ได้บอกผมว่า
ไม่มีเส้นบางๆ ที่แบ่งแยก
ความเป็น "คลื่น" และ "อนุภาค"
ของสรรพสิ่ง หากแต่มันเป็น
สองด้านของเหรียญเดียวกัน

"ควอนตัม" ได้บอกผมว่า
เราไม่อาจคาดการณ์ความแน่นอน
ของสิ่งต่างๆ ได้
เราทำได้เพียง
คาดเดาถึงความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ทำให้ผมพูดคำว่า
"ต้องเป็นอย่างนั้น" น้อยลง
และหันมาพูดคำว่า
"น่าจะเป็นอย่างนั้น" มากขึ้น

ซึ่งนั่นเอง ได้ทำให้ผมเริ่มที่จะ
มองโลกในมุมใหม่ว่า


ผมไม่ใช่ศูนย์กลายของจักรวาล


ผมมิใช่ตัวตนเอกเทศที่แยกขาดจากผู้คน และสภาพแวดล้อมรอบข้าง

 

และด้วยมุมมองใหม่
ที่มีต่อโลก
ผมพบว่า
มันได้ทำให้ผมพบ "ความสุข"
ในชีวิตมากขึ้นมากครับ

ดังนั้น ในมุมมองของผม
เราจึงน่าจะสอนให้เด็กๆ
ได้รู้จักแง่มุมของ "ควอนตัม"
โดยเร็วที่สุด

เพื่อที่เด็กๆ เหล่านั้น
จะได้ไม่ต้องไปติดกับดัก
ของโลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์กลไก
อันจะไปลดทอน ความสุขในชีวิต
และลดทอนความสวยงามของโลกใบนี้ลง

และนี่ก็เป็นประสบการณ์แห่งการเรียนรู้
ของคนๆ หนึ่ง

ซึ่งกว่าจะออกจาก "กับดัก"
ได้นั้นก็ยากพอดูทีเดียวครับ


สวัสดีครับ คุณ ณภัทร๙

        ความจริงในองค์ความรู้ที่เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า "วิทยาศาสตร์เก่า" นั้น ก็มีเรื่อง "น่าจะเป็นอย่างนั้น" เหมือนกันครับ และเข้าใจง่ายกว่า กลศาสตร์ควอนตัมอีกด้วย

        การมองแบบลดทอน (reductionism) ก็มีข้อดีนะครับ เพราะทำให้เราเห็นโครงสร้างและหน้าที่ของส่วนต่างๆ ได้คมชัดขึ้น

        พูดกลับกันก็คือ ถ้ายืนยันว่าการมองแบบองค์รวม (holism หรือ holistic approach) นั้นเป็นสิ่งที่ดี ก็ต้องมองแบบลดทอนให้ชัดเจนก่อน มิฉะนั้นจะเห็นความเป็นองค์รวมอย่างชัดเจนได้อย่างไร

        ผมมีความเป็นห่วงหนังสือแนว "วิทยาศาสตร์ใหม่" ที่ออกมาเดี๋ยวนี้ เพราะพยายามโจมตี "วิทยาศาสตร์เก่า" ว่า เป็นเชิงเส้น (linear) ลดทอน (reductionistic) เป็นกลไก (mechanistic) ฯลฯ แต่ถ้าลองไปดูวิทยาศาสตร์ใหม่ใกล้ๆ ก็มีองค์ประกอบของแนวคิดเหล่านี้ซุกซ่อนอยู่ด้วยเช่นกันครับ!

       

       

สวัสดีค่ะ

น่าสนใจค่ะ

ลูกสาว 7 ขวบก็ชอบวิทยาศาสตร์ค่ะ

วันหยุดก็ไปเรียนทดลองวิทยาศาสตร์ที่สถาบันแห่งหนึ่ง

เป็นเรื่องที่ทดลองกันจริงๆ ที่เหมาะกับวัย (ไม่ใช่เรียนแบบติวจากชีท)

สวัสดีครับ

        เด็กๆ ได้ทดลองนี่ดีที่สุดครับ ใช่ที่ อพวช. (ตึกลูกเต๋า) หรือเปล่าครับ มีสอนทำช็อคโกแล็ต ฯลฯ

สวัสดีค่ะ

ขอแนะนำตัวก่อนนะคะ

ฉันชอบพูดคุยถกเถียง แต่ไม่ชอบตัดสินใครจากแค่พูดคุยกันไม่กี่ครั้งนั้น ชอบรู้จักผู้คนและเรียนรู้ทุกสิ่งร่วมกันไป ไม่กลัวลำบาก ชอบผจญภัย ..... ประถมต้นเริ่มที่ ตจว แต่จบปรถมปลายที่ กทม, มัธยมเรียนวิทย์, เรียน มหาวิทยาลัย คณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาศาสตร์, อบรมวิชาการโรงแรมกับททท แผนก FrontOficce ,ทำงานโรงแรม อยู่ 2-3 ปี ทำงานรับโทรศัพท์ ที่โรงแรมพัทยา ที่โรงงานในนครปฐม และขายโฆษณาทางโทรศัพท์กับ นสพ ภาษาอังกฤษ แล้วมาขายหินร้านของเพื่อน ได้รับโอกาสให้เรียนรู้งานและทำงานแกะสลักหิน ที่ออกแบบด้วยโปรแกรมกราฟฟิค XaraX ปรินท์แบบและติดแบบบนสติกเกอร์ที่ติดไว้บนหิน (แกะด้วยมือเอง-เทคนิคคล้ายการแกะสลักบนกระจก)แกะสลักและลงทองเสร็จสรรพ งานนี้ทำมาได้ 10 กว่าปีแล้ว งานพิเศษอีกงานคือช่วยเพื่อนขายของตามงาน OTOP และตามห้างแล้วแต่จะให้ไปแทนหรือไปช่วยเป็นครั้งคราว ชีวิตมีแต่เรื่องสนุกได้เรียนรู้ตลอดเวลา

ฉันมีแม่เป็นครูวิทยาศาสตร์ที่เกษียณแล้ว รุ่นราวคราวเดียวกับอาจารย์แม่ เป็นรุ่นที่ต้องสอบชิงทุนของจังหวัดเพื่อไปเรียนทุนครู 3 ปี แม้ตัวฉันจะไม่เก่งวิทยาศาสตร์ แต่วิทยาศาสตร์ก็ไม่เป็นยาขมสำหรับฉันนัก เคยตามแม่ไปดูเขาอบรมดาราศาสตร์กันกับ ศจ.ระวี ภาวิไล ดี๊ดีนะคะ ฉันยังชอบอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ของ อาจารย์ชัยวัฒน์อยู่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ คือ นักวิทยาศาสตร์ที่ฉันคลั่งไคล้ ฉันชอบ อาจารย์สมัคร บุราวาศ ฉันชอบ ศจ.ระวี ภาวิไล ฉันชอบติดตามข่าววิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งแผนไทย แผนปัจจุบัน วงการวิทยาศาสตร์น่าสนใจอยู่เสมอ แต่ฉันก็ชอบอ่านนิยายเพ้อฝันด้วย

พี่สาวฉันเรียนด้านบัญชีและบริหาร พี่ชายจบด้านวิศวกรรมศาสตร์ น้องชายจบด้านสภาปัตยกรรมศาสตร์ พ่อเป็นทนายความ และทำหลายอาชีพมากทั้งเป็นนักการเมือง ธุรกิจ และหนังสือพิมพ์ ที่บ้านบ้าอ่านหนังสือกันทุกคน ตาก็เป็นทนายความ เป็นหมอยาแผนไทย และเป็นนักประดิษฐ์ด้วยทั้งเย็บจักรเป็น ทำงานช่างไม้ได้ และซ่อมรถยนต์ได้เอง และยังขุดบ่อเลี้ยงปลา และเลี้ยงเป็ดไก่ไว้บนบ่อปลาด้วย

ชีวิตเด็กเมืองต่างจังหวัดหลากหลายน่าสนุกจริง ๆ แต่การเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนไม่น่าสนใจ ระบบแนะแนวก็สับสน ฉันเป็นเด็ก ม ปลายยุคแรก ของ ตำรา สสวท ซึ่งการสอนชีววิทยาในโรงเรียนน่าเบื่อมาก สู้เรียนนอกห้องเรียนและสู้วิชาภูมิศาสตร์ไม่ได้เลย

เข้ามาอ่านเพราะกระทู้นี้น่าสนใจค่ะ ดังนั้นจึงอยากขอร่วมคิดด้วยคน

เท่าที่คิดเล่น ๆ...การสอนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปฐมวัย...

1. ทำให้เด็ก ๆ รู้จัก ; เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว, ตั้งคำถาม, สังเกตรวบรวมข้อมูล, ใช้จินตนาการ, ทดลองเป็น และรู้จักสรุปผลที่ได้

...วิธีเชิงวิทยาศาตร์แบบนี้ ทำให้เป็นคนมีเหตุมีผล ไม่งมงาย หรือศรัทธากับอะไรง่ายเกินไป ไม่ถูกหลอกง่าย

2. รู้ว่าอะไรมีอันตราย ทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย รู้จักรอบคอบระมัดระวัง รู้จักใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ และตามทันเทคโนโลยีสมัยใหม่

3. เมื่อได้สนุกกับการทดลอง ก็จะรู้จักค้นคว้าต่อยอด ทำให้เป็นคนรักที่จะหาความรู้ เมื่อทำได้ก้าวหน้าเรื่อย ๆ ก็จะภูมิใจในตัวเอง มีบุคลิกภาพที่ดี เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ

4. อ่านนิยายวิทยาศาสตร์ได้สนุกขึ้น สนุกกับจินตนาการ และทำให้รักการอ่านมากขี้น

แต่ได้ข่าวว่าเรากำลังขาดแคลนครู สพฐ ทั้งครูวิทย์ และครูคณิต ถึง 20,000 คน...ปีนี้ผลิตครูคณิต ได้แค่ 2,000 คน เท่านั้น (จากข่าวไทยรัฐวันนี้)

แค่หาครูให้พอก็ปัญหาใหญ่ ยังไม่ต้องคิดวิธีสอนให้เด็กสนุกและรักวิทยาศาสตร์หรอกค่ะ

หนังสือสรุปผลการเสวนาออกมารึยังคะ สนใจอยากอ่านความเห็นของนักการศึกษามาก ๆ ค่ะ

สวัสดีครับ คุณ dhanitar

        ขอบคุณมากครับที่ร่วมแสดงความคิดเห็น ให้ข้อมูลมาอย่างละเอียด แสดงว่าให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากทีเดียว 

        เห็นด้วยกับทุกข้อครับ และมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเล็กน้อยในเบื้องต้นนี้

ข้อ 1 : "ไม่ถูกหลอกง่าย" - อันนี้ไปกันได้กับคำว่า scientific skepticism ครับ คือ สงสัยว่าข้อกล่าวอ้าง หรือความเชื่อหนึ่งๆ นั้นเป็นจริงหรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขอะไร

          เรื่องนี้สำคัญขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีคนต้องการให้เราใช้บริการ หรือซื้อผลิตภัณฑ์ของเขา (ผ่านการโฆษณาและการตลาดอันทรงพลัง) รวมไปถึงการเผยแพร่ลัทธิความเชื่อใหม่ๆ ทั้งหลาย ที่มีแรงจูงใจหลากหลายแตกต่างกันไป

ข้อ 2 : เรื่องรู้แง่มุม "อันตรายที่ควรระวัง" - เรื่องนี้สำคัญมาก เป็นเรื่องของ Safety ทั้งด้านแง่มุมภัยธรรมชาติและภัยจากเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่คนไทยให้ความสำคัญน้อยมาก จะพูดกันก็ต่อเมื่อเกิดเหตุไปแล้ว (เข้าทำนอง วัวหายจึงล้อมคอก นั่นละครับ)

ข้อ 3 : "รักในความรู้" - ชอบคำนี้จัง เพราะนี่เป็นพื้นฐานของคนที่มีคุณภาพ แต่ดูเหมือนค่านิยมของสังคม จะไปให้น้ำหนักกับชื่อเสียง ฐานะ และเรื่องอื่นๆ ที่ดูฟู่ฟ่ากว่า

ข้อ 4 : "สนุกกับจินตนาการ" - ชอบประเด็นนี้อีกแล้วครับ คือ ถ้าผ่านข้อ 3 เกี่ยวกับความรู้มาได้แล้ว จินตนาการที่ต่อยอดออกไปจากความรู้ที่ถูกต้อง จะเป็นจินตนาการที่ทรงพลังมาก และมีศักยภาพในการสร้างสิ่งที่สร้างสรรค์

ไว้จะหาโอกาสมาคุยต่อนะครับ ^__^

สั้นๆนะคะ วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของความจริง เหตุผล พิสูจน์ได้คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท