โรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ (๑/๓)


สำหรับการรวมกลุ่มเรื่องพันธุ์ข้าวนี้ในช่วงแรกแต่ละกลุ่มไม่มีการต่อต้าน เพราะเราไม่ได้ระบุว่าต้องมาทำพันธุ์ข้าวและเราไม่ได้รณรงค์ให้ทำข้าวอินทรีย์ แต่เราใช้คำว่า “ลดต้นทุนการผลิต”

             ต่อจากบันทึก ชีวิตที่พอเพียง : ๖๗๐. สัมมนาไปเที่ยวไป และ KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๖๔๙. ตั้งมูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ ที่ อ.วิจารณ์ เขียนไว้แล้วนั้น    ดิฉันเป็นหนึ่งในทีมเก็บข้อมูลกระบวนการยกร่างฯ ดังนั้นหน้าที่ใน workshop ส่วนใหญ่ก็เก็บข้อมูลโดยการพิมพ์ (นั่งอยู่หน้า notebook)  ค่อยสังเกตกระบวนการและผู้เข้าร่วม  รวมทั้ง อัดเสียง  และเป็น คุณอำนวย ในกลุ่มย่อยด้วยในบางช่วง    สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดิฉันทำเป็นกิจวัตรอยู่แล้วใน workshop แต่ละครั้ง   แต่มา workshop ครั้งนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ได้ทำเกินคาดคือ  อยู่ๆ เช้าวันที่ ๒ ของ workshop  อ.วิจารณ์ ก็เดินมาบอกว่า “อุ ไปสัมภาษณ์คุณไพศาล เจียนศิริจินดา หน่อยสิ  เรื่อง โรงเรียนชาวนา นครสวรรค์  น่าจะมีอะไรเกิดขึ้นเยอะเลยนะ  แล้วเธอก็เอาไปลงบล็อก”  ...

             ดังนั้นบันทึกนี้ จะขอเล่าเรื่องโรงเรียนชาวนา นครสวรรค์ ที่สัมภาษณ์ คุณไพศาล ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมก่อตั้ง โรงเรียนชาวนานครสวรรค์


             โรงเรียนชาวนานครสวรรค์ นั้น เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนของ กลุ่มเครือข่ายประชาสังคมนครสวรรค์ฟอรั่ม  โดยนำประเด็นที่ได้จากสมัชชาสุขภาพปี ๔๗  ในเรื่องข้าวและเกษตรกรไปขับเคลื่อน   เริ่มด้วย คุณหมอสมพงษ์ ยูงทอง ให้ตั้งประเด็นก่อนว่าชาวนานครสวรรค์เป็นยังไง  ไปหาข้อมูล พูดคุย สอบถาม เจาะเลือดตรวงร่างกาย  แล้วพบว่า ชาวนนามีหนี้สินเยอะ  มีปัญหาเรื่องพันธุ์ข้าวที่ปลูกซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้  วิถีผลิตก็ใช้สารเคมี  ไม่มีการรวมกลุ่ม    พอได้ข้อมูลเหล่านี้ก็จัดเวทีสมัชชาสุขภาพขึ้นที่ ท่าข้าวกำนันทรง อ.เมือง จ.นครสวรรค์  มีชาวนา คนจากโรงสี มาเข้าร่วมเยอะ แต่ภาคราชากรไม่มากนัก  ข้อเสนอจากเวทีครั้งนั้นคือ  พันธุ์ข้าวไม่สามารถพึ่งตนเองได้  สุขภาพชาวนาไม่ดี  สิ่งแวดล้อมมีปัญหา (ทั้งนี้เพราะปีนั้น แม่น้ำเจ้าพระยาเน่า ผลจากที่ จ.พิจิตร น้ำท่วมข้าวชาวนา  ข้าวเกิดการหมักเต็มที่ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา  ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาเน่า ปลาตาย และสิ่งแวดล้อมเสีย) และพบว่าชาวนาจะอยู่ตัวใครตัวมันไม่ได้แล้ว จึงเกิดข้อเสนอว่า ชาวนาต้องรวมกลุ่มกัน ต้องรวมกลุ่มกันเพื่อเรียนรู้   ด้วยข้อเสนอนี้จึงเกิดกลุ่มโรงเรียนชาวนาขึ้น

              ในปีแรก โรงเรียนชาวนา เคลื่อนได้จากงบประมาณของจังหวัด ทำให้เกิดการรวมกลุ่มได้ ๒๐ กลุ่ม  จากนั้นก็ได้การสนับสนุนจาก อบจ. กศน. เกษตรจังหวัด และราชภัฎนครสวรรค์ ในการพัฒนากลุ่ม  สร้างการเรียนรู้  โดยฐานการเรียนรู้ได้จากการส่งไปเรียนรู้กับ มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี  ซึ่งมีสภาพการทำนาคล้ายกับการทำนาของนครสวรรค์  คือ เป็นข้าวนาปี และ นาปรัง ประกอบกับอยู่ใกล้ด้วย

              ชาวนารวมกลุ่มกันได้อย่างไรนั้น
              ปัจจัยความสำเร็จเกิดจากการติดตาม  เรามีเจ้าหน้าที่ ๒ คน ที่ไปติดตาม ไปคุย ไม่เรียกร้องว่าพี่น้องต้องเข้ามาจังหวัด แต่จะมีคนไปเยี่ยมเยียน ไปพูดคุย   ในช่วงแรกๆ นั้นเกือบทุกที่เป็นจังหวะดีทุกครั้งที่สามารถจัดประชุมพี่น้องชาวนา มาวางแผน วางทิศทางการทำงานร่วมกันได้     
              การรวมกลุ่มกันได้นั้นเกิดจากปัจจัยหลายอย่างคือ เนื่องจากเป็นการทำงานต่อยอดไม่ได้ทำงานเริ่มต้นไหม่ ทั้งจากเดิมที่ทำงานสายสิ่งแวดล้อมร่วมกัน หรือการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพที่ต้องเอาคนมาหลากหลาย   การที่เขามีทุน มีเป้าหมายของเขาส่วนหนึ่งแล้วมาทำงานร่วมกัน    ในแง่การเลือกกลุ่มนั้นช่วงแรกก็จะสมัครใจ  เหมือนไปเจอกันแล้วก็ไปชวนมารวมกลุ่ม    ซึ่งในปีแรกๆ นั้น คุณหมอสมพงษ์ จะเน้นลงพื้นที่ ไปคุยในแต่ละอำเภอว่าเป็นอย่างไร สนใจแนวคิดที่คุยกันหรือเปล่า ถ้าสนใจก็เข้าร่วมได้  และการรวมกลุ่มที่เสนอนี้มีเงื่อนไขอะไรบ้าง  การบริหารงบประมาณที่เขาให้มา  อันไหนเป็นส่วนสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้พัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน หรือ ผู้นำ  เราก็จะพาไปดูงาน   แต่ชาวบ้านต้องช่วยตัวเองด้วย  ต้องรวมกลุ่ม  ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะรวมกลุ่มแบบไหน เช่น ถ้ารวมเป็นออมทรัพย์  กลุ่มก็จะมีทุนเป็นของตัวเองด้วย เป็นต้น    ปัจจุบันนี้กลุ่มก็มีการขยายไปปีละประมาณ ๒๐ กลุ่ม  แต่ละปีก็ขายไปเรื่อยๆ ตามเป้าหมายหลักของ อบจ.   แต่ละปีเป้าหมายหลักอาจแตกต่างกันบ้าง แต่หลักๆ คือ
              ๑. พาไปสัมมนา เพื่อสร้างความเป็นผู้นำ
             ๒. ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้   โดย อบจ. กำหนดให้ว่ากลุ่มต้องทำจริง ต้องมีแปลงสาธิต

             ในเรื่องของการพัฒนาพันธุ์ข้าวนั้น อ.เดชา ศิริภัทร  จากมูลนิธิข้าวขวัญช่วยได้มาก   เพราะจากการที่ชาวนาได้ไปดูงาน  ดูกระบวนการพัฒนาพันธุ์ข้าว  ก็พบว่าในหลายกลุ่มเอาไปทำต่อเอง  สำหรับการรวมกลุ่มเรื่องพันธุ์ข้าวนี้ในช่วงแรกแต่ละกลุ่มไม่มีการต่อต้าน  เพราะเราไม่ได้ระบุว่าต้องมาทำพันธุ์ข้าวและเราไม่ได้รณรงค์ให้ทำข้าวอินทรีย์ แต่เราใช้คำว่า “ลดต้นทุนการผลิต”   ทำให้ในช่วงแรกชาวนาก็มีการท้าทายและแข็งกันเรื่องต้นทุนการผลิตว่าใครจะลดได้มากกว่ากัน   ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ทำได้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ใครเข้ามาก่อนหลัง ความสามารถในการเรียนรู้ ความเข้มแข็ง ความหลากหลาย   แต่เฉลี่ยแล้วกลุ่มเก่งๆ ก็ลดต้นทุนได้ประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๒๐๐ บาท/ไร่ และจะเห็นว่าถ้าต้นทุนต่ำก็คือไม่ใช้สารเคมี แต่ก็ยังไม่สรุปชัดเจนว่าที่ทำให้ต้นทุนต่ำเป็นเพราะการใช้อินทรีย์ 

             ปัจจุบันเริ่มมีชาวนาจากที่อื่นมีดูงานมากขึ้น  โดยเน้นเรื่อง พัฒนาการของกลุ่มชาวนา จ.นครสวรรค์ ตลอด ๔ ปี หลังจากมีโรงเรียนชาวนา ว่าเป็นอย่างไร   ซึ่งพัฒนาการที่ชาวนานครสวรรค์กำหนดร่วมกันคือ
             ๑. ปี ๕๑ เราพัฒนาชาวบ้านหรือผู้นำชาวนาบางคน เป็น FA หรือวิทยากรกระบวนการที่จะเสริม หรือจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กลุ่มอื่นๆ ได้  ประมาณ ๓๐ คน  ซึ่งตอนนี้บางคนก็เริ่มทำได้แล้ว
             ๒. จัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้  สำหรับกลุ่มที่เข้มแข็งและมีครูได้

             สำหรับการแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มนั้นจะมีอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง คือ ตลาดนัดความรู้โรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์  เป็นการแลกเปลี่ยนว่าแต่ละกลุ่มไปดูงานหรือไปเรียนรู้อะไรมา  เพื่อนำมาวางแผนร่วมกันในปีต่อไปว่าจะทำอะไรกันต่อ  เพื่อให้มีธงใหญ่ร่วมกัน เช่น  ประเด็นค้าพันธุ์ข้าว  ข้าวปลอดสารพิษ  การปลูกต้นไม้ เป็นต้น   แล้วให้แต่ละกลุ่มไปจัดการเองว่าจะทำอะไรเพื่อสนับสนุนธงใหญ่นั้น โดยปล่อยให้คิดอย่างอิสระ 

อ่านต่อที่ โรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ (๒/๓) : การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

หมายเลขบันทึก: 238368เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2009 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท