BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สมบัติบ้าในวัด : ขนมเดือนสิบ


สมบัติบ้าในวัด : หนมเดือนสิบ

วันนี้ทำบุญเดือนสิบหนหลังหรือวันทำบุญส่งเปรต (เคยเล่าไว้ คลิกที่นี้ ) ซึ่งก็คงจะเหมือนๆ กันทุกๆ วัดและทุกๆ ครั้ง นั่นคือ ช่วงทำพิธีจะสับสนวุ่นวาย ญาติโยมบางท่านจะไปตักบาตร บางท่านจะเอาขนมมาใส่กะละมัง บางท่านกำลังตักแกงจากปิ่นโตใ่ส่จานที่วางเรียงราย บางท่านก็จะนำเบี้ยไปทำบุญ บางท่านก็ค่อยๆ แทรกเข้าไปหน้าพระประธานเพื่อจะได้จุดธูปเทียน ขณะที่บางท่านก็กำลังชะเง้อหาใครบางคน...

แต่หลังจากเสร็จพิธี ก็จะค่อยทยอยกันกลับ... และแล้ววัดก็กลับมาสู่ความสงบเหมือนเดิมอีกครั้ง เหลือสิ่งที่ทิ้งไว้ภายในวัด ก็คือใต้ร้านเปรตจะมีบรรดาสุนัขค่อยๆ คุ้ยเขี่ยบางสิ่งที่น่าสนใจอยู่ ขนมต้มแกงที่ใส่กระทงวางไว้ตามใต้ไม้ ข้างกำแพงและหน้าประตูวัดทั้งด้านในและด้านนอก จะวางอยู่เรียบร้อยบ้าง หรือหกเรี่ยราดบ้าง ซึ่งอีก ๒-๓ วันสิ่งเหล่านี้ก็ค่อยๆ เลือนหายไป...

ส่วนที่กุฏิผู้เขียน ตอนนี้ด้านนอกมีขนมเดือนสิบ เช่น หนมเจาะหู หนมเทียน ต้มสามเหลี่ยม ฟอง ลา ฯลฯ รวมแล้ว ๓ กะละมังโตๆ... มีผลไม้เช่น ลองกอง แอปเปิล กล้วย ส้ม ฯลฯ รวมแล้ว ๒ ถาด... นอกจากนั้นก็ยังมีขนมเดือนสิบที่แยกย่อยอยู่อีก ๒ ถาด... รวมทั้งแกงสมรมที่ยังไม่ได้ปรุงอีก ๒ หม้อโตๆ ซึ่งหลวงพี่อีกรูปบอกว่าจะให้โยมหน้าวัดช่วยพาไปปรุงให้ในตอนเย็นๆ...

หนมเดือนสิบเหล่านี้ จัดว่าเป็นสมบัติบ้าตามฤดูกาลอย่างหนึ่งสำหรับวัดในปักษ์ใต้ ซึ่งต้องจัดการไปตามสมควรในแต่ละปี... สำหรับวัดที่มีญาติโยมช่วยเหลือหรือคอยจัดการนั้น อาจไม่เป็นภาระของพระ-เณรในวัดนัก แต่สำหรับวัดที่ไม่มีญาติโยมช่วยเหลือ พระ-เณรก็ต้องจัดการไปตามสมควร ซึ่งพอจะจำแนกชนิดของหนมที่จะจัดการดังต่อไปนี้

บรรดาหนมเดือนสิบเหล่านี้ ข้าวต้มสามเหลี่ยม จัดเป็นของสดที่บูดได้ง่ายที่สุด ถ้าไม่จัดการมะรืนนี้ก็จะบูดหมดต้องทิ้งไป... วิธีจัดการโดยมากก็จะย่างไฟอ่อนๆ ซึ่งจะเก็บไว้ได้อีกประมาณอาทิตย์หนึ่ง แต่บางวัดก็จะหันเป็นแผ่นบางๆ ซึ่งต้มหน่วยหนึ่งก็จะแบ่งได้ ๒-๔ ชิ้น แล้วก็ทอดสดๆ กลายเป็นต้มทอด มีรสชาดคล้ายๆ ข้าวเกรียบ... ต้มทอดถ้าเก็บไว้อย่างดีก็อาจอยู่ได้เป็นเดือน บางวัดนั้น จะทอดแล้วเก็บไว้อย่างดี เอาไว้เลี้ยงญาติโยมในวันทอดกฐิน...

หนมเทียนและหนมค่อม (หนมค่อมมีแป้งและใส้เหมือนหนมเทียน เพียงแต่หนมเทียนจะห่อเป็นแท่งๆ ส่วนหนมค่อมจะห่อเป็นก้อนๆ) ทั้งชนิดมีใส้และไม่มีใส้ จัดเป็นของสดที่จะบูดได้เหมือนกัน ซึ่งจะอยู่ได้ประมาณ ๔-๕ วัน แต่ถ้าเอามาตากแดดให้แห้งแล้วก็นำมาตากแดดเสมอ ก็อาจอยู่ได้ประมาณครึ่งเดือน... บางท่านที่ไม่รู้จักหนมเทียนก็ให้นึกถึงขนมเข่งของคนจีน มีแป้งคล้ายๆ กัน ซึ่งจะเก็บได้นานหรือไม่เพียงไรก็อาจขึ้นอยู่กับชนิดของแป้งและวิธีการทำด้วย หนมเทียนที่เอามาตากแดดหลายๆ วันนี้ บางอันก็อร่อยดี แต่บางอันก็บูด ไม่แน่นอน...

อนึ่ง ต้ม หนมเทียน และหนมค่อมนี้ ถ้ามีไม่มากนัก บางวัดก็นำมานึ่งใหม่ ก็อาจยืดอายุให้เป็นของสดอยู่ได้อีก ๒-๓ วัน...

หนมที่เหลือ เช่น เจาะหู ฟอง ลา ฯลฯ จะเป็นหนมแห้ง ถ้าจัดเก็บอย่างดีก็จะไม่ค่อยเสีย แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็อาจขึ้นราภานในหนึ่งเดือน... หนมแห้งเดือนสิบเหล่านี้ โดยมากไม่ค่อยมีใครชอบกินยกเว้นขนมลาที่มักจะมีผู้แวะเวียนมาขอเสมอหลังจากทำบุญเสร็จ... หนมลา นั้น จะมีวิธีการจัดเก็บจากหนมอื่นๆ กล่าวคือ ให้ม้วนเป็นก้อนกลมๆ หรือพับเป็นแผ่นทำนองผ้าเช็ดหน้า แล้วก็จัดเรียงในหม้อหรือโอ่งก็ได้ โรยน้ำตาลทรายเป็นชั้นๆ ก็จะเก็บได้เป็นเดือนๆ...

ส่วน หนมเจาะหู หนมบ้า ฟอง หนมเพซำ ฯลฯ ก็ต้องนำมาเชื่อมน้ำตาลทรายหรือน้ำตาลตะโหนด (ปักษ์เรียก การเชื่อมน้ำตาล ว่า หลา) หนมหลาเดือนสิบเหล่านี้ เก็บไว้ได้เป็นเดือนๆ ไม่เสีย... แม้รสชาดจะไม่ค่อยเป็นที่โปรดปรานนัก แต่เก็บไว้ได้นานๆ ก็ค่อยๆ หมดไปเหมือนกัน...

เขียนยังไม่ทันจบ มีเสียงเรียกมาจากด้านล่าง เปิดประตูออกไปดู ปรากฎว่ามีพระเถระเอาหนมเดือนสิบตกค้างอยู่อีกหนึ่งหม้อใหญ่มาให้ ผู้เขียนจึงต้องออกไปนำมาเก็บไว้ (5 5 5...)

ขณะที่ ผลไม้ ก็จะใส่ถาดตั้งไว้ ชนิดไหนที่ชอบก็จะได้ไปก่อน ส่วนที่เหลือก็จะวางไว้จนเสียก็ทิ้ง... เมื่อเช้านี้ ผลไม้ในถาดที่กุฏิเหลือเฉพาะแอปเปิลอยู่ ๕ ลูก สองลูกเป็นแอปเปิลเขียว ลูกหนึ่งสีแดง และอีกสองลูกมีขนาดโตสีเหลือง-แดง ซึ่งดูผิวด้านนอกก็ยังดูสด แต่วันก่อนผู้เขียนลองปอกสาลี่ ปรากฎว่าด้านในเริ่มเน่าแล้ว... คิดว่าแอปเปิลเหล่านี้ก็น่าจะเหมือนสาลี่ จึงเก็บทิ้งถังขยะ แต่ตอนนี้ก็มีผลไม้กลุ่มใหม่ ซึ่งสดกว่า มาวางไว้ยังที่เดิม (5 5 5...)

รู้สึกว่าผลไม้เท่านั้น ที่ทั้งพระ-เณรและญาติโยมต้องการ บางปีพอเสร็จงานผลไม้ก็หายหมด จึงมีการโวยวายว่า ต้องแบ่งไว้ให้พระ-เณรฉันบ้าง และญาติโยมที่จัดการตอนถวายพระ-เณรมักจะสงวนผลไม้ไว้จำนวนหนึ่งเพื่อถวายพระ... และเดียวนี้ มีตู้เย็นทั้งในบ้านในวัด (แต่ผู้เขียนไม่มีตู้เย็น) ดังนั้น ผลไม้ที่มีผู้โปรดปรานจึงมักได้ไปสถิตอยู่ในตู้เย็น ส่วนผลไม้ที่ยังวางไว้อยู่ในถาดก็ต้องรอถ้าว่าเมื่อไหร่จะมีผู้โปรดปราน... 


หนมเดือนสิบในวัด ไม่ค่อยมีใครชอบที่จะจัดการ อีกอย่างปัจจุบันนี้ ไม่ค่อยมีใครนิยมจะกินนัก... ต่อมาจึงมีวิธีการแบบใหม่ คือนำไปให้ยังสถานพินิจฯ หรือเรือนจำฯ ซึ่งเมื่อบุญก่อนมีคนพูดแล้ว แต่พระเถระรูปหนึ่งไม่อนุมัติ ผู้เขียนไม่อยากจะขัดจึงนิ่งเสีย...

แต่บุญนี้ หนมเกือบทั้งหมดมาอยู่ที่กุฏิผู้เขียน ก็คิดว่าเย็นๆ หรือพรุ่งนี้ ถ้าใครผ่านมาก็อาจบอกให้เอาไปให้ยังสถานพินิจฯ ซึ่งอยู่ห่างไปจากวัดประมาณ ๒ ก.ม...

  • สรุปว่า่ หนมเดือนสิบ ก็จัดเป็นสมบัติบ้าในวัดได้เหมือนกัน โดยประการฉะนี้

 

คำสำคัญ (Tags): #หนมเดือนสิบ
หมายเลขบันทึก: 212669เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2008 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • นมัสการหลวงพี่
  • อ่านแล้วคิดถึงภาคใต้
  • สนับสนุน
  • ให้เอาไปสถานพินิจฯ
  • ดีกว่ามันจะเสียครับ

กราบนมัสการหลวงพี่

อ่านข้อความของหลวงพี่แล้ว เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะวัดใหญ่ๆ

การทำบุญแต่ละวัน ของทำบุญเหลือเฟือ

แต่พอออกไปข้างนอก ในบาตรพระมีแต่ข้าวเหนียว แทบจะไม่มีกับข้าวเลยค่ะ

 

กราบนมัสการหลวงพี่

อ่านเรื่องสมบัติบ้าในวัดแล้วก็ทำให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งของการทำบุญในทุกๆเทศกาล อาหารสดทุกประเภท พระ เณรฉันแล้วเหลือมากมาย ก็ตกเป็นทานให้กับชาวบ้านและสุดท้ายก็สัตว์ต่างๆในวัดกินจนเบื่อ

ทำอย่างไรถึงจะให้ชาวบ้านหมุนเวียนมาทำบุญทุกๆวันแทน หรือเปลี่ยนมาเป็นพวกอาหารแห้งที่สามารถเก็บได้นานๆแทนพวกอาหารสด น่าคิดนะครับหลวงพี่

นมัสการครับ

      ของทำบุญที่เหลือมากมายในวัด ก็น่าจะเหมือนกันทุกๆที่ครับ

      วัดที่อยู่ใกล้ๆโรงเรียน   ก็จะนำไปแจกให้นักเรียนครับ

      แต่บางครั้ง นักเรียนก็ไม่อยากกินครับ  เพราะเป็นขนมที่มาจากบ้านเขานั่นเอง หรือ เป็นขนมประเภทเดียวกันกับที่บ้านเขาทำ

       พระจึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรกับขนมที่เหลือดี

 

Pขจิต

 

ตั้งใจอย่างนั้นแหละ และหลวงพี่อีกรูปก็เห็นสม แต่คอยรถไปสถานพินิจฯ ก็ยังไม่มา ฟังว่ารถอีกคันเกิดอุบัติเหตุนิดหน่อยต้องพาคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาลก่อน...

..........

Pหน่อย อภิญญา

 

ความขาดๆ เหลือๆ ในอาหารของพระ-เณร โบราณเรียกว่า อาหารเสือ เคยเขียนเล่าไว้ คลิกอ่านที่นี้

.............

Pโต

เคยฟังพระเถระรูปหนึ่งรำพึงว่ ชาวบ้านคิดว่าพระ-เณรฉันเฉพาะวันพระ ... เมื่อพิจารณาดูจะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องนี้มีมานานแล้ว จึงมีการอนุญาตเรื่อง การถวายทานในวันปฏิบท สนใจก็ลอง คลิกอ่านที่นี้

........



อย่างนั้นแหละ ในยามของมากไม่ค่อยมีใครสนใจ แต่พอไม่ค่อยมีของ แต่ละคนก็ต้องการจะได้บ้าง...
..........

เจริญพรทุกท่าน

ที่โรงเรียนเทศบาล 4 วัดแหลมทราย ให้ขนมเดือนสิบมาเลี้ยงนักเรียนปรากฏว่าหมดเกลี้ยง นักเรียนทานหมดครับ ยังมีอีกเทศกาลคือฉลองตอก (หลังเข้าพรรษา) นักเรียนก็ได้กินข้าวตอกด้วยครับ

นมัสการ

กราบนมัสการหลวงพี่

ผมอ่านบทความนี้แล้วเห้นด้วยครับ หากผมอยู่หาดใหญ่จะรับเป้นภาระนำไปสถานพินิจครับ

Ppakorn

 

  • อนุโมทนาสาธุ...

ถ้าเป็นไปได้ พรุ่งนี้ อาจารย์มาเอาเลย ตอนนี้ ขนมแห้ง ๓ กะละมังล้นๆ ยังตั้งอยู่ในกุฏิ...

ส่วนต้มและหนมเทียนนั้น นึ่งบ้างย่างบ้าง หมด (ปัญหา) ไปแล้ว...

...........

P ธัญศักดิ์ ณ นคร

 

เมื่อวานไม่ได้เอาไปยังสถานพินิจ เพราะรถต้องรีบไปส่งคนเจ็บเพื่อเอกซเรย์ แต่ก็ปลอดภัย...

อย่างไรก็ตาม อนุโมทนาอย่างยิ่งสำหรับกุศลเจตนาของคุณโยม...

...........

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท