๒๖.ข้าวตอกดอกไม้ : ศิลป์แห่งศรัทธาและพลังชีวิตชุมชน


ผมได้มีโอกาสไปร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมเพื่อบำเพ็ญกุศลศพท่านเจ้าคุณพระราชวรเมธี (ยุ้ย อุปสนฺโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาวังราชบุรี [๑] ที่ศาลาจอมพลผิน ชุณหะวัณ วัดเขาวังราชบุรี [๒] อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งในงานดังกล่าวก็ได้เห็นการทำข้าวตอกดอกไม้ตบแต่งที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพซึ่งดูน่าตื่นตาตื่นใจและสวยงามมาก[๓] จึงได้ขอเรียนรู้จากพระ แม่ชี และญาติโยมที่เกี่ยวข้อง

กระทั่งในที่สุดก็ได้พบกับพระที่ท่านเป็นผู้นำพระสงฆ์ แม่ชี และญาติโยม ให้มาช่วยกันทำ จึงได้กราบนมัสการท่านและขอสนทนารวบรวมเป็นความรู้ นำมาถ่ายทอดไว้ให้แพร่หลายต่อไปในบล๊อก GotoKnow นี้ น่าสนใจมากครับ

                       

  ศิลปะและงานสร้างสรรค์เพื่อสื่อแสดงภาวะสูงสุดในอุดมคติ             

พระท่านเล่าให้ฟังว่า วิธีทำข้าวตอกดอกไม้ที่ท่านได้นำมาทดลองทำดูนี้ เป็นภูมิปัญญาของคนล้านนา ท่านได้ไปเห็นชาวบ้านชอบทำเป็นเครื่องสักการะในโอกาสต่างๆทั้งงานบุญและงานประเพณีจึงได้ขอศึกษาวิธีทำเอาไว้จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน จากนั้น ก็นำกลับมาทดลองทำดู ครั้งแรกก็ทำขึ้นในงานบำเพ็ญกุศลศพหลวงพ่อองค์ก่อน คือ พระครูภาวนานิเทศน์(หุ่น อิสฺสโร) ถึงแม้จะทำได้ไม่เต็มที่และยังไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ทำให้รู้วิธีทำและมีความมั่นใจที่จะทำกันด้วยตนเองของพระ แม่ชี และชาวบ้าน ผ่านไป ๕-๖ ปีก็ได้ทำขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๒ ในงานบำเพ็ญกุศลศพท่านเจ้าคุณพระราชวรเมธีนี้

การทำข้าวตอกดอกไม้ [๔] ในงานมงคลนั้น สามารถพบเห็นในวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นต่างๆของประเทศได้โดยทั่วไป ทว่า อาจจะมีรูปแบบและการให้ความหมายที่แตกต่างกันออกไป ในหลายท้องถิ่นนั้น การทำข้าวตอกดอกไม้อาจเป็นส่วนหนึ่งของการสักการะสิ่งที่มีความหมายทางปัญญา การศึกษา และความรู้ เพราะข้าวตอกดอกไม้มีลักษณะการแตกออกเป็นดอกช่อเหมือนความแตกฉานทางปัญญา เช่น เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องไหว้บูชาครูและเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยา เป็นเครื่องประกอบในขันธ์ ๕ และธูปเทียนแพสำหรับมอบตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาอบรมกับครูอาจารย์สำนักวิชาต่างๆ  รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องบวงสรวงเซ่นไหว้และสักการะในพิธีกรรมที่มีการโปรยข้าวตอกดอกไม้บูชาเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหล่านี้เป็นต้น

ในงานที่เป็นอวมงคลดังเช่นงานศพ ก็มีธรรมเนียมการนำเอาข้าวตอกดอกไม้มาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมเช่นกัน แต่ก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่มีความหมายทางสติปัญญาเหมือนกับงานมงคลทั้งหลาย โดยจะมีการทำข้าวตอกดอกไม้และให้ผู้ที่เป็นญาติใกล้ชิดเดินโปรยนำขบวนแห่ศพ ซึ่งหมายถึงขออาราธนาเอาพระธรรมของพระพุทธเจ้านำทางให้แก่ดวงวิญญาณผู้วายชนม์ ตามด้วยพระสงฆ์ และศพผู้วายชนม์ นำกายสังขารไปสู่ความเป็นหนึ่งกับธรรมชาติ หวนคืนสู่ดิน น้ำ ไฟ ลม และนำวิญญาณขันธ์ไปสู่สภาวธรรมที่สูงขึ้นไปในสุคติภพ

ผมเองนั้น เคยเล่นแตรวงและต้องมีวัฒนธรรมการไหว้ครู รวมทั้งมักได้เล่นแตรวงในงานพิธีของชาวบ้านที่จะต้องมีการโปรยข้าวตอกดอกไม้อยู่เสมอเกือบสิบปี  จึงคุ้นเคยกับข้าวตอกดอกไม้เหมือนเป็นสิ่งดาดดื่นทั่วไป ไม่มีความน่าสนใจอย่างเป็นพิเศษแต่ประการใด ทว่า ต่อเมื่อได้ไปมีครอบครัวอยู่ที่เชียงใหม่และได้ร่วมงานบุญประเพณีของชุมชนล้านนาซึ่งได้ชื่อว่ามีความสร้างสรรค์ทางศิลปหัตถกรรมเป็นหนึ่ง ซึ่งรวมทั้งการทำพุ่มพวงข้าวตอกดอกไม้ [๕] ก็เริ่มเห็นความน่าสนใจของวัฒนธรรมการจัดดอกไม้และการทำศิลปะตบแต่งเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และแสดงความเคารพต่อสิ่งศรัทธา

กระนั้นก็ตาม ก็ไม่เคยพบว่าจะได้ตื่นตาตื่นใจและประทับใจเท่ากับได้เห็นเหล่าศิษยานุศิษย์และญาติโยมของวัดเขาวังราชบุรี ทำขึ้นเป็นสักการะบูชาในงานบำเพ็ญกุศลศพเจ้าคุณพระราชวรเมธี(ยุ้ย อุปสนฺนโต)                      

  ทุกอย่างมาจากองค์ประกอบแห่งความเป็นที่สุด            

วัสดุอุปกรณ์การทำข้าวตอกดอกไม้ ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก ทว่า มีความหมายและคุณค่าทางจิตใจมากอย่างยิ่ง วัด หน่วยงาน และชุมชนต่างๆ หากสนใจก็สามารถจัดหาและทำด้วยตนเอง ดังนี้ 
๑. รวงข้าวฟ่างแก่เต็มที่ ๑ หมื่นรวง ข้าวตอกดอกไม้ที่เห็นในภาพนี้ เป็นพุ่มข้าวตอกดอกไม้ที่ทำมาจากรวงข้าวฟ่างจำนวนกว่า ๑๐,๐๐๐ รวง โดยไปเลือกสรรมาจากข้าวฟ่างที่กำลังแก่เต็มที่ ไม่อ่อนเกินไปซึ่งจะทำให้คั่วไม่แตกเป็นดอกช่อสวยงาม อีกทั้งไม่แก่จนเกินไปซึ่งจะทำให้เมล็ดข้าวฟ่างหลุดร่วงและรวงข้าวฟ้างไม่มีความเหนียว หักและขาดง่าย คณะของพระและญาติโยมต้องตระเวนขอซื้อจากชาวบ้านได้แห่งละเล็กน้อยตามไร่ต่างๆของชาวไร่ในจังหวัดราชบุรี แต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงได้ไปรวบรวมมาจากอีกแหล่งหนึ่งที่ไร่ชาวบ้านที่ตากฟ้า ไพศาลี และหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ จำเพาะการเลือกรวงข้าวฟ่าง ก็สื่อถึงผลิตผลจากผืนดิน และการมีความหมายลึกซึ้ง ๓ มิติ คือ ราชบุรีหรือเมืองแห่งราชา นครสวรรค์หรือเมืองแห่งสรวงสวรรค์ และการเลือกกระจายไปหลายพื้นที่ ก็สื่อถึงความเป็นพืชพรรณที่งอกขึ้นเหมือนดอกไม้จากแผ่นดินของประเทศ
๒. ทราย ๒๐ คิว การคั่วให้รวงข้าวฟ่างร้อนและแตกเป็นข้าวตอกดอกไม้ มีลักษณะเหมือนกับการคั่วเกาลัดด้วยผงกาแฟ เป็นเคล็ดลับที่พระและญาติโยมทดลองทำและค้นพบว่าเป็นวิธีที่ดีสุด การคั่วด้วยน้ำมันทุกรูปแบบจะทำให้ข้าวตอกแตกไม่สม่ำเสมอ ดำ สกปรก ไม่เป็นช่อขาวสะอาดเหมือนการคั่วด้วยทราย และก้านรวงบางส่วนอาจจะไหม้ ทรายที่ใช้คั่วนี้เป็นทรายหยาบเหมือนกับที่ใช้ก่อสร้างทั่วไป
๓. หญ้ากระเทียม ใช้สำหรับมัดขึ้นรูปเป็นลำต้นเหมือนโครงของพวงหรีด เพื่อเสียบก้านข้าวตอกดอกไม้ให้ได้รูปทรงเป็นพุ่ม 
๔. ต้นไผ่ ต้นไผ่จะนำมาทำเป็นแกนห่อและยึดเป็นโครงด้วยกำหญ้ากระเทียมเพื่อให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ
๕. ลวดและเชือก ใช้สำหรับมัดหญ้ากระเทียมและตบแต่งรูปทรงของพุ่มข้าวตอกดอกไม้ตามที่ต้องการ
๖. กะทะและพลั่ว สำหรับคั่วทรายและทำให้รวงข้าวฟ่างแตกเป็นข้าวตอกดอกไม้
๗.ถ่านที่ควันไม่มาก

  มิติชุมชนกับการทำข้าวตอกดอกไม้จากรวงข้าวฟ่าง              

เมื่อได้รวงข้าวฟ่างมาตามที่ต้องการแล้ว พระ แม่ชี และญาติโยม ก็นำรวงข้าวฟ่างมาทำเป็นพุ่มข้าวตอกดอกไม้ โดยเริ่มจากคั่วทรายในกะทะจนร้อนจัด จากนั้น ก็นำไปราดลงบนรวงข้าวฟ่าง ค่อยๆราดในกะทะทีละรวง ราดให้ได้ความร้อนจากเม็ดทรายอย่างทั่วถึง ไม่ถึง ๑๐ นาที รวงข้าวฟ่างก็จะแตกออกอย่างพร้อมเพรียงกันเหมือนกับการคั่วข้าวโพด เมื่อแตกจนหมดรวงแล้วก็สบัดทรายออกแล้วนำไปวางเรียงกัน ทำไปได้สักประมาณ ๑๐๐ ช่อรวง ทรายคั่วจะเริ่มดำ ก็จะเปลี่ยนทรายใหม่อีกกะทะหนึ่งไปเรื่อยๆ จนได้ข้าวตอกดอกไม้จากรวงข้าวฟ่างนับหมื่นช่อ

กระบวนการทำดังกล่าวนี้ แทบจะไม่มีรวงข้าวฟ่างที่เสียเลย และใช้เวลาทำอย่างประณีต ทุกช่อจะแตกเป็นข้าวตอกขาวสะอาด ความพิถีพิถันบรรจงจำเพาะในขั้นตอนนี้ก็ใช้เวลาเกือบ ๑ เดือน จากนั้น ก็นำวัสดุอุปกรณ์ต่างๆมาขึ้นโครง ห่อด้วยกำหญ้ากระเทียม แล้วก็ค่อยๆเสียบรวงข้าวตอกดอกไม้ขึ้นรูปเป็นพุ่ม ทำไปทีละต้นๆ แล้วจึงเริ่มนำมาจัดตบแต่งให้เป็นที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพ แซมด้วยองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ต้องการ ตลอดกระบวนการจะต้องระดมความร่วมแรงร่วมใจหมุนเวียนกันทำครั้งละ ๒๐-๓๐ คนต่อเนื่องเป็นแรมเดือน จนสามารถกล่าวได้ว่า หากขาดความเป็นชุมชนและขาดภูมิธรรมที่อยู่เบื้องหลังการจัดวางองค์ประกอบต่างๆแล้ว ก็จะไม่สามารถทำพุ่มข้าวตอกดอกไม้ออกมาในลักษณะนี้ได้

  มิติการเรียนรู้และกระบวนการสืบทอดภูมิธรรมภูมิปัญญา องค์รวมความงามที่แยบคายและลึกซึ้ง            

ข้าวตอกมาจากภาษาบาลีว่า ลาซา มีคุณลักษณะสื่อถึงพระพุทธลักษณะ ๓ ประการ [๖] คือ การแตกกระจายออกเป็นดอกเมื่อคั่ว สื่อความหมายถึงคุณลักษณะแห่งพระปัญญาธิคุณซึ่งมีกำลังแห่งความตื่นรู้ ข้ามกองแห่งทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง มีสีขาวสื่อถึงพลังแห่งความเป็นพระวิสุทธิคุณ น้อมสู่การปฏิบัติให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ได้ทุกคนอย่างปราศจากสิ่งที่เป็นโทษภัย  และการแผ่ออกเป็นช่อ สื่อความหมายถึงความแผ่ไพศาลของพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณที่ยังประโยชน์สุขแก่หมู่ชนอย่างเสมอภาค เท่าเทียม เสมอกัน ในแง่การจัดวางองค์ประกอบของการทำข้าวตอกดอกไม้ จึงบ่งบอกถึงการมีภูมิธรรมและการแสดงออกถึงภูมิปัญญาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต รวมทั้งองค์ความรู้ต่างๆที่เชื่อมโยงอยู่กับระบบสังคมอย่างลึกซึ้ง

กระบวนการทำข้าวตอกดอกไม้อย่างที่เห็นนี้ ต้องใช้ความพากเพียร ต้องอาศัยความเป็นหมู่คณะ ต้องใช้ความรอบรู้ และมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ต่อการทำองค์ประกอบต่างๆขึ้นมาอย่างพิถีพิถัน เป็นกิจกรรมที่สอดแทรกกุศโลบายทั้งเพื่อพัฒนาการเรียนรู้สร้างความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มก้อนและชุมชนอย่างแยบคาย

เป็นพลังความงามแห่งศิลป์ที่สร้างขึ้นจากองค์ประกอบความเป็นพื้นถิ่น มิติคุณค่าและความหมายของวัตถุ พลังความศรัทธา ภูมิธรรมของสังคม พลังจิตใจ และความเป็นชุมชน ซึ่งมีทั้งความงดงามและความเป็นวิถีชีวิตอย่างยิ่ง.

..............................................................................................................................................................................

เชิงอรรถ|อ้างอิงภาพและบทความ :

[๑] บทความ ใส่ใจรายละเอียด กตัญญู และเชิดชูครูอาจารย์ : พระราชวรเมธี (ยุ้ย อุปสนฺโต ปธ. ๙). วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ใน http://gotoknow.org/blog/livelesson/331596
[๒]
บทความ เขาวังราชบุรี : การผสมผสาน วัง วัด อำมาตย์ บ้าน โรงเรียน. วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ใน http://gotoknow.org/blog/civil-learning/331637
[๓
] อ้างอิงภาพ ไฟล์อัลบั้ม วิรัตน์ คำศรีจันทร์ http://gotoknow.org/file/wiratkmsr
[๔] อ่านและศึกษาเพิ่มเติม ใน งามจริงงามถิ่นศิลปวัฒนธรรม : ตอนที่ ๑๓ เรื่องขันดอกล้านนา ใน e-radio เข้าไปอ่านและฟังรายการวิทยุได้ที่ http://www.fm100cmu.com/fm100/100programs_detail.php?id_sub_group=83&id=3571 และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณมณี พยอมยงค์ แห่งคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศิลปินแห่งชาติและปราชญ์แห่งล้านนาไทย ใน ศิลปะและวัฒนธรรม : ประเพณีดำหัวปีใหม่สงกรานต์ล้านนา กองส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 
[๕] ในวัฒนธรรมล้านนานั้น ดอกไม้ ธูป เทียน ข้าวตอกดอกไม้ รวมทั้งภัตตาหารและสิ่งต่างๆที่เป็นเครื่องสักการะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในคติของชาวบ้าน จะได้รับความนอมน้อมและเคารพบูชาไปด้วย เช่น มีเพลงและคำกล่าวอัญเชิญดวงดอกไม้ไปยังแดนนิพพานและไปร่วมบูชาพระ มีเพลงและคาถาอัญเชิญข้าวตอกดอกไม้ให้ร่วมไปเป็นผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย ซึ่งสูงส่งเท่ากับความเป็นอุบาสกและอุบาสิกาของมนุษย์ เหล่านี้เป็นต้น วัฒนธรรมเกี่ยวกับการทำข้าวตอกดอกไม้ของชาวล้านนาจึงมีภูมิปัญญาอยู่เบื้องหลังที่หนักแน่น หลากหลาย งดงาม และมีความสืบเนื่องยาวนาน นอกจากนี้ ในพุทธประวัติและพุทธตำนานก็ได้มีการกล่าวถึงดอกไม้แห่งสวรรค์ชื่อ ดอกมณฑารพ ว่าจะโปรยลงมาจากสวรรค์เพื่อสักการะต่อพระพุทธองค์ในเหตุการณ์สำคัญ ๓ ครั้งคือเมื่อพุทธประสูติกาล ตรัสรู้ และเสด็จปรินิพพาน จึงเป็นที่มาของการนำเอาดอกไม้มาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องสักการะบูชา และการทำ ข้าวตอกดอกไม้ หรือ การทำดอกไม้พันดอกในวันเทศน์คาถาพัน รวมไปจนถึงเทศกาลบูชาด้วยดอกไม้ ก็เป็นการสักการะบูชาต่อองค์รวมแห่งปัญญา คุณธรรม ความรักผู้คน และความดีงาม ที่แสดงในโอกาสพิเศษและมุ่งให้มีความหมายที่สุดต่อกรณีนั้นๆ
[๖] บทความ ข้าวตอก ดอกไม้ ลำเทียน ใน Lanna Corner.สถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าไปดูได้ใน www.lannacorner.net 

หมายเลขบันทึก: 333060เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2010 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • วัตถุก็หายาก ทำก็ยากแสนยาก
  • เห็นขั้นตอนการทำแล้วนึกออกเลยว่าต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างมากจริง ๆ
  • ลูกศิษย์และคณะศรัทธาญาติโยมทำเพื่อเป็นอาจาริยบูชาด้วยใจแห่งศรัทธาต่อองค์ท่านผู้ล่วงลับโดยแท้
  • ยิ่งใหญ่อลังการ  งดงามมาก ด้วยพลังศรัทธาสามัคคี
  • เพิ่งได้เห็นและได้เรียนรู้วิธีการทำเป็นครั้งแรก

เจริญพร

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

อันที่จริงแถวบ้านหนองบัวและชุมชนโดยรอบของพระคุณเจ้า ผม และคนท้องถิ่นนครสวรรค์นั้น เราคุ้นเคยกับข้าวฟ่างและการทำข้าวตอกดอกไม้มาตั้งแต่เด็กนะครับ เวลาไฟป่ามาหรือเวลาเผาซังข้าว ทั้งในนาและในไร่ พอไฟลามไปตามปลวกและโพนที่มีต้นข้าวฟ่าง ก็จะเห็นข้าวฟ่างแตกเป็นช่อ แต่ไม่เคยนึกภาพออกเลยว่า เมื่อนำมาทำเป็นข้าวตอกดอกไม้แล้วจะดูงดงามอลังการอย่างที่ผมก็เพิ่งจะเคยเห็นเหมือนอย่างที่พระคุณเจ้าว่าเช่นกันครับ แล้วก็มีความหมายดีหลายด้านจริงๆเลยนะครับ

สื่อถึงผลิตผลจากผืนดิน และการมีความหมายลึกซึ้ง ๓ มิติ คือ ราชบุรีหรือเมืองแห่งราชา นครสวรรค์หรือเมืองแห่งสรวงสวรรค์ และพืชพรรณที่งอกขึ้นจากแผ่นดินของประเทศ


ความหมายลึกซึ้งดีครับ...คนราดรีกับคนนครสวรรค์ น่าจะได้รับรู้ความหมายที่ลึกซึ้งนี้และราดรีกับนครสวรรค์น่าจะเป็นเมืองคู่แฝดกันนะ

สวัสดีคุณสุเทพ : ราชบุรีครับราชบุรี ไม่ใช่ราตรี ไม่เห็นจะใกล้กันตรงไหนเลยนะนี่ ไปติดลมอะไรมาจากไหนกันล่ะท่าน ขอบคุณที่แวะมาเยือนกันเด๊อ

เมื่ออ่านๆ เจอว่า "ในงานที่เป็นอวมงคลดังเช่นงานศพ ก็มีธรรมเนียมการนำเอาข้าวตอกดอกไม้มาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมเช่นกัน "...จำได้ว่าสมัยเด็กเวลาตามคุยยายไปร่วมงานศพของคนในหมู่บ้าน ยายจะเอาข้าวตอกใส่ถุงไปหนึ่งถุง แต่สุดท้ายไม่ทราบว่าข้าวตอกเป็นส่วนไหนของพิธี.....เพราะยายจะไม่ชอบให้ตามยายไปตอนเผาศพ.....ขอบคุณสำหรับความรู้และเกร็ดวัฒนธรรมต่างๆค่ะ

สวัสดีครับคุณครูnoktalay :

อย่างที่คุณครูnoktalayรวบรวมข้อมูลตนเองไว้ให้ด้วยนี้ เป็นวิถีปฏิบัติของชาวบ้านในชนบทในอดีตเลยครับ นอกจากข้าวตอกแล้วก็มักจะมีมีดเหน็บติดมือไปด้วย

หากเป็นงานบวช งานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ งานกวนข้าวยาคูหรือข้าวทิพย์ ก็จะมีมีด มะพร้าว ข้าวตอก ถั่ว งา ติดมือไปเหมือนกัน แต่จะเยอะกว่าการเตรียมไปร่วมงานศพ โดยทั่วไปแล้ว มีด งอบ และผ้าขาวม้า แทบจะเรียกว่าเป็นสิ่งที่ชาวบ้านทุกคนต้องมีไว้ติดตัว ซึ่งนอกจากจะเป็นสิ่งที่ทำให้พร้อมจะช่วยลงแรงทำการงานกันได้ทุกเมื่อแล้ว ในงานศพก็จะเหมือนเป็นเครื่องรางของขลังป้องกันสิ่งร้ายเข้าตัวอีกด้วย

วันที่ชาวบ้านถือสิ่งของเหล่านี้ไปช่วยกัน แถวบ้านผมจะเรียกว่าวันโฮมบุญ เป็นวันเอาแรงกันและระดมทรัพยากรต่างๆมาช่วยกัน ผมไปทำวิจัยชุมชนที่บ้านคลองใหม่ อำเภอสามพราณ จังหวัดนครปฐม ชาวบ้านเรียกวิถีปฏิบัติอย่างนี้ของชุมชนว่าการเอาแขกแรง ตอนที่ไปเวิร์คช็อปปฏิบัติการวิจัยชุมชนที่ฟิลิปปินส์และอินเดีย ก็มีวิธีระดมทรัพยากรอย่างนี้ที่หยิบยืมมาเป็นวิธีทำงานชุมชนอย่างนี้เหมือนกัน เรียกว่า Resources mobilization

เรื่องภูมิปัญญาและวิถีปฏิบัติอย่างนี้ มีความร่วมกันในสังคมต่างๆอย่างเป็นสากลมากทีเดียวครับ เพียงแต่มีความแตกต่างกันของการพูดและเรียกไปตามภาษาของตนเท่านั้น

สวัสดีค่ะอาจารย์

งามมากเลยค่ะ

ทั้งผลงาน และศรัทธา

ไม่เคยเห็นมาก่อนเลยค่ะ ขอบคุณมาก

อ่านเรื่องที่ทีมงานจะไปสุพรรณบุรีแล้วค่ะ พอดีหนังสือยังอยู่กับตัวอีกประมาณ 5 - 6 เล่ม จะส่งมาให้เพิ่มเติมนะคะ (เกรงว่าปริมาณจะไม่พอค่ะ เพราะเห็นว่าจะนำไปใช้ในเวิร์คช็อปด้วย)

หวังว่าจะประสบผลสำเร็จในการจัดกิจกรรม และเดินทางโดยปลอดภัยนะคะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดา ตอนนี้เหลือ ๔-๕ เล่มแล้วครับ กะว่าจะเก็บไว้ รวมกับพวกวัสดุอุปกรณ์ สี กระดาษ และเครื่องเขียน สำหรับตระเวนจัดกิจกรรม ต้องใช้วิธีสะสมไปทีละนิดแล้วครับ เมื่อตอนก่อนไปเวิร์คช็อป ผมวางแผนและทำใจใหญ่ว่าจะเลือกซื้อกระดาษ พู่กัน สีน้ำ และอุปกรณ์ต่างๆอย่างดี กะว่าให้กลุ่มคนเข้าขนาดกลุ่ม ๔๐-๕๐ คน สามารถมีสีและเครื่องมือกันได้คนละชุด ครั้งต่อไปก็จะซื้อเพิ่มไปอีกเรื่อยๆ

คิดว่าคิดแบบเขียมมากแล้วนะครับ แต่ที่ไหนได้ พอไปเดินซื้อของนะครับ ปรากฏว่าสีหลอดเล็กนิดเดียว แถมไม่ใช่สีวินเซอร์เสียอีก ก็ปาเข้าไปหลอดละร้อยกว่าบาท เลยต้องรีบลดขนาดความฝันโดยพลัน เหลือ ๑๒ ชุด และแต่ละชุดก็ซื้อแค่แม่สีได้ ๓ สี ทางบริษัทเขาเห็นซื้อเป็นโหลและซื้อหลายอย่างก็แถมให้อีก ๑ สี แต่ก็พอเล่นได้ครับ เลยลองเอามาฝากให้ชมก่อนรูปหนึ่งครับ

                     

รูปนี้เป็นรูปทดลองกระดาษและสีน้ำครับ สีใช้ได้ครับ แต่กระดาษไม่ดีเลย ขนาดตั้งกว่า ๒๐๐ แกรม แต่ยังหงิกหงอและอ่อนตัวจนปาดป้ายใส่ลูกเล่นทีแปรงไม่ได้เลยครับ แต่เข้าใจว่ายังฝึกไม่รู้ใจกัน ต้องขอคลำไปสักนิดหนึ่งก่อนครับ

มาอีกครั้งค่ะ (มาดูนามสกุลอาจารย์ให้แน่ใจ เพราะชอบจำสลับ บางทีจำเป็นศรีคำจันทร์ค่ะ)

มีสีวินเซอร์อยู่ประมาณ 20 หลอด ไม่ได้ใช้แล้วค่ะ (ลูกสาวเค้าใช้ตอนลงวิชาโฆษณา ตอนนี้จบคอร์สแล้ว) แต่ยังอยู่ในสภาพดี คงไม่ว่ากระไรนะคะที่จะส่งมาด้วย(ถึงจะเป็นวินเซอร์เกรดนักเรียน ไม่ใช่เกรดจิตรกร แต่ก็คงใช้ทำงานเวิร์คช็อปได้มังคะ)

มาชมงานอาจารย์อีกที

แถมด้วยข่าวไม่ค่อยดี หาสีไม่เจอค่ะ เลยส่งกระดาษมาแทน

ขออภัยจริงๆ

ภาพงดงามเสมอเลยค่ะ

เอาไว้ให้คนฝึกฝีมือเล่นเวลาทำกิจกรรมดีกว่าไหมครับ ไม่ต้องส่งไปให้หรอก ที่มักซื้อและเก็บไว้ทำกิจกรรมกันนั้น หากจัดหาไว้เอง จะใช้ไม่ทันไปบ้างก็จะเพียงเสียดายของ แต่ถ้าหากมีคนเสียสละส่งไปให้ ก็จะทั้งเสียดายที่ไม่ได้ใช้พร้อมกับจะรู้สึกไม่ได้ทำให้คนที่เขาส่งให้บรรลุวัตถุประสงค์ เป็นการบอกกล่าวสู่กันฟังในฐานะคนที่ทำกิจกรรมอย่างนี้ด้วยกันเฉยๆน่ะครับ

 

สวัสดี ครับ อ.วิรัตน์

แวะมาอ่านบันทึกนี้ก่อนเลิกงาน ครับ อาจารย์

ในชีวิตของผม ผมไม่เคยเห็น

ข้าวตอกดอกไม้ : ศิลป์แห่งศรัทธาและพลังชีวิตชุมชน

ภูมิปัญญาแบบนี้ ได้อะไรหลายๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างกลับเข้ามาสู่ชุมชน ความสามัคคี นำ้ใสใจจริง  และที่สำคัญ การแตกฉานทางปัญญาของภูมิปัญญาคนสมัยก่อน ลุ่มลึก และงดงามมาก ๆ เลย นะครับ

และทำให้ผมคิดถึง คำ ๆ นี้อีกครั้ง   ..เป็นอยู่อย่างพอเพียง..ทรงพลังและน่าศรัทธาเพิ่มขึ้นทุกวัน

งดงาม วิจิตรบรรจง ....เทียบค่า..ทางด้านจิตใจต่างกันมากนัก กับ ความคุ้นตาของผม ที่เคยไปร่วมงานเฉกเช่นนี้...แม้จะมีบริบทเหมือนกันหรือคล้ายกัน

วันนี้..ถือว่าเป็นบุญชีวิตอีกครั้ง ที่ได้มานั่งฟังอาจารย์ เล่าผ่านบันทึกนี้

ไม่เคยเสียดายเวลา ..ที่ได้มาพบกับอาจารย์ผ่านงานเขียนของอาจารย์สักครั้งเดียว

มิติการเรียนรู้และกระบวนการสืบทอดภูมิธรรมภูมิปัญญา องค์รวมความงามที่แยบคายและลึกซึ้ง          

...รักและเคารพ..อาจารย์วิรัตน์ ครับ

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ

  • ผมก็เพิ่งเคยเห็นอย่างเต็มที่อย่างนี้เหมือนกันครับ เมื่อก่อนนี้ก็เคยเห็นอยู่บ้างเหมือนกัน แต่เป็นช่อเล็กๆ พอมาเห็นขนาดนี้ก็ถึงได้รู้ว่ามันเป็นงานสร้างสรรค์ที่มีพลังมากจริงๆ เลยก็ต้องนำเอามาแบ่งปันให้คนอื่นได้ดูด้วยเสียเลยละครับ
  • ความเป็นอยู่อย่างพอเพียงนี่เป็นแนวดำเนินชีวิตที่น่านำมาปฏิบัติดีนะครับ เมื่อปีที่แล้วหรือเมื่อต้นๆปี ผมได้อ่านวิธีคิดและพื้นฐานครอบครัวพ่อแม่ของคุณแสงแห่งความดี ก็เป็นแนวที่พอเพียงแก่ตนเองดีนะครับ ที่สำคัญคือมีการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง ที่จะมีความสุขกับฐานชีวิตของตนเอง เป็นวิถีแห่งการเรียนรู้ในชีวิตดีครับ
  • ผมเองก็สนใจและคิดว่าชอบในแนวทางอย่างนี้เช่นกันครับ พื้นฐานของผมนั้นก็เป็นคนชนบทเหมือนกับคุณแสงแห่งความดีแหละครับ ต้องเลือกเรียนรู้ในชีวิตที่จะไปในทางพอเพียงแก่ตนเอง
  • ขอให้มีความสุข มีคุณพระคุ้มครองและเกื้อหนุนให้มีความงอกงามในชีวิตอยู่เสมอครับ

                            

อธิบายภาพ : ข้าวตอกดอกไม้ที่มักเห็นโดยทั่วไป ในภาพเป็นช่อข้าวตอกดอกไม้ใช้ในชุดของไหว้ตามประเพณีรดน้ำดำหัว เทศกาลสงกรานต์

เรียนท่านอ.

เข้ามาอ่านบันทึกข้าวตอกนี้ครั้งหนึ่งแล้ว

แต่เป็นช่วงระยะที่งานล้นมือ

นึกเสียดายที่ไม่ได้ฝากรอยไว้

แต่จดจำว่าวันหนึ่งจะเรียนให้ทราบว่า

สมัยเป็นเด็กเดินตามแม่ไปตลาด

เคยเห็นเขาเอาข้าวตอกใส่น้ำกะทิซด

ยืนดูด้วยความสงสัย แต่แม่ก็ไม่เข้าใจ

นึกว่าคงอยากกิน เลยถูกเอ็ด

หลังจากนั้นเมื่อมีโอกาสมาตลาดลำพัง

จึงรีบไปซื้อรับประทานดู

ถึงได้เข้าใจว่าทำไมชายคนนั้น

จึงซดน้ำกระทิข้าวตอกดังช๊วบ

และเพิ่งเข้าใจว่าทำไมแม่จึงเอ็ดที่ไปยืนดูเขาซด

ก็เมื่อวันที่แม่รู้ว่าแอบไปตลาดโดยไม่ขออนุญาต

ขอบคุณบันทึกที่สะท้อนมาโดนใจค่ะ

 

สวัสดีครับคุณครูkrutoitingครับ

  • วิธีเล่าเรื่องที่ดูเล็กน้อยมากอย่างนี้ หากเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพในขั้นการสนทนาเพื่อค้นหาประเด็นการวิจัยและศึกษาเชิงลึกต่อไป จะเรียกว่าเป็นเรื่องเล่าที่มีพลังมากครับ
  • ได้ตั้งหลายประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจในบริบทของครอบครัวและชุมชนท้องถิ่น มากด้วยครับ คือ.....
                             - ความสนใจและวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็ก
                             - การเรียนรู้จากตลาดและวิถีชีวิตในชุมชน
                             - การสื่อสารเพื่อสร้างพลังครอบครัว   
                             - บทบาทของครอบครัวในการสอนเด็กและเยาวชนให้มีระเบียบวินัยในตนเอง                      
                             - ขนมข้าวตอก
  • เลยนำรูปข้าวตอกดอกไม้ และศิลปะการจัดดอกไม้ ที่ผสมผสานลูกเล่นอีกแบบหนึ่งครับ

                      

  • รูปแบบสวยๆนี้ ได้มาจากงานแสดงสินค้าศิลปหัตถกรรมและการออกร้านของผู้ประกอบการรายย่อยที่ภาคเหนือเมื่อ ๒ สัปดาห์ที่ผานมานี้เองครับ
  • เป็นการจัดข้าวตอกไม้ กับดอกบัวและกลีบดอกไม้
  • ในแง่การหาวัสดุและนำเอาลักษณะโดยธรรมชาติของวัสดุมาเป็น Texture ของงานให้ได้ผลอย่างที่ต้องการ ก็ดูสนุกดีมากเลยละครับ เห็นแล้วอยากลองเป็นนักจัดดอกไม้บ้างเลยทีเดียว

สวัสดีค่ะ

  นี่เอง คือคำว่าข้าวตอกดอกไม้

เพิ่งได้เห็นเป็นครั้งแรกค่ะ

มีความประณีตในการทำ

และใช้ภูมิปัญญาสูงสุด

ขอบคุณบันทึกนี้ ที่ต้องจดจำ

ให้ได้มีโอกาสทราบความหมายของข้าวตอกดอกไม้ด้วยค่ะ

ใช่ครับ แต่เดิมผมก็เข้าใจว่า ข้าวตอกดอกไม้ เป็นการเรียกสิ่งของใส่บาตรให้คล้องจองและฟังดูไพเราะเฉยๆ แต่พอเห็นแล้วก็มีอันต้องยอมรับว่าเป็น ข้าวตอกดอกไม้ จริงๆ แถวอีสาน ดูเหมือนจะที่ยโสธรก็มีเทศกาลแห่ข้าวตอกดอกไม้ครับ นั่นก็ยิ่งอลังการและเป็นข้าวตอกดอกไม้จริงๆด้วยเช่นกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท