ตาเหลิม
นาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

8 เทคนิคป้องกันพ่อแม่ปะทะอารมณ์ลูก


ฟังลูกบ้าง

.

.

ระหว่างกำลังนั่งพยายามแปลหนังสือ

คู่มือ นักพัฒนาสังคมที่ทำงานกับเด็ก ในการช่วยเหลือทางกาย จิต และสังคม ขั้นพื้นฐาน

สำหรับ เด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ(เด็กในภาวะยากลำบาก)

และเด็กที่ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นพิเศษ

[Handbook for Social workers on Basic Bio-Psychosocial help for Children in need of special Protection]

ของ University of Phillipines กับ UNICEF 

โดยใช้ทุน พ.ม. ที่ให้ติดตัวมา (พ.ม. = พ่อแม่) สรุป นั่นก็คือผมแปลด้วยความอยากนั่นเอง

เพราะเมื่อแรกที่อ่านผ่านตา พบว่ามีเนื้อหาดี และน่าสนใจ

(คู่มือแบบพี่ไทยจ๋าก็มี แต่แยกๆๆกัน หรือแบบรวมที่เคยเห็น ก็รวมแบบอย่างละนิดละหน่อย

ทำไมไม่ทำรวมให้ครบถ้วนกระบวนความก็ไม่รู้สิ ผมละต๊อแต๊) 

ใครอยากร่วมกันแปลก็เชิญนะครับ แปลบทสวดมนต์ยังได้บุญ แปลหนังสือช่วยเด็ก ทำไมจะไม่ได้บุญ เอ้อ

(ใครจะพิมพ์ให้ผมยังไม่รู้ ค่อยว่ากัน ถ้าไม่มีใครพิมพ์ให้ เราก็จะแจกไฟล์ ฮ่าๆๆๆๆ)

ผมกำลังหาอาสาสมัครช่วยกันๆ

(ถ้าเคยทำงานกับเด็กยากลำบากมาก่อนจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ - แน่ะ นี่ขนาดไม่จ่ายนะ ยังเลือกอีก)

แล้วก็ค่อยมาแก้สำนวนกับศัพท์เฉพาะกันอีกที เพราะเมื่อแปลเสร็จจะเอาไปให้พี่ๆ ที่เชี่ยวชาญ

และมีประสบการณ์คร่ำหวอด(be Experienced) (หรือจะเอาแบบ คว่ำ หวอด)มาช่วยกันดูอีกที

ขั้นตอนนี้ก็ ฟรีอีกน่ะแหละ 

หรือเอามา Post Gotoknow แล้วชวนพี่ๆน้องๆ เข้ามาช่วยกันอ่านดีล่ะทีนี้ 

อะ ยาวเกินไปแล้ว  

.

สาเหตุการบันทึกอันนี้ ก็เกิดจากอารมณ์ งงๆ อยู่ดีๆ สมองก็อยากหยุดการทำงาน

ก็เลยเปิดหานี่ นั่น นู่น มาอ่าน ไล่ตั้งแต่เว็บ Gotoknow, เว็บโป๊ ตลอดไปจนถึงเรื่องราวข่าวสาร

เท่าที่พอจะนึกออก

.

เลยได้อ่านเรื่อง 8 เทคนิคป้องกันพ่อแม่ปะทะอารมณ์ลูก

จากผู้จัดการออนไลน์ เข้าเรียบเรียงจาก more4kids.info เลยเอามาลงไว้

พร้อมๆกันนั้น พออ่านจบก็เลยเกิดความอยากเขียนบันทึกเรื่องราวชวนปวดหัว

พร้อมการจัดการกับปัญหาการสื่อสาร ที่อาจจะช่วยพ่อแม่ให้สื่อสารกับลูกได้ดีขึ้นกว่าเดิม ฮ่าๆ

8 เทคนิคป้องกันพ่อแม่ปะทะอารมณ์ลูก

ผมน่ะครับ เป็นลูก ใช่สิ ไม่มีพ่อแม่จะเกืดมาได้อย่างไร  ฮ่าๆ และก็เป็นลูกที่ช่างเจรจา เถียงคอเป็นเอ็นเลยทีเดียว เวลาที่พ่อกับแม่พยายามยัด ให้เชื่อในเรื่องต่างๆ เพราะพ่อแม่กับจะสอนมาให้รู้จักคิดและฝึกคิดมากันตั้งแต่เด็ก

เถียงแพ้ และชนะ ตามแต่เหตุผล และการหาข้อมูลประกอบ ส่วนใหญ่เถียงในลักษณะนี้พบว่าจะเถียงกับคุณพ่อเป็นส่วนใหญ่

ส่วนคุณแม่ ผมแพ้ตลอดกาล เพราะท่านนอกจากจะให้เหตุผลที่สมเหตุสมผลแล้ว ถ้าเป็นเรื่องคำเตือนต่างๆ ก็จะมีคำกล่าวในลักษณะที่ว่า "มันเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เหรอ" (Posibility) (เมื่อคิดตามหลักความน่าจะเป็น ผมต้องยอม) 

ส่วนเรื่อง การดำเนินชีวิตตามวิถีวัยรุ่น ผมได้รับอิสระมาก ถึงมากที่สุด ทั้งการยอมรับฟังความคิดเห็น เคารพในความคิดเห็น และศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ 

ส่วนใหญ่ในบ้านผม เราจึงพูดคุยกันแบบเพื่อนมนุษย์คุยกัน น้อยครั้งจนนับครั้งได้ที่พ่อกับแม่ จะอ้างสิทธิ ในความเป็นพ่อแม่ มาข่ม ฮ่าๆๆ อธิบายไว้เบื้องต้นก่อน เผื่อผมมีการเขียนวิพากษ์ วิเคราะห์เพิ่ม ท่านผู้อ่านจะได้ไม่ตกใจ อิอิ 

เริ่ม....    

๑. อย่าตกลงไปใน "กับดักพ่อแม่"
       
       พ่อแม่บางคนมองว่าบทบาทพ่อแม่นั้นต้องแสดงอย่างจริงจัง และเข้มข้น เพื่อให้ลูก ๆ ยอมรับนับถือ จึงเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "ใช้พลังมากเกินไป" เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ และทำให้เด็ก ๆ ขาดพื้นที่ในการแสดงความเป็นตัวตนของเขา พ่อแม่ที่เข้มงวด และจำกัดการแสดงออกกจะทำให้เด็กต้องไปหาพื้นที่อื่นในการเปิดเผยตัวตนของเขา

โดยอาจจะเป็นกลุ่มเพื่อน หรือโลกอินเทอร์เน็ต ยิ่งการที่พ่อแม่ไปกำหนดว่า "ลูกของฉันจะต้องไม่เป็นแบบ..หรือแบบ..." จะทำให้เด็ก ๆ ตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น ว่าวันใดวันหนึ่งเขาอาจทำให้พ่อแม่ผิดหวัง เมื่อเขาอาจจะเผลอทำผิดพลาดขึ้นมาสักวัน

ผมว่าหลายครอบครัว บ้าพลัง เกินไปด้วยซ้ำ มักจะคิดว่า "ลูกเป็นทรัพย์สิน ของตนเอง"  ดังนั้น จะบริหารทรัพย์สินนี้อย่างไรก็ได้ ผมว่านี่คิดผิด การแสดงออกซึ่งความรัก ความเข้าใจอย่างจริงจังต่างหาก ที่จะทำให้ได้ความรัก และความเคารพ กลับคืนมาจากลูก

และความหวังดีของพ่อแม่ ที่อยากให้ลูกเป็นคนดี ก็มักชอบเอาลูกตัวเองไปเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าที่บ้านนั้นเค้าสอนกันยังไง (แต่เราก็อยากให้ลูกเราเก่งแบบนั้น - บางทีลูกบ้านนั้นก็อาจโดนเปรียบเทียบเหมือนกัน เช่น ทำไมไม่ไปเล่นเหมือนลูกบ้านนู้นบ้าง วันๆอ่านแต่หนังสือเดี๋ยวก็บ้าหรอก - เรื่องการเล่นให้ไปอ่าน PQ )

เอาละการเปรียบเทียบนั่นจะทำให้เด็กเสียความมั่นใจในตนเองลงไป (Low self esteem) และเมื่อมีความคาดหวังสูง แน่นอนครับ ลูกๆ ของพ่อแม่แบบนั้นก็จะโดนเคี่ยวเข็ญ ผลักไส บังคับ ขู่เข็ญ ให้ไปเรียนพิเศษ ให้เรียนได้เกรดดีๆ เรียนบัลเลต์ เรียนเปียโน (อารมณ์ประมาณว่า ลูกต้องเก่งๆนะ ลูกต้องเป็นคนดีนะ ลูกห้ามชั่วนะ ลูกห้ามผิดพลาดนะ โอย สารพัดจะเครียด) 

สรุป การเกิดมาเป็นลูกพ่อแม่ประเภทนี้ ก็จะมีการแสดงพฤติกรรม ตีสองหน้า แบบสายลับรัสเซียเวลาเราดูในหนัง นั่นคือ เวลาอยู่กับพ่อแม่ ก็จะเป็นลูกดีไม่มีที่ติ พ่อแม่ก็จะชื่นชมว่า "ลูกช๊านนนน เริดสะแมนแตน" หารู้ไม่ว่า ในกลุ่มเพื่อน ลูกอาจได้รับคำชมว่า "โห มึงนี่เลวได้อีก สุดยอดไปเร๊ย ว๊าวๆ"   

 


       ๒. ใช้การคุยให้เป็นประโยชน์
       
       การคุยที่สร้างสรรค์กับลูกช่วงวัยรุ่นไม่ใช่การเปิดฉากเล่า ประสบการณ์ของพ่อแม่เพียงฝ่ายเดียว แต่ควรเป็นการตั้งคำถามเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ เช่น ยาเสพติด ความรักกับเพื่อนต่างเพศ ฯลฯ

อันนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง พ่อแม่ ส่วนใหญ่ จะอารัมภบท พรรณา บรรยายโวหาร โอ้เอ้วิหารราย 

รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้างให้ลูกฟัง โดยไม่สนใจว่า "ลูกอยากฟังรึเปล่า" 

การคุยจะช่วยให้เราทราบสถานการณ์ความเคลื่อนไหวในชีวิตของลูกได้เป็นอย่างดี 

การคุยต้องใช้คำถามปลายเปิด (อ่านได้จาก บลอก กลัวสื่อสารกับลูกไม่เป็น


       
       ๓. ระวังประโยคชวนฟิวส์ขาด
       
       ในกรณีที่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกเริ่มมีปัญหา การเอ่ยประโยคชวนฟิวส์ขาด เช่น

"ตอนที่พ่อแม่อายุเท่าลูกเนี่ยนะ....." มีโอกาสทำให้สถานการณ์บานปลายมากยิ่งขึ้นได้

ไม่ใช่ว่าประสบการณ์ในอดีตของพ่อแม่เป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่า แต่การนำเรื่องราวในอดีตที่คุณคิดว่าดีมาเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของลูกในช่วงวัยรุ่นเป็นสิ่งที่อันตรายมาก และสามารถสร้างรอยร้าวลึกในหัวใจเด็ก ๆ ได้หากพ่อแม่ใช้อย่างไม่ระวัง

ในจุดนี้พึงเข้าใจด้วยว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตอนที่พ่อแม่ยังเด็ก ๆ กับ ณ เวลาปัจจุบันมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว เด็กสมัยนี้มีอินเทอร์เน็ต มีคอมพิวเตอร์ มีโทรศัพท์มือถือ มีเพื่อนใน Hi5 มียูทูบ เพลงที่ลูกฟังในปัจจุบันก็อาจไม่เหมือนกับเพลงที่พ่อแม่ฟังในช่วงอายุเดียวกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งการจะคุยกันให้เข้าใจได้นั้นก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องตระหนักรู้ให้ได้ว่า ในช่วงอายุของลูกนั้นเขาจะได้พบกับอะไรบ้าง

ถะ ถะ ถะ ถูกต้องนะค๊าบบบบบบบ !!!

นอกจากจะร้าวลึกแล้ว บางที พอเถียงกัน คุณพ่อๆแม่ๆ ก็ไม่รับฟังด้วยซะด้วย สิ

เดี๋ยวจะยกตัวอย่าง เรื่องจริง ที่ลูกสาวคนหนึ่งเล่าให้ผมฟัง ถึงคำเถียงในใจที่มีต่อแม่  

ตอนนั้นแม่พูดเรื่องการใช้ชีวิตและการแต่งตัว ดังนี้

แม่ - สมัยก่อน ยายเลี้ยงชั้นมา ชั้นต้องเรียบร้อย ไม่แต่งตัวโป๊ มีกิริยามารยาทที่ดี แกมาทำแบบนี้ เป็นลูกชั้นได้ยังไงเนี่ย

ลูก - ค่ะ (คิดในใจ - สมัยยายนั่นมันตอนแม่เด็กๆ สี่สิบปีก่อน นั่นมันสมัยกำลังเดือนตุลาเลยนะเนี่ย บ้ารึเปล่า ก็แน่นอนละ สังคมตอนนั้น ลองสอนให้ลูกสาวแต่งสายเดียว มีหวังโดนฉุด เฮ้อกู)

แม่ - แล้วนี่ยังจะมานั่งลอยหน้าลอยตาอีก สรุปแกจะใส่สายเดี่ยวไปกับชั้นเหรอ

ลูก - แม่... ก็ไปด้วยกัน ไม่เห็นจะเป็นไรเลย แม่ก็ลองใส่บ้างสิ ยายไม่มาคอยดูหรอก

แม่ - อ๊ะ ต่อปากต่อคำ แกจะเถียงทำไมเนี่ย บอกให้ไปเปลี่ยนชุด เดี๋ยวนี้เลยนะ

ลูก - อ๊าว ก็หนูใส่แบบนี้ ไม่เห็นจะเป็นไรเลย ไปด้วยกันอีกต่างหาก แม่นี่ไม่รู้จักปรับตัวเลย

แม่ - เริ่มดุขึ้นเรื่อยๆ ทะเลาะกันรุนแรง และใช้กำลัง(ความรุนแรง)บังคับให้ลูกเปลี่ยน

ลูก - นิ่ง ไม่พอใจ เก็บไว้ในใจ เปลี่ยน แต่ในใจคิดว่า ถ้าแม่ไม่อยู่ ก็คงทำอยู่ดี

นอกจากจะไม่ได้ใจลูกแล้ว ยังนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในครอบครัวได้อีกแฮะ ไม่ใช่เรื่องเจ๋งเลยนะเนี่ย

       
       ๔. ทิ้งความเยือกเย็นเมื่อไร แย่แน่
       
       ไม่ว่าจะเจอปัญหาที่ยุ่งยากเพียงใด หรือว่าคุณจะอยากตีลูกตัวดีสักป้าบ ฯลฯ แต่คนเป็นพ่อแม่ก็ต้องใจเย็นเข้าไว้ เพราะการที่พ่อแม่ "หลุด" นั่นหมายถึงคุณพร้อมจะปล่อยข้อความผรุสวาทมากมายตามมา และทำให้ความสัมพันธ์กับลูก ๆ เลวร้ายลงไปอีก

ทางแก้คือ หากสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต อาจเดินหนีไปอยู่คนละห้อง หาเวลาอยู่เงียบ ๆ สักพัก หายใจเข้าออกยาว ๆ สงบสติอารมณ์ ไปอาบน้ำ ไปทำกับข้าว ก่อนจนอารมณ์ดีค่อยกลับมาคุยกันใหม่

พบว่า หลายครั้ง ตัวเราเองมักสื่อสารด้วยอารมณ์ ทันทีทันใด ไม่รอให้สงบลงก่อน 

ผมและพ่อก็เคยทะเลาะกันครับ ด้วยการถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายไม่มีใครยอมใคร 

สุดท้าย ก็งอนไปเป็นอาทิตย์ๆ และเกือบนำสู่การใช้ความรุนแรง(ด้วยการตี) แต่เรื่องผลกระทบทางจิตใจ เชื่อว่าเจ็บไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย และหลังจากนั้นเราก็ไม่เคยทะเลาะกันด้วยความรุนแรงอีกเลย ...

สำหรับแม่ แม่จะเดินหนีไปก่อนสักพัก แล้วกลับมาด้วยเหตุผล รอให้ผมใจเย็นลง แม่เองก็ในเย็นลง จากนั้นเราก็จะเปิดฉากคุยกัน ผมเชื่อว่ามันใช้ได้จริงๆ นะ     
       
       ๕.ฟังลูกบ้าง
       
       ในจุดนี้คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจต้องยอมรับว่า อาจมีบางครั้งที่คุณฟังลูกเพียงผ่าน ๆ ไม่ได้ใส่ใจอะไรกับเรื่องราวของเขามากนัก และเด็กบางคนก็มีปัญหาตรงที่ว่าเขาไม่สามารถจะบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างที่ใจเขาต้องการ เพราะฉะนั้น การพูดและการคุยระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก (ในร่างผู้ใหญ่) ก็จำเป็นต้องใช้ใจร่วมด้วย พยายามเข้าใจในสารที่ลูกพยายามจะสื่อ เพราะการรับฟังปัญหาของลูกถือเป็นอีกหนึ่งของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่คนเป็นพ่อแม่ทุกคนสามารถมอบให้กับลูกได้

ผมมั่นใจว่า ทุกคนเคยเป็นเด็ก เคยเถียงในใจ เคยมีเรื่องอยากเล่าให้พ่อแม่ฟัง โดยไม่ด่วนตัดสิน

และตั้งคำถาม ลองใช้ใจฟังลูก แล้วค่อยๆใช้เรื่องที่เค้าเล่า เป็นเรื่องจะคุยกับเค้า

ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ กันแบบเพื่อน แล้วจะพบว่ามิตรภาพระหว่างพ่อแม่ลูกไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะเกิดขึ้น

หลายครั้ง ไม่ใช่แค่กับลูก หรือคนในครอบครัว เราก็ไม่รู้จักฟัง 

เราบอกว่าฟัง แต่ในใจของเราคิดมากมาย ทั้งด่วนตัดสิน ด่วนให้คุณค่า และด่วนสรุป 

เรื่องบางเรื่อง ฟังแล้วก็ต้องรู้จักปล่อยวาง รู้จักวางเฉย เรื่องบางเรื่องฟังแล้วก็ต้องแลกเปลี่ยน พูดคุย 

ปัญหาที่อาจจะเล็กน้อยในความรู้สึกของเรา แต่เค้าเล่าให้เราฟัง บางทีเรื่องนั้นอาจจะใหญ่สำหรับเค้าก็ได้ 

มองกันคนละมุมไม่ใช่เรื่องแปลก แต่มองด้วยกัน ให้คำปรึกษากันได้นี่สิ เจ๋งกว่าเยอะครับ  
       
       ๖.อย่ายอมแพ้
       
       บางครั้งการปะทะคารมกับลูกวัยรุ่นที่กำลังหลงผิดในกับสิ่งยั่วยุต่าง ๆ อาจทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าเหนื่อยเหลือเกิน ยอมแพ้เสียทีก็ดีเหมือนกัน แต่มันจะไม่ใช่เรื่องดีเลย หากพ่อแม่ยอมแพ้และปล่อยให้ลูกเดินต่อไปในทางที่มืด และเลวลงเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น พ่อแม่ที่ดีไม่ควรล้มเลิกความตั้งใจที่จะสั่งสอนลูกให้ตั้งมั่นอยู่ในทางที่ถูกต้อง

คุณพ่อคุณแม่ครับ ผมละนึกถึงประโยคนี้ "ขออย่ายอมแพ้ อย่าอ่อนแอ แม้จะร้องไห้... "

ผมเคยเล่นการพนัน ... ติดมาก ... สร้างปัญหา พ่อกับแม่ผม ไม่เคยหยุดเตือนผม แนะนำในทางที่ดี แต่ไม่บังคับ บอกด้วยเหตุ แนะนำให้สร้างเหตุที่ดี ส่วนผม เป็นเลือกทำกรรม กระทำด้วยตัวเอง พอเจอกับผล ...

คำพูดที่นึกถึง คือคำของพ่อแม่... พ่อแม่ผมเคยร้องไห้ เพราะผม ผมเชื่อว่าหลายๆคนก็อาจจะเคยทำให้ท่านร้องไห้ ด้วยคำพูด การกระทำ ของเรา ที่มั่นใจ และไม่เชื่อ ไม่เคารพพ่อแม่

และพอผ่านวันนั้นมา เราก็ไม่อยากให้ลูกหลานของเราต้องผิดพลาด ... เหมือนเรา ใช่มั้ยครับ ?

ผมศรัทธาว่า พ่อแม่ เป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลต่อลูก ดังนั้น หากอยากให้ลูกเป็นคนดี ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี

สอนด้วยคำสอนที่ดี พูดด้วยคำพูดที่ดี ... ไม่ต่างกับพูดกับคนอื่น เราพูดกับคนนอกบ้าน

เราพูดดีได้ ทำไมกับคนในบ้าน เราจะพูดดีๆกันบ้างไม่ได้ เนาะ
       
       ๗.ลงโทษเมื่อไร
       
       หากพบว่าลูกกระทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย หรือผิดศีลธรรม พ่อแม่มีสิทธิทุกประการที่จะยับยั้ง และทำให้มันยุติลงให้ได้ อย่ากลัวหากจะต้องลงโทษลูกของตัวเองให้เขาสำนึกในความผิดนั้น ๆ หรือหากจำเป็นก็ควรขอความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยา แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ

เมื่อไหร่ที่เราจะลงโทษลูก ก็เมื่อลูกทำผิด การทำโทษ มีหลายวิธี

เริ่มตั้งแต่การบอกสอน ถ้าเป็นครั้งแรก ครั้งที่สอง สามอาจตักเตือน ถ้าไม่ใช่ความผิดร้ายแรง หรือหากยังทำอยู่ก็อาจใช้มาตรการ ตัดเงินค่าขนม เป็นต้น

 แบ่งเป็นวัยๆ ได้เลย เช่น

ลูกยังเล็กอยู่ อาจมีการจำกัดการเล่นของเล่น เพราะเล่นแล้วไม่รู้จักเก็บ ฝึกลูกใร้จักยอมรับความผิด และมีความรับผิดชอบ ทำให้มีวินัยมากขึ้นได้

การตีเบาๆ (คืออย่าแรงมาก เพราะเวลาตีจริงๆ พ่อแม่มักจะมันส์ในอารมณ์) แล้วบอกสอนด้วยเหตุผล ก็สามารถทำให้ลูกจดจำได้ และที่สำคัญต้องไม่ใช้อารมณ์ แต่ต้องตีไปสอนไป คราวหน้าผมจะเขียนเรื่องการตี

ลูกโตขึ้นมาหน่อย อาจตักเตือน จำกัดการเล่นเกมส์ จำกัดการทำกิจกรรมที่ชอบ หรือตัดเงิน

ถ้าลูกโต ขึ้นมา อาจใช้มาตรการทางสังคม จำกัดการดูทีวี เล่นเกมส์ การทำกิจกรรม เป็นต้น

อันนี้ก็แล้วแต่กรณี และแล้วแต่ความผิดของลูกๆ หลานๆนะครับ ไม่ได้เป็นมาตรฐานในการให้พ่อแม่ทำ เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น ที่สำคัญลองฟังเหตุผลของเค้าก่อนนะครับ

เช่น ผมเนี่ยแหละ ยกตัวอย่างตัวเองชัดดี

ผมจะมีหน้าที่ ล้างจาน เทขยะและกวาดบ้าน เวลาที่กวาดบ้านเสร็จแล้วจะไปนอนเล่นเกมส์

เล่นไปเล่นมา ไม่ยอมล้างจาน... แม่ก็จะเรียก

ต้าร์..มาล้างจานลูก ครั้งที่หนึ่ง   ,

ผมก็จะตอบไปว่ารู้แล้ว เดี๋ยวไป

แม่จะถามอีกว่า เดี๋ยวนี่อีกกี่นาที  พอผ่านไปซัก 5 นาที เสียงดังอีก ต้าร์..มาล้างจานลูก ครั้งที่สอง

รอบนี้ ผมจะตอบไปว่า เดี๋ยวอีก สิบห้านาที , แม่ก็จะตอบกลับมาว่า อีกสิบห้านาทีนะ โอเค  คุณแม่จับเวลาเลยนะครับ เค้าจะให้โอกาสเราในการเคารพต่อเวลาที่เราเองเป็นคนกำหนด ... ถ้าเกินกว่านั้น ตัดเงินห้าสิบบาท และ ที่สำคัญคือระหว่างสิบห้านาที จะไม่มีการเรียกรบกวนเราเลย ...

ให้เรารับผิดชอบเอง เพราะเค้าถือว่า เราบอกเค้าไปแล้ว

พอถึงสิบห้านาทีเค้าไม่เรียกนะครับ ผมนี่แหละ วิ่งแจ้นไปทำเอง เสร็จแล้วเล่นเกมส์ต่อแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร 

โอ แม่ผม สุดยอดไปเลย    


       
       ยืดหยุ่น
       
       เพราะแนวทางในการดูแลลูกวัยรุ่นให้อยู่กับร่องกับรอยก็คือการให้เขาได้มีสิทธิเลือก ได้แสดงความคิดเห็น ดังนั้นพ่อแม่อาจต้องยืดหยุ่นต่อกฎต่าง ๆ มากขึ้น ปรับเทคนิคการพูดให้เหมาะสม เพื่อให้พ่อแม่ยังคงเป็นพ่อแม่ที่น่ารักของลูก ๆ วัยรุ่นอยู่ได้ เช่น หากพ่อแม่ต้องการให้เด็ก ๆ ช่วยไปทิ้งขยะ (โดยที่ลูก ๆ ไม่ค่อยอยากช่วยเท่าไร) คงไม่ดีแน่หากจะใช้การออกคำสั่งเสียงเขียวว่า "เอาขยะไปทิ้งเดี๋ยวนี้นะ" แต่หากลองใช้ประโยคที่ว่า "วันนี้ตาลูกไปทิ้งขยะแล้ว จะไปทิ้งขยะตอนนี้หรือจะไปหลังจากทานข้าวเสร็จ" ลูกฟังจบเขาจะพบว่ามีทางให้เขาเลือก และเขาก็จะเลือกทางที่เขาต้องการ และสุดท้าย หากพ่อแม่พบว่าเขายังไม่ทำงานที่รับมอบหมายเสียที คุณก็ยังสามารถยกสิ่งที่เขาเคยตอบขึ้นมาอ้างได้ด้วย "ลูกบอกแม่ว่าจะไปทิ้งขยะหลังจากทานข้าวเสร็จใช่ไหม" แค่คำพูดนี้ก็สามารถทำให้เด็กออกไปทิ้งขยะได้โดยที่ไม่รู้สึกแย่แล้วค่ะ

จากทั้งหมดที่เขียนมา ข้อนี้สำคัญ เพราะสามารถนำไปปรับใช้กับทุกข้อ

แต่ต้องไม่ใช่การยืดหยุ่นในทุกเรื่อง เพราะไม่อย่างนั้น ลูกจะขาดความมีระเบียบวินัยได้นะครับผม

หมายเลขบันทึก: 276071เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2009 13:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกที่มีแง่คิดดี่ดี  แบบนี้ค่ะ

       

 

 

 

 

กำลังประสบปัญหา กับพฤติกรรมของเจ้าลูกชย วัย 19 ได้อ่านข้อเขียนของท่านเห็นทีต้องปรับพฤติกรรมตัวเองใหม่ ขอบคุณมากๆ นำเสนอเรื่องราวแบบนี้อีกจะได้รับบุญกุศลอย่างแรง

สวัสดีค่ะคุณตาเหลิม

แวะมาทักทายและมาให้กำลังใจคุณตาค่ะ

รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

ขอขอบพระคุณสำหรับแง่คิดดีๆนะคะ

สวัสดีค่ะ

 

สวัสดีค่ะ คุณตาเหลิม

  • ไม่มีลูก...แต่มีลูกศิษย์จะลองนำไปใช้ดูอยู่
  • ชอบจังประโยคชวนฟิวส์ขาด...ต้องรื่นรมย์สนทนากันไว้ค่ะ

โห เพิ่งทะเลาะกับแม่เมื่อไม่กี่วันมานี้เองค่ะ

เพราะต่างฝ่ายต่างถูกต้ม เลยไม่มีใครยอมใคร

นี่ก็ง้อแม่แล้วน่ะค่ะ ทั้ง ๆ ที่เราถูกต้มมากกว่าแม่ส่ะอีก

แต่ความกตัญญูรู้คุณประเสริฐเหนือสิ่งใด ๆ ค่ะ

ยังอ่านไม่จบนะต้าร์ แต่เป็นเรื่องราวที่มีประโยชน์มาก และไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายๆที่จะทำ อยากขอบใจสิ่งดีๆ ที่พร้อมจะแบ่งปันให้ผู้อื่นอยู่ตลอดเวลานะ และพี่ขออนุญาตนำไปref นะจีะน้องรัก

น้องช่างเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจมาก เป็นพี่คงทำได้ไม่ง่ายเลย มีต่ออีกรึปล่าว เนี่ย ฝากขอบคุณเจ้าของทุนด้วยนะ

หวัดดีคับ.. คุณตาเหลิม

กู๊ดดี้อ่านแล้วเห็นภาพตามเลยคับ..

ชอบทุกข้อ เพราะทุกข้อมีเหตุมีผลในตัวของมันเอง

บ้านกู๊ดดี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยเปรียบเทียบกู๊ดดี้กับเด็กคนอื่นเลยคับ ลูกเป็นยังไง ก็เป็นไปตามนั้น เพราะคนเราไม่เหมือนกันทุกคน

ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ ไม่ถือว่า กู๊ดดี้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวคับ..อิอิ

ใครอยากดูก็ดูไป..((เกี่ยวไรเนี่ย..)) โชว์ๆๆๆ ซะ..นู๊ดดด

 

ขอบคุณคับ สำหรับสาระชวนคิดดีๆ แบบนี้..

  • ขอบคุณ พี่ ครูแป๋ม ครับ  ที่กรุณาให้กำลังใจ คงได้เขียนต่อไปเรื่อยๆ ครับ
  • ขอเป็นกำลังใจให้ พี่ AEED  ในการปรับตัวเข้าหนุ่มน้อยคนนั้นนะครับ
  • น้องนัท นี่เรียกพี่ว่าตา ตลอดเลย อ่ะ ยอม ยอม ขอบคุณที่ติดตามอ่านเหมือนกันจ๊ะ น้องนัทก็เก่งซะขนาดนี้
  • พี่ noktalay  ขอบคุณมากครับ นั่นลูกพี่เยอะมากเลยนะครับ มากันที สี่สิบห้าสิบคน ขอเป็นกำลังใจให้ครูรุ่นใหม่ไฟแรงสูงครับ
  •  สุดสายป่าน ขอให้ดีกันเร็วๆ นะครับ กับคุณแม่ โดนคนอื่นต้ม แล้วยังมาทะเลาะกันอีก ต้องรวมใจไปทะเลาะกับคนอื่นสิครับ ถึงจะสนุก อิอิ
  • พี่ nudnad ขอบคุณสำหรับมิตรภาพ และกำลังใจที่มีให้เสมอนะครับ สำหรับคู่มือ แปลไปได้ สี่ห้าหน้าเอง เป็นปีมั้งพี่กว่าจะเสร็จ เจ้าของทุน นอนอยู่บ้านสบายใจเฉิบ ฮ่าๆ
  • goody krub  สุดยอดไปเลย สำหรับหนุ่มหล่ออายุ 3 ขวบ ที่เรียนเองที่บ้าน น่าอิจฉา จริงๆ อ้อ แล้วกู๊ดดี้ พอโตมานิด อย่าลืมขอคุณพ่อคุณแม่ ไปผจญโลกบ้างนะ พี่เองเดินทางคนเดียวครั้งแรกตอนอายุ 7 ขวบ ไปรถไฟ เท่มาก ความรู้สึกตอนนั้น แล้ว 9 ขวบ ก็เริ่มบริหารจัดการค่าเทอม และค่าใช้จ่ายเองแล้วนะ ต้องทำแผนส่งคุณแม่ด้วยแหละ ยังไงก็คงเก่งอยู่แล้วละเรา
     

ท่านต้าร์

แวะเข้ามาทักทายก่อนนะ ยังไม่ได้อ่านละเอียด ช่วงนี้มีงานอยู่ ๒ อย่าง ต้องเคลียร์น่ะ คือ งานด่วนมาก และงานด่วนที่สุด 555

ด้วยรัก

นี่เขียนจากประสบการณ์ตรงเลยนะเนี้ยะ

อ่านแล้วมีสาระและขำดี...

แต่เราไม่เคยโดนตีอะ แต่สำหรับปะทะอารมณ์ก็มีบ้าง แต่ไม่รุนแรง

ปล. งั้นขอช่วยแปลซักบท ก็ส่งมาแล้วกันนะ

อิอิอิ ตอนนี้กำลังอยู๋ในโหมดความรู้ภาษากำลังขึ้น...ช่วยเพื่อนสาว Check gramma อยู่ อาจจะอ่านได้ไว้ขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท