คุ้มดีคุ้มร้าย


แนวปฏิบัติดังกล่าวควรจะตอบได้ว่าดีกับผู้รับบริการอย่างไร ดีกับเจ้าหน้าที่อย่างไร การประเมินนี้มิใช่การประเมินเพื่อวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยหรือพิการตามแนวของแพทย์ การกำหนดวงรอบสำหรับการทบทวน พัฒนา ตลอดจนการเแปลความหมายของเครื่องมือให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในระยะที่เหมาะสม ตลอดจนการจัดการสารสนเทศที่ได้จากการประเมิน และที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งคือ แนวปฏิบัติต้องกำหนดความถี่ของการประเมินในระยะที่เหมาะสม เพราะธรรมชาติของโรค ความเจ็บป่วย ความเสื่อมสภาพของร่างกาย เพราะ A ในวันนี้ มิได้หมายความว่าเดือนหน้าจะ A หรือ B เดือนนี้ เดือนหน้าก็อาจจะเป็น A หรือ C ก็ย่อมได้

 

คุ้มดีคุ้มร้าย
ราชบัณฑิตท่านให้ความหมายว่า
มีสติไม่ปรกติ, บางคราวดีบางคราวร้าย, ดีบ้างร้ายบ้าง.
(ฉบับปี ๒๕๒๕ ใช้คำว่า "มีใจไม่ปรกติ")

จ่อหัวแบบนี้มิได้ว่าใครหรอกนะครับ แม้จะมีบ้างที่ผมมีอาการทำนองนั้นอยู่เสมอๆ (ประสาปุถุชน -- ฮา)

งานสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งเกี่ยวเนื่องกับผู้พิการ และผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตซึ่งอยู่ในระดับอาการทุเลาและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เป็นส่วนใหญ่  แต่จะเพราะเป็นธรรมชาติของโรคหรือเพราะระดับอาการของผู้ป่วยเฉพาะราย การได้รับการกระตุ้น หรือจะเพราะสิ่งใดก็สุดแท้ ที่มีอยู่เหมือนกันที่กลับมามีอาการกำเริบอีก (Relapse) มีอาการไม่คงที่ คนเคยอยู่ด้วยกันทุกวัน คุ้นหน้าคุ้นตา ไปมาหาสู่ทักทายกันดีอยู่ตลอด วันรุ่งขึ้นอ้าวเปลี่ยนไปเสียแล้ว ตาขวาง ไม่อาบน้ำ แป้งไม่ทา คลุกฝุ่น คุ้ยขยะ เสื้อผ้าสกปรกมอมแมม สื่อสารไปไม่ยอมโต้ตอบกลับ แม้กระทั่งมีเหมือนกันที่ไปยกโอ่งน้ำดื่มทุ่มทิ้งเป็นว่าเล่น

การเฝ้าระวัง การสังเกตอาการในชุมชนอย่างง่าย อาจสะท้อนได้จากคำพูดทำนองว่า "วันนี้วันพระ ระวังคนของขึ้น"
ก็แปลกใจอยู่เหมือนกันว่า เพราะเหตุใดโรค (และคนเล่นของ รวมทั้งมนุษย์หมาป่า) จึงมักกำเริบเอาในวันพระวันเพ็ญ - - หรือจะเพราะอิทธิพลของ (แสง) พระจันทร์อย่างที่บางท่านว่า

ผมกำลังคิดถึงระบบ กลไก และเครื่องมือสำหรับคัดแยกกลุ่มผู้รับบริการในสถานสงเคราะห์ตามสภาพการช่วยเหลือและพัฒนาตัวเองได้ เป็น ๓ กลุ่ม คือ A  B  C ตามแนวของสำนักบริการสวัสดิการสังคม (สบส.) ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของแต่ละกลุ่มไว้กว้างๆ  ส่วนรายละเอียดและเครื่องมือท่านให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการพัฒนาเอง ก่อนหน้านี้เราก็ทำแบบไม่เป็นระบบนัก พอมีหนังสือเวียนแจ้งมาอย่างนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่จะได้ทำอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียทีนึง การแยกกลุ่มเช่นนี้เพื่อเป็นฐานในการวัดผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานกันแบบชัดๆ ตามระบบคำรับรองการปฏิบัติราชการ

ระหว่างนี้ จึงอยู่ในช่วงของการคิดให้มีระบบและกลไกในการประเมินสมรรถนะผู้รับบริการ ได้แก่
๑. แนวปฏิบัติว่าด้วยการประเมินสมรรถนะ
๒. ชุดเครื่องมือสำหรับการประเมิน ตาม ๑.
๓. คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการประเมินสมรรถนะ

กำหนดกรอบไว้คร่าวๆ ว่า
แนวปฏิบัติ
ดังกล่าวควรจะตอบได้ว่าดีกับผู้รับบริการอย่างไร ดีกับเจ้าหน้าที่อย่างไร การประเมินนี้มิใช่การประเมินเพื่อวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยหรือพิการตามแนวของแพทย์ การกำหนดวงรอบสำหรับการทบทวน พัฒนา ตลอดจนการเแปลความหมายของเครื่องมือให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในระยะที่เหมาะสม ตลอดจนการจัดการสารสนเทศที่ได้จากการประเมิน และที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งคือ แนวปฏิบัติต้องกำหนดความถี่ของการประเมินในระยะที่เหมาะสม เพราะธรรมชาติของโรค ความเจ็บป่วย ความเสื่อมสภาพของร่างกาย  เพราะ A ในวันนี้ มิได้หมายความว่าเดือนหน้าจะ A หรือ B เดือนนี้ เดือนหน้าก็อาจจะเป็น A หรือ C ก็ย่อมได้

ขณะที่ชุดเครื่องมือควรครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายและหลากหลายมิติ (เพศ ความเจ็บป่วย ความพิการ อายุ ฯลฯ) โดยในส่วนของผู้ป่วยจิตเวชได้จำแนกตามนัยรูปแบบ Continuum of Care ที่ปรากฏในชุดความรู้และแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งจัดทำขึ้นจากการจัดการความรู้ของกรมสุขภาพจิต ๓ ระยะ ได้แก่ Acute, Stabilization และ Stable  ผ่านมุมมองในมิติ Social Interventions 



ภาพชีวิตในสถานสงเคราะห์ : A ตัดผมให้เพื่อน B ตัดเล็บให้พวก C ยังแข็งทื่อไม่สามารถให้ข้อมูลใดๆ ได้  แต่ตอนนี้เริ่มยิ้ม แววตามีประกายอ่อนโอนขึ้น แตกต่างจากเมื่อครั้งแรกรับที่คุณตำรวจนำส่งเมื่อปลายปี


พี่พนัสและพี่ผึ้งจากบ้านประจวบโชค (สถานสงเคราะห์ประจวบคีรีขันธ์) แฟกซ์เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นมาให้ดูเป็นตัวอย่าง พร้อมให้รายละเอียดว่าเครื่องมือดังกล่าวพัฒนาขึ้นจากมาตรฐานการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์จิตเวช (Standard of Psychiatric Social Work Practice) ของกรมสุขภาพจิต น่าสนใจทีเดียวครับ กับ ๑๒ คำถาม แต่ละคำถามแยกย่อยเป็น ๕ ระดับ (ทำนองคล้าย Milestone) ได้แก่ ความคิดเห็นต่อผู้อื่นและสังคม ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ความสามารถในการสื่อสาร การแสดงออกทางวาจา ลักษณะพฤติกรรมที่แสดงออกทางท่าทาง การแสดงทางท่าทาง ความสามารถในการเข้าสังคม การรับประทานอาหาร การดูแลสุขภาพอนามัยส่วนตัว การช่วยเหลืองานในสถานสงเคราะห์ ความสามารถในการประกอบอาชีพ และความสามารถในการเคลื่อนที่ภายในสถานสงเคราะห์

แล้วของผมละเป็นอย่างไร
เครื่องมือที่ผมคิดคร่าวๆ เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้รับบริการทั้งปกติ ป่วยกาย ป่วยจิต พิการ และช่วยเหลือตัวเองได้น้อยหรือไม่ได้ กำหนดเครื่องมือไว้เป็น ๓ หมวดครับ
หมวดแรก เป็นการประเมินการทำกิจวัตรประจำวัน (ADL : Activity Daily Living / IDL : Instrument Daily Living) พิงตามแนวของกรมสุขภาพจิตและคลินิกผู้สูงอายุ ของสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ซึ่งได้จำแนกประเภทของ ADL เป็น ๒ ประเภท คือ Physical Daily Living ได้แก่ สุขภาพอนามัยส่วนบุคคล การรับประทานอาหาร การแต่งตัว การเคลื่อนย้ายตนเองเพื่อทำกิจ การสื่อสารเพื่อการใช้งาน การหยิบจับวัตถุและเปิด-ปิดอุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงการจับจ่ายใช้สอย การทำงานบ้าน การหยิบยากิน ฯลฯ และ Psychosocial/Emotional Daily Living ได้แก่ ภาพพจน์ ความคิดเกี่ยวกับตนเอง เอกลักษณ์ตน การเผชิญสถานการณ์ต่างๆ การมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน ฯลฯ

หมวดที่สอง ประเมินสภาพความพิการและความเจ็บป่วยโดยมุ่งเน้นเฉพาะทางด้านร่างกาย เพื่อสะท้อนความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันตามหมวดแรก เช่น ผู้รับบริการที่เจ็บป่วยหรือพิการที่ต้องใช้กายอุปกรณ์ต่างๆ

หมวดที่สาม เป็นการสำรวจความภาวะการช่วยเหลือตัวเองของผู้รับบริการที่อยู่ในกลุ่มช่วยเหลือตัวเองได้น้อยหรือช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวันไม่ได้ (สำหรับหมวดที่สองและสาม ความต้องการแฝงของผมคือเมื่อได้ดำเนินสำรวจ/ประเมินแล้วก็ควรที่เราจะได้ข้อมูลสภาพการช่วยเหลือตัวเองอีกชุดหนึ่งด้วยในรอบเดียวกัน)

แต่ก็นั่นแหละ ถึงตรงนี้ยังคิดค่าคะแนนไม่ตกเลยครับ
ถ้าผมจะเอาเกณฑ์ว่า มากกว่าร้อยละ ๘๐ เป็น A เหมือนกับการตัดเกรดของนักเรียนชั้นประถมศึกษา


จะง่ายไปไหมครับ ?

ถ้ายุติตรงสมมติฐานข้างต้น เลยคิดต่อหยาบๆ ไปว่า
A คือ กลุ่มที่มีคะแนนหมวดแรก ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ และจะมีหรือไม่มีคะแนนในหมวด ๒ ก็ได้ แต่ต้องไม่มีคะแนนในหมวด ๓
B คือ กลุ่มที่มีคะแนนหมวดแรก น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ และจะมีหรือไม่มีคะแนนในหมวด ๒ ก็ได้ แต่ต้องไม่มีคะแนนในหมวด ๓
C คือ กลุ่มที่มีคะแนนในหมวดแรก น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ และมีคะแนนในหมวดที่ ๒ และ ๓

 


วันนี้คงนั่งทำร่างเกณฑ์และเครื่องมือให้แล้วเสร็จ เพราะนัดพี่ๆ น้องๆ หารือกันพรุ่งนี้บ่ายครับ
ผู้ชำนาญด้านการพัฒนาเครื่องมือ ได้โปรดแวะเข้ามาแลกเปลี่ยนครับ

 


-----------------------------------------------------------------

เชิงอรรถ
ผู้สนใจรายละเอียด "ชุดความรู้และแนวทางปฏิบัติการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยจิตเวช" สามารถดาวน์โหลดเอกสารดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต



ความเห็น (3)


เชิญชวนทุกท่านให้ข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะ เพื่อปรับปรุง
แบบประเมินสมรรถนะผู้รับบริการ ที่พัฒนาขึ้นครับ

คลิก เพื่อดาวน์โหลดไฟล์แบบประเมินและแนวปฏิบัีติว่าด้วยการประเมิน

 


ขออนุญาตนำเนื้อหาที่มีการอภิปรายใน Mail Group เครือข่ายนักสังคมสงเคราะห์มาลงไว้เพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหาครับ
--------------------------------------------------

From: moonoi
To: Mail Group
CC: [email protected]
Subject: แบบประเมินสมรรถนะ
Date: Sat, 27 Sep 2008 19:32:47 -0800

สวัสดีค่ะ

ขอถามนิดนะคะ
ย้อนกลับไปดูแบบประเมินสมรรถนะผู้รับฯของบ้านนิคมปรือใหญ่ที่ส่งมาก่อนหน้านี้แล้วสงสัยค่ะว่า
เราไม่ได้เอาค่าคะแนนในหมวดที่ 2 ลักษณะความพิการมาคำนวณ เอาแต่หมวด 1 คือกิจวัตรประจำวัน และ 3 การพึ่งพา
คือรู้สึกว่าเหมือนข้อมูลหมวด 2 ไม่มีตัวตนอยู่ในแบบประเมินยังไงชอบกล

ช่วยอธิบายหน่อยไหมคะ

Rujie

  

RE: แบบประเมินสมรรถนะ‏
From: Mongkol Yabhakdee
Sent: Monday, September 29, 2008 11:08:41 AM
To: Mail Group
Cc: [email protected]


Dear All

กรณีแบบประเมินสมรรถนะผู้รับบริการของปรือใหญ่นั้น มี (คำขอแก้ตัว) ที่ไปที่มาพอสรุปได้ ดังนี้ครับ

- ๑ -
ฐานคิด

- เพราะด้วยข้อจำกัดด้านความรู้ (และการเข้าถึงความรู้) การพัฒนาเกือบทั้งหมดจึงมาจากการคิดและประสบการณ์การเรียนรู้ มิใช่จากฐานความรู้
- คิดกันว่าทำยังไงให้ง่าย สั้น กระชับ ไม่เกิน ๒ หน้ากระดาษ เพราะในที่สุดแล้วคนใช้เครื่องมือนี้ก็คือพี่ๆ ป้าๆ ผู้ดูแลของผมเอง
- ฐานคิดสำคัญคือเราจะประเมิน "สมรรถนะในการช่วยเหลือตัวเอง" เท่านั้น ดังนั้น ข้อจำกัดอื่นใด จะไม่นำมาเป็นสิ่งพิจารณาหลัก
- ความพิการหรือความผิดปกติทั้งทางกาย ทางจิต หรือสติปัญญา ถ้าสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็ย่อมสามารถดำรงตนได้ในสังคม
- ถ้าเราเห็นว่าคนขาขาด แขนขาด ตาบอด ขายสลากกินแบ่ง มีครอบครัว ว่ายน้ำได้เหรียญ (ซึ่งผมเองว่ายน้ำไม่เป็น) ความพิการก็ย่อมไม่มีผล


- ๒ -
ประสบการณ์และการเรียนรู้
- แบบประเมินดังกล่าวจึงข้ามพ้นความเจ็บป่วย ถ้าจะมีกลิ่นไอบ้างก็ในบางข้อว่าด้วยเรื่องกินยาและการมีส่วนร่วมในกิจกรรม
- ประสบการณ์สอนเราว่าอาสาสมัครผู้บริการอย่างน้อย ๒ คน เป็นคนสูงอายุที่ต้องนั่งวีลแชร์ เป็นหัวหน้าทีมในการดูแลครัวและดูแลเรือนนอน
- ประสบการณ์สอนเราว่าอาสาสมัครผู้บริการอย่างน้อย ๓ คน เป็นใบ้ มีอาการทางจิต ได้ยิน แต่พูดไม่ได้ แต่ก็สามารถสื่อสารรับรู้ได้ ทำงานได้
- ประสบการณ์สอนเราว่ามีผู้รับบริการจำนวนไม่น้อยที่หลบหนีกลับบ้านเองได้โดยปลอดภัย ทั้งที่อาการเมื่อแรกรับอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถรับรู้อะไรเลย ทั้งญาติก็ไม่เคยติดต่อระหว่างอยู่ในสถานสงเคราะห์
- ประสบการณ์การเยี่ยมบ้านสอนเราว่า มีบุคคลจำนวนไม่น้อยที่ให้อาหารตัวเองทางสายยาง (เพราะมีปัญหาในระบบการขบเคี้ยว) แต่ก็ยังคงสามารถทำงานรับจ้างได้ตามปกติ
- ประสบการณ์สอนเราว่าผู้รับบริการจำนวนไม่น้อย กลับบ้านได้ด้วยการแอบไปโทรศัพท์หยอดเหรียญที่หน้าสถานสงเคราะห์ถึงญาติ เพื่อให้ญาติมารับกลับ เป็นการโทรตื้อ โทรอ้อน กระทั่งฝ่ายสวัสดิ์ควักเงินซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นที่สามารถเปิดลำโพงได้ให้มาใช้ฟรี (แต่ก็ไม่สำเร็จผลเท่าที่ควรเพราะความเป็นส่วนตัวน้อย เมื่อเทียบกับการไปหยอดเหรียญที่ตู้เอง) จึงเป็นที่มาของการประเมินสมรรถนะเรื่องการใช้โทรศัพท์ โดยไม่นำพาว่าคุณจะรู้หนังสือหรือไม่ ซึ่งก็เป็นภาระของพ่อบ้าน/แม่บ้านที่จะสอนและคิดหลักสูตรเรื่องการใช้โทรศัพท์ การจำหมายเลขโทรศัพท์สำคัญ
- เครื่องมือหลายๆ ข้อ จึงมาจากประสบการณ์บนฐาน "ความเชื่อ" ที่ยังมิได้พัฒนาเป็นฐาน "ความรู้" ของเจ้าหน้าที่ในบ้าน


- ๓ -
ธรรมชาติ กลไก และการควบคุม
- ในแนวปฏิบัติกำหนดกลไกและการควบคุมไว้ว่า ต้องประเมินทุกเดือน เพราะธรรมชาติของโรค ที่วันนี้เขาจัดอยู่ในกลุ่ม A ก็มิได้หมายความว่าเดือนต่อไปจะอยู่ในสถานะเดิม เพราะความเจ็บป่วย ความพิการ และธรรมชาติของโรคที่อาจเกิดอาการ Relapse
- เพราะกำหนดไว้ว่าต้องทำทุกเดือน เราก็น่าจะได้ใช้ประโยชน์จากการเครื่องมือนี้ จึงได้ออกแบบให้เป็นกึ่งๆ แบบสำรวจข้อมูลรายบุคคลทั้งการเจ็บป่วยและการช่วยงานไปเสียเลย ง่ายๆ แค่ให้พี่ๆ ผู้ดูแล เติมคำในช่องว่าง--เราจึงได้ข้อมูลความเจ็บป่วย ความพิการ และอาสาสมัครเพิ่มขึ้น ต่อเนื่อง อัพเดททุกเดือน


- ๔ -
การทดสอบเครื่องมือ
- พูดแล้วอายครับ ผมเรียนเชิญพี่ ป้า น้า อา และผู้ปกครองฯ ร่วมอภิปรายและรับทราบเครื่องมือและกลไกที่ผูกมัดนี้เป็นการเฉพาะ แล้วจบลงตรงที่ผมให้เจ้าหน้าที่ทุกท่านจินตนาการประเมินผู้รับบริการที่รายที่สนิทที่สุด อย่างน้อยคนละ ๑ ราย แล้วก็ประเมินผลกันตอนนั้น แล้วถามว่ารับได้ไหมกับผลที่ปรากฏ--ทุกคนรับได้ครับ
- หมวดแรกว่าด้วย ADL ๑๕ ข้อ ร้อยละ ๘๐ คือ ๓๖ คะแนน ด้วยความเชื่อว่า ถ้าคนที่ได้คะแนนมากกว่า ๓๖ คะแนน แม้จะพิการก็คงไม่มีลักษณะใดๆ ตามหมวด ๓ การพึ่งพาแน่ๆ
- ความพิการในหมวด ๒ จึงไม่มีผลต่อการประเมินสมรรถนะ ถ้าบุคคลนั้นไม่มีลักษณะต้องพึ่งพาหรือต้องได้รับการดูแลพิเศษตามหมวด ๓


- ๕ -
การเทียบเคียงกับวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง
- ก่อนหน้านี้ พี่พนัสและพี่ผึ้งแห่งบ้านประจวบโชค แฟ็กซ์เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นตามนัย มาตรฐานการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์จิตเวช (Standard of Psychiatric Social Work Practice) ของกรมสุขภาพจิต ก็น่าสนใจทีเดียวครับ กับ ๑๒ คำถาม แต่ละคำถามแยกย่อยเป็น ๕ ระดับ (ทำนองคล้าย Milestone) แต่ก็ไม่โดนใจผมเสียทีเดียวเพราะเป็นของโรงพยาบาลจิตเวช--คัก คัก มิใช่กลุ่มเป้าหมายสำปะปิ เช่นในแบบของสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง
- เมื่อประชุมล่าสุดที่นครนายก พี่ผึ้งยังมีน้ำใจ อุตส่าห์ถ่ายเอกสารเย็บเล่มมาตรฐานฯ เล่มดังว่ามาฝากบ้านปรือใหญ่ด้วย -- ไหมละ น่ารักเพียงใดคนบ้านนี้ บ้านที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ตั้งอยู่ใต้ต้นไม้โต ใจกลางสถานสงเคราะห์นั้นแหละครับ


- ๖ -
เรียนเชิญร่วมวงไพบูลย์
- ผมควรกล่าวด้วยว่า หมอหนิง : สุจรรยา ละมุล นักสังคมฯกึ่งพยาบาลของบ้านปรือใหญ่ (ฮา) เป็นกรรมการและเลขานุการเครื่องมือชิ้นนี้ครับ
- ต้องขอบคุณหมอหนิงครับ ที่ปฏิบัติหน้าที่นักสังคมฯ ในห้วงเวลาที่ผมคิดๆๆๆๆๆ -- เพราะในระหว่างที่เราคิด คนอื่นยังคงต้องทำงานกัน

- ส.คนพิการ ส.ผู้สูงอายุ บ้านพักเด็กฯ ก็ควรจะร่วมวงไพบูลย์อภิปรายเครื่องมือตัวนี้กันดูนะครับ น่าจะใช้ประโยชน์ได้ด้วย
- กลุ่มเป้าหมายแตกต่าง บริบทของหน่วยงานแตกต่าง เครื่องมือที่จะใช้วัดก็ย่อมจะแตกต่างตามไปด้วย


ไม่รู้นะ บางทีผมอาจจะตั้งโจทย์ผิดก็ได้
การตั้งโจทย์ผิด ทำให้เครื่องมือผิด และคำตอบก็พาลผิดไปด้วย

(ฮา)



ด้วยความนับถือ


โหมง



อนึ่ง วิธีคิดในการพัฒนาเครื่องมือนี้ ผมไปเขียนไว้ในบล็อกของผมชื่อ: คุ้มดีคุ้มร้าย
http://gotoknow.org/blog/preuyaihome/193912

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท