พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. ๒๕๕๑ : ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ


๑) กำหนดให้สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งทุกแห่ง บ้านกึ่งวิถีชายและบ้านกึ่งวิถีหญิง เป็นหน่วยงานด้านสังคมสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. ๒๕๕๑ ๒) กรมสุขภาพจิตให้ความร่วมมือในการฝึกอบรมนักสังคมสงเคราะห์ของสถานสงเคราะห์รวมทั้งอบรมผู้ดูแลผู้รับการสงเคราะห์ที่มีความผิดปกติทางจิต


หลังจากที่พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. ๒๕๕๑ มีผลบังคับใช้ ก็ได้มีการตื่นตัวประชาสัมพันธ์กันตามสมควรครับ ในส่วนของสถานสงเคราะห์เราก็ดำเนินการตามสมควร ดังที่ได้จัดทำแผ่นพับเผยแพร่แล้วบางส่วน (คลิก เพื่อดาวน์โหลด)

   

(ภาพจาก http://www.thaimentalhealthlaw.com)

ก่อนหน้านี้ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การบังคับใช้พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.๒๕๕๑ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๑ ณ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี ทั้งออกค่าเดินทางและค่าที่พักให้ผู้เข้าร่วมประชุมเสร็จสรรพ หน่วยงานของผมไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุม บรรยากาศการประชุมเป็นอย่างไร ก็ได้แต่ติดตามกับเครือข่ายตำรวจ และพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงที่เข้าร่วมประชุม (ผู้สนใจสามารถติดตาม/ชมภาพบรรยากาศการประชุมได้ที่ http://www.thaimentalhealthlaw.com/news_law_seminar_03.html)

ว่าจำเพาะความคืบหน้าในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง
เห็นจะเป็นมติที่ประชุมร่วมระหว่างอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกับอธิบดีกรมสุขภาพจิต ดังนี้


  
(ภาพจาก http://www.galyainstitute.com/news_law_seminar.html)


สรุปการประชุมปรึกษาการบังคับใช้พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. ๒๕๕๑
ในส่วนที่เกี่ยวข้องระหว่างอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกับอธิบดีกรมสุขภาพจิต
ณ ห้องประชุมชั้นสอง อาคาร ๑ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๑ เวลา ๑๓.๓๐-๑๔.๓๐ น.


ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย

ข้าราชการของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้แก่ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หัวหน้ากลุ่มกฎหมาย ผอ.สำนักบริการสวัสดิการสังคม(สบส.) ผอ.ส่วนมาตรฐานการจัดบริการสวัสดิการสังคม (สบส.) หัวหน้ากลุ่มบริหาร (สบส.) และ

ข้าราชการของกรมสุขภาพจิต ได้แก่ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันกัลยาณ์ฯ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันกัลยาณ์ฯ

ประเด็นหารือและมติที่ประชุม
๑. การประกาศกำหนดหน่วยงานด้านสงเคราะห์และสวัสดิการตามมาตรา ๔๐(๒) แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. ๒๕๕๑ ในกรณีที่ไม่มีผู้รับผู้ป่วย (บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตซึ่งควรได้รับการบำบัดรักษา) ไปดูแล ให้แจ้งหน่วยงานด้านสงเคราะห์และสวัสดิการทั้งภาครัฐและเอกชนตามที่คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติประกาศกำหนด

ประเด็นอภิปราย
เนื่องจากพระราชบัญญัติสุขภาพจิตพ.ศ. ๒๕๕๑ เพิ่งเริ่มประกาศใช้ จึงเห็นควรกำหนดหน่วยงานด้านสงเคราะห์และสวัสดิการจากภาครัฐก่อนโดยขอให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นผู้กำหนด

มติ
๑) กำหนดให้สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งทุกแห่ง บ้านกึ่งวิถีชายและบ้านกึ่งวิถีหญิง เป็นหน่วยงานด้านสังคมสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งอธิบดีกรมสุขภาพจิตในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติจะได้เสนอให้ประธานคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติลงนามประกาศต่อไป

๒) กรมสุขภาพจิตให้ความร่วมมือในการฝึกอบรมนักสังคมสงเคราะห์ของสถานสงเคราะห์ รวมทั้งอบรมผู้ดูแลผู้รับการสงเคราะห์ที่มีความผิดปกติทางจิตให้มีความรู้และทักษะในการจำแนกระดับความพิการทางจิต การดูแล และการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้รับการสงเคราะห์ โดยกรมสุขภาพจิตสนับสนุนงบประมาณค่าที่พัก ค่าอาหารและค่าวิทยากร  ส่วนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกำหนดบุคคลผู้รับการอบรม สนับสนุนค่าเดินทางและค่าเบี้ยเลี้ยงของผู้รับการอบรม

๓) ให้มีการจัดแถลงข่าวลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิตและกรมสวัสดิการสังคมและสงเคราะห์ (ผมเข้าใจว่าน่าจะหมายถึง "กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ"---มงคล)  ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.๒๕๕๑ ณ ห้องประชุมกรมสุขภาพจิต โดยเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน


๒.ความร่วมมือในการศึกษาและผลักดันความเสมอภาคในการรักษาพยาบาลของผู้มีความผิดปกติทางจิต

ประเด็นอภิปราย
เนื่องจากผู้รับการสงเคราะห์ที่มีความผิดปกติทางจิตที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ส่วนหนึ่งสามารถใช้สิทธิผู้พิการโดยทำบัตรผู้พิการได้ แต่ส่วนหนึ่งที่เป็นคนไทย แต่เร่ร่อน ไร้ที่พึ่ง ไม่สามารถระบุตัวบุคคลหรือครอบครัวเพื่อดำเนินการทำบัตรประชาชนได้ ยังไม่สามารถใช้สิทธิตามระบบประกันสุขภาพแห่งชาติได้ จึงไม่สามารถได้รับการบำบัดรักษาและจากพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้ระบุสิทธิของผู้ป่วยให้ได้รับการคุ้มครองในระบบประกันสุขภาพของรัฐอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ มีมติให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาและผลักดันความเสมอภาคในการรักษาพยาบาลของผู้มีความผิดปกติทางจิตโดยทำงานในลักษณะพหุภาคี ซึ่งมีตัวแทนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ด้วย

มติ
เห็นควรให้ระบุผู้แทนของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นตัวแทนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในคณะอนุกรรมการศึกษาและผลักดันความเสมอภาคในการรักษาพยาบาลของผู้มีความผิดปกติทางจิต


๓.ประเด็นอื่น ๆ
๓.๑ ให้กรมสุขภาพจิตดำเนินการเสนอชื่อสถานสงเคราะห์ให้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขประกาศเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้มีความผิดปกติทางจิตเพื่อให้สถานสงเคราะห์สามารถเบิกงบประมาณค่าบริการฟื้นฟูสมรรถภาพจากสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติได้

๓.๒ เสนอแนะให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ทำโครงการของบประมาณจากสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติและ/หรือสำนักงานส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ เพื่อทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ ทั้งนี้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์จะจัดส่งตัวอย่างโครงการให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการพิจารณา

ผู้สรุปรายงาน: นางดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร
ผู้ตรวจรายงาน: นายศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์


ผู้สนใจสามารถชมภาพและดาวน์โหลดไฟล์รายงานประชุมได้ที่ เว็บไซต์ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. ๒๕๕๑ 
ที่ http://www.thaimentalhealthlaw.com 
หรือเข้าเยี่ยมชมได้โดยตรงที่ http://www.galyainstitute.com/news_law_seminar.html

 

ประสาคนทำงานในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง ซึ่งเกือบทั้งหมดของผู้รับบริการเป็นผู้ป่วยทางจิต ข้อตกลงเบื้องต้น (ในทางปฏิบัติจริง) เป็นไปอย่างนี้ ก็เรียกได้ว่าเป็นการแบ่งเบาและช่วยยกภูเขาออกจากอกของชาวเราละครับ แม้ที่ผ่านมาก็ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วยระหว่างกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการและกรมสุขภาพจิต แต่การดำเนินงานภายหลังจากนั้นก็เป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องถึงกันเสียมากกว่า

ถึงตรงนี้
พี่ๆ น้องๆ งานสถานสงเคราะ์ห์คนไร้ที่พึ่งเชื่อผมหรือยังละครับว่า
นับแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๒ เป็นต้นไปอาจเป็นจุดเริ่มปีทองของงานไร้ที่พึ่ง
กฎหมายหลายฉบับกำลังคลอดและทบทวน--กระตุ้นให้คนในสังคมได้ตระหนักและตื่นตัว

จัดกระบวนการภายในบ้านใหญ่ให้ดี สำหรับรองรับการเปลี่ยนแปลง
สู้ๆ !!!

 

-----------------------------------------------------------

ผู้สนใจความเป็นมาและความคืบหน้าในการพัฒนากลไกตามกฎหมายดังกล่าวสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ที่
เว็บไซต์ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ http://www.thaimentalhealthlaw.com

 

 



ความเห็น (2)

ผมต้องการโหลดข้อมูลเกี่ยวกับรายงานการประชุม แต่ไม่สามารถเข้าไปตามลิงค์ 

http://www.thaimentalhealthlaw.com/news_law_seminar_03.html) และ http://www.galyainstitute.com/news_law_seminar.html ได้เลย

ช่วยแนะนำหน่อยครับว่ามีลิงค์อื่นหรือไม่ หรือมีวิธีเข้าไปยังลิงค์นีได้

ขอบคุณครับ

เรียน คุณสิทธิโชครับ

เอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พุทธศักราช ๒๕๕๑
น่าจะถูกรวบรวมไว้ที่ เว็บไซต์
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
โดยสมบูรณ์แล้วครับ ที่ http://www.omhc.dmh.go.th/dmhlaw/

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท