วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับคนดื้อรั้น


วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับคนดื้อรั้น  



พระพุทธเจ้าทรงมีศิษย์ทั้งที่ดื้อรั้นและไม่ดื้อรั้น  สำหรับผู้ไม่ดื้อรั้นนั้นไม่นำมากล่าวในที่นี้  จะกล่าวเฉพาะที่ดื้อรั้นเป็นตัวอย่าง  ว่าพระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติกับศิษย์เช่นนั้นอย่างไรบ้าง



การมีศิษย์ดื้อรั้น  พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในคัมภีร์มัชฌิมมนิกาย  มัชฌิมปัณณาสก์    เป็นใจความว่า

“อุทายี  ในธรรมวินัยนี้  โมฆบุรุษบางพวก  เมื่อเรา
กล่าวว่า  ท่านจงละเว้นซึ่งความชั่วนั้นเสียเถิด  ก็กลับย้อน
มาว่า  ทำไมกับความชั่วนั้น  เป็นเรื่องเล็ก  เป็นเรื่องนิด
หน่อย  ท่านนี่ดูจะขูดเกลากันเกินไปเสียแล้ว  เขาไม่ละ
ความชั่ว  ทั้งยังเคียดแค้นในเราอีกด้วย  ความชั่วของเขา
นั้น  จะผูกมัดมั่นคง  เหนียวแน่น  ไม่ผุเปื่อย  ปรากฏเป็น
แก่นไม้”
 



 เหล่านี้คือพระพุทธพจน์เพื่อยืนยันว่า  พระพุทธเจ้าเคยมีศิษย์ที่ดื้อรั้นเหมือนกัน  

แต่การดื้อรั้นนั้นมีหลายแบบ  บางคนดื้อรั้นเพราะต้องการจะได้ดีเร็วเกินไป  บางคนเพราะมีทิฐิมานะหยิ่งผยอง  ด้วยเข้าใจผิดว่าตนเก่งกว่าใครทั้งหมด  พระพุทธเจ้าทรงมีวิธีการปฏิบัติกับบุคคลเหล่านั้นแตกต่างกัน  ตัวอย่างที่จะเห็นได้  เช่น



--->  ผู้อยากได้ความสำเร็จเร็วเกินไป  โดยไม่ทำการสำรวจความพร้อมในตนเองว่ามีแล้วหรือยัง  ไม่ยอมฟังเหตุผลการยับยั้งของผู้อื่น  เช่น พระเมฆิยะ  ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าเพื่อปลีกตนไปปฏิบัติ  ให้สำเร็จผลอย่างรวดเร็ว  พระพุทธเจ้าทรงทราบว่า  อินทรียธรรมของพระเมฆิยะยังไม่พร้อม  จึงได้ทรงทัดทานให้รออยู่ก่อน  แต่พระเมฆิยะอ้างถึงการไปทำดี  จึงทรงเปิดโอกาสให้ได้ประสบการณ์ด้วยตนเอง  เพื่อจะได้รู้จักตนเองว่าเป็นอย่างไร  เมื่อไม่สำเร็จจะได้ปรับปรุงพื้นฐานกันใหม่  ในที่สุด  พระเมฆิยะก็กลับมาด้วยความผิดหวัง  และรู้จักรอคอยเพื่อสร้างพื้นฐานให้สมบูรณ์ต่อไป



--->  บางรายยังไม่ทันได้ผลสำเร็จ  แต่เข้าใจผิดว่าตนสำเร็จ  กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลด้วยความชื่นชมยินดีในตนเอง  พระพุทธเจ้าทรงทราบว่าผู้นั้นเข้าใจผิด  ทรงมีวิธีให้ผู้นั้นได้ทำการพิสูจน์ตนเองอีกวาระหนึ่ง  เมื่อพบว่ายังไม่บรรลุผลสำเร็จ  ก็ทำการเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ตามมาตรฐาน



--->  บางรายชอบแสดงออกในรูปเป็นคนแข็งกระด้าง  ชอบใช้อำนาจ  แต่สภาพจิตที่แท้จริงของเขาเจือด้วยความอ่อนโยน  มีอินทรียธรรมไม่ต่ำทราม  เหมือนเนื้อผลไม้ที่อ่อนนุ่มแต่หุ้มไว้ด้วยเปลือกแข็ง   การกระเทาะเปลือกออกได้  เป็นวิธีการบริโภคผลไม้ชนิดนั้น  


บุคคลประเภทนี้พระพุทธเจ้าทรงใช้หลักความอ่อนโยน  โอนอ่อนผ่อนตามระยะหนึ่ง  ทรงสร้างบรรยากาศแห่งมิตรภาพ  มีลักษณะจูงใจผู้นั้นให้อ่อนโยนตาม  และที่จุดนั้นคือโอกาสของการสนทนากันด้วยเหตุผล  ในที่สุดก็ชนะใจผู้นั้นและให้บทเรียนเขาได้  เมื่อเขายอมเคารพนับถือแล้ว  ก็สามารถที่จะสอนเขาได้  พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีนี้กับอาฬวกยักษ์    ผู้มีอาการกระด้างหยิ่งผยอง  เป็นที่น่าสังเกตว่า  ครูที่ฉลาดมีการตามใจเด็กที่ดื้อรั้นในบางครั้ง  จนคนอื่นๆ เข้าใจผิดว่าส่งเสริมเด็กดื้อ  แต่ความจริงก็น่าจะเป็นการใช้วิธีการตามข้อนี้



--->  บางคนมีความดื้อรั้น  เพราะถือว่าเป็นคนของครู  เคยอยู่กับครู  ไปมากับครูแล้วไม่ยอมเชื่อฟังใครๆ   อย่างที่พูดกันว่าลูกศิษย์ข้างแคร่  หรือลูกศิษย์สมภาร  เช่น  พระฉันนะมีความดื้อรั้น  เพราะถือว่า  ตนได้เคยเป็นพระสหายของพระพุทธเจ้า  เมื่อคราวเสด็จออกผนวชจึงไม่ยอมเชื่อฟังพระพุทธสาวกอื่นใด  เมื่อทูลถามว่า  หลังจากพระองค์ปรินิพพานแล้ว  จะให้ปฏิบัติกับพระฉันนะอย่างไร  ทรงรับสั่งให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์  คือด้วยวิธีการประกาศไม่ให้ใครคบค้าสมาคมด้วย  พระฉันนะถูกสงฆ์ทอดทิ้งอยู่เดียวดาย  ก็ได้ความสำนึกผิด  กลับตนเป็นผู้ว่าง่าย  สงฆ์ก็ประกาศเลิกลงโทษ  เป็นที่น่าสังเกตว่า  กว่าจะทำได้ก็เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วหรือเมื่ออาจารย์ล่วงลับไป  ลูกศิษย์ข้างแคร่จึงกลับเป็นคนดี



--->  ส่วนผู้ที่มีทิฐิมานะแรงกล้า  ไม่ยอมรับฟังคำสอนใดๆ ทั้งสิ้น     พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีฆ่าผู้นั้นเสียด้วยอริยวิธี      คือทรงถือว่า  ผู้นั้นไม่เป็นคนที่ควรฝึกได้  เป็นคนไม่ควรจะสั่งสอนต่อไปอีก  แม้เพื่อนฝูงของตนก็เห็นชัดเจนว่า  เขาเป็นคนที่ใครๆ ว่ากล่าวสั่งสอนอะไรไม่ได้  พระพุทธเจ้าทรงละการสั่งสอนผู้นั้นไป  จัดเป็นการฆ่าด้วยอริยวิธี  การที่พ่อแม่  ครูอาจารย์บางท่านได้พยายามด้วยวิธีต่างๆ แล้ว  และยังสอนลูกและศิษย์ให้ดีไม่ได้  แล้วปล่อยวางใจเสีย  น่าจะเป็นการปฏิบัติตามอริยวิธีนี้  แต่การที่จะฆ่าลูกหรือศิษย์ด้วยปาณาติบาตนั้น  ไม่เป็นอริยวิธีอย่างแน่นอน



**************************************************************************


อุปสรรคการศึกษา    


พระพุทธเจ้า  นอกจากทรงชี้แนะวิธีการเรียนรู้ในลักษณะต่าง ๆ แล้ว  ยังได้ทรงแสดงสิ่งที่เป็นอุปสรรคของการเรียนรู้อีกด้วย  มี  ๗  ประการด้วยกัน  ดังนี้


๑. การชอบทำการงานมากกว่าการเรียน

๒. การชอบคุยมากกว่าการเรียน

๓. การชอบหลับมากกว่าการเรียน

๔. การชอบไปหาเพื่อนฝูงมากกว่าการเรียน

๕. การปล่อยตนให้เป็นคนฟุ้งซ่าน

๖. การเห็นแก่บริโภคมากกว่าการเรียน

๗. การไม่สำรวจตนว่าอะไรเรียนแล้ว  อะไรยังไม่ได้เรียน
   




อีกประการหนึ่ง  พระพุทธเจ้ายังได้ทรงแสดง  สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพอันดีงามของศิลปวิชาการไว้ด้วย  ประมวลกล่าวเป็นข้อๆ ได้  ดังนี้



๑. การขาดศีลธรรม  ขาดจริยธรรมในภาคปฏิบัติ  เป็นเหตุให้ใช้ศิลปะที่ศึกษาทำลายความเป็นคนดีของผู้นั้น  และการใช้ศิลปะนั้นก่อให้เกิดโทษแก่ผู้อื่น  รวมความว่า  ศิลปะที่ขาดจริยธรรมเข้าควบคุม  มีแต่ให้เกิดโทษฝ่ายเดียว (ธรรมบท)



๒. การได้รับการศึกษามากแต่ขาดจริยธรรม  แม้จะได้รับการสรรเสริญว่า  เป็นคนมีความรู้ดี  ก็ถูกตำหนิว่าเป็นคนประพฤติไม่ดี  เป็นคนประเภทเนื้อทองที่มีส่วนผสมด้วยสิ่งที่ไม่ใช่ทอง  คุณภาพของทองจะมีมากหรือน้อย  ย่อมขึ้นอยู่กับส่วนผสมในทางมุมกลับกัน  ถ้ามีส่วนผสมมาก  เนื้อทองก็น้อย  คนที่มีความรู้แต่ประพฤติชั่วก็เช่นเดียวกัน (มงคลทีปนี)



๓. การได้ฌานสมาบัติ  ที่ถูกความอยากใหญ่และความคิดลามกครอบงำเป็นเหตุให้อาศัยคุณวิเศษแม้น้อยนั้น  ดิ้นรนไปในทางผิดด้วยประการต่างๆ เหมือนพยายามนำตนไปสู่อบาย  เช่น  การได้ฌานของพระเทวทัต  แล้วพยายามในทางผิดด้วยวิธีการต่างๆ (เรื่องพระพุทธเจ้าตรัสปรารภพระเทวทัต)



๔. การศึกษาแต่ภาคทฤษฎี  แล้วไม่ฝึกฝนทางภาคปฏิบัติ  ผู้ศึกษาเป็นคนขาดความสามารถ  ขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่  ก่อให้เกิดการสูญเปล่าทางการศึกษา  จัดว่าเป็นการศึกษาที่สูญเปล่า  ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า  คนคัมภีร์เปล่า  (ตามหลักสัทธรรม ๓)



๕. การระลึกชาติได้บางส่วน  ได้ตาทิพย์บางส่วน  ได้ฌานพิเศษเพียงบางส่วนเป็นบ่อเกิดของทรรศนะทางปรัชญาอย่างผิดๆ ได้  แม้ไม่มีโทษทางอกุศลกรรมบถ  ก็เป็นเหตุให้เนิ่นช้าในการบรรลุธรรมชั้นสูง (ตามนัยพรหมชาลสูตร)

หมายเลขบันทึก: 215972เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท