BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

จากสวดคานหามสู่สวดบนรถ


จากสวดคานหามสู่สวดบนรถ

วันนี้... มีการสวดมาติกาบังสุกุลศพซึ่งตั้งบำเพ็ญกุศลอยู่ที่ศาลาภายในวัดหลายวันแล้ว หลังจากพิธีสวดมาติกาเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะเคลื่อนศพไปเผายังวัดที่มีเมรุเผาศพสืบต่อไป เพราะที่วัดไม่มีเมรุเผาศพ... และหลังจากสวดมาติกาเสร็จแล้วทางพิธีกรก็เรียนเชิญลูกหลานผู้ตายช่วยกันประเคนของเบิกทางต่อพระเถระแล้วก็เผดีงสงฆ์ว่านิมนต์พระอีก ๔ รูปเพื่อสวดบนรถ... ผู้เขียนอยู่ร่วมสวดมาติกาด้วย เมื่อเดินออกจากศาลาก็นึกขึ้นได้ว่า เรื่องนี้นำมาเล่าได้เช่นเดียวกัน...

ปกตินั้น วันสุดท้ายก่อนจะเผาศพจะมีการสวดมาติกาบังสุกุล และตอนเคลื่อนศพไปยังเมรุหรือเชิงตะกอนนั้น จะมีการนิมนต์พระเถระรูปหนึ่งเป็นผู้นำทางหรือเบิกทาง... พระนำทาง หรือ พระเบิกทาง นี้ จะมีของถวายเป็นพิเศษเรียกกันว่า ของเบิกทาง หรือ ของนำทาง ซึ่งโดยทั่วไปก็มักจะเป็น หมอน เสื่อ กาน้ำ ปิ่นโต ไฟฉาย ตะเกียง ร่ม ถังสังฆทาน ผ้าจีวร ฯลฯ และก็จะมีขันบรรจุข้าวสารไว้ (บางที่ก็อาจมีข้าวตอกและดอกไม้ผสมอยู่กับข้าวสารด้วย) เพื่อให้พระผู้นำทางโปรยไปเรื่อยๆ ในระหว่างเคลื่อนศพ...

นอกจากพระนำทางแล้ว มักจะนิยมพระสงฆ์อีก ๔ รูปเพื่อสวดข้างๆ ศพ ตอนกำลังเคลื่อนย้ายศพ... ในสมัยก่อนนั้น (เน้นเฉพาะปักษ์ใต้บ้านเรา) นิยมตั้งศพไว้ตามบ้าน ตอนเคลื่อนย้ายศพวันเผา จะใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ ผูกเป็นตะแกรงคานหาม แล้ววางศพไว้บนคานหาม ปลายไม้ไผ่แต่ละด้านที่ยื่นออกมาก็จะถูกรองรับด้วยบ่าของลูกหลานซึ่งช่วยกันแบกไว้ ทั้งสี่ด้าน เช่น ถ้าด้านละสี่คนก็จะใช้คนหามสิบหกคน  หรือถ้าด้านละห้าคนก็จะใช้คนหามยี่สิบคน เป็นต้น

หีบศพตั้งอยู่บนคานหามตะแกรง ส่วนพระสวดข้างๆ ศพนั้น จะยืนเกาะหีบศพอยู่บนคานหามด้วย จึงนิยมเรียกพระที่สวดกรณีนี้ว่า สวดคานหาม (บางท้องที่ออกเสียงว่า คันหาม) ... ส่วนพระนำทางนั้น ไม่แน่นอนนัก บางครั้งก็ยืนอยู่บนคานหามร่วมกับพระที่สวด บางครั้งก็เดินอยู่ด้านล่างโดยมีสายโยงจากพระนำทางไปยังศพบนคานหาม หรือบางครั้งก็มีการใช้ไม้ไผ่ผูกเป็นเก้าอี้เล็กๆ (เรียกกันว่า แคร่) ให้ท่านขึ้นนั่งแล้วลูกหลานก็ช่วยกันแบกแคร่เดินนำหน้าคานหามศพโดยมีสายโยงจากแคร่ที่พระำนำทางนั่งไปยังคานหามเช่นเดียวกัน... จินตนาการดูจะเห็นได้ว่าค่อนข้างจะทุลักทุเลกว่าจะเคลื่อนศพจากบ้านไปถึงป่าช้าหรือเชิงตะกอนได้

ถ้าเดินไปตามปกติ แบกหามไปตามปกตินั้นก็ไม่กระไรนัก... แต่สมัยก่อนนั้น ลูกหลานที่แบกศพมักจะเมาด้วย จึงโยกคานหาม ขึ้นๆ ลงๆ หมุนไปซ้ายทีขวาที (ปักษ์ใต้เรียกกิริยาทำนองนี้ว่า แย่ง หรือ แย่งศพ) พระคุณเจ้าที่นำทางหรือสวดอยู่บนคานหามจึงจะหล่นแหล่มิหล่นแหล่อยู่ตลอด... บางศพที่ลูกหลานเยอะ มักจะหามพาพระคุณเจ้าที่นำทางและสวดบนคานหามมาส่งใกล้ๆ ป่าช้า แต่ก็มิได้หามศพเข้ายังป่าช้า หามเลยป่าช้าไปยังหมู่บ้านอื่น ซึ่งเป็นที่สนุกสนาน... พวกที่ไม่ได้หามก็เดินหิ้วถังใส่เหล้าตามศพไป หรือร้องรำทำเพลงกันไปพลาง และค่อยผลัดเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ในการแบกคานหามต่อไป... 

การหามศพหรือแบกศพทำนองนี้ ถือคติว่า ห้ามวางลงพื้น ต้องไปวางเมื่อถึงที่หมาย แต่ก็ผลัดเปลี่ยนหามกันไปได้เป็นครึ่งค่อนวัน บางศพกว่าจะได้เผาใกล้ค่ำแล้วก็มี พระสงฆ์ที่รอจะมติกาบังสุกุลและญาติพี่น้องที่จะรอเผาอยู่ก็นั่งคอยแล้วคอยเล่า มีบ้างเหมือนกัน ที่รอไม่ไหวทำพิธีหลอกๆ กันเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระเณรและญาติพี่น้องก็ชวนกันกลับ ส่วนศพนั้น มาถึงเมื่อไหร่ ลูกหลานก็ช่วยกันเผาเอง...

เพราะเป็นปัญหาอย่างนี้เสมอ ต่อมาจึงเริ่มมีการเปลี่ยนจากการนำศพมาด้วยคานหาม เป็นการบรรทุกด้วยรถยนต์แทน... พระนำทางจากนั่งบนแคร่หรือเดินนำหน้าคานหามก็กลายมาเป็นนั่งด้านหน้าติดกับคนขับรถบรรทุกศพ หรือนั่งบนรถอีกคันที่นำหน้ารถบรรทุกศพ แล้วก็มีสายโยงจากรถที่พระนำทางนั่งไปยังรถที่บรรทุกศพ เป็นการประยุกต์จากอดีตมาเป็นปัจจุบัน...

 

เมื่อแรกๆ นั้น แม้พระสวดศพบนรถก็จะเรียกกันว่า สวดคานหาม ตามแบบเก่า... ต่อมาคำว่าสวดคานหามค่อยๆ เลือนหายไป คำว่า สวดบนรถ เริ่มเข้ามาแทนที่... สำหรับพระสวดบนรถหรือสวดคานหามนี้ จะนิยมเมื่อต้องเคลื่อนย้ายศพในสถานที่ไกลจากเมรุเผาศพหรือเชิงตะกอนเท่านั้น ถ้าศพตั้งบำเพ็ญกุศลอยู่ในป่าช้าหรือตั้งอยู่ในวัดที่มีเมรุเผาศพอยู่ด้วย ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องนิมนต์พระสวดบนรถ แต่พระนำทางหรือพระเบิกทางยังคงมีการนิมนต์อยู่เหมือนเดิม... อย่างไรก็ตามพระสวดบนรถนี้ เจ้าภาพบางงานก็ไม่นิยม แม้จะต้องเคลื่อนศพจากบ้านโดยบรรทุกรถมายังเมรุเผาศพเป็นระยะทางไกลพอสมควร นิมนต์แต่พระนำทางเท่านั้น

บทสวดที่ใช้สวดบนคานหามหรือบนรถ ก็คือ บทอภิธรรม ๗ คัมภีร์ นั้นเอง... เพียงแต่ว่าถ้าสถานที่ไกลก็อาจสวดช้าๆ เว้นช่วงเป็นบางครั้ง แล้วก็ขึ้นซ้ำใหม่ถ้ายังไม่ถึงที่หมาย... และถ้าเป็นสถานที่ใกล้ก็อาจสวดไม่ครบทั้ง ๗ คัมภีร์ เพราะถึงที่หมายเสียก่อน... แต่มีส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือให้สวดบท เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง ฯ เมื่อเข้าถึงที่หมายต่อจากบทอภิธรรม...

การสวดคานหามหรือสวดบนรถนี้ เมื่อก่อนผู้เขียนก็สวดประจำ ต่อมาเมื่ออาวุโสขึ้นก็ปล่อยให้พระหนุ่มเณรน้อยสวดแทน (จำไม่ได้แล้วว่าสวดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ แต่น่าจะสิบกว่าปีแล้ว)... ส่วนการแบกศพหรือหามศพในสมัยเป็นฆราวาสนั้น ผู้เขียนก็เคยมีประสบการณ์อยู่บ้าง บอกได้ว่าสนุกดี (5 5 5 . . .)

หมายเลขบันทึก: 221224เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2008 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

นมัสการครับท่านอาจารย์

     เพิ่งเคยได้รับรู้ครั้งแรกครับว่ามีประเพณีแบบนี้โชคดีที่ได้มาอ่านเพิ่มพูนความรู้ครับ

                      กราบขอบพระคุณครับ

                                     รพี

Pรพี กวีข้างถนน

 

อันที่จริง เรื่องแบกคานหามศพนี้ มีเกร็ดอีกเยอะ ถ้าเล่าให้ละเอียดอาจยาวเกินไป... กำลังรอผู้มีประสบการณ์เรื่องทำนองนี้มาเล่าเสริม...

เจริญพร

นมัสการหลวงพี่

มีอยู่ช่วงหนึ่งต้องไปงานศพบ่อย จนแทบจะจำบทสวดได้เลย

เคยอ่านหนังสือเรื่องอะไรจำไม่ได้ ทำนองว่าสมัยก่อนคนเราคุ้นเคยกับเรื่องความตาย เพราะส่วนมากก็ตายกันที่บ้าน ทำศพกันที่บ้าน ปัจจุบันตายที่โรงพยาบาล ทำศพก็พากันไปวัด

เคยมีงาน จะสวด จะกรวดน้ำ เห็นต้องถือไม้ถือมือ บางทีก็มีสายสิญจน์โยงระยาง บอกเพื่อนว่า เอ สมัยนี้น่าจะใช้ระบบไร้สายกันแล้วนา อิๆๆ

นมัสการครับ

ที่อยุธยามี...วัดคานหาม...ด้วยครับ

Pธ.วั ช ชั ย

 

  • คิดได้ไงเนียะ สายสิญจน์ไวเลส  ! สายโยงไวเลส  !

มุขนี้ ถือโอกาสนำไปโม้ต่อ (5 5 5...)

.......

P ข้ามสีทันดร

 

วัดคานหาม ไม่เคยได้ยิน พอดีไม่เคยเที่ยวอยุธยา เพียงแต่ผ่านไปผ่านมาเท่านั้น มีโอกาสจะลองถามประวัติจากผู้รู้...

เปลี่ยนรูปภาพใหม่ ดูแปลกหน้า นึกว่าสมาชิกใหม่ (..............)

............

เจริญพรทั้งสองท่าน

สวัสดีครับ มหาชัยวุธ

ผมอ่านเจอในนิตยสารสารคดีฉบับล่าสุด

ผู้เขียนเรื่องพิธีศพมอญมีการแย่งศพเช่นกัน

ไม่ทราบว่าคนไทยไปได้พิธีนี้มาจากมอญหรือเปล่า

 

สวัสดีครับ

นมัสการพระคุณเจ้า

  • กราบเรียนถามพระคุณเจ้า  เกี่ยวกับ  การอุทิศร่างกายให้กับทางโรงพยาบาล  และระบุว่าไม่มีการทำพิธีทางศาสนา  เพราะกลัวจะเป็นการยุ่งยาก
  • แบบนี้..ขอคำอธิบายตามหลักพีธีการสวดศพเจ้าค่ะ  กรณีเป็นชาวพุทธ
  • กราบขอบพระคุณ เจ้าค่ะ
  • นมัสการพระคุณเจ้าครับ
  • ช่วงนี้งานเยอะครับ แต่จะแวะมากราบนมัสการ ไม่ขาดตอนนะครับ
  • รักษาสุขภาพด้วยนะครับ

นมัสการพระคุณเจ้า

กราบขอบพระคุณที่แวะไปอ่าน

"วิธีเอาชนะคนปากมาก"

ดิฉันเป็นคนอำเภอสทิงพระเจ้าค่ะ

สมัยเรียนมัธยม-ปริญญาโท

เคยพักอยู่ที่ข้างวัดยางทอง สงขลา

หน้าบ้านหันหน้าออกถนนยะหริ่ง

ถ้าเปิดหลังบ้านก็จะเป็นเขตของวัดเจ้าค่ะ

พระคุณเจ้าให้ความรู้กับผู้อ่านมาก

อยากจะกราบนิมนต์ให้พระคุณเจ้าแวะไปที่ www.be5000.com บ้าง

ชื่อ โครงการตามรอยบาทพระศาสดา "ประตูสู่ธรรมะ ทางชนะกิเลส" เจ้าค่ะ

กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ

 

Pพระปลัด

 

ไม่ทราบครับ เกิดไม่ทัน ! (..........) แต่ถ้าจะคาดเดา กรณีการเหมือนกันทำนองนี้ อาจเป็นไปได้หลายทาง กล่าวคือ

  • ไทยเลียนแบบมอญ
  • มอญเลียนแบบไทย
  • ต่างฝ่ายต่างคิดบังเอิญตรงกัน
  • ต่างฝ่ายต่างคิดและมีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

อามันตา


P

ครูคิม

  •   หลักพิธีการสวดศพ ?
ปกติก็สวดพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์... ก่อนสวดก็มีการบูชาพระรับศีล หลังสวดศพมีการอนุโมทนาและกรวดน้ำ...
สำหรับขั้นตอนและรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ต้องสอบถามแต่ละท้องถิ่นซึ่งแตกต่างกันไป บางครั้งวัดเดียวกัน แต่พิธีกรต่างกันก็อาจไม่เหมือนกัน...
ประเด็นเรื่องการมอบศพให้โรงพยาบาลนั้น อาตมาไม่รู้เรื่อง เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องนี้...

.......

P


  • อนุโมทนา สาธุ
.........

P

  • น่าจะอยู่ข้างกุฏิอาตมานี้เอง (5 5 5...)
จะเข้าไปเยี่ยม...
.............

เจริญพรคุณโยมทุกท่าน

นมัสการพระคุณเจ้า

เมื่อสองปีที่ผ่านมา ได้ไปเผาศพพ่อของเพื่อน

ที่ห้วยลึกยังทันเห็น พระสวดคานหามอยู่

และคนที่ไปเผาศพก็จะหาไม้ไปคนละดุ้น สองดุ้น

ส่วนที่หาไม้ไม่ได้ ทะรั้วริมทางก็หักถอดเสารั้วเพื่อนไป

ได้เห็นการเก็บกระดูก  ดับธาตุ ยังคงมีให้เห็นอยู่ ครับพระคุณเจ้า

P บังหีม--ผู้เฒ่าnatachoei--

 

  • เดียวนี้ ค่อนข้างจะหาดูยาก...

วันก่อนไปเผาศพป้า ก็มีการคุยเรื่องการถือไม้ติดมือมาตามที่บังเล่า...

อาตมาก็ทะลุกลางปล้องขึ้นว่า เดียวนี้พาแต่เบี้ยมานิ ! ไม่ต้องช่วยหุงข้าว ทำแกง ล้างชาม หรือตักน้ำใส่ขวดดังสมัยก่อน ทุกอย่างเจ้าภาพจัดการให้เสร็จเรียบร้อย...

ส่วนการเก็บกระดูกดับธาตุ บางที่ก็เรียกว่าแปรธาตุหลบดูก... สมัยก่อนจะไปก่อนกาบินข้าม (ยังไม่ทันสว่าง) เพื่อจะดูว่าที่กองเถ้านั้นมีรอยเ้ท้าอะไรเกิดขึ้น แล้วก็ทายว่าผู้ตายไปเกิดอะไรตามชนิดรอยเท้าที่กองเถ้า... แต่เดียวนี้ ธรรมเนียมและความเชื่อทำนองนี้ก็เลือนๆ ไปแล้วเช่นกัน น่าจะยังพอมีอยู่บ้างตามในควนลึกๆ เข้าไป...

เจริญพร

นมัสการ ท่านอาจารย์

คุณพ่อของกระผมบวชเมื่อปี 2512 เป็นเวลา 1 พรรษา ท่านได้ไปสวดคานหาม ท่านบอกว่าสมัยนั้นบทสวดใช้ บท "อวิชชา ช่อ" ผมก็ไม่เคยได้ยิน ท่านบอกว่าสวดเป็นทำนอง ท่านจำได้นิดนึงว่า "อวิชชา เหตุโก อายัง กาโย " และมีอีก 2 - 3 บทขึ้นว่า อวิชชา ทั้งนั้น กระผมเคยเห็นลายมือเขียนบทสวดนี้ที่วัดแต่ไม่ได้บันทึกไว้ครับ อยากจะเก็บไว้ควรอนุรักษ์ของเก่าแบบนี้นะครับ ไม่ทราบท่านอาจารย์มีบ้างไหมขอเป็นวิทยาทานหน่อยครับ

กราบนมัสการครับ

P pakorn

 

  • อวิชชา ช่อ
  • อวิชชา เหตุโก อายัง กาโย

ไม่เคยได้ยิน ? จะลองถามพระเถระดู ถ้าเจอค่อยนำมาเขียนเล่าเรื่องนี้...

เจริญพร

ได้ความรู้และเกร็ดสนุกดีนะครับ

ชอบความขี้เล่น ตรงที่หามไปเรื่อยๆ ได้บรรยากาศดีครับ แสดงว่า ผู้คนในสมัยนั้น ทำใจ กับเรื่องนี้ได้ดีนะครับ

พอดีเพิ่งไปยืนเกาะของรั้วส่งเสด็จพระพี่นางที่สนามหลวง องค์ประกอบเรื่องพระนำ คานหาม สวดอภิธรรม เหมือนกันเลย เพียงแต่รายละเอียดต่างกันเท่านั้น

ผมคิดว่า ความสำคัญอยู่ที่แก่น คุณค่าหลักนะครับ

Pนาย เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี

 

มีความเห็นทำนองเดียวกับอาจารย์หมอ เพียงแต่ว่าเกร็ดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นที่แตกต่างกันไป...

  • พิธีหลวง มีระเบียบแบบแผนชัดเจน รวมทั้งมีการฝึกซ้อม...
  • พิธีชาวบ้าน แตกต่างกันไปตามความนิยมในท้องถิ่นนั้นๆ ทั้งขึ้นอยู่กับเจ้าภาพแต่ละงานเป็นสำคัญ รวมทั้งไม่มีการฝึกซ้อม...

ในส่วนคุณค่าที่เหมือนกัน น่าจะเป็นความตั้งใจเพื่อผู้ตายหรือญาติของผู้ตายเป็นสำคัญ

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท