๓๙. ประชาสังคมศึกษาและจิตสำนึกพลเมือง


"...เรื่องประชาสังคมมีมิติให้สนใจได้ตั้งร้อยแปดพันเก้า...แต่ผมคิดว่าบ้านเราและในภูมิภาค ยังต้องการการพัฒนาการอยู่และทำอะไรด้วยกันในวิถีใหม่ๆอีกเยอะ ...การวิจัยและพัฒนาวิถีประชาสังคมในแง่มุมต่างๆ จะเป็นงานความรู้และงานวิชาการที่ช่วยชี้นำสังคมได้ ... "

             เมื่อวานสองวันก่อนมีเกลอเก่ามาเยือนคือ คุณโชติ ถาวร ซึ่งอันที่จริงผมเรียกแกว่าพี่มาตลอด แต่ตอนนี้ทำไปทำมาแกหน้าตาอ่อนกว่าผม ยิ่งเจอกันก็ยิ่งชักไม่แน่ใจว่าแกเป็นพี่ รุ่นเพื่อน หรือรุ่นน้องผม  แกเป็นปลัดอำเภอและนักปกครอง อยู่ในกระทรวง และเป็นคนทำงานกับท้องถิ่นในแนวคิดเชิงปฏิรูปมากเลยทีเดียว

             เป็นมือของกระทรวงมหาดไทยที่เข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาคนในท้องถิ่นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงราย กรณีที่ถูกพิจารณาว่าเป็นชนกลุ่มน้อย ถูกถอนบัตรประชาชน และถูกถอนสัญชาติไทย ซึ่งเป็นข่าวเศร้าของสังคมในปีหนึ่ง

              รวมทั้งเคยไปศึกษาการทำงานเชิงพื้นที่ในภาคใต้ จึงมีประสบการณ์และมีบทบาทต่องานเชิงนโยบายของประเทศมากมาย  เชื่อมโยงไปจนถึงการขับเคลื่อนงานระดับจุลภาคในภาคปฏิบัติของชุมชน 

              แต่เราเป็นเกลอและเป็นกัลยาณมิตรทางวิชาการกัน  รู้จักกันผ่านงานวิจัยและงานวิชาการของกันและกันว่าเล่นเรื่องประชาสังคมเหมือนกัน  แล้วก็ได้ไปเจอกันเมื่อตอนนำเสนอผลงานวิจัย ที่เวทีการประชุมและนำเสนอผลงานวิจัยบัณฑิตศึกษาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2544 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา แล้วก็คุยกันอย่างถูกอัธยาศัยเหมือนเกลอเก่า 

             หลังจากนั้น  เมื่อต่างคนต่างมีกิจกรรมอะไร หากต้องการวิทยากรและการบรรยายเรื่องทำนองนี้  ผมก็มักจะเชิญแก และแกก็มักจะเชิญผมเป็นระยะๆ เราเคยคิดการใหญ่ด้วยกันว่าจะพัฒนาโครงการสร้างผู้บริหารทางด้านการสาธารณสุขท้องถิ่นและผู้บริหารโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตขององค์กรท้องถิ่นทั่วประเทศ ในแนวทางที่เราทำวิจัย  ให้กับกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นและวิทยาลัยพัฒนาผู้บริหารท้องถิ่น 

             ลองแย๊บๆด้วยกันอยู่พักหนึ่ง ก็พอจะประเมินได้ว่า แนวคิดและสิ่งที่จะทำนั้น แจ่มชัดและอยู่ในมือครับ  แต่กำลังและความพร้อมที่จะทำให้เป็นเรื่องเป็นราวนั้น  สงสัยจะไม่ไหว  ว่างเปล่า แผ่วเบา และขี้แตกก่อนแน่ๆ 

             หลังจากนั้น  ก็ห่างๆกันไป เป็นปีสองปีแล้วกระมัง  จู่ๆ แกก็โผล่มาเยือน  หากพูดตามทรรศนะของวรรณกรรมหิโตปเทศที่บอกว่า มิตรผู้มาเยือนนั้น คือเรือนธาตุของเทวดามาสู่เรา ก็ต้องเรียกว่า แสนจะดีใจและคุยกันอย่างมีความสุข ตอนนี้ แกไปทำปริญญาเอกทางสังคมวิทยา อยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เลยก็คุยกันต่อในเรื่องการวิจัยและงานวิชาการที่สนใจกัน  ว่าใครไปทางไหนอย่างไรบ้างแล้ว

            แกลองให้สะท้อนแนวคิดพร้อมกับแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกันไปในตัวว่า  ตอนนี้อยากทำวิจัยในแนวทางประชาสังคมต่อไปอีก และเรื่องที่อยากจะเล่นก็คือ ความเป็นพลเมืองในบริบทใหม่ๆของประชาสังคมไทยและของโลก ผมก็เลยหนุนใหญ่เลยว่าประเด็นนี้น่าเล่นและเป็นประเด็นอนาคตที่จะมีบทบาทต่อการบริหารจัดการส่วนรวมทั้งของท้องถิ่นและของประเทศมากยิ่งๆขึ้น

           โดยเฉพาะการสร้างทรรศนะและสร้างฐานความรู้  เพื่อคิดและปฏิบัติต่อกันใหม่ๆ ในเรื่องชนกลุ่มน้อย แรงงานและการเคลื่อนย้ายทางประชากรระหว่างประเทศที่เป็นผลสืบเนื่องจากการพัฒนามิติอื่นๆ ความแตกต่างและความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ ที่สอดคล้องกับท้องถิ่นต่างๆของประเทศ 

            แกถามผมด้วยว่า  ตอนนี้เล่นไปทางไหนและถึงไหนแล้ว ผมบอกว่าผมก็มุ่งลงไปทางประชาสังคมศึกษามากขึ้น เรื่องประชาสังคมมีมิติให้สนใจได้ตั้งร้อยแปดพันเก้า  แต่ผมคิดว่าบ้านเราและในภูมิภาค ยังต้องการการพัฒนาวิธีการอยู่และทำอะไรด้วยกันในวิถีใหม่ๆ อีกเยอะ ซึ่งการพัฒนาคนและทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญ  และเรื่องสุขภาพ การศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างสังคมการอยู่ร่วมกันของปัจเจกและชุมชน  เรื่องทางการสื่อสารเรียนรู้ การจัดองค์กรตนเอง

            รวมไปจนถึงการพัฒนามิติจิตใจและทางจิตวิญญาณ เหล่านี้ ล้วนก็เป็นหนทางพัฒนาคน พลเมือง และทรัพยากรมนุษย์ เพื่อนำไปสู่สุขภาวะของสังคมทั้งนั้น เลยเชื่อว่า การวิจัยและพัฒนาวิถีประชาสังคมในแง่มุมต่างๆ จะเป็นงานความรู้และงานวิชาการที่ช่วยชี้นำสังคมในเรื่องที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไขใหม่ๆได้อีกหลายเรื่อง ผมเลยยังไปในแนวนี้อยู่นั่นแหละ

            แกเลยมั่นใจและตาเป็นประกายโดยพลัน  จึงการมาเยือนของแกนี้  ไม่เพียงได้อาบน้ำใจแห่งมิตรให้ชุ่มชื่นจิตใจเท่านั้น แต่ได้เห็นโลกด้านที่เคลื่อนไหวและมีชีวิตชีวาทางปัญญาไปด้วยมากจริงๆ. 

หมายเลขบันทึก: 226015เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2008 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อาจารย์วิรัสครับ ผมดีใจมากที่อาจารย์ถ่ายทอดเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ ของผมไว้ในบล๊อก ตอนนี้ผมยังไม่ท้อครับเดินหน้าทำเรื่องประชาสังคมต่อไป กำลังสนใจในพื้นที่อ่าวป่าคลอกจังหวัดภูเก็ต เพราะกำลังถูกรุกรานอย่างหนักจากทุนและรัฐ กำลังพัฒนาหัวข้อครับอาจารย์ มันยากพอสมควร พออ่านไปอ่านมาแล้วแนวคิดมันทั้งสับสน และมากมาย กำลังรวบรวมความคิดอยู่ ว่าง ๆ จะเข้าไปเยี่ยมครับ เพื่อขอความเห็นปรึกษาหารือดังที่เคยพูดไว้ครับผม

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • ตำบลป่าคลอกอำเภอถลาง เป็นชุมชนบ้านนอกของเมืองภูเก็ต ถือว่าเป็นชุมชนที่แข้มแข็งแห่งหนึ่ง
  • คนป่าคลอกนั้นเป็นลูกหลานสองวีรสตรีของไทยคุณหญิงจัน-คุณหญิงมุก(ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร)
  • ด้วยความเข็มแข็งและเด็ดเดี่ยวของคนเมืองถลางป่าคลอกทำให้สามารถรบชนะข้าศึกและรักษาเมืองถลางไว้ได้ในอดีต
  • พี่น้องในชุมชนนี้มีทั้งไทยพุทธ-ไทยมุสลิมที่อยู่ร่วมกันมาด้วยความสงบสุขเป็นมิตรที่ดีต่อกันมาแต่โบราณกาล และก็ยังเป็นเช่นนั้นแม้สมัยปัจจุบัน
  • ด้วยสถานที่ทางธรรมชาติอันสงบเงียบและมีหาดสวยงามจึงเป็นที่หมายปองของผู้คนที่มีทุนอยากจะได้ครอบครองไว้เป็นสมบัติส่วนตัว
  • ก็เป็นหน้าที่ลูกหลานสองวีรสตรีเมืองถลาง คงต้องทำงานร่วมมือร่วมใจก้นอีกครั้งเพื่อรักษาธรรมชาติสภาพแวดล้อมในชุมชนป่าคลอก ให้ลูกหลานทุกคนได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป.

โอ้โฮ ต้องนับว่าเป็นมงคลกับผมอย่างยิ่งของปีใหม่ ๒๕๕๓ นี้เลยนะครับ ทั้งจากการเข้ามาทักทายและบอกกล่าวถึงสารทุกข์สุกดิบของพี่โชติ ถาวร มิตรทางวิชาการและคนทำงานแนวประชาคมด้วยกันกับผม และการประเดิมต้นปี ๒๕๕๓ ในหัวข้อที่เขียนบันทึกไว้ตั้งปีกว่าแล้วด้วยการเข้ามาร่วมเสวนาของท่านพระมหาแล ขำสุข(อาสโย) เรียกว่า เป็นสิ่งมงคลกำลังสองเลยทีเดียว

ขอถือโอกาสกล่าวสวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๓ ด้วย สคส จากฝีมือการทำกันเอง แด่พี่โชติ ถาวร รวมทั้งขอกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลในโอกาสนี้อีกนะครับ 

                        

รูปวาดทั้งชุดนี้ เป็นผลพวงจากเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเดินบวกความสร้างสรรค์ให้กันในเวทีคนหนองบัว และตอนนี้กำลังจัดเป็นนิทรรศการอยู่ที่ร้านหนังสือเบิกม่าน หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม แสดงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ จนถึงกลางเดือนมกราคม ๒๕๕๓ ครับ อาจารย์ณัฐพัชร์ท่านกรุณารวบรวมทำเป็นการ์ดเหมือนกับปฏิทินตามการเสนอความคิดของท่านพระอาจารย์มหาแล ซึ่งเป็นท่านหนึ่งที่ร่วมเสวนาและเป็นที่มาของการวาดรูปชุดดังกล่าวนี้ด้วย

ขอส่งความสุขและน้ำใจแห่งมิตรมายังทุกท่านครับ ด้วยจิตคาระวะจากทีมวิจัยสร้างสุขภาวะชุมชน สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชมรมชีวเกษมและเครือข่ายชุมชน : ปรีชา ก้อนทอง | ศราวุธ ปรีชาเดช | สนั่น ไชยเสน | เริงวิชญ์ นิลโคตร | กานต์ จันทวงษ์  | อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ | ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

อรอนงค์ ซ้ายโพธิ์กลาง

ได้เข้ามาอ่านข้อความในบล๊อกของอาจารย์วัรัตน์ เป็นข้อความที่ถ่ายทอดมุมมองของประชาสังคมและประชากรศึกษาในแง่ของการศึกษาวิจัยได้ดีมากเลยค่ะ กำลังสนใจที่จะเรียนต่อในสาขาประชากรศึกษาแต่ไม่ได้มีพื้นของวิชาดังกล่าว และถือว่าตัวเองยังเป็นผู้ที่อ่อนด้อยประสบการณ์ทางด้านประชาสังคมอยู่มาก ยิ่งเห็นการเล่าถึงประสบการณ์การทำงานของคุณโชติด้วยแล้ว ยิ่งที่เป็นที่น่าสนใจอย่างมาก หากมีโอกาสอยากจะรับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์มากมายจากท่านทั้งสองค่ะ ขอบคุณค่ะ

หากคุณโชติเข้ามาสนทนาถ่ายทอดให้ฟังก็คงจะได้อะไรเยอะเลยครับ เขากำลังพัฒนาหัวข้อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกอยู่ครับ เมื่อสักสอง-สามอาทิตย์ก่อนแวะไปหาผมก็ถือหัวข้อติดมือไปนั่งคุยกันด้วย ก็เห็นว่ากำลังค้นคว้าและศึกษาอยู่อย่างต่อเนื่อง มีข้อมูลในมือและมีความคิดมากมาย หากได้คุยถ่ายทอด พร้อมกับได้แลกเปลี่ยนทรรศนะทางวิชาการด้วยกับผู้สนใจในสาขาเดียวกันก็คงจะต่างก็เสริมกำลังความคิดกันมากนะครับ

มองในแง่ Methodology หากอาจารย์สนใจศึกษาทางประชากรศึกษาหรือทางสังคมศาสตร์ ประชาสังคมศึกษาก็เป็นแนวทางหนึ่งของการศึกษาสังคม และเป็นแนวการวิเคราะห์ทางสังคมประชากรที่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากสังคมและชุมชนแบบดั้งเดิม บางสถานการณ์และบางเงื่อนไขแวดล้อมก็อาจจะเหมาะสมกว่าศึกษาความเป็นชุมชนและมิติสังคมในแนวคิดแบบดั้งเดิม เช่น ในสังคมองค์กรและสถานประกอบการ ในองค์กรการเมืองแบบใหม่ซึ่งวางอยู่บนฐานคิดการมีส่วนร่วมทั้งแบบทางตรงและแบบตัวแทน รวมทั้งในชุมชนระดับต่างๆที่มีความทันสมัยและมีความเป็นเมืองมากกว่าเป็นชนบท 

ในเงื่อนไขพวกนี้ กระบวนการศึกษาและกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม ได้คัดกรองให้กลุ่มคนชั้นกลางและกลุ่มกรรมาชีพจำนวนหนึ่งให้มาอยู่และสร้างสังคมด้วยกัน หากจะศึกษามิติสังคมและมิติความเป็นชุมชนด้วยแนวคิดความเป็นชุมชนแบบเดิม ก็คงจะไม่เหมาะสมเท่ากับใช้แนวทางศึกษาในแนวประชาสังคม

ในแง่ (Population) Education and Development Methodology การขับเคลื่อนสังคมและความเป็นชุมชนในแนวประชาคมแนวทางหนึ่งก็เชื่อกันว่าจะก่อเกิดขึ้นได้ด้วยเงื่อนไขสำคัญคือ การเรียนรู้ทางสังคมและการเรียนรู้เป็นกลุ่มก้อน / คุณธรรมต่อความเป็นส่วนรวมของปัจเจก / ความเป็นสังคมที่ส่งเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมให้มีแง่มมุมสำหรับพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ในขอบเขตที่เปิดกว้างออกไปสู่ความเป็นสาธารณะและความเป็นสังคมมากขึ้น มากกว่าการศึกษาแบบเดิมที่เน้นความเป็นทางการและเน้นการศึกษาที่แยกออกจากความเป็นชีวิตของสังคม หากการศึกษาในขั้นสูงสนใจมาทางนี้ ก็น่าจะทำให้เป็นโอกาสพัฒนาการศึกษาในแนวทางใหม่ๆที่จำเป็นสำหรับอนาคตนะครับ เช่น การศึกษาที่อยู่ในวิถีชีวิตการทำงานและการทำมาหากิน การศึกษาเรียนรู้ของภาคสาธารณะ การศึกษาแบบตลอดชีวิต การจัดการชุมชนและหน่วยทางสังคมระดับต่างๆด้วยแนวคิดทางการศึกษากับการพัฒนาคุณภาพชีวิต เหล่านี้เป็นต้น

ในแง่ของ Mobilizing Individual and Groups for Participatory Public Management ก็มีบทเรียนทั้งของสังคมไทยและงานวิจัยทั้งของไทยและต่างประเทศยืนยันให้เห็นมากพอสมควรว่า หน่วยงานและองค์กรภาคสาธารณะ สามารถทำงานในแนวทางใหม่ๆได้ดีขึ้นกว่าเดิมเมื่อมีการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ในแนวประชาคม และแนวประชาสังคมมาสนับสนุนการทำงานให้ทัดเทียมกับความเป็นจริงที่ซับซ้อนมากขึ้นของสังคมทั้งในเมืองและชนบท เช่น การทำงานเป็นเครือข่ายพ้นกรอบความเป็นองค์กรเดี่ยว /การทำงานที่พ้นกรอบความเป็นเจ้าภาพเรื่องส่วนรวมแบบเอากระทรวงและความรวมศูนย์กับแยกส่วนเป็นตัวตั้ง ซึ่งการแก้ปัญหาหลายอย่างในปัจจุบันและในอนาคตต้องมีการทำงานในแนวทางประชาคมอย่างนี้ช่วยมากขึ้นนะครับ

ตัวอย่างเหล่านี้ เป็นตัวบอกได้อย่างหนึ่งว่า แนวคิดและการศึกษาในแนวประชาคมและประชาสังคมศึกษา เป็นการพัฒนาทางระเบียบวิธีทางการศึกษาวิจัยและทำงานเชิงสังคม ให้มีความก้าวหน้าและมีพัฒนาการให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม

ใน ๒-๓ แง่มุมนี้ก็คงจะเป็นการสนับสนุนความสนใจที่มีอยู่ของอาจารย์ ได้ดีขึ้นบ้างนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท